นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Old School Twist 

แปลงโฉมสมุดนักเรียนลายไทยให้ไฉไลโดย ‘โรงงานสมุดโกญจนาท’ ที่ขายส่งสมุดกว่า 40 ปี 

ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปี ‘สมุดลายไทย’ ที่คนไทยคุ้นชินกันตั้งแต่สมัยเด็กและพบเห็นได้ตามร้านเครื่องเขียนทั่วไปก็มีหน้าตาเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลง 

เป็นสินค้าราคาย่อมเยาที่ทุกโรงงานสมุดในไทยต่างกำหนดสเปกการผลิตเหมือนกันหมดทั้งแพตเทิร์นลายไทยที่หน้าปกและตารางสูตรคูณที่ปกหลัง

เป็นสมุดในความทรงจำร่วมของคนหลายเจเนอเรชั่นและคนไทยทุกจังหวัดเพราะเริ่มผลิตมาเนิ่นนาน ตั้งแต่สมัยที่อุตสาหกรรมการผลิตสมุดในไทยเฟื่องฟูอย่างมากและขายส่งให้ยี่ปั๊วตามต่างจังหวัดทั่วไทย

วันนี้มีโรงงานไทยเจ้าแรกๆ ที่ลุกขึ้นมาแปลงโฉมหน้าตาสมุดลายไทยเจ้าเก่านี้คือ ‘โรงงานสมุดโกญจนาท’ ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวโดย ออย–ชาติพร หวังไพสิฐ ผู้ก่อตั้งโรงงาน, ดวง–นพธาร หวังไพสิฐ ทายาทรุ่น 2 ผู้รับหน้าที่เป็นผู้บริหารโรงงาน, มิน–ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ ทายาทรุ่น 3 ผู้ควบตำแหน่ง Art director, Product designer, Marketing manager และแปลงโฉมสมุดลายไทยให้ไฉไล  

เบื้องหลังการพลิกภาพจำสินค้านี้ ทั้งสามคนจะมาเล่าให้ฟังว่าส่งต่อธุรกิจที่เก่าแก่จากรุ่นสู่รุ่นอย่างไร ออกแบบสมุดยังไงให้คงความเป็นไทยและโดนใจคนรุ่นใหม่ และทำไมถึงยังคงตั้งใจชูสินค้าของคนไทยและคงเอกลักษณ์ไทยแม้จะเผชิญการดิสรัปต์ในธุรกิจไม่ต่างจากโรงงานในอุตสาหกรรมอื่นเลยก็ตาม

Life Wisdom
ตำราสร้างโรงงานสมุด

โรงงานสมุดโกญจนาทก่อตั้งขึ้นช่วง พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นยุคที่ธุรกิจขายส่งสมุดราคาถูกกำลังรุ่งเรืองและได้รับความนิยมอย่างมาก ออมทำงานอยู่ในวงการสมุดมาตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตการทำงานโดยก่อนที่จะสร้างโรงงานของตัวเอง เธอเคยรับจ้างทำงานในโรงงานสมุดของบริษัทอื่นมาก่อนเป็นเวลาสิบปี ซึ่งในช่วงนั้นได้ฝึกทักษะต่างๆ เช่น การนำกระดาษสมุดเข้าเครื่อง การขีดเส้นสมุดด้วยหมึก  

ออยเล่าว่าสามีของเธอก็รับหลายหน้าที่ในโรงงานสมุดเช่นกัน ตั้งแต่ดูแลการผลิต การขาย ขนส่ง ทำให้เชี่ยวชาญการดูแลโรงงานสมุดตั้งแต่ต้นจนจบ “พอเราเห็นกระบวนการผลิตเหล่านี้ ก็อยากทำให้เป็น ตอนพักเที่ยงก็มักจะรีบกินข้าวและไปหัดทำ”

ความใฝ่รู้ทำให้ออยศึกษาศาสตร์การผลิตสมุดจนกลายเป็นต้นทุนวิชาความรู้ในการทำธุรกิจ เมื่อถึงวันที่สร้างครอบครัวและมีลูก เธอรู้สึกว่าเงินเดือนไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่าย จึงตัดสินใจออกมาตั้งโรงงานเล็กๆ ของตัวเองร่วมกับสามี

Page 1 ของเส้นทางผู้ประกอบการที่สร้างโรงงานด้วยตัวเองจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยประการนี้ “ตอนนั้นเป็นตึกแถว 2 ชั้นห้องเดียว มีพนักงานอยู่แค่ 2-3 คน ซื้อเครื่องจักรมือสองเก่าๆ มาอย่างละตัวสองตัว เครื่องตัดกระดาษตัวหนึ่งและเครื่องขีดกระดาษอีกตัวหนึ่ง ตัวเราเองก็ลงไปช่วยพนักงานทำงานทุกอย่าง ช่วยนับกระดาษ เข้าเล่ม เย็บสมุด ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ทีละนิด” 

ทั้งเธอและสามีลงมือทำเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิต ขายของ ส่งของ ไปจนถึงสอนพนักงานให้ใช้เครื่องจักรจนชำนาญ ปัจจุบันโรงงานมีพนักงานที่ทำงานมาเกิน 20 ปีแล้ว และค่อยๆ ขยับขยายกำลังการผลิตทั้งในแง่ของพนักงานและเครื่องจักร

ดวงผู้รับช่วงการบริหารโรงงานจากคุณแม่เล่าต่อว่าโรงงานสมุดโกญจนาทเป็นโรงงานขนาดเล็กที่ยึดกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมมาตลอด กล่าวได้ว่า 40 ปีที่แล้วเป็นยังไง ทุกวันนี้ก็ยังผลิตแบบนั้น ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย โดยใช้คนกำกับเครื่องจักรและผสมผสานกับขั้นตอนการทำด้วยมือ

ในแต่ละขั้นตอนมีช่างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ตั้งแต่ช่างนับกระดาษ ซึ่งต้องฝึกทักษะการนับจำนวนกระดาษด้วยมือมาหลายสิบปี โดยจำนวนกระดาษในสมุดแต่ละรุ่นจะมีตั้งแต่รุ่นบางสุด 8 แผ่น ไปจนถึงรุ่นหนาสุดที่ 80 แผ่น ช่างเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญและไม่ใช่ทุกคนที่จะทำหน้าที่นี้แทนได้

“แม้กระทั่งเครื่องขีดเส้น ก็ต้องใช้ฝีมือ” ดวงกล่าว “ทุกเส้นต้องใช้ทักษะของช่างในการตั้งเข็มเพื่อขีดเส้นให้เรียบร้อย” กระบวนการผลิตจึงต้องมีช่างเฉพาะทางประจำที่เครื่องจักรแต่ละประเภทตั้งแต่เครื่องตัด เครื่องขีด เครื่องเย็บ หลังจากใช้เครื่องจักรขีดเส้นตามประเภทของสมุดแต่ละรุ่น ทั้งสมุดพก สมุดกราฟ สมุดนักเรียน ก็จะเข้าสู่กระบวนการเข้าเล่มโดยเย็บแบบมุงหลังคาด้วยมือ  

เนื่องจากโรงงานสมุดโกญจนาทไม่ใช่โรงงานขนาดใหญ่ที่ใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหมดจึงยังคงรักษาขั้นตอนการผลิตโดยพนักงานไว้เพื่อให้ส่งต่องานได้ง่ายและเหมาะสมกับรูปแบบการทำงานของโรงงาน ความเชี่ยวชาญของโรงงานจึงเป็นการเข้าเล่มและส่งหน้าปกสมุดให้โรงพิมพ์ผลิตตามแบบอีกต่อ

สมุดลายไทยโดยคนไทย 

สมุดลายไทยสำหรับใช้ในโรงเรียนถือเป็นสินค้าซิกเนเจอร์ของโรงงานสมุดโกญจนาทที่ผลิตมาต่อเนื่องกว่า 40 ปี โดยโรงงานทุกเจ้าจะผลิตสมุดลายไทยนี้ในรูปแบบเดียวกันหมด คือปกหน้าเป็นลายไทย ส่วนปกหลังเป็นสูตรคูณ

นอกเหนือจากสมุดนักเรียนแล้ว โรงงานยังผลิตสมุด 8 แผ่นสำหรับการทำบุญในงานผ้าป่าและพิธีกรรมต่างๆ อีกทั้งยังเพิ่มหมวดสินค้าทั้งสมุดจดบันทึก สมุดพก และสมุดวาดเขียนในเวลาต่อมา โดยเน้นการขายในราคาย่อมเยาที่ราคา 2-20 บาทตั้งแต่ยุคก่อตั้งโรงงาน และปัจจุบันราคาก็ขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยอยู่ที่ 3-24 บาทเท่านั้น ทั้งนี้ราคาขายส่งจะปรับไปตามปริมาณออร์เดอร์ที่สั่งผลิตของลูกค้าแต่ละรายเล็กน้อย

โมเดลธุรกิจของโรงงานสมุดที่ราคาถูกแสนถูกเช่นนี้เน้นการขายส่งในกรุงเทพฯ ผ่านยี่ปั๊ว ซึ่งจะนำสมุดไปขายต่อในต่างจังหวัดอีกทีและหาลูกค้าของโรงงานจากคอนเนกชั่นที่สั่งสมจากประสบการณ์ในวงการโรงงานสมุดมาก่อนหน้านี้ ออยได้แชร์ประสบการณ์การสร้างโรงงานของตนเองว่าเป็นงานที่ยากและท้าทายมาก

“มันเหนื่อยมากและต้องใช้ความอดทนสูง สมัยก่อนทำงานกันถึง 3 ทุ่ม มีโอทีทุกวันเลย ไม่เคยหยุดเพราะยุคก่อนลูกค้าสั่งเยอะและชอบซื้อสต็อกไว้ครั้งละเยอะๆ” เธอกล่าวเสริมว่าโรงงานขายดีจนต้องใช้รถสิบล้อในการขนส่งสมุดเป็นประจำ มินแชร์ว่าพอถึงยุคของทายาทรุ่นที่ 3 ก็พบกับอุปสรรคที่เกิดจากการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดตามยุคสมัยอย่างชัดเจน

“จากวันที่เคยขายดีมาก มาถึงวันนี้เรากลับอยู่ในจุดที่ขายแย่มาก รายได้จากการขายส่งลดลงอย่างมาก เพราะคนใช้สมุดน้อยลงกว่าเมื่อ 40 ปีที่แล้ว อีกทั้งเราเป็นโรงงานที่ยังคงใช้การผลิตด้วยมือแบบดั้งเดิมในขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีต้นทุนที่ถูกกว่า ทำให้สามารถขายส่งได้ในราคาที่ต่ำกว่าเรา การแข่งขันจึงยากขึ้นไปอีก แถมยังมีสมุดราคาถูกจากประเทศจีนเข้ามาขายแข่งในไทยตั้งนานแล้ว”

“ในวงการผลิตสมุดก็มีการตั้งคำถามกันอยู่เสมอว่าธุรกิจนี้จะไปรอดไหม ทำไมเราไม่เลือกซื้อสมุดจากจีนแล้วนำมาขายต่อแทนที่จะผลิตเอง แต่เราก็ยังยืนหยัดที่จะผลิตเองต่อไป เพราะถามว่าคนจีนจะสามารถผลิตสมุดลายไทยแบบนี้ได้ไหม ก็คงไม่ เราเข้าใจการใช้สมุดของคนไทยมากที่สุด เพราะตัวเราเองก็เคยเรียนหนังสือในประเทศนี้มาก่อน” 

“แม้สมุดจะเป็นสินค้าที่มีต้นทุนต่ำและดูเหมือนจะไม่มีมูลค่าเพราะสินค้าจากจีนเข้ามาทดแทนได้ง่ายมาก โรงงานที่ผลิตสมุดแบบนี้ก็เหลือน้อยลงทุกที แต่สิ่งหนึ่งที่เรายังคงยึดมั่นเป็นจุดขายของเรา คือสมุดของเราผลิตด้วยมือของคนไทยจริงๆ และพนักงานทุกคนของเราก็เป็นคนไทย”

Business Wisdom
ออกแบบลายไทยร่วมสมัย

จุดเปลี่ยนของธุรกิจคือวันที่มินตั้งคำถามกับสมุดที่มีลายเดิม ผลิตรูปแบบเดิมมาตลอด 

“เราโตมากับโรงงานนี้ตั้งแต่เด็ก อยู่กับสมุดมาทั้งชีวิตแต่ไม่เคยอยากใช้สมุดของโรงงานตัวเองเลย เป็นสิ่งที่เราคิดมาตลอดว่าเวลาใช้สมุด เรายังไปซื้อสมุดจากที่อื่น ก็เลยตัดสินใจเปลี่ยน”

ความตั้งใจของมินคืออยากทำให้สมุดลายไทยดูมีความมินิมอลมากขึ้นเพื่อให้โดนใจคนรุ่นใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังซื้อใจคนรุ่นเก่าได้ จึงนำลายไทยโบราณมาใช้เป็นต้นแบบในการออกแบบทั้งลายโคมพวงแก้ว พิกุลกรอง เหลี่ยมเพชร ดาวกระจาย ราชวัตรดอกกลม เฉลวเพชร กุหลาบดอกจอก

“ตอนออกแบบเราไปค้นหา reference จากลายไทยที่มีอยู่แล้วในตำราแล้วก็ขึ้นโครงจากลายนั้น ทีนี้จะทำยังไงให้ดูโมเดิร์นขึ้น อย่างแรกคือพอลายดั้งเดิมมีขนาดเล็กเลยทำให้รู้สึกว่ามีดีเทลเยอะ ขัดกับความมินิมอล เราเลยขยายลายให้ใหญ่ขึ้นแล้วลดทอนให้เรียบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

“ศาสตร์ของลายไทยดั้งเดิมมีการขึ้นโครงสร้างจากเรขาคณิตเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น ลายสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกัน เราก็ยึดจากเรขาคณิตเหล่านี้ ตัดดีเทลดั้งเดิมบางอย่างออกและใส่ดีเทลใหม่เพิ่มเข้าไป อีกส่วนหนึ่งที่ช่วยได้เยอะคือเรื่องสี เราพยายามจับคู่สีให้ถูกต้องตามสัดส่วนการใช้สีทำให้มองแล้วดูไปด้วยกันได้และใช้สีที่ไม่เคยปรากฏอยู่ในงานลายไทยมาก่อนทำให้ดูมีความสมัยใหม่แต่ก็ยังรู้สึกถึงความเป็นไทย” 

จากปกหลังของสมุดที่แต่เดิมเป็นแม่สูตรคูณก็เปลี่ยนใหม่ทั้งหมดเป็น 8 วิชาที่ไม่เหมือนกัน เช่น ตาราง Tense ในวิชาภาษาอังกฤษ การใช้คำและวรรณยุกต์ในวิชาภาษาไทย สูตรทางคณิตศาสตร์ แผนที่ทางภูมิศาสตร์ในวิชาสังคม สัญลักษณ์การดูแลเสื้อผ้าในวิชาการงานอาชีพ สัญลักษณ์การอ่านโน้ตในวิชาดนตรี เป็นต้น 

ทั้งนี้เพราะมินรู้สึกว่า “สมุดที่มีสูตรคูณมันไม่เข้ากับสิ่งที่เราเรียนในโรงเรียน จึงอยากพลิกคอนเซปต์ใหม่ให้แตกต่างจากตลาด”

เคล็ดลับในการออกแบบแพตเทิร์นลายไทยให้ร่วมสมัยของมินคือเข้าใจผู้ใช้ “ความจริงการทำกราฟิกมันขึ้นอยู่กับรสนิยมเยอะพอสมควร เราต้องเข้าใจว่ามาตรฐานของงานประเภทนี้อยู่ที่ไหน รสนิยมและความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้สร้างงานกับคนเสพอยู่ตรงไหน เมื่องานที่เราสื่อสารออกไปถูกมองเห็นตรงกับสิ่งที่เราต้องการ งานนั้นก็จะเข้าถึงผู้คนได้

“มันเป็นเรื่องของประสบการณ์ที่ต้องเสพงานเยอะๆ ต้องเข้าใจคนและเห็นว่าเทรนด์ไปทางไหน มองเห็นว่าคนสนใจอะไรชอบอะไร เราฝึกทำกราฟิกมานานมากตั้งแต่ก่อนจะมาทำโรงงานนี้อีก พวกนี้มันเป็นหลายศาสตร์ผสมกันถึงจะออกมาเป็นแบบนี้ได้”

นอกจากลายหน้าปกแล้วมินยังปรับคุณภาพการผลิตให้เป๊ะมากขึ้น “เมื่อก่อนโรงงานเราใช้กระดาษเป็นเกรดที่ค่อนข้างถูก มันจะมีความสาก ตอนนี้เราเปลี่ยนให้เป็นกระดาษรุ่นที่แพงขึ้นมาซึ่งมีความนุ่มลื่นมากขึ้น เมื่อก่อนเส้นบรรทัดเราก็ไม่ได้ลงมาคุมคุณภาพขนาดนั้น ทำให้อาจจะมีเบี้ยวบ้าง ขาดช่วงบ้างนิดๆ หน่อยๆ เราก็ลงมาคุมคุณภาพใหม่ให้มีความสม่ำเสมอและสีเท่ากัน คุมการตัดให้มีความคมชัดและสวยงาม”  

จากขายส่งสู่ค้าปลีก 

สมุดลายไทยที่ออกแบบใหม่กลายเป็นสินค้าไวรัลในโลกโซเชียลทันทีหลังจากมินทวิตถึงคอนเซปต์การออกแบบใน Twitter โดยติดอันดับสินค้าขายดีใน Shopee และหลังจากนั้นโรงงานสมุดโกญจนาทก็หันมาค้าปลีกอย่างจริงจังมากขึ้นผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้ง Lazada และ TikTok รวมถึงเปิดเพจเฟซบุ๊กเพื่อหาลูกค้าขายส่งเพิ่มเติมควบคู่กันไป  

มินบอกว่าการเพิ่มโมเดลธุรกิจจากขายส่งเท่านั้นตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีมาเป็นค้าปลีกนับเป็นการก้าวออกนอกคอมฟอร์ตโซนครั้งใหญ่สำหรับทุกคนในครอบครัว  

“สมัยก่อนหลักการของโรงงานเราคือการต่อต้านการขายปลีก เป็น motto ว่า ถ้าเราเป็นโรงงานผลิต เราก็จะขายส่งเท่านั้น เพื่อไม่ไปแย่งลูกค้ากับผู้ที่เอาสินค้าของเราไปขายต่อ” 

แต่สุดท้ายแล้วเหตุผลที่ตัดสินใจเปลี่ยนเพราะเชื่อว่าวิธีใหม่จะช่วยเพิ่มโอกาสใหม่ๆ และถ้าไม่เปลี่ยนธุรกิจอาจอยู่ไม่ได้

“เราเชื่อว่ายังมีคนที่ต้องการสินค้าของเรา เราเพียงแค่ต้องไปตามหาเขาให้เจอ ซึ่งการขายปลีกของเราก็ไม่ใช่ช่องทางขายเดียวกับที่ลูกค้าขายส่งของเราวิ่งขายตามต่างจังหวัดหรือส่งผ่านสายส่ง เราเน้นขายออนไลน์ซึ่งเป็นตลาดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง”

สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้สมุดลายไทยจะไวรัลในโซเชียล แต่ลูกค้าในโมเดลธุรกิจขายส่งยังคงสนใจสมุดลายไทยรุ่นเก่ารุ่นเดิม แม้โรงงานจะนำตัวอย่างไปเสนอถึงที่แล้วก็ตาม ทำให้เห็นได้ชัดว่าความชอบของกลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน

ด้วยเหตุนี้ โรงงานจึงแยกการขายออกเป็น 2 แบบ คือการขายส่งและขายปลีก เพื่อรองรับความต้องการที่แตกต่างกัน ดวงกล่าวเสริมว่าการที่ได้พบกับลูกค้าปลายทางทำให้โรงงานได้ฟังคอมเมนต์และข้อเสนอแนะของผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น ต่างจากสมัยขายส่งที่ไม่เคยได้รับฟีดแบ็กแบบนี้มาก่อน

นอกจากสมุดลายไทยแล้ว มินยังวางแผนขยายสินค้ากลุ่มใหม่อีกหลายรุ่น เช่น สมุดสำหรับคนทำงาน สมุด A5 และยังปรับดีไซน์สมุดในรุ่นอื่นๆ เช่น สมุดนักเรียนสีพาสเทลที่ออกแบบสีด้วยตัวเอง ทั้งนี้สำหรับสมุดลายการ์ตูนทั่วไปจะไม่ใช่ทุกรุ่นที่ออกแบบหน้าปกเอง เนื่องจากโรงงานมีปริมาณการผลิตเยอะมาก เพื่อให้สามารถผลิตทันรอบการผลิต สมุดบางรุ่นจะใช้วิธีเปลี่ยนดีไซน์ด้วยการซื้อภาพลิขสิทธิ์มาแล้วปรับแต่งอีกทีเพื่อนำเสนอลุคที่ทันสมัยและมินิมอลขึ้น

แม้การขายปลีกจะทำให้สมุดมีราคาสูงขึ้นเล็กน้อยแต่มินก็ทิ้งท้ายว่ายังคงความตั้งใจเดิมของโรงงานสมุดโกญจนาทตลอดมา 

“เราไม่ต้องการให้แบรนด์ของเราดูเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยเกินไป เรายังชอบคอนเซปต์เดิมของโรงงาน คือการขายสินค้าที่ราคาถูกและเข้าถึงได้ ทุนในการผลิตสมุดก็ยังอยู่ในหลักสิบบาท เราจึงยังสามารถขายในราคาที่จับต้องได้ เพื่อให้คนอื่นสามารถซื้อได้เหมือนเดิม”

Editor’s Note : Wisdom from Conversation

เคล็ดลับการทำสมุดลายไทยให้โมเดิร์นในแบบของโรงงานสมุดโกญจนาทคือการกล้าฉีก legacy จากหน้ากระดาษแผ่นเก่าทิ้งและเขียนไอเดียใหม่ทับเข้าไป ทั้งการวางภาพจำว่าสมุดลายไทยต้องมีหน้าตาแบบนี้เท่านั้น ลายไทยต้องคงแพตเทิร์นแบบเดิมเท่านั้น และโมเดลธุรกิจต้องเป็นขายส่งเท่านั้น

Life Wisdom ของธุรกิจครอบครัวคือการค่อยๆ เปลี่ยนแปลงโดยบาลานซ์ทั้งสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ไว้ ออกจากคอมฟอร์ตโซนในการค้าปลีกซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ แต่ก็ยังคงสานสัมพันธ์กับลูกค้าเก่าในการขายส่ง ยึดแก่นคุณค่าที่ธุรกิจสร้างไว้ตั้งแต่ต้นคือการคงรากความเป็นแบรนด์ไทยและการเป็นโรงงานสมุดไทยที่ผลิตสินค้าราคาย่อมเยาตลอดมา 

Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like