Learn to Earn

ถอดหลักการพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนของบ้านหลอมปืน จังหวัดสตูล ที่โดดเด่นได้ แม้เป็นเมืองรอง

กระแสการท่องเที่ยวชุมชนได้รับความนิยมเป็นระยะ แต่การท่องเที่ยวชุมชนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่เอาชนะใจทั้งนักท่องเที่ยว และสร้างรายได้เสริม บ้างก็รายได้หลักให้คนในชุมชนอย่างยั่งยืนจริงๆ เพราะปัจจัยที่จะทำให้ชุมชนนั้นๆ ยืนหยัดด้วยตนเองได้ ไม่เพียงต้องมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองเท่านั้น แต่ผู้ที่เป็นผู้นำหรือผู้หวังพัฒนาชุมชนก็ต้องพร้อมไปด้วยทักษะรอบด้าน

การพัฒนา ‘นักพัฒนาชุมชน’ จึงเป็นเรื่องจำเป็น และด้วยความเชื่อที่ว่าการพัฒนาคนคือสิ่งสำคัญ ทำให้มูลนิธิเอสซีจีก่อตั้งโครงการขึ้นภายใต้ธีม ‘Learn to Earn’ ที่มุ่งผลิตนักพัฒนารุ่นใหม่หรือที่เรียกว่า ‘ต้นกล้า’ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรคนในหลายชุมชนขึ้น

ในบรรดาต้นกล้าที่มูลนิธิเอสซีจีร่วมผลักดัน ‘ต้นกล้าเป็ด–จักรกริช ติงหวัง’ ลูกหลานชาวประมงที่ผันตัวจากนักอนุรักษ์มาเป็นนักพัฒนานั้นมีผลงานโดดเด่น เพราะเขาและทีมงานมุ่งพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนบ้านหลอมปืน ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูลจนเริ่มมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเมืองรองเล็กๆ แห่งนี้ 

ไม่เพียงเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนได้กว่า 20 ไร่ แต่ยังสร้างเด็กและเยาวชนนักพัฒนากว่า 30 คน ทั้งยังสร้างรายได้เสริมกระจายสู่ชุมชนกว่า 60 คน คนละประมาณ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน และสร้างรายได้ให้ตัวเอง ประมาณ 15,000 บาท ต่อเดือน

และต่อไปนี้คือบทเรียนที่ได้รู้จากการที่ต้นกล้าเป็ดร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนมานานหลายสิบปี ว่าแล้วคนที่อยากกลับบ้านหรืออยากทำงานพัฒนาชุมชนบ้าง ต้องมีทักษะอะไร?

วิเคราะห์ชุมชนให้ได้

  • แต่ละชุมชนย่อมมีความโดดเด่นต่างกัน การมองตัวเองในกระจกเพื่อสะท้อนถึงคนรอบข้างและชุมชนจึงสำคัญมาก เพราะความเป็นเราในวันนี้ล้วนหล่อหลอมขึ้นจากชุมชนที่เราอยู่ทั้งสิ้น
  • อย่างบ้านหลอมปืน จังหวัดสตูลที่แม้จะเป็นเมืองรองที่ไม่มีสนามบินเป็นของตัวเอง และไม่ได้เต็มไปด้วยแสงสีเหมือนจังหวัดรอบข้าง แต่ต้นกล้าเป็ดพบว่าวิถีผู้คน กลิ่นอายมลายู ภูเขา คลอง และทะเลที่สงบ รวมถึงการเป็นแหล่งธรณีที่สำคัญของโลกนั้นคือจุดเด่น โจทย์ต่อไปที่ต้นกล้าเป็ดต้องทำให้ได้คือจะทำยังไงให้นักท่องเที่ยวมองเห็นสิ่งเหล่านี้และคำตอบจากโจทย์นั้นเองที่จะเป็นแผนกำหนดชุมชนต่อไป

บริหารคนให้เป็น

  • การท่องเที่ยวชุมชนจะเกิดขึ้นโดยคนคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชน การรวมพลในชุมชนจึงต้องเกิดขึ้นก่อนโดยเน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีในฐานะลูกหลาน หรือคนที่เห็นคุณค่าต่อกันเพราะการทำงานกับคนนั้นซับซ้อนไม่เบา
  • ขั้นต่อไปคือการทำให้คนในชุมชนจับมือไปพร้อมกัน เน้นทำให้คนในชุมชนเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านกิจกรรมเล็ก กิจกรรมน้อยที่กำหนดจุดประสงค์ชัดเจนเพื่อตอบโจทย์ใหญ่ที่ต้องการแก้ไข 
  • ต้นกล้าเป็ดแนะว่าไม่มีการสอนไหนที่ทำให้คนเห็นภาพได้เท่าการพาลงมือทำจริง เมื่อต้องการพัฒนาชุมชนผ่านการท่องเที่ยว ก็ต้องหาทริปจริง ทัวร์จริงมาให้คนในชุมชนฝึกฝนวิทยายุทธให้ได้ 
  • อีกเรื่องที่ละเลยไม่ได้ คือการหมั่นสร้างเยาวชนรุ่นใหม่อยู่เสมอ เพราะการทำงานชุมชนจะขาด ‘คน’ ไม่ได้เป็นอันขาด และการพาเยาวชนร่วมทำกิจกรรมด้วยตั้งแต่ยังเด็กนั้นต้องนำด้วยความสนุกเป็นหลัก ส่วนสาระต้องเน้นสอดแทรก เพื่อให้เด็กๆ ค่อยๆ ซึมซับเรื่องการพัฒนาชุมชนไปโดยไม่รู้ตัว เช่นที่ต้นกล้าเป็ดถูกบ่มเพาะมา

ทักษะของผู้นำและนักพัฒนาที่จะอยู่รอดได้

  • สำหรับต้นกล้าเป็ด ความเก่งไม่ใช่คำตอบของการทำงานชุมชน แต่กลับเป็นความทะเยอทะยานและความไม่ย่อท้อ เพราะงานชุมชนเป็นงานที่ซับซ้อนและใช้ระยะเวลานานกว่าจะเห็นผล ชีวิตของนักพัฒนาจึงคือการลากเส้นต่อจุด ที่ในวันนี้อาจไม่เห็นผลลัพธ์ชัดเจน แต่ผลจากความพยายามจะปรากฏขึ้นในอนาคต
  • แพสชั่นสำคัญกับการทำงานชุมชนก็จริง แต่ความรู้นั้นสำคัญกว่า ต้นกล้าเป็ดได้หลักการการพัฒนาชุมชนจากประสบการณ์การทำงานชุมชนมานาน รวมถึงการหมั่นอบรมกับภาครัฐภาคเอกชนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเรื่องการท่องเที่ยว การทำการตลาด การพัฒนาธุรกิจ 
  • สุดท้าย การจะพัฒนาชุมชนให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนจริงๆ ตัวผู้นำหรือนักพัฒนาต้องตั้งเป้าหมายและภาพฝันให้ชัดเจนว่าต้องการผลักดันชุมชนไปทิศทางไหน เพราะการทำงานชุมชนนั้นต้องแลกมาทั้งชีวิต

“ที่ผมมาอยู่ตรงนี้ได้ ผมไม่ได้เพิ่งฝัน หรือฝันระหว่างทาง แต่ผมมีภาพฝันตั้งแต่จุดที่ผมจะเดินว่าชุมชนจะมีรายได้ เห็นว่าบ้านหลอมปืนจะพัฒนาขึ้นตั้งแต่ตอนที่ยังไม่เริ่มทำโครงการเท่าไหร่ ทั้งหมดมันมาจากการที่ผมเห็นภาพอนาคต ผมมีจินตนาการ” ต้นกล้าเป็ดบอกไว้เช่นนั้น

Tagged:

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

You Might Also Like