ปฐมศึกษา
Patom Organic Living โอเอซิสใจกลางเมืองที่เชื่อมต่อผู้คนกับสินค้าออร์แกนิกด้วยงานดีไซน์
ไม่น่าเชื่อว่าขนาดบ่ายคล้อยวันธรรมดาวันหนึ่ง เรายังต้องฝ่ารถติดบนถนนสุขุมวิทเป็นเวลานาน แน่นอนว่าวิวสองข้างทางต่างเต็มไปด้วยตึกสูงละลานตา ที่มีเยอะยิ่งกว่าต้นไม้ ใบหญ้า และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเห็นพื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองที่วุ่นวายขนาดนี้
แต่ทันทีที่เลี้ยวเข้าซอยสุขุมวิท 49 เรากลับพบสถานที่หนึ่งซึ่งเป็นเหมือนเรือนกระจกขนาดใหญ่ รายล้อมไปด้วยหมู่มวลต้นไม้นานาพันธุ์ ที่ทำให้รู้สึกสงบ ร่มเย็น เหมือนหลุดมาอยู่อีกโลกหนึ่งซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่พบเจอเมื่อไม่กี่วินาทีก่อนอย่างชัดเจน
ไม่รอช้าเราผลักบานประตูกระจกใสที่มีกรอบไม้สีเข้มเข้าไปยังตัวร้าน ด้านซ้ายมือเป็นเหมือนโชว์รูมขนาดย่อมที่วางขายผลิตภัณฑ์ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แต่สิ่งที่พิเศษไปกว่านั้นคือทุกชิ้นล้วนแต่เป็นสินค้าออร์แกนิก
ด้านขวามือเป็นโต๊ะ เก้าอี้สีไม้เข้มเหมือนบานประตู แม้จะอยู่ในร้านก็ยังรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ จากดีไซน์ตัวร้านที่เป็นกระจกทั้งหมด ประกอบกับเพดานสูงที่ทำให้รู้สึกโปร่ง โล่งสบาย แม้จะมีที่นั่งถึง 2 ชั้นก็ตาม

สิ่งที่เจอทั้งหมดย้ำเตือนให้รู้ว่าเราได้มาถึง Patom Organic Living เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเรามีนัดพูดคุยกับ ฟี่–อนัฆ นวราช เจ้าของร้านแห่งนี้ ที่หมวกอีกใบของเขาคือทายาทรุ่นที่ 3 ของสามพราน ริเวอร์ไซด์ โรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติริมแม่น้ำท่าจีน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
ถ้าจะเรียกว่าคาเฟ่แห่งนี้เป็นผลิตผลจากเมล็ดพันธุ์ที่ครอบครัวของเขาได้ปลุกปั้นโครงการสามพรานโมเดลไว้ก็คงไม่ผิดนัก เพราะฟี่ตั้งใจให้ Patom Organic Living เป็นสื่อกลางเชื่อมระหว่างผู้คนในเมืองกับสินค้าออร์แกนิกเข้าด้วยกัน ให้คนได้ลองใช้ แล้วอยากทำความรู้จัก จนเดินทางไปทำกิจกรรมที่สามพราน เรียนรู้กระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จรดถึงปลายน้ำ
คอลัมน์ Show Room ในครั้งนี้เราขอถือโอกาสมาคาเฟ่ฮอปปิ้ง ชิมอาหารจากวัตถุดิบออร์แกนิก ทดลองหยิบจับและใช้สินค้าออร์แกนิกจริงๆ พร้อมพูดคุยกับฟี่ถึงวิธีการดีไซน์ธุรกิจและดีไซน์ร้าน Patom Organic Living ให้คนได้เข้ามาเรียนรู้ จนค่อยๆ หลงรักความเป็นออร์แกนิกในที่สุด

ปฐมบทของปฐม ออร์แกนิค ลิฟวิ่ง
ย้อนไปตั้งแต่ตอนที่ฟี่และพี่ชายได้มารับช่วงต่อดูแลธุรกิจของที่บ้านอย่างโรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ ด้วยความที่พี่ของเขาเป็นคนรักสุขภาพ ประกอบกับช่วงนั้นต้องการให้โรงแรมแตกต่างจากที่อื่นและอยู่ได้อย่างยั่งยืน จึงทำโครงการสามพรานโมเดลขึ้นมา เป็นโมเดลธุรกิจที่ดึงเกษตรกรรอบๆ สวนสามพานให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์
และสร้างช่องการกระจายสินค้า ทั้งนำมาใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหารและของใช้ภายในโรงแรม เช่น แชมพู สบู่ พร้อมเปิดเป็นตลาดสุขใจที่เกษตรกรมาขายวัตถุดิบออร์แกนิกในวันเสาร์ อาทิตย์ พอกระแสตอบรับดีก็เริ่มมีกิจกรรมเวิร์กช็อป และเกิดเป็นคาเฟ่ในที่สุด
“เราทำงานครบลูปทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ต้นน้ำเป็นการปลูกผักออร์แกนิก กลางน้ำคือการผลิต ปลายน้ำคือสินค้าที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นของกินหรือของใช้ และเพื่อหาจุดขายสินค้าเราเลยเปิดเป็นคาเฟ่ Patom Organic Village ที่ตั้งชื่อเป็นหมู่บ้าน เพราะมีเกษตรกรที่เราทำงานด้วยถึง 200 คน และมีกิจกรรมให้คนมาเข้าร่วมปรับเปลี่ยนไปตามแต่ละฤดูกาลขึ้นอยู่กับวัตถุดิบในฟาร์ม เช่น มาย้อมผ้า มาทำชา”


แต่พอยุคสมัยเปลี่ยน ความนิยมก็เปลี่ยนไป สามพรานกลับกลายเป็นที่รู้จักเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ แต่เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักมากนัก ประกอบกับว่าของที่ขายในช่วงนั้นยังไม่มีการทำแบรนด์อย่างจริงจัง
“ด้วยความที่ผมเคยเป็นช่างภาพที่อเมริกามาก่อนและชอบเรื่องงานดีไซน์ พอทำไปสักพักเราก็เริ่มคิดถึงเรื่องแบรนดิ้ง ว่าทำไมเราไม่รีดีไซน์แพ็กเกจจิ้งให้ทุกอย่างดูเรียบๆ เหมือนที่เราชอบ และทำให้เข้าถึงง่าย สร้างแบรนด์สินค้าออร์แกนิกที่ใครๆ ก็ใช้ได้”
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้ฟี่อยากต่อยอดสิ่งที่ทำอยู่แล้วให้ขยายไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้นและเข้าถึงคนเมืองได้มากขึ้น จึงใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งในบ้านคุณยายที่อยู่ในทำเลทองอย่างซอยสุขุมวิท 49 มาเปิดเป็นร้าน Patom Organic Living
“คอนเซปต์เราคือ organic living การกินอยู่อย่างออร์แกนิก ผมว่าร้านนี้เป็นหมือน one-stop ที่รวบรวมของอินทรีย์หรือของออร์แกนิก ไม่ว่าจะเป็นของกิน ของใช้ ผมมักจะพูดตลอดว่าถ้าใครอยากลองใช้ชีวิตอย่างออร์แกนิก ก็ให้มาลองซื้อของพวกนี้ไปลองใช้ดู ซื้อแชมพูไปใช้ มาลองกินอาหารจากวัตถุดิบออร์แกนิก ซึ่งมันก็ไม่ได้ยากอะไร ทำให้คนเข้าถึงของออร์แกนิกได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน ที่มักจะขายของออร์แกนิกในซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างเดียว และถ้าอยากรู้จักความเป็นออร์แกนิกอย่างลงลึกก็ค่อยไปที่สามพราน”

โอเอซิสในเมืองที่ใส่ใจในทุกงานดีไซน์
“เมื่อก่อนตรงนี้ไม่มีอะไรเลยเป็นพื้นที่โล่งๆ”
หลังจากได้รู้จักจุดเริ่มต้นกันพอหอมปากหอมคอแล้ว ฟี่เริ่มเล่าถึงดีไซน์ของร้านนี้ให้เราฟัง พร้อมชี้ไปยังภาพเบื้องหน้าจากจุดที่เรานั่งอยู่เป็นโต๊ะยาวริมกระจก ที่มองเห็นสวนหน้าร้านและเห็นต้นไม้น้อยใหญ่ที่ขึ้นอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ จนไม่น่าเชื่อว่าพื้นที่ตรงนี้เคยถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างมาก่อน
“คอนเซปต์คือผมรู้สึกว่าอยากให้ร้านกลืนหายไปกับธรรมชาติ ไม่อยากเอาตึกอะไรมาตั้งบดบังทัศนียภาพ แล้วเก็บต้นไม้ขนาดใหญ่ในพื้นที่นี้ไว้แบบเดิม ทำสวนเพิ่มขึ้นให้เป็นพื้นที่สีเขียว ตัวร้านก็ใช้เป็นกระจกใสทั้งหมดให้ความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ในสวน ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ เพดานยกสูงให้คนมองเข้ามา หรือคนมองออกไปก็รู้สึกปลอดโปร่งโล่งสบาย”


นอกจากดีไซน์ตัวร้านที่สะดุดตาตั้งแต่แรกเห็นแล้ว จุดที่ฟี่เน้นย้ำว่าเป็นหัวใจสำคัญในงานดีไซน์ครั้งนี้คือการใช้ของเก่าและวัสดุรีไซเคิลจากสานพรานเกือบทั้งหมด ตั้งแต่เสาโครงสร้างร้าน ทำมาจากไม้ที่เคยเป็นแพเก่าอายุ 40 โต๊ะทำมาจากไม้จริงที่ล้มเองตามธรรมชาติในสวนสามพราน เก้าอี้แต่เดิมเป็นเก้าอี้เบาะที่เสื่อมสภาพการใช้งาน ก็นำกลับมาซ่อมใหม่โดยใช้หวายทำเป็นที่นั่งและพนักพิง
“ผมเป็นคนชอบดีไซน์อะไรที่มันเป็นดีเทลเล็กๆ ที่ถ้าไม่บอกก็อาจจะไม่เห็น”
ฟี่พูดก่อนจะชี้ให้เราเห็นจุดเล็กๆ ที่ถ้าไม่สังเกตก็คงไม่เห็นตามที่เขาว่า เริ่มตั้งแต่เสากลางร้านที่พอเงยหน้าไปมองข้างบนจะเห็นมีไม้กระจายออกเป็นแฉกๆ ถ้าดูเผินๆ ก็คิดว่าคงตั้งใจให้เป็นคานรองรับน้ำหนักหลังคา แต่ความจริงแล้วเขาตั้งใจให้เป็นดีไซน์เหมือนต้นมะพร้าว เพราะอาหารและผลิตภันฑ์ในร้านใช้มะพร้าวเป็นส่วนใหญ่ ก่อนที่พี่จะชี้ให้เราดูจุดต่อไป

“รูปทรงของโต๊ะและดีไซน์ทรงขวดสินค้า เราก็ทำให้เป็นเชปเหมือนเมล็ดพันธุ์ เพื่อสื่อสารว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสินค้าออร์แกนิกที่เกิดจากเมล็ดพันธุ์ของการทำเกษตรอินทรีย์ และอีกจุดที่เล็กมากๆ คือตรงน็อตที่ยึดดึงไม้สักข้างนอกและข้างในเพื่อบีบกระจกให้เป็นทรงร้านสี่เหลี่ยม น็อตทั้งหมดเป็นแผ่นทองเหลืองที่ดีไซน์ให้คล้ายกับเจดีย์ ซึ่งเป็นโลโก้ของร้านที่มีแนวคิดมาจากพระปฐมเจดีย์ แลนด์มาร์กสำคัญของจังหวัดนครปฐม
“คนที่มาที่นี่จะบอกว่าเหมือนเป็นโอเอซิสในเมือง ที่เข้ามาแล้วรู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่ในเมือง เข้ามาแล้วมีพื้นที่สวน มีต้นไม้สีเขียว เข้ามานั่งเล่น มากิน มาทำอะไรได้สบายๆ ผมว่ามันมีความเป็นพื้นที่สีเขียวในเมืองที่ไม่ใช่สวนสาธารณะ แต่สามารถมานั่งเล่นได้ตลอด”


เมื่อคาเฟ่เปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ
สิ่งที่เซอร์ไพรส์ฟี่มากก็คือจากตอนแรกที่เขาอยากเปิดร้านเพื่อให้คนรู้จักโรงแรมและกิจกรรมในสามพรานกลับกลายเป็นร้านแห่งนี้มีกระแสตอบรับดีกว่าที่คิด โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มักจะเวียนกันเข้ามาในวันธรรมดา ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์จะเป็นครอบครัวชาวไทยซะส่วนใหญ่ และเกิดการซื้อสินค้าออร์แกนิกไปใช้จริง จากที่ขายแบบ B2C ก็เริ่มขยับขยายสู่ B2B
“พอมันไปต่อได้ คนให้ความสนใจ และมีผลตอบรับที่ดี แต่ถ้าถามว่าธุรกิจหลักของเราคือธุรกิจคาเฟ่ไหม มันก็ไม่ใช่ซะทีเดียว เราต้องการผลักดันให้สินค้าออร์แกนิกเติบโตมากขึ้น จึงเจาะกลุ่มภาคธุรกิจด้วยการทำ B2B ลูกค้าหลักตอนนี้คือ CPN ห้างเซ็นทรัลใช้ hand wash ของเราทุกห้างเลย ธุรกิจในกลุ่มศรีพันวาก็ใช้ของเราในห้องพัก โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ก็ใช้ของเราด้วย แต่ธุรกิจประเภทนี้ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะกราฟพุ่งสูงข้ามคืน ผมว่ามันค่อยๆ โต”


ฟี่เลือกใช้วิธีการหาพาร์ตเนอร์ที่สนใจเรื่องความยั่งยืน สนใจเรื่องออร์แกนิก และสนใจเรื่องสุขภาพเหมือนกันกับธุรกิจเขา เพื่อเข้าไปทำงานร่วมกันมากกว่าการขายสินค้าแล้วจบไป ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเขาเล่าถึงโรงแรมในเครือ Ad Lib ที่มีสาขาในขอนแก่น
จากตอนแรกที่เขาขายผลิตภัณฑ์ให้โรงแรมไปใช้ในห้องน้ำเฉยๆ แต่พอฟี่เห็นว่าบริเวณนั้นมีหลายฟาร์มมากที่ทำการเกษตรแบบออร์แกนิกอยู่แล้ว แทนที่จะซื้อวัตถุดิบจากเครือข่ายที่นครปฐม ฟี่คิดว่าเขาไปทำงานร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่แล้วซื้อวัตถุดิบเขามาทำของใช้ในโรงแรมที่ขอนแก่นดีกว่า เป็นการสร้างงานสร้างรายได้กระจายสู่ชุมชนอีกทางหนึ่ง

บทเรียนสำคัญตั้งแต่ day 1 จนถึงขวบปีที่ 7
ปัจจุบัน Patom Organic Living เดินทางเข้าสู่ขวบปีที่ 7 ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คาเฟ่แห่งหนึ่งจะยืนระยะมาได้ถึงขนาดนี้ในขณะที่มีคาเฟ่เปิดใหม่แทบทุกวัน โดยฟี่มีบทเรียนสำคัญที่เขายึดถือตั้งแต่ day 1 มาจวบจนทุกวันนี้
“ผมว่าในโลกธุรกิจสิ่งที่ยากที่สุดคือการเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงานด้วยกัน เป็นพาร์ตเนอร์ หรือเป็นผู้บริโภค ทุกคนก็มีความต้องการของตัวเอง ตั้งแต่ตอนที่เราไปสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์ เพราะต้องอาศัยความใส่ใจเป็นพิเศษ ถ้าเป็นปกติแมลงมาเขาฉีดยาฆ่าแมลงก็จบ แต่ถ้ามองในระยะยาวเกษตรอินทรีย์จะสร้างวงจรให้ธรรมชาติสมบูรณ์ ผลผลิตก็จะงอกเงยมากขึ้น
“ส่วนในมุมผู้บริโภคและในภาคธุรกิจเอง สิ่งที่อธิบายได้ดีสุดคือใช้สุขภาพอธิบาย คือเราคงไม่ไปบอกคนว่าออร์แกนิกคืออะไร ทำไมถึงไม่ใช้สารเคมี ผมว่ามันไกลตัว แต่ถ้าเราไปบอกว่าถ้าอยากสุขภาพดีทำได้หลายอย่างนะ หนึ่งหันมากินของที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น หันมาใช้ของที่ไม่มีสารเคมี พอพูดเรื่องสุขภาพนำหน้า คนจะเข้าใจและจะเข้าถึงตรงนี้ได้มากกว่า”

บทเรียนข้อที่ 2 ของฟี่ถ้าจะบอกว่าเกิดจากการลองผิดลองถูกก็คงไม่ผิดนัก มีช่วงหนึ่งที่เขาออกผลิตภัณฑ์มาเยอะมาก เพราะรู้สึกว่าอยากทำอันนู้น อันนี้เต็มไปหมด แต่ก็เรียนรู้ว่าความจริงการทำธุรกิจนั้นจะต้องพยายามมองว่าตลาดต้องการอะไร หรือตลาดขายอะไรได้ แล้วค่อยย้อนกลับมาว่าเราผลิตได้ไหม และใช้อะไรผลิตให้ตลาด เพราะฉะนั้นแทนที่จะเป็นไดรฟ์การผลิตจากความชอบในองค์กร อาจจะต้องไดรฟ์การผลิตจากความชอบของตลาดมากขึ้น เวลาขายก็จะขายออกได้ง่ายมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นฟี่ก็ไม่ได้ทิ้งความต้องการของตัวเองไป เวลาเขาอยากผลิตอะไรจากความชอบ ก็ทำขายในจำนวนน้อยๆ อาจจะขายได้ช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร

“บทเรียนข้อสุดท้าย ผมว่าการมีจุดยืนสำคัญที่สุด ถึงแม้เราจะขายสินค้าตามความต้องการของตลาดก็จริง แต่พอเราตั้งใจจะขายสินค้าออร์แกนิก ทุกอย่างก็ต้องได้มาตรฐานที่เรากำหนดไว้ ตั้งแต่ต้นน้ำที่เกษตรกรก็ต้องทำเกษตรอินทรีย์จริงๆ และถึงแม้เราจะไว้ใจฟาร์มนั้นแค่ไหน แต่เราจะเข้าไปเช็กผลผลิตก่อนทุกครั้ง
“พอวางขายจริงเราก็รู้ว่าแต่ละคนความชอบไม่เหมือนกัน บางคนก็รู้สึกว่าสินค้าเราดูเรียบจัง ดูน่าเบื่อ บางคนก็บอกว่ากลิ่นอ่อนไป หรือบอกว่ากลิ่นหอมดีก็มี สุดท้ายแล้วเราก็ต้องมีจุดยืนว่าเราจะนำเสนอเอกลักษณ์แบบนี้ มีดีไซน์เรียบง่าย กลิ่นมาจากธรรมชาติ ถ้าจะให้ทำกลิ่นฉุนกว่านี้นั่นก็จะไม่ใช่สินค้าออร์แกนิกแบบที่เราตั้งใจไว้ในตอนแรกแล้ว”