Life is Short, Get a Tattoo
จริงจังกับรีเสิร์ช ทุ่มทุนกับหน้าร้าน วิธีคิดให้ Homeboy Tattoo Club เป็นร้านสักที่แตกต่าง
ร้านสักในความทรงจำของคุณเป็นแบบไหน? ดูลึกลับซับซ้อน แสงไฟสลัว หรือบางร้านอาจถึงขั้นดูน่ากลัวจนบางคนพลอยอคติกับการสัก
แล้วร้านสักในปัจจุบันที่คนนิยมเป็นยังไง? ดูมินิมอลมินิใจ และไม่น้อยมักปักหมุดอยู่ที่ห้องนอนหรือบ้านของช่างสัก
แต่ Homeboy Tattoo Club นั้นแตกต่างออกไป ทั้งโลเคชั่นที่อยู่ในสถานที่ที่เข้าถึงง่ายอย่างลาดพร้าวซอย 1 ข้างห้างสรรพสินค้ายูเนี่ยนมอลล์ และแตกต่างทั้งความจริงจังในการดีไซน์ให้ร้านดูคล้ายซูเปอร์มาร์เก็ต พ่อแม่หลายคนก็ดูสบายใจที่จะปล่อยให้ลูกมาสัก ส่วนผู้หญิงที่กลัวการเข้าร้านสักก็กล้ามากขึ้น
‘ร้านสักที่เท่ที่สุด’ คือนิยามของ Homeboy Tattoo Club ที่ แบงค์–อัมพรชัย มณีแสงสาคร และ แตงโม–พัชร์ เอกมหาชัย เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าสตรีท Homeboy และแบรนด์เสื้อผ้าสุดมินิมอลอย่าง Avocado ตั้งเอาไว้ ส่วนคำว่า ‘สนุก ปลอดภัย และจริงจังกับความไม่เหมือนใคร’ เป็นนิยามที่เราขอมอบให้เอง
แม้แบงค์จะบอกกับเราว่าเขาให้เวลาทุกธุรกิจได้พิสูจน์ตัวเอง 3 เดือน แต่คิวสักที่มีเข้ามาไม่หยุดก็ทำให้เราอยากชวนเขามาพูดคุยถึงวิธีคิดหน้าร้านเดี๋ยวนี้ว่าทั้งคู่ต้อง get อะไรกันบ้าง ก่อนที่จะทำให้คนอยากจะ get a tattoo จาก Homeboy Tattoo Club
Get a Good Place
“เราไม่มีไอเดียตั้งแต่แรก แต่ร้านนี้มันเกิดขึ้นจากเราขับผ่านทางยูเนี่ยนมอลล์แล้วเห็นพื้นที่ตรงนี้ปล่อยเช่าพอดี” แบงค์เกริ่นเล่าถึงวันแรกของการทำธุรกิจที่สอง
“เรายังไม่รู้หรอกว่าจะทำอะไร แต่เวลานี้มันต้องเช่าไว้ก่อนเพราะเราชอบที่นี่มาก” เขาเสริมก่อนอธิบายให้ฟังว่าคำว่า ‘ชอบมาก’ ที่ว่านั้นหมายถึงอะไร
“หนึ่ง–ที่ตรงนี้ eyeball เยอะมาก วันหนึ่งๆ มีคนเข้ายูเนี่ยนมอลล์เป็นหมื่นคน เสาร์-อาทิตย์มีคนมาเดินเป็นแสน สอง–เดินทางสะดวกเพราะใกล้เอ็มอาร์ทีพหลโยธิน และสาม–มีที่จอดรถให้พร้อมเลย นึกออกไหม พื้นที่มันพร้อมทุกอย่าง” เขาว่าอย่างนั้น
ช่วงเวลาจากวันที่เริ่มเซ็นสัญญาเช่าที่นั้นเอง แบงค์นั่งคิดสะระตะว่าจะเอายังไงกับพื้นที่ฟ้าประทานที่ได้มา จะทำอาหารก็ไม่ถนัด คู่คิดอย่างแตงโมจึงยิงคำถามชวนคิดว่าทั้งหมดทั้งมวลในชีวิต แบงค์ชอบอะไร
“นอกจากเสื้อผ้าก็ชอบสัก” แบงค์ตอบแบบนั้น และเมื่อแตงโมก็ว่าเข้าท่า ทั้งสองจึงเริ่มจริงจังกับแผนการร้านสักขึ้นมา
“แต่ต้องเป็นร้านสักที่ไม่เหมือนร้านสัก เพราะร้านสักปกติก็มีเยอะแยะแล้ว เราอยากได้ร้านสักที่เหมือนคาเฟ่มากกว่า” แบงค์โยนไอเดียออกมาให้แตงโม แล้ว Homeboy Tattoo Club ก็ค่อยๆ ก่อร่างสร้างภาพขึ้นมา
Get Well-researched
มองจากภายนอก Homeboy Tattoo Club เป็นร้านสักที่เหมือนคาเฟ่มากกว่า แต่ใต้ความแตกต่างนี้ ใช่ว่าแบงค์และแตงโมจะทำขึ้นมาตามใจตัวเองปรารถนา ทุกตารางเมตรของร้านสักที่ไม่เหมือนร้านสักที่ว่ากลับซ่อนการรีเสิร์ชของทั้งคู่ไว้ทุกอณู
“ถึงการสักมันกำลังเป็นเทรนด์แต่มันยังถือเป็น niche market อยู่ คนเดินผ่านร้าน 10 คน อาจจะเหลือแค่ 1 คนที่เดินเข้ามาสักก็ได้ เพราะงั้นยิ่งเป็น niche market ยิ่งต้องรีเสิร์ชหนักเลย การทำร้านให้แตกต่างมันจึงไม่ใช่แค่เพื่อทำให้คนจดจำ แต่ความแตกต่างนั้นมันต้องผ่านการรีเสิร์ชมาแล้วว่าลูกค้าชอบ
“เพราะสมมติมีคนใส่เสื้อแดงยืนเรียงกัน 5 คนแล้วเราใส่เสื้อขาวคนเดียว ถามว่ามันจดจำไหมก็อาจจะใช่ แต่ลูกค้าไม่ได้ชอบเสื้อขาว เขาอยากได้เสื้อสีม่วง ไอ้ความต่างนี้มันก็ไม่มีประโยชน์เลยนะ” แบงค์อธิบายถึงความคิดตั้งต้น
ก่อนทำ Homeboy Tattoo Club ขึ้นมา แบงค์จึงเดินสำรวจพื้นที่บริเวณนี้มาอย่างหมดจด เพื่อเช็กว่าในบริเวณใกล้เคียงนั้นมีร้านสักหรือเปล่า ถ้ามี ร้านสักที่ว่าดูเป็นสไตล์เดียวกันกับภาพร้านสักที่เขามองแค่ไหน
“ปรากฏว่ามันไม่มีร้านสักเลย โอกาสที่เราทำแล้วจะมีคนจำมันสูงแน่นอนเพราะเราเป็นเหมือนแกะดำอยู่ตรงนี้” เขาว่า
นอกจากนั้น เขายังกลับมามองว่าผับบาร์บริเวณนี้มีมากแค่ไหน คนที่มาเที่ยวคือใคร ราคาค่าสักมาตรฐานอยู่ที่เท่าไหร่ เทรนด์การสักเป็นแบบไหน และกลุ่มลูกค้าปัจจุบันคือใคร ซึ่งเขาพบว่าสมัยนี้ ผู้หญิงซะอีกที่นิยมสักมากกว่า ดังนั้น รูปแบบร้านในใจที่ทั้งแบงค์และแตงโมจินตนาการไว้จึงต้องเป็นร้านสักที่ผู้หญิงเห็นแล้วรู้สึกปลอดภัย
“เหมือนเราอ่านหนังสือก่อนสอบมาเยอะมาก เราเลยรู้สึกมั่นใจว่ายังไงมันก็น่าจะเวิร์ก แต่ถามว่าการรีเสิร์ชมันจะช่วยให้เราหายเจ็บหรือไม่พลาดเลยหรือเปล่าก็ไม่ใช่ มันคือการทำให้เราเจ็บและพลาดน้อยลงมากกว่า เพราะทุกธุรกิจมันต้องเจอเรื่องเจ็บๆ อยู่แล้ว” แบงค์อธิบาย
Get Joy
เมื่อทำเลก็ใช่ ผลการรีเสิร์ชพื้นที่และกลุ่มลูกค้าก็ผ่านฉลุย คราวนี้แบงค์และแตงโมจึงต้องมาไขรหัสว่าแล้วร้านสักที่ไม่ใช่ร้านสักของทั้งคู่จะเป็นอะไร
“แตงโมเสนอว่าทำร้านสักแนวซูเปอร์มาร์เก็ตไหม ให้คนเขามาช้อปลายสักที่ไม่เหมือนใคร” แบงค์เล่าไอเดียสุดสนุกที่แฟนสาวโยนมาให้
“แต่เราจะทำเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแบบไหนล่ะ ในเมื่อมันก็มีซูเปอร์มาเก็ตหลายแนว เราเลยกลับมามองที่แบรนด์เสื้อผ้าสตรีทของเราว่ามันมีความเป็นยุค ’80 อยู่มากเพราะเราชอบมู้ดของยุคนี้ สุดท้ายจึงได้เป็นไอเดียซูเปอร์มาร์เก็ตในยุคนั้นมา” เขาอธิบาย
เมื่อเดินเข้ามาในร้าน เราจะพบกับเคาน์เตอร์แคชเชียร์สีสันสดใส ที่มีป้ายไฟติดอยู่ด้านบน
ทางซ้ายของร้านจำลองตู้กดสินค้าอัตโนมัติที่ภายในไม่ได้บรรจุเครื่องดื่มใดๆ แต่มีกล่องรวมลายสักแบบแฟลชหรือลายสักที่ร้านออกแบบไว้ให้คนได้เลือก ทั้งแนวการ์ตูน น้องหมาน้องแมว ดอกไม้ใบหญ้า และอนิเมะ ฯลฯ ตอบโจทย์คนที่ไม่มีลายสักในดวงใจให้ช่างออกแบบ ความยูนีกคือลายเหล่านี้ไม่ซ้ำใครแน่นอนเพราะเป็นเอกสิทธิ์ที่ Homeboy Tattoo Club ตั้งใจออกแบบให้ 1 ลายจะมีเจ้าของเพียงคนเดียวเท่านั้น
ส่วนใครที่ไม่อยากช้อปลายสักจากตู้อัตโนมัติ ก็มาหมุนกาชาปองตรงเคาน์เตอร์แคชเชียร์ได้
“วันก่อนนักท่องเที่ยวเดินผ่านหน้าร้านแล้วก็เดินเข้ามาหมุนกาชาปองและสักไปเลย 3 ลาย” แบงค์เล่าถึงกลวิธีการออกแบบร้านที่ทำให้มัดใจคนที่เดินผ่านไปมาได้
ถัดไปอีกหน่อยคือล็อกเกอร์สีแดงที่ดูเหมือนลูกค้าเป็นนักเรียนไฮสคูลในโรงเรียนฝรั่งยังไงยังงั้น เมื่อลูกค้าพร้อมสัก ก็เอาสัมภาระไปเก็บและไขกุญแจไว้ได้ แก้ปัญหาของเยอะจนรกร้าน และช่วยให้ช่างโฟกัสกับงานโดยไม่ต้องกังวล เป็นอินไซต์ของเขาเองที่รู้สึกว่าไปร้านสักทีไรก็อดกลัวของหายไม่ได้
“ส่วนตู้กระจกเก็บอุปกรณ์ด้านใน เราเลียนแบบจากตู้แช่ของในร้าน ภายในก็จะเก็บอุปกรณ์พรีเมียมๆ ทั้งนั้นเพราะเราอยากให้ลูกค้าได้ลายสักที่มีคุณภาพที่สุด” เขาอธิบาย ก่อนจะชี้ให้เห็นว่านอกจากเตียงสัก 2 เตียงด้านหน้าเราแล้ว เขาก็ยังมีอีก 1 เตียงหลังผ้าม่านไว้ให้ลูกค้าเลือกว่าต้องการความส่วนตัวแค่ไหน
นอกจากคอนเซปต์ซูเปอร์มาร์เก็ตยุค ’80 จะสะท้อนผ่านองค์ประกอบหลักๆ ของร้านแล้ว แบงค์และแตงโมยังหยิบเอานีออนดัดซึ่งนิยมมากในยุคนั้นมาตกแต่งเป็นข้อความต่างๆ ทั้งนอกร้านและในร้าน รวมถึงสร้างเพลย์ลิสต์เพลงยุค ’80 ฉบับ Homeboy Tattoo Club โดยเฉพาะเพื่อให้มู้ดโดยรวมสอดคล้องกัน แต่ที่ขาดไปไม่ได้เลยคือสีหลักอย่างสีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน ที่ทั้งคู่จริงจังและใช้เวลากับการหาคู่สีที่ใช้นานที่สุด
“เราว่าสีของร้านมันต้องสนุก มันเป็นคอนเซปต์เดียวกับการทำแบรนด์ Homeboy ด้วยนะ เรารู้สึกว่าถ้ามันสนุกไว้ก่อน ไม่ว่ายอดขายจะเป็นยังไง คนทำงานก็ยังไม่ขาดทุนทางใจ” แบงค์อธิบาย
Get Brand Trust from Good System
นอกจากจะจริงจังกับการออกแบบหน้าร้าน อีกสิ่งที่เราในฐานะคนเคยสักประทับใจคือ Homeboy Tattoo Club ยังวางระบบการสักทั้งก่อนและหลังไว้อย่างดี ซึ่งระบบที่ว่านี้แบงค์ได้มาจากการรีเสิร์ชและการใช้อินไซต์ของตัวเอง
“ความที่เราใหม่มากในวงการสัก เราต้องมีข้อมูลระดับหนึ่งเพื่อให้เราผิดพลาดน้อยที่สุด เราเลยตัดสินใจบินไปศึกษาระบบของร้านสักที่เกาหลีเพราะเขาดังเรื่องสักมาก หลายประเทศก็บินไปสักที่นี่กัน”
แบงค์เล่าว่าก่อนสัก ช่างจะให้ลูกค้ากรอกแบบฟอร์มเพื่อยืนยันว่าลูกค้า ช่างสัก และร้านสักเข้าใจตรงกัน ในแบบฟอร์มจะระบุลวดลายและสีที่สัก ตำแหน่งที่เข็มจะจิ้มลงไป ละเอียดไปถึงโรคอะไรบ้างที่ลูกค้าเป็นอยู่เพราะอาจมีผลต่อลาย หรือระยะเวลาที่แผลจะหาย
“แต่ก่อนที่เราสักตามร้านต่างๆ เรารู้สึกว่าการสักมันเกิดขึ้นเร็วไปจนอาจผิดพลาดได้ ซึ่งถ้ามันเกิดขึ้นกับลูกค้าเรา เราจะรับผิดชอบเขาไหวไหมเพราะการสักมันเป็นสิ่งที่ติดตัวไปตลอด ไม่ใช่เสื้อผ้าที่ถ้าซื้อไปแล้วไม่ชอบก็เปลี่ยนได้ เราจึงควรมีระบบเหล่านี้เพื่อให้เราก็มั่นใจ ลูกค้าก็มั่นใจ” แบงค์ว่า
เมื่อลูกค้าและช่างสักเซ็นรับทราบในแบบฟอร์ม ขึ้นเตียงจิ้มเข็มเรียบร้อย หลังสัก แบงค์ยังสร้างความประทับใจให้ลูกค้าด้วยการมอบ Homeboy After Care ที่ในกล่องจะมีฟิล์มป้องกันรอยสักให้แปะในช่วงแรก และยังมีโลชั่นบำรุงรอยสักให้ลูกค้ากลับบ้านอีกด้วย
จากที่โดนตกด้วยหน้าร้าน เมื่อรู้ว่าที่นี่มีระบบหลังบ้านที่ใส่ใจลูกค้ามากขนาดนี้ ขอบอกเลยว่าคนเคยสักแบบเรารู้สึกอยากโดนเข็มจาก Homeboy Tattoo Club จิ้มทันที
Get Money From Clever Design
Homeboy Tattoo Club เป็นร้านสักชั้นเดียวที่จัดได้ว่าเล็ก แต่เชื่อไหมว่าค่าก่อสร้างทั้งหมดที่แบงค์และแตงโมลงทุนไปนั้นเกือบแตะหลักล้านบาท บางคนอาจจะหาว่าทั้งคู่บ้า แต่แบงค์กลับมองต่างออกไปว่า
“เราเชื่อว่าการออกแบบร้านที่ดีจะช่วยประหยัดค่าพีอาร์ไปได้เยอะ ตั้งแต่วันที่ไม่มีเครื่องสักมาลงที่ร้านสักเครื่อง ลูกค้าก็มาถ่ายรูปเยอะมากซึ่งภาพเขาต้องติดคำว่า Homeboy Tattoo Club ไปด้วยอยู่แล้ว เรียกว่าเราได้ฟรีมีเดียไปเต็มๆ
“ลูกค้าที่อินบอกซ์มาจองสักกับเราหลายคนก็ไม่เคยสักเลยนะ แต่เขาบอกว่าเห็นหน้าร้านแล้วอยากสักมาก หรือเคยมีลูกค้าที่พาพ่อมานั่งรอเขาสัก มุมมองของพ่อที่มีต่อร้านสักก็เปลี่ยนไปเลยว่าการสักมันก็ไม่ได้น่ากลัวนี่นา แต่มันก็เหมือนกับการเสริมสวยหรือการทำเล็บทั่วไป”
ขณะที่เรากับแบงค์กำลังคุยถึงการลงทุนกับหน้าร้านอยู่ ทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่เดินผ่านหน้าร้าน Homeboy Tattoo Club ไปก็มองเข้ามาในร้านเป็นระยะๆ ไม่แปลกอะไรถ้าจะมีลูกค้าวอล์กอินเข้ามาเพียงเพราะหน้าร้านสวยอยู่เรื่อยๆ
ไม่ใช่แค่ลูกค้าที่แฮปปี้ เพราะคนทำงานก็แฮปปี้ไม่ต่างกัน แถมอีกทีเด็ดที่แบงค์ได้จากการทำหน้าร้าน Homeboy Tattoo Club ให้สนุกและจ๊าบไม่เหมือนใครคือมีคนติดต่อขอใช้สถานที่เป็นสตูดิโอถ่ายภาพเข้ามาไม่หยุด จนเขาหยิบโอกาสตรงนั้นมาเปิดให้คนเช่าเป็นสตูดิโอทุกวันจันทร์ที่ร้านสักปิด
“ทำไมคนอยากทำงานใน Google หรือ Netflix ก็เพราะว่าออฟฟิศแม่งเทพ ไปไหนก็คุยได้ว่าทำงานที่นี่นะ เราเองก็อยากให้ช่างสักภูมิใจที่บอกว่าทำงานใน Homeboy Tattoo Club เหมือนกัน ซึ่งช่างสักก็บอกกับเราแบบนั้น บางคนก็พาลูกค้าของเขาเองมาใช้สตูฯ ของเราด้วย”
แม้แบงค์จะให้เวลา Homeboy Tattoo Club พิสูจน์ตัวเอง 3 เดือน แต่เขาก็ยอมรับว่าทั้งคิวสัก คิวสตูดิโอ รวมไปถึงคำบอกเล่าของคนทำงานที่ส่งกลับมานั้นทำให้แบงค์มองว่าร้านสักของเขานั้นสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว
“เป้าหมายของร้านมันสำเร็จตั้งแต่ร้านเปิดแล้วเพราะว่าเป้าแรกคือเราอยากทำร้านสักที่ไม่เหมือนใครในประเทศนี้ สิ่งที่เรามองต่อไปจึงคือร้านสักจะต้องเดินทางด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องเหมือนกับแบรนด์เสื้อผ้า Homeboy ของเรา
“ในอนาคต Homeboy Tattoo Club อาจจะเป็นร้านสักที่มีเมอร์แชนไดส์ก็ได้ เช่น กระเป๋า เสื้อผ้าซึ่งเป็นสิ่งที่เราถนัด เพื่อให้มันเป็นอะไรมากกว่าร้านสัก ให้มันเป็นร้านสักที่เต็มไปด้วยความสนุก” แบงค์ทิ้งท้าย
What I’ve Learned
- “การทำธุรกิจต้องมีแผนงาน เราต้องตอบให้ได้ว่าเดือนต่อไปเราจะทำอะไร ถ้ามันไม่เป็นแบบที่คิดไว้แพลนบีจะต้องมาตอนไหน”
- “บางคนคาดหวังกับธุรกิจมากไป เช่นเปิดเดือนแรกกะขายเละ แต่มันยากมากนะ ถ้าทำได้อาจจะเรียกว่าฟลุก ซึ่งนั่นไม่ใช่กลยุทธ์ธุรกิจ เราจึงอยากให้ทุกคนเชื่อว่าทุกอย่างมันมีเวลาของมัน”
- “เราทำหน้าร้านมาสวยมาก แต่ถ้าเราไม่โปรโมตมันก็เหมือนกับเราทำมาให้ตัวเองดู ในช่วงเวลา 3 เดือนหลังจากเปิดร้าน เราจึงต้องมีแผนโปรโมตจริงจัง ชนิดที่ทุนทำร้าน 50 งบโปรโมตอาจจะอยู่ที่ 30 ด้วยซ้ำ”
- “ลองหาก่อนว่าลูกค้าเราเป็นใครมากกว่าเราอยากทำอะไร เพราะถ้าหาว่าเราอยากทำอะไรอย่างเดียวมันเหมือนเราตามใจตัวเองแต่ลูกค้าอาจจะไม่ชอบก็ได้ซึ่งเราจะล้มได้ง่ายมาก”