นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

แรงผักดัน

คุยกับ ‘โอ้กะจู๋’ จากแปลงผักในเชียงใหม่ขนาด 180 ตร.ม. สู่ 380 ไร่ และขยายสาขาสู่กรุงเทพฯ

เป็นเพื่อนกันอย่าทำธุรกิจด้วยกัน

เรามักได้ยินประโยคนี้ที่ใครต่อใครชอบพร่ำบอกกันเสมอ

ฟังดูเหมือนย้อนแย้ง เป็นเพื่อนกัน รักใคร่ชอบพอสนิทสนมกัน แล้วทำไมจึงไม่ควรทำธุรกิจด้วยกัน แต่หากคุณเคยมีประสบการณ์การมองเห็นเพื่อนคู่หูหลายคู่หลายคนที่ทำธุรกิจแล้วเกิดแตกคอกันไปคนละทิศคนละทาง บางคนถึงขั้นไม่มองหน้า บางคนถึงขั้นเลิกคบหา หลังร่วมตัดสินใจลงขันเปิดกิจการบางอย่าง คุณคงจะเข้าใจประโยคดังว่าเป็นอย่างดี

จึงดูเหมือนจะเป็นไบเบิลของเพื่อนรักส่วนใหญ่ว่า หากรักใครอย่าชวนกันทำธุรกิจ 

แต่ประโยคดังว่าดูเหมือนจะใช้ไม่ได้กับสองหนุ่ม อู๋–ชลากร เอกชัยพัฒนกุล และโจ้–จิรายุทธ ภูวพูนผล เจ้าของร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ‘โอ้กะจู๋’ ที่นอกจากมาทำธุรกิจด้วยกันแล้วไม่แตกคอกัน ยิ่งไปกว่านั้นธุรกิจของทั้งคู่ยังไปได้ดีจนน่าชื่นใจ

ภาพคิวแถวต่อยาวเรียงรายจากหน้าร้าน โอ้กะจู๋ เป็นภาพที่ทุกคนน่าจะได้เห็นกันจนชินตา จากการปลูกผักเพราะรักแม่ในโรงเรือนขนาด 180 ตารางเมตรขยายสู่แปลงปลูกผัก 380 ไร่ เพื่อใช้เสิร์ฟผักออร์แกนิกให้ลูกค้าในร้านโอ้กะจู๋ทุกสาขา

หลายคราวเรายังแอบปลื้มใจแทนสองหนุ่มที่เห็นกิจการไปได้ดี แถมยังคิดดีใจที่ได้เห็นภาพคนไทยมารอต่อแถวเพื่อกินร้านอาหารของพวกเขา ร้านอาหารที่ทราบกันดีในกิตติศัพท์ว่า ผักสลัดเป็นผักออร์แกนิกที่ปลูกเองและอาหารน่าจะเกือบทุกเมนูของร้านนี้จะต้องมีสลัดเป็นเครื่องเคียงและส่วนประกอบมาในจาน

ทั้งการตั้งชื่อร้านที่น่าสนใจในอารมณ์ขันด้วยการผวนคำจากชื่อเล่นของทั้งสอง เรื่องราวการทำธุรกิจอาหารจากสาขาแรกที่เชียงใหม่สู่การขยายสาขามายังกรุงเทพฯ ชีวิตของการเป็นเกษตรกรที่เรียนการเกษตรมาและพัฒนาสวนผักของตนเอง ไปจนถึงมิตรภาพที่เขาทั้งสองต่างพูดกันเป็นทำนองเดียวกันว่า ชาติหน้าก็อยากเกิดมาเป็นเพื่อนกันอีก

บทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างเรากับ ‘อู๋กะโจ้’ ต่อจากนี้ นอกจากเรื่องความความสดใหม่ในการทำธุรกิจปลูกผัก เรื่องความจริงใจและมิตรภาพของทั้งคู่ ดูไปก็ออร์แกนิกเหมือนผักที่เขาปลูกจริงๆ

ถ้าชวนย้อนมองกลับไปในวันแรก อะไรเป็นต้นทุนที่สำคัญที่นำพาคุณมาถึงตรงนี้ได้

อู๋ : ถ้าถามผม ผมว่ามันประกอบไปด้วยหลายๆ อย่าง ด้วยจังหวะชีวิตที่ทำให้เราได้มาเจอกัน ทำให้เราได้เป็นเพื่อนกัน แล้วเราก็ได้เริ่มทำอะไรเล็กๆ ด้วยกัน อันนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เข้มแข็งและทำให้เรามาถึงทุกวันนี้

โจ้ : นอกจากที่อู๋บอกไป ผมคิดว่าอาจจะมีเพิ่มเติมนิดนึง คือครอบครัวของเราทั้งสองคน คือเราทั้งสองได้โอกาสจากครอบครัวของพวกเรา เพราะต้องยอมรับว่างานที่เราทำอยู่มันอาจจะเป็นงานที่ครอบครัวเขาก็อาจจะเป็นห่วง มาทำงานด้านการเกษตร มาปลูกผักขายอย่างนี้ มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่หลายๆ คนเขาอยากจะให้ลูกเป็น แต่เขาก็ให้โอกาสเราได้ทดลองทำในสิ่งที่เราฝันไว้

รู้มาว่าคุณโตมากับครอบครัวเกษตรกร

อู๋ : โดยพื้นฐานแล้วก็ใช่ อย่างที่บ้านผม ตั้งแต่สมัยอากง อาม่า ก็จะดองผัก ดองอะไรขายที่ตลาด

โจ้ : ผมนี่เด็กบ้านนอกเลย โตมาจากที่ชานเมืองของจังหวัดลำพูน เพราะฉะนั้นแน่นอน คนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของที่นั่นก็เป็นเกษตรกรอยู่แล้ว แต่ก็เป็นเกษตรเคมีรูปแบบเก่า ผมเองก็เคยเห็นพ่อแม่ไปทำสวนลำไย ปลูกหอม ปลูกกระเทียมมาตั้งแต่เด็กแล้ว เราก็ไม่รู้จะไปไหน ก็ติดตามเขาไป ไปเล่นดิน เล่นโคลน เล่นทราย มันก็เลยติดตามาตั้งแต่เด็ก

มาจากครอบครัวเกษตรทั้งคู่ คุณมองอาชีพเกษตรกรในไทยยังไงบ้าง

อู๋ : ตั้งแต่เด็กๆ เราก็จะเห็นตามข่าวทุกปีว่า เกษตรกรได้รับผลกระทบจากราคาผลผลิตที่ตกต่ำ โน่นนี่นั่น เราก็รู้สึกว่ามันน่าจะมีวิธีสิ ที่พอจะช่วยให้หลีกเลี่ยงเรื่องพวกนี้ได้บ้าง พอเราได้มาทำจริงๆ เราก็รู้ว่าบางอย่างมันก็พอหลีกเลี่ยงได้ บางอย่างมันใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้

โจ้ : ถ้าเอาตรงๆ สำหรับผม ผมมองว่าเกษตรกรเป็นอาชีพที่น่าสงสาร เป็นอาชีพท้ายๆ เลยที่สมมติคนไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรแล้วถึงอยากเป็น โชคดีที่ประเทศไทยเรามีผืนดินที่อุดมอยู่ พอไม่รู้จะไปทำอะไร มองไปรอบๆ ตัวมีที่ดินอยู่ มันก็จำเป็นต้องไปทำอาชีพนี้ 

คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าเกษตรกรในประเทศไทยเป็นอาชีพที่ไม่น่าจะร่ำรวย ไม่น่าจะลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้ขนาดนั้น

แล้วไปมายังไงถึงเริ่มทำกิจการ ‘โอ้กะจู๋’ ด้วยกันได้

อู๋ : ต้องเล่าย้อนไปตั้งแต่ช่วง ม.ต้น คือผมกับโจ้อยู่ห้องเดียวกันตั้งแต่ ม.3 พอขึ้น ม.ปลายเราก็อยู่สายวิทย์ด้วยกัน ทีนี้ตอน ม.5 มันจะมีวิชาแนะแนว โรงเรียนก็พาไปที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็พาไปดูว่าถ้าเข้าคณะไหนต้องเรียนยังไง พาไปดูคณะบริหาร เกษตร นิติศาสตร์ วิศวฯ ไปดูคณะที่คนสมัยนั้นเขาเข้ากันเยอะๆ  แล้วเราสองคนก็ไปดูที่คณะเกษตร แล้วก็คุยกันว่า เออ ถ้าในอนาคตมันจะมีอะไรที่เราทำแล้วทำให้เราอยู่ด้วยกันได้ มันก็น่าจะดี

คือโรงเรียนที่พวกผมอยู่ เมื่อก่อนมันเป็นโรงเรียนหญิงล้วน แล้วพวกผมเป็นผู้ชายรุ่นที่ 4 ที่เข้ามาเรียน เพราะฉะนั้นผู้ชายมันก็จะมีน้อย เราก็เลยจะสนิทกัน ตอนนั้นเราก็เลยคุยกันเล่นๆ ประมาณนี้ จนสุดท้ายโจ้เขาก็ตัดสินใจไปเรียนเกษตร ส่วนผมไปเรียนการตลาด แล้วพอจบมาก็ทำอย่างที่เห็นทุกวันนี้

เขาสอนอะไรบ้างที่คณะเกษตร

โจ้ : ก็เรียนตั้งแต่พื้นฐานเลย เรียนว่าถ้าพืชแต่ละชนิดจะเจริญเติบโตมันจะมีปัจจัยใดที่เกี่ยวข้องบ้าง บางวิชาก็อาจจะลงลึกไปถึง Physiology สรีรวิทยาของพืช แต่ส่วนตัวผม ผมมุ่งไปทางพืชสวน แต่จริงๆ แล้วคณะเกษตรเขาหลากหลายนะ มีพืชไร่ พืชสวน มีปศุสัตว์ แต่ผมตั้งใจว่าอยากปลูกผักขาย ผมเลยมุ่งมาทางด้านพืชสวน

คือคุณตั้งใจจะมาทางเกษตร เพราะเรื่องที่คุยกันไว้ตั้งแต่ ม.5 ใช่ไหม

อู๋ : (ยิ้ม) คือตอนนั้นมันเป็นการคุยกันเล่นๆ แต่พอเราเรียนจบโจ้เขาก็มาถามว่า ที่เราคุยกันในตอนนั้นยังสนใจอยู่ไหม

โจ้ : ผมมีพาเขาไปดูงานก่อนด้วยนะ เพราะเขาไม่ได้เรียนเกษตรมา คือตอนที่ผมเรียน ผมตั้งใจไว้อยู่แล้วว่า ไหนๆ ก็เรียนคณะนี้มาแล้ว เดี๋ยวผมจะไปปลูกผักขาย แต่ผมก็เห็นภาพของผมคนเดียว คิดของผมคนเดียว ผมเลยพาเขาไปที่โครงการหลวงหนองหอย ที่แม่ริม ให้เขาดูพวกการปลูกผัก การเพาะเมล็ด ก็คือพาเขาไปอินกับเรานิดนึงนั่นแหละ

แล้วคุณอินไหม

อู๋ : ก็โอเคนะครับ อย่างที่บอกนั่นแหละ เราอยากหาอะไรทำด้วยกัน ที่จะยึดเหนี่ยวกลุ่มเพื่อนๆ เอาไว้ด้วยกัน คือต้องบอกก่อนว่าในระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยเราก็ยังสนิทกัน ไปเที่ยวด้วยกัน ไปทำอะไรด้วยกันตลอด ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนมันก็ยังมีอยู่ แล้วด้วยความที่เขาจบด้านนี้มา เราก็เชื่อมือเขาในระดับหนึ่ง เราก็เลยไปปรึกษาคุณพ่อผม บอกท่านว่าเราอยากจะปลูกผักขาย คุณพ่อผมก็บอกว่า ก็ได้ งั้นพ่อมีที่อยู่แปลงนึง ก็ให้เราลองไปทำตรงนั้นแล้วกัน เราก็ไปเริ่มจากโรงเรือนหลังเล็กๆ ตรงนั้น โรงเรือนหลังแรกก็ขนาด 6×30 เมตร

เริ่มจากทำกันแค่สองคน

โจ้ : ทำกันแค่สองคน แต่ก็มีคนงานมีอะไรด้วย

ตอนนั้นคิดโมเดลธุรกิจปลูกผักแล้วขายไว้ยังไงบ้าง

อู๋ : ตอนนั้นไม่ได้คิดเลย คือตอนนั้นเราแค่อยากจะทดลองก่อนว่าปลูกได้จริงไหม เราทำได้จริงไหม เพราะต้องยอมรับว่าในแต่ละที่อย่างที่โจ้บอก พืชแต่ละตัว ผักแต่ละตัวมันก็แตกต่างกันไป ตอนนั้นเราก็เริ่มปลูกผักสวนครัวกันเป็นหลัก พวกถั่วพู แตงกวาญี่ปุ่น ถั่วฝักยาว แล้วก็มีผักสลัดนิดหน่อย ช่วงนั้นจะเป็นแบบผักที่ใช้ทานในชีวิตประจำวัน เราก็ทดลองไปเรื่อยๆ

ทดลองอยู่นานไหม

อู๋ : ก็เกือบ 3 ปีนะกว่าจะเปิดร้าน

พวกคุณปลูกผักในโรงครัวอยู่ 3 ปี

โจ้ : ครับ (ยิ้ม)

อู๋ : ในช่วงครึ่งปีแรก เราก็ปลูกเพื่อดูว่าปลูกได้ไหม หลังจากนั้นเราก็เริ่มปลูกมากขึ้นๆ แล้วก็เริ่มขายส่งแล้วครับ จากเดิมที่ปลูกแค่ในโรงเรือนขนาด 6×30 เมตร ต่อมาโจ้เขาก็เริ่มไปปลูกข้างนอกโรงเรือน เริ่มขึ้นแปลงผักแล้ว ลองปลูกมากขึ้นสิ ปลูกแบบไม่มีหลังคา ลองไปเรื่อยๆ หลากหลายรูปแบบ

โจ้ : แล้วก็มีผักที่ปลูกได้ไปขาย ไปขายให้ร้านอาหารในเชียงใหม่ ลองไปติดต่อเขาดู มีวอล์กอินเอาผักสลัดไปเสนอเขาบ้าง มีคนรู้จักแนะนำกันต่อๆ บ้าง ก็ขายได้ แต่ก็โดนปฏิเสธมาเยอะเหมือนกัน

ก็คือช่วง 3 ปีนี้คุณเริ่มเอาผักที่ปลูกได้มาขายแล้ว

อู๋ : ส่วนหนึ่งเราเอาไปขาย ส่วนหนึ่งเราเอาไปแจกจ่ายให้ชุมชน บางทีก็มีเอากลับไปที่บ้านของพวกเราเอง เอากลับไปกินกันเอง คือด้วยความที่เรายังกะไม่ถูกว่ามันจะได้ผลผลิตมากน้อยแค่ไหน อะไรยังไง เราก็ขายบ้าง แต่นับว่าเราเทสต์ระบบดีกว่า ช่วงนั้นเจออุปสรรคบ้างนะ แต่เราก็แก้กันไป

อุปสรรคที่เจอช่วงนั้นคืออะไร

โจ้ : คือปีแรกที่ทำ เนื่องจากผมก็ยังใหม่อยู่กับพื้นที่ตรงนั้น ยังไม่รู้จักธรรมชาติของพื้นที่โดยทั่วไป ครั้งแรกที่โดนที่ผมจำได้คือ พายุฝนลง พอมันลงคืนนึงผมก็ยังไม่ได้ทำระบบระบายน้ำอะไร ปรากฏว่าน้ำท่วม โอ้โห แปลงผักที่เราปลูกไปนี่กลายเป็นบ่อปลาเลย (ยิ้ม) แต่ยังโชคดีที่พวกที่ผมปลูกในโรงเรือนผมปลูกบนโต๊ะ ใช้รางพีวีซีที่ผมผ่าเองไปผสมกับวัสดุอินทรีย์แล้วก็ปลูกผักขึ้นมา อันนั้นยังรอด แต่ผ่านมาอีกสักเดือนสองเดือนก็เจอพายุเข้าอีกรอบ เพราะปีนั้นพายุฤดูร้อนเข้าเชียงใหม่ โรงเรือนก็ไม่ไหว พังล้มระเนระนาดไปหมดเลย

อู๋ : ฝนตกทีนี่ลุ้นมากเลยตอนนั้น

โจ้ : คือตอนนั้นเรายังไม่ได้เตรียมอะไรไว้เลยไง ไม่รู้เลยว่าตรงนี้น้ำมันจะท่วมนะ

แล้วตอนไหนที่ตัดสินใจโดยแน่แล้วว่าเราจะปลูกผักเพื่อขาย

อู๋ : สักประมาณต้นปี ’56 ซึ่งตอนนั้นเราก็เปลี่ยนไปปลูกผักสลัดสักประมาณ 80% แล้วนะ ช่วงนั้นโจ้เขาก็มาคุยว่า เออ เราน่าจะเปิดคาเฟ่กันนะ ขายพวกกาแฟและสลัด เพราะเราก็ปลูกผักเอง แล้วก็เหมือนเดิม ไปปรึกษาคุณพ่อ คุณพ่อก็โอเค อยากทำก็ทำ ซึ่งอย่างที่บอกว่าเป็นความโชคดีของพวกเราด้วยที่คุณพ่อคุณแม่พวกเราเขาให้โอกาสพวกเรา จริงๆ ตอนหลังเขาก็มีบอกว่าเขาคิดยังไง เขาบอกว่าเขารู้สึกเหมือนส่งเราเรียนปริญญาโท แต่ผ่านการลงมือทำจริงๆ ให้เจอปัญหาจริงๆ ให้ได้ลองแก้ปัญหากันเองดูจริงๆ

ก็เลยเริ่มสร้างร้านเล็กๆ ขึ้นมา ตอนนั้นน่าจะมีอยู่สักประมาณ 10 ที่นั่ง ก็เริ่มจากมีกาแฟขาย แล้วก็มีสลัดเลย ร้านก็อยู่ในบริเวณเดียวกันกับที่เราปลูกผักนี่แหละ ที่สันทราย ห่างจากที่เราปลูกผักกันสักประมาณ 50 เมตร คือยังมองเห็นสวนผักเราได้

เริ่มจากขายกาแฟและสลัด?

อู๋ : ใช่ ขายกาแฟและสลัดแบบ 4 steps คืออยากทานสลัดผักอะไร น้ำสลัดอะไรก็ติ๊กเอาเลย

โจ้ : ตอนนั้นรู้สึกว่าเมนูจะมีแค่หน้าเดียว คือหน้านึงเป็นเมนูอาหาร อีกหน้าเป็นเมนูเครื่องดื่ม แค่นี้เอง

อู๋ : ต้องไปประมาณกลางปี ’57 โน่น ถึงจะเริ่มมีสเต๊กเข้ามา

จากปลูกผักเฉยๆ ข้ามไปเปิดร้านขายสลัดและคาเฟ่เลย คุณต้องปรับตัวยังไง

อู๋ : ช่วงเริ่มต้นตรงนั้นเราก็มีทีมงานคอยช่วยเรา มาช่วยกันคิด แต่เมนหลักมาจากพวกเรานี่แหละ มาระดมความคิดกัน ทำเทสต์กันเองว่าชอบไหม ถ้าไม่ชอบก็ปรับ แล้วตอนนี้นี่แหละที่เป็นช่วงที่ชื่อร้านมา ชื่อโอ้กะจู๋ มาแถวๆ ช่วงๆ นี้นี่แหละ

โจ้ : เฮ่ย จริงๆ ชื่อนี้มาตั้งแต่ตอนปลูกผักขายแล้ว

อู๋ : เออๆ ใช่ๆ (หัวเราะ) ชื่อมาตั้งแต่ตอนปลูกผักแล้ว เรามีสติ๊กเกอร์ร้านว่าโอ้กะจู๋แล้ว

ใครเป็นคนคิดชื่อโอ้กะจู๋

โจ้ : ตอนนั้นก็แค่นั่งคุยกันไปเรื่อยๆ ก็แค่คิดว่าต้องมีชื่อแบรนด์ให้ลูกค้าเขารับรู้และรู้จักแบรนด์เราได้ง่ายขึ้นเนาะ ก็คิดว่า เออ ถ้าผวนคำมันก็น่าจะสะดุดหูคนนิดนึง เลยคิดว่าใช้คำอะไรที่มันแปลกๆ ดีกว่า

แล้ว tagline ปลูกผักเพราะรักแม่มาตอนไหน

อู๋ : ปลูกผักเพราะรักแม่มาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นเลย คือครอบครัวพวกเราจะมีคุณแม่เป็นจุดศูนย์กลางของครอบครัว

ถามว่าถ้าเราไปเดินตลาดแล้วเราจะกล้าไปซื้อคะน้าที่มันมีสารเคมีกลับมาให้แม่หรือให้คนที่บ้านเรากินไหม เราก็เลยคิดว่า เฮ่ย ถ้างั้นเราปลูกเองดีกว่า เราเลยปลูกโดยไม่ใส่สารเคมี ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ไม่ใส่ยาฆ่าแมลง เราปลูกผักแบบนี้ให้คนที่เรารัก ให้คนที่บ้านเรา ให้แม่เรากินผักแบบนี้แล้วอยู่กับเราไปนานๆ อันนั้นเป็นที่มาตั้งแต่เริ่มแรกเลย ก็เลยเป็นกิมมิกของเราที่เป็นที่มาของคำว่า ‘ปลูกผักเพราะรักแม่’ แล้วคำนี้ก็เป็นชื่อบริษัทของเราด้วย

เราปลูกผักไม่ใส่สารเคมีและยาฆ่าแมลง แล้วเรามีปัญหากับแมลงไหม

โจ้ : มีอยู่แล้วครับ แต่เราใช้เรื่องชีวภัณฑ์ในการป้องกันและกำจัดโรค เช่น พวกโรคแมลงทั่วๆ ไป ปกติเขาก็จะใช้ยาฆ่าแมลงกันใช่ไหม ใช้แล้วจบ แต่ที่เราใช้คือชีวภัณฑ์ ซึ่งมันคือเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียที่มาจากธรรมชาติ ซึ่งมันจะมีหัวเชื้ออยู่ พวก BT หรือ BS อะไรพวกนี้ เราก็เลี้ยงหัวเชื้อพวกนั้นแหละ แล้วก็เอามาละลายน้ำแล้วก็ฉีดพ่นไปที่ผักของเรา ชีวภัณฑ์พวกนี้มันจะไปช่วยกำจัดโรคแมลงต่างๆ คือใช้สิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติไปป้องกันนั่นแหละ แต่แน่นอนครับมันไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนเคมีอยู่แล้ว

เคมีนี่ถ้าฉีดไปวันนี้ พรุ่งนี้ก็อาจจะเห็นผลทันที ทันตาเลย แต่อันนี้ที่เราใช้ก็คือ ทั้งแสดงผลช้าด้วยและต้องฉีดอย่างต่อเนื่องด้วย แต่ก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ดีอย่างที่บอก เพราะฉะนั้นเราก็ทำใจไว้ตั้งแต่แรกเลยว่าคนแรกที่จะได้อุดหนุนผักที่เราปลูกคือแมลงต่างๆ นั่นแหละ ด้วง หนอนทั้งหลาย คุณก็เอาไปกินกันก่อนเลยครับ (ยิ้ม) แล้วถ้าเหลือเท่าไหร่ค่อยแบ่งมาให้พวกเราแล้วกัน

ตอนนั้นตั้งใจอยากให้คอนเซปต์ร้านเป็นยังไง

อู๋ : มีอะไรก็ขายอันนั้นแหละครับ (หัวเราะ) ล้อเล่นครับ

โจ้ : หลักๆ เอาที่ผมจำได้นะ คือ Farm to Table นั่นแหละ เราอยากเสิร์ฟสิ่งที่เราปลูก ก็คือสลัดออร์แกนิกแบบหลากหลายชนิดที่ปลูกแบบสดใหม่จากฟาร์ม ที่ปลูกแบบจากข้างหลังร้านเลย เอามาเสิร์ฟให้กับคุณนี่แหละ

ตอนเปิดร้านโอ้กะจู๋ที่เป็นแบบคาเฟ่ วันแรกบรรยากาศเป็นยังไง

อู๋ : เงียบเหงานะ (หัวเราะ)

โจ้ : เฮ่ย วันแรกยังโอเคอยู่ เพราะว่าเพื่อนๆ มาอุดหนุน แต่หลังจากนั้นสิ (มองหน้ากัน) ของจริง 

อู๋ : ของจริง คือทำกินกันเองครับส่วนใหญ่ คือมันก็เงียบอยู่อย่างนั้นสัก 3-4 เดือน สักพักใหญ่ๆ คือเราไม่มีความรู้เรื่องร้านอาหารเลย แล้วเรามาเริ่มเปิดร้าน มันก็เหมือนกับว่าเรานับหนึ่ง ตรงนี้เราเลยมองว่ามันคือการเรียนรู้ คือเราไม่ได้ไปเครียดว่าถ้าขายไม่ได้อีกเดือนจะปิดแล้วนะ เราสองคนก็มาคิดกันว่า เออ ทำยังไงดี ในระหว่างนั้นเราก็คิดว่าจะหารายได้เพิ่มทางไหนดี หรือเราจะเพิ่มลูกค้า ทำให้ลูกค้ารู้จักยังไง ก็คุยกัน มันก็ถือเป็นโชคดีของเราอีกในช่วงนั้น เพราะเราเปิดร้านพฤษภาฯ เนาะ พอเข้าช่วงปลายฝนนักท่องเที่ยวก็จะไปเชียงใหม่เยอะ เพราะหลังฝนส่วนใหญ่คนจะไปทำบุญออกพรรษากัน ทีนี้พอมีคนมาก็จะมีกลุ่มลูกค้าเขาแวะถ่ายรูป แล้วตอนนั้นสักช่วงปลายปี ’56 อินสตาแกรมกำลังดังเลยตอนนั้น ก็มีคนเช็กอินถ่ายรูปเยอะ

พอช่วงปลายปีที่เป็นช่วงไฮซีซั่นนักท่องเที่ยวก็มาอีก ก็ถ่ายรูปเช็กอินกัน ลูกค้าเขาก็มากันเยอะอยู่ ทีนี้พอช่วงปลายปีเราขายดีปุ๊บ พอข้ามปีเราก็เริ่มมีลูกค้าที่เริ่มรู้จักเรามากขึ้น และส่วนหนึ่งก็เป็นลูกค้าที่มากินแล้วติดใจ เขาก็กลับมา ก็คือเริ่มมีลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากช่วงนั้น

ซึ่งระหว่างนี้คุณยังปลูกผักส่งร้านอื่นๆ อยู่

โจ้ : ใช่ครับ

แล้วตอนไหนถึงตัดสินใจว่าไม่ส่งคนอื่นแล้ว

โจ้ : ก็ปีถัดมาจากที่เราเปิดคาเฟ่นี่แหละครับ ประมาณปี ’57 เพราะเราส่งคนอื่นไม่ไหวแล้ว (ยิ้ม)

อู๋ : คือตอนนั้นเรายังไม่ได้ปลูกเยอะด้วย ทั้งจำนวนแปลงและพื้นที่ปลูกก็ไม่ได้เยอะมาก

แล้วมันขายดีขั้นไหน จนตัดสินใจว่าจะไปเปิดสาขา 2

อู๋ : สาขา 2 นี่เราไปเปิดแถวๆ สนามบิน อยู่ที่เชียงใหม่เหมือนกัน ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิดสาขา 2 เราเปิดตอนปี ’58 คือตอนนั้นเราอยากลองขยายสาขาไปที่อื่นดูบ้าง เพราะเราคิดว่า เออ น่าจะลองดูนะว่าถ้าเกิดว่ามีคนมาขอซื้อแฟรนไชส์ เราจะจัดการยังไง เราก็เลยมองสาขา 2 เสมือนหนึ่งว่าเป็นแฟรนไชส์ของสาขาหนึ่ง แล้วก็มามองดูการจัดการภายในของเราว่ามันได้ไหม อะไรไหม ก็เลยเป็นที่มาของการเปิดสาขา 2 ณ ตอนนั้นนะ

แต่เนื่องจากเราก็ลูกทุ่งๆ เราไม่เคยทำร้านอาหารมาก่อน เราก็ไม่รู้ว่าถ้าเป็นแฟรนไชส์มันจะต้องเป็นยังไง ต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง หนึ่ง สอง สาม สี่ มันก็เลยอาจจะยังไม่ได้กลายไปเป็นรูปแบบแฟรนไชส์ในตอนนั้น

แล้วตอนนี้คุณยังคิดจะขายแฟรนไชส์อยู่ไหม

โจ้: ตอนนี้ยังไม่มีนะครับ (ยิ้ม)

คุณตัดสินใจเอาโอ้กะจู๋เข้ากรุงเทพฯ ตอนไหน

อู๋ : หลังจากที่เปิดสาขา 2 ที่เชียงใหม่แล้ว สาขา 3 คือ กรุงเทพฯ คือด้วยความที่เราเปิดทั้งสองสาขาแรกที่เชียงใหม่แล้ว แบบทั้งสองร้านอยู่คนละมุมของเชียงใหม่เลย เราเลยคิดว่า เออ เชียงใหม่น่าจะพอแล้ว ในตอนนั้นนะ บวกกับตอนที่เราเปิดร้านที่สาขาหนึ่ง ประมาณช่วงปลายปี ’57 ก็มีลูกค้ามาถามว่า เออ ทำไมไม่เปิดที่กรุงเทพฯ จะมากรุงเทพฯ เมื่อไหร่ เราก็ดื้อไม่ไปอยู่หลายปี จนตัดสินใจไปเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ ปี ’59

ตอนนั้นเราลองคุยกันว่า ลองมาหาพื้นที่กันดูไหม ก็เลยมาหาที่กันในกรุงเทพฯ กว่าจะได้ที่ก็มีสตอรีเยอะ คือพวกผมก็เด็กบ้านนอกเนาะ เป็นคนเชียงใหม่ เราก็คิดว่าตอนเด็กๆ ที่เรามากรุงเทพฯ เขาก็จะพาเราไปสยามเนาะ เราเลยไปเดินหาที่กันแถวสยาม ปรากฏว่ามันว่างอยู่แค่โซนเดียวที่เดียวเลยตอนนั้น

เราไปกัน 2 คน ขึ้นลิฟต์ไปถามที่ตึกออฟฟิศของจุฬาฯ ที่ชั้น 13 ถามเขาว่า พี่ๆ ถ้าจะเปิดร้านในสยามตรงที่ตรงนั้นที่ว่าง ค่าเช่าเท่าไหร่ พอเขาปรินต์ราคาออกมาให้ดูเท่านั้นแหละ (สูดหายใจ)

โจ้ : นึกว่าเขาปรินต์เลข 0 เกินมา (หัวเราะ)

อู๋ : ก็เลยกลับไปตั้งหลักกันสักพักใหญ่ๆ เพราะเราก็ไม่มีความรู้ว่าถ้าเราอยู่เชียงใหม่แล้วถ้าเราจะมาเปิดกรุงเทพฯ มันจะมีค่าใช้จ่ายอะไรอีกหลายๆ อย่างที่เราต้องดู ไม่ว่าจะเรื่องผัก เรื่องโลจิสติกส์ เรื่องคุณภาพอาหารด้วย สุดท้ายเราก็เลยกลับไปตั้งหลัก แล้วก็คุยกันว่าเอาไงดีอะ โจ้เขาบอกว่า “ลอง” ผมก็ โอเค ลองก็ลอง

แล้วมันขยายต่อเป็นสาขาอื่นๆ ได้ยังไง

อู๋ : หลังจากนั้นก็ไหลแล้ว มีคนเอาโลเคชั่นต่างๆ มาเสนอ เราก็พยายามเลือกโลเคชั่นที่มันมี traffic นะ แต่ถ้าเป็นตอนนี้คือเรามีพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมแล้วเนอะ และเขาเป็นบริษัทที่อยู่ในมหาชน เราก็จะไม่ได้ดูแค่โลเคชั่นและใช้แค่ฟีลลิ่งอย่างเดียวแล้ว

เมื่อก่อนเหมือนพวกเราใช้แค่ฟีลลิ่งอย่างเดียว เดี๋ยวนี้เราเริ่มดูจุดคุ้มทุน เวลาคืนทุนด้วย เพราะมันเริ่มเป็นระบบมากขึ้น เริ่มมีระบบมาจับแล้ว

คุณคิดว่าการเป็นทั้งเจ้าของร้านอาหารและเจ้าของซัพพลายเออร์ (แปลงผัก) เองด้วยเป็นเรื่องยากไหม

อู๋ : ถ้าถามว่ายากไหม มันก็ยาก คือถ้าเทียบกับคนอื่นที่เขาทำร้านอาหารอย่างเดียว ถ้าเขาอยากได้ผัก 10 กิโลฯ เขาก็แค่เดินไปซื้อผัก 10 กิโลฯ ปุ๊บเขาก็กลับมาทำได้เลย แต่เราเนี่ยเราดูตั้งแต่ต้นกระบวนการมาเลย คือตั้งแต่เพาะปลูกจนได้ผลผลิต แล้วก็ค่อยไปเสิร์ฟบนจาน

โจ้ : คือมันเป็นสิ่งที่เราอยากจะทำ และเราก็อยากจะเป็นแบบนี้ตั้งแต่แรกแล้ว

ตอนนี้โอ้กะจู๋มี 23 สาขา คุณใช้ผักของคุณเองทั้งหมดเลยไหม

โจ้ : ก็ 90% ตอนนี้เรามีแปลงปลูกผักอยู่ประมาณ 380 ไร่

คุณเป็นเจ้าของแปลงผัก 380 ไร่เลยเหรอ

อู๋ : เช่าเขาเอาสิครับ (หัวเราะ) อยากจะปลูกสักพันไร่ยังได้เลย เช่าเอาเลย

แปลงผักทั้ง 380 ไร่ อยู่ที่เชียงใหม่ทั้งหมดเลยไหม

โจ้ : ใช่ครับ 

อู๋ : ตอนนี้เราเน้นปลูกผักสลัดเนาะ

โจ้ : ก็มี 5 กลุ่มที่ปลูก รวมๆ แล้วก็น่าจะมีผักสัก 30 ชนิด ก็จะมีผักสลัด, กลุ่มสมุนไพร, กลุ่มผักกรีนต้นเล็กๆ, กลุ่มดอกไม้ทานได้, แล้วก็เป็นพวกผักผล อย่างเช่น พวกมะเขือเทศ พริกหวาน ฟักทองญี่ปุ่น เมลอน ซึ่งทั้งหมดก็จะเป็นอินทรีย์ทั้งหมดเลย

คุณตัดสินใจยังไงว่าจะปลูกผักชนิดไหนมากน้อยเท่าไหร่

โจ้ : ผมคิดว่าคนไทยชอบกินผัก ผมเองก็ชอบกินผัก แต่ส่วนใหญ่ผมคิดว่าพวกผักผลไม้หาทานแบบอินทรีย์ยากมากๆ เราก็เลยตั้งใจมากๆ ว่าจะทดลองค้นคว้าปลูกโดยวิถีอินทรีย์ เพื่อที่จะได้เป็นผลผลิตอินทรีย์ออกมา ก็คือดูว่าเราชอบอะไรและลูกค้าเราชอบอะไร 

คุณจัดการยังไงให้มีผักเพียงพอในร้านทุกๆ สาขา

โจ้ : อันนี้เป็นอะไรที่เราเก็บข้อมูลละเอียดมากๆ เลย แน่นอนว่าปีแรกเราเจอปัญหาอยู่แล้ว แต่พอทุกอย่างมันเริ่มทำจนต่อเนื่องมาเรื่อยๆ พอเราเริ่มเก็บตัวเลขอย่างสม่ำเสมอ แต่ละสาขาใช้ผักเท่าไหร่ เปิดสาขาใหม่ใช้ผักเท่าไหร่ ฐานข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เราก็เก็บไว้ค่อนข้างละเอียดพอควรเลย และใดๆ ก็ตามเราเก็บสถิติหมด แม้กระทั่งว่าแต่ละฤดูกาลแต่ละร้านใช้ผักเท่าไหร่ แล้วเราปลูกผักได้เท่าไหร่เราก็เก็บตัวเลขตรงนี้ เพื่อที่จะได้คำนวณให้ปริมาณมันเพียงพอที่จะเสิร์ฟหน้าร้าน

ฟาร์มผักอยู่เชียงใหม่แล้วคุณจัดการยังไงเรื่องขนส่งผักมายังกรุงเทพฯ

อู๋ : เราขนผักมาทุกวันจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ คือจริงๆ ต้องบอกว่านโยบายเรา นับเวลาตั้งแต่ตัดผักจนถึงจานลูกค้า รวมเวลาแล้วต้องไม่เกิน 28 ชั่วโมง สมมติเราตัดทุ่มนึง จากนั้นเราส่งไปที่ห้องล้าง ห้องล้างก็ล้างคืนนั้นเลย ทำงานคืนนั้นเลย จากนั้นตอนสายๆ รถห้องเย็นก็มารับ แล้วรถก็วิ่งจนมาถึงตี 5 ของอีกวันนึง แล้วก็กระจายผักไปยังหน้าสาขา แล้วผักพวกนี้เราก็ให้ใช้ให้หมดภายใน 1 วัน เพราะเราส่งทุกวันอยู่แล้ว

ได้ข่าวว่าคุณไปให้ความรู้ชาวบ้านด้วยเรื่องการปลูกผัก

โจ้ : เป็นเรื่องที่ภูมิใจมากๆ คือเมื่อก่อนนี้เนี่ยเราไม่เคยถ่ายทอด know-how อะไรให้ใครเลย มีอะไรก็อยากทำกันเองแค่ภายในของเรา แต่ตอนนี้เราถ่ายทอด know-how ถ่ายทอดวิธีการทำเกษตรแบบอินทรีย์ต่างๆ ให้กลุ่มเกษตรกรที่เขามีอุดมการณ์อยากจะเป็นเกษตรอินทรีย์เหมือนเราอะไรยังงี้ครับ

อะไรทำให้คุณมีความคิดที่อยากจะแบ่งปันความรู้ให้คนอื่น

โจ้ : เรื่องนี้ย้อนไปยาวเลย เรื่องมาตั้งแต่ตอนที่ผมรู้จักกับอู๋ คือที่บ้านอู๋เขาเป็นครอบครัวที่ป๊าอู๋เขาเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนเขาก็ทำงานหนัก ก็ไม่ได้สบาย แต่พอทำธุรกิจมาเรื่อยๆ จนมาอีกเจนฯ นึงที่ป๊ามีลูก และลูกเริ่มโต ป๊าเขาก็คงรู้สึกว่าเขาเริ่มมีความมั่นคงในชีวิต ตรงนี้แหละมั้งที่ป๊าเขาคงรู้สึกว่าเขาพอแล้ว เขาอยากแบ่งปันให้คนอื่นบ้าง คือป๊าของอู๋เป็นคนที่ทำโรงทานบ่อยมากๆ เลย ตั้งแต่สมัยที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยแล้วอู๋ก็ลากผมไปผัดหมี่ซั่วอยู่นั่นทุกเทศกาลเจ เป็นอาทิตย์เลย ไปอยู่ทุกปี

ตอนนั้นผมก็ไม่ได้คิดอะไรเยอะ ก็คือไปอยู่กับเพื่อน ไม่ได้คิดจะไปแบ่งปันอะไร อันนี้ตอบตามตรงนะผมว่าตั้งแต่ตอนนั้นมันเลยเป็นอะไรที่ติดตัวเรามา คือเราได้เห็นภาพคนที่เขาประสบความสำเร็จ แล้วเขาก็มาแบ่งปัน ทีนี้พอเราเคยเริ่มทำจากจุดเล็กๆ พอมาตอนนี้เราเติบโตมากขึ้นแล้วเราก็คิดว่าเราก็อยากจะแบ่งปันบ้าง อยากให้คนอื่นเขาได้มีโอกาสแบบที่เราเคยได้โอกาสในช่วงแรกๆ ที่เราเพิ่งเริ่มต้นบ้าง

เราใช้อะไร เราทำยังไง เราก็ถ่ายทอดทั้งหมดเลย อะไรที่เราเคยทำแล้วล้มเหลวมา เคยเจอปัญหามา เราก็เอามาถ่ายทอดให้เกษตรกรที่เขามีความมุ่งมั่นตั้งใจจะทำเกษตรอินทรีย์

เราถ่ายทอดทั้งหมดแล้วเราไม่กลัวเขามาเป็นคู่แข่งเราเหรอ

อู๋ : สิ่งที่เราทำที่เราไปส่งเสริมเกษตรกรที่อยากทำอินทรีย์จริงๆ เราทำมาหลายปีแล้ว แต่มันอาจจะเพิ่งเป็นรูปเป็นร่างเมื่อปีสองปีที่ผ่านมา ถามว่าเรากลัวไหมเราก็ไม่กลัวนะ เพราะว่าเกษตรกรพวกนี้เขาน่าสงสารนะครับ เราเคยมีโอกาสขึ้นไปที่แม่แจ่ม ซึ่งเป็นแหล่งที่ปลูกกะหล่ำปลีอันดับหนึ่งในประเทศไทย เราก็ถามเขาว่าทำไมคุณต้องใช้ยาใช้สารเคมีด้วย ทำไมไม่ปลูกแบบอินทรีย์

เขาพูดกลับมาประโยคนึงแล้วผมก็สะอึกไป เขาบอกว่าทำไมคนในเมืองโง่จัง รู้ทั้งรู้ว่าผักมันมียาก็ยังกิน มันก็เลยทำให้เรารู้ว่าจริงๆ โดยพื้นฐานแล้วเขาไม่ได้อยากจะใช้พวกนี้นะ เพียงแต่ว่าถ้าเขาปลูกเป็นอินทรีย์มามันอาจจะไม่มีคนมารับซื้อจากเขาเพื่อไปขายต่อ อันนี้จึงเป็นที่มาว่าถ้าเรามีโอกาส เรามี know-how แล้ว เราก็ไปแบ่งให้เขาบ้าง บอกเขาว่าถ้าปลูกเป็นแบบอินทรีย์เป็นแบบทานผลได้ ปลูกแล้วส่งมาให้เราได้นะ เผื่อว่าเราจะช่วยยังไงได้บ้าง

เรื่องที่ยากของการทำโอ้กะจู๋คืออะไร

อู๋ : ไม่รู้จะตอบยังไงเลย เพราะมันมีมาเรื่อยๆ เลย (หัวเราะ) ผมว่ามันคือการแก้ปัญหานะ พอมีเรื่องอะไรยากๆ เข้ามา เราก็มาคิดว่าเราจะแก้ปัญหานั้นยังไงดี แต่ถ้าถามมาเรื่องความยาก ผมคิดว่ามันอาจจะเป็นเรื่องการสื่อสารระหว่างเจนฯ อย่างน้องๆ ที่เขาอาจจะเด็กกว่าเราก็ต้องดูให้ดีเรื่องของการสื่อสารกันเองภายใน

โจ้ : ผมคิดเหมือนเขานะครับ คิดเหมือนกันเลย

คุณสองคนดูสนิทกันมาก

อู๋ : รู้จักกันมาตั้งแต่ ม.3 นะ

โจ้ : รู้จักกันมาเกินครึ่งชีวิตแล้วครับ

แล้วตอนทำงานแบ่งหน้าที่กันยังไง

อู๋ : เราแบ่งกันชัดเจนอยู่นะ คือทีม C-level ของเราที่เป็นระดับ management จะมีอยู่ประมาณ 5 คน เราก็แบ่งกันชัดเลยว่าคนไหนดูโอเปอเรชั่น คนไหนดูบัญชีการเงิน คนไหนดูโลจิสติกส์ อย่างโจ้เขาจะดูเรื่องฟาร์มกับการขยายสาขา อย่างผมก็ดูภาพรวม

ทำงานกับเพื่อนมีปัญหาไหม

อู๋ : ถามว่ามีไหมมันก็มีแหละ แต่ด้วยความที่เราสนิทกันมากและเรารู้พื้นฐานอยู่แล้วว่าเขาเป็นยังไง แล้วต่างฝ่ายต่างก็ไม่ได้คิดร้ายต่อกัน แล้วเราก็มองผลประโยชน์ของร้านเป็นสำคัญด้วยว่ามันจะไปทิศทางไหน คือเรามี goal ที่ชัดเจนและเราเห็น goal เดียวกัน เพราะฉะนั้นระหว่างทางจะมีความเห็นไม่ตรงกันบ้างก็เป็นเรื่องปกติ แต่เราก็ให้เกียรติและเคารพกัน ถ้าอะไรที่มันอยู่ในอำนาจการตัดสินใจของเขาเราก็จะไม่เข้าไปก้าวก่าย

คุณเรียนรู้อะไรจากการทำโอ้กะจู๋

โจ้ : หลักๆ เลยคือเรื่องมิตรภาพ คือการมีเพื่อนแท้ เพื่อนแท้นี่มันเอาเงินซื้อไม่ได้นะ มันเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลากว่าที่จะพิสูจน์มาได้ว่า ใช่ เพื่อนแท้หรือเปล่า

คุณว่าคุณเป็นคนโชคดีไหม

โจ้ : ก็โชคดีนะครับ

อู๋ : ผมก็ว่าผมก็โชคดีนะ

โจ้ : คนไทยเราก็เชื่อเรื่องบุญวาสนาเนาะ ผมก็คิดว่า เออ ชาติที่แล้วเราอาจจะเคยทำบุญอะไรร่วมกันมา เราก็เลยต้องทำมันต่อไปเนาะ ชาติหน้าจะได้เจอกันอีก เป็นเพื่อนกันอีก ส่วนถ้าเป็นเรื่องการทำงาน ผมว่าเราได้เรียนรู้เรื่องการมีวินัย ความอดทน การที่เราต้องสู้กับปัญหาต่างๆ แน่นอนว่าในทุกช่วงชีวิต 10 กว่าปีที่ผ่านมาปัญหามันก็อาจจะคนละรูปแบบกัน ตอนทำร้านใหม่ๆ ก็ปัญหาแบบนึง ตอนนี้ก็เป็นปัญหาอีกรูปแบบนึง เพียงแต่ว่าเราก็ต้องสู้กับมัน อย่าไปย่อท้อ ถ้าเราเจอปัญหาอะไรก็ตามแล้วเราไม่ท้อนะ ผมว่ารอด คือไม่มีใครสามารถเติมกำลังใจให้เราได้ดีเท่าตัวเราเองหรอก

มองภาพอนาคตของโอ้กะจู๋ไว้ยังไงบ้าง

อู๋ : ก็มองไว้หลายส่วน ทั้งเรื่องการขยายสาขา เรื่องไปประเทศเพื่อนบ้านแถบ CLMV เรื่องการเข้าระดมทุนก็คิดไว้ และที่สำคัญคือเราอยากให้องค์กรเราอยู่ได้แบบยั่งยืนด้วย คือเราเริ่มมาจากการที่มีกันแค่ 6-7 คน จากสาขาแรกจนมาตอนนี้มันก็ทวีคูณ จำนวนพนักงานก็ทวีคูณมาเป็นร้อยเท่า เราก็รู้สึกว่า เออ เรามีคนที่อยู่ข้างหลังที่ต้องดูแลอีกเยอะเลย เราก็เลยพยายามคิดว่าจะทำยังไงให้มันเป็นบ้านที่เขาอยู่แล้วเขารู้สึกมั่นคง

Writer

อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย หญิงสาวผู้หลงรักอาหาร และโฮสต์รายการพอดแคสต์ชื่อ 'Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว'

Photographer

ช่างภาพและ baker ฝึกหัด

You Might Also Like