มรณาธุรกิจ
จาก ‘Me Before You’ สู่ Death Positive Movement และการเกิดขึ้นของธุรกิจความตายใหม่ๆ
(บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของ Me Before You)
กับคอหนังรักที่ชอบเสพความคลิเช่เป็นความสุขชั่วครั้งชั่วคราว มีหนังอยู่ไม่กี่เรื่องหรอกที่เราดูจบนานแล้วก็ยังจำได้ขึ้นใจ หนึ่งในนั้นคือ Me Before You
เปล่าหรอก หนังเรื่องนี้ไม่ได้หลุดออกจากกรอบความคลิเช่ใดๆ มันยังมีพระ-นางสวยหล่อที่ได้ดาราเบอร์ต้นๆ ของฮอลลีวูดอย่าง Sam Claflin และ Emilia Clarke มาเป็นจุดขาย ดำเนินเรื่องท่ามกลางโลเคชั่นสวยๆ ของประเทศอังกฤษ ที่ขาดไม่ได้คือพล็อตเรื่องดราม่าเรียกน้ำตาว่าด้วยความรักและความหวังในการมีชีวิตอยู่
หนังเล่าเรื่องราวของ วิล ชายหนุ่มนักธุรกิจดาวรุ่งที่วันหนึ่งกลับโชคร้ายโดนมอเตอร์ไซค์ชนจนพิการ ชีวิตของเขาพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากคนที่หลงรักการเล่นกีฬาเป็นชีวิตจิตใจวิลกลับต้องมานั่งวีลแชร์ อวัยวะตั้งแต่คอลงไปไร้ประสาทสัมผัส อาการอัมพาตเปลี่ยนให้วิลกลายเป็นคนหมดหวังซังกะตาย เขาไม่อยากทำอะไรแม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างการกินข้าวหรือโกนหนวด กระทั่งวันหนึ่ง ลู หญิงสาวผู้สดใสก็เข้ามาเปลี่ยนชีวิตเขาด้วยการสมัครเข้ามาเป็นผู้ดูแล
คำว่าเปลี่ยนชีวิตอาจเป็นพอยต์สำคัญที่ทำให้เราจดจำหนังเรื่องนี้ได้ขึ้นใจ ฟังจากพล็อตคร่าวๆ แล้วใครก็ต้องเดาว่า สุดท้ายลูจะเปลี่ยนวิธีคิดของวิลให้เขาอยากลุกขึ้นสู้ชีวิตต่อได้ และพระ-นางต้องได้ลงเอยกันอย่างมีความสุข
ปรากฏว่าหนังแหกกรอบความคลิเช่ในบทสรุป เฉลยว่าวิลวางแผนว่าจะทำการุณยฆาตตัวเองตั้งแต่ก่อนที่ลูเข้ามาเป็นผู้ดูแลเขา และต่อให้ลูจะทำให้เขามองเห็นแง่งามของชีวิต ความคิดในการจบชีวิตตัวเองของชายหนุ่มก็ยังแข็งแรงและมั่นคง เขารักตัวเองในเวอร์ชั่น ‘ก่อน’ ที่จะมาเจอ ‘เธอ’ เหลือเกิน นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ชื่อของหนัง (และนิยายต้นฉบับ) คือ Me Before You
แม้รายได้กว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้างแค่ 20 ล้านจะยืนยันความสำเร็จเรื่องเม็ดเงินได้ดี แต่หนังรักเรื่องนี้ก็ตกเป็นประเด็นถกเถียงกันในหมู่คนดูอย่างรุนแรง ทั้งคอมมิวนิตี้ของคนพิการที่ไม่พอใจการตัดสินใจของพระเอกมากๆ จนต้องออกมาประท้วงบอกว่าพวกเขาสามารถ ‘ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า (live boldly)’ ได้ไม่ว่าจะอยู่ในร่างกายแบบไหน คนดูบางกลุ่มก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าการตัดสินใจของพระเอก (และหนังเรื่องนี้) ว่าเป็นการสนับสนุนการการุณยฆาต ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงกันในบางสังคมว่าควรจะทำได้หรือไม่ ในขณะที่บางคนก็มองว่าไม่ใช่นะ เอาจริงๆ แล้ว นางเอกก็ไม่ได้แสดงท่าทีซัพพอร์ตการตัดสินใจของพระเอกในฉากการุณยฆาต เธอแค่ไปอยู่กับคนที่ตัวเองรักในวาระสุดท้ายของชีวิต และหนังเรื่องนี้ไม่ได้สื่อว่าสนับสนุนการปลิดชีพตัวเองแต่อย่างใด
นี่คือประเด็นที่ละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก แล้วเราก็ไม่อาจตัดสินว่าการการุณยฆาตของพระเอกถูกหรือผิด ถึงแม้เราจะไม่ได้ยกหนังเรื่องนี้ขึ้นหิ้งเพราะความลักลั่นบางอย่างของมัน แต่ยอมรับว่า Me Before You ทิ้งคำถามสำคัญที่ยิ่งเวลาผ่านไป สังคมก็ยิ่งให้ความสนใจกับมันมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่กระแส death positive กำลังมาแรงในหมู่ชาวมิลเลนเนียลส์ ทำให้นอกจากอัตราการการุณยฆาตที่พุ่งสูง ยังมีธุรกิจเกี่ยวกับความตายที่น่าสนใจผุดขึ้นมากมายในรอบหลายปีที่ผ่านมา
คำถามคือ ถ้าเราเลือกเกิดไม่ได้ แล้วเรามีสิทธิที่จะเลือกตายได้ไหม มากกว่านั้น เรามีสิทธิวางแผนการตายของตัวเองเหมือนวิลได้หรือเปล่า นั่นคือสิ่งที่เราสงสัยจนอยากพาทุกคนไปสำรวจเทรนด์ของธุรกิจที่ทำให้ความตายกลายเป็นเรื่องน่ากลัวน้อยลง และเตรียมตัวรับมือได้มากขึ้น
ในโลกของสื่อบันเทิง การุณยฆาตไม่ได้จัดว่าเป็นเรื่องใหม่บนจอ นอกจาก Me Before You แล้วการตัดสินใจจบชีวิตของตัวละครยังปรากฏให้เห็นในหนังและซีรีส์หลายเรื่องอย่างหนังรางวัลออสการ์ Million Dollar Baby หรือแม้กระทั่งซีรีส์เกาหลีเรื่องดังอย่าง Crash Landing on You
ในโลกความจริง หลายประเทศทั่วโลกอย่างเบลเยียม แคนาดา นิวซีแลนด์ สเปน และอีกหลายพื้นที่อนุญาตให้การทำการุณยฆาตถูกกฎหมาย หลังผ่านการถกเถียงกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงยุค 90s ทั้งการการุณยฆาตประเภทที่ใช้สารหรือวัตถุใดๆ ทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายเหมือนใน Me Before You หรือประเภทที่ปล่อยให้ผู้ป่วยซึ่งทรมานกับโรคภัยได้ ‘ตายตามธรรมชาติ’ โดยไม่ใช้เครื่องมือใดๆ ช่วยเหลือ โดยประเทศไทยมีกฎหมายรองรับอย่างหลัง ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 หมวดที่ 1 สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ มาตรา 12 ระบุไว้ว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้”
แต่ละประเทศที่ผ่านกฎหมายการุณยฆาตนั้นมีระเบียบ กฎเกณฑ์ และศูนย์ให้บริการที่หลากหลายและแตกต่าง โดยหนึ่งในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในด้านการให้คำปรึกษาเรื่องการจบชีวิตตัวเองคือ Exit International ของ Philip Nitschke อดีตแพทย์ชาวออสเตรเลียผู้ผลักดันกฎหมายการุณยฆาตในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นคนแรกของโลกที่ลงมือการุณยฆาตผู้ป่วยที่สมัครใจโดยการฉีดสารกระตุ้น (lethal injection) สำเร็จ จนได้ฉายาว่า ‘Dr.Death’ และอีลอน มัสก์ แห่งวงการการุณยฆาต
เมื่อเร็วๆ นี้ ชื่อของ Exit International และฟิลลิปกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เมื่อสวิตเซอร์แลนด์ได้อนุมัติให้ ‘Sarco’ โมเดลแคปซูลฆ่าตัวตายที่ฟิลลิปคิดค้นผ่านการตรวจสอบทางกฎหมาย และคาดว่าจะสามารถปล่อยให้ใช้งานได้ในปีนี้ โดยแคปซูลตัวนี้จะเต็มไปด้วยสารไนโตรเจนที่จะลดระดับออกซิเจนลงจนเหลือ 1 เปอร์เซ็นต์ ภายในเวลาน้อยกว่า 30 วินาที ซึ่งจะช่วยให้ผู้ทำการุณยฆาตจากไปอย่างไม่เจ็บปวด นอกจากนี้ ฟิลลิปยังหมายมั่นปั้นมือว่าจะผลิตอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่จะมาซัพพอร์ตการการุณยฆาตด้วยตัวเองในอนาคต
การตื่นตัวของชาวอินเทอร์เน็ตที่มีต่อเรื่องนี้อาจบ่งบอกได้ว่าสิทธิที่จะตาย (right to die) กำลังถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในวงกว้างมากขึ้นพอๆ กับสิทธิมนุษยชนข้ออื่น เช่นเดียวกับการเติบโตของอัตราผู้กระทำการุณยฆาต (จากสถิติของ Regional Euthanasia Review Committees ปี 2017 มีผู้ขอทำการุณยฆาตโดยสมัครใจในเนเธอร์แลนด์รวมแล้วมากกว่า 6,585 ราย) ไหนจะเทรนด์เที่ยวแบบ Euthanasia Tourism ที่จะให้นิยามว่ามันคือการ ‘ตีตั๋วไปตาย’ ก็คงไม่ผิดนัก เพราะนี่คือทริปท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะได้ตีตั๋วเที่ยวเดียวไปยังประเทศที่อนุญาตให้ทำการุณยฆาตได้ (เพราะบ้านเกิดของตัวเองทำไม่ได้) และเลือกจบชีวิตของตัวเองลงที่นั่น
น่าสนใจว่าหากเทรนด์นี้บูมขึ้นเรื่อยๆ จะสามารถสร้างเม็ดเงินให้ประเทศปลายทางได้มากแค่ไหน จะทำให้ประเทศที่ยังไม่อนุญาตการุณยฆาตได้กลับมาถกเถียงและเปิดใจกันอีกครั้งหรือเปล่า
ธุรกิจเกี่ยวกับความตายที่บูมขึ้นในยุคนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการการุณยฆาตเพียงเท่านั้น ในโลกปัจจุบันที่ชาวมิลเลนเนียลส์สวมบทเป็นเจเนเรชั่นที่ลุกขึ้นขึ้นมาขับเคลื่อนสังคมเต็มกำลัง เกิดขบวนการเคลื่อนไหวชื่อว่า Death Positive Movement ซึ่งแม้ชื่อจะดูเป็นการมองในแง่บวกและฟังดูโลกสวย แต่จริงๆ แล้วนี่คือขบวนมูฟเมนต์ที่ชวนให้ทุกคนมาสำรวจความตายอย่างที่ ‘ควรจะเป็น’
The National Funeral Directors Association มีสถิติที่บอกว่า 15.8 เปอร์เซ็นต์ของวัยรุ่นอเมริกันอายุ 18-39 คิดว่าพวกเขาควรวางแผนจัดงานศพตัวเองก่อนอายุ 40 อาจเพราะการอุบัติขึ้นของโควิด-19 ที่อยู่ๆ โลกของเราก็มีเชื้อโรคร้ายมาคร่าชีวิตคนได้เป็นหมื่นๆ คนรุ่นใหม่เริ่มไม่มองความตายว่าเป็นเรื่องไกลตัวหรือพูดถึงไม่ได้ แต่กลับพิจารณาความตายและวางแผนมันอย่างจริงจังตั้งแต่อายุน้อยๆ
เมื่อมีดีมานด์ก็ต้องมีซัพพลาย คนรุ่นใหม่หลายคนมองเห็นโอกาสนี้เลยเปิดธุรกิจของตัวเองมารองรับความต้องการ ซึ่งมีหลายเซอร์วิสที่ขายตัวเองด้วยไอเดียสนุก สร้างสรรค์จนเกือบลืมไปเลยว่ามันคือธุรกิจที่ผูกโยงกับความเป็นไปของชีวิต เช่น
· GatheringUs สมุดบันทึกออนไลน์ที่ชวนให้คนรอบข้างมาจดบันทึกถึงผู้ตายแบบดิจิทัล
· WeCroak แอพพลิเคชั่นที่จะส่งข้อความเข้าโทรศัพท์ของคุณวันละ 5 ครั้งเพื่อเตือนสติ เช่นว่า “อย่าลืมว่าเธอกำลังจะตาย” คล้ายช่วยให้เรายอมรับความตายอย่างเป็นกลาง และโอบรับคุณค่าที่ทำให้ตัวเรามีสติในแต่ละวัน
· Death cafe คาเฟ่ป๊อปอัพสุดชิคที่ชวนให้สายฮอปปิ้งมาจิบกาแฟและพูดถึงเรื่องความตายเหมือนเรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน
· Lantern เว็บไซต์ที่จะช่วยให้เรารับมือกับการตายของคนสนิท หรือแม้กระทั่งวางแผนการตายของตัวเอง โดยนำเสนอเช็กลิสต์ ‘สิ่งที่ต้องทำ’ หลังการสูญเสียใครสักคน อย่างการแคนเซิลยาที่รับต่อเนื่องหรือการยื่นเรื่องภาษีเป็นครั้งสุดท้ายให้ผู้ตาย
· DeadHappy บริษัทสตาร์ทอัพให้บริการประกันชีวิตที่เคลมว่าซูเปอร์ถูก ซูเปอร์ง่าย และซูเปอร์ยืดหยุ่น โดยจะคำนวณความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากอายุผู้ซื้อ เปิดให้ผู้ซื้อได้กำหนดค่าประกันขั้นต่ำรายเดือน รวมถึงให้ผู้ซื้อได้เขียนคำขอ (death-wish) ของตัวเองที่กำหนดออพชั่นสนุกๆ ได้อย่าง ‘เอาขี้เถ้าของฉันไปทำแหวน’ ‘เอาเงินประกันไปจ่ายหนี้ให้ฉันด้วย’ ‘เอาขี้เถ้าของฉันไปโปรยบนอวกาศ’ หรือออพชั่นซึ้งๆ อย่าง ‘ส่งดอกไม้ให้ใครบางคนทุกๆ เดือน’
ในอนาคตอาจมีธุรกิจเกี่ยวกับความตายใหม่ๆ ที่ครีเอทีฟขึ้น ไฮเทคขึ้น ตามยุคสมัย และคงมีอีกหลายประเทศที่ให้สิทธิการตายแก่ประชาชนด้วยการผ่านกฎหมายการุณยฆาต ไม่ว่าคุณจะตัดสินว่าเรื่องนี้ผิดหรือถูก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกกระแสและทุกมูฟเมนต์ที่เกิดขึ้นทำให้เราได้ฉุกคิดว่าในวันหนึ่งเราก็ต้องโบกมือลาโลกนี้ไป
ไม่ว่าจะเลือกวางแผนการตายได้หรือไม่ สิ่งที่เราเลือกได้ในวันนี้คือเราจะใช้ชีวิตยังไงก่อนวันสุดท้ายจะมาถึง