kitsch ตา-โขน

Kitt.Ta.Khon แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่หยิบจับความ kitsch ของงานคราฟต์มาออกแบบให้เซ็กซี่

Kitt.Ta.Khon อ่านว่า ฆิด-ตา-โขน

ฆิด มาจากการตั้งใจล้อกับคำว่า ‘kitsch’

หากอธิบายงานดีไซน์ที่มีความ kitsch ในไทยให้นึกภาพการแต่งรถทัวร์ที่มีสีสดและลวดลายล้นๆ หรือบ้านสีเขียวสะท้อนแสงหลังคาสีฟ้า

บางคนนิยาม kitsch ว่าคือ low design ที่ไร้รสนิยมแต่สำหรับฆิด-ตา-โขน kitsch คือดีไซน์คาแร็กเตอร์จัดที่มีเสน่ห์

ส่วนตา-โขนมาจากผีตาโขน ที่สื่อถึงเสน่ห์ของความสนุกสนานทางวัฒนธรรม 

รวมคำกันกลายเป็นชื่อแบรนด์ ‘ฆิด-ตา-โขน’ ที่อยากสื่อถึงงานคราฟต์ที่มีความเป็นสากลในตลาดโลก “ตอนเปิดตัวแบรนด์ที่ฝรั่งเศสก็ตั้งใจให้การอ่านชื่อแบรนด์เป็นเเค่การออกเสียงคำคำหนึ่งที่ไม่รู้ว่ามาจากประเทศไหน เวลาฝรั่งเข้ามาถามแล้วเราบอกว่าชื่อ Kitt.Ta.Khon เขาก็จะบอกว่า I don’t know where you come from. เราตั้งใจให้แบรนด์เราเป็นอย่างนั้น”

พีท–ธีรพจน์ ธีโรภาส เป็นนักออกแบบผู้มีความเป็น global citizen ที่เดินทางไปสัมผัสชุมชนงานฝีมือมาแล้วหลายประเทศทั่วโลกจนรวบรวมความ exotic ที่ได้สัมผัสจากต่างวัฒนธรรมมาออกแบบเป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ของตัวเองที่มีความป๊อปและสนุกสนาน มีคาแร็กเตอร์แบรนด์ที่เด็กแต่ไม่ทิ้งความประณีตของงานหัตถกรรม

Life Wisdom
Deep Empathy

เมื่อพูดถึงนักออกแบบ เรามักนึกถึงคนที่มีแพสชั่นด้านดีไซน์และความสวยงาม แต่ความจริงแล้วจุดเริ่มต้นของความหลงใหลในงานออกแบบของพีทไม่ใช่งานจักสาน แต่เป็นความรู้สึกอยากสานต่อเรื่องราวของชุมชน 

“เราไม่ได้ชอบงานหัตถกรรมมาก่อน เราชอบคน ผมอาจจะไม่ได้ถนัดการออกแบบตู้เย็นหรือสินค้าทั่วไป รู้สึกว่ามันห่างไกลกับเรามาก แต่พอมีเรื่องวัฒนธรรมชุมชนและความเป็นอยู่ มันทำให้เราอินได้ง่าย พอไปอยู่กับชาวบ้านหลายอาทิตย์ ได้ไปนอนบ้านเขา คุย กินข้าว เรียนกับเขา ฟังเรื่องราวของเขาแล้วรู้สึกมีความสุข” 

การท่องโลกกว้างช่วยลับคมให้เกิดทักษะการเปิดตาให้กว้างซึ่งเป็นคุณสมบัติของนักออกแบบที่ดี

“ผมคิดว่าจริงๆ แล้วงานหัตถกรรมไม่ได้เป็นแค่โปรดักต์ แต่มันพูดถึงองค์ประกอบทั้งหมด เราต้องเข้าใจไลฟ์สไตล์ของคนใช้ คนทำ คนผลิต ต้องมองด้วยใจและมองให้กว้าง ไม่มองว่าเราเป็นนักออกแบบจากกรุงเทพฯ ที่จะมาพัฒนา แต่มองให้เข้าใจถึงวิถีชีวิตและวิธีการพัฒนางาน”

เคล็ดลับการออกแบบผลงานมาสเตอร์พีซจึงไม่ใช่แค่ออกแบบแพตเทิร์นจักสานและสินค้าที่สวยงามเท่านั้น แต่เป็นการออกแบบองค์ประกอบทุกอย่างที่เกี่ยวพันกับชีวิตในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น
หนึ่ง–ออกแบบระบบนิเวศเพื่อโลกที่ดีขึ้น 

“ตัวอย่างเช่น จันทบุรีจะดังเรื่องการทอกก กกของที่นี่ปลูกจากนาน้ำกร่อยทำให้กกไม่ขึ้นราและมีเส้นเล็ก สวย นอกเหนือจากนี้นากกยังกรองไม่ให้น้ำเสียลงทะเลทำให้สิ่งแวดล้อมแถวนั้นยังอุดมสมบูรณ์อยู่
ดังนั้นความสำคัญของนากกไม่ได้มีแค่เรื่องหัตถกรรมที่เราต้องสืบทอด แต่มันคือวิถีชีวิตความเป็นอยู่ 

“ตอนนั้นชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนจากปลูกนากกเป็นทำนากุ้งที่ใช้สารเคมี สุดท้ายแล้วถ้าชุมชนตรงนั้นทำนากุ้งทั้งหมด ทุกวันนี้พื้นที่ชายทะเล ป่าโกงกางอาจไม่มีแล้วก็ได้ การสนับสนุนการใช้กกก็เลยสำคัญ”
สอง ออกแบบคุณภาพชีวิตที่ดีให้ชาวบ้านในชุมชน 

“ผลงานของฆิด-ตา-โขนเกือบทุกชิ้นสามารถน็อกดาวน์แล้วแยกชิ้นส่วนให้ชาวบ้านขนขึ้นมอเตอร์ไซค์กลับไปสานที่บ้านได้ซึ่งจะช่วยให้เรากระจายชิ้นส่วนของเฟอร์นิเจอร์แล้วนำมาประกอบที่โรงงานได้

“เราเคยทำงานกับฝรั่ง เขาบอกว่าคุณต้องสานเส้นยาว 10 เซนติเมตรจำนวน 10 เส้นให้ได้ ซึ่งคิดว่ามันไม่ได้ถ่ายทอดความเป็นมนุษย์เท่าไหร่ ก็เลยตั้งใจทิ้งความป็นมนุษย์ไว้ในงานของตัวเองมากกว่าแบรนด์อื่นๆ คือการทำงานฝีมือที่ละเอียดไปตามความรู้สึกของคนสาน สมมติวันนี้ทะเลาะกับเมียมาหรืออีกวันลูกรับปริญญา ผลงานอาจจะออกมาไม่เหมือนกันก็ได้” 

สาม ออกแบบของใช้ที่คนทั่วไปใช้ได้จริง 

“ความท้าทายที่สุดในการออกแบบงานฝีมือคือทำยังไงให้ใช้ได้จริง เหตุผลที่งานหัตถกรรมค่อยๆ ตายไปเพราะมันไม่สามารถอยู่ในชีวิตประจำวันได้ เราจึงไม่ทำของที่สวยงามอย่างเดียวแต่ออกแบบของที่มีฟังก์ชั่นด้วย” 

การใส่ใจองค์ประกอบเล็กๆ ของผู้คนทั้งหมดนี้เองที่นำไปสู่ผลงาน one-of-a-kind ที่ถึงแม้จะผลิตซ้ำเป็นหัตถอุตสาหกรรมแต่สุดท้ายงานฝีมือแต่ละชิ้นก็มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกันเลย

“บางทีไอเดียในงานออกแบบอาจจะมาจากจุดเล็กๆ ก็ได้ เช่น การปรับกระบวนการจัดไม้ไผ่ให้ง่ายขึ้น สวยขึ้น หรือการใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติดีกว่าที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นการปลูกวัตถุดิบที่มีต้นสูงกว่าปกติหรือใช้วัตถุดิบที่อยู่ในน้ำกร่อยก็สามารถใช้จุดแข็งเหล่านี้เป็นคอนเซปต์ดีไซน์ได้” 

Borderless Cultural Essence  

หนึ่งในประสบการณ์ล้ำค่าของพีทคือการมีโอกาสทำงานกับธุรกิจแถวหน้าของวงการงานคราฟต์อย่างอโยธยา (Ayodhya Trade 93) ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนในโครงการ T-STYLE : ISAAN OBJECT ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

หน้าที่ของพีทคือคัดเลือกผลงานของปราชญ์ชาวบ้านจาก 10 ชุมชนและต่อยอดดีไซน์สำหรับไปแสดง

ผลงานที่งานดีไซน์แฟร์ Maison & Objet ที่ฝรั่งเศสในทุกปี นั่นทำให้ภายในระยะเวลา 3 ปี พีทได้ออกเดินทางตลอดและมีโอกาสสัมผัสวิถีและเสน่ห์ของงานฝีมือมากถึง 60 ชุมชน

ความสนุกในการออกเดินทางและได้สัมผัสวัฒนธรรมไม่ได้หยุดอยู่แค่ในไทยเท่านั้นแต่ยังพานักออกแบบอย่างพีทออกเดินทางไกลไปต่างแดนเพื่อเข้าร่วมโครงการ artist residency (ศิลปินในพำนัก) ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินและนักออกแบบได้ริเริ่มไอเดียสร้างสรรค์ของตัวเอง

พีทได้ออกแบบสนามเด็กเล่นจากไม้ไผ่ให้ชุมชน Pendaki เปลี่ยนป่าไผ่และสุสานซึ่งเป็นที่ทิ้งขยะสูงหลายเมตรให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับคนในชุมชนเพื่ออนุรักษ์ป่าไผ่และยังได้เรียนรู้งานหัตถกรรมพร้อมซึมซับวัฒนธรรมในพื้นที่ชุมชนแออัดที่โมร็อกโก

การสัมผัสความหลากหลายทางวัฒนธรรมทำให้ค้นพบว่าสุดท้ายแล้วเราทุกคนต่างมีสิ่งที่เหมือนกัน 

“สมัยเด็กตอนเพิ่งเรียนจบ เราโดนสอนมาให้มองหาความเป็นไทย แต่พอได้เดินทางไปทั่วโลก ไปงานแฟร์ที่ฝรั่งเศส ไปชุมชนที่อินโดนีเซียและโมร็อกโก ทำงานกับชุมชนกะเหรี่ยงที่ชายขอบ สอนหนังสือที่บางมด

ก็พบว่าแต่ละที่มีเทคนิคการสานเหมือนกัน วิธีการก็คล้ายกัน 

“เลยคุยกับตัวเองว่าจริงๆ แล้วความเป็นพม่าและความเป็นไทยมันถูกแบ่งกันแค่เส้นเส้นเดียวเอง ในเชิงสไตล์ก็มีความต่างแต่ถ้ามองลึกๆ อย่างชายกระโปรงอีสานกับกระโปรงโมร็อกโก หรือลายของอเมริกันกับไทยก็เป็นลายเดียวกัน มันมีความซ้ำอยู่แต่อาจจะต่างกันด้วยวัสดุหรือสีสันในแต่ละวัฒนธรรม

“ถ้าไม่มีเส้นกั้น งานคราฟต์ก็มีความเป็น borderless ที่มีความเป็นสากลของทุกคน ก็เลยปิ๊งขึ้นมาว่าการอนุรักษ์หัตถกรรมไม่จำเป็นต้องสื่อสารแค่ความเป็นไทยก็ได้ การผลิตโดยคนไทยนี่แหละก็สื่อถึงความเป็นไทยแล้ว ก็เลยปลดล็อกตัวเองว่าจริงๆ แล้วเราออกแบบอะไรก็ได้ หน้าที่ของเราคือการสื่อสารว่างานคราฟต์จะเดินหน้าต่อไปยังไงได้บ้าง แล้วใครจะตีความงานออกแบบยังไงก็แล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน” 

ฆิด-ตา-โขนเลยเป็นแบรนด์ที่ไม่ได้ขายคอนเซปต์ความเป็นไทยแต่มีความสากลทั่วโลก “แต่ทุกอย่างที่เราออกแบบก็เริ่มต้นจากการเป็นคนเอเชียด้วย เราชอบความมีเส้นสายที่ดู oriental มีความโค้ง ความนุ่มสบายจากเส้นสายของหวาย งานจะเด่นที่การพันเชือก ใช้เชือกไนลอนและเชือกพลาสติกรีไซเคิล โครงหวาย โครงอะลูมิเนียม

“แล้วเราจะทำเฉพาะ accent chair เท่านั้น ผมชอบเปรียบเทียบ accent chair ว่าเหมือนผู้หญิงใส่ตุ้มหู เวลาใส่ตุ้มหูปุ๊บหน้าจะเด่นและสวยขึ้น เหมือนเวลาแต่งห้องมินิมอลเรียบๆ แค่วางเฟอร์นิเจอร์ของเราตัวเดียวก็ทำให้ห้องมีคาแร็กเตอร์ขึ้นมาแล้ว” 

อธิบายง่ายๆ ว่า accent piece หมายถึงงานออกแบบที่มีความสะดุดตา ซึ่งสำหรับพีทความสะดุดตานี้ออกแบบจากประสบการณ์ร่วมกับชุมชนทั้งหมดโดยใช้เทคนิคการนำคอมโพซิชั่นของลวดลายมาเรียบเรียงใหม่ จัดวางองค์ประกอบใหม่ และเล่าเรื่องใหม่

ไม่ว่าจะเป็นการพลิกแพลงรูปแบบการวางแพตเทิร์นใหม่ วางสัดส่วนใหม่ให้เสื่อกลายเป็น placemat ที่ฝรั่งใช้ได้ เอากระติ๊บสานมาทำเป็น wall decoration ปรับรูปทรงหมอนลายขิดให้มีฟังก์ชั่นใหม่กลายเป็นเก้าอี้สตูล 

Business Wisdom
Kitsch is the New Niche 

นอกจากการเดินทางสัมผัสหลากวัฒนธรรมของชุมชนจะทำให้พีทถ่ายทอด cultural essence ออกมาเป็นงานออกแบบ accent piece ที่มีดีไซน์เก๋ไก๋ได้แล้ว สิ่งสำคัญที่พีทตกตะกอนได้คือการพัฒนาชุมชนให้ได้ผลดีไม่ใช่แค่การไปเยี่ยมชาวบ้านแค่ครั้งเดียวแต่อาศัยการพัฒนาร่วมกันในระยะยาว 

หากอยากสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นให้เติบโตอย่างยั่งยืน การสร้างแบรนด์ของตัวเองที่มีโมเดลธุรกิจมั่นคง สามารถยืนระยะอย่างแข็งแรงในตลาดโลกได้ก็จะทำให้ชุมชนมีโจทย์ที่สนุกในการพัฒนางานฝีมือต่อไป   

“ทุกวันนี้มองเทรนด์ว่าประเทศยุโรปจะไม่ซื้อเฟอร์นิเจอร์เป็นคอนเทนเนอร์ทีละร้อยตัวเหมือนเดิมแล้ว เลยมองเห็นโอกาสการขาย accent chair เก้าอี้คาแร็กเตอร์จัดที่คนอื่นไม่ค่อยทำเพื่อเจาะตลาดยุโรปที่มีร้านกิฟต์ช็อปเล็กๆ”

โมเดลธุรกิจของฆิด-ตา-โขนเน้นที่การส่งออกสินค้าคอลเลกชั่นลิมิเต็ดในราคารีเทล โดย 3 ปีแรกเป็นช่วงขยายหมวดหมู่สินค้าให้ครบมากขึ้น “เวลาทำเฟอร์นิเจอร์ต้องขยาย range ให้ครบเพราะจะได้เพิ่มโอกาสขายเวลาเจอลูกค้า เช่น บางทีมีคนชอบสตูลแต่เราไม่มี เรามีแต่อาร์มแชร์ก็ต้องทำเพิ่ม”

คำว่า ‘คาแร็กเตอร์จัด’ ที่พีทกล่าวถึงคือความ kitsch ที่เล่นกับสีสัน ลวดลาย แพตเทิร์นอย่างไม่เหมือนใคร ทุกผลงานเป็นสินค้ารุ่นพิเศษ one-of-a-kind ที่ดูออกว่ามาจากแบรนด์ boutique ของนักออกแบบ ตั้งแต่เก้าอี้ Libra ที่ได้แรงบันดาลใจจาก African Ashanti stool, เก้าอี้ Hula ที่ได้ไอเดียมาจากความพลิ้วไหวของกระโปรงฮาวาย, ม้านั่ง Kaanso ที่ได้แรงบันดาลใจจากแมลงปอ

ในช่วงโควิด-19 ที่ตลาดต่างประเทศซบเซาก็มีการแตกสินค้าหมวดที่ขายง่ายและเข้าใจง่ายขึ้นสำหรับกลุ่มลูกค้าคนไทยในตลาดที่แมสมากขึ้น เช่น เก้าอี้ BoaBoa สีฉูดฉาดที่ออกแบบจากทรงเก้าอี้ dinning chair ดีไซน์คลาสสิก, wall art และตู้ที่นิยมใช้ในโรงแรมอย่างแพร่หลาย, โต๊ะคอนโซลสไตล์จีนผสมแอฟริกัน

ความพิเศษของการทำคอลเลกชั่นเฟอร์นิเจอร์แบบลิมิเต็ดคือการใช้วิธีเปิดตัวสินค้าใหม่คล้ายแบรนด์แฟชั่นด้วยการขายเป็นดร็อปหรือขายเฉพาะรอบพิเศษในเวลาจำกัด

“เราไปซื้อปลายผ้า เศษผ้าของ Jim Thompson แล้วมาประกอบเป็นเก้าอี้ซักผ้าที่ซื้อเข้าบ้านได้ง่าย เบาะหนึ่งทำแค่ 3-5 ตัว หมดแล้วหมดเลย พอโปรโมตขายออนไลน์ก็ไปเข้าตาทางแบรนด์ว่าสามารถเอาผ้าของเขามาแมตช์กับสีสันของแบรนด์เราได้”

หลังจากนั้น Jim Thompson จึงติดต่อมาว่าอยากทำคอลเลกชั่นคอลแล็บร่วมกันอย่างจริงจัง จึงต่อยอดเป็นเก้าอี้จากผ้าทอเอาต์ดอร์ของ Jim Thompson ที่มีสีสดจากแรงบันดาลใจในสีสันของหมู่เกาะทั่วโลก
โดยเก้าอี้รุ่นพิเศษนี้มี 3 รุ่นที่เล่นสีและลายต่างกันออกไป 

ทั้งเก้าอี้ Pandan (เตยหอม) ที่เล่นลายแพตเทิร์นจักสานแบบคลาสสิก, เก้าอี้ Mudjai (มัดใจ) ที่นอกจากจะใช้ผ้ามัดหมี่ที่เล่นสีกราเดียนต์แล้วยังมีลูกเล่นของขาเก้าอี้ที่สะท้อนเงาเป็นลายมัดหมี่เมื่อใช้งานกลางแจ้ง และเก้าอี้ Takpha (ตากผ้า) ที่โดดเด่นด้วยลาย stripe ของผ้าขาวม้า


แผนธุรกิจของฆิด-ตา-โขนในอนาคตคือการคอลแล็บกับแบรนด์อื่นๆ โดยไม่จำกัดรูปแบบทั้งกับแบรนด์แฟชั่น ศิลปิน แบรนด์ไลฟ์สไตล์ และงานคราฟต์ โดยปีหนึ่งจะออกคอลเลกชั่นลิมิเต็ดราวสองครั้งในช่วงที่มีงานดีไซน์แฟร์ของต่างประเทศเพื่อให้ตรงกับซีซั่นที่ลูกค้า B2B อย่างโรงแรมกำลังมีแผนตกแต่งภายใน และลูกค้า B2C คนทั่วไปที่กำลังหาของขวัญปลายปี

ทุกวันนี้แบรนด์ดีไซน์ kitsch อย่างฆิด-ตา-โขนมีลูกค้าต่างประเทศหลากหลายกลุ่มทั่วโลกนอกเหนือจากยุโรป ทั้งเอเชีย ตะวันออกกลาง เกาหลี ญี่ปุ่นไปจนถึงลูกค้าไทยที่ชอบแต่งบ้านและคนที่อยากสั่งทำสินค้า customize พิเศษ

“ผมคิดว่าแบรนด์เราเข้าได้กับทุกบ้านจริงๆ เป็น accent piece สำหรับใครก็ตามที่ชอบงานออกแบบ”

อาจไม่ใช่ทุกคนที่เสพงานออกแบบคาแร็กเตอร์จัด มีคนไม่น้อยที่ตีความ kitsch ว่าไร้รสนิยม แต่ที่แน่ๆ ในหลายประเทศมีตลาด niche ที่พร้อมจ่ายเงินซื้อแบรนด์ที่เป็นตัวของตัวเองและอนุรักษ์อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในมูลค่าสูง

Sexy Identity   

อีกสิ่งหนึ่งที่นักออกแบบถนัดคือการเล่าเรื่องผ่านคอนเซปต์

การสร้างแบรนด์เชิงธุรกิจในแบบของพีทคือการทำ brand presentation ผ่านแฟล็กชิปสโตร์ที่เป็นเสมือนฐานทัพสำหรับจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน สื่อสารคอนเซปต์สร้างสรรค์เพื่อหวังให้คนแวะเวียนกลับมาที่ร้านบ่อยๆ

Craft is Sexy คือคีย์เวิร์ดของแบรนด์ที่อยากเปลี่ยนภาพจำว่างานฝีมือมีลุคที่เชย  

“ผมเคยไปออกงานแฟร์แล้วคนต่างชาติถามว่า ทำไมแบรนด์จากประเทศโลกที่ 3 ของคุณถึงแพง” ด้วยภาพลักษณ์ที่ต่างชาติมองประเทศไทยเป็นแหล่งรับผลิตทำให้ความสำคัญของการสร้างแบรนด์ฆิด-ตา-โขนคือการนำเสนอตัวตนของแบรนด์ว่ามีดีไซน์เซ็กซี่ที่พร้อมจะตีตลาดลักชูรีระดับโลกได้ 

“เราพยายามหา identity ของแบรนด์ให้ได้ว่าเราเป็นใครในตลาดโลกและจะโดดเด่นแตกต่างจากแบรนด์อื่นในเอเชียหรือในโลกนี้ยังไง เลยตั้งใจให้เป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่มีส่วนผสมของความเป็นแบรนด์แฟชั่น

“ทั้งเพิ่มสินค้าไลฟ์สไตล์หมวดของชิ้นเล็กเพื่อให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น คอลแล็บกับชาวบ้านทำสินค้าใหม่ๆ มากขึ้น เช่น กระเป๋า พรม ไม้กวาด แต่ก็จะมีเลเวลของการคอลแล็บที่ต่างกัน เช่น ถ้ากลุ่มนี้ยังไม่เชี่ยวชาญเราอาจจะซื้อสินค้าเขามาก่อนแล้วก็มาทำสไตล์ลิ่งเอง หรือถ้าเห็นโอกาสพัฒนาก็ออกแบบร่วมกัน” 

พระพุทธรูปจักสาน กระเป๋าทรงกระติ๊บ พัดไม้ไผ่รุ่น PAD PAD และแทบทุกคอลเลกชั่นเด่นที่เคยทำมาเป็นสิ่งที่จะได้เจอเมื่อเดินเข้ามาที่แฟล็กชิปสโตร์รวมถึงการดิสเพลย์สินค้าที่เหมือนเดินเล่นอยู่ในแกลเลอรีศิลปะ ทั้งการนำเก้าอี้มาวางซ้อนกันและมีภาพศิลปะวางสลับกับงานดีไซน์


“เราอาจจะขายออนไลน์ไม่เก่งเหมือนคนอื่น เพราะสินค้าของเราแค่เห็นจากรูปถ่ายมันไม่เท่ากับมาสัมผัสเอง ดูรูปแล้วอาจจะไม่รู้สึกถึงความละเอียดลออ” 

วันนี้ฆิด-ตา-โขนมีอายุแบรนด์เข้าขวบปีที่ 5 แล้วและความตั้งใจในการเปิดแฟล็กชิปสโตร์ในปีนี้ก็กลับไปที่ความตั้งใจแรกซึ่งเป็นจุดตั้งต้นในการทำแบรนด์ของพีทคืออยากสนับสนุนชุมชนให้ได้มากที่สุดและทำให้คนเห็นว่างานคราฟต์มีความเซ็กซี่ยังไงบ้าง

Editor’s Note : Wisdom from Conversation

ความโมเดิร์นของ Kitt.Ta.Khon คือการเป็นงานคราฟต์ที่มีความ borderless
เบื้องหลังคอนเซปต์ดีไซน์ที่ดีไม่ใช่แค่ออกแบบแพตเทิร์นงานจักสานให้เป็นสินค้าที่สวยงาม แต่เป็นการออกแบบ pattern-of-life พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนเบื้องหลังโดยใช้ deep empathy หรือความเข้าใจชุมชนอย่างลึกซึ้งเป็นสิ่งสำคัญในการคำนึงถึงทุก stakeholder ที่เกี่ยวข้องกับงานหัตถกรรมทั้งผู้คนและสิ่งแวดล้อม

การอนุรักษ์อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมทำได้ด้วยการถ่ายทอด cultural essence ออกมาเป็นงานออกแบบ accent piece ที่ถ่ายทอดความ kitsch ให้มีความเซ็กซี่ สร้างร้าน boutique ที่ขายเฟอร์นิเจอร์แบบแบรนด์แฟชั่นและออกแบบแฟล็กชิปสโตร์ให้เหมือนแกลเลอรีศิลปะ สร้าง statement piece ที่สวยสะดุดตาจนต้องเหลียวหลังมอง 

Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like