LIVE IN DESIGN - DEFINING A STYLE
NORSE Republics ธุรกิจนำเข้าแบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของใช้จากสแกนดิเนเวียน ที่เชื่อว่างานออกแบบที่ดีทำให้ชีวิตคนดีขึ้น
“นอกจากลูกค้าจะได้ลองนั่งอย่างเต็มที่แล้ว พนักงานของที่นี่นั่งทำงานหรือประชุมบนเก้าอี้ทุกตัวในนี้ได้เลย”
หนึ่งในทีมงานเล่าสวัสดิการที่คนรักเก้าอี้อย่างเราได้ยินแล้วจิตใจไขว้เขว เพราะนอกจากได้ใช้เก้าอี้ผลงานดีไซเนอร์ดังที่เราคุ้นตาจากหน้านิตยสารแต่งบ้านแบบไม่อั้นแล้ว โชว์รูมกึ่งออฟฟิศแห่งนี้ยังตั้งอยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นและบ้านเก่ายุค 1950
เรากำลังอยู่ที่ House of Fritz Hansen ในซอยสมคิด โชว์รูมแห่งเดียวในประเทศไทยที่รวมเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านจากแบรนด์ Fritz Hansen–แบรนด์เฟอร์นิเจอร์จากเดนมาร์ก ได้ครบถ้วนที่สุด เพื่อพบกับ วีกฤษฏิ์ พลาฤทธิ์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ NORSE Republics ผู้นำเข้าแบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านสไตล์สแกนดิเนเวียน อย่าง HAY, Fritz Hansen, Vitra, GUBI และอื่นๆ หลังเรียนจบ อดีตนักเรียนวิศวกรรมศาสตร์อย่างวีกฤษฏิ์ก็ตัดสินใจไปเรียนต่อด้านออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสานฝันและสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง ระหว่างทางก็ไปตกหลุมรักความเรียบง่ายของงานออกแบบสไตล์นอร์ดิก จึงตัดสินใจเปิดร้านป๊อปอัพเล็กๆ เพื่อทดสอบสมมติฐาน ว่าจะมีใครสนใจและเห็นความงามในงานออกแบบจากประเทศแถบสแกนดิเนเวียนอย่างที่เขาเห็นหรือไม่
สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ในยุคที่คนยังไม่อินกับฮุกกะหรือวิถีชีวิตดีของชาวสแกนดิเนเวียน วีกฤษฏิ์ ทำให้คนทั้งเมืองรู้จักและตกหลุมรัก HAY อยากได้เก้าอี้ของ Fritz Hansen อยากได้โซฟารูปหัวใจของ Vitra อยากมีเชิงเทียนไว้จุดเทียนในบ้าน อยากถือถุงผ้าสีสวยของ HAY ไปจ่ายตลาด ไปจนถึงยอมจ่ายเงินซื้อเฟอร์นิเจอร์ของแท้ให้เหมือนซื้องานศิลปะได้ยังไง
ตามไปดูวิธีคิดและการทำธุรกิจ ของคนที่ไม่อยากเรียกตัวเองว่าเป็นนักธุรกิจ แต่เป็นคนที่มีความสุขจากการได้ทำงานและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ชอบ
ไม่ว่าคุณจะกำลังนั่งอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้อยู่ที่ไหน ระวังมือไปกด F เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านโดยไม่รู้ตัว
ป.ล. ระวังภาพประกอบของบทความให้ดีด้วยล่ะ เพราะมาจนวันนี้ เรายังคิดถึงโคมไฟอันนั้นไม่หาย อยากให้เจ้านายและน้องที่ออฟฟิศผ่านมาเห็นจะได้เห็นดีเห็นงามนำมาตกแต่งออฟฟิศ Capital ของเรา
ไม่ต่างจากนักเรียนออกแบบทุกคนที่ฝันอยากทำแบรนด์เป็นของตัวเอง อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณตัดสินใจนำเข้าเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านสไตล์สแกนดิเนเวียน ในยุคที่คนยังไม่รู้จักวิถีชีวิตดีแบบฮุกกะด้วยซ้ำ
ผมเป็นคนชอบเฟอร์นิเจอร์ หลังจากเรียนจบด้านวิศวกรรมศาสตร์ วันหนึ่งก็ตัดสินใจไปเรียนต่อด้านออกแบบเพราะอยากทำแบรนด์ของตัวเอง ข้อดีของการไปเรียนต่อที่มิลาน ประเทศอิตาลี คือ มิลานเป็นเมืองที่มีงานดีไซน์แฟร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก นั่นแปลว่าเราจะได้เห็นสินค้าดีไซน์จากทั่วโลก ช่วงแรกที่ไปยังไม่ค่อยมีงานสไตล์สแกนดิเนเวียนเท่าไหร่ แต่หลังจากนั้นไม่นานสแกนดิเนเวียนกลายเป็นเทรนด์ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และมีให้เห็นทุกที่เลย
พอกลับมาประเทศไทย ที่บ้านผมเป็นโรงงานอุตสาหกรรม เราก็คิดว่าพอจะลงทุนในเครื่องจักรได้บ้าง แต่หลังจากทดลองอยู่ประมาณ 2 ปีก็เรียนรู้ว่าแค่การออกแบบอย่างเดียวไม่พอ กว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์สักชิ้น มีกระบวนการอื่นๆ มากมายที่อยู่เหนือความสามารถและการควบคุมของเรา ทั้งเรื่องการผลิต ทักษะของช่างฝีมือ ซัพพลายเออร์ของวัตถุดิบไม่รู้กี่ร้อยชนิด ตั้งแต่เหล็ก ไม้ ลามิเนต กาว สี ทุกอย่างเลย เรามีมาตรฐานที่อยากจะไปให้ถึง แต่เราก็ทำไม่ได้เสียที เลยตัดสินใจติดต่อกับ HAY
ท่ามกลางแบรนด์ดีไซน์มากมาย อะไรคือความพิเศษของ HAY ที่ดึงดูดคุณ
HAY เป็นแบรนด์จากสแกนดิเนเวียนที่มีความร่วมสมัยมากๆ ต้องบอกว่าเดนมาร์กเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมการทำเฟอร์นิเจอร์มาตั้ง 200-300 ปีแล้ว มีเฟอร์นิเจอร์คลาสสิกมากมายเต็มไปหมด ขณะที่ HAY เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2002 ถือว่าเป็นแบรนด์ใหม่แบรนด์เดียวในเดนมาร์ก และที่ผ่านมาเดนมาร์กไม่มีแบรนด์เกิดขึ้นใหม่มานานแล้ว
การมาของ HAY เปลี่ยนภาพจำงานดีไซน์ของเดนมาร์กและกลายเป็นว่าคนก็ชอบงานสไตล์นี้ ให้การตอบรับที่ดีจนแบรนด์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งที่น่าสนใจคือเขาทำให้แบรนด์เข้าถึงคนหมู่มากได้ แตกต่างจากแบรนด์ดีไซน์ทั่วไปที่คุณอาจจะต้องมีงบประมาณสำหรับซื้อเก้าอี้หรือโซฟาสักตัว
นักเรียนออกแบบที่ไม่ได้มีประสบการณ์นำเข้าแบรนด์หรือทำธุรกิจค้าปลีกมาก่อน แนะนำตัวเองยังไงจน HAY ไว้ใจ และให้เป็นตัวแทนจำหน่าย
ผมใช้ความชอบและความเป็นแฟนแบรนด์เข้าสู้ โดยอธิบายเขาหมดเลยว่า ผมรู้จักแบรนด์เขาได้ยังไง ผมรู้จัก HAY จากกรรไกรและสมุดด้วยซ้ำ เริ่มจากการเดินเที่ยวตามร้านขายสินค้าออกแบบในเมือง แล้วสังเกตว่าไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะเจอข้าวของกระจุกกระจิก เครื่องเขียน ของใช้ต่างๆ จับพลิกดูก็เห็นคำว่า HAY ซึ่งตอนนั้นไม่รู้ว่าคืออะไร ไปศึกษาก็พบว่าจริงๆ เป็นบริษัทออกแบบที่โด่งดังเรื่องเฟอร์นิเจอร์ จากนั้นมีโอกาสไปเที่ยวเดนมาร์กก็แวะไปเที่ยวร้านเขา และเมื่อกลับมาที่ประเทศไทย เราก็คิดอยากให้มีร้านแบบนี้บ้าง ผมรู้สึกว่าสินค้าอย่างแจกันและกระติกน้ำ เข้าถึงง่ายกว่าเฟอร์นิเจอร์ ขนาดเรายังรู้จักเขาจากกรรไกรเลย ก็เขียนอีเมลไปบอกเขาอย่างนั้น ซึ่งโชคดีมากที่ผู้บริหารในฝั่งตลาดภูมิภาคเอเชียตอบกลับมาใน 2 วันต่อมา แถมบอกว่าตอนนี้อยู่ประเทศไทยนะ สนใจจะเจอกันไหม
คุณในตอนนั้นเอาความมั่นใจมาจากไหน
ผมรู้สึกว่าสิ่งที่สำคัญในการติดต่อแบรนด์คือความจริงใจ อย่าไปกลัวว่าเขาจะปฏิเสธ เพราะสุดท้ายถ้าเขาปฏิเสธก็เท่าทุนอยู่ดี คุณไม่ได้เสียอะไรไป เพราะฉะนั้นชอบอะไรก็ทำอย่างนั้นเถอะ ที่ผ่านมา HAY ไม่เคยมีพาร์ตเนอร์ที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่าย มีแต่พาร์ตเนอร์ที่เป็นสถาปนิกและอินทีเรียร์ที่ใช้แบรนด์ HAY ในโปรเจกต์ที่ได้รับ แต่ยังไม่มีตัวแทนจัดจำหน่ายและสร้างประสบการณ์แก่ลูกค้า มีหน้าร้านแค่ที่จีนและเกาหลีใต้ หลังจากตอบตกลง เขาก็ชวนไปดูออฟฟิศที่เซี่ยงไฮ้ แล้วช่วยระดมความคิดเพื่อเซตอัพร้านในประเทศไทย
อะไรคือสิ่งที่คุณตั้งใจทำในวันแรก
เราเริ่มจากเปิดร้านป๊อปอัพที่สยามเซนเตอร์ ในช่วงปลายปี 2015 เพื่อทดลองตลาด ตั้งใจจะแนะนำแบรนด์ผ่านของแต่งบ้าน ของใช้ และของขวัญคริสต์มาส ซึ่งถ้าตลาดในประเทศไม่สำเร็จ เราก็แค่พับสิ่งนี้เก็บไป แต่สุดท้ายออกมาดีมาก ส่วนหนึ่งเพราะมีนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ ที่สนใจแบรนด์ HAY อยู่แล้ว ถ้าเขาได้รับโปรเจกต์ออกแบบและเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ในโครงการ ร้านกาแฟ หรือร้านต่างๆ เขาก็ใช้เฟอร์นิเจอร์ กลายเป็นว่าการเปิดร้านป๊อปอัพนั้น ทำให้เราขายเฟอร์นิเจอร์ได้ดีกว่าข้าวของเครื่องใช้ที่ตั้งใจแต่แรกด้วยซ้ำ ตอนนั้นเลยตัดสินใจไม่ยากเมื่อต้องเปิดร้านที่ Siam Discovery โดยหลังจากเปิดร้าน ใหม่ได้ 2 สัปดาห์ CEO ของแบรนด์ Fritz Hansen (ฟริตซ์ ฮานเซ่น) ก็มาที่ร้านแล้วชวนผมไปดื่มกาแฟกับเขา หลังจากคุยกันไม่ถึงชั่วโมงทาง Fritz Hansen ก็ตกลงให้เราเป็นตัวแทนจำหน่าย
โจทย์ของการดูแลแบรนด์ Fritz Hansen เหมือนหรือแตกต่างจากตอนทำ HAY ยังไง
Fritz Hansen เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมาก มีสาขาและหน้าร้านอยู่ทั่วยุโรปและเอเชีย และจริงๆ แล้ว Fritz Hansen มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่แบรนด์ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักและประสบความสำเร็จในวงกว้างในบ้านเรา
ดังนั้นโจทย์ของการทำร้านคือ เราจะทำให้งานออกแบบสไตล์นี้เข้าไปอยู่ในชีวิตคนมากขึ้นได้ยังไง ก็พบว่าที่ผ่านมาตัวแทนจำหน่ายเดิมมีแบรนด์ที่ต้องดูแลเยอะมาก และ Fritz Hansen คงเป็นแบรนด์เล็กๆ ซึ่งขณะนั้นผู้คนส่วนใหญ่จะรู้จักพวกแบรนด์จากอิตาลี อเมริกา และอังกฤษมากกว่า ขณะที่ความพรีเมียมของเดนิชหรือสแกนดิเนเวียนอยู่ที่ craftmanship อยู่ที่ quality อยู่ที่ความใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งสมมติถ้าจับเก้าอี้แบรนด์ฝั่งสแกนดิเนเวียน ไปตั้งกับเก้าอี้หัวเสือ แน่นอนว่าดูเผินๆ เก้าอี้หัวเสือก็จะดูแพงกว่า ลูกค้าก็รู้สึกว่าไม่มีเหตุผลที่จะซื้อเก้าอี้หน้าตาเรียบๆ ในราคาที่เท่ากันหรือแพงกว่า
ดังนั้นถ้าเราอยากจะนำเสนอแบรนด์สแกนดิเนเวียนที่ super simple แล้วก็ดีเทลจัดๆ ก็ต้องจับเขามาอยู่ในบริบทที่เขาเป็น ใน environment ที่ถูกต้อง ซึ่งก็เป็นคอนเซปต์การใช้ชีวิตแบบสแกนดิเนเวียนอยู่แล้ว คือเขาไม่ได้เน้นงานดีไซน์เป็นชิ้นๆ แต่เน้นภาพรวม เน้นองค์รวมมากกว่า ว่าจะมิกซ์แอนด์แมตช์เฟอร์นิเจอร์ยังไงให้อยู่แล้วรู้สึก cozy ก็เลยตั้งใจจะทำคอนเซปต์นั้นที่นี่ เนื่องจาก Fritz Hansen เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในยุค 1950 เราก็สนใจหาบ้านเก่ายุคนั้นมาทำร้าน อยากผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบไทยและดีไซน์เดนิชเข้าด้วยกัน และพองานดีไซน์เรียบมาอยู่ด้วยกันก็ยิ่งเรียบง่าย ไม่ต้องมีดีเทลมากมายแต่กลับทำให้คนรู้สึกได้ว่ามันมีราคา ถือว่าเรา success ที่พรีเซนต์ความเป็นสแกนดิเนเวียนเข้าถึงกลุ่มคนที่เข้าใจ
เวลาที่ใครสักคนจะขายเฟอร์นิเจอร์ คนทั่วไปคงแค่อยากลงทุนทำร้านสวยๆ ในห้างสรรพสินค้าที่คนเห็นเยอะๆ แต่คุณกลับใช้เวลาตามหาบ้านเก่า และออกแบบบ้านทั้งหลังให้เป็นหน้าร้าน สิ่งนี้สำคัญยังไง
อาจจะเพราะผมเป็นคนมีอีโก้บางอย่างที่รู้สึกว่าถ้าทำไม่ดีก็ไม่ทำดีกว่า เป็นคนอย่างนี้ตั้งแต่เด็ก สมมติถ้าเล่นกีฬาไม่เก่งก็จะไม่เล่นเลย อะไรที่ทำได้ไม่ดีเราก็ไม่ทำ แต่อะไรที่เราชอบและตั้งใจจะทำแล้วก็จะทำให้ดีที่สุด
อีกเรื่องที่สำคัญคือ ในช่วงที่ทำธุรกิจนี้ ผมได้รับพลังที่ดีมาตลอด ทั้งจากคนที่เขาคอยให้กำลังใจและสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า เพื่อน ที่ปรึกษา ทำให้เห็นว่ามีกลุ่มคนที่ชอบในสิ่งที่เราทำจริงๆ เราก็รู้สึกว่าเราได้ energy เหล่านั้นมาเป็นกำลังใจ อย่างที่มาของร้าน จริงๆ บ้านหลังนี้มีทั้งหมด 9 หลัง เป็นบ้านของตระกูลจิตรพงศ์ ที่สร้างในยุคประมาณรัชกาลที่ 3 เป็นครอบครัวที่มีความเป็นศิลปะสูง เขายอมให้เราเข้ามาคุยก่อน ซึ่งโชคดีที่เขารู้จัก Fritz Hansen อยู่แล้ว และบอกว่าไม่เคยให้ใครเช่าสำหรับทำธุรกิจมาก่อน แต่เขายอมให้เราคนแรก ถือเป็นอีกหนึ่งกำลังใจ เพราะถ้าขนาดเจ้าของบ้านยังยอมให้เราทำ แสดงว่ามันก็ต้องมีคนที่ชอบเหมือนเราบ้างแหละ ก็เลยได้ทำและทำได้
หลังจาก Fritz Hansen ก็มี Vitra (วิทรา) GUBI (กูบิ) และอื่นๆ อีกมากมาย คุณมีหลักการในการคัดเลือกแบรนด์เหล่านี้ยังไง
เรื่องแรก เรามองหาคาแร็กเตอร์ที่แตกต่างกัน เราจะไม่เลือกแบรนด์ที่ซ้ำกับแบรนด์ที่เราดูแลอยู่ เพราะรู้สึกว่าเป็นการไม่ให้เกียรติและจริงใจกับแบรนด์ที่เราร่วมงานด้วย และทุกครั้งที่เลือกนำเข้าเฟอร์นิเจอร์หรือของแต่งบ้าน ผมจะเห็นคาแร็กเตอร์ของคนที่ใช้ค่อนข้างชัดเจน ดังนั้นถ้าเฟอร์นิเจอร์บางตัวทำให้เห็นคาแร็กเตอร์อื่นที่น่าสนใจ เราก็อยากจะเป็นตัวแทนเพื่อนำเสนอตลาดกลุ่มใหม่ๆ
ส่วนแบรนด์ GUBI กับ &Tradition (แอนด์เทรดดิชัน) อาจจะไม่ได้คลาสสิกอย่าง Fritz Hansen คือมีความเฟมินีนมากกว่า แต่ก็ยังให้ความรู้สึกย้อนยุค ไม่เรียบแบบสแกนดิเนเวียน แต่จะไปทางฝรั่งเศสนิดนึง ถือเป็นการทดลองตลาดแบบเล็กๆ ซึ่งผมพบว่าผลตอบรับดี ลูกค้าชอบเยอะ เราก็เลยมีแพลนจะขยายโชว์รูมที่สุขุมวิท 49 เพิ่มเติม เพื่อรองรับทั้ง 2 แบรนด์นี้ที่กำลังเข้ามา โดยสรุปก็คือจุดร่วมของทั้ง 12 แบรนด์ที่เรามี คือความเรียบง่าย งานฝีมือ และดีเทลที่น่าสนใจ
อะไรคือความเป็น NORSE Republics ที่คุณอยากสื่อสารผ่านแบรนด์และสินค้าที่ตั้งใจเลือกมา
เราใช้คำว่า Design – Defines You เพราะว่ารู้สึกว่าคนทั่วไปคิดว่างานดีไซน์เป็นสิ่งที่เข้าถึงยากเพราะเข้าใจยาก เราอยากให้คนเข้าใจง่ายๆ ว่า งานดีไซน์ช่วยสะท้อนคาแร็กเตอร์ของคุณ ไม่ต่างจากเสื้อผ้าที่เราเลือกใส่ เราอยากให้คนเห็นเราแบบไหน เราก็แต่งตัวสไตล์นั้น อยากดู formal ก็แต่งตัว formal อยากดู casual เราก็แต่งตัว casual บ้านของคุณก็เช่นกัน เฟอร์นิเจอร์ที่คุณใช้ ผ้าปูที่นอน จาน ชาม ช้อน และส้อมที่เลือก สิ่งเหล่านี้จะบอกว่าคุณเป็นคนแบบไหน
ยิ่งทำให้เราพยายามเลือกสรรสิ่งที่เหมาะสมกับลูกค้า ค้นหาแบรนด์ที่มีคาแร็กเตอร์ไม่ซ้ำกัน เพราะเห็นโอกาสที่งานดีไซน์จะนำพาคนกลุ่มใหม่ๆ เข้าหาเรา เพิ่มโอกาสให้เราเลือกดีไซน์ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต นั่นแหละคือ NORSE Republics
ในฐานะที่ทำธุรกิจมา 7 ปี จริงไหมที่กลุ่มคนที่สนใจงานดีไซน์หายากในประเทศนี้
จนถึงวันนี้ลูกค้าหลักก็ยังเป็นกลุ่มคนที่สนใจงานดีไซน์ ซึ่งผมบอกได้เลยว่าลูกค้าเรา 95 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนที่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เป็นคนที่ค่อนข้างเคลียร์กับสไตล์ตัวเอง เป็นคนที่เราไม่สามารถจะ influence เขาได้เลยถ้าเขาไม่ชอบ ซึ่งแต่ก่อนเราไม่เคยคิดเรื่องนี้นะ จนเห็นว่าลูกค้าเขาเลือกของเองจริงๆ เขาเดินเข้าร้านมา เขารู้ข้อมูลทุกอย่างของแบรนด์ รู้เกี่ยวกับสินค้าหมดแล้ว รู้ว่าชอบและจะเลือกสีอะไร ชอบหนัง ไม่ชอบหนัง หรือเขาชอบผ้า เขารู้หมดเลยครับ
ถามว่าคนกลุ่มนี้มีเยอะแค่ไหน ผมคิดว่าเยอะนะ อาจจะไม่เท่ากลุ่มที่สนใจเฟอร์นิเจอร์ในกระแส แต่เท่าที่สัมผัสคนที่ชอบงานสไตล์นี้มีอยู่เยอะกว่าที่เคยคิด
ธุรกิจนี้เปลี่ยนความเชื่อของคุณแค่ไหนและยังไง
โจทย์ในการทำธุรกิจที่ผ่านมาของผมคือ ผมเชื่อว่ามีคนสนใจงานดีไซน์ ยิ่งคนรุ่นใหม่ที่มีโอกาสท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ เขาได้เห็นอะไรเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเวลาที่เรามีโอกาสไปยุโรปหรือที่ต่างๆ เรารู้สึกว่าเขาได้ซึมซับวัฒนธรรมด้านดีไซน์ที่ดี ที่จะสามารถสร้าง inspiration ให้กับพวกเขาได้ เขาได้ไปวิ่งเล่นในสวนสาธารณะที่ออกแบบมาอย่างดี ทุกอย่างมีสาธารณูปโภคที่เพียบพร้อม เก้าอี้ที่นั่งสบาย หรืออย่างในโรงเรียนที่ให้ความสนใจกับสุขลักษณะอะไรเหล่านี้ คือทุกอย่างมันถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก
ซึ่งผมเองก็อยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้คนเข้าใจตรงนั้น ผมคิดว่ามิชชั่นของผมหรือบริษัทเราต่อจากนี้ไปคือเรื่องของการสร้างความรู้ความเข้าใจ อย่างน้อยก็ให้เกิดความสนใจว่ามันมีงานดีไซน์ที่ดีต่อเขา
เพราะฉะนั้นปีนี้เราตั้งใจจะทำ NORSE experience เริ่มจากปีนี้แบรนด์เฟอร์นิเจอร์หลายแบรนด์ออกแบบเฟอร์นิเจอร์คอลเลกชันเอาต์ดอร์เยอะมาก โดยเฉพาะ HAY เราก็เลยร่วมกับโรงแรม The standard หัวหิน เอาเฟอร์นิเจอร์ไปใช้ในโรงแรมให้คนได้ลองใช้ ได้มี experience นอกจากนี้ยังเป็นตัวอย่างให้โรงแรมหรือร้านอาหารเห็นความสำคัญของการออกแบบพื้นที่สาธารณะ (แม้ว่าจะสร้างอยู่ในพื้นที่ปิด) ให้คนมาใช้เวลาร่วมกัน
คุณเรียนรู้อะไรจากการทำธุรกิจนี้บ้าง
เรียนรู้ว่าจะไม่ยึดติด เรียนรู้ว่าจะต้องทำอะไรก็ได้ที่ตัวเองมีความรู้สึก จะไม่ทำอะไรที่เราไม่ชอบ แล้วก็จะไม่ยอมทำอะไรที่ทำให้เรานอนไม่หลับ ผมคิดว่าธุรกิจหรืองานมันก็เป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของเรา ถ้าเราไปยึดติดกับมันมากๆ เราก็จะไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นบางอย่างก็ควรจะปล่อยวางบ้าง ในเรื่องที่จำเป็นต้องทำก็ต้องทำ
เราเริ่มจากคนเพียง 3 คน ตอนนี้ถ้ารวม warehouse ด้วยก็มีประมาณ 30 คน ทำกันมาเรื่อยๆ ปรับปรุงอะไรหลายๆ อย่าง จนบริษัทเราขยายขึ้น ทีมงานมากขึ้น เชื่อใจได้มากขึ้น หลายๆ อย่างก็เลยง่าย แล้วมันก็สอนให้เรารู้ว่าบางทีเราก็ต้องรับฟังคนอื่นเหมือนกัน เราจะทำแต่สิ่งที่คิดอย่างเดียวก็ไม่ถูก
อะไรคือสิ่งที่วันแรกอาจจะคิดว่าไม่สำคัญ แต่มองย้อนกลับแล้วพบว่าสำคัญมากต่อธุรกิจ
เอาเป็นว่าถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้นะ ผมคงจะตั้งใจวางแผนมากกว่านี้ อย่างเรื่องโชว์รูม ทุกวันนี้โชว์รูมไม่เคยพอ ผมสร้างใหม่ทุก 1-2 ปีเลย ถ้าแพลนได้ดีกว่านี้ หลายๆ อย่างก็คงสบายกว่านี้ ยกตัวอย่าง เราลงทุนกับ Fritz Hansen เราก็รู้สึกว่าพอแล้วแหละ ไม่อยากกดดันมาก ไม่อยากเครียด เรารู้สึกว่าเราทำแค่นี้ก็โอเคแล้ว
แต่พอเรามาถึงจุดที่เริ่มรู้สึกว่าทำไมไม่ทำเยอะกว่านั้น คือมันมีจุดนั้นเรื่อยๆ เช่น เราเช่าร้านก็คิดว่า 200 ตารางเมตรก็พอแล้วแหละ ผลก็คือ มันไม่พอ 300 ก็ไม่พอ 400 ก็ไม่พอ 500 ก็ไม่พอ ยังไงก็ไม่พออยู่ดี ก็เลยรู้สึกว่าคนอื่นที่เขาเป็น businessman จริงๆ เขาคงแพลนตัวเองว่าในอีก 5 ปี 10 ปี เขาจะมองตัวเองยังไง จะไปในจุดไหน จะสร้างยอดขายได้เท่าไหร่ จะลงทุนกับอะไรและเท่าไหร่ แต่เราไม่ได้มองไกลขนาดนั้น นั่นเป็นสิ่งที่ผมว่าถ้าย้อนกลับไปแก้ไขได้ก็จะแก้ไขตรงนั้น ที่น่าสนใจก็คือ แม้แต่ตอนนี้ที่ผมพูดว่าอยากวางแผนล่วงหน้าให้ดีกว่านี้ วันนี้เราก็ยังไม่ได้แพลนดีขึ้น เรายังอยู่ในกรอบที่รู้สึกคอมฟอร์ต รู้สึกสบายใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ บางทีเรารู้อยู่แล้วแต่เราแก้ไขไม่ได้เพราะเรารู้ว่าเราเป็นคนอย่างนั้น
ทุกวันนี้ตื่นมาทำงานด้วยความรู้สึกหรือความเชื่อแบบไหน
สำหรับผม goal ในวันนี้เป็นเรื่องการใช้ชีวิตมากกว่าเรื่องธุรกิจ ผมอยากใช้ชีวิตให้มีความสุข อยากจะทำงานก็ทำงานให้มีความสุข ไม่เครียดในสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เราก็แค่ปล่อยมัน ไม่ได้มองว่าต้องใหญ่โตแบบนั้น เราแค่ทำในสิ่งที่เราเชื่อแล้วเราก็แฮปปี้กับผลที่อย่างน้อยมันมีอะไรที่ดี แทนที่จะไปมองแต่ข้อเสีย นอกจากเรื่องนี้ ทุกเช้าตอนตื่นคิดแค่ว่าจะไปส่งลูกทันมั้ย (หัวเราะ)
ความเป็นพ่อสอนอะไรคุณบ้าง
คือต้องบอกว่าเวลามีลูก ทุกครั้งที่ผมมองเขา ผมเห็นคาแร็กเตอร์และความสามารถบางอย่าง ผมคิดว่าถ้าถามทุกคนที่มีลูกในยุคนี้ ทุกคนก็จะพูดเหมือนกัน ซึ่งต้องออกตัวก่อนว่าคงไม่เหมือนยุคพ่อแม่นะ ยุคนั้นผมไม่รู้ แต่ถ้าเป็นคนยุคนี้ ส่วนใหญ่เขาจะรู้ว่าลูกแต่ละคนเกิดมาพร้อมบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่ได้สอนเขา เราไม่ได้ยัดเยียดให้เขา
มันทำให้เราเรียนรู้ว่า เราควรจะให้โอกาสกับทุกๆ คน ไม่ว่าเขาอยากจะทำอะไรก็ตาม เราควรจะเป็นพ่อที่ไม่บังคับลูกว่าต้องทำอะไร เราควรเป็นพ่อที่เข้าใจและให้โอกาส ให้เขาทำสิ่งที่เขาชอบ ผมว่าทุกคนน่าจะคิดเหมือนกัน
อะไรคือสิ่งที่ยึดเหนี่ยวให้คุณยังคงสนุกกับการทำงาน
ผมชอบธุรกิจตัวเองมาตลอด ผมเป็นคนชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ ไม่ได้จะบอกว่านี่คือดีที่สุดนะ แต่มันดีกับเราที่สุด ดีกับเราทั้งด้านจิตใจ ด้านอารมณ์ ด้านเวลาที่เรามีให้กับคนรอบตัว แม้แต่ขณะเราไปทำงาน เราก็ยังทำในประเทศที่สวยงาม รู้สึกว่าเราอยู่ใน environment ที่เราชอบ ที่เราแฮปปี้
คุณมีคำแนะนำยังไงให้คนเรายังคงทำสิ่งที่ชอบเป็นงานต่อไปได้นานๆ
ก็แล้วแต่ว่าความชอบนั้นคืออะไร ผมมีเพื่อนหลายแบบ และเราชอบแบบนี้ บางคนอาจจะชอบหาเงิน ถ้าเขาชอบหาเงิน เขาอาจจะหาได้เยอะๆ ชอบลงทุน ชอบความเสี่ยง ซึ่งผลสุดท้ายแล้วก็ต้องดูว่าเราชอบอะไรกันแน่ ทุกวันนี้ผมก็มีเพื่อนที่มีชีวิตเพื่อทำงานอย่างเดียว ไปปาร์ตี้กับลูกค้าจนกลับบ้านดึกๆ แต่เขาชอบ แล้วแฟนเขาก็ชอบ ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ผมรู้สึกว่าอันนั้นก็ถือว่าดีนะ เราจะไปบอกเขาว่ามันไม่ดีไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่เขาชอบเหมือนกัน
หลายคนเข้ามาบอกผมว่าโชคดีนะที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เพราะเขาไม่รู้ ผมว่าทุกคนรู้ว่าตัวเองชอบอะไร มันต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่เขาทำแล้วรู้สึกว่าชอบ แต่การที่จะเทิร์นความชอบมาเป็นธุรกิจนั้นต้องอาศัยความกล้าเสี่ยง สมมติบางคนที่บ้านมีธุรกิจของตัวเอง แต่เขาไม่ชอบธุรกิจที่บ้าน แต่สิ่งนั้นทำเงินให้กับเขา เขากล้าหรือไม่ที่จะเดินออกมาทำสิ่งที่เขาชอบโดยไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง ถ้าจะให้แนะนำ หากคุณรู้อยู่แล้วว่าชอบทำอะไร ให้พยายามหาทางออกที่รู้สึกว่าตัวเองจะแฮปปี้ หาทางเดินที่ใช่ ผมเชื่อว่าถ้าคนเราทำอะไรด้วยความชอบ ก็จะทำได้ดี และสุดท้ายเราก็จะทำงานด้วยความไม่อึดอัด