ทางเดินอาหาร

Gordon Ramsey จากความฝันที่จะเป็นนักฟุตบอลสู่เชฟเจ้าของอาณาจักรร้านอาหารที่ขยายสาขาไปทั่วโลก

ภาพจำของคนทำอาชีพงานครัวเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากถึงมากที่สุดในช่วง 10 ปี ให้หลังมานี้ จากเดิมที่บางคนอาจนึกไม่ค่อยออกว่าอาชีพงานครัวมีหนทางยังไงบ้างในการเจริญเติบโตในสายงาน หน้าที่ของคนครัวคือแค่ทำอาหารออกมาเสิร์ฟลูกค้าใช่หรือไม่ พ่อครัวทุกคนสามารถทำอาหารได้ทุกชนิดเลยใช่ไหม ถ้าเป็นพ่อครัว แม่ครัว แสดงว่าต้องทำอาหารเก่งทุกคนอย่างแน่นอนใช่รึเปล่า

ถ้าคุณลองเอาคำถามเหล่านี้ไปถามคนสัก 10 คน เมื่อ 10 ปีที่แล้ว คุณคงจะได้คำตอบแบบสะเปะสะปะ ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะคนทั่วไปที่ไม่ได้ทำงานข้องเกี่ยวกับงานสายครัวคงมีโอกาสอันน้อยนักที่จะเข้าใจได้ว่าสิ่งที่คนครัวต้องแบกหามอยู่บนบ่าหาใช่แค่การปรุงอาหารให้สุกออกจากเตาเพียงเท่านั้น แต่มันคือความรับผิดชอบทั้งหมดที่เกิดขึ้นหลังม่านครัวที่คุณไม่มีทางมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากมุมมองของลูกค้าที่นั่งรออาหารมาเสิร์ฟ

ต้องยอมรับว่าคำถามและความเชื่อต่างๆ ที่เคยส่งทอดกันต่อมาด้วยความไม่รู้บ้าง ความไม่เข้าใจบ้างเกี่ยวกับอาชีพของคนครัวค่อยๆ ถูกทอนให้จางลงไปด้วยพลังอันยิ่งใหญ่ของรายการทีวีโชว์ ม่านงานครัวที่เคยปิดกั้นการมองเห็นจากคนนอกถูกลดให้ต่ำลงจากรายการแข่งขันทำอาหาร ที่แสดงให้เห็นถึงระบบระเบียบการจัดการในครัว ไล่เรียงไปตั้งแต่ขั้นตอนการคิดเมนู การเลือกวัตถุดิบ การจัดสรรหน้าที่ของแต่ละคนในทีม รวมไปถึงการทำหน้าที่ของเชฟใหญ่ หรือในทีวีโชว์ก็คือคณะกรรมการที่จะมาตัดสินว่าอาหารแต่ละจานที่ทีมครัวรังสรรขึ้นมานั้น มันดีเลิศหรือน่าส่ายหัวกันแน่

หนึ่งในไอคอนของรายการแข่งขันทำอาหารที่ทำให้โลกนี้ได้ตื่นตะลึงกับความดิบเถื่อนสาดใส่ทั้งคำสบถ ทั้งตะเบงเสียงด่าทอต่อผู้เข้าแข่งขันในรายการแบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมทีไหนจนคนอาจจะต้องแปลกใจว่า ด่ากันออกรายการทีวีแบบนี้ได้ด้วยหรอ

และพ่อคนครัวคนนั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจาก Gordon Ramsey เซเรบริตี้เชฟจากอังกฤษ ที่เป็นคนดำเนินรายการหลักของรายการแข่งขันการทำอาหารหลายต่อหลายรายการ เช่น Hell’s Kitchen, Ramsay’s Kitchen Nightmares, The F Word, Master Chef, Master Chef Junior

นอกเหนือไปจากการเป็นผู้ดำเนินรายการหลักของรายการแข่งขันทำอาหารกอร์ดอน แรมซีย์ ยังเป็นผู้ดำเนินรายการอีกหลายรายการบนสถานีโทรทัศน์ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังคงเกี่ยวข้องกับการทำอาหาร เช่น รายการ Hotel Hell, Gordon Behind Bars , Gordon Ramsay’s 24 Hours to Hell and Back, Next Level Chef

อย่างที่เกริ่นไว้ว่าเนื่องด้วยความดิบเถื่อนของกอร์ดอนที่ทำให้เขาโดดเด่นขึ้นมาจากเหล่าเซเลบริตี้เชฟโดยทั่วไป เพราะภาพโฆษณาส่วนใหญ่ที่ผู้คนได้เห็นกัน เราจะได้เห็นเขาในมุมที่เขาคายอาหารออกจากปากพร้อมคำสบถบ้าง ด่าทอดูแคลนผู้เข้าแข่งขันบ้าง พูดจาเสียดสีต่างๆ นานาต่อผู้เข้าแข่งขันที่ทำอาหารได้ผิดพลาดบ้าง 

อากัปกิริยาทั้งหลายที่เอ่ยมา คนส่วนมากคงคิดว่าควรสงวนมันไว้แต่เพียงในที่ลับ หาใช่สิ่งที่จะมานำเสนอในที่แจ้งเมื่อไหร่

แต่กอร์ดอนคงไม่ได้คิดแบบนั้น…

กอร์ดอนเลือกที่จะแสดงสิ่งที่ (น่าจะ) เป็นตัวตนจริงๆ ของเขาเมื่อเขาอยู่ในครัวออกมาให้คุณผู้ชมได้เห็นกันในรายการแข่งขันทำอาหารซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบบรายการแบบเรียลริตี้ ณ จุดนั้นเองนอกจากความโด่งดังของเขาที่เพิ่มสูงขึ้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายก็ถาโถมเข้ามาไม่น้อยเช่นกัน

บางคนก็คิดว่ามันช่างหยาบโลนจนเกินกว่าที่จะนำกิริยาเหล่านี้มาออกอากาศในระบบทีวีระดับประเทศ บางคนคิดว่าจะใช่เรื่องผิดแปลกอะไร ในเมื่อมันเป็นสิ่งที่เป็นความจริงในครัว เพราะในครัวที่มีทั้งน้ำมันเดือดๆอยู่ตรงหน้า และอุณหภูมิร้อนๆ ที่รายรอบตัวคนครัว แถมยังมีความกดดันเป็นใบออเดอร์ที่วางเรียงอีกเป็นแถบในชั่วโมงเร่งด่วนตอนโมงยามที่ร้านมีลูกค้าหลั่งไหลเข้ามามากมาย คุณคิดว่ามันเป็นไปได้หรือที่คนครัวจะไม่ตะโกนด่าทอกันสักนิดเมื่อมีอะไรสักอย่างผิดพลาดหรือไม่เข้าที่เข้าทาง

จะด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณืใดๆ ที่ถาโถมมาแค่ไหน ก็คงต้องบอกเลยว่าทั้งฝีมือของทีมผู้ผลิตเอง ทั้งคาแรกเตอร์ของตัวกอร์ดอน แรมซีย์ เองก็เป็นสิ่งที่ดึงดูดให้เรตติ้งรายการไปได้ดีและไปได้ไกลจนหลายต่อหลายรายการที่กอร์ดอน แรมซีย์ เป็นผู้ดำเนินรายการหลักสามารถยืนหยัดอยู่ได้มานานนับ 10 ปี

ว่าแต่ กอร์ดอน แรมซีย์ ผู้ดุดันในห้องครัว เขาเป็นใครมาจากไหน เขารู้ดีเรื่องอาหารและงานครัวเพียงแค่ไหนกันเชียวจึงหาญกล้าออกหน้าพูดจาตัดสินจานอาหารของคนว่าอร่อยหรือไม่อร่อย

ชีวิตในวัยเด็กของกอร์ดอน แรมซีย์ ไม่ได้ถูกกรุยมาด้วยดอกไม้ เขาเกิดที่สก็อตแลนด์ในปี 1966 มีคุณแม่เป็นนางพยาบาล คุณพ่อเป็นครูสอนพละ กอร์ดอนมีพี่น้องอีก 3 คน ครอบครัวของกอร์ดอนย้ายมาอยู่ที่อังกฤษเมื่อกอร์ดอนอายุ 9 ขวบ และย้ายกลับไปอยู่ที่กลาสโกลว สก็อตแลนด์ ตอนกอร์ดอนอายุได้ 16 ปี 

ฟังเพียงเผินๆ ก็ดูเหมือนกอรืดอนเป็นเด็กที่อยู่ในครอบครัวฐานะปานกลางทั่วไป ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ตามคำบอกลเ่าของกอร์ดอนคุณพ่อของเขาเป็นคนติดเหล้า ติดเหล้าชนิดที่ว่าหากเริ่มดื่มแล้วก็จะต้องดื่มจนหมดขวด และบ่อยครั้งที่คุณพ่อของเขาลงไม้ลงมือกับคุณแม่ของกอร์ดอน 

นอกจากพฤติกรรมการดื่มของคุณพ่อกอร์ดอนที่ดูจะมีปัญหา อีกหนึ่งความคาดหวังในฐานะที่เป็นทั้งครูสอนพละและเป็นคุณพ่อที่มีลูกชายร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง คุณพ่อของกอร์ดอนจึงตั้งความคาดหวังต่อกอร์ดอนตั้งแต่กอร์ดอนยังเด็กๆ ว่าเขาอยากจะปั้นให้ลูกชายคนนี้เป็นนักฟุตบอลมืออาชีพให้ได้ และทีมที่เขามาดหมายให้ลูกชายได้เข้าเล่นคือ กลาสโกลว เรนเจอร์ส

และนั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมครอบครัวของกอร์ดอนจึงย้ายจากอังกฤษกลับมาอยู่ที่สก็อตแลนด์เมื่อกอร์ดอนอายุได้ 16 ปี

ก็เพื่อที่จะให้กอร์ดอนได้มีโอกาสคัดตัวและได้เข้าร่วมเล่นกับทีมนั่นเอง!

และความฝันของคุณพ่อของกอร์ดอนก็สำเร็จ กอณืดอนได้เซ็นสัญญากับทีมกลาสโกลว เรนเจอร์ส แต่ปรากฏว่าเล่นได้แค่ไม่เท่าไหร่ กอร์ดอนก็เจ็บเข่า และเพระาอาการเจ็บเข่านี้เองที่เป็นปัญหากับกอร์ดอนทำให้เขาไม่สามารถลงเล่นได้แบบเต็มฟอร์มอีก

 18 เดือนให้หลังจากเซ็นสัญญากับทีม กอร์ดอนได้รับโทรศัพท์จากทีมเพื่อแจ้งว่า เขาถูกยกเลิกสัญญา กอร์ดอนในวัย 19 ปีตอนนั้นคงทั้งเคว้ง ทั้งผิดหวัง เพราะความฝันอันยิ่งใหญ่ของตัวเขาและของคุณพ่อเขาต้องพังทลายลงหลังวางหูโทรศัพท์สายนั้น

และอาจจะเพราะความผิดหวังครั้งนั้นในวัย 19 ที่โดนปฏิเสธว่า เขาไม่ได้ไปต่ออีกต่อไป ในสนามอาชีพฟุตบอล จึงเป็นแรงผลักให้กอร์ดอนต้องทำอะไรสักอย่างที่คราวนี้เขาจะพลาดไม่ได้อีกแล้ว และเขาจะดีไม่พอไม่ได้อีกต่อไป

และเส้นทางสายใหม่ที่กอร์ดอนเลือกเดิน คือ เส้นทางสายอาหาร

กอร์ดอนไปสมัครเรียนด้านการโรงแรมและการบริการที่ North Oxfordshire Technical College และต่อมาได้เลือกเรียนสายอาหารแบบจริงจัง ซึ่งถ้าถามว่าทำไมถึงเลือกเรียนสายอาหารแบบจริงจัง กอร์ดอนเคยกล่าวไว้ในหนังสือชีวประวัติของตัวเองว่า ตอนนั้นที่เลือกไปเพราะไม่ตั้งใจ เป็นอุบัติเหตุล้วนๆ

ถ้ามันเป็นอุบัติเหตุจริงๆ นี่คงเป็นอุบัติเหตุทางการครัวที่น่าดีใจที่สุด เพราะอุบัติเหตุครั้งนั้นเองจึงทำให้โลกได้รู้จักกับอัจฉริยะเชฟคนใหม่

ช่วงประมาณปี 1980 กอร์ดอนได้เข้าทำงานเป็นผู้ช่วยเชฟที่ Wroxton House Hotel โดยในร้านอาหารของโรงแรมนี้มีห้องอาหารที่มีที่นั่งกว่า 60 ที่ ถือเป็นร้านอาหารไซส์ปานกลางที่ท้าทายความสามารถเด็กจบใหม่ทีเดียว ต่อมากอร์ดอนลาออกแล้วย้ายตัวเองไปอยู่ที่ลอนดอนและหางานในครัวทำไปเรื่อยๆ ตามร้านอาหารต่างๆ ในลอนดอน จากนั้นไปจบลงที่ร้านอาหารที่ชื่อว่า Harvey’s ซึ่งร้านอาหารร้านนี้เองกอร์ดอนได้พบกับ มาร์โค ปิแอร์ ไวท์ เชฟดังของอังกฤษที่ได้รับสมญานามว่าเป็นเซเลบริตี้เชฟคนแรกจากอังกฤษ ซึ่งมาร์โคนี่เองที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตการทำอาหารของกอร์ดอนตลอดไป

ถ้าเจไดทั้งหลายต้องมีมาสเตอร์เป็นผู้นำทางเพื่อที่จะสามารถระเบิดความสามารถของตัวเองออกมาได้ฉันใด มาร์โคก็คือมาสเตอร์ของเจไดกอร์ดอนฉันนั้น มาร์โคเป็นเชฟที่ทั้งสอนวิชาครัว สอนวิธีคิดทำธุรกิจ ชี้ทางให้กับกอร์ดอนว่าสเตปต่อไปในชีวิตหากกอร์ดอนต้องการที่จะเป็นเจ้าของร้านอาหารของตัวเองให้เก็บประสการณ์โดยการไปทำงานที่ร้านอาหารฝรั่งเศสในอังกฤษ มาร์โคแนะนำให้กอร์ดอนไปสมัครงานที่ร้าน Le Gavrocheของ อัลเบิร์ต รู (Albert Roux – เซเลบริตี้เชฟลูกครึ่งอังกฤษ-ฝรั่งเศส ที่ถือเป็นมาสเตอร์เจไดของกอร์ดอนเช่นกัน) อย่าเพิ่งโดดไปหางานในร้านอาหารในปารีส

กอร์ดอนเชื่อคำแนะนำของมาร์โค เขาจึงไปทำงานให้กับอัลเบิร์ตและต่อมาอัลเบิร์ตชวนให้กอร์ดอนย้ายไปทำงานกับเขาที่ร้านอาหารอีกแห่งใน Hotel Diva ที่ตั้งอยู่บริเวณแถบเทือกเขาแอลป์ที่ฝรั่งเศส กอร์ดอนก็ย้ายไปตามคำชวนของอัลเบิร์ต กอร์ดอนในวัย 23 ได้ทำงานที่ฝรั่งเศสในที่สุดและได้รู้จักกับอีกสองมาสเตอร์เจไดที่นี่ นั่นคือ กาย ซาวอย (Guy Savoy) และ โจแอล รูบูฌอง (Joël Robuchon)

ทั้งกายและโจแอลคือเชฟฝรั่งเศสที่ได้ดาวมิชลินมาแล้วทั้งคู่ และถือเป็นเชฟที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคเลยก็ว่าได้ 

จากการสั่งสมประสบการณ์ทั้งหมดสุดท้ายกอร์ดอนย้ายกลับมาอยู่ที่ลอนดอนไปรับงานตำแหน่งหัวหน้าเชฟในครัวให้กับร้านอาหารต่างๆอยู่พักหนึ่งในช่วงปี 1990 จนกระทั่งปี 1998 เปิดร้านอาหารของตัวเองที่ชื่อ Restaurant Gordon Ramsay ในย่านเชลซี

ปี 2001 ร้าน Restaurant Gordon Ramsay ของกอร์ดอนก้ได้รับดาวดวงที่ 1 จากมิชลิน (ซึ่งต่อมาได้ 3 ดาวมิชลินและยังคงสถานะที่ 3 ดาวมิชลินจนถึงปัจจุบัน)

จากนั้นอาณาจักรร้านอาหารของกอร์ดอนก็ขยายและเติบโตอย่างรวดเร็ว กอร์ดอนเปิดร้าน Pétrus (ร้านอาหารฝรั่งเศสในลอนดอน), Verre (ร้านอาหารของกอร์ดอนในดูไบ), Gordon Ramsay และ Cerise ที่โตเกียว และ Gordon Ramsey ที่ นิวยอร์ก

กอรืดอนขยายอาณาจักรร้านอหารของเขาไปมากมายหลายสาขาทั่วโลกโดยแผนการเดิมของกอร์ดอน คือการขยายกิจการร้านอาหารออกไปให้ได้ 100 สาขาในสหรัฐอเมริกาภายในปี 2024 แต่ต้องมาเจอกับสถานการณ์ของโควิด-19 ทำให้แผนทุกอย่างต้องชะลอลง แผนการใหม่จึงเปลี่ยนเป็นการคาดการณ์ที่ว่ากอร์ดอนน่าจะเปิดร้านอาหารได้ประมาณ 75 สาขาในสหรัฐในช่วงปี 2022-2026

จริงๆแล้วนอกจากร้านอาหารแบบไฟน์ไดน์และร้านอาหารแบบฝรั่งเศสแล้ว กอณืดอนก็มีแบรนด์ร้านอาหารที่สบายๆ กินแบบง่ายในเครือเช่นกัน เช่น Gordon Ramsey Burger

จากวันที่ต้องนั่งเจ็บเข่าร้องไห้อยู่ในห้องน้ำนักกีฬาของทีมกาสโกลวเรนเจอร์มาจนถึงวันนี้ที่สามารถขยายสาขาร้านอาหารออกไปได้ทั่วโลก (รวมถึงกำลังจะมาเปิดร้านในไทยด้วย!) แถมร่างกายยังฟิตอยู่ดีสามารถวิ่งมาราธอนด้วยซับ 4 ได้ ทุกอย่างที่ผสมผสานกันมาบนเส้นทางอันไม่สวยหรูแต่ออกมางดงาม ถึงไม่นับจำนวนร้านอาหารที่เขาสามารถแผ่ขยายความคิดและความอร่อยของรสมือเขาออกไปได้ทั่วโลก 

หากนับที่ความนิยมในตัวตนของเขา ก็ยังคงต้องถือว่า กอร์ดอนเป็นเชฟที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งแห่งยุคอยู่ดีทั้งจำนวนดาวทุกร้านอาหารที่เขาบริหารอยู่มารวมกันได้จำนวนมากถึง 7 ดาวในปัจจุบัน ( ณ ปี 2023) และจำนวนผู้ติดตามเขาในโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น ใน TikTok มีคนติดตามอยู่ถึง 39.6 ล้านคน!

ใครจะไปรู้จากคนที่โดนปฏิเสธให้เข้าร่วมทีม กลับกลายเป็นคนสรา้งทีมของตนเองขึ้นมาได้อย่างแข็งแกร่งและมั่นคง ถึงครัวของเขาจะเป็นครัวที่ร้อนแรงด้วยคำหยาบคายเหมือนอยู่ในเพลิงไฟ แต่เปลวไฟนั่นเองมันคงเป็นพลังที่ผลักเขาและทุกคนในองค์กรให้วิ่งแรงวิ่งเร็วไปข้างหน้าได้อย่างไม่รู้เหนื่อย

อ้างอิงข้อมูล

Writer

อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย หญิงสาวผู้หลงรักอาหาร และโฮสต์รายการพอดแคสต์ชื่อ 'Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว'

You Might Also Like