Content Creator

อยากเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่แบรนดิ้งชัดต้องทำยังไง จาก iCreator Camp 2024

‘คอนเทนต์ครีเอเตอร์’ ขึ้นแท่นเป็นอาชีพในฝันของเด็กรุ่นใหม่โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงโควิด-19 หลายคนผันตัวจากผู้เสพคอนเทนต์ ไปเป็นนักสร้างสรรค์ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจึงมีครีเอเตอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นทั่วโลกกว่า 165 ล้านคน และถือเป็น ‘ยุคทอง’ ที่บางคนแจ้งเกิดจนมีชื่อเสียง และสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

คำถามสำคัญคือเหล่าครีเอเตอร์ต้องทำยังไงถึงจะไปอยู่ในใจของผู้ติดตาม และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนท่ามกลางสนามการแข่งขันที่ดุเดือดได้

คอลัมน์ Keynote ครั้งนี้พาไปหาคำตอบจากหัวข้อคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง ในงาน iCreator Camp 2024 Presented by SONY โดย RAiNMaker แคมป์ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าเรียนกับครีเอเตอร์จากหลากหลายวงการอย่างใกล้ชิด 

‘ทำไมต้องสร้าง personal branding อย่างยั่งยืน’

อาจารย์ผึ้ง–ผศ. ดร.ปภัสสรา ชัยวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าว่าการที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์สักคน จะมีตัวตนท่ามกลางการแข่งขันที่สูงได้นั้น จะต้องเริ่มจากการ ‘สร้าง personal branding อย่างยั่งยืน’ คือต้องมีลักษณะประจำตัวเป็นเอกลักษณ์จนคนยอมรับในวงกว้างอย่างยาวนาน

ส่วนเส้นทางที่ทำให้คนเปิดใจจนโดนตกในที่สุด ได้แก่

  • ทำให้คนสนใจ ผ่านคอนเทนต์ที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร 
  • ทำให้คนจดจำ ด้วยการลงคอนเทนต์สม่ำเสมอ ในทุกแพลตฟอร์มต้องมีคาแร็กเตอร์เหมือนกันเพื่อสร้างตัวตนที่แข็งแรง
  • ทำให้คนติดตามต่อไปเรื่อยๆ ด้วยการหาคำตอบในสมการนี้ให้เจอว่า เรามีอะไรที่อยากนำเสนอ + ผู้ติดตามอยากได้อะไร + สังคมเรียกร้องเรื่องอะไร 

‘วางแบรนดิ้งให้ชัด จนคนรักและภักดีด้วย personal branding canvas’

ประเด็นแรกที่เราหยิบมาพูดถึงคือ การหาตัวตนของตัวเองให้เจอ โดย ผศ. ดร.ปภัสสราแนะนำให้ทุกคน ‘เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด’ ซึ่งสามารถค้นหาได้จาก personal branding canvas และคำถามเหล่านี้

1. คำถามส่วน personal คือ สิ่งที่เป็น + สิ่งที่อยากเป็น แบ่งออกเป็น

  • สถานะ เช่น พนักงานประจำ ทำธุรกิจส่วนตัว
  • สิ่งที่สนใจ เช่น เสื้อผ้า คาเฟ่ การออกกำลังกาย อุปกรณ์ไอที
  • คาแร็กเตอร์ เช่น พูดเก่ง หัวเราะง่าย สดใส เรียบร้อย
  • สิ่งที่ถนัด เช่น ชอบแต่งตัว ชอบกิน ชอบวางแผนเที่ยว

2. คำถามส่วน branding คือ สิ่งที่อยากให้คนอื่นมองเห็นว่าเราเป็นแบบไหน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตัวตนหรือทักษะ เพื่อให้แบรนดิ้งชัดขึ้น สุดท้ายพอนำทุกคำตอบมาเรียงกัน ก็จะจับจุดได้ว่าตัวตนที่ใช่และอยากให้คนชอบเป็นยังไง

‘สื่อสารกับผู้ติดตามให้ตรงจุด ตรงใจ ด้วยเทคนิคแบบ 3U 3V’

เมื่อตัวตนเริ่มชัดและรู้แล้วว่าจะวางแบรนดิ้งยังไง ต่อไปคือการสื่อสารให้ผู้ติดตามได้รับรู้และหลงรัก โดยเก่ง–สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Creative Talk ได้แชร์เทคนิคการสื่อสารที่เรียกว่า 3U 3V ดังนี้

1. 3U แบ่งออกเป็น

  • Understand เนื้อเรื่องเข้าใจง่าย ต้องอาศัยทั้งเรื่องเล่าที่น่าสนใจ และเล่าให้น่าติดตาม พร้อมเชื่อมโยงเข้ากับไลฟ์สไตล์หรือความสนใจของผู้คน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม
  • Unknown คิดว่าผู้ติดตามเคยรู้เรื่องนี้แล้วหรือยัง หรือเรื่องอะไรที่คนไม่ค่อยรู้
  • Useful เรื่องนี้รู้แล้วผู้ติดตามเอาไปทำอะไรต่อได้ เช่น แชร์เทคนิคที่คนเอาไปใช้ต่อได้เลย ป้ายยาให้ซื้อสินค้าจากรีวิว

2. 3V แบ่งออกเป็น

  • Verbal เนื้อหาที่เล่าดึงดูดใจผู้ฟังหรือผู้อ่านได้ 7% เพราะตอนนี้ทุกอย่างมาไวไปไว ก่อนที่คนจะเลือกเสพเนื้อหาจริงๆ คนโฟกัสที่ปัจจัยอื่นก่อน
  • Vocal วิธีการพูดและน้ำเสียงหยุดให้คนฟังได้มากถึง 38% หลังจากนั้นเนื้อหาจะเป็นตัวตัดสินว่าเขาจะดูจนจบหรือไม่
  • Visual หรือสิ่งที่เห็น เป็นปัจจัยที่ทำให้คนสนใจมากที่สุดถึง 55%

‘เมื่อครีเอเตอร์มีพลังในการขับเคลื่อนสังคม’

อาจารย์ไอซ์–ผศ. ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เน้นย้ำว่า ครีเอเตอร์มีพลังที่สามารถเชื่อมต่อกับผู้คนและสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสังคมได้ รวมถึงเป็นการดึงดูดแบรนด์ต่างๆ ให้อยากร่วมงานด้วย ซึ่งสามารถหาประเด็นที่น่าขับเคลื่อนและน่าสนใจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและสร้างความน่าดึงดูดต่อแฟนๆ ได้จากคำถามเหล่านี้

  • Influences on Fans คุณมีอิทธิพลอะไรต่อความคิดและการกระทำของแฟนๆ
  • Pain ปัญหาหรือจุดเจ็บปวดต่อสังคมที่ผู้ติดตามประสบพบเจอ
  • Gain คุณค่าใหม่ที่คุณให้กับผู้ติดตามในประเด็นทางสังคม
  • Call to Action การมีส่วนร่วมของผู้ติดตามกับจุดยืนทางสังคมของครีเอเตอร์

‘ครีเอเตอร์สร้างรายได้จากการเป็นตัวของตัวเองได้ยังไง’

อุ้ย–พันธ์ศักดิ์ ลิ้มวัฒนายิ่งยง จาก AnyMind เปิดเผยแหล่งขุมทรัพย์ช่องทางการสร้างรายได้ให้กับเหล่าครีเอเตอร์ ดังนี้

1. platform monetization หรือการสร้างรายได้จากแพลตฟอร์ม เช่น ยูทูบ (ads), เฟซบุ๊ก (ads)

2. branded content เป็นรายได้จากแบรนด์ที่เข้ามาสปอนเซอร์ครีเอเตอร์ให้ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับสินค้าหรือแบรนด์นั้นๆ ผ่านเอเจนซีหรือแพลตฟอร์มที่หาครีเอเตอร์โดยเฉพาะ ซึ่งเทคนิคการทำงานร่วมกันระหว่างครีเอเตอร์กับแบรนด์ คือ

  • ดูจุดประสงค์ว่าแบรนด์ต้องการอะไร เช่น awareness หรือ engagenent 
  • ทำความเข้าใจรายละเอียดของงาน เช่น ข้อความหลักที่ต้องการจะสื่อสารกับผู้ติดตามคืออะไร 
  • คุยสโคปงานให้ละเอียดและชัดเจน

3. fan funding หรือการสนับสนุนจากแฟนคลับ เช่น ส่งของขวัญใน TikTok Gifts หรือส่งดาวในเฟซบุ๊ก

4. merchandising เหมาะสำหรับครีเอเตอร์ที่แฟนๆ มีความเป็น loyalty มาก โดยจะเป็นการผลิตสินค้าและจำหน่ายด้วยตัวเองหรือไปคอลแล็บกับแบรนด์อื่นๆ

5. affiliate & live commerce หรือที่ทุกวันนี้คนชอบเรียกกันว่าเป็น ‘นายหน้า’ คือการทำคอนเทนต์หรือไลฟ์สดแนะนำสินค้าต่างๆ ถ้ามีคนซื้อสินค้าก็จะได้ค่าคอมมิชชั่น

นอกจากนั้น ยังเน้นย้ำว่า ‘ถ้าคาแร็กเตอร์ชัด = โอกาสที่คนจะรักและภักดี = โอกาสในการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน’

Writer

นักเขียนที่อยากเปลี่ยนเรื่องธุรกิจให้เป็นเรื่องสนุก และมีแมวกับกาแฟช่วยฮีลใจในทุกวัน

You Might Also Like