People & Organization
บริหารคนด้วยความไว้วางใจแบบ Novartis องค์กรที่เน้นการทำงานแบบไฮบริดจนเกิดผลลัพธ์แบบใจแลกใจ
งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเพราะใน 24 ชั่วโมงตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนตกนั้น เราใช้เวลาทำงานไป 8 ชั่วโมง หรือกว่า 1 ใน 3 ของวัน นั่นหมายความว่างานที่ดี มีความหมายต่อชีวิต มีระบบการทำงานที่เป็นมิตร และมีเพื่อนรวมถึงหัวหน้างานที่เข้าอกเข้าใจกันถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญของการใช้ชีวิตที่ดีไม่น้อย
องค์ประกอบนี้เหมือนเป็นที่ทำงานในอุดมคติ ที่คนทำงานก็อยากจะทำงานให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ส่วนบริษัทก็ได้รักษาพนักงานเก่งๆ และเห็นคุณค่าของงานเอาไว้ในเวลาเดียวกัน แต่ในชีวิตจริง การหาองค์กรแบบนั้นอาจไม่ง่ายเหมือนที่คิด กระทั่งเราได้ย่างเท้าเข้ามาที่บริษัทยาและเวชภัณฑ์ชั้นนำ ระดับโลกอย่าง โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) เราก็พบว่าบริษัทที่ให้ความสำคัญกับคนทำงานนั้นมีอยู่จริง
เพราะโนวาร์ตีสเพิ่งคว้ารางวัล HR Asia Best Companies to Work for ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ในฐานะหนึ่งในบริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในเอเชีย ประจำปี 2566 ทั้งยังได้รับรางวัลพิเศษในหมวด HR Asia Most Caring Company Awards สำหรับองค์กรที่ดูแลใส่ใจพนักงานอย่างดีเยี่ยม
ความน่าสนใจคือรางวัลพิเศษที่ว่านี้ผ่านการประเมินโดยพนักงานในบริษัทจริงๆ ยิ่งตอกย้ำว่า องค์กรที่มอบความเชื่อใจและไว้วางใจให้พนักงานมากเท่าไหร่ พนักงานก็พร้อมมอบความเชื่อใจและไว้วางใจกลับคืน ถือเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่หลายคนใฝ่ฝัน สิ่งนี้เองที่ทำให้เราอยากค้นหากุญแจสำคัญของการสร้างองค์กรที่เป็นมิตรกับพนักงาน จนพนักงานเต็มใจ ภูมิใจ และกล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่าทำงานที่องค์กรนี้
เพราะการบริหารคนนั้นท้าทายไม่แพ้การบริหารงาน และการสร้างองค์กรที่เต็มไปด้วยคนเก่งๆ นั้นไม่ง่าย ประธานบริหารอย่าง เภสัชกรหญิงสุมาลี คริสธานินทร์, Country Communications & Engagement Head ดร.ริต้า ยูเนยา และ Senior People & Organization Manager ลลิดา เตชภานุวัฒน์ หรือที่บริษัทอื่นๆ เรียกกันว่า HR จะมาไข 10 กุญแจสำคัญของโนวาร์ตีส ในฐานะองค์กร ที่พนักงานภาคภูมิใจ
กุญแจสำคัญทั้ง 10 ดอกจะมีอะไรกันบ้าง ทั้งสามท่านพร้อมพาเราไปไขคำตอบ
1. เพิ่มอิสรภาพในชีวิต ปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์ ด้วยระบบการทำงานแบบไฮบริดที่เข้าออฟฟิศแค่ 12 วันต่อเดือน
ครั้งแรกที่ก้าวเข้าไปยัง บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด บรรยากาศที่เราสัมผัสได้แตกต่างไปจากบริษัทอื่นๆ ผู้คนบางตา เสียงพูดคุยแทรกมาบ้างประปราย ชวนให้คิดไปว่าวันนี้เป็นวันหยุดหรือไม่
แต่ที่จริงแล้ว วันนัดพบวันนั้นเป็นวันทำงานธรรมดาๆ วันหนึ่ง เพียงแต่ระบบการทำงานของที่นี่คือ
การเปิดกว้าง และให้ความยืดหยุ่นกับพนักงานได้มีทางเลือกทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศตลอดเวลา เพราะที่นี่เชื่อมั่น และเชื่อใจทีมงานว่าทุกคน ทุกตำแหน่งล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน
“ระบบการทำงานแต่เดิมโดยเฉพาะกับบริษัทยาและเวชภัณฑ์ส่วนใหญ่มักต้องทำงานร่วมกันในออฟฟิศ แต่ตั้งแต่โควิด-19 มันทำให้เราเห็นว่าที่จริงแล้วเราสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เราจึงมีนโยบาย Choice with Responsibility (CwR) ที่พนักงานสามารถปรับเปลี่ยนเวลาและสถานที่ทำงานได้ตามความเหมาะสม เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้มากขึ้น” คุณสุมาลีอธิบาย
เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โนวาร์ตีสจึงปรับระบบการทำงานเป็นแบบไฮบริด (hybrid) โดยที่พนักงานกลุ่มภาคสนาม เช่น พนักงานที่เป็นผู้แทนยาฯ ยังคงใช้เวลาส่วนใหญ่ติดต่อกับบุคลากรทางการแพทย์และเข้าพบปะประชุมร่วมกันกับทีมอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อเดือน ส่วนพนักงานประจำสำนักงานเข้าทำงาน ที่สำนักงานเฉลี่ย 12 วันต่อเดือนหรือ 3 วันต่อสัปดาห์
คุณสุมาลียกตัวอย่างผู้ร่วมงานคนหนึ่งให้ฟังว่า ทั้งที่เป็นพนักงานใหม่แต่ด้วยเป็นพนักงานหญิงที่มีลูก และมีบ้านอยู่ต่างจังหวัด โนวาร์ตีสก็เปิดโอกาสให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้านและดูแลลูกไปพร้อมกันได้ ซึ่งอาจต่างกับบริษัทอื่นๆ ที่ยิ่งเป็นพนักงานใหม่ก็ยิ่งถูกจับตามองเรื่องการเข้างานเป็นพิเศษ หรือพนักงานบางคนตัดสินใจลาออกเพื่อกลับไปดูแลพ่อที่ป่วยไข้ โนวาร์ตีสก็เปิดโอกาสให้พนักงานได้ทำงานอยู่ที่บ้าน พร้อมกับดูแลพ่อไปด้วย
“เพราะเราเห็นว่า คุณภาพการทำงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณของพนักงานที่เข้ามาทำงานที่บริษัท เราจึงสร้างบรรยากาศในการทำงานที่คล่องตัวมากขึ้น มีระบบการอัพเดตความคืบหน้าและติดตามรายละเอียดของงานจาก dashboard เพื่อให้ทุกคนในทีมมีกระบวนการทำงานที่รวดเร็ว ทั้งยังเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่ทุกเวลา
“นับว่าเป็นการทำงานแบบ New Chapter of Flexible Working ทำให้บริษัทสามารถขับเคลื่อน
ทำงานต่อไปได้ และมั่นใจได้ว่าระยะทางไม่ใช่อุปสรรคในการทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อพัฒนายาที่ดีและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย”
คุณสุมาลีอธิบายรูปแบบการทำงานที่ทุกฟันเฟืองสำคัญของบริษัทยังคงเดินหน้าทำงานอย่างตั้งใจ
โดยไม่จำเป็นต้องอยู่กันพร้อมหน้าในสถานที่เดียวกัน ก็สามารถบรรลุเป้าหมายสำคัญของบริษัทได้
2. ผลลัพธ์จากการเชื่อใจมาพร้อมกับผลงานที่เกินคาด
หากเรียกว่าระบบการทำงานแบบไฮบริดเป็นระบบการทำงานที่อาศัยความเชื่อใจสูงสุดก็คงไม่ผิดอะไร เพราะบริษัทไม่มีทางรู้เลยว่าความอิสระที่มอบให้นั้นจะคุ้มค่ากับผลงานมากน้อยเพียงใด แต่ก็เพราะความเชื่อใจ ความไว้วางใจที่โนวาร์ตีสมอบให้พนักงานนี้เองที่ทำให้พนักงานก็พร้อมมอบความเชื่อใจให้บริษัทกลับคืน
เกิดเป็นสายสัมพันธ์แห่ง trust หรือความเชื่อใจที่แน่นแฟ้น และเพราะใจแลกใจใช้ได้จริงที่โนวาร์ตีส นอกจากผลงานที่ออกมาจะดีตามมาตรฐาน กลายเป็นว่าในบางราย ในบางกลุ่ม ผลงานยังดีเกินคาดด้วยซ้ำ
“ช่วงแรกๆ เราไม่แน่ใจว่าการบริหารรูปแบบนี้ผลลัพธ์จะออกมาเป็นยังไง แต่เราก็ได้เรียนรู้ไป
พร้อมกับพนักงานทุกคนว่าเราต้องเริ่มจาก trust หรือเชื่อใจก่อน ถ้าเราไม่ตอกบัตร ไม่ไป micro manage แล้วผลงานจะออกมาเป็นยังไง
“กลายเป็นว่าพอเราเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงผลงาน คิดนอกกรอบ ไม่เข้าไปควบคุมทุกอย่างทุกขั้นตอน เขาก็จะมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน และมีแรงจูงใจที่จะทำงานให้ดีขึ้น เมื่อแนวทางการทำงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น พนักงานก็รู้สึกมีความสุขในการทำงาน ทุกคนพร้อมทำงานเป็นทีม แม้ไม่ได้พบหน้ากันเหมือนเมื่อก่อน แต่ทุกคนสามารถปรับตัวเพื่อการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพได้ ถ้าจะประเมินในเชิง productivity ก็ถือว่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
“พูดแบบนี้มันดูอุดมคติมาก เราก็ยอมรับว่ามีบางคนที่การทำงานแบบนี้มันไม่เวิร์กแต่ถือเป็นส่วนน้อยมาก ดังนั้นคนที่เขารู้สึกไม่ fit กับที่นี่ สุดท้ายแล้วมันเหมือนเป็น natural selection ของโนวาร์ตีสเองที่จะรวมแต่คนที่มีความคิดเดียวกันเข้ามาอยู่ด้วยกัน” คุณสุมาลีอธิบาย ก่อนที่คุณริต้าจะเสริมว่า
“เมื่อกี้ได้ยินเสียงคนคุยกันดังๆ ไหม นี่คือเสียงของพวกเราเวลาที่ไม่ได้เจอกันในออฟฟิศทุกวัน พอมาเจอกันอีกครั้งหนึ่งก็จะคิดถึงกัน มีความคิดใหม่ๆ มาแชร์เล่าสู่กันฟัง”
3. ไม่มีระบบอาวุโส มีแต่เพื่อนร่วมงานที่พร้อมท้าทายทุกโจทย์ไปด้วยกัน
สารภาพตามตรงว่าแรกได้ยินชื่อบริษัท เราเผลอคิดไปว่า โนวาร์ตีสอาจเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด
และการทำงานในระบบอาวุโส อย่างที่เคยได้ยินว่าองค์กรใหญ่ๆ จะเป็นแต่ผิดคาด!!
เสียงแรกๆ ที่ได้ยินจากคุณสุมาลีกลับเป็นเสียงหัวเราะเคล้าไปกับคำแก้เขินว่า ปกติแต่งตัวสบายๆ กว่านี้ ทั้งระหว่างการสนทนา คุณสุมาลียังเปิดโอกาสให้คุณริต้าและคุณลลิดาได้แชร์ความเห็นของตัวเอง
อย่างเต็มที่ ทั้งที่ทั้งสองคนเป็น ‘รุ่นน้อง’ และเป็น ‘เพื่อนร่วมงาน’
“หลักสำคัญคือ เราต้องเคารพเพื่อนร่วมงานในทุกบทบาท โดยไม่ได้มองว่าเขาอายุเท่าไร ไม่ว่า
คุณจะเป็นใคร คุณจะได้รับความเท่าเทียมในการทำงาน โดยเฉพาะในห้องประชุม เราให้ความสำคัญกับการมองต่างมุม เพราะเราต้องการ best solution ถ้าทุกคนเห็นด้วยกันไปหมดมันก็ไม่สนุก เราว่าความหลากหลายของความคิดเห็นจากคนต่างวัย ต่างที่มามันจะช่วยให้เราคิดนอกกรอบได้ เพราะเราเชื่อว่าถ้าฟังแต่คนเดิมๆ บริหารแบบเดิมๆ มันก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิมๆ” คุณสุมาลีเล่า
คุณริต้ายังกล่าวเสริมว่าทุกคนมีศักยภาพความสามารถความเก่งเฉพาะตัวของแต่ละคน และด้วยสภาพแวดล้อมของโนวาร์ตีสที่ให้พื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความเห็น พวกเขาจึงสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ และทำให้เกิดผลงานที่ดีเยี่ยมยิ่งขึ้น
4. ระบบรับฟังฟีดแบ็กพนักงานที่ extrovert หรือ introvert ก็รู้สึกปลอดภัย
นอกจากในห้องประชุมที่เปิดรับฟังทุกความเห็นแล้ว ระบบการทำงานของที่นี่ยังพร้อมรับฟังทุกฟีดแบ็กจากพนักงานด้วย ความน่าสนใจคือช่องทางในการรับฟังเสียงพนักงานยังออกแบบให้หลากหลาย ตอบโจทย์ทั้งคนช่างพูด คนชอบพิมพ์ และคนที่ไม่อยากเปิดเผยตัวตน
“เรามีทั้งช่องทางที่เป็นทางการและไม่ทางการ ช่องทางทางการคือการทำ survey ทุกควอเตอร์ว่าพนักงานรู้สึกยังไงเรื่องของโอกาสในการเติบโต การทำงานร่วมกัน หรือเป้าหมายและทัศนคติในการทำงาน และทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรม เราจะมีคิวอาร์โค้ด Speak Your Mind ให้เขาได้ฟีดแบ็ก
“อีกสิ่งหนึ่งที่เราชอบทำคือการชวนน้องๆ ไปกินข้าว เพื่อให้น้องๆ ในทีมกล้าพูดความในใจ จากนั้นเราก็เอาฟีดแบ็กเหล่านี้มาคุยกันว่าเราจะปรับยังไง พอเขาเห็นว่าสิ่งที่ฟีดแบ็กมามันเกิดการเปลี่ยนแปลง และเราไม่ได้ทำเพื่อเบลมใคร มันจะทำให้ทุกคนกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ยิ่งกับ young generation จริงๆ เขากล้าพูดนะ แต่เขารอโอกาส เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าหาเขาเอง และขอให้เขาฟีดแบ็กกับเรา มันจะเกิดการสื่อสารที่ดี” คุณสุมาลีอธิบาย
สิ่งเหล่านี้ทำให้คนทำงานรู้สึกว่า ไม่ว่างานจะยากแค่ไหน ท้าทายหลุดโลกเพียงใด ถ้าทีมงานทุกคนรู้ว่าพวกเขายังมีทีมบริหารพร้อมหนุนหลังและให้คำปรึกษา พวกเขาก็จะกล้าเสี่ยงไปด้วยกันเพื่อหา best solution ให้ผู้ป่วย
“มันคือคอนเซปต์ high support, high challenge ทุกคนจะได้รับการสนับสนุน เพื่อให้ทีมสามารถแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ และความท้าทายที่สูง จะนำทีมออกมาจากพื้นที่ที่เคยชิน ให้ทีมได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ นำไปสู่การเรียนรู้และปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราสร้าง trust ซึ่งกันและกัน” คุณริต้ากล่าว
5. บริษัทที่ผู้ชายก็ลาเลี้ยงดูลูกได้ แถมยังได้รับเงินเดือนและสิทธิพนักงานเต็มจำนวน
ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญต่อการสร้างความตระหนักรู้เรื่องความหลากหลาย ไม่ว่าจะเรื่องความหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว ฯลฯ
กับโนวาร์ตีสก็เช่นกัน หนึ่งในกุญแจสำคัญที่ทำให้พนักงานมีความสุขและสามารถระดมไอเดียได้อย่างสร้างสรรค์ คือการให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลายเป็นอันดับหนึ่งและการสร้างความเชื่อมั่นว่าทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
“โนวาร์ตีสในประเทศอื่นๆ มักจะมีผู้ชายมากกว่าผู้หญิงในที่ทำงาน แต่ในประเทศไทยเราตรงข้าม เรามีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย” คุณสุมาลีเล่า แต่ไม่ใช่ว่าที่นี่จะลดความสำคัญของเพศใดเพศหนึ่ง หรือให้ความสำคัญกับบางเพศเกินไป เพราะไม่ว่าจะเพศไหน ศักดิ์และสิทธิของความเป็นมนุษย์ย่อมเท่าเทียมกัน
สิ่งหนึ่งที่ทีมงานโนวาร์ตีสทุกคนภาคภูมิใจคือสิทธิพนักงานที่เปิดโอกาสให้คนทุกเพศจริงๆ เช่น สิทธิการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรสำหรับพนักงานหญิงและชายได้นานถึง 98 วัน ความน่ารักคือพ่อแม่มือใหม่ยังได้รับค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ เต็มจำนวนเพื่อให้พนักงานมีโอกาสทำหน้าที่ดูแลสมาชิกใหม่ของครอบครัว
สิทธิที่ว่านี้ยังครอบคลุมไปถึงการรับเลี้ยงลูกบุญธรรมหรือการตั้งครรภ์แทนด้วย
“อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจในการทำงานที่โนวาร์ตีส คือความโปร่งใส โดยเฉพาะเรื่อง gender-pay gap เพราะเราเชื่อว่า equal work, equal pay พนักงานของเราจึงสามารถขอเอกสาร compensation statement ซึ่งแสดงให้เห็นเป็นเปอร์เซ็นต์เลยว่าเงินที่เขาได้อยู่ rank ไหนทั้งในและนอกบริษัท
“เรายังหาค่าเฉลี่ยรายได้ของพนักงานชายและหญิง เพื่อดูในเชิงสถิติว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญมาก-น้อยแค่ไหน ถ้าแตกต่าง เพราะอะไร มันมีความเอนเอียงทางเพศเกิดขึ้นหรือเปล่า หรือเพราะตำแหน่งสูงซึ่งมีเพียงตำแหน่งเดียว แล้วเขาเผอิญเป็นเพศชาย ถ้าเป็นแบบนี้ก็อาจจะปัดตกไป” Senior People & Organization Manager อย่างคุณลลิดาอธิบายให้เห็นความเท่าเทียมในที่ทำงาน
อีกเรื่องที่เราแทบไม่เคยได้ยินที่ไหนคือตามปกติแล้ว ชายไทยส่วนใหญ่จะต้องลาบวช แต่เพราะโนวาร์ตีสจริงจังกับการสร้างความหลากหลายและใส่ใจกับความสุขในชีวิตของพนักงาน ที่นี่จึงเปิดให้คนทุกศาสนา ทุกความเชื่อที่อยากเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาสามารถลาได้ 15 วัน โดยที่ยังคงได้รับเงินเดือนและสิทธิพนักงานอย่างเต็มที่
ถ้าจะพูดให้เห็นภาพ โนวาร์ตีสไม่ได้แค่ยึดเอาความหลากหลายเป็นส่วนประกอบในการทำงาน แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ เป็นองค์ประกอบด้วย ซึ่งรวมถึงความสุขและคุณภาพชีวิตของทีมงานทุกคน
6. ปรับสิทธิพนักงานจาก ‘คู่สมรส’ เป็น ‘คู่ชีวิต’ ก่อนรัฐบาลเสียอีก
นอกจากเรื่องราวที่เล่าไปแล้ว ยังมีสิ่งที่โนวาร์ตีสล้ำหน้ากฎหมายไทย คือการปรับสิทธิสำหรับ ‘คู่สมรส’ ของพนักงานให้เป็นสิทธิสำหรับ ‘คู่ชีวิต’ เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ นอกจากนั้น ยังเป็นสิทธิที่ใช้ได้ทั้งกับคู่ที่จดทะเบียนสมรสหรือไม่ก็ได้ ทั้งสิทธิ์ในการฉีดวัคซีน สิทธิ์ในการซื้อประกันกลุ่ม
“เรายังไม่เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่ากฎหมายจะออกมาเมื่อไร เราเลยจัดการสิ่งที่เราทำได้” คุณลลิดาเล่าความตั้งใจ และนอกจากการเปิดรับให้กับความหลากหลายทางเพศผ่านการสร้างสิทธิพนักงานอย่างเท่าเทียมแล้ว ที่นี่ยังขยันจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเพศด้วย
ความน่าสนใจคือกิจกรรมเหล่านี้จัดขึ้นโดยกลุ่มทีมงาน Diversity and Inclusion ที่พนักงานมาจากหลายแผนก ช่วยกันจัดงานกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมความหลากหลาย ทั้งการเดินพาเหรด การประกวดการแต่งกาย และการเชิญวิทยากรมาแชร์ประสบการณ์ในเทศกาล Pride Month เป็นต้น
“เมื่อก่อนมีพนักงาน LGBTQ+ บางคนใส่กระโปรงมาทำงานด้วย เรารู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ดีมาก และสะท้อนว่าโนวาร์ตีสเปิดกว้างจริงๆ ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่เราคุยกับทางฝ่าย People & Organization ตลอดว่า เราอยากมีนโยบายที่ช่วยให้บุคลากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถออกไปทำงานเพื่อสร้าง ผลกระทบที่ดีกับคนไข้ได้” คุณสุมาลีเสริม
7. บริการปรึกษาสุขภาพจิตฟรีทั้งพนักงานและครอบครัว เพราะสุขภาพกายและใจที่ดีเป็นพื้นฐานของงานที่ดี
นอกจากการให้ความสำคัญเรื่องการรับฟังทุกความเห็นและความหลากหลายแล้ว โนวาร์ตีสยังมีโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพกายและใจแบบจัดเต็ม
ทั้งสิทธิที่ให้พนักงานโทรคุยกับนักจิตวิทยาได้ 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทุกข้อความและเรื่องราวที่อยากเล่ายังมั่นใจได้ว่าจะถูกเก็บเป็นความลับและเรื่องส่วนตัว ทั้งคนในครอบครัวอย่างคู่ชีวิตหรือลูกยังใช้บริการที่ว่านี้ได้อีกด้วย เพราะโนวาร์ตีสเชื่อเหลือเกินว่างานที่ดีย่อมถูกสร้างสรรค์ขึ้นได้ด้วยทีมงานที่แฮปปี้ทั้งกายและใจ
“แต่ละวัน เราต้องเจอกับหลายเหตุการณ์ที่ทั้งดี เครียด กลัว ลุ้น ถ้าเราเจอทุกวันและไม่สามาถปล่อยความรู้สึกเหล่านั้นได้ เราจะมีภาวะที่ไม่คงที่ ส่งผลต่อทั้งสุขภาพกายและใจ เราจึงเห็นความสำคัญของ self-care มาก เพื่อให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน พร้อมที่จะลุกขึ้นทำอะไรใหม่ๆ ที่ดีต่อตัวเขาเอง บริษัท หรือสังคม และแน่นอนว่าเมื่อเขามี well-being ที่ดี เรายังสามารถรักษาพนักงานของเราไว้ได้อีกด้วย” คุณสุมาลีอธิบายถึงเหตุผลที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพจิตของคนทำงาน
นอกจากสุขภาพใจแล้ว ที่นี่ยังสนับสนุนให้พนักงานใส่ใจสุขภาพกาย ทั้งเรื่องการนอน การกิน และการออกกำลังกาย ถึงขนาดที่ว่ามีกิจกรรมแข่งขันออกกำลังกายระหว่างประเทศ กิจกรรมนี้ทำให้
คนที่ไม่เคยและไม่ค่อยออกกำลังกาย เอาจริงเอาจังกับการขยับร่างกายมากขึ้นจนการออกกำลังกาย
คือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
“เมื่อเรามีกายและใจที่แข็งแรง เราจะมี productivity มากขึ้น เมื่อเรามี productivity มากขึ้น มันก็จะทำให้เรารู้สึกภูมิใจในสิ่งที่เราทำกับทั้งตัวเอง กับครอบครัว กับสังคม กับผู้ป่วย
“กิจกรรม Unblocked Challenge ไม่เพียงแต่สร้างความแข็งแรงทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมความแข็งแกร่งของการทำงานร่วมกันเป็นทีม เพราะการได้พบปะพูดคุยปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานหลายคน ที่เราไม่เคยมีโอกาสได้รู้จักพูดคุยกัน ทำให้ช่องว่างระหว่างกันแคบลง และสนิทสนมกันมากยิ่งขึ้น” คุณริต้าผู้ดูแลกิจกรรมการแข่งขันของประเทศไทยเล่าพร้อมรอยยิ้ม
8. บรรยากาศในการทำงานที่มี sense of purpose ร่วมกัน
ในปี 2561 โนวาร์ตีส ได้จัดทำแบบสำรวจกับพนักงานโนวาร์ตีสทั่วโลกเพื่อให้พนักงานเสนอไอเดียการเสริมสร้างวัฒนธรรมการทำงาน ผลการสำรวจพบว่าพนักงานเสนอให้ยกเลิกระบบการให้คะแนนประเมินผลการปฏิบัติงาน ต่อมาในปี 2562 บริษัทโนวาร์ตีสได้ทำการทดลองแนวคิดนี้กับพนักงาน 16,000 คน ใน 8 ประเทศ และ 7 หน่วยธุรกิจ ผลลัพธ์ที่ได้นำมาสู่นโยบายการบริหารผลการปฏิบัติงานที่สร้างแรงบันดาลใจ (Reimagined Performance Management)
หมายความว่าบริษัทฯ จะไม่มีการวัดผลในรูปแบบคะแนนหรือเกรดอีกต่อไป แต่เน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานในการสร้างเป้าหมายการทำงานของตนเองและทีม การสร้างวัฒนธรรมในการให้ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) การโค้ช (Coaching) การยอมรับ (Recognition) และการให้รางวัล (Reward) เพื่อดึงประสิทธิภาพ และพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้สูงยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องรอการประเมินปลายปี ด้วยนโยบายที่ว่านี้เองทำให้โนวาร์ตีสนิยามความหมายของพนักงานว่าเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมทางมากกว่าคนผลิตผลงาน ซึ่งมีผลต่อการมองหาคนร่วมทางในองค์กรนี้ไม่น้อย
“เราอยากได้คนที่มี sense of purpose” คุณสุมาลีตอบทันที เมื่อเราถามถึงคุณสมบัติพนักงานที่มองหา ก่อนอธิบายคำว่า ‘sense of purpose’ ต่อไปว่า
“เรื่องของผลงานหรือความเก่ง สัมภาษณ์ 5 นาทีก็จบแล้ว แต่สิ่งที่เราอยากฟังและเห็นจากตัวเขา คือเขาพร้อมทำงานเป็นทีมหรือเปล่า เขาเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายแค่ไหน และที่สำคัญคือเขาเล็งเห็นหรือเปล่าว่าเรามีเป้าหมายเพื่อผู้ป่วยเหมือนกัน เพราะเขาเองก็ไม่อยากจะเสียเวลามาอยู่กับองค์กรที่ไม่ใช่ เราเองก็อยากให้ทุกคนมาแล้วมีความสุขในการทำงาน มีทีมเวิร์กที่ดี
“เวลาเราไปทำงานที่ไหน เราคงต้องถามว่าคนที่นี่เป็นยังไง มี culture แบบไหน ซึ่งสิ่งที่เราได้ยินมามันคล้ายๆ เดิมคือโนวาร์ตีสเป็นที่ที่เน้นการมีส่วนร่วมที่ดี เขารู้สึกว่าเขามาทำงานที่นี่แล้วจะมีคนช่วยเสมอ มันทำให้เขารู้สึกมั่นใจว่าเขาจะไปรอด และเขาสามารถสร้างงานคุณภาพดีได้
“มีบางคนที่ลาออกไปแต่เลือกที่จะกลับมา เราถามว่าทำไมถึงกลับมา เขาบอกว่าการทำงานเป็นทีม ไม่แข่งกันสร้างผลงานทำให้เขามีความสุขมากกว่า เราฟังแล้วก็รู้สึกว่ามันยิ่งตอกย้ำว่าวัฒนธรรมการทำงานมันสำคัญต่อคนทำงานมากแค่ไหน
“อีกสิ่งที่ได้ยินคือเรามี reputation ของการพัฒนาคน เรามักจะดันให้เขาได้ไปทำงานที่ต่างประเทศเพื่อให้เขาเก่งขึ้น ดันให้เขาพรีเซนต์โดยให้เขามั่นใจว่าจะมีเราอยู่ข้างๆ ตรงนี้ สุดท้ายเขาจะมีความมั่นใจและสร้างผลงานของตัวเองได้ เขาจะรู้สึกเก่งขึ้น มีความสุข และเกิดความยั่งยืนกับองค์กร”
คุณริต้ายยังอธิบายคำว่า sense of purpose ให้เห็นภาพเพิ่มเติมว่ามันคือ “การที่เรามี Shared Goal ทำให้เราพร้อมเดินไปด้วยกัน เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน ถึงแม้ว่าบางครั้งเราอาจมีความคิดเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่เราสร้างการประชุมให้เป็นพื้นที่สำหรับ Healthy Conflicts เพราะมันคือการสร้างไอเดียใหม่ๆ และทุกไอเดียเกิดจากความคิดของคนที่แตกต่างกันไป ทุกคนมีศักยภาพในตนเอง ทั้ง soft skill และ hard skill ซึ่งต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่มีใครเก่งสมบูรณ์ในทุกๆ เรื่อง
“การที่เราจะเป็นเพชรเม็ดงามได้นั้น เราต้องผ่านการเจียระไนจากคนรอบข้าง เช่น ผู้บริหาร หัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงาน เราอยากให้พนักงานทุกคนที่แตกต่างกันสามารถทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข สร้างเอกลักษณ์ของทีมขึ้นมาใหม่ เหมือนรูปภาพที่สวยงามและมีเพียงหนึ่งเดียว ทำให้เกิดเป็น Magical Team นั่นเอง”
9. องค์กรแรกในแวดวงยาและเวชภัณฑ์ที่ได้ HR Asia Best Companies to Work for 4 ปีซ้อน และได้รางวัล HR Asia Most Caring Company Awards จากการ survey พนักงาน
จาก 8 ข้อที่ว่ามานี้เราก็อยากจะมอบมงให้ในฐานะบริษัทที่ใส่ใจคนทำงาน จึงไม่แปลกใจเลย
ถ้าโนวาร์ตีสจะได้รับรางวัล HR Asia Best Companies To Work For หรือรางวัลหนึ่งในบริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในเอเชีย ติดต่อกันถึง 4 ปีซ้อน ทั้งยังได้รางวัลพิเศษในหมวด HR Asia Most Caring Company Awards หรือองค์กรที่ดูแลใส่ใจพนักงานอย่างดีเยี่ยม
“วิธีการคัดเลือกมี 2 แบบ คือมีการตรวจสอบในเชิงนโยบาย และการทำ survey กับพนักงาน จากนั้นก็เอาคะแนนทั้ง 2 ส่วนมารวมกัน ซึ่งคะแนนของเราเกินค่าเฉลี่ยหมดเลย” คุณลลิดาผู้เชี่ยวชาญ
ด้านการดูแลพนักงานแจกแจงให้เห็นภาพอย่างภาคภูมิ
“เรารู้สึกภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่านี้ถึง 4 ปีซ้อน เพราะสะท้อนให้เห็นถึงรากฐานอันแข็งแกร่งของเราที่สนับสนุนการยอมรับและการมองเห็นคุณค่าในความหลากหลาย ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสู่ความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ
“ส่วนรางวัล Most Caring Companies ที่ได้มาก็เพราะบริษัทโนวาร์ตีสดูแลพนักงานอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นในช่วงโควิด-19 หรือในเหตุการณ์ต่างๆ เราจะมีแอพพลิเคชั่นแจ้งเตือน และพร้อมช่วยเหลือพนักงานในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เรายังส่งเสริม soft skill ให้กับพนักงาน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการใส่ใจกันและกัน” คุณสุมาลีเล่าด้วยรอยยิ้ม
“จากรางวัลที่ได้รับนี้ มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เราทราบว่า พนักงานภูมิใจกับโนวาร์ตีสมากแค่ไหน คือ พนักงานเปลี่ยนภาพโปรไฟล์ของตนเองพร้อมใส่เฟรมรางวัลที่บริษัทได้รับในโซเชียลมีเดีย บางคนใส่นานหลายเดือน และบางคนก็ยังใช้เฟรมนั้นอยู่ ทำให้รับรู้ได้ว่าพนักงานภูมิใจและมีความสุขในการทำงานที่
โนวาร์ตีส” คุณริต้าเล่าให้เห็นภาพ
10. องค์กรที่ไม่เพียงตั้งใจพัฒนาบุคลากร แต่ยังใส่ใจกับการพัฒนาสังคม
อย่างที่เล่าว่าหลักสำคัญของพนักงานโนวาร์ตีสทุกคนคือการมี sense of purpose ในการช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถ นอกจากการสร้างคนให้ทำงานเพื่อผู้ป่วยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว โนวาร์ตีสยังมุ่งมั่นทำงานเพื่อสังคมเช่นกัน
อย่างครั้งที่โควิด-19 ระบาดใหม่ๆ และไทยเองก็ยังไม่มีวัคซีนให้กับคนไทยทุกคน สิ่งแรกที่โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) ทำคือการติดต่อขอเงินจำนวน 7.75 ล้านบาท จากโนวาร์ตีสสำนักงานใหญ่เพื่อมอบให้กับมูลนิธิกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
หลายครั้งบริษัทยังจัดกิจกรรมอาสาให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปสอนนักโทษหญิงเรื่องการตรวจเช็กเต้านมขั้นพื้นฐาน เพื่อให้พนักงานได้ดึงตัวเองออกจากงานตรงหน้ามาอยู่กับผู้คน เพราะหลายครั้งหลายครา พนักงานอาจทำงาน กันจนลืมไปว่าเป้าหมายสำคัญของการทำงานตรงหน้าคืออะไร
“สิ่งหนึ่งที่โนวาร์ตีสเน้นคือ people and patient หมายความว่าการที่เราจะช่วยเหลือผู้ป่วยได้ คนของเราต้องมีความสุข คนของเราต้องมี productivity คนของเราต้องพร้อมที่จะมี journey ในการทำงานให้ผู้ป่วยได้ในสิ่งที่เขาต้องได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นมันเป็นจิ๊กซอว์ที่ต่อกัน” คุณริต้าอธิบาย
“บางครั้งเราจะเชิญวิทยากร (key speaker) หรือผู้ที่สร้างแรงบันดาลใจในแง่มุมต่างๆ (motivator) มาคุยให้พนักงานฟังถึงสิ่งที่เขาเจอและชีวิตที่เปลี่ยนไปจากการทำงานอย่างตั้งใจของทีมทุกคน
“เพราะเราไม่อยากให้ทีมของเราตื่นมาทำงานด้วยความรู้สึกว่ามันก็เป็นอีกวันของการทำงานเท่านั้น แต่เราอยากให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำอยู่มีประโยชน์เพื่อเขาจะได้มีความสุขและมีแรงบันดาลใจที่จะทำมัน
ในทุกๆ วัน” คุณสุมาลีทิ้งท้าย