Up and Down in the Air
Air Max สนีกเกอร์ระดับไอคอนจาก Nike กับการหาวิธีกลับสู่จุดรุ่งโรจน์อีกครั้ง
บริเวณส้นรองเท้าถูกเปลือยให้เห็นแผ่นพลาสติกใส ใสชนิดที่มองทะลุเห็นอีกฝั่ง โดยแผ่นพลาสติกใสที่ว่าสามารถรองรับแรงกระแทกในทุกก้าวที่ย่ำเดินราวกับเหยียบบนก้อนเมฆ
ที่กล่าวมานี้คือสรรพคุณของ ‘แอร์โซล’ (Air Sole) ซึ่งเป็นนวัตกรรมสำคัญที่ถูกบรรจุอยู่ในรองเท้าตระกูล ‘แอร์แมกซ์’ (Air Max) สนีกเกอร์ตระกูลเรือธงจากค่ายไนกี้ (Nike) ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาในปี 1987 หรือเมื่อ 38 ปีที่แล้ว จนกลายเป็นรองเท้าระดับตำนาน ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปยาวนานแค่ไหนก็ยังคงความมหัศจรรย์และคลาสสิกไว้ทุกอณู
แน่นอนว่านวัตกรรมแอร์โซลนั้นถูกปรับเปลี่ยนให้มีความทันสมัยและใส่ง่ายใส่สบายขึ้นไปตามกาลเวลา เห็นได้ชัดจากการที่นวัตกรรมดังกล่าวถูกนำมาใช้ในรองเท้าตระกูลซูเปอร์ชูส์ ที่นักวิ่งเจ้าลมกรดใส่กันจนชินตา แต่ถ้าพูดถึงจุดกำเนิดที่ทำให้แอร์โซลโด่งดัง สนีกเกอร์แอร์แมกซ์ก็มักจะถูกพูดถึงตีคู่กันมา ไม่ใช่แค่ในฐานะสินค้าขายดี แต่ยังหมายถึง ‘มรดก’ ชิ้นสำคัญของไนกี้
เนื่องในวันแอร์แมกซ์เดย์ (Air Max Day) ที่เปรียบดังวันเฉลิมฉลองสนีกเกอร์แอร์แมกซ์ คอลัมน์ Biztory ขอชวนย้อนเส้นทางการกำเนิดของสนีกเกอร์ที่มาพร้อมกับนวัตกรรมล้ำๆ คู่นี้ ตั้งแต่จุดกำเนิด จนถึงวันที่หาทางกลับมาทวงบัลลังก์สนีกเกอร์อันดับ 1 อีกครั้ง
ปี 1987 จุดกำเนิดของไนกี้ แอร์แมกซ์ 1 โดยชายที่มีชื่อว่า ทิงเกอร์ แฮตฟีลด์
“ช่วงปี 1980 ไนกี้เริ่มถูกคู่แข่งทิ้งห่าง มีเพียงรองเท้ารุ่นไนกี้ แอร์ จอร์แดน 1 ที่ครองตลาดได้ ผมในฐานะสถาปนิกจึงรู้สึกว่า ถึงเวลาที่ต้องนำเสนออะไรใหม่ๆ ในการออกแบบ เป็นรองเท้าที่มีเทคโนโลยีต่างออกไปจากที่มีอยู่ในตลาด”
คำกล่าวข้างต้นคือความตั้งใจของทิงเกอร์ แฮตฟีลด์ (Tinker Hatfield) สถาปนิกและดีไซเนอร์ที่ ณ เวลานั้นเพิ่งตบเท้าเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าทีมออกแบบของไนกี้ ซึ่งกำลังหาจุดเปลี่ยนในการดึงส่วนแบ่งการตลาดสนีกเกอร์กลับมาอีกครั้ง
จากคำกล่าวในตอนนั้น ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีแฮตฟีลด์ก็ทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด กับการทดลองนำเทคโนโลยีแอร์โซล ซึ่งเป็นนวัตกรรมรองรับแรงกระแทกที่ปกติถูกประกบติดเข้ากับใต้พื้นรองเท้า ที่ถูกพัฒนาโดยอดีตวิศวกรขององค์การนาซ่า (NASA) อย่าง แฟรงก์ รูดี้ (Frank Rudy) มาต่อยอดด้วยการเปลือยให้เห็นแอร์โซลกันแบบเต็มตา ผ่านรองเท้ารุ่นที่มีชื่อว่า ไนกี้ แอร์แมกซ์ 1 (Nike Air Max 1)
สำหรับแรงบันดาลใจในการนำเทคโนโลยีแอร์โซลออกมาเปลือยให้เห็นนั้น เกิดขึ้นระหว่างที่แฮตฟีลด์เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติฌอร์ฌ ปงปีดู (Centre Pompidou-Metz) ที่ตั้งอยู่ ณ เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งดีไซน์การออกแบบอาคารของฌอร์ฌ ปงปีดู เป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเหนือกาลเวลา ที่ด้านนอกเผยให้เห็นโครงสร้างที่ปกติควรจะอยู่ด้านในอาคาร ไม่ว่าจะโครงเหล็ก ระบบท่อ บันไดแต่ละชั้น ฯลฯ ด้วยความที่เป็นสถาปนิกอยู่แล้ว แฮตฟีลด์จึงเกิดปิ๊งไอเดียทันทีว่า แล้วทำไมสนีกเกอร์จะเผยให้เห็นเทคโนโลยีที่ถูกซ่อนอยู่บ้างไม่ได้ล่ะ
ใครจะมองว่าหลุดโลกก็ช่าง เพราะแอร์แมกซ์ 1 ของแฮตฟีลด์ได้ปฏิวัติหน้าประวัติศาสตร์วงการสนีกเกอร์ โดยแอร์แมกซ์ 1 มียอดขายถล่มทลายมากกว่า 1 ล้านคู่ อย่างไรก็ตาม หากสังเกตจะเห็นว่า แอร์แมกซ์ 1 ล็อตหลังจากที่วางจำหน่ายมีการปรับเปลี่ยนหน้าตาบริเวณแอร์โซลเล็กน้อย จากตอนแรกที่มีจำนวน 4 รู ถูกลดลงเหลือ 3 รู เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวแอร์โซลแตกง่ายจนเกินไป



ถูกต่อยอดจนกลายเป็น ‘สมบัติล้ำค่า’ ของไนกี้
หลังการกำเนิดของแอร์แมกซ์ 1 ไนกี้ก็ได้ต่อยอดพัฒนารองเท้าตระกูลรุ่นแอร์แมกซ์ออกมานับไม่ถ้วน และแต่ละรุ่นก็ได้กลายเป็นรองเท้าระดับขึ้นหิ้ง ที่สนีกเกอร์เฮดฝันอยากมีไว้ในครอบครองสักครั้งในชีวิต ไม่ว่าจะไนกี้ แอร์แมกซ์ 90 ในสีที่เรียกว่า ‘infrared’ หรือรุ่นแอร์แมกซ์ 97 ในสีที่เรียกว่า ‘silver bullet’ ที่ถูกพัฒนาให้มีแอร์โซลเต็มพื้นรองเท้า เพื่อเพิ่มความสบายและลดแรงกระแทกระหว่างใส่เดิน (แต่หลายคนกลับบอกว่ายิ่งใส่เดินยิ่งปวดเท้าเสียนี่)


คำว่า ‘สมบัติล้ำค่า’ กับรองเท้าตระกูลแอร์แมกซ์คงไม่ใช่คำกล่าวอ้างเกินจริงสักเท่าไหร่นัก เพราะรองเท้าตระกูลดังกล่าวไม่เพียงแต่สอดแทรกอยู่ในวัฒนธรรมสตรีทแฟชั่นของชาวอเมริกัน แต่ยังสอดแทรกอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และสื่อบันเทิง เช่นในภาพยนตร์เรื่อง Back to the Future ที่มีการปรากฏรองเท้าไนกี้แอร์แมกซ์จากอนาคต ที่สามารถกดปุ่มรัดเชือกรองเท้าเองได้ ซึ่งต่อมาในปี 2011 ไนกี้ก็มีการผลิตรองเท้าที่ว่าจริง โดยปัจจุบันมีราคารีเซลถึง 37,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,270,000 บาท (ไม่แพงเลยใช่ไหมล่ะครับ)

นอกจากภาพยนตร์เรื่อง Back to the Future ใครที่เป็นแฟนมังงะเรื่อง เกมกลคนอัจฉริยะ หรือชื่ออย่างเป็นทางการ Yu-Gi-Oh! น่าจะเคยเห็นตัวละคร โจวโนะอุจิ คัตสึยะ อีกหนึ่งตัวละครหลักของเรื่องสวมไนกี้ แอร์แมกซ์ 95 สี ‘Neon’ ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมในรองเท้าตระกูลแอร์แมกซ์ผ่านอุตสาหกรรมบันเทิง ขณะเดียวกันในช่วงที่มังงะเรื่องดังกล่าววางจำหน่ายบรรดาวัยรุ่นญี่ปุ่นต่างเฟ้นหารองเท้าแอร์แมกซ์ 95 สีดังกล่าวจนขาดตลาด และกลายเป็นของแรร์โดยปริยาย

และด้วยความที่รองเท้าตระกูลแอร์แมกซ์ได้รับความนิยมสุดๆ ถึงขั้นที่ยามเปิดตัวแอร์แมกซ์รุ่นใหม่บรรดาสนีกเกอร์เฮดต่างพร้อมใจนอนแคมป์รอห้างเปิด เพื่อเข้าไปจับจองรองเท้าก่อนใคร ทางไนกี้เลยเกิดหัวใสคิดค้นวิธีทำโซเชียลมาร์เก็ตติ้ง ด้วยการบัญญัติให้วันที่ 26 มีนาคมของทุกปีเป็นวัน ‘แอร์แมกซ์เดย์’ (Air Max Day) หรือวันแอร์แมกซ์แห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2014 จุดประสงค์ก็เพื่อให้บรรดาแอร์แมกซ์เลิฟเวอร์ได้มารวมตัวร่วมทำกิจกรรม รวมไปถึงเปิดตัวแอร์แมกซ์รุ่นใหม่ๆ ที่เตรียมวางจำหน่าย อย่างประเทศไทยเองก็มีการจัดกิจกรรมภายใต้วันดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงราวปี 2020 และที่พีคสุดๆ เห็นจะเป็นการที่ค่ายสวูชนำ ‘พี่ตูน’ บอดี้สแลมมาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับรองเท้ารุ่นนี้โดยเฉพาะ

รอวันฟื้นคืนกลับมาทวงบัลลังก์สนีกเกอร์ No.1 อีกครั้ง
เป็นสัจธรรมสุดแสนธรรมดาของชีวิต ที่หากขาดการพัฒนาก็ต้องถูกคนอื่นแซงหน้า เช่นเดียวกับรองเท้าตระกูลแอร์แมกซ์ที่ถูกทิ้งช่วงการพัฒนาไปอย่างยาวนาน เชื่อว่าครั้งสุดท้ายที่สนีกเกอร์เฮดตื่นตาตื่นใจกับรองเท้าตระกูลแอร์แมกซ์น่าจะเกิดขึ้นในปี 2017 กับรุ่น Air VaporMax ที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี การกำเนิดรองเท้าแอร์แมกซ์
นั่นทำให้หลังปี 2020 เป็นต้นมา รองเท้าตระกูลแอร์แมกซ์เริ่มเข้าสู่ช่วง ‘ขาลง’ ต่อเนื่อง ในขณะที่ไนกี้ในยุคการบริหารของซีอีโอ จอห์น โดนาโฮ (John Donahoe) หันมาปัดฝุ่นหยิบไลน์รองเท้าตระกูลบาสเกตบอลแนวเรโทรอย่างไนกี้ดังค์ (Nike Dunk) มาทำใหม่อีกครั้ง ประกอบกับรองเท้าตระกูลแอร์แมกซ์ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยก็ยังขึ้นชื่อเรื่อง ‘พื้นโฟม’ ที่แตกสลายง่ายราวกับเกล็ดขนมปังหากเก็บไว้สัก 3-4 ปี จึงไม่แปลกใจที่ผู้คนจะเริ่มหลงลืมรองเท้าตระกูลนี้ไป
อย่างไรก็ดี ช่วงปลายปี 2024 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ไนกี้เริ่มเปิดฉากการตลาดด้วยการกลับมาพัฒนาเทคโนโลยีแอร์โซล เพื่อรองเท้าตระกูลแอร์แมกซ์อีกครั้ง โดยมีนามสกุลต่อท้ายชื่อรุ่นแอร์แมกซ์ว่า ‘Dn’ ซึ่งหมายถึง ‘dynamic’ สิ่งที่เปลี่ยนไปของแอร์แมกซ์รุ่นนี้คือแอร์โซลที่ปกติเป็นแผ่นมาตลอด ถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นลักษณะทรงกลมติดตั้งไล่เรียงทั่วพื้นรองเท้า โดยแอร์โซลทรงกลมแต่ละลูกถูกบรรจุก๊าซน้ำหนักต่างกันไปเพื่อไล่เรียงการรองรับน้ำหนักยามเคลื่อนที่ในแบบไดนามิกนั่นเอง


และเนื่องในวาระเฉลิมฉลองวันแอร์แมกซ์เดย์ ปี 2025 ไนกี้ก็ได้เปิดตัวแอร์แมกซ์รุ่น Dn8 โดยมีสีแดงเป็นสีออริจินอล เหมือนกันกับไนกี้แอร์แมกซ์ 1 โดยมีคอบบี้ ไมนู (Kobbie Mainoo) กองกลางดาวรุ่งแห่งทีมปีศาจ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นพรีเซนเตอร์
น่าสนใจว่าการกลับมาของไนกี้แอร์แมกซ์ด้วยเทคโนโลยีใหม่จะสามารถดึงดูดสนีกเกอร์เฮดให้กลับมาสนใจได้อีกครั้งไหม แต่ที่แน่ๆ คือ นี่เป็นสัญญาณอันดีที่ไนกี้ในยุคของซีอีโอ แอลเลียต ฮิล (Elliott Hill) จะกลับใส่ใจเรื่องของเทคโนโลยี ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นจุดแข็งของไนกี้ที่ไม่ว่าใครก็ยากจะตามทัน
อ้างอิง :
- designboom.com/design/tinker-hatfield-interview
- farfetch.com/style-guide/brands/nike-air-max-timeline
- sneaker.de/en/nike-air-max-series-complete-history
- goat.com/editorial/nike-air-max-sneakers-history
- footasylum.com/the-lowdown/the-history-files-nike-air-max/?srsltid=AfmBOorBN-fSvshjZ7HQq7hW3v6tKZ1R2nm7u5jk4xDdNr9uY1n-zEAyG
- sneakernews.com/nike-air-max
- hypebeast.com/2024/3/air-max-day-timeline
- www.highsnobiety.com/tag/nike-air-max
- sneakernews.com/2025/03/20/yu-gi-oh-nike-air-max-95
- sneakernews.com/2015/03/25/an-interview-with-tinker-hatfield-about-footwear-design–the-air-max-zero-and-more
- nike.com/th/a/air-max-day