Retro SMEG

ฟังเรื่องเล่าของ FAB ตู้เย็น SMEG แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าผ่าน 6 ดีไซน์ที่ไม่หมดอายุไปตามกาลเวลา

หากให้ลองจินตนาการถึงตู้เย็นเมื่อสมัย 25 ปีก่อน เราคงนึกถึงสิ่งที่ตรงกันข้ามกับตู้เย็นที่เห็นตามห้างสรรพสินค้าหรือโฆษณาในปัจจุบัน เพราะอย่างที่รู้กันว่าธรรมชาติของสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นมักจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของรูปร่างหน้าตาหรือเทคโนโลยีที่บรรจุอยู่ภายใน

แต่ไม่ใช่สำหรับตู้เย็นรุ่น FAB จากแบรนด์เครื่องครัวสัญชาติอิตาเลียนอายุกว่า 70 ปีอย่าง SMEG ที่ยังคงดีไซน์เดิมไว้แทบทุกอย่าง นับตั้งแต่วันที่เปิดตัวครั้งแรกใน ค.ศ. 1997 จนกระทั่งปัจจุบัน แถมยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะออกคอลเลกชั่นใหม่มากี่ครั้งก็ยังขายดีไม่มีเปลี่ยน 

fab

ในมุมมองของคนไทย SMEG อาจเป็นแบรนด์ที่คุ้นหูสำหรับสายเข้าครัว ด้วยชื่อเสียงของเตาอบคุณภาพสูงที่ได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนาน แต่กับคนวงนอกที่อาจไม่ได้คุ้นเคยกับอุปกรณ์เหล่านี้มากนัก ตู้เย็นรุ่น FAB กลับกลายเป็นภาพจำของแบรนด์ ด้วยดีไซน์สไตล์เรโทร สีสันสดใสน่ารัก โดดเด่นด้วยรูปทรงกลมมนชนิดที่เห็นแล้วต้องร้องอ๋อในใจทันทีว่า นี่แหละ ตู้เย็นของ SMEG ไม่ผิดแน่

“ประโยคหนึ่งที่เราเห็นด้วยมากๆ คือ FAB fridge is simply unforgettable มันดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ทุกคนจำเราได้จากตู้เย็นตัวนี้” เฟิร์น–ธนัชพร สวนศิลป์พงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เล่าให้เราฟังถึงความน่าทึ่งของตู้เย็น FAB ที่วางเรียงรายอยู่ในโชว์รูม SMEG ย่านพระโขนง

เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าชนิดอื่นๆ ของ SMEG ที่ปล่อยออกมาก่อนหน้า ตู้เย็น FAB ซึ่งปล่อยออกมาใน ค.ศ. 1997 นั้นถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญที่เปลี่ยนแปลงภาพจำของแบรนด์ไปอย่างสิ้นเชิง

ย้อนกลับไปใน ค.ศ. 1948 SMEG มีจุดเริ่มต้นมาจากโรงเคลือบเหล็กในเมืองกัสตัลลา ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ที่เป็นตัวย่อของประโยคภาษาอิตาเลียน ‘Smalterie Metallurgiche Emiliane Guastalla’ ซึ่งแปลว่า ‘โรงงานเคลือบเหล็กแห่งเมืองกัสตัลลา’ นั่นเอง

ผลิตภัณฑ์ในยุคแรกของ SMEG ประกอบไปด้วย Cooker เครื่องใช้ไฟฟ้าในห้องครัวซึ่งด้านล่างเป็นเตาอบ ด้านบนเป็นเตาแก๊ส, เครื่องล้างจาน ซึ่งมีจุดเด่นคือสามารถล้างได้มากถึงคราวละ 14 ชุดอาหาร และเครื่องซักผ้า สินค้าเหล่านี้มีจุดเด่นที่ฟังก์ชั่นการใช้งานซึ่งสามารถแก้ pain point ของคุณแม่บ้าน ช่วยให้การทำงานบ้านสะดวกสบายมากขึ้น แต่ด้วยความตั้งใจที่อยากสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์เมื่อเทียบกับข้าวของเครื่องใช้ยี่ห้ออื่นที่มีในตลาด SMEG จึงเริ่มตั้งใจปรับเปลี่ยนดีไซน์ให้โดดเด่นไม่ซ้ำใคร 

ความตั้งใจนี้สะท้อนผ่านดีไซน์ของสินค้าขายดีตลอดกาลอย่างเตาอบ ซึ่งมีดีเทลของวัสดุ ปุ่ม และมือจับที่แตกต่างจากดีไซน์แบบ industrial ของเตาอบแบรนด์อื่นๆ

แต่สิ่งที่สร้างความแตกต่าง และกลายเป็นภาพจำของ SMEG ในยุคต่อมาก็คือตู้เย็นรุ่น FAB ซึ่งโดดเด่นทั้งในแง่รูปทรงและสีสันที่โดดเด่นเตะตากว่าตู้เย็นทุกรุ่นในตลาด

fab
fab

คอลัมน์ Product Champion ตอนแรกนี้จึงอยากพาทุกคนไปย้อนดูวิวัฒนาการของตู้เย็นรุ่น FAB จากวันแรกจนถึงปัจจุบัน เพื่อหาคำตอบว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ดีไซน์ของตู้เย็นเครื่องโค้งมนนี้กลายเป็นอมตะ และยังเป็นที่รักของคนทุกยุคสมัย แม้ในวันที่ตู้เย็นยี่ห้ออื่นพัฒนาไปไกลจนสามารถเล่นโซเชียลมีเดียได้แล้วก็ตาม

FAB28 

fab

ด้วยความที่ตู้เย็น FAB ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงยุคคาบเกี่ยวกับยุค post-war economic boom ทำให้แบบร่างแรกซึ่งเป็นดีไซน์สีขาวเรียบๆ ตามที่ได้รับอิทธิพลจากกระแส white panel built-in appliance ถูกปรับปรุงใหม่ให้เป็นตู้เย็นทรงขอบมน และใช้สีพาสเทลสดใส โดยอ้างอิงมาจากตู้เย็นสไตล์อเมริกันช่วงยุค 50s ทั้งยังเลือกใช้ดีไซน์แบบลอยตัว ฉีกจากเทรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบบิลด์อินซึ่งเป็นที่นิยมต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปี 1985 เพื่อดึงดูดความสนใจท่ามกลางปรากฏการณ์เศรษฐกิจเฟื่องฟูในยุคหลังสงคราม

นี่เองจึงเป็นที่มาของชื่อ FAB ซึ่งย่อจากประโยคภาษาอิตาเลียน ‘Frigorifero D’arredamento Bombato’ ที่แปลว่า ‘ตู้เย็นแบบลอยตัวรูปทรงกลมมน’ แถมเมื่อย่อแล้วชื่อ FAB ก็ยังไปพ้องกับคำว่า fabulous ในภาษาอังกฤษอีกต่างหาก

fab

คอลเลกชั่นแรกของ FAB เปิดตัวด้วยชุดสีพาสเทลเลียนแบบวัสดุอีนาเมลที่ได้รับความนิยมในช่วงยุค 1950s อย่างสีครีม เขียว และฟ้า แต่นอกจากนั้นก็ได้มีการเพิ่มเติมสีอื่นๆ เพื่อให้ภาพรวมของคอลเลกชั่นมีความสดใสยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแดง Ferrari Red, ส้ม Dutch Orange, ฟ้า Electric Blue หรือชมพู Delusionary Pink

FAB คือตู้เย็นที่สะท้อนปรัชญาการออกแบบสินค้าของ SMEG ออกมาได้อย่างครบถ้วน นั่นคือการใช้รูปทรง เส้น สี เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับพื้นที่ใดๆ ที่เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนั้นจะเข้าไปตั้งอยู่ ด้วยความตั้งใจที่อยากจะพาแบรนด์ให้ไปไกลกว่ามาตรฐานในตลาดของใช้ภายในบ้านนั่นเอง

FAB28 Denim Fridge

fab

หลังจากที่ FAB รุ่นแรกได้รับความนิยม SMEG ก็เริ่มพาตู้เย็นรุ่นนี้ไปคอลแล็บกับแบรนด์อื่นๆ เพื่อพาตัวเองออกจากคอมฟอร์ตโซน ก้าวเข้าสู่น่านน้ำใหม่ในตลาดที่พวกเขายังไม่เคยลอง หนึ่งในการคอลแล็บลำดับต้นๆ ที่เราคิดว่าน่าสนใจคือ FAB Denim Fridge ที่จับมือกับแบรนด์แฟชั่นสัญชาติอิตาเลียนอย่าง Italia Independent

ความสนุกของคอลเลกชั่นนี้คือ การตัดสินใจเปลี่ยนวัสดุด้านนอกตู้เย็นจากพลาสติกเป็นผ้ายีนส์ทั้งตัว! ไอเดียหลักคือการนำเสนอตู้เย็นรุ่นดังในภาพลักษณ์ใหม่ที่สดชื่น ขณะเดียวกันวัสดุใกล้ตัวอย่างยีนส์ก็เป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วไปคุ้นเคย ใกล้ชิดอยู่เป็นประจำในฐานะเครื่องแต่งกาย 

นอกจากนี้พวกเขายังใช้รอยเดินตะเข็บสีเหลืองส้มตัดกับผ้ายีนส์สีเข้มมาช่วยขับให้ตู้เย็นเครื่องนี้ยิ่งโดดเด่นเข้าไปอีก เป็นดีเทลที่น่ารักไม่แพ้การเปลี่ยนโลโก้ตัว E เป็นแถบสีธงชาติอิตาลี และการเปลี่ยนมือจับเป็นสีดำเพื่อให้ล้อไปกับผ้ายีนส์อีกด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าตู้เย็นรุ่นนี้จะยังคงดีไซน์หลักเอาไว้แบบเดิมทุกประการ แต่เพียงแค่การตัดสินใจเปลี่ยนวัสดุหุ้มภายนอก ร่วมกับปรับดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้เกิดเป็นคอมบิเนชั่นใหม่ที่แปลกตาไปจาก FAB รุ่นคลาสสิกโดยสิ้นเชิง

FAB Union Jack

fab

นอกจากการคอลแล็บเพื่อจับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในสายแฟชั่นแล้ว SMEG ยังได้มีการปล่อยตู้เย็น FAB ลาย Union Jack หรือธงชาติอังกฤษออกมาเพื่อตลาดนักสะสมผู้หลงรักในความเป็นบริทิช และตอบสนองความต้องการของตลาดลูกค้าในประเทศอังกฤษ ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่ประเทศต้นกำเนิดแต่ SMEG ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์เครื่องใช้ภายในบ้านอันดับต้นๆ ครองใจผู้คนในเกาะอังกฤษมาอย่างยาวนาน

เอาเข้าจริง ต่อให้ไม่ใช่คนอังกฤษโดยกำเนิด แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตู้เย็นลายยูเนี่ยนแจ็กนี้เตะตาน่ารักไม่เบา จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่คอลเลกชั่นดังกล่าวจะงอกเงยจากตู้เย็น 2 ไซส์ (FAB28 ไซส์มาตรฐานและ FAB10 ตัวเล็กน่ารัก) ไปสู่โปรดักต์อื่นๆ อีกหลายอย่างให้เหล่าแฟนได้ตามเก็บกันจนครบเซต ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปิ้งขนมปัง กาต้มน้ำ หรือแม้กระทั่งฮู้ดดูดควันในห้องครัว

FAB Dolce & Gabbana

ต่อมาหลังจากที่ SMEG ได้ถูกเปลี่ยนมือเข้าสู่การบริหารโดยทายาทรุ่นที่สาม ความเปลี่ยนแปลงข้อหนึ่งที่เราสังเกตได้อย่างชัดเจนคือทิศทางการตลาด ซึ่งมุ่งสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มใหม่ซึ่งไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในยุคก่อนหน้า สังเกตได้จากการออกโปรดักต์ของใช้ขนาดเล็ก (small appliance) และหลากหลายคอลเลกชั่นที่ SMEG หันมาคอลแล็บกับโกลบอลแบรนด์มากยิ่งขึ้น

หนึ่งในนั้นคือ SMEG X Dolce & Gabbana แบรนด์แฟชั่นระดับโลกที่มีต้นกำเนิดมาจากเมืองซิซิลี ในประเทศอิตาลี การคอลแล็บระหว่างสองแบรนด์อิตาเลียนนี้ได้เกิดขึ้นถึง 3 คอลเลกชั่นด้วยกัน โดยโปรดักต์ตู้เย็นนั้นปล่อยออกมาในคอลเลกชั่นแรกเมื่อปี 2016 ใช้ชื่อว่า Refrigerator of Art เป็นตู้เย็นรุ่นพิเศษที่ผลิตออกมาแค่ 100 เครื่องบนโลกเท่านั้น

เอาเข้าจริงตู้เย็นคอลเลกชั่นนี้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาในฐานะงานศิลปะมากกว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะลวดลายของแต่ละเครื่องนั้นเป็นผลงานการเพนต์ของช่างฝีมือจากเมืองซิซิลี บ้านเกิดของสองผู้ก่อตั้ง Dolce & Gabbana เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมและคุณค่าในแบบฉบับอิตาเลียนแท้ๆ ที่เป็นแก่นของแบรนด์ทั้งสองออกมา แน่นอนว่าแต่ละเครื่องก็ถูกแต่งแต้มด้วยลายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างกันไป

ปัจจุบันเราสามารถเข้าไปชมงานศิลป์ในร่างตู้เย็นทั้ง 100 ชิ้นได้ในเว็บไซต์ของ SMEG ซึ่งบางเครื่องก็ยังไม่มีเจ้าของ ใครที่สนใจสามารถจับจองได้ในราคาประมาณ 3 ล้านบาทปลายๆ (แอบกระซิบว่าในประเทศไทยยังไม่เคยมีใครซื้อเข้ามาเลย) แต่ถ้าอยากเห็นของจริงกับตา ปัจจุบันคอลเลกชั่น Refrigerator of Art หลายตัวก็กระจายไปอยู่ตามสำนักงานใหญ่ของ SMEG, ห้างสรรพสินค้าในยุโรป และบ้านของมหาเศรษฐีในประเทศต่างๆ

ล่าสุดเมื่อปี 2020 SMEG และ Dolce & Gabbana ก็ได้ปล่อยคอลเลกชั่นที่ 3 ของพวกเขาออกมา ซึ่งมีตู้เย็นรุ่นใหม่ 2 ลายด้วยกันคือ Majolica ตู้เย็นสีขาว-ฟ้าที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานเซรามิกสไตล์ซิซิเลียน และ Carletto ตู้เย็นสีสันจัดจ้าน สดใส ลวดลายผลไม้นั่นได้รับแรงบันดาลใจจากรถเข็นในงานเทศกาลท้องถิ่น ที่พิเศษคือทั้งสองลายนี้ยังมาพร้อมกับเครื่องครัวเข้าชุดกันอีกหลายชิ้น ถูกใจสายสะสมที่สามารถเป็นเจ้าของได้แบบยกเซตเลยทีเดียว

FAB50

หากสังเกตดูวิวัฒนาการของตู้เย็น FAB แต่ละรุ่นที่เรายกมาพูดถึง จะพบว่าแทบทุกเครื่องนั้นมีดีไซน์เหมือนเดิมแทบทั้งหมด จะแตกต่างก็เพียงแค่สีสัน ลวดลาย หรือรายละเอียดเล็กน้อยเท่านั้น นั่นเพราะตลอดเวลากว่า 25 ปีตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน ดีไซน์ของ FAB ก็ยังคงเดิมไม่มีเปลี่ยน 

สิ่งนี้พิสูจน์ให้เราเห็นถึงอานุภาพของงานออกแบบที่อยู่เหนือกาลเวลา และยืนยันว่าทั้งหมดนี้ถูกคิดคำนวณมาอย่างถี่ถ้วนแล้วจริงๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าทีมดีไซเนอร์ของ SMEG จะไม่ใส่ใจเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์เอาเสียเลย เพราะเราจะเห็นถึงความพยายามในการเติมเต็มความต้องการของลูกค้าผ่านการออกตู้เย็น FAB ขนาดอื่นๆ ที่ตามมาในภายหลัง 

รุ่นหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ FAB50 ซึ่งมีจุดเด่นที่ขนาดและฟังก์ชั่นการใช้งาน เมื่อเปรียบเทียบกับ FAB28 ซึ่งมีขนาดค่อนข้างเล็ก บางครั้งจึงถูกมองว่าเป็นตู้เย็นเพื่อการโชว์มากกว่าการใช้งาน แตกต่างจาก FAB50 ที่มีความกว้างถึง 80 เซนติเมตร เป็นความลงตัวระหว่างการใช้งานจริงกับดีไซน์ที่สวย แถมตัวนี้ยังมาพร้อมกับเทคโนโลยี no-frost air circulation เพื่อป้องกันปัญหาน้ำแข็งจับตัวแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ และเทคโนโลยี Active Ion เพื่อยืดระยะเวลาในการถนอมอาหารอีกด้วย

SMEG500

รุ่นสุดท้ายที่หยิบยกมาเล่าอาจไม่เชิงว่าเป็นตู้เย็นเสียทีเดียว แถมหน้าตาก็ยังแตกต่างจากตู้เย็นรุ่นก่อนๆ อยู่มากโข เพราะ SMEG500 ที่เกิดจากการคอลแล็บกันระหว่าง SMEG และแบรนด์รถยนต์สุดคลาสสิกอย่าง Fiat นั้นหยิบเอาดีไซน์กระโปรงหน้าของรถ Fiat 500 มาดัดแปลงเป็นมินิบาร์ขนาดย่อม และด้วยรูปทรงที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ลูกค้าส่วนใหญ่จึงนิยมสะสมหรือตั้งในบาร์ส่วนตัว ซึ่งมีให้เลือกทั้งสีขาว เขียว แดง เหลือง น้ำเงิน (แต่ในโชว์รูมไทยเรานำเข้ามาแค่สีแดงเท่านั้นนะ)

มากไปกว่าการเป็นแบรนด์อิตาเลียน SMEG และ Fiat ยังมีแก่นการดีไซน์ที่คล้ายคลึงกันอย่างมาก นั่นคือเอกลักษณ์ดีไซน์สไตล์วินเทจ และองค์ความรู้ด้านเทคโลยีไม่ว่าจะเป็นยานยนต์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า การจับคู่กันในครั้งนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นส่วนผสมที่เข้ากันแบบสุดๆ


ทุกวันนี้ นอกจากจะกลายเป็นภาพจำ เป็นหน้าเป็นตาของแบรนด์แล้ว คงไม่เกินจริงไปนักหากเราจะขอสรุปว่าตู้เย็นสุดไอคอนิกอย่าง FAB นั้นมีบทบาทเป็นตัวกลางที่เชื่อมต่อระหว่าง SMEG กับพื้นที่ใหม่ๆ กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ซึ่งสามารถขยายออกไปได้อย่างไม่รู้จบ

สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นผ่านการคอลแล็บกับเหล่าแบรนด์ดังเท่านั้น เพราะแม้แต่กับสินค้าใหม่ของ SMEG ในช่วงหลายปีมานี้ส่วนมากก็มีดีไซน์สไตล์เรโทรที่เชื่อมโยงกับ FAB กันทั้งนั้น

“หลังจากที่ FAB เริ่มดังและ SMEG ถูกส่งต่อมายังทายาทรุ่นที่สาม เราจะสังเกตว่าดีไซน์แบบเรโทร ความโค้งมน และชุดสีพาสเทลสไตล์ 50s นี้ถูกหยิบมาขยายต่อเป็นคอลเลกชั่น small appliance อย่างเครื่องปิ้งขนมปัง กาต้มน้ำ มิกเซอร์ ตะกร้อไฟฟ้า รวมถึงล่าสุดที่ออกมาคือเครื่องครัว หม้อ และกระทะขนาดต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของแฟน SMEG ที่อยากให้ครัวของเขาสวยและดูไปด้วยกันทั้งหมด” เฟิร์นอธิบายถึงอิทธิพลที่เกิดขึ้นจากความนิยมอันล้นหลามของตู้เย็นทรงเก๋รุ่นนี้ และในทางกลับกัน ลูกค้าใหม่ของ SMEG บางกลุ่มก็มีแนวโน้มที่จะเริ่มต้นสะสมจากสินค้าชิ้นเล็กๆ ก่อนที่จะขยับขยายมาสู่ของชิ้นใหญ่อย่างตู้เย็นอีกด้วย

Tagged:

Writer

เรียนจบในยุคโควิด-19 เยียวยาใจด้วยการนอนดูซีรีส์เกาหลีและกินของอร่อย

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like