The Craft Startup
จากซิลิคอนแวลลีย์สู่การทำ POJ Studio สตาร์ทอัพที่อนุรักษ์งานคราฟต์ญี่ปุ่นและขายไปทั่วโลก
Pieces of Japan หรือที่รู้จักกันในนาม POJ Studio เป็นร้านที่ฮิกาชิยาม่า ย่านเก่าแก่ของเกียวโต ซึ่งมีคอนเซปต์ว่า ‘From Japan’s Master Artisans to Your Home’
จากการมองเห็นความงามทางวัฒนธรรมญี่ปุ่นและเสน่ห์ของงานคราฟต์ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างธุรกิจที่ถ่ายทอด Japanese way of life และเรื่องราวของเหล่าปรมาจารย์ craftsman เบื้องหลังสู่คนทั่วโลก
Tina Koyama ผู้ก่อตั้ง POJ Studio เป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น-สวิส พ่อของเธอเป็นคนสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนแม่เป็นคนญี่ปุ่น ทีน่าเติบโตและศึกษาเล่าเรียนด้านการออกแบบในคณะ Visual Communication ที่สวิตเซอร์แลนด์ โดยในวัยเด็กเธอมีความหลงใหลด้านเทคโนโลยีและการออกแบบ
เธอเริ่มเขียนโค้ดสร้างเว็บไซต์แรกของตัวเองตั้งแต่อายุ 12 ปีและยังเคยย้ายไปอยู่อเมริกาเพื่อทำงานที่ซิลิคอนแวลลีย์กับบริษัทสตาร์ทอัพและทวิตเตอร์ ที่ซิลิคอนแวลลีย์นี้เองที่ทีน่าเริ่มรู้สึกว่ามีบริษัทมากมายที่ระดมเงินทุนหลายล้านเพื่อสร้างแอพพลิเคชั่นใหม่ ขณะที่ภูมิปัญญางานคราฟต์ที่สานต่อกันมานับร้อยปีในญี่ปุ่นกำลังเสี่ยงต่อการสูญหาย
จะเกิดอิมแพกต์แค่ไหน หากสามารถเปลี่ยนชีวิตของเหล่าช่างฝีมือด้วยการสร้างธุรกิจที่ผู้คนยินดีอุดหนุนงานคราฟต์ของญี่ปุ่น?
ทีน่าเริ่มต้นไอเดียธุรกิจด้วยการเขียนบล็อกเล่าเรื่องงานคราฟต์มาตั้งแต่ปี 2017 จดทะเบียนเปิดบริษัทอย่างเป็นทางการในปี 2020 โดยเริ่มจากการทำธุรกิจออนไลน์ก่อนจะเปิดร้านที่เกียวโตในปี 2022 และกำลังมีความฝันอยากเปิดร้านที่ลอสแอนเจลิสในเร็วๆ นี้
ตั้งแต่ชุดอุปกรณ์ DIY Kintsugi Kits ที่ทำให้สามารถเรียนรู้ศิลปะคินสึงิด้วยตัวเอง, ม่าน Noren แบบญี่ปุ่นในเฉดสี Indigo, แจกันแบบวะบิ ซะบิที่สื่อถึงปรัชญาความไม่สมบูรณ์แบบอันลึกซึ้ง, Sudare Screen จากไม้ไผ่, ศิลปะเชือกถัก Warazaiku, โคมไฟกระดาษ CHOCHIN และ One-of-a-kind pieces อีกมากมายจากทั่วญี่ปุ่น
ขอชวนแวะชมข้าวของเครื่องใช้สุดเนี้ยบและฟังเรื่องราวจากทีน่าว่าเธอทำยังไงให้สามารถนำงานคราฟต์จากบ้านเกิดมาทำเป็นสตาร์ทอัพที่มีลูกค้าทั่วโลกและทำให้ธุรกิจเติบโตเร็วอย่างประสบความสำเร็จ
อะไรทำให้คุณเชื่อมั่นว่าไอเดียธุรกิจงานคราฟต์จากญี่ปุ่นของคุณไปไกลได้ทั่วโลก
เราตั้งใจสร้าง POJ Studio ขึ้นมาโดยเล็งกลุ่มลูกค้าทั่วโลกตั้งแต่แรก เพราะความจริงคือทุกวันนี้กำลังซื้อในตลาดญี่ปุ่นไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนงานฝีมือของชุมชนในประเทศ ตอนเราอยู่ที่สหรัฐฯ โดยเฉพาะที่แคลิฟอร์เนีย เรารู้สึกว่าตัวเองล้อมรอบไปด้วยกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพสูงสำหรับธุรกิจในอนาคตและตลอดสี่ปีที่ทำธุรกิจก็ได้พิสูจน์แล้วว่าที่นี่คือตลาดที่แข็งแกร่งสำหรับเราจริงๆ
ทุกวันนี้ตลาดใหญ่ที่สุดของเราอยู่ที่อเมริกาซึ่งมีสัดส่วนลูกค้าคิดเป็นครึ่งหนึ่งของลูกค้าทั้งหมดและยังมีลูกค้าจากทั่วโลก ลูกค้า 15% ของเรามาจากยุโรป อีก 15% มาจากเอเชีย โดยรวมสิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวัน ส่วนที่เหลือกระจายไปหลายประเทศทั่วโลกและยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก
ในฐานะคนเชื้อสายญี่ปุ่น-สวิสที่เกิดและเติบโตในยุโรป เคยทำงานในสหรัฐฯ มีความถนัดด้านการออกแบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการออกแบบเชิงกลยุทธ์ (strategic design) และเคยมีส่วนร่วมในการวางแผน international strategy ในวงการเทคโนโลยี เรารู้สึกว่าทักษะของตัวเองไม่ได้มีประโยชน์แค่ในโลกเทคโนโลยีเท่านั้นแต่ยังเอามาใช้ในโลกของงานฝีมือได้ด้วย สิ่งที่ทำให้เชื่อว่าไอเดียของเราเป็นไปได้คือแบ็กกราวนด์และทักษะของเราทั้งหมดเหล่านี้
แล้วทักษะใดจากการทำงานในซิลิคอนแวลลีย์ที่คุณคิดว่ามีประโยชน์ที่สุดในการทำธุรกิจคราฟต์
คิดว่าแทบทุกทักษะมีประโยชน์หมด การออกแบบก็เป็นทักษะสำคัญในการสร้าง brand aesthetics ไม่ใช่แค่ออกแบบโลโก้และเว็บไซต์ แต่รวมถึงการสร้างแบรนด์ที่มี look & feel ขนานไปด้วยกัน ซึ่งแบ็กกราวนด์ด้านการออกแบบของเราและหุ้นส่วนก็ช่วยให้สร้างแบรนด์ได้ไม่ยาก
นอกเหนือจากการเป็นผู้นำในบริษัท เรายังนำพื้นฐานด้าน R&D (การวิจัยและพัฒนา) จากงานในวงการเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เกือบทั้งหมด มันเป็นงานส่วนที่เรามีแพสชั่นและมีส่วนร่วมมากที่สุดในฐานะซีอีโอ เราทำรีเสิร์ชและเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ว่าจะพัฒนาสินค้าแบบไหน รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลหลังการซื้อของลูกค้าเพื่อคาดการณ์การตัดสินใจซื้อในอนาคต
และแม้เราจะไม่ใช่นักการตลาดแต่ก็เคยทำสื่อออนไลน์มาก่อนเลยรู้สึกว่าการใช้เทคโนโลยีเพื่อเล่าเรื่องเป็นสิ่งที่ไม่ยากนักสำหรับตัวเองแม้ว่าเราจะไม่ใช่นักการตลาดดิจิทัลโดยตรงก็ตาม
คุณทำงานร่วมกับช่างฝีมือในกระบวนการพัฒนาสินค้ายังไง
ด้วยธุรกิจนี้เกี่ยวพันกับช่างฝีมือทั้งหมด สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับงานคราฟต์ของพวกเขา ก่อนที่เราจะเสนอไอเดียสินค้าใดๆ ก็ตาม สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากคือการถามพวกเขาว่าอะไรคือความท้าทายของคุณ คุณกำลังตั้งใจสร้างสรรค์อะไรอยู่และอยากทำอะไรบ้างในอนาคต โดยคำถามสุดท้ายเป็นคำถามที่เราสนใจมากที่สุด
เราอยากให้ช่างฝีมือบอกเราว่าอยากทำอะไรและอยากพัฒนาผลงานไปในทิศทางไหน จากนั้นเราจะคิดไอเดียที่สามารถสนับสนุนให้เขาไปถึงเป้าหมายหรือช่วยตอบโจทย์เขาได้ จะเห็นได้ว่าเราไม่ได้เข้าหาช่างฝีมือด้วยความคิดว่าอยากให้พวกเขาพัฒนาไอเดียของเราซึ่งคิดว่าสิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้สานความสัมพันธ์ร่วมกันอย่างประสบความสำเร็จมาตลอด
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากบริษัทอื่นคือเราไม่คิดค่าที่ปรึกษา ไม่คิดเงินใดๆ จากช่างฝีมือ เพราะเราตั้งใจทำสิ่งนี้เพื่อชุมชนคราฟต์ เราจึงเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง ถ้าเราสั่งผลิตหรือต้องทำแม่พิมพ์ เราจะเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดทำให้ความเสี่ยงในการพัฒนาผลงานร่วมกับเราเป็นศูนย์
คุณเลือก craftsman และ artisan ที่อยากทำงานร่วมกันยังไง
ตอนแรกที่เริ่มบริษัท เราได้คอนเนกชั่นส่วนใหญ่ผ่านทางคุณแม่ของเรา เพราะท่านมีแพสชั่นในงานคราฟต์มาก่อนเลยแนะนำให้เรารู้จักกับช่างฝีมือหลายคน ทุกวันนี้เรามีครอบครัวช่างฝีมือที่ร่วมงานด้วย 50 ครอบครัวและมีหลายช่องทางในการสร้างความสัมพันธ์
นอกจากนี้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นทั้งจาก Kyoto City และ Kyoto Prefecture ก็ให้ความสนใจในธุรกิจของเราและมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับเรามาก เช่น การเปิดโอกาสใหม่ด้วยการแนะนำให้รู้จักกับผู้มีฝีมือที่เราไม่มีคอนเนกชั่นโดยตรงมาก่อน
เรายังมีสินค้าที่ช่างฝีมือที่ติดต่อเข้ามาหาเราเองด้วย ตัวอย่างเช่น ม่าน Noren แบบญี่ปุ่น ช่วงโควิด-19 ช่างทำม่านคนนี้ประสบปัญหาอย่างมาก ไม่มีงานทำเลย เขาเห็นเราในหนังสือพิมพ์จึงติดต่อมาและถามว่าอยากร่วมงานกับเขาไหม จากนั้นเราก็ไปเยี่ยมชมโรงงานของเขา ทำความเข้าใจสิ่งที่เขาทำ แล้วสร้างสรรค์สินค้าจากตรงนั้น
เล่าเรื่องราวความประทับใจถึงผู้คนที่คุณร่วมงานด้วยได้ไหม
เรื่องของช่างทำม่าน Noren เป็นจุดเริ่มต้นของหนึ่งในไลน์สินค้าขายดีที่สุดของเรา เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติและการมัดย้อม แม้จะมีอายุ 80 ปีแล้วแต่ก็ยังทำงานอย่างกระตือรือร้น หลังจากร่วมงานกัน ตอนนี้ม่านแขวนผนังแบบญี่ปุ่นกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของเขาและมีผู้สนใจเยอะมากจนต้องให้ลูกชายเข้ามาช่วยซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีมากที่ได้เห็นความสำเร็จแบบนี้
อีกเรื่องหนึ่งที่เราพูดถึงบ่อยในสื่อคือชาม Oryoki ซึ่งก่อนหน้าที่เราจะนำมาพัฒนา ชามนี้เป็นสินค้าที่ขายไม่ได้มากนัก แค่เราทวิสต์การดีไซน์เล็กน้อยด้วยการครีเอตพื้นผิวแบบแมตต์เพิ่มขึ้นมา สินค้าชิ้นนี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำให้สามารถสนับสนุนช่างฝีมือให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและใช้ชีวิตอย่างสุขสบายได้จากที่ก่อนหน้านี้แค่พอประคับประคองชีพไปได้
เรายังมีเรื่องเล่าแบบนี้อีกมากมายจากการทำงานกับช่างฝีมือหลายคนซึ่งเป็นเรื่องราวที่น่าประทับใจ
งานคราฟต์หมวดไหนของ POJ Studio ที่ป๊อปปูลาร์มากที่สุด
ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับคินสึงิ (ศิลปะการซ่อมแซมภาชนะที่แตกด้วยทองคำ) คือสิ่งที่ฮิตมากที่สุด เพราะเราสร้างแบรนด์ที่ทำให้คนจดจำคินสึงิได้ ดังนั้นสินค้าทุกอย่างของเราที่เกี่ยวกับคินสึงิจึงเป็นที่นิยมมาก นอกจากนี้หมวด tableware รุ่น Shigaraki dinnerware, ของตกแต่งผนังบ้าน และธูปหอมก็เป็นสินค้าที่ขายดี
สินค้าหมวดคินสึงิมีความพิเศษยังไง
สินค้าแรกของเราคือ Kintsugi kit (ชุดอุปกรณ์คินสึงิ) ที่เปิดตัวตอนกำลังเกิดความนิยมในศิลปะประเภทนี้ ตอนนั้นสิ่งที่เป็นกระแสขึ้นมาที่วอชิงตันคือคินสึงิเวอร์ชั่นที่ใช้กาว epoxy มาเชื่อมรอยแตกซึ่งแตกต่างจากกระบวนการทำแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นอย่างมาก
เราเลยรู้สึกว่าเป็นโอกาสดีที่จะแนะนำ super slow craft ของญี่ปุ่นอย่างคินสึงิที่ความจริงแล้วใช้เวลาในการทำนานมากตั้งแต่หนึ่งถึงสองเดือนผ่านชุดอุปกรณ์ของเรา เพราะสุดท้ายแล้วคุณจะไม่สามารถทำคินสึงิให้เสร็จในครั้งเดียวได้ คุณต้องทำมันที่บ้านอย่างต่อเนื่อง
เหตุผลที่เราทำชุดอุปกรณ์คินสึงิก่อนสินค้าอื่นๆ ในตอนนั้นคือเพื่อบอกว่าเราไม่ได้สนใจแค่การซื้อสินค้าของลูกค้าแต่ยังใส่ใจเรื่องการซ่อมแซมและการใช้สินค้าอย่างยืนยาวด้วย เพราะเมื่อคุณทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ขายเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร สุดท้ายแล้วสินค้าเหล่านี้ก็อาจแตกในสักวัน เราจึงอยากนำเสนอวิธีการซ่อมแซมมันด้วย
แต่ชุดอุปกรณ์นี้ก็ไม่ได้เหมาะกับทุกคนนะ เรารู้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะหลงใหลในการทำงานคราฟต์ ดังนั้น Kintsugi apprentice program จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างคอมมูนิตี้ให้ความรู้สำหรับผู้ที่สนใจเรียนศาสตร์คินสึงิจากทั่วโลก โดยผู้ที่สนใจจะเข้ามาเรียนที่เกียวโตเป็นเวลาสองเดือนซึ่งเป็นเวลาที่ใช้ในการซ่อมงานหนึ่งชิ้นและยังสามารถซ่อมภาชนะเพิ่มกี่ชิ้นก็ได้ตามใจชอบในช่วงเวลาสองเดือนนั้น
การสร้างคอมมูนิตี้แบบนี้ช่วยให้ลูกค้าของเราจากทั่วโลกสามารถซ่อมแซมจานชามที่แตกได้เองโดยไม่ต้องส่งมาซ่อมที่ญี่ปุ่นและส่งกลับไปยังประเทศของตัวเองอีกทีซึ่งไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืนนัก
การเปิดหน้าร้านที่เกียวโตช่วยส่งเสริมธุรกิจของคุณยังไง
คิดว่าส่งผลดีมาก ตอนเริ่มธุรกิจก็ค่อนข้างลำบากเหมือนกัน การจะได้รับความสนใจจากสื่อนั้นไม่ง่าย อาจจะเพราะเราเริ่มจากทำอีคอมเมิร์ซออนไลน์อย่างเดียว การสร้างสเปซในแหล่งท่องเที่ยวอย่างเกียวโตช่วยให้เราได้รับการประชาสัมพันธ์จากสื่อมากขึ้น จากสตอรี่งานฝีมือของเราที่มีคุณค่าและน่าสนใจอยู่แล้ว พอมีหน้าร้านก็เกิดอิมแพ็กในการเล่าเรื่องมากขึ้นไปอีก และจากมุมมองของ R&D ในการพัฒนาสินค้า การขายออนไลน์ทำให้เราได้เจอลูกค้าแบบหนึ่ง แต่การได้พบปะลูกค้าโดยตรงถือเป็นโอกาสสำคัญอย่างมากในการได้ฟีดแบ็ก
การเปิดร้านยังทำให้เราได้จัดเวิร์กช็อปที่สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ในพื้นที่จริงที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวงานคราฟต์อย่างลึกซึ้ง ทำให้ผู้มาเยี่ยมเยียนสามารถซื้อทั้งสินค้าและประสบการณ์กลับไปโดยเรามีทั้งการการสอนแบบครั้งเดียวจบและการเรียนรู้ระยะยาวควบคู่กันไป
คุณมีแผนขยายร้านออฟไลน์ยังไงบ้าง
ตอนนี้เรากำลังวางแผนที่จะเปิดร้านป๊อปอัพที่ Echo Park ลอสแอนเจลิส ซึ่งอยู่ใกล้ downtown เป็นระยะเวลาสามเดือนตั้งแต่พฤศจิกายนถึงมกราคมซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการการทดสอบตลาด ที่สหรัฐอเมริกา รัฐที่มีลูกค้าของเราอยู่มากที่สุดคือแคลิฟอร์เนีย
การเลือกขยายร้านไปลอสแองเจลิสเลยเป็นทางเลือกที่เมกเซนส์เพราะที่นั่นมี retail landscape ที่ดีกว่าซานฟรานซิสโกและซานดิเอโก เราคิดว่าสามเดือนอาจไม่ใช่ระยะเวลานานมากนักที่จะทำให้รู้ผลจริงๆ แต่คิดว่าก็นานพอที่จะแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ว่ามีความสนใจจากลูกค้าเพียงพอไหมที่เราจะพัฒนาสู่การเปิดร้านถาวรที่ลอสแอนเจลิสในอนาคต
ที่ผ่านมาอะไรคือสิ่งที่ท้าทายที่สุดในการทำธุรกิจสำหรับคุณ
ตอนเริ่มต้นเราไม่ได้เจอปัญหาใหญ่มากมายนักและรู้สึกว่าการเริ่มธุรกิจออนไลน์ไม่ได้ยากเกินไป ตัวเราเองก็โชคดีที่มีคนอยากร่วมทางในมิสชั่นที่เราอยากมุ่งหน้าไปเสมอ แต่สิ่งที่ท้าทายมาตลอดคือการเงินซึ่งเป็นด้านการลงทุนของธุรกิจสตาร์ทอัพ
เราค่อนข้างมีความทะเยอทะยานในการเติบโตและขยายธุรกิจอย่างเร็วมากสำหรับธุรกิจรีเทลเล็กๆ ที่ขายงานคราฟต์ การอยากสร้างอิมแพ็กยิ่งใหญ่ให้ในวงการคราฟต์ญี่ปุ่นทำให้เราต้องหาเงินลงทุนให้ธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อให้โตเร็ว นั่นหมายความว่าเราต้องเบิร์นเงินลงทุนจำนวนมากอยู่เสมอเพื่อการลงทุนในอนาคต
แต่เนื่องจากเราไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยีที่สามารถสัญญาว่าจะได้กำไรกลับมา 10-20 เท่าและเราก็ไม่ได้วางแผนที่จะขายกิจการในภายภาคหน้าด้วยเพราะอยากให้ธุรกิจนี้เป็นงานในชีวิตเรา การหาเงินลงทุนเลยเป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุด
นอกจากนี้ยังมีเรื่องทีม เมื่อปีที่แล้ว co-founder ของเราลาออกไป ถึงแม้ว่าธุรกิจนี้จะเป็นสิ่งที่เราฝันและลงแรงกับมันมาตลอดแต่การที่หุ้นส่วนจากไปก็เป็นเรื่องยากเสมอ ความจริงแล้วเรื่องคนเป็นเรื่องที่น่าเครียดมากกว่าการเงินด้วยซ้ำ แต่ทั้งสองมุมนี้ก็เป็นเรื่องทั่วไปที่ผู้ประกอบการมักต้องเจอ
คุณ pitch แผนธุรกิจกับนักลงทุนยังไงให้เขาเชื่อมั่นในการลงทุนกับไอเดียของคุณ
ต้องเล่าว่าเราได้รับเงินทุนสนับสนุนจากธนาคารเป็นส่วนใหญ่และโชคดีมากที่ธนาคารท้องถิ่นให้ความสนใจธุรกิจของเรา ในช่วงสามปีแรกการสนับสนุนทางการเงินมาจากสถาบันการเงินในเกียวโตเป็นหลักซึ่งช่วยเราได้มากจริงๆ ปีที่แล้วเราเริ่มหันไปหาเงินลงทุนจาก angel investors เพราะถ้ากู้เงินจากธนาคารก็จะมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่วิธีการขอเงินลงทุนทั้งสองประเภทก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย เราเน้นที่การเล่าเรื่องว่าทำไมถึงทำธุรกิจนี้และเล่าว่าเรากำลังมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ยังไม่มีใครทำประสบความสำเร็จมาก่อน
ด้วยความที่เป็นนักออกแบบและเคยมีส่วนร่วมระดับวางกลยุทธ์ในบริษัทเทคโนโลยีมาก่อนจึงคุ้นเคยกับการ pitch ต่อองค์กรใหญ่ๆ เพื่อขอทุนสนับสนุนและรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องยาก เราคิดว่านักลงทุนที่สนใจในธุรกิจของเราเป็นคนที่ใส่ใจในการอนุรักษ์วัฒนธรรมก็เลยพยายามเน้นสื่อสารความตั้งใจนี้ให้ชัดเพื่อไม่ให้ได้นักลงทุนที่สนใจแค่ผลตอบแทนทางการเงินเท่านั้น
แน่นอนว่าเมื่อเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพและเริ่มมีตัวเลขผลประกอบการที่น่าสนใจ องค์ประกอบเหล่านี้ก็ช่วยได้มาก เพราะแม้แต่สถาบันการเงินก็ต้องการเห็นแผนการเงินและข้อมูลของธุรกิจ ดังนั้นนอกจากการ pitch คุณยังต้องมีทักษะทางการเงินที่ดีด้วยซึ่งเป็นสิ่งได้เรียนรู้มาตลอดสี่ปีที่ผ่านมาจากที่แทบไม่มีทักษะทางการเงินเลย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้การ pitch ของเรามีความน่าเชื่อถือ
จากประสบการณ์ทั้งหมด คุณอยากให้คำแนะนำอะไรให้กับคนที่สนใจทำธุรกิจคราฟต์แบบเดียวกับคุณ
สิ่งที่เราอยากบอกกับคนที่สนใจเริ่มธุรกิจแบบนี้คือการวางแผนทางการเงิน เราคิดว่ามีช่างฝีมือจำนวนมากที่เราทำงานด้วยที่พยายามสร้างสรรค์ผลงานหลายอย่างโดยไม่ได้คำนวณตัวเลขก่อน การวางแผนทางการเงินเป็นทักษะที่จะช่วยให้รู้ตั้งแต่แรกว่าโมเดลธุรกิจจะใช้ได้จริงหรือไม่ มันอาจเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ แต่การวางแผนรายได้ ต้นทุน และค่าใช้จ่ายล่วงหน้า รวมถึงการกำหนดเป้าหมายและ margin กำไรที่ได้จะช่วยให้คุณรู้ว่าธุรกิจนี้คุ้มค่าที่จะลงมือทำไหมก่อนที่จะเริ่มลงทุนจริงๆ
ส่วนสิ่งสำคัญในการทำงานกับผู้คนคือการเชื่อ gut feeling ของตัวเองในการจ้างงาน ที่ผ่านมาเคยมีบางครั้งที่เราเลือกทีมโดยพิจารณาจากประวัติการทำงานมากกว่าความรู้สึก ทั้งที่รู้สึกค้านสัญชาตญานบางอย่างแต่เรากลับไม่ฟังใจตัวเอง สุดท้ายก็ทำให้เกิดปัญหาการทำงานร่วมกันในทีม ส่วนสมาชิกทีมที่ใจรู้สึกว่าใช่ตั้งแต่แรกก็ยังคงอยู่ด้วยกันจนถึงทุกวันนี้และก็เป็นเพื่อนร่วมทีมที่ดีมากในระยะยาว
เมื่อมองย้อนกลับไป มีอะไรที่คุณอยากทำแตกต่างออกไปจากเดิมไหม
อาจเร็วเกินไปที่จะบอกได้เพราะเราเพิ่งก่อตั้งธุรกิจมาได้แค่สี่ปีเอง ทั้งเพิ่งได้ทุนจาก angel investor เมื่อปีที่แล้วและตอนนี้ก็กำลังระดมทุนต่ออยู่เลยยังไม่แน่ใจเท่าไหร่ แต่บางครั้งเราก็ตั้งคำถามว่าถ้าเราขยายธุรกิจให้ช้าลงกว่านี้อีกหน่อยจะดีกว่าหรือเปล่า
โลกทุกวันนี้หมุนไปเร็วมากจนทำให้รู้สึกว่าต้องรีบโต แต่บางครั้งก็คิดว่าการช้าลงไม่ว่าจะเป็นเรื่องการระดมทุนก็อาจเป็นประโยชน์ในหลายด้าน เช่น รอให้ตัวเลขผลประกอบการดูดีขึ้นก่อนจะรีบหาเงินลงทุนครั้งต่อไป ก็เลยกำลังบอกตัวเองว่าปีหน้าเราอาจจะโตช้าลงกว่านี้ซักหน่อย
มองอนาคตของ POJ Studio เป็นยังไง
เราอยากทำให้อุตสาหกรรมงานคราฟต์แข็งแรงขึ้นและช่วยแก้ปัญหาที่ช่างฝีมือเผชิญอยู่ซึ่งมองว่าความท้าทายใหญ่ที่สุดไม่ใช่การหาผู้สานต่อ แต่เป็นการรักษาคนรุ่นใหม่ให้อยู่กับบริษัทเพื่อที่พวกเขาจะได้เป็นผู้สานต่อในอนาคต
ถ้าหันมามองเจนฯ Z ในปัจจุบัน เราไม่คิดว่าองค์กรดั้งเดิมที่สร้างสรรค์งานคราฟต์จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้อยากมาทำงานด้วยได้ เราเลยอยากชวนช่างฝีมือที่มีความสามารถให้เข้ามาทำงานกับเรา ทั้งสร้างพื้นที่ชุมชนในชนบท เปิดเวิร์กช็อป โดยต่อไปจะเปิดโครงการ apprentice programs เพิ่มเติมที่ไม่ได้มีแค่โปรแกรมสอนคินสึงิเท่านั้นแต่ยังสอนศาสตร์งานคราฟต์อื่นๆ ด้วย ไปจนถึงสร้างศูนย์ผลิตงานคราฟต์ที่จ้างช่างฝีมือหลากหลายสาขามาทำงานร่วมกันได้
ตามชนบทในญี่ปุ่นมักมีโครงการพัฒนาชุมชนอยู่แล้วแต่บ่อยครั้งที่โครงการเหล่านี้ไม่สามารถสร้างรายได้เพียงพอ เมื่อธุรกิจของเราเติบโตขึ้น เราจะนำรายได้มาสนับสนุนชุมชน ฟื้นฟูกิจกรรมและโครงการต่างๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สนใจพำนักระยะยาวจากทั่วโลกซึ่งจะสร้างแหล่งรายได้อีกทางหนึ่ง
เราตั้งใจจะสร้าง hub ศูนย์ผลิตงานคราฟต์เหล่านี้ทั่วญี่ปุ่นโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท เพราะงานฝีมือมักผูกติดกับภูมิภาคดังนั้นจึงไม่สามารถสร้างแค่ที่เดียวได้ ทั้งหมดนี้จะสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่น่าสนใจสำหรับเจนฯ Z ให้อยากมาพัฒนางานคราฟต์กับเราในระยะยาว
สิ่งสำคัญคือเราอยากให้ช่างฝีมือมีงานที่ดี ได้รับเงินเดือนที่ดี และได้แสดงผลงานต่อทั่วโลก เพราะท้ายที่สุดแล้ว เป้าหมายของเราคือการสร้างอุตสาหกรรมคราฟต์ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
ขอบคุณภาพจาก POJ Studio