The Art of Manhole Cover

‘แตกต่าง ปรับตัว’ ความเชื่อของ ‘นวกาญจน์โลหะชลบุรี’ ที่อยากพัฒนาเมืองด้วยฝาท่อมีดีไซน์

เวลาเดินตามท้องถนนในไทย เชื่อว่าสิ่งที่หลายคนโฟกัส ถ้าไม่ใช่วิวด้านหน้าและวิวสองข้างถนนที่เต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง ก็คงเป็นฟุตพาทที่สมบูรณ์บ้างไม่สมบูรณ์บ้าง ชวนให้สะดุดล้มอยู่ร่ำไป 

กลับกัน ถ้าใครเคยมีโอกาสไปเยือนแดนอาทิตย์อุทัยอย่างญี่ปุ่น ‘ฝาท่อ’ ตามท้องถนนกลับเป็นสิ่งที่ดึงความสนใจของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติได้เสมอ ฝาท่อสีสันสดใสและสะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละเมืองไม่เพียงสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล แต่ยังถือเป็นการสร้างเมืองแสนน่าอยู่ให้เจ้าของพื้นที่ 

“ทำไมเมืองไทยไม่มีแบบนี้บ้าง” เช่นเดียวกันกับหลายคน ‘แคท–อัชฌาวดี เจียมบรรจง’ ก็สงสัยแบบนั้น แต่ความพิเศษคือเธอเป็นทายาท ‘นวกาญจน์โลหะชลบุรี’ โรงงานทำฝาท่อระบายน้ำ 1 ในไม่ถึง 20 แห่งของไทย จากความสงสัยจึงกลายเป็นแพสชั่นและความอยากทดลอง

จากฝาท่อชิ้นแรกๆ ที่ร่วมพัฒนากับอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีที่โคราช สู่ฝาท่อสีพาสเทลที่สยามสแควร์ตาม Concept Siam Smart City ปัจจุบันนี้เธอยังมีโอกาสร่วมทำฝาท่อให้กับงาน Isan Creative Festival 2023 ที่จัดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น ความน่าสนใจคือฝาท่อทั้ง 3 ตัวที่เธอนำไปจัดแสดงในงานนี้เป็นฝาท่อ AR แรกของไทย 

เธอและพี่ชายอย่าง ‘ภูริทัต เจียมบรรจง’ ไม่เพียงเข้ามาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบภายในโรงงานของคนรุ่นพ่อแม่ให้ดีกว่าเดิม แต่ยังจริงจังกับเรื่องดีไซน์และเทคโนโลยีเพื่อทำให้ฝาท่อไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก นอกจากสร้างเอกลักษณ์ให้ต่างจากโรงงานทำฝาท่อด้วยกันแล้ว สำหรับตัวแคทเองฝาท่อไม่ได้เป็นสิ่งที่ต้องใช้ในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพียงอย่างเดียว แต่การที่เธอยังเข้าไปเป็นส่วนเล็กๆในการลงพื้นที่กับชุมชนจึงเห็นว่า ฝาท่อมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเมืองไปเป็น creative city และ smart city ในอนาคตได้อย่างมาก

ย้อนกลับไป โรงงานฝาท่อนวกาญจน์เกิดขึ้นได้ยังไง

จริงๆ ต้องย้อนกลับไปรุ่นคุณปู่ที่เสื่อผืนหมอนใบมาจากเมืองจีน หลังจากเข้าไปทำงานในโรงงานต่างๆ ย้ายไปจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ ท่านก็กลับมาตั้งโรงงานหล่อเหล็กที่ชลบุรี ปัจจุบันเราใช้เตาไฟฟ้าในการหลอมเหล็ก แต่สมัยก่อนนั้นยังใช้เตาถ่านหินอยู่เลยนะ 

พอมารุ่นคุณพ่อคุณแม่ช่วงแรกๆ ท่านก็ยังทำงานหล่อเหล็กหลายแบบ ทั้งชิ้นส่วนเครื่องจักร ชิ้นส่วนไฮโดรลิก ป้ายถนนอะไรก็ทำ แต่สัก 15 ปีที่ผ่านมา โรงงานเราเพิ่งมาโฟกัสฝาท่อกับตะแกรงเหล็กเพราะมองว่าประเทศไทยกำลังพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการขยายโครงสร้างพื้นฐาน เช่น งานถนน งานระบบสาธารณูปโภค มันเป็นโครงการที่ไม่มีวันจบอยู่แล้ว 

แล้วตลาดฝาท่อในตอนนี้มันเป็นแบบที่คุณพ่อคุณแม่คาดไว้จริงไหม

จริงนะ เพียงแต่ว่ามันเป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีลูกค้าหลากหลายมากนัก แต่เดิมจะวนๆ อยู่ที่ภาครัฐเสียส่วนใหญ่ และแต่ละโรงงานก็จะผลิตสินค้าได้เหมือนๆ กันตามสเปกที่ภาครัฐกำหนด

แม้ทั้งประเทศไทยจะมีโรงงานที่เชี่ยวชาญการทำฝาท่อโดยเฉพาะประมาณ 20 โรงงานเท่านั้น ถือเป็นธุรกิจที่ niche มาก ไม่ใช่ธุรกิจที่คนทั่วไปจะเข้ามาทำ แต่ความที่เราประมูลงานกันด้วยราคา ลูกค้าหลายเจ้าก็จะใช้บริการโรงงานเดิมๆ เพราะเขาไม่รู้ว่ามีโรงงานอื่นอยู่ อีกอย่างเราเองไม่ใช่เจ้าใหญ่ในตลาดนี้ ธุรกิจนี้มันเลยแข่งขันกันดุเดือดจนแทบจะเป็น red ocean เลยก็ว่าได้

เป็นเหตุผลที่คุณและพี่ชายต้องทำฝาท่อสีขึ้นมา

ใช่ ฝาท่อมันก็เป็นธุรกิจที่ไปต่อได้อีก แต่ในเมื่อทุกโรงงานมีจุดร่วมเดียวกันคือ ฝาท่อที่เน้นการใช้งานที่มีคุณภาพ ถ้าเราอยากโดดเด่นเราต้องหา blue ocean ใหม่ๆ ของตัวเอง เราต้องทำสิ่งอื่นที่คนอื่นไม่ทำ เราเลยต้องกล้าที่จะแตกต่าง และคิดว่า ศิลปะการดีไซน์และเทคโนโลยีนี่แหละที่จะทำให้เราโดดเด่นจากที่อื่น และเป็นที่จดจำมากขึ้น 

กว่าจะเป็นฝาท่อที่เน้นงานดีไซน์ ฝาท่อในรุ่นคุณพ่อคุณแม่เป็นแบบไหน

สมัยคุณพ่อก็เป็นแค่ฝาท่อกลมๆ เหลี่ยมๆ แบบที่เราเห็นในปัจจุบันนั่นแหละ เราจะทำทั้งฝาท่อระบายน้ำ ฝาซ่อมบำรุงที่เขาเปิดเข้าไปเพื่อซ่อมบำรุงระบบข้างใน ถ้าฝาท่ออยู่ตรงถนนก็ต้องคำนึงเรื่องการรับน้ำหนักด้วย เช่น ถนนเลี่ยงเมืองที่สิบล้อวิ่งเยอะกับถนนธรรมดาทั่วไปที่มีแค่คนเดินเท้า น้ำหนักและรายละเอียดก็จะไม่เหมือนกัน 

เรียกว่าเป็นฝาท่อที่ผลิตเพื่อการใช้งานล้วนๆ 

ตอนไหนที่คุณอยากเห็นฝาท่อที่รุ่นพ่อแม่ทำมาแตกต่างไปจากเดิม

เราอยู่กับฝาท่อมาตั้งแต่เด็ก ตอนแรกเราก็มองฝาท่อเหมือนกับคนทั่วไปนี่แหละ และคิดว่าถ้ากลับมารับช่วงต่อก็คงจะทำให้ดีเหมือนเดิม จนกระทั่งเราไปเห็นฝาท่อสีๆ ดีไซน์น่ารักๆ ของญี่ปุ่น มันเลยเป็นหนึ่งในความฝันของเราตั้งแต่มาทำธุรกิจของครอบครัวว่า  อยากเห็นประเทศไทยมีฝาท่อสีๆ ที่มีดีไซน์น่ารักแบบนั้น

เราเลยไปเข้าร่วมโครงการ ITAP ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ที่ภาครัฐจะให้งบประมาณส่วนหนึ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และทำงานร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการหล่อเหล็ก เราลองผิดลองถูกว่าสีแบบไหนจะเกาะกับเนื้อเหล็ก สีแบบไหนทนแดดทนฝนบ้านเรา เพื่อสีจะอยู่ได้นานๆ เพราะเราเองก็ไม่ได้มี know-how การผลิตจากญี่ปุ่น 

ทดลองอยู่ประมาณ 6 เดือนก็สำเร็จเป็นฝาท่อดีไซน์ตัวแรกที่ติดอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีที่อาจารย์ประจำอยู่ จากนั้นก็เริ่มได้งานชิ้นแรกจาก PMCU จุฬาฯ ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่สยามสแควร์

หลังจากโปรเจกต์แรก ชื่อของนวกาญจน์เป็นที่พูดถึงเลยไหม

ตอนนั้นฝาท่อดีไซน์มันยังไม่ได้บูมในไทยเพราะคนยังไม่ได้เห็นมาก แล้วตอนที่เราทำโปรเจกต์กับจุฬาฯ มันก็มีโปรเจกต์พัฒนาคลองโอ่งอ่างของรัฐที่นำเข้าฝาท่อดีไซน์จากญี่ปุ่นเข้ามาเพราะเขาไม่รู้ว่าประเทศไทยผลิตเองได้แล้ว 

เรียกว่าจากโปรเจกต์พัฒนาคลองโอ่งอ่าง คนก็เริ่มให้ความสนใจเรื่องการพัฒนาและปรับภูมิทัศน์เมืองกันมากขึ้น แต่โควิดเข้ามาซะก่อน โปรเจกต์หลายอย่างจึงต้องหยุดไป กระทั่งปัจจุบัน กระแสพัฒนาเมืองยิ่งกลับมาอีกครั้ง บวกกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างท่านชัชชาติให้ความสนใจด้านนี้ด้วย เราจึงเริ่มมีโอกาสทำงานมากขึ้น

พอฝาท่อดีไซน์เริ่มเป็นกระแส โรงงานอื่นๆ เริ่มหันมาทำฝาท่อดีไซน์บ้างหรือยัง

เริ่มมีขึ้นมาเรื่อยๆ แต่การที่เราเป็นเจ้าแรก พอคนพูดถึงฝาท่อดีไซน์ เขาก็จะนึกถึงเรา แต่การเป็นเจ้าแรกก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดพัฒนาได้นะ 

จากแต่เดิมที่รุ่นคุณพ่อคุณแม่เน้นฟังก์ชั่น เราเริ่มเข้ามาใส่ดีไซน์ ตอนนี้เราก็เพิ่มคุณค่าให้ฝาท่อดีไซน์ด้วยการใส่เทคโนโลยีลงไป อย่างการแข่งขันฟุตบอลระหว่างแมนยูฯ กับลิเวอร์พูลที่สนามราชมังฯ เราก็ได้ทำฝาท่อที่มีคิวอาร์โค้ดที่สแกนแล้วแสดงข้อมูลโปรโมตงานให้กับการกีฬาแห่งประเทศไทย

พอทำคิวอาร์โค้ดได้แล้ว ล่าสุดเราได้มีโอกาสทำฝาท่อ AR ให้งาน Isan Creative Festival 2023 ซึ่งถือเป็นฝาท่อ AR ชิ้นแรกในไทย

โปรเจกต์ที่ว่าเกิดขึ้นได้ยังไง

จริงๆ เราเคยทำ pilot ของฝาท่อ AR ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีไปแล้ว แต่มันยังไม่ถูกนำมาใช้จริง ด้วยความที่เราสนใจและอยากทำโปรเจกต์นี้มากๆ ที่ผ่านมาเลยพยายามตามหาคนที่เชี่ยวชาญและทำเรื่อง AR ซึ่งมีไม่กี่คนในไทย และเราก็เพิ่งจะรู้จักเขาไม่นานมานี้ 

บังเอิญว่าเขาก็เป็นคนขอนแก่น และเคยทำงานร่วมกับ CEA ขอนแก่นอยู่แล้ว บวกกับขอนแก่นเป็นเมืองต้นแบบ smart city ในไทย และกำลังจะจัดงาน Isan Creative Festival พอดี มันจึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมมากๆ ในการพัฒนาฝาท่อ AR นี้ให้เกิดขึ้นจริง เราซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์กับ CEA ขอนแก่นอยู่แล้วจึงเสนอไอเดียให้ทำฝาท่อ AR ในเทศกาลครั้งนี้

การทำงานจะเป็นการที่ CEA ขอนแก่นช่วยประสานให้นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมาช่วยออกแบบเพราะเขาย่อมคุ้นเคยกับจังหวัดตัวเองมากกว่าเราอยู่แล้ว จากผลงานทั้งหมด 18-19 ชิ้น กรรมการก็คัดเลือกให้เหลือ 6 ชิ้น จากนั้นก็นำงานออกแบบโพสต์ลงสื่อโซเชียลมีเดียเพื่อให้ประชาชนทั่วไปช่วยกันโหวต จนเหลือ 3 ชิ้นสุดท้ายที่เรานำมาพัฒนา และผลิตเป็นฝาท่อ AR จริง

ภาพใน AR แต่ละชิ้นจะเป็นภาพขอนแก่นในอนาคตที่ขอนแก่นอยากจะพัฒนา มีทั้งรถไฟ สถานีรถไฟ และป้ายบอกทาง ความสนุกคือคนที่เล่นสามารถเข้าไปอยู่ในภาพ AR หรือถ่ายรูปกับ AR ที่เราทำขึ้นได้ เหมือนเวลาเล่นเกม Pokémon Go

ทั้งหมดนี้ใช้ระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือนซึ่งถือว่ากระชั้นชิดมาก

ในเมื่อระยะเวลาบีบขนาดนี้ ทำไมคุณไม่เลือกออกแบบและจบงานทุกอย่างด้วยตัวเอง 

จริงๆ แล้วถ้าทำฝาท่อให้ง่ายมันทำได้ แค่จ้างกราฟิก จ้างดีไซเนอร์ก็จบได้ภายใน 1 เดือน แต่เราไม่ได้อยากทำแบบนั้น เราไม่ได้เป็นแค่คนขายฝาท่ออย่างเดียว แต่เป็น co-creation ที่อยากมีส่วนร่วมกับชุมชน รวมถึงอยากให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับเมืองของเขา เพราะถ้าชุมชนมีส่วนร่วมมากเท่าไหร่ เขาจะยิ่งรู้สึกภูมิใจ และเป็นส่วนนึงของเมืองของเขามากขึ้นเท่านั้น และจะยิ่งอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองมากกว่าเดิม

ในมุมของเอกชน ฝาท่อดีไซน์มันอาจจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น เห็นฝาท่อลายปลาทูในเข่งที่ท่าฉลอม คนก็รู้แล้วว่าเมืองนี้มีอะไรเด็ด แต่ถ้าในมุมของรัฐ และเป็นมุมมองที่เราคาดหวัง คือจริงๆ แล้วการพัฒนาเมืองมันไม่ใช่การพัฒนาเพื่อคนข้างนอกหรอก แต่มันเป็นการพัฒนาเพื่อให้คนข้างในมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีพื้นที่สาธารณะให้ใช้ มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับภาษีที่เขาเสียไป และเมื่อเมืองมันพัฒนาไประยะหนึ่งแล้ว เม็ดเงินการลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวมันจะเข้ามาเองหลังจากนั้น

อย่างประเทศญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงเรื่องฝาท่อมากๆ ฝาท่อของเขาไม่ได้แค่สวยและใช้ได้ แต่ยังมีเกมให้เล่นสะสมการ์ดจากฝาท่อ หรือแม้กระทั่งทำของรางวัลเป็นลายฝาท่อประจำเมือง เพื่อดึงดูดให้ทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวมีส่วนร่วม 

เราก็หวังว่าสักวันหนึ่ง ฝาท่อดีไซน์พวกนี้มันจะสามารถต่อยอดไปแบบนั้นได้บ้าง เราเลยไม่ได้มีแนวคิดในการทำฝาท่อดีไซน์แบบนี้แค่กับที่ขอนแก่นอย่างเดียว แต่งานอื่นๆ ที่เคยทำและที่กำลังจะทำ เราก็ทำงานร่วมกับชุมชนทั้งหมด

ดีไซน์และเทคโนโลยีเหล่านี้มีผลต่อยอดขายของโรงงานมากแค่ไหน

ลูกค้าเราหลากหลายขึ้นมากเพราะเราสามารถตอบสนองความต้องการของเขาได้มากขึ้น อย่างลูกค้าเอกชนเขาย่อมอยากได้โลโก้หรือดีไซน์ของตัวเองอยู่แล้วซึ่งบริษัทอื่นอาจจะทำไม่ได้หรือไม่ทำเพราะมันเป็นงานที่ดูจุกจิก แต่พอเรารับทำแบบนี้ เราจะได้ทั้งงานห้างสรรพสินค้า โครงการหมู่บ้าน หรือบางคนก็ทำไปใช้ที่บ้านตัวเอง เพราะจะทำแค่ชิ้นเดียวเราก็รับทำ

แต่ถ้าพูดเป็นตัวเงิน ฝาท่อดีไซน์มันมีสัดส่วนที่น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับฝาท่อทั่วไปที่เราก็ยังทำอยู่ แต่สิ่งที่เราได้คือ ความแตกต่างที่สร้างสรรค์ และสามารถสร้าง brand awareness ได้

นอกจากเพิ่มคุณค่าให้สินค้า นวกาญจน์ในรุ่นของคุณและพี่ชายเปลี่ยนแปลงไปยังไงอีกบ้าง

เราเข้ามาทำให้หลายอย่างเป็นระบบขึ้น ทำเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียที่ทำให้คนเข้าถึงผลงานของบริษัทมากกว่าเดิม นอกจากนั้นปีที่แล้วเรายังสร้างโรงงานใหม่ เพื่อเพิ่มฐานกำลังผลิตให้มากขึ้น รวมถึงในอนาคตจะปรับเปลี่ยนบางขั้นตอนไปใช้เครื่องจักร 

ที่สำคัญคือ บริษัทเรามีระบบการจัดการคุณภาพที่ได้มาตรฐานสากล ทั้ง ISO 9001:2008 และ 2015 ซึ่งปัจจุบันเรากำลังจะได้ ISO 14001:2015 ที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะสุดท้ายเราต้องอยู่ร่วมกับชุมชน และเทรนด์โลกก็ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ

ตลอดระยะเวลาที่เข้ามารับช่วงต่อ คิดว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง

ตั้งแต่ช่วงโควิดที่ผ่านมาเรารู้เลยว่าทักษะแรกที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างยั่งยืนคือ ทักษะการปรับตัว อย่างที่ 2 เราต้องรู้ว่าจุดแข็งของเราคืออะไรแล้วนำไปต่อยอดเพื่อให้เราไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ อย่างงานฝาท่อดีไซน์ ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราจะมาเริ่มทำ แต่มันเกิดจากเรารู้ว่าเราทำฝาท่อธรรมดาได้ดีอยู่แล้ว แต่เราจะพัฒนา และเพิ่มคุณค่าให้สินค้าไปต่อยังไงบ้าง 

อย่างที่สาม เราต้องซื่อสัตย์ต่อลูกค้าเพราะถ้าไม่ซื่อสัตย์ เขาก็จะไม่กลับมาหาเรา คำว่าซื่อสัตย์ในที่นี้มันคือเราต้องส่งสินค้าที่มีคุณภาพให้เขาพร้อมๆ กับบริการที่ดี และสุดท้ายเราต้องจริงใจกับคนในบริษัทของเราด้วย เราต้องทำงานอย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะถ้าลูกน้องแฮปปี้ในการทำงาน ได้ผลตอบแทนที่ดี เขาโต เราก็โต คนจึงถือเป็นคีย์หลักที่ทำให้บริษัทเติบโตได้เช่นกัน

ภาพของนวกาญจน์ที่คุณอยากเห็นเป็นแบบไหน

สำหรับบริษัท เราหวังว่าวันหนึ่งเราจะเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในการผลิตฝาท่อระบายน้ำที่มีคุณภาพในประเทศไทย เราจะเป็น co-creation ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการบูรณาการความรู้ต่างๆ ให้ฝาท่อมีคุณสมบัติมากกว่าเรื่องของการใช้งานและความปลอดภัย ผสมผสานการดีไซน์ และต่อยอดด้วยเทคโนโลยี

สำหรับตัวเราเอง เราจะต้องมองย้อนกลับไปว่าทำไมประเทศไทยต้องมีบริษัทเรา สิ่งที่เราทำนั้นมอบอะไรให้กับสังคมหรือชุมชนบ้างไหม ซึ่งคำตอบมันคือ เราเองก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมือง และทำถนนหนทางให้คนไทยทุกคนรู้สึกว่ามันน่าใช้ น่าเดิน และน่าอยู่ขึ้นเหมือนที่เรารู้สึกเวลาไปญี่ปุ่น

What I've Learned

1. “รุ่นพ่อรุ่นแม่อาจจะยึดว่าต้อง work hard หรือขยันไว้ก่อน แต่เราว่าสมัยนี้ต้อง work smart อะไรที่สามารถปรับได้ก็ต้องปรับ อะไรที่ใช้เทคโนโลยีช่วยได้เราก็ต้องเอามาใช้”

2. “แต่ก่อนหลายบริษัทอาจบริหารคนในรูปแบบ empower หรือเจ้านายกับลูกน้อง แต่เราว่าปัจจุบันเราต้องนึกถึง empathy คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา และเราจะไม่ใช่เจ้านายอีกแล้ว แต่เราจะคือผู้นำ”

3. “ตั้งแต่โควิด-19 เราว่าเจ้าของธุรกิจจะมีความรู้เฉพาะทางอย่างเดียวไม่ได้ แต่เราต้องมีความรู้หลากหลาย และรู้รอบด้านเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์”

4. “ธุรกิจมันไม่สามารถหยุดนิ่งได้ เราต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เราอยู่รอดในทุกวิกฤต และได้รับผลประโยชน์ในทุกโอกาส”

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like