Muketing Effective

ชำแหละวิธี Muketing ยังไงให้ปัง ในยุคที่ใครๆ ก็สนแต่เรื่องมู จาก AdPeople Awards 2024

ผ้ายันต์ผืนใหญ่ สีเสื้อมงคล หินนำโชค ตัวเลขเบอร์โทรศัพท์ วอลเปเปอร์หนุนดวงชะตา ฯลฯ ไม่ว่าจะหันซ้ายหรือหันขวา ก็ดูเหมือนว่าทุกสรรพสิ่งรอบตัวล้วนขับเคลื่อนด้วยศาสตร์ ‘มูเตลู’ หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘สายมู’ 

ไม่แปลกใจสักเท่าไหร่นัก ถ้ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะพยายามใช้เรื่องมูๆ ผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ในเมื่อแต่ละปีอุตสาหกรรมดังกล่าวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศปีละไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นล้านบาท

หากย้อนไปสมัยก่อนมูลค่าความมูล้วนขึ้นอยู่กับว่า วัตถุมงคลชิ้นนั้นปลุกเสกผ่านเกจิอาจารย์สำนักใด ตัดภาพมาที่ยุคสมัยใหม่ การจะวัดว่าความมูนั้นปังหรือไม่ปัง ไม่ได้ขึ้นอยู่แค่ที่ความขลัง แต่ต้องสอดแทรก ‘ความครีเอทีฟ’ ลงไปด้วย ฉะนั้นคำถามสำคัญคือผู้ประกอบการที่คิดจะเริ่มมูต้องวางแผนยังไงให้โดนใจผู้บริโภค ในเมื่ออุตสาหกรรมสายมูตอนนี้มีผู้เล่นเต็มไปหมด 

ภายในงาน AdPeople Awards & Symposium 2024 มีเซสชั่นทอล์กที่บรรยายโดย ‘แอ๊ม–ศรัณย์ แบ่งกุศลจิต’ ผู้ก่อตั้งบริษัท Uppercuz Creative และเจ้าของแชนแนลการตลาดการเตลิด ซึ่งหยิบยกประเด็นข้างต้นมาพูดคุยภายใต้หัวข้อ ‘ADMU มูยังไง ให้ไทยมุง KPI พุ่งดวงไม่เสี่ยง’ โดยศรัณย์ยกกรณีศึกษาของ ‘HoroWall’ หรือวอลเปเปอร์เสริมดวงมงคลบนสมาร์ตโฟนที่เจ้าตัวทำร่วมกับ ‘แมน การิน’ นักพยากรณ์ชื่อดัง ซึ่งมีผู้ใช้งานจำนวนมาก และเป็นตัวอย่างของโปรดักต์สายมูที่จับทางผู้บริโภคได้ถูกจุด 

#ก่อนจะมูต้องสำรวจว่าฐานตลาดเราเป็นยังไง

ศรัณย์เริ่มแนะนำว่าก่อนเริ่มต้นโปรเจกต์เราต้องรู้ก่อนว่า เรามีคู่แข่งจำนวนเท่าไหร่ และเขานำหน้าเราไปเท่าไหร่แล้ว ซึ่งจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2562 มีบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรม Muketing ปีละไม่ต่ำกว่า 11 บริษัท โดยมากที่สุดคือเมื่อปี 2023 ที่มีการจดทะเบียนมากถึง 33 บริษัท ขณะเดียวกันรายได้รวมในอุตสาหกรรมนี้มีจำนวนไม่ต่ำกว่าปีละ 24 ล้านบาท โดยมากสุดอยู่ที่ปี 2022 ซึ่งมีรายได้รวมกันถึง 148.99 ล้านบาท (เป็นข้อมูลเฉพาะที่อยู่ในฐานระบบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า)

ด้วยจำนวนมูลค่าที่มีแต่เพิ่มในทุกๆ ปีนี้เอง จึงเป็นตัวบ่งชี้ประการแรกที่บอกว่าการลงทุนในสาย Muketing เป็นสิ่งที่ทำได้ และยังมีโอกาสคว้าส่วนแบ่งมูลค่าทางการตลาด

ศรัณย์ยังพบว่า แม้ประชากรในไทยส่วนใหญ่จะเข้าวัดทำบุญน้อยลง แต่กลับให้ความสนใจกราบไหว้เทวดาและวิญญาณ เช่น ท้าวเวสสุวรรณ หรือแปะโรงสี ไปจนถึงขอพรเทพต่างศาสนา โดยเฉพาะเทพจากศาสนาฮินดู เช่น พระแม่ลักษมี พระแม่อุมา พระพิฆเนศ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ให้คุณแตกต่างกันไป 

ทั้งนี้สิ่งที่ผู้คนขอเรื่องมูมากที่สุด คือเรื่องของการเงิน ตามมาด้วยโชคลาภ ความรัก การงาน ค้าขาย และสุดท้ายคือเรื่องของเสน่ห์ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคที่สนใจเรื่องมูนั้นเป็นเหมือน ‘สเปกตรัม’ ที่มีเฉดสีไล่เรียงกันไป และนั่นหมายความว่า โปรดักต์ที่กำลังลงมือทำจะต้องซัพพอร์ตคำขอพรได้ครอบคลุม ผู้บริโภคเห็นแล้วต้องรู้ทันทีว่าถ้ามูแล้วจะช่วยเรื่องอะไรได้บ้าง

#มูที่เข้าถึงได้กับทุกคน

ก่อนที่จะมี HoroWall ศรัณย์เริ่มคิดโปรดักต์จากโจทย์ที่ว่า ทำยังไงก็ได้ให้แม่ค้าขายอาหารตามสั่ง ก็ซื้อสินค้าชิ้นนี้ได้โดยง่าย

คำถามแรกที่เขาถามตนเองจึงคือโปรดักต์ที่ใช้งานง่ายและคนใช้เป็นประจำคืออะไร? สิ่งที่ศรัณย์นึกถึงคือสมาร์ตโฟน ที่ไม่ว่าจะเป็นคนวัยไหน ทำอาชีพอะไรก็ต้องมีติดตัว และสิ่งที่อยู่บนสมาร์ตโฟนซึ่งเปลี่ยนไปมาได้ ไม่ต้องทำอะไรยุ่งยาก ก็คือ ‘วอลเปเปอร์’ นั่นเอง 

ศรัณย์บอกว่าการพกวอลเปเปอร์มงคลก็ไม่ต่างอะไรกับการพกตะกรุด ที่ผู้พกพกติดตัวตลอดเวลาแต่เมื่อแคล้วคลาดจากอุบัติเหตุย่อมคิดถึงตะกรุดเป็นสิ่งแรก สิ่งนี้คือหลักการที่เรียกว่า ‘Synchronicity’ หรือเมื่อใดก็ตามที่มีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ซึ่งพิจารณาเห็นแล้วว่าเป็นมากกว่าเรื่องบังเอิญ แต่เป็นความบังเอิญที่ไม่สามารถอธิบายได้ มนุษย์ก็จะหาหลักเชื่อมโยงบางอย่างเพื่อใช้เป็นข้อพิสูจน์นั่นเอง

คำถามต่อมาคือจะทำยังไงให้คนใช้งานง่าย? หลักการของ HoroWall ไม่ต่างจากการหาหมอดู เพียงแค่กรอกข้อมูลสำคัญ เช่น วัน เดือน ปีเกิด และเบอร์โทรศัพท์มือถือก็สร้างวอลเปเปอร์ที่เหมาะสำหรับผู้ใช้งาน การซื้อก็ง่ายดายผ่านช่องทาง Line@ หรือ Shopee ที่ในยุคสมัยนี้ใครก็กดซื้อเป็น

#ร่วมมือกับอาจารย์สายมูตัวจริงเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ

ศรัณย์แนะนำต่อว่า การจะทำโปรดักต์หรือโปรเจกต์ใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องมู ถ้าไม่อยากเหนื่อย จำเป็นต้องร่วมมือกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งก็คือหมอดูหรือนักพยากรณ์ในศาสตร์ต่างๆ เพื่อช่วยให้ HoroWall มีความน่าเชื่อถือ ยิ่งเป็นนักพยากรณ์ที่มีผู้ติดตามและมีชื่อเสียงมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งหมายความว่า โปรดักต์นี้มีกระบวนการผลิตผ่านมือผู้เชี่ยวชาญตัวจริง ซึ่งเป็นความเชื่อเดียวกันกับที่เมื่อก่อนเรานิยมบูชาของขลังจากเกจิชื่อดัง

HoroWall ใช้ศาสตร์ความถนัดจากนักพยากรณ์จำนวน 4 ราย เพื่อช่วยออกแบบวอลเปเปอร์ที่ดีที่สุดแก่ผู้ใช้งาน เริ่มจากอาจารย์แมน การิน ซึ่งเชี่ยวชาญศาสตร์เรื่องตัวเลข ที่นำข้อมูลวันเกิดหรือตัวเลขที่ตรงกับคุณลักษณะของผู้ใช้มาปรับเป็นตัวเลขที่ปรากฏในวอลเปเปอร์เพื่อเสริมดวงชะตา

บุคลที่ 2 คือ อาจารย์ต๊อกแต๊ก A4 ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสีประจำวันเกิดที่ช่วยดูสีของวอลเปเปอร์ที่เป็นมงคลต่อผู้ใช้งานครบทั้ง 7 วัน เพื่อดึงดูดพลังงานด้านดี และหนุนนำให้เรื่องที่ต้องการสามารถเกิดขึ้นได้จริง 

ต่อมาคือหมอวั๊ง–วรางคณา อัชชะกิจ ซึ่งถนัดการดูดวงด้วยไพ่ยิปซี ช่วยดูไพ่ยิปซีทั้ง 4 ใบ ซึ่งถูกคัดสรรมาเพื่อสร้างพลังงานที่ดีแก่บุคคลนั้นโดยเฉพาะ และสุดท้ายคืออาจารย์ คฑา ชินบัญชร หมอดูชื่อดังที่ดูองค์ประกอบความมงคลของภาพทั้งหมด 

หมอดูทั้ง 4 ราย เป็น 1 ใน 7 หมอดูชื่อดังระดับประเทศที่มีชื่อเสียง ในแง่ของธุรกิจนั่นหมายความว่า นี่เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ HoroWall และเป็นการตัดโอกาสคู่แข่งที่จะเข้ามาท้าชนด้วยโปรดักต์คล้ายๆ กันในอนาคต ในขณะเดียวกันการ ‘custom’ คืออีกปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคยอมซื้อโปรดักต์ด้วยเหตุผลที่ว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกคราฟต์มาเพื่อตัวเองโดยเฉพาะ จึงไม่เหมือนใคร และมีชิ้นเดียวบนโลกเท่านั้น  

#ลดความมูเพิ่มความมินิมอล 

สิ่งสุดท้ายที่ศรัณย์แนะนำผู้ที่กำลังเข้าสู่อุตสาหกรรม Muketing คือการลดความมูแต่เพิ่มความ ‘มินิมอล’ ให้มากขึ้น ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นการลดความศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นการลดทอนบางอย่างเพื่อให้เหมาะกับยุคสมัย

ยกตัวอย่างรูปปั้นบูชาของพระพิฆเนศที่ปัจจุบันมีการดีไซน์ในแบบ minimal art หน้าตามีความโมเดิร์น วางแล้วกลมกลืนไปกับทัศนียภาพภายในบ้าน แต่วัตถุประสงค์ในการบูชาและความศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป และด้วยภาพลักษณ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกเปลี่ยนแปลงก็เป็นการทลายขีดจำกัดการออกแบบโปรดักต์สายมู โดยสามารถนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นไปแปลงเป็นเครื่องประดับ เสื้อผ้า น้ำหอม ฯลฯ เพื่อเพิ่มมูลค่า มากกว่าจะอยู่แค่บนหิ้งเฉยๆ

สรุปสูตร Muketing ในแบบของ HoroWall คือ ทำยังไงก็ได้ให้ใช้งานง่าย เหมาะกับคนหลายประเภท รวมศาสตร์การพยากรณ์เข้าไว้ด้วยกัน โดยมีหัวใจเป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ อีกนัยหนึ่ง HoroWall คือกรณีศึกษาที่สะท้อนมูลค่าของตลาด Muketing ที่นับวันจะมีแต่ขาขึ้น ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องของความเชื่อ แต่เป็นเรื่องของสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ผู้คนต่างหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ 

เรื่องของสายมูจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีวันหายไปจากสังคมไทย เพียงแต่ผู้ที่กำลังจะกระโจนลงในตลาดนี้ จะตีความเชื่อนี้ออกมายังไงให้สดใหม่และเข้ากับบริบทสังคม เพราะยิ่งคิดได้เร็ว คิดได้ไว ก็ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จก่อน

Writer

นักเขียนผู้หลงใหลโลกของฟุตบอล สนีกเกอร์ และกันพลา

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like