สรุปวิกฤตเศรษฐกิจลาวตอนนี้ ที่ทำให้คนลาวต้องต่อคิวรอเติมน้ำมันเป็นชั่วโมง

ภาพของชาวลาวที่ไปรอต่อคิวเพื่อเติมน้ำมันกันเป็นชั่วโมงจนหางแถวยาวออกมานอกปั๊ม เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่ลาวกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้

สาเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าวที่ชาวลาวต่อคิวกันยาวเหยียดจนล้นปั๊มน้ำมันเป็นเพราะปกติแล้วในแต่ละเดือนประเทศลาวมีความต้องการใช้น้ำมันประมาณ 120 ล้านลิตร แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับสามารถนำเข้าน้ำมันได้เพียง 20 ล้านลิตรเท่านั้น เมื่อดีมานด์มีมากกว่าซัพพลายถึง 100 ล้านลิตร ชาวเมืองจึงแห่กันออกไปต่อคิวล้นปั๊มอย่างที่เราเห็นกันในภาพข่าว

และไม่ใช่เพียงแค่น้ำมัน แต่ลาวยังเจอกับปัญหาสินค้าขาดตลาดอีกหลายชนิดมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เครื่องดื่ม ปศุสัตว์ หรือชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น

คำถามสำคัญคือ แล้วลาวเดินทางมาถึงจุดวิกฤตนี้ได้ยังไง

บทวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC ตอบคำถามเหล่านี้เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ โดย EIC บอกว่าวิกฤตในครั้งนี้มีต้นตอมาจากทั้งปัญหาเศรษฐกิจในระดับโลก และปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่แข็งแรงภายในประเทศลาวเอง

เริ่มที่สาเหตุจากปัญหาเศรษฐกิจระดับโลกว่าส่งผลกระทบต่อวิกฤตเศรษฐกิจลาวยังไงบ้าง เรื่องแรกคือสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ส่วนลาวเองก็เป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมัน 100% เมื่อเกิดสงครามลาวจึงได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ ส่วนเรื่องที่สองก็คือการที่เงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นจึงทำให้ Fed หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าสุดในรอบ 20 ปี และนั่นก็ทำให้เงินกีบของลาวอ่อนค่าลงไปอีก เมื่อเงินกีบอ่อนค่าก็ยิ่งจะทำให้ความเสี่ยงในการชำระหนี้ต่างประเทศมีมากขึ้นตามไปด้วย โดยจากวันที่ 1 กันยายน 2021 จนมาถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2022 เงินกีบนั้นอ่อนค่าลงถึง 44% เมื่อเทียบกับเงินบาท

ส่วนสาเหตุที่มาจากโครงสร้างเศรษฐกิจของลาวเอง ก็คือลาวมีระดับหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2020 หนี้สาธารณะของลาวเป็นหนี้ต่างประเทศมากถึง 93.2% ซึ่งมีจีนเป็นเจ้าหนี้หลัก

อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าลาวกู้หนี้จากต่างประเทศมาทำอะไร คำตอบก็คือเอามาทำโครงการที่เรียกว่า ‘Battery Of Southeast Asia’ ที่ลาวตั้งใจอยากจะเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และกับอีกโครงการที่ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการสร้างมันขึ้นมาคือ ‘land-linked country’ หรือการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในเซาท์อีสต์เอเชีย ซึ่งการจะเป็นศูนย์กลางอย่างที่วาดฝันเอาไว้ได้จำเป็นจะต้องลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานมากมายไม่ว่าจะเป็นเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ (ปี 2018 เกิดเหตุการณ์เขื่อนแตก ทำให้ต้องหยุดสร้างเขื่อนชั่วคราว) รวมถึงระบบส่งไฟฟ้า และทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว โดย AidData ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านเงินทุนเพื่อการพัฒนาบอกว่า รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวทำให้ลาวมีภาระหนี้สาธารณะมากถึง 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากปัจจัยที่เล่ามานี้ทำให้สองบริษัท credit rating หรือบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่าง Moody’s จัดให้ลาวเป็นประเทศที่อยู่ในระดับ Caa3 ส่วนอีกบริษัทคือ Fitch Ratings จัดให้ลาวอยู่ในระดับ CCC ซึ่งอันดับทั้งสองมีความหมายว่าลาวมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ที่สูง

เมื่อมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ที่สูง ก็ทำให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนในลาวของนักลงทุนต่างชาติลดลงไปด้วย และก็ส่งผลกระทบแบบโดมิโน่ทำให้ช่องทางในการระดมทุนเพื่อเอามาชำระหนี้เก่าของลาวมีจำกัดลงและมีต้นทุนที่สูงมาก

สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในลาวตอนนี้ ทำให้หลายคนเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่าแล้วลาวจะเป็นเหมือนกับศรีลังกาหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ EIC มองว่าวิกฤตในลาวนั้นยังไม่รุนแรงเท่ากับศรีลังกา เนื่องจากเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ของลาวนั้นคือจีน จึงมีโอกาสในการพูดคุยเจรจาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ได้มากกว่าศรีลังกาซึ่งมีเจ้าหนี้หลากหลาย และหากจีนไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยลาวในครั้งนี้ก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของจีนต่อประเทศอื่นในอาเซียนที่ต้องการกู้ยืมจากจีนเพื่อเอาเงินมาพัฒนาประเทศของตัวเอง และจีนเองก็มีโครงการรถไฟความเร็วสูงที่กำลังทำกับลาวอยู่ด้วย

ส่วนทางออกของวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นกับลาวในครั้งนี้ อย่างแรกคือการปรับโครงสร้างหนี้โดยเฉพาะกับจีนที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ด้วยวิธีการผ่อนผันและขยายเวลาในการชำระหนี้ อย่างที่สองการระดมทุนจากต่างชาติซึ่งไทยยังเป็นอีกช่องทางที่ลาวสามารถเข้ามาระดมทุนได้อยู่เนื่องจากมีต้นทุนทางการเงินที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับตลาดการเงินโลก อย่างที่สามคือการแปรรูปบริษัทรัฐวิสาหกิจให้กลายเป็นบริษัทเอกชน โดยลาวมีรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 178 องค์กร และเกือบทั้งหมดของ 178 องค์กรนั้นขาดทุนเนื่องจากการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจึงเป็นอีกหนึ่งทางออกที่นอกจะสร้างรายได้จากการขายสินทรัพย์แล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการเอาคนที่มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจจริงๆ เข้ามาบริหาร เมื่อเป็นแบบนี้ก็มีโอกาสที่รัฐวิสาหกิจที่เคยขาดทุนนั้นจะกลับมามีกำไรได้ นำมาสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงานจนทำให้ชาวลาวไม่ต้องออกมาแสดงความคิดเห็นด้วยอารมณ์โกรธเคืองกับสิ่งที่เป็นอยู่ อย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้

อ้างอิง

– ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์

– asia.nikkei.com/…/Laos-faces-public-backlash-as…

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

You Might Also Like