Think Like A Venture Capital
มายด์เซตแบบนักลงทุนที่ทำให้โตก้าวกระโดด โดย Kamren ผู้ปั้นสตาร์ทอัพยูนิคอร์น จากเวที CIS 2023
เซสชั่นหนึ่งที่น่าสนใจในงาน Corporate Innovation Summit 2023 ซึ่งมีผู้บริหาร สตาร์ทอัพ และนักลงทุนมารวมตัวกัน คือเซสชั่นของสปีกเกอร์ผู้เป็นนักลงทุนหรือ VC (venture capital) อย่าง Kamran Elahian Co-founder & Chairman of the Board, Global Innovation Catalyst ที่มาแชร์ประสบการณ์ในหัวข้อ ‘Unicorn Playbook : Building the Unicorn Companies from My Experiences”
คามรันเป็นนักลงทุนที่มีประสบการณ์เคยเป็นผู้ประกอบการด้วยตัวเองมาก่อน โดยเขานิยามตัวเองว่าเป็น high-tech entrepreneur ที่เคยร่วมก่อตั้งมาแล้วถึง 10 บริษัท และ 3 ใน 10 ของบริษัทเหล่านั้น ได้แก่ Cirrus Logic, NeoMagic และ Centillium ซึ่งเป็นบริษัทระดับยูนิคอร์นที่เข้า IPO (ตลาดหลักทรัพย์) ได้ โดยคามรันแชร์ประสบการณ์ว่าใน 3 บริษัทนั้น เขาเคยถูกไล่ออกจากบริษัทตัวเองถึง 2 บริษัท และที่กล่าวถึงความล้มเหลวของตัวเอง นั่นก็เพราะมองว่าคนเราควรจะพูดถึงความล้มเหลวได้
ในมุมของนักลงทุน เขามีประสบการณ์เป็นนักลงทุนใน global venture capital ถึง 15 ปี และองค์กรในปัจจุบันคือ Global Innovation Catalyst นั้นก็ทำให้เขามีบทบาทในการเป็น advisor ให้หลายองค์กรและหลายประเทศ ประสบการณ์ที่พิเศษของคามรันทำให้เขาบอกว่าตัวเขาเองได้มีโอกาสเรียนรู้โลกธุรกิจจาก 2 มุมมอง คือมุมผู้ประกอบการและในมุมของผู้ให้คำปรึกษา โดยที่เขายังผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ ecosystem ของธุรกิจที่แตกต่างกันจากหลายประเทศมาแล้วอีกด้วยทั้งสิงคโปร์ อิสราเอล ฯลฯ
คามรันเล่าอินไซต์ที่เขาพบคือ หากมอง global innovation ecosystem ทั้งหมด ที่ประกอบด้วย research ecosystem, entrepreneurial ecosystem และ corporate ecosystem เขาพบว่า 80% ของบริษัทเหล่านี้ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเป็น Top 3 สิ่งที่สำคัญที่สุดในองค์กร
อย่างไรก็ตาม แม้องค์กรส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและมีงบประมาณในการลงทุน แต่เขามองว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการผลักดันและนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดดคือมายด์เซต ตัวอย่างเช่น หลายคนรู้ว่าเทคโนโลยีอย่าง AI กำลังมา แต่ในขณะเดียวกันก็ยังไม่กล้าเอามาใช้จริง คามรันมองว่าในอนาคตพนักงานอาจไม่ได้ถูกแทนที่ด้วย AI แต่จะถูกแทนที่ด้วยคนที่รู้ว่าใช้ AI ยังไงให้ทำงานเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพขึ้นมากกว่า
คำแนะนำคือ องค์กรควรตระหนักว่า ‘Serendipity is not a strategy’ คำว่า serendipity แปลว่า การมีโชคในการค้นพบสิ่งที่ต้องการโดยบังเอิญ หมายถึงการที่องค์กรหรือผู้นำมองเห็นความสำคัญของนวัตกรรมและมีความคาดหวังให้องค์กรสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ได้ แต่มีอุปสรรคคือไม่สามารถทำให้เกิดได้จริงเพราะยังไม่มีมายด์เซตในการลงมือทำ ตัวอย่างเช่น ทีมผู้บริหารหรือ top management ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่ากับสินค้าและการขายในปัจจุบันเป็นอันดับหนึ่ง ทำให้แผนการผลักดันคุณค่าและเตรียมพร้อมกับการพัฒนาสิ่งใหม่สำหรับอนาคตระยะยาวถูกทิ้งไว้
คามรันแนะนำว่าการคิดแบบนักลงทุนหรือ venture capital นั้นจะมาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักทำธุรกิจแบบใส่ใข่ในตะกร้าใบเดียว เช่น ทุ่มเททำหนึ่งบริษัทและมองการขายในปัจจุบัน แต่ venture capital จะลงทุนในหลายบริษัทและมองภาพไกลในอนาคต เริ่มจากลงทุนด้วยเงินน้อยๆ ในบริษัทหนึ่งก่อนแล้วลงเงินเยอะขึ้นเรื่อยๆ เมื่อบริษัทนั้นประสบความสำเร็จมากขึ้น ซึ่งองค์กรสามารถนำมายด์เซตที่มองไกลนี้มาประยุกต์ใช้ได้
เมื่อมองไกลแล้ว The Building Blocks of Innovation หรือองค์ประกอบที่ทำให้เกิดนวัตกรรมที่ควรมีคือการมี 6P เหล่านี้อย่างถูกต้อง ได้แก่ people คนทำงานที่มีความรู้และทักษะเหมาะกับตำแหน่ง, projects and portfolio เลือกทำโปรเจกต์และมีกลยุทธ์ที่สร้างโอกาส, process กระบวนการทำงานที่ใช้ต้นทุนและวิธีที่ถูกต้อง, platform การไปอยู่ในที่ที่ถูกต้อง และ purpose การมีเป้าหมายที่อยากผลักดันให้ไปถึง
ดังนั้นแม้คุณอาจไม่ใช่นักลงทุนหรือนักธุรกิจสตาร์ทอัพก็ตาม แต่หากอยากมองไกลและสามารถคิดค้นสิ่งใหม่ก็สามารถนำมายด์เซตของนักลงทุน venture capital มาประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน