Special Dish

‘ละมุนละไม.​’ สตูดิโอเซรามิกที่แก้ปัญหาขยะอาหารด้วยจานชามที่เราใช้ทุกวัน

อาหารเช้าวันนี้ขอเสิร์ฟไข่ต้มในถ้วยที่ทำมาจากเปลือกไข่ กาแฟร้อนจากชุดดริปที่มีส่วนผสมของกากกาแฟ รับประทานพร้อมอาหารตาเป็นดอกไม้ในแจกันที่ทำมาจากกากแคร์รอต ผลงานของ ละมุนละไม.​ สตูดิโอเซรามิกอายุ 10 ปี

ละมุนละไม

ชุดจานชาม (รวมถึงแจกัน) แสนซุกซนนี้มีชื่อว่า The Breakfast Club Gathering เป็นผลงานของ ละมุนละไม.​ สตูดิโอเซรามิกอายุ 10 ปีของ ไหม–ณพกมล อัครพงศ์ไพศาล และ หนาม–นล เนตรพรหม

ละมุนละไม.เริ่มต้นจากการเป็นสตูดิโอเซรามิกที่ทำสินค้ากุ๊กกิ๊กอย่างจานชาม เครื่องประดับ และป้ายชื่อเซรามิกขายตามงานออกร้าน ก่อนจะค่อยๆ ขยายบริการสู่การทำเซรามิกแบบ custom-made โดยเฉพาะการทำ tableware หรือเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารให้คาเฟ่และร้านอาหารมากมาย ไม่ว่าจะเป็นร้าน Canvas, La Dotta, ศรณ์, ADHOC BKK ไปจนถึงการทำ wall installation ให้โกลบอลแบรนด์อย่าง Starbucks

แต่ไม่ว่าจะเป็นละมุนละไม.ยุคไหน สิ่งที่ไหมและหนามสนใจไม่แพ้จานชามคือเรื่องของความยั่งยืน

มากไปกว่าการออกแบบสินค้า พวกเขาพยายามออกแบบกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนทุกขั้นตอน (circular design) และนำเศษขยะมาแปรรูปเป็นชิ้นงาน เช่น คอลเลกชั่น The Breakfast Club Gathering ที่ใช้เศษอาหารเหลือทิ้งแทนที่บางวัตถุดิบในการผลิตเซรามิก

“เราพูดเรื่องวัตถุดิบในกระบวนการผลิตมาหลายปีแล้วแต่เราเชื่อว่าการใช้ขยะเศษอาหารเป็น turning point ของเรา” ไหมพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

และนี่คือ Brand Belief หรือวิธีคิดอันแน่นหนักของละมุนละไม.​ สตูดิโอที่อยากแก้ปัญหาให้ผู้ใช้และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยภาชนะที่เราใช้ทุกวัน

ละมุนละไม

ภาชนะที่เป็นภาระ

ไหมและหนามหลงใหลในเซรามิกมาตั้งแต่สมัยเรียน และเปิดสตูดิโอทำงานเซรามิกทุกวันมาตั้งแต่เรียนจบ

ยิ่งอยู่กับมันนานเท่าไหร่พวกเขายิ่งพบว่าเซรามิกมีข้อดีมากมาย หนึ่งในนั้นคือเป็นวัสดุที่คงทน ใช้งานได้ยาวนาน ส่วนข้อด้อยคือกว่าเซรามิกจะย่อยสลายต้องใช้เวลายาวนานยิ่งกว่า

“พอทำงานมาสักระยะเราก็เริ่มเห็น pain point ของวัสดุนี้ เซรามิกมันเป็นสิ่งที่เมื่อทำเสร็จแล้วไม่สามารถย่อยสลายได้ นั่นแปลว่าสิ่งที่เราทำ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี จะยังอยู่บนโลกนี้ไปอีกหลายพัน หลายหมื่นปี ฉะนั้นเราเลยย้อนกลับมาคิดว่าการออกแบบของเราจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ยังไง” ไหมเล่าก่อนหนามจะช่วยเสริมอีกแรง

“เวลาทำเซรามิกมันจะมีของเหลือเสมอ เช่น ดินที่ไม่ได้เผาเพราะว่ามันแห้งไปเสียก่อนหรือปั้นแล้วเบี้ยว เวลาเราทดลองเคลือบเซรามิกถ้าวัสดุมันเหลือเราก็ต้องทิ้ง เอากลับมาใช้ไม่ได้เพราะมันปนเปื้อนไปแล้ว หรือสตูดิโอเราทำงานด้วยดินสองชนิดคือดินขาว porcelain และดิน stoneware บางทีก็มีดินสี ดินเชียงใหม่ ดินโลคอลอีก ซึ่งปกติเขาจะแยกการทำอย่างชัดเจน แป้นหมุนต้องแยกกัน เครื่องมือต้องแยกกัน เราเลยคิดว่าลองรวมกันเลยได้ไหม เริ่มจากการใช้ของเหลือที่เกิดจากในอุตสาหกรรมของเราเอง

ละมุนละไม
ละมุนละไม

“เราลองเอาดินทุกชนิดมาผสมกันทำชิ้นงานได้เป็นผลงานคอลเลกชั่นที่น่าสนใจ ไหมเองตั้งแต่สมัยเรียนก็เคยทำงานที่เอาเศษแก้วมาโรยในเซรามิก ตอนนั้นเราใช้วิธีเดินไปโรงอาหาร บอกป้าขอขวดสไปรท์หน่อยหรือกินเบียร์ก็เก็บขวดไว้ แต่พอโตมาเลยรู้ว่ามันมีโรงงานแก้ว โรงงานกระจก โรงงานขวดที่มี waste เหลือ เขาก็ส่งมาให้เราแบบฟรีๆ เยอะมาก เราก็เอามาลองทุบ ทำเป็นชิ้นงานดู

“เราเอาความรู้พวกนี้มาพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่าง มีความคิดใหม่ว่าต่อไปฉันจะไม่ทิ้งอะไรในสตูดิโอ อันไหนเก็บได้ก็เก็บ พวกสีเคลือบที่แห้งจนเป็นผงก็เก็บไว้หมดเลย เดี๋ยวเอามาใช้โรยงานหรือสร้างสรรค์อะไรก็ได้ จนพัฒนามาเป็นคอลเลคชั่นภาชนะ No waste // No wares ที่ใช้ของเหลือมาทำทั้งหมด ทั้งดิน วัสดุเคลือบและเศษแก้ว”

หนามชี้ให้ดูกองแก้วพลาสติกบรรจุสีเคลือบแห้งๆ รอวันนำไปใช้ ไหมเปิดภาพคอลเลกชั่นที่ว่าให้ดู ส่วนเราได้แต่ลุ้นในใจว่าถัดจาก No waste // No wares แล้ว ของเหลือเหล่านี้จากสตูดิโอจะเซอร์ไพรส์เราในรูปแบบไหนอีก

ภาชนะที่ไม่เป็นภาระ

ละมุนละไม.​ ห้อยคำอธิบายต่อท้ายชื่อว่า ‘คราฟต์สตูดิโอ’

กระบวนการทำงานของพวกเขาเป็นเช่นนั้น คือคราฟต์กับทุกสิ่งทุกอย่าง กับคอลเลกชั่นของสตูดิโอ ไหมและหนามออกแบบอย่างละเมียดละไมทั้งด้านดีไซน์และฟังก์ชั่น อย่างคอลเลกชั่น THE BLUE MEMOIR  ด้านดีไซน์พวกเขาเล่นสนุกด้วยการใช้ภาชนะอีนาเมลสีขาวขอบน้ำเงินเป็นแรงบันดาลใจ ส่วนด้านฟังก์ชั่นยิ่งสนุกเข้าไปใหญ่เพราะมันถูกคิดจาก pain point ของคนที่อาศัยในคอนโด ดังนั้นเมื่อวางชามซ้อนกันขอบภาชนะจะเสมอกันพอดี ประหยัดพื้นที่เก็บของได้มาก

ส่วนกับงาน custom-made พวกเขาเป็นเหมือนดีไซน์เซอร์วิสที่รับบรีฟของลูกค้ามาตีโจทย์อย่างละเอียดจนได้ชุดของใช้บนโต๊ะอาหารแบบร้านเดียวในโลก

และเมื่อวงการอาหารโดยเฉพาะร้าน fine dining หันมาใส่ใจเรื่องการอนุรักษ์และการลดของเหลือในอุตสาหกรรมอาหารอย่างจริงจังขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาจึงมักนำแนวคิดภาชนะจากของเหลือไปเสนอร้านที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ถือเป็นจุดบรรจบที่พอดิบพอดี

“ตัวอย่างคือร้าน Canvas เขาพูดในเรื่องความยั่งยืนและวัตถุดิบพื้นถิ่นอยู่แล้ว ตอนนั้นเราเลยนำเสนอว่าจะออกแบบจานจากดินเหลือใช้แต่มีสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ของร้าน” หนามอธิบาย

ทั้งคู่ช่วยกันเล่าต่อว่าปกติการออกแบบจะตีความจากคอนเซปต์ เมนู และการตกแต่งภายในของร้าน หากเป็นร้านอาหารทั่วไปจะเน้นออกแบบภาชนะให้ใช้ได้กับเมนูที่หลากหลาย ส่วนกับร้านที่เสิร์ฟเป็นคอร์ส เช่น fine dining หรือโอมากาเสะจะดีไซน์จานชามสำหรับแต่ละเมนูโดยเฉพาะ แต่ต้องนำมาใช้ใหม่ได้กับเมนูใหม่ๆ ในอนาคต

“สมมติเป็นร้านที่เสิร์ฟอาหาร 20 จาน ภาพรวมของ 20 ไอเทมนี้จะต้องเข้ากับอินทีเรียร์ของร้าน เมื่อเขาเปลี่ยนเมนูตามซีซั่นก็สามารถเลือกจานเดิมมาใช้ซ้ำได้ไม่ต้องสั่งทำจานใหม่ทุกครั้งที่เปลี่ยนเมนู ไม่งั้นจานที่ใช้เสร็จแล้วจะไปไหน มันก็คือ waste

“พอมันวนใช้ซ้ำได้เรื่อยๆ เวลาลูกค้ามากินอาหาร ถ่ายรูปปุ๊บคนก็รู้แล้วว่าจานนี้เป็นของร้านอาหารร้านนี้ ช่วยส่งเสริมแบรนด์ดิ้งร้านต่อไป” ไหมเล่าแนวคิดให้ฟัง

ละมุนละไม

“บางทีเราก็คิดเผื่อลูกค้า” หนามซึ่งเป็นคนออกแบบหลักเสริมขึ้นแล้วหยิบจานทรงแบนใบหนึ่งมาให้ดู ด้านหนึ่งเคลือบด้วยวัสดุมันวาวส่วนอีกด้านมีพื้นผิวด้าน หน้าตาเหมือนแผ่นหิน

“จานนี้เราดีไซน์ให้ใช้ได้สองด้าน สามารถเสิร์ฟเมนูที่แตกต่างกันได้ เช่น เมนูอาหารทะเลเสิร์ฟด้านมัน ส่วนอีกฝั่งใช้เสิร์ฟเมนูที่แห้งๆ หน่อย หรือเราเคยทำถ้วยที่ใส่อาหารด้านในก็ได้หรือคว่ำแล้วใช้วางอาหารเป็นคำก็ได้ เท่านี้ก็มีความ sustain ขึ้นแล้ว ต้นทุนของลูกค้าก็ถูกลง”

จากจานสู่จาน

การร่วมงานกับร้านอาหารเปิดประตูบานเอกซ์คลูซีฟให้ละมุนละไม.

บางครั้งพวกเขาได้ชิมคอร์สอาหารของร้านก่อนใคร ได้คุยกับเชฟถึงวิธีคิดอย่างลงลึก ไม่ก็ได้เห็นกระบวนการทำงานของเชฟที่นักชิมหลายคนชื่นชม

และเป็นการทำงานแบบนี้เองที่ทำให้พวกเขาได้พบปัญหาที่หลายคนไม่รู้ นั่นคือขยะจากครัวของร้านอาหารมีปริมาณเยอะกว่าขยะจากครัวเรือนมาก ไหมบอกว่าแม้ร้านอาหารใหญ่ๆ หรือร้าน fine dining ในไทยหลายร้านจะพยายามแยกขยะอย่างเป็นระบบแต่ระบบจัดการขยะในภาพใหญ่ก็ยังต้องพัฒนา

“จริงๆ แล้วคอมมิวนิตี้ร้านอาหารในไทยเริ่มมีการจัดเก็บขยะ แยกขยะแล้วแต่ เราเคยคุยกับพี่โบ (เชฟโบ–ดวงพร ทรงวิศวะ เจ้าของร้านอาหาร Bo.lan) ว่าการกำจัดขยะมันยากเหมือนกันเพราะว่าต้องมีโรงงานหรือหน่วยงานที่รับไปกำจัดอย่างถูกวิธีไม่ใช่แค่เอาไปฝังดิน ขยะอินทรีย์ย่อยสลายได้ก็จริงแต่ว่าต้องใช้เวลาอีก 10-20 ปีกว่าจะกลายเป็นปุ๋ย เราเลยคิดว่าถ้าเราสามารถคืนชีวิตให้ขยะอินทรีย์ ด้วยการเอาไปแปรรูปให้มีคุณค่า คนนำไปใช้ต่อได้จะเวิร์กกว่าไหม”

ไม่นานหนามก็เจอจุดเชื่อมโยงระหว่างวัตถุดิบในครัวกับวัตถุดิบที่ใช้ในสตูดิโอ

“พี่หนามเคยได้ยินมาว่าเปลือกไข่มีแร่ธาตุแคลเซียมคาร์บอเนตซึ่งเป็นแร่เดียวกับที่ใช้ผสมในวัสดุเคลือบเซรามิกทำให้มันขาวขึ้น นวลขึ้น เลยเสนอว่าเราลองใส่เปลือกไข่ลงไปแทนดีมั้ย”

ละมุนละไม
ละมุนละไม

หนามเล่าต่อว่าความยากของการนำขยะอาหารมาอัพไซเคิลคืออุณหภูมิที่ใช้ในการเผาเซรามิกซึ่งสูงจนอินทรีย์สารหลายชนิดจะสูญหายไปทันตา

“การทำเซรามิกมันคือการเปลี่ยนสถานะของสสาร เมื่อเผาอนุภาคของดินจะเปลี่ยนไปกลายเป็นของแข็ง เป็นเซรามิก ทีนี้เศษอาหารเหลือทิ้งที่เราเอามาผสมในดินหรือทำเคลือบส่วนใหญ่ถ้าเผาในอุณหภูมิสูงขนาดนั้นคือ 1,250 องศาเซลเซียสมันก็จะหายไปหมดเลยเหลือเป็นช่องว่าง ยกเว้นบางอย่างที่ทนความร้อนได้ เช่น พวกเปลือกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเปลือกไข่ เปลือกหอย เปลือกกุ้ง เปลือกปู ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือแร่ธาตุ เหมือนแร่หินปูนหรือแร่แคลเซียมคาร์บอเนตที่เราเอามาใส่ในเคลือบ”

“แต่สุดท้ายพอทดลองใช้เปลือกไข่ทำเคลือบ ผลลัพธ์มันไม่เหมือนกับใช้แร่แคลเซียมคาร์บอเนตนะ” ไหมเฉลยผลลัพธ์แบบยิ้มๆ “ถึงอย่างนั้นเราก็ได้พื้นผิวเป็นผลึกซึ่งเวิร์กในแง่ความสวยงามและเวิร์กในแง่ของคุณค่า เราสามารถลดการใช้แคลเซียมคาร์บอเนตที่เขาต้องไปขุดเหมืองมาแล้วใช้เปลือกไข่ที่เราสามารถไปขอทุกร้านอาหารได้แทนซึ่งทุกร้านยินดีจะให้”

ละมุนละไม

เมื่อทดลองกับเปลือกไข่สำเร็จ หนามเลยทดลองกับเศษอาหารอื่นบ้าง เขานำกากกาแฟซึ่งมีอนุภาคละเอียดมากมาผสมกับดิน เมื่อเข้าเตาเผากากกาแฟจะหายไปทำให้ดินเบาขึ้น มีความพรุน เหมาะกับการทำกระถางหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องการคุณสมบัติอุ้มน้ำ หรือจะทำชุดดริปกาแฟก็ได้ เมื่อเคลือบทับก็แทบดูไม่ออกว่าแตกต่างจากเซรามิกที่ทำจากดินเพียวๆ เพียงแต่มีน้ำหนักเบากว่าเท่านั้น

จนถึงวันนี้ ละมุนละไม.ได้โอกาสออกแบบภาชนะจากขยะเศษอาหารให้ร้านต่างๆ ไปบ้างแล้ว เช่น ADHOC BKK ที่ใช้เศษอาหารจากบางเมนูของร้านมาพัฒนาเป็นภาชนะเพื่อเล่าเรื่องวงจรวัตถุดิบ และกำลังมีโปรเจกต์กับร้าน Bo.lan และร้านศรณ์ ที่พวกเขาจะออกแบบจานจากดินท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค พร้อมเคลือบสีสัน ตกแต่งลวดลายให้ยังคงเอกลักษณ์ของร้านเอาไว้

นอกจากร้านเหล่านี้ เราเชื่อว่าจะมีร้านอื่นๆ ที่เห็นคุณค่าของการ upcycle เศษขยะในครัวเป็นจานชามเป็นจำนวนมากตามเทรนด์ที่ให้ความสำคัญกับ storytelling มากขึ้นเรื่อยๆ

“ด้วยความที่เราทำงานกับร้านอาหารมาสักระยะเราก็เข้าใจว่าลูกค้าคิดเรื่องความยั่งยืน เห็นการใช้วัตถุดิบโลคอล และเห็นเทรนด์ storytelling ในวงการ fine dining ที่เน้นสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า ร้านอาหารโอมากาเสะเชฟก็ต้องทำคำต่อคำเพื่อให้เห็นทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แม้แต่ภาชนะที่อยู่บนโต๊ะก็ช่วยเล่าเรื่องได้

“การเล่าเรื่องเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถส่งต่อเรื่องราวหรือคุณค่าไปยังผู้รับสาร ดังนั้นเราเลยอยากให้จานชามของเราสร้างสตอรีเรื่องความยั่งยืน คนที่มาทานร้านก็จะได้ตระหนักถึงประเด็นนี้และอาจจะนำกลับไปปรับใช้ที่บ้านของเขาต่อเหมือนเราค่อยๆ ใส่ชุดความคิดที่เรารู้สึกว่าเป็นคุณค่าที่ดีผ่านร้านอาหาร” ไหมบอก

ไปร้านอาหารครั้งต่อไป นอกจากจะสนใจอาหารตรงหน้า ภาชนะเองก็อาจจะมีเรื่องเล่ารสอร่อยไม่แพ้กัน

ละมุนละไม

(จาน) อาหารตัวอย่าง

แน่นอนว่าการเปลี่ยนเศษอาหารเป็นภาชนะทำให้ละมุนละไม. แตกต่างจากแบรนด์เซรามิกอื่นๆ ในตลาดไม่เว้นในหมู่แบรนด์รักโลก

และแน่นอนว่าเมื่อแตกต่างจึงมีคนตั้งคำถามว่าการ upcycle ขยะเศษอาหารเป็นเพียงมาร์เก็ตติ้งของแบรนด์หรือไม่

“บางคนถามว่าเราเอาเศษวัตถุดิบมาใช้เป็นกิมมิกหรือเพื่อประโยชน์ทางมาร์เก็ตติ้งเฉยๆ หรือเปล่า เราสร้างความยั่งยืนได้จริงเหรอ” ไหมเล่าให้ฟังถึงฟีดแบ็กที่ได้เมื่อนำคอลเลกชั่นภาชนะจากเศษอาหารไปโชว์ในเทศกาล Bangkok Design Week 2022

“เราคิดว่ามันอยู่ที่ว่าแต่ละคนมองคำว่ายั่งยืนยังไง เรามองว่าผลิตภัณฑ์ของเรายั่งยืนตั้งแต่กระบวนการผลิตที่เราร่วมมือกับร้านอาหารแล้ว กว่าจะเป็นสินค้าเราผ่านกระบวนการการคิดในรูปแบบ circular design ถึงเราจะยังไม่กล้าบอกว่าสิ่งนี้มันติ๊กถูกทุกข้อเรื่องความยั่งยืน แต่ว่าเราก็พยายามคิดให้ครบลูปว่าทุกกระบวนการต้องเกิดของเสียน้อยที่สุด

“เรามองว่างานของเรานำขยะมาสร้างให้เกิดคุณค่าใหม่ เอา food waste ซึ่งเป็นปัญหาจริงๆ มาแทนที่วัสดุที่ใช้ในกระบวนการทำเซรามิกจริงๆ เช่น เปลือกไข่ก็อาจทำให้ไม่ต้องไปขุดแร่จากเหมืองมาใช้และนำแร่เหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอย่างอื่น”

“หนึ่งในร้านที่เราร่วมมือคือร้านด้านล่างสตูดิโอเรานี่แหละ” หนามกำลังพูดถึงร้านส้มตำที่ตั้งอยู่ที่ชั้นหนึ่งของตึก “ตอนที่เราทดลองทำเคลือบ เราบอกเขาว่าเดือนนี้รบกวนช่วยแยกเปลือกไข่ให้หน่อยได้มั้ย เขาก็ได้ลดขยะ และอย่างน้อยก็ได้ awareness เรื่องการจัดการขยะ เราก็ได้เปลือกไข่มาทำงาน เราคิดว่ามันเป็นจุดตั้งต้นที่ดีของทั้งสองฝ่าย”

ทั้งสองคนรู้ดีว่าสเกลการผลิตของพวกเขาไม่อาจบรรเทาความเสียหายจากอุตสาหกรรมเซรามิกได้ แต่ไหมและหนามก็หวังว่าการทดลองที่ผ่านมาจะทำให้โรงงานขนาดใหญ่กว่าตนเองเห็นตัวอย่างการผลิตที่ดีต่อโลกมากขึ้น

“เราเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำในสตูดิโอเล็กๆ แล้วมันเวิร์ก ถ้าเกิดว่าบริษัทใหญ่หรือว่าโรงงานเขาเห็นโอกาสตรงนี้แล้วเอาไปใช้เราก็รู้สึกว่ามันน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ใหญ่ขึ้นได้ มันลดการใช้แร่ธาตุหรือทรัพยากรได้จริงๆ ถามว่าคุณสมบัติแตกต่างจากเซรามิกโดยทั่วไปไหม เรามองว่าความแข็งแรงความทนทานไม่ได้แตกต่างขนาดนั้นเพราะว่าเราเผาในอุณภูมิสูง มันจึงทนความร้อน ทนไฟ ทนกรดด่าง การันตีความ food safe และ microwave safe เพื่อให้ใช้งานได้กับทุกคน ทุกร้านอาหาร” ไหมตอบอย่างตั้งใจ

หนามอธิบายเพิ่มอีกนิดว่าถ้ากำลังการผลิตพร้อมจะเป็นเรื่องดีต่อผู้บริโภคด้วย เพราะการจัดการขยะในไทยที่ยังไม่สมบูรณ์ทำให้เมื่อจะ upcycle อะไรสักอย่างต้องใช้แรงคนและเวลา ราคาผลิตภัณฑ์อีโค่จึงแพงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไปมาก

แต่ถ้าการผลิตของอีโค่ทำได้แบบแมส ราคาของผลิตภัณฑ์ทั้งสองแบบไม่ต่างกันนัก ผู้บริโภคก็มีโอกาสเลือกหยิบของที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมสร้างความยั่งยืนได้ด้วยการใช้ชีวิตประจำวัน

ปรุงธุรกิจให้ยั่งยืน

อย่างที่ไหมบอกไว้ตอนต้น เธอ “เชื่อว่าการใช้ขยะเศษอาหารเป็น turning point ของเรา”

ย้อนกลับไปหลายปีก่อนหน้า turning point จุดหนึ่งของละมุนละไม. คือการปรับจากแบรนด์ที่ผลิตของใช้เซรามิกแบบสำเร็จสู่การทำผลิตภัณฑ์แบบคัสตอมซึ่งในตอนนั้นแทบไม่มีสตูดิโอไหนชูเป็นจุดขาย

“ตอนเริ่มทำสตูดิโอร้านอาหารยังไม่ได้เน้นทำภาชนะคัสตอม ทุกคนหาซื้อตามแหล่งผลิตคือโรงงาน เพิ่งมาไม่กี่ปีหลังที่ร้านอาหารต้องการหา brand identity มากขึ้นฉะนั้นเขาก็เลยต้องหาความคัสตอม แต่ถ้าจะสั่งโรงงานทำใหม่ก็ต้องสั่ง 300 ชิ้น เขาถึงจะทำให้ เราเลยเหมือนเป็นจุดเล็กๆ แทรกตัวเข้าไปรองรับตลาดนี้

“จริงๆ ทุกคนเขา custom-made ได้หมดนะ เรางงเหมือนกันว่าทำไมตอนนั้นถึงไม่มีใครพูดคำนี้ออกมา แต่ว่าเราพูดออกมาเลยว่าเรา custom-made ได้” ไหมเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

ละมุนละไม

ตอนนั้นพวกเขาเห็นช่องว่างในตลาดภาชนะร้านอาหารอย่างชัดเจน แต่ภาชนะจากเศษขยะอาหารคือการสร้างทางเลือกใหม่ไปเสนอลูกค้าโดยที่ลูกค้าก็อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองต้องการ 

ถึงอย่างนั้นพอทำแล้วพวกเขาก็พบว่านี่คือ turning point สำคัญในแง่ที่มันเปลี่ยนกระบวนการทำงานของสตูดิโอและตอบรับเทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะสำคัญขึ้นเรื่อยๆ

“ลูกค้าร้านอาหารเขาก็คิดในแอเรียความถนัดของเขานั่นแหละ ในแง่วัตถุดิบ ในแง่ zero waste อย่างเราได้ทำงานกับร้าน PRU ที่ภูเก็ต วัตถุดิบทุกอย่างของเขาเกิดในจังหวัดตั้งแต่ปลูกผัก เลี้ยงหมู แต่ว่ายังไม่ได้คิดในมุมของจาน ถึงอย่างนั้นพอเราทำงานนี้แล้วเอาไปเสนอเขารู้สึกว่าเขามีแก่นธุรกิจที่ยั่งยืนอยู่แล้ว เราไปเติมเต็มเขาได้ก็ยิ่งส่งเสริมซึ่งกันและกัน” หนามเล่า

ละมุนละไม

“เซรามิกของเราเป็นเซรามิกทางเลือกหนึ่งในอีกหลายร้อยล้านแบรนด์ที่มีอยู่บนโลกนี้ แต่ทำไมเขาถึงต้องเลือกเรา เพราะว่าเรานำเสนอคุณค่าหรือแนวคิดที่เขารู้สึกว่าแมตช์กับประเด็นที่ร้านอาหารอยากสื่อสารกับลูกค้าของเขาได้

“ถ้าจะพูดถึงเรื่องเทรนด์ จริงๆ แล้ววัสดุ biomaterial ในวงการเซรามิกเป็นเทรนด์ใหม่ที่ยังไม่ถึงไทย แต่ในฝั่งยุโรปเขาก็ใช้กันเยอะมากๆ แล้ว มีคนที่เอา waste จากอุตสาหกรรมการทำเหมืองหิน เหมืองแร่ มาทำเป็นสีเคลือบ มีองค์กรสนับสนุนการวิจัยเรื่องพวกนี้ ฉะนั้นเราว่าเริ่มตอนนี้ก็ดีเพราะเรามีเมกะเทรนด์ที่กำลังรองรับอยู่ วันหนึ่งที่มันเข้ามาที่ไทย ก็จะมีร้านอาหารที่ตระหนักในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น เราเองก็จะค่อยๆ adapt วัตถุดิบและเครื่องไม้เครื่องมือของเราให้พร้อมกับสิ่งเหล่านั้นมากขึ้นด้วย”

“เราเชื่อว่ามันไม่ได้เป็นแค่เทรนด์แล้วตอนนี้” ไหมเสริมขึ้น “สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนควรใส่ใจ เป็นความจำเป็น เราอยากให้สิ่งที่เราใช้ สิ่งที่ใกล้ตัวเราที่สุดสามารถเป็นสิ่งที่ทำให้เราฉุกคิดหรือชุบชูใจเราในเรื่องนี้ได้”

“เรามีของต่างๆ ที่ environmental friendly มีเฟอร์นิเจอร์แล้ว มีรถยนต์แล้ว เราว่าจานชามก็อาจจะเป็นของที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วย มันเป็นสิ่งที่เราใช้ทุกวัน วันละ 3 ครั้ง ถ้ามันตอบโจทย์ได้ก็คงจะดี” หนามสรุป

ละมุนละไม

ขอบคุณภาพจาก ละมุนละไม.

Writer

Lifestyle Editor ชอบคุย ชอบรู้จัก และชอบอุดหนุนแบรนด์สร้างสรรค์ที่รัก

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like