Omakase Music

Backstage Pass คุยกับผู้จัด Maho Rasop Festival ถึงการสร้างซีนดนตรีระดับสากล

ย้อนกลับไปปี 2018 ช่วงเวลาที่คอนเสิร์ตในประเทศไทยรุ่มรวยและหลากหลายอย่างขีดสุด มีวงจากต่างประเทศมากมายบินลัดฟ้ามาแสดงโชว์ในไทยเป็นครั้งแรก หรือในฟากฝั่งศิลปินไทยเองก็มีวงหน้าใหม่เปิดตัวนับไม่ถ้วน ทั้งจากค่ายใหญ่ ค่ายเล็ก หรือไม่มีค่ายเลยก็ตาม จนดูเหมือนว่า น่านน้ำวงการดนตรีไทยกำลังเกิดกระแสลูกใหม่ขึ้นมา

 จังหวะนั้นเองที่ Maho Rasop Festival ถือกำเนิดขึ้นมา ด้วยความร่วมมือระหว่าง ท้อป–ศรัณย์ ภิญญรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง ฟังใจ แป๋ง–พิมพ์พร เมธชนัน และกิ–กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร ผู้ก่อตั้ง HAVE YOU HEARD? รวมถึง ปูม–ปิยสุ โกมารทัต ผู้ก่อตั้ง Seen Scene Space ที่ต้องการรวบรวมวงดนตรีทั้งต่างประเทศและไทยไว้ในเฟสติวัลเดียวกัน

แม้ทีมผู้จัดจะเปรียบตัวเองเหมือนร้านบุฟเฟต์ที่รวมความหลากหลายของดนตรี พร้อมเสิร์ฟให้ทุกคนลิ้มลอง แต่ในมุมของผู้ร่วมงานหลายคนกลับรู้สึกว่าเฟสติวัลนี้เหมือนร้านอาหารโอมากาเสะที่เข้าใจทั้งตัวเองและกลุ่มผู้ฟัง จนจัดเสิร์ฟดนตรีที่มีรสชาติหลากหลาย ถูกอก ถูกใจ และถูกรสนิยมคนฟังได้ ทั้งศิลปินเบอร์ดังที่หลายคนรู้จัก ศิลปินหน้าใหม่ที่อยากนำเสนอ หรือศิลปินที่ไม่คิดว่าชีวิตนี้จะมีโอกาสได้ดู พวกเขาก็นำมาเสิร์ฟให้ที่กรุงเทพมหานคร 

ก่อนที่ไปฟังเพลงจากผู้จัดรายนี้อีกครั้งใน Maho Rasop Festival 2024 วันนี้ Capital ได้นั่งพูดคุยกับผู้จัดทั้ง 4 คนถึงเบื้องหลังของการทำเฟสติวัลตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบันว่าเป็นยังไงบ้าง 

อะไรที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ Maho Rasop Festival 

กิรตรา : มันเริ่มมาจากการพูดคุยของพวกเราทั้ง 4 คน โดยท็อปเป็นคนเสนอว่า ถึงเวลาแล้วที่กรุงเทพฯ ควรจะมี International Festival สักที เลยชวนพวกเรามาเริ่มทำ 

ปิยสุ : พวกเราคุยกันตั้งแต่ปี 2017 ก็จริง แต่ก่อนหน้านี้ทุกคนมีความฝันที่จะทำเฟสติวัลมาโดยตลอด ซึ่งพอได้มาคุยกันจริงๆ เลยมองว่า ถ้าพวกเราได้รวมตัวกันมันคงจะเกิดขึ้นจริงได้มากกว่าแยกกันทำ เลยเกิดเป็นการรวมตัวของผู้จัดคอนเสิร์ตทั้ง 3 เจ้า

คิดว่าอะไรคือข้อจำกัดที่พวกคุณไม่สามารถทำเฟสติวัลได้เพียงลำพัง

พิมพ์พร : ความเสี่ยงที่ต้องแบกรับจากการเริ่มทดลองเป็นเรื่องที่ทำให้เราคิดไม่ตก ดังนั้นการได้มีทีมที่เขาอาจเก่งกว่าเราในบางเรื่องมาทำงานร่วมกัน น่าจะทำให้สามารถรับมือกับบางอย่างที่ดูเป็นเรื่องยากได้ดีขึ้น

ศรัณย์ : ด้วยความที่ผู้จัดทั้ง 3 แต่ละคนมีความชำนาญไม่เหมือนกัน HAVE YOU HEARD? ก็จะถนัดในการติดต่อกับวงฝั่งยุโรป Seen Scene Space ก็คลุกคลีกับวงฝั่งเอเชียเป็นหลัก หรือฟังใจจะเน้นการทำงานกับศิลปินในประเทศไทยส่วนใหญ่  แต่ละคนยังมีทรัพยากร มีจุดเด่นในการจัดการต่างๆ เกี่ยวกับคอนเสิร์ตที่ต่างกัน 

การจะทำคอนเสิร์ตระดับเฟสติวัลได้มันต้องใช้ทรัพยากร ใช้พลังงานค่อนข้างเยอะ เราเลยรู้สึกว่าถ้ารวมกันได้น่าจะทำให้เกิดเฟสติวัลที่มีคุณภาพได้

แต่ละคนมีจุดเด่นเป็นของตัวเอง แล้วอะไรที่เป็นจุดร่วมของผู้จัดทั้ง 3 ราย

ปิยสุ : อธิบายง่ายที่สุดเลยคือ ทุกคนมีความฝันเหมือนกัน มีปลายทางที่อยากสร้างเฟสติวัลในกรุงเทพมหานคร เพราะด้วยความที่ทุกคนเป็น festival goer ชอบไปเฟสติวัลในประเทศต่างๆ เลยอยากให้เมืองไทยมีอะไรแบบนี้บ้าง เพราะหันไปประเทศเพื่อนบ้านเขาก็มีกันหมดแล้ว 

พวกเรายังอยากนำเสนออะไรใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ดนตรีกระแสหลัก คือในบางครั้งเราไปเจอวงดนตรีดีๆ มา เราก็อยากให้คนที่มีรสนิยมการฟังเพลงคล้ายๆ กันได้รู้จัก ได้มาดูโชว์ของพวกเขาบ้าง แต่พอไม่มีใครทำสักทีก็เลยคุยกันว่าคงต้องเป็นพวกเราเองแล้วล่ะที่ต้องเริ่มทำขึ้นมา 

ศรัณย์ : อีกอย่างถึงจะไม่ได้ทำงานด้วยกัน แต่พวกเราก็ไม่ใช่คนแปลกหน้า เราอยู่ในวงการ เจอกันตามงานต่างๆ มาโดยตลอด จนรู้ว่ามีรสนิยมในการฟังเพลงที่ใกล้และเชื่อมโยงกัน ถึงยังไงก็ตาม พอต้องมาทำงานบางอย่างก็ต้องปรับจูนกันบ้าง จนสุดท้ายก็ได้บรรยากาศและความเป็น ​​Maho Rasop Festival ขึ้นมาได้ในปี 2018 

ในวันแรกออกแบบ Maho Rasop Festival เอาไว้อย่างไรบ้าง

พิมพ์พร : ไม่ได้วางแผนเลยว่าจะต้องเป็นแบบไหน เราเริ่มจากประชุมกันว่า แต่ละคนมีอะไรอยู่ในมือบ้าง แล้วถ้าเอามารวมกันจะหน้าตาเป็นยังไง ซึ่งมันก็กลายเป็น Maho Rasop Festival 2018 ขึ้นมา มีทั้งวงจากตะวันตก จากในเอเชียและจากไทย 

ศรัณย์ : พูดตามตรงในปีแรกเราอาจมีภาพที่ไม่ชัดเจนมาก เพราะด้วยความที่ทุกอย่างมันใหม่หมด ในตอนนั้นคิดกันง่ายๆ คือเราอยากมีเทศกาลดนตรีที่คุณภาพระดับ Clockenflap หรือถ้าเป็นไปได้ก็อยากไปถึง Primeval Music Festival ส่วนไลน์อัพเราก็จัดแบบเท่าที่จะจัดการไหว เพราะเราก็ยังไม่มีภาพที่ชัดเจนว่าคนไทยอยากดูอะไรจริงๆ เราเลยเริ่มจากนำเสนอสิ่งที่เรามีอยู่ในมือก่อน และทำให้หลากหลายที่สุด 

ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการคัดเลือก ทั้งการใช้คำว่ามหรสพเป็นชื่อเฟสติวัล รวมถึงวงดนตรีที่จะเล่นภายในงาน 

ศรัณย์ : เรื่องชื่อจริงๆ ได้มาไม่ยาก เพราะตอนแรกเราตั้งโจทย์กันว่าอยากได้คำที่นำเสนอความเป็นไทยได้ชัดเจน ซึ่งคำว่ามหรสพมันแข็งแรงมาก เพราะมันสื่อถึงความเป็นไทย อีกทั้งยังไม่ค่อยมีใครนำมาใช้ให้มาร่วมสมัยเท่าไหร่ คำนี้มันเลยเตะตาเรามาก 

ปิยสุ : อีกข้อดีหนึ่งคือ พิมพ์ชื่อนี้เป็นภาษาอังกฤษลงไป ไม่มีเจออย่างอื่นนอกจากเฟสติวัลของเราแน่นอน ในแง่ความเป็น SEO (search engine optimization หรืออันดับการค้นหายอดนิยม) จะแข็งแรงมากๆ (หัวเราะ)

พิมพ์พร : ส่วนเรื่องวงดนตรีก็มีบางวงนะ ที่เราเพิ่งเริ่มมาศึกษา เพิ่งมารู้จักตอนจะชวนมาเล่นกับเราเป็นครั้งแรก ดังนั้นบางวงมันไม่ได้มาจากความชอบของเราอย่างเดียว แต่บางทีเป็นช่วงจังหวะที่วงนี้เขากำลังมาทัวร์ที่เอเชีย ราคาพอรับไหว แล้วเพลงของเขาก็ถูกใจพวกเราอีก วงดนตรีกลุ่มนี้ก็จะมาเล่นใน Maho Rasop Festival ด้วยเหมือนกัน 

มีวงไหนบ้างที่เพิ่งรู้จักเป็นครั้งแรกใน Maho Rasop Festival 2018 

ปิยสุ : ของเรามี Sunflower bean, 惘聞 Wang Wen

พิมพ์พร : Oddisee ก็เป็นอีกหนึ่งวงที่ไม่รู้จักในตอนแรก แต่พอไปดูคลิปที่เขาเล่นสดแล้วรู้สึกว่า มันดีว่ะ จนสุดท้ายเขาก็มาสร้างความประทับใจ กลายเป็นม้ามืดในงานปีแรกของเรา 

ในการจัดเฟสติวัลปีแรก อะไรคือเรื่องท้าทายมากที่สุดสำหรับพวกคุณ

พิมพ์พร : ทุกอย่างมันใหม่หมดเลย เราไม่เคยทำ บางอย่างเลยจะมีหลุดๆ รั่วๆ บ้าง อย่างเรากับกิ ก็ไม่เคยดูแลวงดนตรีสิบกว่าวงในเวลาเดียวกัน ต้องทำวีซ่า work permit จัดหารถรับ-ส่ง ทุกอย่างมันทวีคูณหมด 

ศรัณย์ : ฟังใจเองที่จัดการโอเปอเรชั่นก็หัวหมุนไม่แพ้กัน เพราะไม่เคยทำงานในพื้นที่ใหญ่ขนาดนี้ จะเซตอัพเฟสติวัลต้องใช้เวลาขนาดไหนเราก็กะเวลาไม่ถูก ไหนจะเรื่องฝนที่ต้องรับมือ 

ปิยสุ : สำหรับเรายากสุดคือการสื่อสารให้คนเข้าใจ เพราะในปีแรกทุกอย่างใหม่มาก เขาไม่รู้ว่าเราเป็นใคร เฟสติวัลหน้าตาจะแบบไหน จะมอบประสบการณ์แบบใดให้กับพวกเขา เราเลยต้องใช้วิธีเอาไลน์อัพศิลปินในปีนั้นมาคุย ว่าคุณจะได้ดูวงนั้นวงนี้ 

คำว่า ‘ประสบการณ์’ ของการมาดู Maho Rasop Festival หน้าตาเป็นยังไง

ศรัณย์ : เราจะชอบใช้คำว่าเหมือนกับการกินบุฟเฟต์ คือการเดินเข้าร้านแบบนี้ เราจะตั้งธงในใจไว้อยู่แล้วว่าอยากกินอาหารญี่ปุ่น อยากกินอาหารไทย แต่ในเมื่อไลน์อาหารบุฟเฟต์มีอาหารเม็กซิโก อาหารอินเดียอยู่ คุณจะไม่ไปลองชิมหน่อยเหรอ เพราะคุณอาจได้ของอร่อยใหม่ๆ มากขึ้นกว่าเดิม 

เราจึงอยากนำเสนอประสบการณ์แบบนี้ ที่เวลาคุณมาเฟสติวัล คุณซื้อบัตรเพราะวงที่คุณชื่นชอบ ในระหว่างอยู่ในงานคุณอาจได้ลองฟังวงใหม่ๆ ที่ไม่รู้จักมาก่อนดูบ้าง 

หลังจาก Maho Rasop Festival ครั้งแรกจบลง คุยกันยังไงว่าต้องมีครั้งที่ 2 แล้ว

กิรตรา : จำได้ว่าคุยกันทันทีหลังจากที่งานครั้งแรกจบเลย แล้วก็ประกาศทันทีในคืนนั้นว่าจะมีครั้งที่สอง และจะจัดสองวัน 

ปิยสุ : ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบรรยากาศในวันนั้น สีหน้าของคนร่วมงานในวันนั้น กระทั่งมีคนบอกว่าอยากให้จัดต่อ มันเป็นสัญญาณบางอย่างว่ามีอะไรที่พิเศษเกิดขึ้นในเทศกาลนี้ ก็เลยรู้สึกว่าต้องไปต่อนะ 

ศรัณย์ : แต่เราก็ต้องปรับปรุงหลายอย่างให้ดีขึ้น เรื่องใหญ่สุดคือเสียงตีกัน และฝนที่ตกลงมา รวมถึงความปลอดภัยอื่นๆ ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นหลัก

ความสำเร็จจากปีแรก ส่งผลยังไงในการจัดงานในปีต่อๆ มา  

ศรัณย์ : ข้อดีคือตอนนี้เราสื่อสารกับคนอื่นรู้เรื่องแล้ว เรามีแบรนดิ้ง เรามีภาพ มีตัวอย่างในปีก่อนให้ดู ทำให้การติดต่อ การเลือกคัดเลือกวงดนตรีมีความคล่องตัวมากขึ้น อีกทั้งยังได้ทำความเข้าใจว่าคนมาเฟสติวัลของเราเป็นใคร ต้องการอะไร กำลังหาดนตรีแบบไหนอยู่ 

กิรตรา : อย่างในปีที่ 2 เรามีวงอย่าง Bombay Bicycle Club, King Gizzard & The Lizard Wizard, Swim Deep, The Drum ตอนแรกมี Cuco ด้วยนะ แต่สุดท้ายดีลไม่เกิดขึ้น

ศรัณย์ : คือปีที่ 2 นี้น่าจะเป็นปีที่ไลน์อัพดีและสนุกที่สุดในความคิดเราแล้ว 

พิมพ์พร : แต่ก็เหนื่อยสุดๆ เหมือนกัน คนทำก็เหนื่อย คนดูก็เต้นจนเหนื่อย (หัวเราะ)

ดูเหมือนกำลังไปได้ดี แต่การเข้ามาของสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลยังไงต่อพวกคุณบ้าง 

กิรตรา : ระหว่างที่เตรียมงานกันก็ต้องคอยตามข่าวอยู่ตลอดว่าจะเอายังไง ตอนนั้นก็มีแผนอื่นเหมือนกันนะ ว่าหรือจะไปทำเฟสติวัลสนับสนุนศิลปินในไทยอย่างเดียวพอ  

ศรัณย์ : สุดท้ายก็ไม่ได้จัดนั่นแหละ เพราะพวกเราก็ต้องไปเอาตัวรอดกับบริษัทของตัวเอง จนมาปี 2022 ที่รู้สึกว่าอะไรเริ่มเข้าที่เข้าทาง เลยตัดสินใจว่าจะจัดงานอีกครั้งซึ่งถือว่าเริ่มช้ามาก และอะไรต่างๆ ก็ยังไม่ลงตัวด้วย ถึงขนาดสปอนเซอร์หลักยังบอกเลยว่าให้เตรียมเฟสติวัลแบบออนไลน์ไว้กรณีที่มันยังกลับมาจัดงานแบบ on ground ไม่ได้

พอมาจัดจริงๆ ปีนั้นก็ถือว่ายากที่สุด เพราะตอนนั้นโลกมันเพิ่งเปิด การจะชวนศิลปินเบอร์ใหญ่ๆ มาเล่นกับเราไม่ง่าย เพราะพวกเขาก็มี waiting list คิวยาวเป็นหางว่าว รวมถึงจะให้เขาบินข้ามโลกมาเล่นที่ไทย หลายวงก็ยังไม่กล้ารับความเสี่ยงขนาดนั้น 

ปิยสุ : ดังนั้นถ้าสังเกตดีๆ ไลน์อัพในปีนี้จะมีวงเอเชียเยอะเป็นพิเศษ 

กิรตรา : ในด้านคนฟังเองเขาก็มีความกังวลไม่ต่างกัน บรรยากาศมันคนละแบบกับปี 2019 เลย คือมันจะมีทั้งกลุ่มที่ไม่พร้อม ไม่อยากออกไปไหน กลัวจะติดเชื้อ กับกลุ่มที่อยากออกมากๆ พร้อมจะไปร่วมงานสุดๆ 

ในแง่การจัดการมีอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลงอีกไหม

กิรตรา : เรื่องเวลาที่กระชั้นชิด อันนี้กระทบกับเราที่ต้องดีลกับศิลปินโดยตรง จากที่ทุกอย่างทำภายใน 3-4 เดือน ปีนั้นก็มีเวลาแค่เดือนเดียว ทำให้ทุกอย่างมันเสร็จก่อนงานจะเริ่ม 

ศรัณย์ : เรื่องการย้ายสถานที่ไปจัด ESC Park ก็ต้องสื่อสารกับคนดูให้เข้าใจว่าต้องเดินทางไปชานเมืองแล้วนะ จากที่เคยอยู่ใจกลางเมือง ซึ่งก็ต้องมีจัดการจัดที่ดีพอ ทำให้เขารู้สึกว่าไม่ลำบาก 

แต่สำหรับตัวผู้จัดเองถือว่าหนักไม่น้อยเลย กับการประสานงานต่างๆ ที่มันต้องใช้เวลาเดินทางไกลกว่าเดิม แถมพื้นที่ตรงนี้ก่อนวันงานฝนตกอีกบอกเลยว่า ‘คนบ่นกันให้ลึ่ม’ หลายคนบอกให้กลับไปจัดที่เดิมเดี๋ยวนี้นะ แต่ก็มีบางคนเขาก็ชอบนะ เขาเล่าว่าชอบบรรยากาศลุยๆ หญ้าๆ มันให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในเฟสติวัลที่เขาเคยไปมาดี 

พิมพ์พร : สำหรับเรา เราชอบพื้นที่ตรงนี้นะ มันใหญ่ขึ้น มันควบคุมเสียงได้ มันมีพื้นที่สีเขียว จะติดก็เรื่องการเดินทาง จนปีต่อมาเราก็แก้ปัญหาด้วยการมีรถคอยรับ-ส่ง เราเลยรู้สึกว่าที่ตรงนี้มันลงตัวมากยิ่งขึ้น

จนถึงตอนนี้ยังมีปัญหาหรือกลัวการที่ผู้ฟังจะไม่รู้จักศิลปินในเฟสติวัลอยู่บ้างไหม

ศรัณย์ : ไม่เลย มาวันนี้เราค่อนข้างมั่นใจแล้ว ว่าเขาชอบดนตรีประมาณนี้ ชอบการแสดงแบบนี้ ผมเริ่มสังเกตเห็นว่า คนมหรสพเขาจะมีพฤติกรรมหรือรสนิยมยังไง

คำว่า ‘คนมหรสพ’ ที่คุณพูดถึง หมายถึงคนลักษณะไหน

พิมพ์พร : ในวันนี้จะตอบโดยสรุปเลยก็คงไม่ได้ เพราะ Maho Rasop Festival เพิ่งมีมา 4 ปี ยังเป็นการเดินทางที่สั้นอยู่ แต่ด้วยความที่เราเอาดนตรีมาเป็นจุดเชื่อมโยง เราเลยรู้สึกว่าคนมหรสพคือคนที่มีเสียงเพลง และดนตรีในชีวิตแต่ละวัน ชอบค้นหา ศิลปิน และดนตรีที่ตรงกับรสนิยม และแน่นอนว่ารักการดูคอนเสิร์ต 

นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่ม festival goer จากทั่วโลกที่เดินทางมาไทย ซึ่งคนกลุ่มนี้เขาไม่ได้ชอบฟังเพลงอย่างเดียว แต่เขายังชอบบรรยากาศแบบเทศกาล ที่ในช่วงสุดสัปดาห์เขาจะได้มาอยู่ มากิน มาฟัง ใช้ชีวิตอยู่ในเฟสติวัลที่พวกเขาชอบ 

สำหรับ Maho Rasop Festival 2024 ในปีนี้จะมีความพิเศษยังไงบ้าง 

ศรัณย์ : วันนี้นอกจากกลุ่มคนที่ฟังเพลงจริงจังแล้ว เราอยากชวนคนกลุ่มอื่นๆ มากขึ้น ที่นอกจากชอบฟังเพลง ก็ยังรักในไลฟ์สไตล์ ชอบทำกิจกรรมต่างๆ มาเข้าร่วมงาน เพราะเราก็เริ่มเปิดรับพื้นที่อื่นนอกจากดนตรี ทั้งกิจกรรม หรืองานศิลปะ ก็จะเป็นสิ่งที่มาอยู่ในเฟสติวัลปีนี้ 

อีกเรื่องคือรูปแบบของไลน์อัพศิลปินที่เราจะเพิ่มความเฟมินีน (feminine) มากขึ้น พยายามล้างภาพจำที่เราจะมีแต่วงโพสต์พังก์สวมชุดดำ ตัวเปื้อนเหงื่อ ต้องทำมอชพิต (mosh pit) ใส่กันเพียงอย่างเดียว ปีนี้ก็จะหลากหลายมากขึ้น

สำหรับพวกคุณ การจะทำเฟสติวัลขึ้นมาต้องมีแนวคิดหรือทักษะยังไงบ้าง

พิมพ์พร : จริงๆ นี่คืองานที่ยากมากเลยนะ เพราะเราใช้เวลาทั้งปี เพื่องานที่จัดเพียงแค่ 2 วัน ดังนั้นอันแรกคือคุณต้องมีทรัพยากรที่พร้อม ทุน ผู้คน คอนเนกชั่น และทีมงานส่วนอื่นๆ ที่ต้องมาร่วมลงมือลงแรงทำสิ่งนี้

ศรัณย์ : ที่สำคัญคือต้องท่องไว้เสมอว่านี่คือเกมระยะยาว โดยส่วนใหญ่แล้วเฟสติวัลมักจะขาดทุนก่อนในปีแรกๆ เพราะมันต้องสร้างความเข้าใจ สร้างกลุ่มผู้ชม สร้างคอมมิวนิตี้ขึ้นมา ดังนั้นมันเลยต้องใช้เวลาสักพัก 

พิมพ์พร : แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไปวางเป้าหมายอะไรเลยนะ ธงระยะสั้น 3 ปีต้องเกิดสิ่งนี้ 5 ปีต้องมีสิ่งนั้น เหล่านี้ก็ต้องทำอยู่เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าสิ่งที่เราทำกัน มันมาถูกทางหรือไม่

สำหรับพวกคุณ เฟสติวัลที่ดีต้องเป็นยังไง

ปิยสุ : มันเป็นสถานที่ที่เราต้องไปใช้ชีวิตได้ทั้งวันตั้งแต่บ่ายยันค่ำ คือเฟสติวัลต้องไม่ใช่สถานที่แค่ฟังดนตรี แต่ต้องไปอยู่ ไปกิน ไปทำกิจกรรมในนั้น แล้วเขาได้ประสบการณ์ดีๆ กลับบ้านไป 

ศรัณย์ : เรื่องการจัดไลน์อัพศิลปินก็สำคัญ เฟสติวัลที่ดีควรมีวิสัยทัศน์ว่ากำลังนำเสนออะไร กำลังคุยกับใคร นำเสนอดนตรีแบบไหน ซึ่งมันไม่ได้มีแบบไหนผิดหรือถูก เพียงแต่ต้องมีความชัดเจน ไม่ใช่แค่ไปดูศิลปินที่มีเพลงฮิต มียอดฟังในสตรีมมิงเยอะ แล้วเอามารวมกัน โดยไม่มีการคิดต่อว่าผู้ชมจะได้รับประสบการณ์แบบไหนกลับไป

กิรตรา : เราว่ามันคือความกลมกล่อม เวลาไปแล้วเราต้องรู้สึกได้ว่าเขาอยากนำเสนอบรรยากาศแบบไหนให้กับเรา 

พิมพ์พร : สุดท้ายคือการอำนวยความสะดวก ตั้งแต่ค่าบัตรที่เหมาะสม สถานที่ไม่แออัด การจัดการภายในงานที่ดี ทำให้เขารู้สึกว่าปีหน้าอยากกลับมาเฟสติวัลนี้อีก 

ในวันนี้ พวกคุณอธิบายกับคนอื่นยังไง เวลามีคนถามว่า Maho Rasop Festival คืออะไร

พิมพ์พร : สุดท้ายมันก็คือมิวสิกเฟสติวัล สำหรับเราไม่ได้มีนิยามอะไรที่มากไปกว่านี้ เพียงแต่ในมุมของผู้จัด เรามีตัวอย่างให้เห็นว่าเราคือเฟสติวัลที่มีความมืออาชีพ จัดการภายใต้เวลาอันจำกัดได้ 

อย่างวง King Gizzard & The Lizard Wizard ปีนั้นไม่มีซาวนด์เช็กนะ ทางวงมาถึงไทยช่วงเย็น แล้วขึ้นโชว์เลย เราก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมไว้ก่อน ซึ่งพอมันมีตัวอย่าง มีการพูดถึงว่าเฟสติวัลนี้มีการจัดการหลังบ้านที่ดี มันก็เป็นเครดิตที่เราใช้ติดต่อสำหรับงานปีต่อๆ ไปได้ 

หลังจากนี้ Maho Rasop Festival มีเป้าหมายยังไงบ้าง 

กิรตรา : หวังให้ชื่อของ Maho Rasop Festival เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น เวลาศิลปินเขามีทัวร์ มีอัลบั้มใหม่ ก็อยากให้เขานึกถึงเราเป็นชื่อแรกๆ

ศรัณย์ : คงอยากให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหมุดหมายของงานเฟสติวัลระดับโลก ให้คนได้รู้ว่าในกรุงเทพมหานครมีงานอย่าง Maho Rasop Festival อยู่

พิมพ์พร : ส่วนเราอยากเห็นวงในอาเซียน รวมถึงในไทยเติบโตในเฟสติวัลโลก อยากเห็นพวกเขาเป็นเฮดไลน์ในงานต่างๆ และทำให้กรุงเทพฯ เป็นที่รู้จักในฐานะเมืองดนตรีมากยิ่งขึ้น

Writer

KFC ฟิลเตอร์สตอรี่ไอจี และ Tame Impala คือสิ่งที่ทำให้ทุกวันนี้อยากมีชีวิตอยู่

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like