กินหมดจาน
แคมเปญลดขยะอาหารของ PEAR is hungry ที่ไม่อยากให้คนหมดใจในการช่วยโลกผ่านการกินหมดจาน
‘วันนี้กินอะไรดี’ คำถามโลกแตกที่หลายคนมักพูดกันประจำเกือบทุกวัน แต่มีหญิงสาวคนหนึ่งที่เปลี่ยนคำถามนั้นให้เป็นคำถามที่ว่า ‘วันนี้จะช่วยโลกยังไงดี’
ในปี 2023 ที่ผ่านมาจึงเกิดแคมเปญที่ชื่อว่า ‘กินหมดจาน’ ที่เธอถ่ายวิดีโอชวนคนมาลดขยะอาหาร ผ่านการกินข้าวให้หมดจาน และส่งต่อแคมเปญนี้ให้คนรับรู้ในวงกว้างด้วยการสร้างเทมเพลตใน TikTok ให้คนถ่ายรูปภาพหรือวิดีโอที่กินอาหารหมดจาน แล้วติดแฮชแท็ก #กินหมดจาน
“พอเราทำแบบนี้มันก็เกิด awareness เกิดการบอกต่อ แม้แต่อินฟลูเอนเซอร์ก็มาเล่นกันเรา 3,000-4,000 คนเลย ส่วนยอดวิวคลิปต่างๆ ที่เราถ่ายเชิญชวนให้มาร่วมลดขยะอาหาร ตอนแรกคิดว่าได้ 10 ล้านวิวก็หรูแล้ว แต่กลายเป็นว่าพอจบแคมเปญ 15 วัน ยอดวิวขึ้นไปถึง 36 ล้านวิว สิ้นปีที่แล้วคลิปก็ยังฟีดเรื่อยๆ จนยอดวิวแตะถึง 97 ล้านวิว พอเราคิดว่าแคมเปญนี้ไปต่อได้ มีคนสนใจจริงๆ งั้นปีนี้เรามาขยายให้มันแข็งแรงขึ้นดีกว่า”
หญิงสาวที่เรากล่าวถึงนี้คือ แพร–พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ PEAR is hungry ผู้ก่อตั้ง aRoundP พื้นที่รวบรวมโปรเจกต์ของคนที่อยากลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้โลกน่าอยู่ขึ้นในทุกมิติ โดยไม่จำกัดว่าจำต้องเป็นแค่เรื่องอาหารหรือสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
และยังเป็นผู้ริเริ่มแคมเปญ ‘กินหมดจาน’ ที่ในซีซั่น 1 ประสบความสำเร็จจากยอดชมวิดีโอมหาศาลและมีผู้ร่วมแคมเปญมากมาย ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมให้คนรู้ว่า ‘แค่กินอาหารให้หมดจานก็ช่วยโลกได้’ จนทำให้แคมเปญนี้ได้รับรางวัลจากงาน Thailand Influencer Award 2023 และในวันนี้เธอได้สร้างเส้นทางใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมกับ ‘กินหมดจาน ซีซั่น 2’
จิตนาการในวัยเด็ก นำพามาสู่ตัวตนที่อยากทำเรื่องเล็กๆ เพื่อเปลี่ยนโลก
“เราไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นครีเอเตอร์สายยั่งยืน PEAR is hungry มาจากว่าฉันหิว เพราะว่าเราเป็นคนชอบกิน จุดตั้งต้นการทำคอนเทนต์ครีเอเตอร์คืออยากเล่าเรื่องอาหาร ตั้งแต่รสชาติ และ behind the scene ของอาหารว่าที่มาที่ไปของแต่ละเมนูเป็นยังไงบ้าง
“พอเราทำไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าเราต้องมีการเติบโต ต้องเอาอะไรใหม่ๆ เข้ามา เราก็กลับไปที่รากของเราก่อนว่ามีตัวตนชิ้นส่วนไหนบ้างที่เป็นเรา แต่ไม่เคยหยิบมาเล่าเลย
“นั่นก็คือเราเป็นคนกลัวเรื่องโลกร้อนมาก มาจากตอนเด็กๆ เราเคยได้ยินสารคดีในวิทยุที่พ่อเปิด แล้วไม่ได้เห็นภาพ เขาเล่าว่าเปิดแอร์จะทำให้เกิดสาร CFC ลอยไปในชั้นบรรยากาศทำให้เป็นรู ภาพในหัวเราตอนนั้นคือท้องฟ้าเป็นรูจริงๆ เราจินตนาการภาพไว้ใหญ่มาก”
จินตนาการวัยเด็กนั้นเองที่จุดประกายให้แพรเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันมาตั้งแต่เด็กๆ เช่น ตื่นนอนปุ๊บปิดแอร์ปั๊บ เป็นคนชอบอยู่ outdoor มากกว่า indoor ไม่ใช้ถุงพลาสติก แต่พกถุง พกปิ่นโตไปเอง และตัดสินใจนำพฤติกรรมเหล่านี้มาใส่ในคอนเทนต์ที่เธอทำมากยิ่งขึ้น
“วิธีการสื่อสารของเรา เราจะไม่บังคับให้ใครมาทำอย่างโน้นอย่างนี้ เพราะเรามีบทเรียนจากตอนเด็กที่บังคับให้คนในบ้านทำแล้วทะเลาะกัน เพราะแต่ละคนชุดความคิดไม่เหมือนกัน แล้วสมัยก่อนไม่ค่อยมีการพูดถึงเรื่องความยั่งยืนมากเท่าในสมัยนี้
“เรารู้สึกว่าพอโลกอนุญาตให้พูดแล้ว คนตื่นรู้เรื่องนี้มากขึ้น เราจึงค่อยๆ สื่อสารผ่านมุมมองการใช้ชีวิตของเรา เช่น ทำอาหารเมนูแปลงร่างจากของเหลือในตู้เย็น เข้าป่าไปใช้ชีวิตกับธรรมชาติแบบไม่มีไฟฟ้าใช้ไปเลย 5 วัน”
จากความกลัวสู่ความกล้า ที่อยากก้าวผ่านขยะอาหารกองโต
จุดเริ่มต้นของกินหมดจาน ซีซั่น 1 มาจากที่แพรได้รู้ว่าครึ่งนึงของภาพขยะกองโตที่เธอเห็นตามสื่อคือขยะอาหาร แพรจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะทำอะไรให้โลกดีขึ้นกว่านี้ได้บ้าง
เธอตัดสินใจเริ่มจากสิ่งที่เธอทำอยู่แล้วคือการทำคอนเทนต์ โดยถ่ายวิดีโอเชิญชวนให้คนกินอาหารให้หมดจาน แล้วให้คนมาเล่นแคมเปญนี้ส่งต่อกันไปเรื่อยๆ จนคนเริ่มมี awareness กับเรื่องนี้มากขึ้น มากไปกว่าการรับรู้ แพรยังอยากให้คนตระหนักถึงปัญหา และเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรกับโลกเท่าที่ทำได้
“กินหมดจาน ซีซั่น 2 เราเลยชวน 50 KOLs ทั้งสายกินและสายกรีน มาแชร์ร้านอาหารที่พวกเขาคิดว่าอร่อย เพราะเรารู้สึกว่าปัญหาหนึ่งของการที่ไปร้านอาหารแล้วกินเหลือ คือไปกินร้านนั้นแล้วรู้สึกว่าไม่อร่อย และเราก็เอามาทำเป็นไกด์บุ๊กให้เขาไปตามรอย 50 ร้าน ที่แนะนำโดย 50 KOLs ซึ่งเป็นร้านที่ไม่ได้แค่อร่อยนะ แต่ยังจัดการขยะอาหารได้ดีด้วย
“ใน aRoundP ที่เราทำ มีโปรเจกต์ที่ชื่อว่า Restaurant Makeover เป็นการสร้างระบบการจัดการขยะอาหาร คือเราจะเข้าไปดูเลยว่าจุดกำเนิดขยะของร้านเขาเป็นยังไง มีกี่จุด มีอะไรบ้าง การจัดการขยะของเขาจะเป็นยังไง และแนะนำให้ร้านอาหารแยกขยะอย่างถูกวิธี ก่อนจะส่งต่อให้กทม.นำไปจัดการต่ออย่างถูกต้อง”
นอกจาก KOLs และร้านอาหารแล้ว ทุกคนสามารถเข้าร่วมแคมเปญ ‘กินหมดจาน Challenge’ ได้ง่ายๆ แค่ถ่ายรูปหรือคลิปก่อนกินอาหารและหลังกินหมดจาน ติดแฮชแท็ก #กินหมดจาน โพสต์ลงช่องทางใดก็ได้ แต่ถ้ามากินใน 50 ร้านที่อยู่ในไกด์บุ๊ก ซึ่งเป็นร้านที่เข้าร่วม Restaurant Makeover ก็จะได้โปรโมชั่นพิเศษจากทางร้านไป
ทุกการกินหมดจาน ช่วยโลกได้แบบไม่ลำบากใจ
บางคนอาจรู้สึกว่าแค่การกินหมดจานจะช่วยโลกได้ไหม หรือแค่แยกขยะจะเป็นการจัดการได้จริงหรือ และยังมีอีกหลายวิธีที่ต้องทำเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องขยะอาหารอย่างจริงจัง ซึ่งแพรก็ตระหนักถึงข้อนี้ดี เธอคิดว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ที่จะทำให้ทั้งผู้บริโภคและร้านอาหารค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อย่างน้อยก็ทุกๆ การกินหมดจานก็ช่วยลดขยะอาหารได้จริงๆ
“แคมเปญกินหมดจานและโปรเจกต์ Restaurant Makeover เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่เคยมีใครเอาหลายปาร์ตี้ที่มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน KOLs และผู้บริโภคมารวมกันขนาดนี้ เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งต้นทำให้ง่ายที่สุดก่อน เพื่อให้คนรู้สึกว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องยากและสนุกที่จะทำ หลังจากนั้นเราค่อยเพิ่มความเข้มข้นขึ้นในปีหน้า
“ดังนั้นจุดหมายปลายทางที่เราอยากเห็น คือการเปลี่ยนแปลงจากคนที่เข้ามาร่วมกับเรา ต้องได้อะไรบางอย่างกลับไป อย่างร้านอาหารบางร้านเขาอยากทำเรื่องจัดการขยะมานาน แต่ไม่เคยทำได้เลย เราก็มาเติมเต็มสิ่งที่เขาขาดหาย เราคาดหวังว่าเขาจะทำต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีโครงการนี้ก็ได้
“ถึงแม้วันนี้เราจะเล่นแคมเปญกับผู้บริโภคในเชิงการสื่อสารก็จริง แต่ท้ายสุดมันไม่ใช่ key success factors ข้อเดียวที่บอกว่ามันสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เรามองไปถึงการปรับเปลี่ยนในเชิงพฤติกรรมมากกว่า”
แพรยังเล่าให้เราฟังอีกว่าการทำเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือเรื่องความยั่งยืน เป็นสิ่งที่ไม่ได้ยากจนเกินไปนัก เปรียบกับการมีความรัก ถ้าเราเชื่อและหลงใหลในสิ่งไหน เราก็พยายามที่จะทำมันให้ได้ เรื่องนี้ก็เช่นกันแต่ทุกคนต้องหาวิธีที่เหมาะสมกับตัวเอง และไม่เบียดเบียนตัวเองจนเกินไป
เธอยกตัวอย่างว่าบางคนอาจจะมีความคิดดีที่อยากช่วยโลกแล้ว แต่ถ้าหักดิบไปเลย จากขับรถไปทำงานเป็นปั่นจักรยานไปทำงานทั้งที่อยู่ไกล ก็อาจจะเหนื่อยเกินไป ลองเปลี่ยนจากขับรถเป็นใช้ขนส่งสาธารณะ แต่ถ้ายังรู้สึกว่าไม่สะดวก ก็ลองเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น เช่น ดื่มน้ำไม่ใช้หลอด พกขวดน้ำไปเอง แล้วสุดท้ายจะเจอทางที่ช่วยโลกได้แบบไม่ลำบากตัวเองจนเกินไป
โลกธุรกิจต้องเติบโปไปพร้อมกับโลกที่ยั่งยืน
แพรบอกว่าการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ถือเป็นธุรกิจหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะมีรายรับ-รายจ่าย และมีทีมงานที่ต้องดูแล ดังนั้นการคิดใน back office เธอจึงต้องคิดเชิงธุรกิจด้วย แต่การทำธุรกิจของแพรไม่ได้สร้างผลกำไรแค่ตัวเธอเอง แต่คิดถึงสิ่นอื่นด้วยว่า สิ่งที่ทำส่งผลกระทบอะไรต่อโลกบ้าง ส่งผลกระทบในมิติไหน และส่งผลในแง่บวกหรือแง่ลบ
“เราเชื่อว่าไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร เรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนจะต้องถูกนำมาคิดถึงเสมอ ถ้าคิดถึงแต่ธุรกิจของตัวเองโลกก็ไปต่อไม่ได้ ในขณะเดียวกันคนที่ทำเรื่องความยั่งยืน ถ้าไม่คิดในเชิงธุรกิจเลย เขาก็ไปต่อไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้นเราต้องบาลานซ์ทั้งสองฝั่งให้ดี”