ความลับของสายลม
‘Air Jordan’ ความมหัศจรรย์ของนักบาสคนหนึ่งและรองเท้าคู่หนึ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบ
นี่ ได้ยินไหม? อ้าว ไม่ได้ยินอะไรงั้นเหรอ
ลองตั้งใจเงี่ยหูฟังใหม่อีกทีสิ พอจะได้ยินไหมว่าสายลมนั้นกำลังกระซิบบอกเรื่องราวของมันให้เราได้ยิน
เรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว และยังคงล่องลอยในสายลมจนถึงวันนี้
เรื่องราวมหัศจรรย์ของนักบาสเกตบอลคนหนึ่ง รองเท้าคู่หนึ่ง ที่เปลี่ยนแปลงโลกได้ทั้งใบ
1.
ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 เวลานั้น Nike ยังไม่ได้เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการกีฬาเหมือนเช่นในวันนี้
พวกเขาไม่ได้เป็นเบอร์หนึ่งและไม่ได้ครองแม้แต่เบอร์ 2 ด้วย เพราะเบอร์หนึ่งของวงการในเวลานั้นคือ adidas ยักษ์ตัวพ่อที่ถือแก้วเบียร์ไม่ห่างมือจากเยอรมนี ขณะที่เบอร์ 2 ของวงการคือรองเท้าตราดาว Converse
Nike บริษัทเครื่องกีฬาที่เริ่มต้นจากการรับสินค้าญี่ปุ่น Onitsuka มาวางขายก่อนจะเริ่มคิดทำรองเท้ากีฬาของตัวเองในชื่อ ‘Blue Ribbon’ (เรียกให้น่ารักก็อาจจะเป็นโบว์รักสีน้ำเงิน) เริ่มประสบปัญหาใหญ่ทางการเงินหลังเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ พวกเขาพบว่าพวกเขายังโตไม่พอ เท่ไม่พอ และดีไม่พอที่จะเป็นเบอร์ต้นของวงการ

ในวงการวิ่งรองเท้าจากสารพันไอเดียของบิล โบเวอร์แมน (หนึ่งในตำนานคือ Waffle รองเท้าที่ปิ๊งไอเดียจากเครื่องทำขนมวาฟเฟิล) ถือว่าพอจะตีตลาดได้บ้างแล้ว แต่ฟิล ไนต์ เชื่อว่าทางรอดที่แท้จริงในตอนนั้นคือการเจาะเข้าตลาดรองเท้าบาสเกตบอลให้ได้ ซึ่งเวลานั้น adidas และ Converse เป็นผู้นำของวงการอยู่
พวกเขาต้องการใครสักคนที่จะมาใส่รองเท้าสักคู่ของ Nike ให้เฉิดฉายอยู่ในสนาม
คำถามชวนปวดหัวคือแล้วใครควรจะเป็นคนนั้นกัน?
คำตอบจากสายลมคือ “ไปถามซอนนี วัคคาโร ดูสิ”
2.
จอห์น พอล วินเซนต์ ‘ซอนนี’ วัคคาโร ไม่ได้เป็นผู้บริหารระดับสูงอะไรในสำนักงานที่ออริกอนของ Nike ความจริงเขามีหน้าที่เป็นเพียงแค่ ‘เซลส์แมน’ คนหนึ่งที่มีหน้าที่ในการตระเวนหาแหล่งปล่อยสินค้าให้ได้มากที่สุดเท่านั้น

แต่เพราะเซลส์แมนคนนี้เองที่นอกจากจะกลายเป็น ‘The Man Who Saved Nike’ แล้วยังเป็นคนที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมรองเท้าสนีกเกอร์ทั่วทุกมุมโลกด้วย
วัคคาโรเพิ่งจะเข้ามาทำงานกับ Nike ได้ไม่นานในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ซึ่งขณะนั้นพวกเขายังไม่ได้เป็นบริษัทใหญ่โตอะไร ยอดขายทั้งปีมีเพียงแค่ 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น และว่ากันตามตรงสถานการณ์ของ Nike เองก็กำลังมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ลูกผีลูกคนอยู่
มาถึงปี 1984 สิ่งที่ผู้บริหารในระดับสูงของ Nike คิดว่าทางรอดของพวกเขาคือการเจาะตลาดบาสเกตบอลที่เป็นอีกฐานใหญ่ให้ได้ แต่การจะตีตลาดนี้ให้แตกนั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่ายากเพราะคู่แข่งอย่าง adidas และ Converse นั้นรันวงการมานานพอสมควร และจับนักกีฬาดังมากมายเซ็นสัญญาใส่รองเท้าของพวกเขาลงสนาม
Nike ก็อยากมีแผนแบบนั้นเหมือนกัน แต่ด้วยสถานะอันเดอร์ด็อก สุนัขจนตรอกแบบพวกเขาไม่มีสตาร์ที่ไหนมอง ทำให้เกิดไอเดียในการกระจายความเสี่ยงด้วยการเซ็นสัญญากับผู้เล่นอาชีพที่อาจจะไม่ถึงระดับสตาร์หลายๆ คนแทน โดยใช้งบประมาณแต่ละคนไม่มากสำหรับการ endorse สินค้า
ตรงนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องเล่าสุดคลาสสิก
วัคคาโร–ซึ่งเคยอยู่ในวงการบาสเกตบอลในฐานะผู้จัดการแข่งขัน มีเครือข่ายคอนเนกชั่น และยังใช้เวลาว่างในการติดตามเฝ้าชมการแข่งขันในระดับนักเรียน-นักศึกษา–ได้รับมอบหมายงานอีกอย่างในการตามหานักกีฬาที่เหมาะสมจะเป็นหน้าตาของแบรนด์
แล้วเขาก็คิดถึงเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ได้ดูในการแข่งขันรายการชิงแชมป์รายการ NCAA ในระดับอุดมศึกษาเมื่อปี 1982 ไอ้หนุ่มที่ชู้ต 3 คะแนนในช่วงนาทีชี้เป็นชี้ตายของเกมคนนั้น

ไมเคิล จอร์แดน
จอร์แดนในขณะนั้นอายุแค่ 19 ปี เป็นนักศึกษาปี 3 ของมหาวิทยาลัยแคโรไลนา แต่ก็เริ่มฉายแววโดดเด่น มีหลายทีมที่จับจ้องอยู่ และเจ้าตัวเองยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมการดราฟต์ (ระบบการคัดเลือกเข้าทีมหรือแฟรนไชส์ในภาษากีฬาอเมริกันเกมส์)
และไม่ใช่แค่ทีมบาสด้วยที่จ้องจะคว้าตัว แบรนด์ใหญ่อย่าง adidas และ Converse เองก็เลียบๆ เคียงๆ ถามไถ่อยู่เหมือนกัน
พ่อเซลส์แมนรู้ว่าถ้า Nike อยากจะได้ตัวจอร์แดน พวกเขาต้องรีบทำอะไรสักอย่าง
และมันต้องเป็นอะไรสักอย่างที่สุดยอดตลอดกาลเท่านั้นด้วย!
ตามพงศาวดารวงการยัดห่วงเล่าว่า วัคคาโรพยายามคัดค้านแผนเดิมในการหว่านงบไปกับนักบาสเกตบอลหลายๆ คน แต่ขอให้เอางบประมาณทั้งหมดมาทุ่มให้กับนักกีฬาดาวรุ่งที่ยังไม่ทันได้แจ้งเกิดในวงการเลยอย่างจอร์แดนแทน
ลองจินตนาการตามดูนะครับว่ามันเป็นเรื่องบ้าบอคอแตกขนาดไหน ที่บริษัทซึ่งมีงบจำกัดจำเขี่ย จะเสี่ยงเอาเงินมหาศาลเพื่อทุ่มให้นักกีฬาที่ยังไม่รู้เลยว่าจะเก่ง จะโด่งดังจริงหรือเปล่า ต่อให้จะมีชื่อเสียงในระดับอุดมศึกษาว่ามีโอกาสจะเป็นซูเปอร์สตาร์คนใหม่ของวงการ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องทุ่มหมดหน้าตักไปกับเรื่องนี้
แต่วัคคาโรคิดว่านี่แหละคือสิ่งที่ Nike ควรทำ พวกเขาต้องทุ่มหมดตัวเท่านั้นหากต้องการเป็นผู้ชนะในดีลนี้
ในด้านหนึ่งเขาต้องพยายามกล่อมผู้บริหารระดับสูงทุกคน โดยเฉพาะบอสใหญ่อย่างฟิล ไนต์ ให้เห็นด้วยกับแผนสุดบ้าบอนี้ ซึ่งแม้จะแทบตายแต่ก็ทำได้สำเร็จ
ทว่าอีกด้านที่ยากกว่าคือเขาจะทำยังไงถึงจะสามารถเอาชนะใจของจอร์แดนได้
ปัญหาใหญ่ในเวลานั้นมีอยู่ว่า จอร์แดนเซ็นสัญญาเป็นนักกีฬาของ Converse มาก่อนแล้ว โดยใส่รองเท้ารุ่น Chuck Taylor (ซึ่งก็เป็นตำนานของวงการ NBA ในรุ่นก่อน) ในการลงแข่งระดับ NCAA
แต่ลึกๆ ในใจแล้วจอร์แดนเป็นสาวกตัวยงของ adidas ใส่รองเท้าของแบรนด์เยอรมันทั้งในเวลาซ้อมและในชีวิตประจำวันด้วย ถ้าคิดจะดึงตัวมาเข้าสังกัดอีกคนก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะยากเกินไปนักสำหรับพวกเขา
ดังนั้น Nike จะทำอะไรก็ต้องรีบทำแล้ว
โชคดีที่การเจรจากับ adidas กับจอร์แดนมีความชะงักงันอยู่บ้างเนื่องจากแบรนด์คิดว่าการเซ็นสัญญากับว่าที่รุกกี้คนนี้ที่แบรนด์ยังไม่เชื่อมั่นหรือคิดว่าเป็นการเลือกนักกีฬาที่จำเป็นนัก
มันจึงเป็นโอกาสสำหรับวัคคาโรที่ใช้ทุกวิถีทางเพื่อจะกล่อมจอร์แดนให้มาใส่รองเท้าของ Nike ให้ได้
การพบกันครั้งแรกของทั้งสองคนเกิดขึ้นที่ภัตตาคารเล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งวัคคาโร มาพร้อมกับแผนการตลาดที่เตรียมไว้ให้เป็นพิเศษ ด้วยข้อเสนอที่ไม่มีใครกล้าจะให้จอร์แดนมากขนาดนี้แน่นอกจาก Nike
ข้อเสนอนั้นไม่ใช่แค่เรื่องเงินจำนวนมหาศาลถึง 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสัญญาระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเป็นจำนวนเงินค่าสปอนเซอร์นักกีฬาที่มากที่สุดในเวลานั้น เพราะสมัยปี 1984 นั้นไม่มีนักกีฬาคนไหนที่ได้เงินค่าสปอนเซอร์เกินกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งจอร์แดนได้มากกว่าถึง 5 เท่า!
นอกจากนี้วัคคาโรยังตบด้วยท่าไม้ตาย ด้วยการบอกว่า Nike จะเปิดไลน์สินค้าเฉพาะของจอร์แดนให้ด้วย โดยเฉพาะรองเท้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
แต่จอร์แดนฟังข้อเสนอแบบผ่านๆ ตัวเขาอาจจะอยู่ตรงนั้น แต่ใจเขาลอยไปไหนไม่รู้
เรื่องนี้ไม่ได้เกินความคาดหมายของวัคคาโร เขาอ่านเรื่องนี้เอาไว้อยู่แล้วหลังจากที่ได้พูดคุยกัน คีย์เวิร์ดสำคัญที่เขาล้วงออกมาได้จากจอร์แดนคือคำตอบของคำถามที่ว่า “ไอ้หนู เธอสนิทกับใครที่สุด” ซึ่งแทนที่คำตอบจะเป็นโค้ชของทีมมหาวิทยาลัย สิ่งที่จอร์แดนตอบคือ “ครอบครัว”
วัคคาโรรู้ว่าคนที่จะช่วยเขาได้คือพ่อและแม่ของจอร์แดนนั่นเอง และนั่นทำให้เขาไปค้นหาเบอร์โทรศัพท์บ้านของไอ้หนุ่มอายุ 19 ปีคนนี้ในสมุดหน้าเหลือง เมื่อได้มาแล้วก็พยายามโทรไปพูดคุยเกลี้ยกล่อมด้วยสกิลสาลิกาลิ้นทองฉบับยอดเซลส์แมน
การกล่อมของวัคคาโร ทำให้พ่อกับแม่ของเขาเริ่มเคลิ้มตามข้อเสนอและคิดว่านี่เป็นข้อเสนอที่ดีเกินกว่าจะปฏิเสธได้ เพราะมองว่าตอนนั้น Nike ยังไม่ได้เป็นแบรนด์ใหญ่ โอกาสที่จอร์แดนจะได้กลายเป็น ‘someone’ ของแบรนด์สูงมาก ดีกว่าเป็นแค่ ‘another one’ ของแบรนด์ใหญ่ ดังนั้นเมื่อถูกนัดเพื่อประชุมร่วมกับผู้บริหารที่ขอนำเสนออย่างเป็นทางการอีกครั้งแล้วจอร์แดนไม่อยากไป สิ่งที่พวกเขาขอเพิ่มมีเพียงเงื่อนไขที่ก็ไม่เคยมีใครทำมาก่อนเหมือนกันอย่างการขอเงินส่วนแบ่งจากการขายรองเท้าทุกคู่ 25%
นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณแม่เดอโลริส จอร์แดน ผู้ที่วัคคาโรบอกว่า “ผมสัมผัสได้ว่านี่แหละคนบงการตัวจริง ถ้าจับเขาได้ ทุกอย่างก็จะง่าย” พยายามกดดันให้ลูกชายที่ไม่เคยมอง Nike อยู่ในสายตาเลยไปเจอกับทีมผู้บริหารและฝ่ายการตลาดของ Nike ให้ได้
“ไปก่อนเถอะลูก เดี๋ยวค่อยว่ากัน”
สุดท้ายเมื่อไปถึงที่แล้ว ไม่มีทางที่ Nike จะยอมปล่อยให้จอร์แดนกลับบ้านไปโดยไม่ได้เซ็นชื่อในกระดาษสัญญาแน่นอน
สุดท้ายด้วยความพยายามของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคคาโร ที่แม้จะไม่ได้อยู่ในห้องประชุมใหญ่เวลานั้นด้วย แต่ด้วยวิสัยทัศน์ คำแนะนำ และความพยายามแบบ Never give up ของเขา ทำให้การเซ็นสัญญาระหว่างจอร์แดนกับ Nike เกิดขึ้นจนได้
โดยที่ไม่มีใครสักคนในเวลานั้นที่รู้ว่า มันจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของโลกบาสเกตบอล โลกกีฬา และโลกสนีกเกอร์ในเวลาต่อมา
3.
แต่ไม่ใช่ว่าแค่ตัดสินใจทุ่มเงินได้ตัวจอร์แดนมาแล้วทุกอย่างจะจบ
สิ่งที่มีความสำคัญไม่ได้น้อยไปกว่ากันคือเรื่องของที่จะขาย เพราะต่อให้ endorser ดีแต่ถ้าโปรดักต์ไม่ดีก็เท่านั้น ดังนั้นงานต่อไปของ Nike คือการทำตามคำมั่นที่ได้ให้ไว้กับจอร์แดนว่ารองเท้าที่ออกแบบมาเพื่อเขานั้นจะถูกใจชาวโลกด้วย

เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของปีเตอร์ มัวร์ ครีเอทีฟไดเรกเตอร์คนแรกของ Nike ที่ได้รับมอบหมายในการออกแบบรองเท้าสำหรับจอร์แดน ซึ่งในมุมของนักกีฬาที่ลงสนามเขาอยากได้รองเท้าที่มีคุณสมบัติบางอย่าง เช่น พื้นไม่สูงมากเพื่อให้สัมผัสได้ถึงพื้นสนามในเวลาลงเล่น
ในมุมของการออกแบบผลิตภัณฑ์ มัวร์หยิบเอาเทคโนโลยีการออกแบบของ Nike ใส่เข้าไป
แต่การออกแบบที่ทำให้รองเท้ารุ่นนี้กลายเป็นรองเท้าอมตะตลอดกาลกลับเป็นเรื่องของ ‘สี’
มัวร์ตีโจทย์ว่าเขาอยากจะ ‘ทลายกำแพงเรื่องสีรองเท้า’ ด้วยการเลือกสีให้รองเท้าของจอร์แดน เป็นสีดำ แดง และขาว ซึ่งก็ไม่ได้มาจากอะไรที่ไหน แต่เป็นสีประจำทีมของชิคาโก บูลส์ ที่ดราฟต์ตัวจอร์แดนมาร่วมทีมได้สำเร็จนั่นเอง
ขณะที่ชื่อของรองเท้ารุ่นนี้นั้น ตามตำนานเล่าว่า เดวิด ฟอล์ก ซึ่งทำหน้าที่เป็นนายหน้านักกีฬาของจอร์แดนในเวลานั้นได้เสนอชื่อว่า ‘Air Jordan’ ซึ่งมาจากท่วงท่าการเหินหาวของจอร์แดนในเวลาจะเล่นลูกดังก์ (dunk–การกระโดดขึ้นไปเอาบอลยัดห่วง ซึ่งเป็นลีลาการทำแต้มที่เร้าใจที่สุดของบาสเกตบอล)
สีสุดฉูดฉาดนี้ทำให้รองเท้านั้นแตกต่างจากรองเท้าบาสเกตบอลทั่วไปในตลาดทันที เพราะในยุคนั้นรองเท้ากีฬาจะมีเพียงแค่สีขาวหรือสีดำเท่านั้น และตามกฎเครื่องแต่งกายนักกีฬาของ NBA มีข้อบังคับที่เรียกว่า ‘Unify of the uniform’ ซึ่งระบุว่ารองเท้าจะต้องเป็นสีขาว สีดำ คิดเป็น 51% (ไม่รู้วัดยังไงเหมือนกัน) ส่วนที่เหลือให้เป็นสีของทีม
จริงๆ แล้วจอร์แดนเองก็ไม่ปลื้มกับสีดำ แดง และขาวของรองเท้าเลย เขามองว่าสีเหล่านี้เป็นสีของปีศาจ ถ้าเลือกได้อยากใช้สีฟ้าของนอร์ทแคโรไลนา ทีมมหาวิทยาลัยของเขามากกว่า และหนักกว่านั้นมันยังเป็นสีที่ถูกคำสั่งห้ามใช้ลงทำการแข่งขันด้วยเพราะผิดกฎ
ถ้ายังฝืนใส่จะโดนลงโทษปรับเงินนัดละ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ!
แต่ตรงนี้เองที่กลายเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญ เพราะรองเท้าที่ผิดกฎคู่นี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากทุกคน ซึ่งมาจากทั้งเรื่องของสีสันการออกแบบที่สะดุดตา แปลก แหวกแนว และอีกส่วนคือฝีไม้ลายมือของจอร์แดนที่เก่งกาจเกินวัย
ความสนใจนั้นถึงขั้นทำให้เรื่องรองเท้าคู่นี้กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ใครๆ ก็เมาท์กัน (ถ้าเกิดในเมืองไทยยุคนี้คงได้มีออกรายการโหนกระแส เจอกับพี่หน่วงบ้าง)
ถ้าเป็นแบรนด์อื่นบางทีอาจจะยอมเปลี่ยนให้จอร์แดนใส่รองเท้าปกติแทนไปแล้ว แต่ Nike กลับมองว่านี่คือโอกาสทองในการโปรโมตรองเท้าแบบฟรีๆ ยิ่งจอร์แดนใส่ลงสนามเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นที่ถูกจับจ้องมากขึ้นเท่านั้น เงินค่าปรับ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐนั้นถือว่าถูกเหมือนได้เปล่า
นับว่าเป็นสุดยอดกลยุทธ์การตลาดเหนือเมฆที่เป็นมาสเตอร์พีซของ Nike ในเวลานั้นเลยในการคิดนอกกรอบ
เมื่อบวกกับผลงานสุดยอดของจอร์แดน ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในฤดูกาลแรกของการน้องใหม่ (rookie) ใน NBA ถึงขั้นคว้ารางวัล Rookie of the Year มาครองได้ โดยทำแต้มเฉลี่ยถึง 28.2 คะแนนต่อเกม

รองเท้า “Air Jordan 1” ซึ่งออกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการครั้งแรกในเดือนมีนาคม 1985 ด้วยรองเท้า 2 แบบคือสีดำ แดง ขาว (The Game Shoe) และสีดำ-แดง (The Outlaw) ในสนนราคาคู่ละ 65 ดอลลาร์สหรัฐ สามารถทำยอดขายในปีแรกได้ถึง 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นตัวเลขมหัศจรรย์ที่เกินกว่าที่ทุกคนคาดคิดเอาไว้มาก เพราะตอนแรก Nike ประเมินยอดขายเอาไว้แค่ 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับ 5 ปีแรกเท่านั้น
และรองเท้า Air Jordan 1 สีดำ/แดง ซึ่งถูกเรียกขานกันว่ารุ่น ‘Banned’ (หรือ ‘Bred’ ซึ่งย่อมาจาก Black & Red) ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานตลอดกาล
4.
จากวันนั้นถึงวันนี้เวลาผ่านมา 40 ปีแล้ว แต่ Air Jordan ยังคงเป็นรองเท้ากีฬาที่ขายดีที่สุดตลอดกาล มีการออกแบบรุ่นใหม่ต่อเนื่องทุกปี และมีการผลิตซ้ำรองเท้าสีในตำนานออกมาเรื่อยๆ เป็นระยะเพื่อให้แฟนๆ ได้ตามสะสมกัน
โดยสิ่งที่ทำให้รองเท้าบาสเกตบอลรุ่นนี้ประสบความสำเร็จนั้น เพราะมันคือรองเท้ากีฬาที่ไม่ใช่รองเท้ากีฬา
ภาพลักษณ์ความขบถที่มีอยู่ในตัวของรองเท้านั้นทำให้รองเท้านี้ไปไกลกว่าแค่คนที่เล่นบาสเกตบอลเท่านั้น Air Jordan กลายเป็นรองเท้าที่ทุกคนใส่ได้ด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจ เพราะมันเท่ด้วยความหมายที่ซ่อนอยู่ในตัวของมันเอง


ดังนั้นรองเท้า Air Jordan จึงไม่ได้อยู่แค่ในสนามบาสเกตบอล แต่ไปปรากฏทุกที่ไม่ว่าจะเป็นตามถนนหนทาง ในการแสดงคอนเสิร์ต งานแสดงศิลปะ และไม่ได้จำกัดวงแค่สหรัฐอเมริกา แต่ความนิยมลุกลามไปทั่วทุกพื้นที่ของโลก และทำให้เกิดวัฒนธรรมรองเท้าสนีกเกอร์ขึ้นมา
จากอเมริกา สู่ยุโรป สู่เอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งเปิดประตูหัวใจต้อนรับรองเท้า Air Jordan ที่กลายเป็น sub-culture ที่สำคัญที่ต่อมาพัฒนากลายเป็นวัฒนธรรมในแบบของตัวเองที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน (ถ้าใครเคยดูการ์ตูนเรื่อง Slam Dunk น่าจะจำฉากที่ตัวเอกซากุรางิไปร้านรองเท้าแล้วเจ้าของรองเท้าแสดงความปลาบปลื้มกับ Air Jordan ‘Bred’ สุดๆ)
เรียกได้ว่าผลงานการออกแบบของปีเตอร์ มัวร์ ทำได้เกินกว่าความตั้งใจที่อยากให้รองเท้ารุ่นนี้ใครใส่ก็ได้ไม่ว่าจะรักหรือไม่รักบาสเกตบอลก็ไม่เป็นไร
ถ้ารักความอิสระ ถ้ามีความขบถ มีความกล้าหาญที่จะเป็นตัวของตัวเอง Air Jordan คือรองเท้าแห่งแรงบันดาลใจที่คุณควรหามาใส่
ไม่มีรองเท้ากีฬารุ่นไหนในโลกอีกเลยที่จะสร้างปรากฏการณ์ได้ในระดับ 3 โลกคือ โลกกีฬา โลกการตลาด และโลกสนีกเกอร์ โดยที่มูลค่าของแบรนด์ Air Jordan ในเวลานี้เติบโตไปแล้วถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.37 แสนล้านบาท) ขายไปแล้วมากกว่า 60 ล้านคู่ (ข้อมูลปี 2022)
นี่คือความลับของ ‘สายลม’ ที่เล่ากันมายาวนานครบ 40 ปีพอดีในปีนี้
และน่าจะเล่าต่อไปอีกนานแสนนาน ตราบใดที่สายลมยังพัดพาความฝันและแรงบันดาลใจ
Match facts
- โลโก้ ‘Wing’ ของ Air Jordan ปีเตอร์ มัวร์ ได้ไอเดียจากช่วงที่เดินทางด้วยเครื่องบินแล้วได้เห็นลูกเรือมอบเข็มกลัดปีกกัปตันเครื่องบินให้แก่เด็กน้อยคนหนึ่ง จึงปิ๊งไอเดียออกแบบปีกที่มีลูกบาสเกตบอลตรงกลาง
- อีกหนึ่งโลโก้ของ Air Jordan คือ ‘Jumpman’ ซึ่งออกแบบตามมาในปี 1987 ได้ไอเดียมาจากภาพปกนิตยสาร LIFE ซึ่งเป็นเงาของจอร์แดนกระโดดขึ้นดังก์
- เรื่องราวของ Air Jordan ยังมีให้ติดตามในแบบภาพยนตร์ในชื่อ ‘Air’ (2023) ซึ่งหยิบเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงการเซ็นสัญญากับจอร์แดนมาฉายเป็นภาพให้เห็น เพียงแต่มีหลายจุดที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง
อ้างอิง
- nytimes.com/2022/05/06/business/peter-moore-dead.html
- time.com/6269278/jordan-1-sneaker-air-legacy
- theguardian.com/film/2023/apr/05/michael-jordan-changed-the-world-the-true-story-behind-nike-movie-air
- time.com/6268621/air-true-story-behind-movie
- elvtr.com/blog/the-man-who-saved-nike
- brandequity.economictimes.indiatimes.com/news/advertising/the-man-who-convinced-nike-to-bet-on-michael-jordan/99593580
- entrepreneur.com/business-news/who-is-sonny-vaccaro-meet-the-exec-behind-nikes-air-jordan/449026
- nytimes.com/athletic/4378839/2023/04/05/air-movie-sonny-vaccaro
- runrepeat.com/jordan-shoes-statistics