นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Surprise Palette

Raw Color สตูดิโอออกแบบสีสันที่เปลี่ยนโฉมคอลเลกชั่นแบรนด์ดังด้วยพาเลตต์สีสุดเซอร์ไพรส์

ไม่นานมานี้ IKEA ได้เปิดตัวคอลเลกชั่น TESAMMANS ที่มีพาเลตต์สีสันสดใสอย่างโดดเด่นและมีผู้ให้ความสนใจสินค้ารุ่นนี้อย่างมาก หลายคนน่าจะรู้จัก IKEA กันอยู่แล้ว แต่อาจจะยังไม่รู้จักทีมผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบสีสันในคอลเลกชั่นนี้ซึ่งเป็นสตูดิโอออกแบบชื่อ Raw Color 

Raw Color เป็นสตูดิโอของนักออกแบบชาวดัตช์ที่เมืองไอนด์โฮเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์ นอกจากผลงานที่คอลแล็บกับ IKEA แล้ว สินค้าของสตูดิโอและผลงานโปรเจกต์ต่างๆ ยังมีความโดดเด่นด้านการออกแบบสีจนทำให้ได้ร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลกมากมาย เช่น Adidas, Samsung, Puig ผู้ผลิตน้ำหอมหลายแบรนด์อย่าง Prada และยังได้ร่วมงานกับแบรนด์ท้องถิ่นและพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง

สตูดิโอออกแบบแห่งนี้ ก่อตั้งในปี 2008 โดย Christoph Brach และ Daniera ter Haar ความถนัดของสตูดิโอคือการทำงานแบบรวมศาสตร์หลายแขนง (interdisciplinary) ในสาขาออกแบบกราฟิก ภาพถ่าย และออกแบบผลิตภัณฑ์โดยมีหัวใจสำคัญคือการออกแบบสี ผลงานของพวกเขามีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ให้สวยงามมากขึ้นด้วยสีแปลกตา สร้างประสบการณ์ใหม่และผลิตภัณฑ์คอนเซปต์ใหม่ด้วยสี ใช้สีและกราฟิกนำเสนอข้อมูล ไปจนถึงสร้างสรรค์นิทรรศการแนวคิดใหม่จากสีในงานออกแบบ

งานของ Raw Color แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ และพลังของสีที่สร้างความเซอร์ไพรส์ให้ผู้คน ใครที่ประทับใจคอลเลกชั่น TESAMMANS น่าจะตกหลุมรักผลงานอื่นๆ และวิธีคิดงานของสตูดิโอออกแบบนี้ด้วยเช่นกัน

1.  ชื่อสตูดิโอมาจากชื่อโปรเจกต์แรกที่สร้างระบบสีจากผัก 

ความจริงแล้ว Raw Color เป็นชื่อโปรเจกต์แรกที่คริสตอฟและดาเนียราร่วมงานกัน ทั้งคู่ริเริ่มโครงการของตัวเองด้วยงานวิจัยเกี่ยวกับสีของผักโดยสร้างระบบสีของตัวเองคล้ายๆ กับการสร้างระบบสีของ Pantone เมื่อได้รับผลตอบรับที่ดีทั้งสองคนจึงจัดนิทรรศการเพื่อเล่าเรื่องระบบสีที่คิดขึ้นเอง ผลงานนี้ทำให้ผู้คนส่วนมากจดจำพวกเขาได้จากชื่อโปรเจกต์และเข้าใจว่าเป็นชื่อของสตูดิโอ จนเมื่อมีคนถามหาสตูดิโอด้วยชื่อนี้หลายครั้ง ทั้งคู่จึงตัดสินใจใช้ชื่อนี้เป็นชื่อสตูดิโอจริงๆ ตามที่คนส่วนมากเข้าใจซะเลย ด้วยเหตุนี้คริสตอฟจึงกล่าวว่าชื่อสตูดิโอเป็นฝ่ายเลือกพวกเขา ไม่ใช่พวกเขาเป็นคนเลือกชื่อนั้น

ดาเนียราบอกว่าเหตุผลที่เธอชอบคำว่า raw เพราะคำนี้แปลว่าสิ่งบริสุทธิ์หรือสิ่งสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอให้ความสำคัญในทุกโปรเจกต์ที่ทำ กระบวนการคิดงานของทีมมักโฟกัสที่การสื่อสารคอนเซปต์สำคัญออกมาอย่างเรียบง่าย ส่วนคำว่า color ก็แทนความเชี่ยวชาญและความสนใจในการทำงานหลายแขนงของทั้งคู่ที่มีทั้งกราฟิกดีไซน์, รูปภาพ, textile ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะทำงานรูปแบบไหน สีก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในภาพที่ทำให้คนจดจำเอกลักษณ์ของ Raw Color ได้เสมอ 

ที่ผ่านมาทั้งคู่ยังบอกว่าลูกค้าแบรนด์และองค์กรต่างๆ มักติดต่อเข้ามาหาพวกเขาเองและมีน้อยครั้งมากที่พวกเขาจะออกไปหาลูกค้าด้วยตัวเอง นั่นเป็นเพราะแบรนดิ้งและสไตล์ผลงานของสตูดิโอมีความชัดเจนมาก ทั้งคู่จะริเริ่มไอเดียโปรเจกต์ต่างๆ จากความสนใจและความอยากรู้อยากเห็นของตัวเองเท่านั้น

ดังเช่นโปรเจกต์แรกที่คิดค้นระบบสีจากผัก พวกเขาชอบตั้งโจทย์ สนุกกับการตั้งคำถามและสร้างสรรค์ผลงานรูปแบบใหม่ที่สนใจจริงๆ โดยไม่เคยริเริ่มโปรเจกต์ด้วยการคำนึงถึงการต่อยอดรับงานจากลูกค้าเป็นหลักเลย ซึ่งทำให้ผลงานของสตูดิโอมักเต็มไปด้วยความหลงใหล แพสชั่น และสดใหม่จนดึงดูดลูกค้าที่สนใจในสไตล์แบบเดียวกันเข้ามาเอง

2. คอลเลกชั่นล่าสุดพา IKEA ออกนอกคอมฟอร์ตโซนด้วยการกล้าเลือกสีป๊อปๆ 

ดาเนียราบอกว่าคนส่วนใหญ่มักกลัวที่จะใช้สีสันและไม่รู้ว่าจะใส่สีเข้าไปในการตกแต่งบ้านยังไงดี ที่มาของคอลเลกชั่นกับ IKEA คืออยากให้ผู้คนเปิดใจใช้สีสันในบ้านมากขึ้น แทนที่จะซื้อของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์เฉพาะสีขาว-ดำหรือเทาเท่านั้น โดยเหตุผลที่ตั้งชื่อสินค้ารุ่นนี้ว่า TESAMMANS (แปลว่า together หรืออยู่ด้วยกันในภาษาสวีเดน) เพราะสื่อถึงการจับคู่สีสันหลายโทนให้อยู่ด้วยกันทั้งหมดในสินค้าแต่ละชิ้น  

วิธีคิดงานของสตูดิโอสัญชาติเนเธอร์แลนด์แห่งนี้คือการรีเสิร์ชอย่างลงลึกว่าเฉดคู่สีไหนที่เมื่อจับมาอยู่ด้วยกันแล้วจะออกมาน่าสนใจและเป็นคู่สีที่เซอร์ไพรส์คนได้มากที่สุดจนสุดท้ายก็ได้ออกมาทั้งหมด 15 เฉดสีสำหรับสินค้า 18 ชิ้นในคอลเลกชั่นนี้ซึ่งจะเน้นไปที่เฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็ก โคมไฟ และของตกแต่งบ้านต่างๆ ในคอนเซปต์ ‘not the most typical home objects’ ที่เปลี่ยนโฉมของใช้หน้าตาธรรมดาให้ดูพิเศษด้วยสีสันสดใส 

สินค้ามีหลากหลายประเภทตั้งแต่รถเข็นสำหรับวางข้าวของ 3 เฉดสีที่เล่นแสงและเงาแตกต่างกันไปตามตำแหน่งของพระอาทิตย์ในช่วงเวลานั้น พรมและผ้าคลุมลายตาราง โคมไฟที่ไล่สีจากเฉดเข้มไปอ่อนโดยสีที่อ่อนที่สุดอยู่ที่ฐานซึ่งมีแสงสว่างแรงที่สุด โมบายทรงเรขาคณิตสีสันแปลกตา หม้อและแจกันเซรามิกที่เมื่อหมุนต่างมุมจะเห็นแถบสีที่ต่างกันออกไป แก้วและถ้วยแบบสองสี ไปจนถึงถาดโลหะลาย grid ที่สร้างลวดลายต่างๆ เมื่อวางซ้อนกัน 

งานนี้ทั้งทีม IKEA และ RAW color ใช้เวลาทำด้วยกันกว่า 2 ปีและทำให้เห็นว่าเพียงจับคู่สีที่แตกต่างจากเดิมก็สามารถเปลี่ยนมู้ดแอนด์โทนและเปลี่ยนลุคของแบรนด์ได้ 

3. รับโจทย์แทบไม่ซ้ำกันจากแบรนด์หลายอุตสาหกรรมในยุโรป  

ทางสตูดิโอยังเคยออกแบบสินค้าให้แบรนด์ท้องถิ่นแถบยุโรปมากมาย เช่น คอลเลกชั่น Link & Loop ที่ทำร่วมกับ Sancal แบรนด์เฟอร์นิเจอร์เก่าแก่ที่สเปน โจทย์ของคอลเลกชั่นนี้คือการสร้าง ‘joyful way of sitting’ หรือเฟอร์นิเจอร์ที่ทำให้ประสบการณ์นั่งพักผ่อนเกิดความรื่นรมย์มากขึ้นในช่วงโควิด-19 

รุ่นของสินค้าแบ่งออกเป็น 2 รุ่น ได้แก่ Link โซฟาที่มีทรงคล้ายโซ่เพื่อให้หลายคนสามารถนั่งด้วยกันได้ในโซฟาตัวเดียวกันโดยยังสามารถเว้นระยะห่างต่อกันได้ ส่วนรุ่น Loop มีจุดเด่นตรงตามชื่อสินค้าคือรูปทรงคล้ายหลอดซึ่งสามารถแยกชิ้นส่วนระหว่างส่วนเบาะนั่งกับพนักพิงออกจากกันและเอามาประกอบกันได้ เอกลักษณ์คือผ้าทอหุ้มเบาะหลากสีสันที่ออกแบบมาถึง 20 เฉดสี บางชิ้นก็ไล่สีโทนเดียวกัน เช่น สีเหลืองอ่อนและเหลืองเข้ม หรือผสมต่างโทนสีอย่างลงตัว เช่น สีเหลือง, สีเหลือง ochre, สีชมพู และสี aubergine (น้ำตาลม่วง)

หลายครั้งเบื้องหลังการออกแบบสินค้าตกแต่งบ้านเหล่านี้มักมีกระบวนการก่อนหน้านั้นคือการคัดเลือกสีวัสดุก่อนทำเป็นสินค้า เช่น การออกแบบพาเลตต์สีสำหรับผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ (upholstery textile) สำหรับแบรนด์ Kvadrat Febrik แบรนด์ textile ที่เนเธอร์แลนด์ในชื่อโปรเจกต์ว่า Planum กระบวนการคือคัดโทนสีจากสีเพนต์มือ 350 สีให้เหลือเพียง 20 สีสำหรับนำมาเป็นสีผ้า ซึ่งการเลือกจากสีทำมือก่อนจะทำให้เจอโทนสีธรรมชาติที่แตกต่าง

ในบางครั้งแบรนด์ที่ติดต่อทางสตูดิโอเข้ามาก็มีบรีฟให้ออกแบบสินค้าที่คาดไม่ถึงและพบเห็นไม่ได้บ่อยนักอย่างการออกแบบขวดใส่น้ำหอมกระดาษและกระดาษดมน้ำหอมสำหรับแบรนด์น้ำหอม Puig จากสเปนซึ่งเป็นบริษัทที่ออกแบบน้ำหอมให้แบรนด์ดังอย่าง Prada, Dries Van Noten และ Jean Paul Gaultier ในการออกแบบจะคำนึงถึงประสบการณ์ในการดมน้ำหอมให้เกิดความประทับใจและได้สัมผัสกลิ่นอย่างเต็มที่ นอกจากสีสันของกระดาษที่สวยงามแล้วยังคำนึงถึงทรงกระดาษที่ทำให้อากาศหมุนเวียนและอำนวยให้สูดกลิ่นน้ำหอมได้สะดวกอย่างเต็มที่ 

นอกจากนี้ สตูดิโอนี้ยังเคยมีโอกาสได้ร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Adidas โดยแผนกเฉพาะของแบรนด์คือ Adidas Colour & Materials Department ได้ชวนทางสตูดิโอมาจัดเวิร์กช็อปให้ทีมดีไซน์ของ Adidas เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตและคัดเลือกสีสันสำหรับสินค้า Adidas ให้เกิดความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น 

4. Index, Solids & Strokes, Grid Objects ฯลฯ เป็นชื่อคอลเลกชั่นที่เล่นกับเทคนิคกราฟิก

หากเป็นคอลเลกชั่นในนามของแบรนด์เองเลย ทางสตูดิโอมักเล่นกิมมิกที่ล้อกับหลักการกราฟิกดีไซน์ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกับลายเส้น ดัชนีสี เทคนิคการพิมพ์ภาพกราฟิก 

ตัวอย่างเช่น คอลเลกชั่น Index ที่นำดัชนีสีมาทำเป็นผ้าเช็ดมือและผ้าห่ม โดยมีทั้งแบบ monotone (สีเดียวกันทั้งหมด), duotone (สองสี) และ multitone (หลายสีในผืนเดียวกัน) โดยใส่สีในกล่องสี่เหลี่ยมแบบไล่สีตั้งแต่ความเข้ม 10% ถึง 100% ตามระดับดัชนีสี


ส่วน Solids & Strokes เป็นการทำภาพพิมพ์ที่เล่นสีสันกับทรงกราฟิกและเทคนิคการพิมพ์ ใช้รูปทรงพื้นฐานอย่างสี่เหลี่ยมทึบและสี่เหลี่ยมเส้นพิมพ์ทับซ้อนกันด้วยสีสันหลากหลาย โดยใช้ชุดสี 16 เฉดสีในการออกแบบเป็นชุดภาพพิมพ์ขนาดเล็กกว่า 200 ชิ้นและภาพพิมพ์ขนาดใหญ่ 8 ชิ้น

อีกเทคนิคหนึ่งของนักออกแบบกราฟิกดีไซน์คือการใช้ลาย Grid ซึ่งทางสตูดิโอได้ใช้เทคนิคนี้ในการทำ Grid Objects ออกมาเป็นวัตถุที่สามารถเป็นได้ทั้งแจกัน ที่ใส่ของ ศิลปะ หรือสิ่งตั้งประดับ โดยใช้กระบวนการผลิตที่ผสมผสานระหว่างเครื่องจักรและงานฝีมือ แปลงสีและกราฟิกเป็นวัตถุ 3 มิติและเล่นกับคุณลักษณะต่างๆ ของสี เช่น ความหนาแน่น สัดส่วน เฉดสี ความโปร่งแสง และการเบลนด์สี

และตัวอย่างสุดท้ายคือซีรีส์ Hue Boxes กล่องอะคริลิกแบบขุ่นที่เล่นกับเฉดสี Hue ตามหลักการกราฟิกในเฉดที่แตกต่างกันในแต่ละด้าน โดยสินค้าส่วนใหญ่ทั้งหมดนี้ผลิตในเนเธอร์แลนด์ และบางชิ้น เช่น Hue Boxes ยังทำจากการรีไซเคิล 100% ด้วย

5. สร้างนิยามใหม่ให้ของใช้ในชีวิตประจำวันผ่านสินค้าและนิทรรศการ

จะเห็นได้ว่าผลงานของสตูดิโอแห่งนี้ส่วนใหญ่ใช้หลักการเปลี่ยนของใช้ธรรมดาให้มีคอนเซปต์ใหม่จากของที่ใครหลายคนคิดว่าเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไปก็สร้างคำนิยามให้ของชิ้นนั้นใหม่ ตัวอย่างเช่น คอลเลกชั่น Graphic Time ที่ให้นิยามนาฬิกาว่าเป็น abstract clocks หรือศิลปะเคลื่อนไหว มีที่มาจากการสังเกตว่าในยุคนี้ผู้คนมักใช้นาฬิกาในแง่ฟังก์ชั่นเพื่อดูเข็มชั่วโมง นาที และวินาทีตลอดเวลา ทางทีมจึงอยากออกแบบนาฬิกาที่ทำให้คนได้เห็นความสวยงามในการเคลื่อนไหวของเส้นสายกราฟิกในรูปแบบที่แตกต่างออกไปเพื่อเป็นประติมากรรมที่สวยงามให้ผู้ที่ดูเวลารู้สึกรื่นรมย์ในชีวิตประจำวัน

อีกผลงานที่มีคนให้ความสนใจอย่างมากคือนิทรรศการชื่อ The Fans ในปี 2014 งานนี้นำเสนอการเปิดพัดลมสีสันสดใส ใช้หลักการเคลื่อนไหวคล้ายนาฬิกาที่ทำให้เห็นความสวยงามของสีที่แตกต่างกันขณะพัดลมกำลังหมุน

ทั้งนี้จุดมุ่งหมายของการจัดนิทรรศการในหลายครั้งคือการให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วมในการได้สัมผัสโลกแห่งสี เช่น นิทรรศการ The Chromatology ที่มีเครื่องย่อยกระดาษในงาน ทุกครั้งที่มีคนมาเข้าชมนิทรรศการเพิ่มขึ้นก็จะมีกองกระดาษหลากสีสันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนผู้เข้าชม

ทาง Raw Color บอกว่าเคล็ดลับในการริเริ่มไอเดียสร้างสรรค์ทั้งหมดนี้คือการผสมผสานระหว่างการเปิดกว้างในการทดลองสิ่งใหม่อย่างอิสระกับการสร้างกรอบกฎเกณฑ์ในการออกแบบ พยายามหาจุดสมดุลระหว่างความไม่ตายตัวจนเกินไปกับการมีกรอบอย่างเคร่งครัดจนเกินไป

6. ใช้กราฟิกและสีสื่อสารดาต้าในเรื่องที่อยากสร้างการตระหนักรู้ผ่านสินค้า

ใครคิดว่าสีช่วยแค่เรื่องความสวยงามอาจต้องคิดใหม่ เพราะพวกเขาได้ขยายพลังของสีด้วยการสร้างสรรค์งานที่นำเสนอข้อมูลและสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องที่พวกเขาอยากรณรงค์ งานเด่นคือ temperature textiles ที่ทำออกมาในรูปแบบผ้าห่ม ผ้าพันคอ และถุงเท้าในลวดลายอินโฟกราฟิกโดยสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทั้งอุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนไป ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และข้อมูลก๊าซเรือนกระจก

คริสตอฟมองว่าธรรมชาติของงานกราฟิกดีไซน์มีองค์ประกอบในการนำเสนอข้อมูลด้วยเส้น สี และกราฟอยู่แล้ว ดังนั้นการออกแบบให้กลายเป็นลายแพตเทิร์นที่นำเสนอข้อมูลเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เรื่องยาก ทางสตูดิโอยังมองว่าการนำข้อมูลอย่างอินโฟกราฟิกมาอยู่บนผืนผ้าอย่างถาวรจะทำให้ข้อมูลเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้นอีกด้วยแทนที่จะเห็นข้อมูลชั่วคราวจากแค่ในจอเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อผู้คนได้ใช้สอยและมีปฏิสัมพันธ์กับของใช้เหล่านั้นบ่อยๆ จะทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น 

ผลงานชิ้นใหญ่ที่สุดในคอลเลกชั่นนี้อย่างผ้าห่มเป็นผ้าทอนิตติ้งซึ่งนำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจาก The United Nations Intergovernmental Panel on Climate Change และใช้เส้นแต่ละเส้นแทนข้อมูลในแต่ละปีตั้งแต่ปี 2000-2010 ส่วนถุงเท้าที่มีขนาดเล็กกว่าก็แสดงข้อมูลของระดับน้ำทะเลและพยากรณ์ข้อมูลที่คาดว่าน่าจะเป็นไปจนถึงปี 2050 งานนี้มีการปรึกษาเรื่องการนำข้อมูลมานำเสนออย่างจริงจังจาก The Royal Netherlands Meteorological Institute และยังทำร่วมกับ TextileLab และ KNITWEAR LAB ที่เนเธอร์แลนด์ โดยคิดค้นกระบวนการผลิตให้เหลือวัสดุเหลือใช้น้อยที่สุดเพื่อให้ตรงคอนเซปต์สินค้าที่อยากสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม  

7. มีหลักจริยธรรมในการออกแบบคือนึกถึงคนอื่นและโลกที่ดีขึ้นเสมอ

คริสตอฟและดาเนียรายังเชื่อในการทำดีได้ดี ทั้งคู่เคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Metal Magazine ว่า “เราคิดว่าการดูแลทีมงานของเราอย่างดี ให้พวกเขามีอิสระและความยืดหยุ่นเพียงพอในการทำงานของตัวเองนั้นสำคัญมาก การได้คิดตกตะกอนกับตัวเองก่อนที่จะสร้างเกณฑ์การตัดสินในโปรเจกต์ใดๆ รวมถึงมีการสื่อสารที่ดีกับลูกค้าก็เป็นเรื่องดีเช่นกัน ทุกครั้งที่เราเสนอไอเดียอะไรบางอย่าง มันมักจะเกิดบทสนทนาระหว่างเราสองคนที่อาจเสนอไอเดียแตกต่างกันแต่สามารถพูดคุยกันได้และพยายามทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าไปด้วยเสมอ ดังนั้น empathy กับทีมงานของเราและลูกค้าจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับเรา”

“พวกเรายังสอนที่ Design Academy ในไอนด์โฮเวนด้วย และผมอยากจะบอกว่าหลักการเดียวกันนี้ใช้ได้กับนักเรียนของเราด้วย ผมปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเคารพไม่ต่างจากที่ผมอยากให้คนอื่นปฏิบัติต่อตัวเอง แน่นอนว่าเราควรสามารถวิจารณ์กันและกันอย่างซื่อสัตย์ได้ แต่ผมคิดว่าการเคารพและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นก็สำคัญเสมอเช่นกัน”

ในฐานะนักออกแบบที่สร้างสรรค์และผลิตสิ่งของใหม่มากมายอยู่เสมอ ทั้งคู่บอกว่าพวกเขาตั้งคำถามว่าการผลิตสินค้าใหม่ในทุกวันนี้ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแค่ไหน มุมมองความยั่งยืนสำหรับทีมสตูดิโอที่พวกเขาตกตะกอนได้คือ หากมีความทุ่มเทในการพัฒนาบางสิ่งอย่างจริงจัง ทำออกมาอย่างดีที่สุดและมั่นใจว่าสิ่งที่สร้างสรรค์ออกมาจะอยู่ต่อไปได้นาน หากใช้กระบวนการคิดแบบนี้ก็สามารถนำไปสู่ความยั่งยืนได้แล้ว เพราะความยั่งยืนไม่ได้หมายความว่าไม่ควรซื้อหรือไม่ควรผลิตอะไรอีกต่อไป แต่เป็นการออกแบบได้ดีจนผู้คนเห็นคุณค่าและทิ้งข้าวของเครื่องใช้ที่มีสีสันสวยงามเหล่านี้ไม่ลงนั่นเอง  

อ้างอิง

Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Illustrator

แล้วแต่จะคิด ชีวิตคนละแบบ

You Might Also Like