The Love of Anemone Title
เบื้องหลังผ้าบาติกของ Marionsiam ในวันที่อยากถ่ายทอดความละมุนของงานคราฟต์ผ่านยูทูบ
มารียองสยาม (Marionsiam) คือแบรนด์ผ้าบาติกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยลายดอกแอนนีโมนี (anemone) ของ แพท–ทยิดา อุนบูรณะวรรณ หญิงสาวผู้หลงใหลงาน drawing & painting บนผ้าบาติก และรักงานคราฟต์เป็นชีวิตจิตใจ
แพทบอกว่าแบรนด์ของเธอค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ ไม่หวือหวาตลอด 6 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งช่วงหลังนี้ที่เริ่มเป็นกระแสไวรัลมากขึ้น จากการที่เธอชวนคนรัก พีช–ปรมัตถ์ มารศรี มาเป็นคู่ใจในการเล่าเรื่องราวเบื้องหลังแบรนด์ผ่านวิดีโอแสนละมุนใน ยูทูบช่อง @Marionsiam ที่เมื่อถูกแชร์ผ่านโซเชียลมีเดียแล้ว ก็กระตุ้นความสนใจในเรื่องราวของแบรนด์ผ้าบาติกมากขึ้น

ตั้งแต่คลิป Vlog One Day with Me ที่ถ่ายทอดบรรยากาศเรียบง่ายในหนึ่งวันของแพทขณะเขียนเทียนบนผ้าบาติกอย่างใจเย็น ไปจนถึงวิดีโอ Paint with Me & Chill Lofi Beats ที่สัมผัสได้ถึงความอบอุ่นและการเพนต์สีละมุนตา รวมถึงตอน ‘ศิลปะจากอาม่า สู่หลานสาว’ ที่บันทึกความทรงจำอันน่ารักและแรงบันดาลใจจากอาม่าผู้ปลูกฝังความรักในผ้าไทยให้กับเธอ
แพทบอกว่าไม่ได้อยากทำคอนเทนต์ที่เน้นขายของ แต่อยากเล่าเรื่องความเป็นมาของแบรนด์ทั้งส่วนที่ประสบความสำเร็จและเบื้องหลังกว่าจะเติบโตมาถึงจุดนี้ เพื่อให้คนที่รักแบรนด์ได้เติบโตไปด้วยกัน ด้วยแพสชั่นในงานบาติกที่สัมผัสได้หลังแวะเข้าไปชมช่องยูทูบของแพทและพีช วันนี้เลยอยากชวนทุกคนมาฟังเรื่องราวที่ทำให้มารียองสยามกลายเป็นแบรนด์บาติกที่คนรักไปพร้อมๆ กัน



Life Wisdom
The Craft Explorer
เส้นทางของแพทเริ่มจากการเป็นคนชอบทดลองสร้างสรรค์กระบวนการใหม่และเทคนิคใหม่ ก่อนจะหันมาสนใจงานบาติกอย่างเต็มตัว แพทเรียนคณะด้านแฟชั่นที่เปิดกว้างให้สำรวจแนวทางและสไตล์ผลงานสร้างสรรค์อย่างไม่จำกัดกรอบ
“สมัยเรียน ความจริงงานของเราเปิดกว้างเลย เราไม่จำเป็นต้องทำงานคราฟต์เลยก็ได้ ตอนที่สนใจทำงานคราฟต์อาจารย์ก็บอกตั้งแต่แรกว่ามันยากนะ จะทำจริงหรือ เหนื่อยเลย” แต่เพราะครอบครัวชอบพาเดินงาน OTOP สนใจผ้าพื้นเมืองและงานฝีมือเป็นทุนเดิม ทำให้แพทซึมซับกับงานฝีมือโดยไม่รู้ตัว แม้พื้นเพในครอบครัวจะไม่ได้ทำงานฝีมือโดยตรง มีเพียงอาม่าที่ตัดเสื้อผ้าเป็นและเคยสอนแพทตัดเสื้อผ้าด้วยตัวเอง

ความอิสระที่เปิดกว้างในการทดลองของคณะที่เรียนทำให้แพทมีโอกาสทำงานฝีมือหลายแบบ ทั้งการทำงานกับแบรนด์ Pink by Pink ที่เป็นแบรนด์แฟชั่นยุคแรกๆ และ Taktai แบรนด์เสื้อผ้าที่ทำงานกับชุมชน รวมถึงการฝึกงานกับดอยตุงที่ทำให้มีประสบการณ์ทอผ้า ปัก เย็บ ทำแฟชั่นโชว์ รวมถึงการออกแบบงานสร้างสรรค์หลากหลาย ทั้งออกแบบกระดาษสา ออกแบบแพ็กเกจจิ้ง ออกแบบแพตเทิร์นเสื้อผ้า ปั้นเซรามิก ไปจนถึงเขียนลายเบญจรงค์ ซึ่งทำให้เธอค้นพบว่างานที่ถนัดที่สุดคือ drawing และยังมองว่างานเบญจรงค์เองก็เป็นการวาดรูปอีกรูปแบบหนึ่ง
ความสนุกคือ เมื่อแพทสนใจทำงานบาติก แทนที่จะนำเทียนทั่วไปมาใช้ แพทเลือกขอเทียนเหลือใช้จากวัดในอยุธยาที่ไปทำบุญเป็นประจำเพื่อนำมาสร้างสรรค์ผลงาน โดยเทียนเหล่านี้สามารถนำวนกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ ด้วยการหลอม และแพทยังคิดค้นสีย้อมธรรมชาติโทนชมพูจากเปลือกมะพร้าวเหลือใช้ที่ได้จากร้านกาแฟแถวบ้าน และโทนสีฟ้าจากคราม ซึ่งกลายเป็นเฉดสีผ้าบาติกสีเอกลักษณ์ของแบรนด์มารียองสยาม
อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างที่แพททดลองก็ไม่ได้เวิร์กเสมอไป ความท้าทายที่พบในการทำเสื้อผ้าสีย้อมธรรมชาติที่ผ่านมาคือความสม่ำเสมอของสีเสื้อผ้า เพราะผ้าเดดสต็อกในแต่ละล็อตจากอุตสาหกรรมผ้ามีคุณสมบัติต่างกัน ทำให้ควบคุมคุณภาพสีได้ยาก แพทจึงปรับมาใช้สี ‘ย้อมเย็น’ ซึ่งเป็นสีเคมีที่ใช้แต้มลงบนผ้าแทน แต่ยังคงกระบวนการเพนต์ผ้าบาติกด้วยมือทุกขั้นตอนเหมือนเดิม
การทำแบรนด์ผ้าบาติกจึงเป็นสิ่งที่แพทตกตะกอนมาแล้วว่าเป็นความถนัดที่สุด “รู้สึกว่าการลงมือวาดเองทุกชิ้นทำให้งานมีเสน่ห์เฉพาะตัว และความสามารถที่เรามีก็น่าจะพอให้เดินไปในเส้นทางนี้ได้” นั่นจึงเป็นจุดที่เธอตัดสินใจเดินหน้าสร้างแบรนด์มารียองสยามอย่างจริงจัง

Free Hand Meditation
แพทเริ่มต้นเรียนรู้เทคนิคการทำบาติกจากครูช่างในชุมชนที่เชียงใหม่และกระบี่ โดยที่เชียงใหม่จะเน้นการเขียนเทียนด้วย ‘จันติ้ง’ ซึ่งเป็นอุปกรณ์คล้ายปากกาหมึกซึม ใช้ควบคุมการไหลของน้ำเทียนผ่านช่องเล็กๆ ไปตามลวดลายที่ร่างไว้ การเขียนต้องทำอย่างต่อเนื่องพร้อมควบคุมอุณหภูมิของเทียนให้คงที่ เพื่อให้น้ำเทียนไหลอย่างสม่ำเสมอ
“มันเพลินมากและชอบมาก เพราะเราชอบเขียนมากๆ อยู่แล้วด้วย ส่วนที่ชอบที่สุดคือตอนเขียนเทียน เพราะได้อยู่กับตัวเองมากๆ มันไม่ต้องโฟกัสอย่างอื่นเลย แค่ดูว่าน้ำเทียนที่ไหลออกมาคงที่หรือยัง สิ่งที่เราจะทำต่อไปคืออะไร
“การทำบาติกต้องมองข้ามไปข้างหน้าตลอดเวลา เวลาที่แพทจะวาดตรงนี้ ณ ตอนนั้นเราจะไม่ได้คิดว่ากำลังจะวาดตรงนี้ แต่คิดว่าข้างหน้าจะเขียนอะไรต่อไป เราต้องคิดตลอดว่าเสร็จเส้นนี้แล้วจะไปเส้นไหนต่อถึงจะทำให้เทียนออกมาสวย ทุกอย่างจะไหลไปไวมาก เราต้องเห็นทั้งหมดก่อนว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่จะเป็นแบบไหน


“ถ้าฝึกแรกๆ มันก็จะยากนิดหนึ่ง เพราะต้องคุมเส้นเทียน ถ้าเขียนเร็วเกินไปเส้นก็จะเล็ก ไม่สามารถลงสีได้ แต่ถ้าเขียนช้าเกินไป เส้นเทียนจะใหญ่มากจนกระทั่งปิดรูทุกอย่าง จะไม่เหลือที่ให้ลงสีเหมือนกัน”
สำหรับแพท การทำงานบาติกจึงไม่ใช่แค่งานศิลปะแต่เป็นกระบวนการทำสมาธิด้วย ต้องใส่ใจรายละเอียดเพื่อคงความเป๊ะ แต่ก็ต้องพร้อมปล่อยมือและปล่อยใจลื่นไหลไปตามกระบวนการ
“อารมณ์เราในวันนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทุกครั้งที่อารมณ์ไม่ดี เราจะอยากไปทำผ้าเพราะทำให้เรากลับมาอยู่กับตัวเองจริงๆ เราได้พักผ่อนตอนเขียนเทียนเพราะไม่มีใครมายุ่งกับเรา เวลาเราทำงานบาติกจะเป็นช่วงที่เราได้โฟกัสกับตัวเอง เราจะโฟกัสเฉพาะผ้าอย่างเดียว แล้วไม่ได้คิดถึงอย่างอื่นเลย
“กระบวนการคือ เราจะเตรียมการวาดลายคร่าวๆ มาก่อนในกระดาษ และออกแบบมู้ด โทนสีไว้ แต่เวลาที่ทำจริงๆ มันจะเป็นไปตามฟีลลิ่งทั้งหมด ไม่ว่าจะทำแบบในคอมพ์มาก่อนหรือวาดแบบในกระดาษ สุดท้ายแล้วยังไงเราก็ต้องมาทดลองกับผ้าทั้งหมดอยู่ดี เพราะความพิเศษของผ้าแต่ละชนิดส่งผลให้เอฟเฟกต์ที่ออกมาไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นส่วนที่เราไม่สามารถออกแบบมาก่อนได้ในคอมพ์ มันไม่สามารถบอกได้ว่าผ้าแบบนี้ ทำออกมาแล้วจะเป็นแบบที่เราอยากให้เป็นหรือเปล่า”

ทั้งนี้ ภูมิปัญญาการทำผ้าบาติกที่กระบี่จะใช้เทคนิคคล้ายประเทศแถบอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเป็นเทคนิคที่ต่างออกไปจากเชียงใหม่ คือการใช้บล็อกในการแสตมป์ลาย ซึ่งจะมีทั้งบล็อกทองเหลือง บล็อกสังกะสี ซึ่งแพทก็ได้มีการประยุกต์ใช้เทคนิคนี้ด้วยการทำบล็อกไม้รูปดอกแอนนีโมนีเพื่อทุ่นแรงเวลาทำลายซ้ำจำนวนมาก
ลวดลายของบาติกแต่ละพื้นถิ่นจะเป็นลายทางธรรมชาติที่คนแต่ละท้องที่เห็น ซึ่งแพทมองว่าผ้าบาติกภาคใต้มักมีลวดลายเกี่ยวข้องกับภาพทะเล ดอกไม้ ส่วนงานจากเชียงใหม่มักจะเป็นลวดลายที่มีความโมเดิร์นขึ้น ส่วนลายหลักแบรนด์มารียองสยามที่แพทคิดค้นขึ้นเองนั้นเป็นลายดอกแอนนีโมนีที่ไม่ซ้ำใคร ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะโรโกโกและสถาปัตยกรรมเรอแนซ็องส์จากความชอบส่วนตัวในสถาปัตยกรรมที่มีความโค้ง โทนสีพาสเทลหม่น และลายดอกไม้
“เราจำไม่ได้ว่าดีเทลที่ทำให้ออกมาเป็นดอกแอนนีโมนีมาจากไหนด้วยซ้ำ คือมันปนๆ กันมา เราหยิบแรงบันดาลใจมาจากหลายที่ แล้วนำมาตัดทอนมารวมกันอีกทีหนึ่ง จับอันนั้นอันนี้มารวมกัน แล้วก็มานั่งดูทีหลังว่าลายนี้หน้าตาเหมือนดอกไม้อะไรบ้าง เพราะพื้นฐานของเราคือชอบดอกไม้ประมาณหนึ่ง แล้วค่อยตั้งชื่อตามสิ่งที่หามา”
ภายหลังแพทยังพัฒนาลายดอกไม้ไทยอื่นๆ บนผ้าบาติกที่ได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมวัดโพธิ์อย่างดอกกล้วยไม้ ดอกบัว และดอกที่ดัดแปลงมาจากลวดลายของกุฎีจีนอีกด้วย


Business Wisdom
Urban Craft
ณ วันที่เริ่มต้นแบรนด์ แพทออกแบบคอนเซปต์ของมารียองสยามให้เป็น Urban Craft Batik โดยตั้งต้นจากคำถามว่า ทำไมคนถึงไม่ใส่งานบาติกในชีวิตประจำวัน และทำไมถึงแทบไม่มีใครทำแบรนด์ modern batik ในตลาดเลยแพทให้ความเห็นว่าอาจเป็นเพราะโทนสีของบาติกดั้งเดิมมักเป็นสีสดที่ค่อนข้างฉูดฉาด ทั้งเนื้อผ้าและรูปทรงของเสื้อผ้าก็ไม่เหมาะกับลุคโมเดิร์น จึงตั้งโจทย์ใหม่ในการออกแบบเสื้อผ้าบาติกในรูปแบบ business wear เพื่อให้สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันของคนเมือง
ซิกเนเจอร์ของแบรนด์มารียองสยามคือโทนสีพาสเทลละมุน ซึ่งกลายเป็นอัตลักษณ์ที่ผู้คนจดจำแบรนด์ได้โดยไม่รู้ตัว
“palette แรกมาจากสีของสถาปัตยกรรมโรโกโกและเรอแนซ็องส์ แล้วหลังจากนั้นเราก็ใช้ palette เดิมมาตลอดเลย เคยเห็นใช่ไหมคะ เวลาศิลปินมีจานสีของตัวเอง แล้วทำผลงานออกมาเป็นมู้ดเดียวกันเสมอ เพราะมาจากจานสีเดียวกัน”
แม้จะใส่ความชอบของตัวเองลงไปในงานไม่น้อย แต่แพทก็เชื่อว่าการออกแบบแบรนด์ไม่จำเป็นต้องสะท้อนตัวตนของเราทุกด้าน ขอแค่ทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าผู้คนจะตกหลุมรัก“

ความจริงแล้วผลงานที่ออกมากับตัวตนของเรามันไม่ได้ไปด้วยกันเลย งานเราหวานมาก แต่ไลฟ์สไตล์ การแต่งตัวต่างๆ ของเราไม่ได้ไปทางนั้นเลย เสื้อผ้าที่เราหยิบมาใส่ได้จะไม่ใช่สีชมพู ปกติจะใส่สปอร์ตบรา ฮาวายเชิ้ตเป็นปกติ แต่ถ้าตัวที่สไตล์หวานๆ หน่อย เราก็ใส่เองไม่ไหว
“เพราะว่าตอนที่ออกแบบ เราทำให้คนอื่นใส่ เราชอบทำงานแบบนี้ รู้สึกว่างานนี้สวย งานนี้โอเค รู้ว่าวาดออกมาแบบนี้แล้วสวย ต้องมีคนชอบแน่นอน แต่ว่ามันเหมาะกับคนอื่น ไม่ได้เหมาะกับเรา”
สิ่งที่เซอร์ไพรส์ไม่น้อยคือกลุ่มลูกค้าของแบรนด์กลับมีทั้งผู้หญิงและผู้ชายในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน แพทเล่าว่า เวลาบอกใครว่าแบรนด์ของเธอมีลูกค้าชายและหญิงนับเป็นสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง ทุกคนมักแปลกใจ ซึ่งทำให้บางคอลเลกชั่นเป็นเสื้อผ้าสไตล์ unisex เช่น เสื้อฮาวายที่ใช้ผ้าเดดสต็อกผสมกับผ้าบาติก และเพิ่มเทคนิคพิเศษอย่างลายปักรูปดอกแอนนีโมนี
“ที่ผ่านมา คอลเลกชั่นขายดีที่สุดของแบรนด์คือแจ๊กเก็ตแขนพองๆ ที่มีสีฟ้า สีชมพู สีเทา เสื้อผ้าผู้หญิงจะมีสายเดี่ยวและชุดกระโปรง และต่อไปจะมีชุด unisex มากขึ้น เวลาเราทำสินค้าใหม่ ลูกค้าจะเป็นคนบอกเราว่าเขาอยากได้อะไร แล้วเราถึงจะทำของออกมาให้ตรงตามสิ่งที่ลูกค้าของเราอยากได้จริงๆ”

ในช่วงหลัง แพทตั้งใจเริ่มขยับขยายคอนเซปต์แบรนด์จาก Urban Craft Batik ไปสู่คำนิยามว่า urban craft นอกจากทำคอลเลกชั่นพิเศษร่วมกับแบรนด์อื่น อย่างกระเป๋าจากถุงปูนลายมารียองสยามที่ทำร่วมกับ SCG แล้ว ยังอยากสร้างสรรค์สินค้าใหม่ด้วยเทคนิคใหม่
“ตอนนี้อยากทำสิ่งที่ใหม่ขึ้นกว่าเดิมและต่างออกไปเลย เหมือนเราอยู่กับงานตรงนี้ด้วย silhouette แบบนี้มาสักพักหนึ่งแล้ว กำลังคิดอยู่ว่ามีเศษผ้าที่เหลืออยู่จากอุตสาหกรรมผ้าค่อนข้างเยอะแล้ว เราก็แพลนว่าจะเอาเศษผ้าพวกนี้มาลองทำงาน patchwork ดู เพราะชอบ texture มาก อยากทำผลงานที่มีความนูนหรือเป็นขนๆ มากขึ้น
“ต่อไปอยากขยับไปทำของตกแต่งบ้าน ปลอกหมอนอิง แจกัน โคมไฟ ตั้งใจไว้ว่าอยากให้ลายของเราไปอยู่บนสินค้าทุกอย่าง ไปอยู่บนเซรามิกหรือออกมาเป็นงาน sculpture และของตกแต่งต่างๆ อยากลองทำเพราะความจริงก็ชอบ interior ด้วย”


Beloved Brand Aesthetics
หลังจากทำแบรนด์มาหลายปี การสร้างแบรนด์มารียองสยามของแพทเป็นไปอย่าง slow and steady คือเติบโตช้าๆ แต่มั่นคงและสื่อสารเอกลักษณ์ของแบรนด์ชัด
“แบรนด์มารียองสยามจะเติบโตไปตามสถานการณ์ แอบรู้สึกว่าแบรนด์เราโตไปพร้อมๆ กับคนอื่นประมาณหนึ่งเหมือนกัน เราไม่ได้ตามแฟชั่นมากขนาดนั้น เราไม่ค่อยได้ดูเทรนด์เพราะเราทำไม่ทันเทรนด์อยู่แล้ว ด้วยกระบวนการกว่าจะทำผ้า กว่าจะตัดเสื้อผ้า มันใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าปกติ เราไม่สามารถไปแข่งกับคนอื่นได้ เราพยายามทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”

สำหรับแพท สิ่งที่แพงที่สุดคือเวลาที่ใช้ไปในการทำงาน ซึ่งเป็นต้นทุนที่นำมาใช้คำนวณการตั้งราคาเสื้อผ้า “เราต้องคำนวณว่าวันหนึ่งเราทำผ้าได้กี่ผืน เพราะว่าผ้าแต่ละลายก็ใช้เวลาไม่เท่ากัน แต่ในการตั้งราคาเสื้อผ้าแต่ละตัว เราก็ไม่ได้อยากให้ลูกค้ารู้สึกว่าราคามันต่างกันขนาดนั้น เวลาคิดออกแบบลาย เราก็เลยพยายามดูว่าราคาสุดท้ายที่ลูกค้ารับได้จะโอเคที่ประมาณไหน แล้วก็ค่อยแบบออกแบบสินค้าให้เหมาะกับราคาช่วงนั้นอีกทีหนึ่ง
“ส่วนสิ่งที่ท้าทายที่สุดในการทำแบรนด์น่าจะเป็นการทำผ้า เพราะเราต้องทำเอง เขียนเองทั้งหมด มันเป็นงานฝีมือมากๆ ต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งเลยในการทำผลงานแต่ละครั้งขึ้นมา เราเคยพยายามอยากให้มีคนช่วยลองเขียนผ้าบาติก เคยสอนคนอื่นแล้วแต่ว่ายังทำไม่ได้ เพราะมันถ่ายทอดยากประมาณหนึ่ง
“คือเราต้องสอนเขาวาดรูป ซึ่งมันยาก แล้วคนที่มีฝีมือมากพอที่จะมาวาดรูป เขาก็ไปวาดของตัวเอง ไม่ได้อยากจะมาวาดให้เราแล้ว ตรงนี้เลยเป็นสิ่งที่ยังรู้สึกว่ามันยากอยู่ แต่ก็พยายามปรับไปเรื่อยๆ ให้ทำงานได้เร็วขึ้นหรือให้คนอื่นมาช่วยในส่วนที่พอจะช่วยได้”
สิ่งสำคัญที่สุดในการคงความเป็นที่รักของแบรนด์ Marionsiam ซึ่งเป็นคำภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า ‘อันเป็นที่รัก’ จึงเป็นการรักษา aesthetics ของแบรนด์ให้เหมือนวันแรกๆ ที่แฟนคลับแบรนด์ตกหลุมรัก
“อยากให้ทุกอย่างของแบรนด์เรายังคงความสวยงามอยู่เหมือนเดิมตามแบบที่เราชอบ ตอนนี้ยังมีช่วงที่ทำช้า แต่ก็ยังอยากทำแบรนด์โดยที่เรายังรู้สึก enjoy กับงานที่ทำอยู่ แล้วคนก็ชื่นชอบงานของเราอยู่โดยยังคงความเป็นแบรนด์เราแบบนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ”

Editor’s Note : Wisdom from Conversation
ในขณะที่หลายคนมองหาความนิ่งผ่านการนั่งสมาธิ แพท เจ้าของแบรนด์บาติก มารียองสยาม กลับค้นพบสมาธิของตัวเองผ่านปลายจันติ้งและเส้นเทียนที่ไหลไปบนผืนผ้า สำหรับแพท การเขียนลายบาติกไม่ใช่แค่ ‘การวาดรูป’ แต่คือการอยู่กับปัจจุบันแบบลึกซึ้ง พร้อมกับการคิดล่วงหน้าถึงเส้นถัดไปที่มือจะวาด เป็นการฝึกสมาธิที่ไม่ใช่การหยุดนิ่ง แต่คือการเคลื่อนไหวมืออย่างมีสติในทุกจังหวะที่เทียนไหลออกมา
Free Hand, Free Mind คือบทเรียนชีวิตที่ลึกซึ้ง ความนิ่งไม่จำเป็นต้องหมายถึงหยุด แต่หมายถึงการเคลื่อนด้วยใจที่นิ่งพอจะเห็นทางข้างหน้าอย่างชัดเจน ไม่หวั่นไหว และพร้อมจะยืดหยุ่นไปกับเนื้อผ้าแต่ละชนิดที่เพนต์แต่ละครั้งก็ไม่มีวันเหมือนกัน เปรียบได้กับชีวิตที่ไม่มีแบบแผนตายตัว มีเพียงใจที่ฝึกมาเท่านั้น ที่จะรู้ว่าเมื่อไหร่ควรประคองเส้นให้ช้า หรือเมื่อไหร่ควรปล่อยให้ไหลไปอย่างอิสระ
ในโลกธุรกิจที่เร่งรีบและเน้นยอดขาย มารียองสยามกลับเลือกเส้นทางที่ช้าลง แต่มั่นคงกว่า เลือกเป็น Urban Craft ที่ไม่เร่งรีบให้แบรนด์ต้องเปลี่ยนแปลงตามเทรนด์ แต่ค่อยๆ สะสมคนที่ตกหลุมรักตัวตนของแบรนด์จริงๆ
แพทเข้าใจว่าแบรนด์ที่ดีไม่จำเป็นต้องสะท้อนตัวตนของเจ้าของทั้งหมด แต่ต้องมองเห็น ‘คนที่จะใส่’ อย่างแท้จริง และออกแบบผลงานด้วยความเข้าใจว่า aesthetics ไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ภายนอก แต่คือความรู้สึกที่คนรับรู้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย และนั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้แบรนด์กลายเป็น ‘ที่รัก’ ได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพราะเติบโตไวที่สุด แต่เพราะไม่เคยเร่งรีบจนละเลยหัวใจของตัวเอง