823
April 2, 2024

ถอดบทเรียนการรวมพลังแก้ปัญหาสังคมของภาคธุรกิจจากงาน Good Society Thailand 2024 

คุณเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่าเราตัวคนเดียวหรือองค์กรแห่งเดียวจะสามารถแก้ปัญหาสังคมและเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้มากน้อยแค่ไหน งาน Good Society Day ในปีนี้ได้ชวนหลายภาคส่วนในสังคมมาแชร์ประสบการณ์ร่วมกันว่าการมีพาร์ทเนอร์จากคนละวงการ คนละบทบาทมาทำงานร่วมกันจะช่วยต่อจุดและต่อยอดการผลักดันในสังคมให้สำเร็จได้อย่างไรบ้าง  

จากเซสชั่น ‘จุดร้อยพลัง Collaboration for Good Society’ เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา หลายองค์กรเพื่อสังคมจากหลากวงการได้แชร์อินไซต์ว่าปัญหาสังคมมักมีสเกลใหญ่ที่แก้คนเดียวไม่ได้แต่จะทำงานง่ายขึ้นเมื่อรวมพลังกัน 

คุณเปิ้ล-จริญญา แจ่มแจ้ง จาก Learn Education กิจการเพื่อสังคมด้านการศึกษามองว่าปัญหาการศึกษาต้องแก้ไปถึงระดับนโยบายซึ่งจะทำได้ดีกว่าเมื่อร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ส่วนคุณบิ๊ก-สุภอรรถ โบสุวรรณ จาก HAND SE วิสาหกิจที่ทำระบบธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชันก็ได้พยายามร้อยเรียงกลุ่มภาคีและสร้างระบบที่เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสเพื่อให้การตื่นตัวเรื่องคอร์รัปชันเป็นเรื่องของทุกคน ในขณะที่คุณสุนิตย์ เชรษฐา จาก Change Fusion ที่รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมก็มองว่าหากผู้ที่เป็นทั้งกองหนุน กองหน้าในการรณรงค์รวมถึงประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาก็จะทำให้การแก้เรื่องสิ่งแวดล้อมราบรื่นยิ่งขึ้น 

แต่ไม่ใช่แค่ภาคสังคมเท่านั้นที่สามารถผลักดันประเด็นต่างๆ เหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้ หากคุณเป็นผู้ประกอบการหรือคนทั่วไปที่อยากผลักดันอะไรบางอย่างจากภายในองค์กรของตัวเอง ตลอดทั้งงานจาก Good Society Day ได้แสดงให้เห็นเรื่องราวน่าประทับใจว่าคนตัวเล็กๆ ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้และจะมีพลังยิ่งขึ้นเมื่อแต่ละคนใช้ความเชี่ยวชาญและต้นทุนของตัวเองมาสนับสนุนกันและกัน 

นอกจากเซสชั่นข้างต้นแล้ว เราขอชวนทุกคนอ่านสรุปจากสองเสวนาของภาคธุรกิจที่สรุปเคล็ดลับการผลักดันการแก้ปัญหาสังคมให้สำเร็จ ทั้งเรื่องราวการร่วมมือของภาคธุรกิจกับภาคสังคมจากสามเคสของธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และผู้ผลิตแบรนด์ถุงขยะแชมเปี้ยนในเซสชั่น ‘จุดต่อยอด : Social x Businesses: Collaborative Sustainability’ และการทำแคมเปญเพื่อสังคมที่สร้างอิมแพ็กของ LINE MAN Wongnai และ SATI app ผู้ให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาจากเซสชั่น ‘จุดก้าวกระโดด : Decoding Successful Social Campaigns’

แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายที่องค์กรต่างรูปแบบจะทำงานร่วมกัน แต่เรื่องราวของธุรกิจเหล่านี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนเชื่อและมีความหวังได้มากขึ้นว่าเมื่อ Good Dots มาอยู่ร่วมกันจะสามารถรวมพลังเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างให้สังคมได้ 

1. การแก้ปัญหาการศึกษาอย่างต่อเนื่องของธนาคารยูโอบี ประเทศไทยที่สำเร็จเพราะพันธมิตร

ปัญหาการศึกษาตั้งแต่เด็กหลุดออกจากระบบไปจนถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยมาเป็นเวลานาน หลายคนอาจมองว่าธนาคารน่าจะช่วยสนับสนุนปัญหานี้ได้ในด้านการเงินเท่านั้นแต่คุณเอ๋-ธรรัตน โอฬารหาญกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่จากธนาคารยูโอบี ประเทศไทยบอกว่าภาคธุรกิจอย่างธนาคารยูโอบีมองถึงการสร้างอิมแพ็กที่มากกว่านั้นและอยากเป็นจุดหนึ่งที่คอนเน็กกับภาคสังคมและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการศึกษาที่มีคุณภาพ

หลักสูตรการศึกษาโดยธนาคารยูโอบี ประเทศไทยมีตั้งแต่หลักสูตรการเงิน ‘UOB Money 101’ ที่สอนตั้งแต่วิชาการเงินพื้นฐานไปจนถึงเรื่องการเงินที่ไม่ค่อยได้สอนในห้องเรียนและยังขยายผลการสร้างห้องเรียนอื่นๆ ในวิชาพื้นฐานทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ฯลฯ ไปจนถึงชวนครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงจากองค์กร Teach for Thailand และกิจกรรมแนะแนวจากโครงการ a-chieve มาให้คำแนะนำเพื่อให้เด็กๆ มองเห็นโอกาสในทางเดินชีวิตมากขึ้น

คุณเอ๋ยังเล่าว่าความตั้งใจในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของธนาคารยูโอบีนั้นเน้นในสามแกนคือ เยาวชน การศึกษา ศิลปะ โดยมีหลักว่าในแต่ละโครงการอยากเชื่อมกับภาคีต่างๆ เพื่อขยายผล อยากสร้างการมีส่วนร่วมและมีการบริจาค ตัวอย่างเช่น ‘UOB Heartbeat Run/Walk’ โครงการวิ่งระดมทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนที่ชวนพนักงานในองค์กรและองค์กรพันธมิตรมาวิ่งร่วมกัน โดยมีเสื้อวิ่งในงานจากโรงงานผู้ผลิตเสื้อที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และยังมีองค์กรเพื่อสังคมมาช่วยจัดการด้านการแยกขยะและรับบริจาคในงานอีกด้วย 

สาเหตุที่ธนาคารยูโอบีสามารถทำโครงการเพื่อการศึกษาอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาหลายปีแบบนี้ได้เพราะชวนพันธมิตรจากหลายภาคส่วนมามีส่วนร่วมในโครงการด้วยกันและมีความหวังอยู่เสมอว่าปัญหาการศึกษาสามารถแก้ให้ดีขึ้นได้ซึ่งนับเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน

2. การแก้ปัญหาทุพโภชนาการในเด็กด้วยความเชี่ยวชาญด้านดาต้าของธนาคารกรุงศรีฯ  

หลายครั้งการแก้ปัญหาสังคมก็ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในภาคธุรกิจมาเป็นกำลังสำคัญ
เช่น ความร่วมมือของธนาคารกรุงศรีอยุธยากับ FOOD FOR GOOD ซึ่งเป็นโครงการเพื่อสังคมที่สนับสนุนการแก้ปัญหาทุพโภชนาการในเด็กซึ่งมีที่มาความร่วมมือครั้งนี้จากทีมนวัตกรรมของธนาคารกำลังมองหาโจทย์ที่ภาคธุรกิจสามารถช่วยสังคมได้มากกว่าแค่ให้ทุนทรัพย์

เมื่อทีมธนาคารกรุงศรีอยุธยาค้นพบว่าหลายโรงเรียนมีปัญหาที่เด็กๆ ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนจึงตั้งคำถามว่า “ในมุมนวัตกร มีอะไรที่ทีมสามารถตอบแทนสังคมในรูปแบบที่ต่างออกไปได้บ้าง ที่ผ่านมาธนาคารดึงความรู้ของทีมมาช่วยกันแก้ปัญหาในมุมธุรกิจมาตลอด วันนี้เรากำลังมองไปที่สังคมแล้วทำแบบเดียวกัน”

คุณโจ้-ประมุข แจ่มจันทึก พ่อทัพฝ่ายนวัตกรรมของธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้เล่าเบื้องหลังการทำงานไว้ว่า “เราไม่สามารถแก้ทุกปัญหาพร้อมกันได้ เลยเลือกปัญหาการแทร็คข้อมูลขึ้นมาแก้ ฟังดูเป็นเรื่องไม่ใหญ่ แต่ที่ผ่านมาไม่มีเครื่องมือที่เก็บและเชื่อมโยงข้อมูลอย่างบันทึกน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กให้หน่วยงานเหล่านี้” 

ทีมธนาคารทำงานร่วมกับ FOOD FOR GOOD ในการเลือกโรงเรียนที่พร้อมนำเครื่องมือและกระบวนการเก็บข้อมูลไปใช้พร้อมพัฒนาปรับปรุงตามฟีดแบ็คจากโรงเรียน ผลลัพธ์คือหน่วยงานทีี่เกี่ยวข้องด้านการดูแลโภชนาการเด็กไปจนถึงผู้ปกครองสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น โดยมีจำนวนโรงเรียนที่ใช้งานเครื่องมือนี้ไปแล้ว 50 โรงเรียนและกำลังมีแผนขยายถึงหลักร้อยโรงเรียน ส่วนในมุมของธนาคารเองนอกจากได้ช่วยสังคมแล้ว ยังได้สร้างแรงบันดาลใจและจิตสำนึกที่ดีให้พนักงานในทีมมองเห็นโอกาสในการสร้างผลกระทบเชิงบวกกับสังคม ซึ่งคุณโจ้มองว่าแม้จะเร่ิมจากการแก้ปัญหาจุดหนึ่งเล็กๆ แต่ถ้าทำอย่างต่อเนื่องก็จะสามารถขยายผลให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นการแก้ปัญหาสังคมที่ยั่งยืนได้ 

3. การรณรงค์ลดขยะของผู้ผลิต ‘ถุงขยะแชมเปี้ยน’ ที่ตั้งใจรับผิดชอบต่อสังคม

บริษัท ดนุเดช อุตสาหกรรม จำกัดเป็นผู้ผลิตแบรนด์ ‘ถุงขยะแชมเปี้ยน’ และนั่นเป็นเหตุผลให้ คุณตุ๋ย-รัชฎา อินทรชลิต รองกรรมการผู้จัดการเล่าว่าบริษัทของเธออยากมีจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสินค้าที่ผลิตขึ้นมา

หลายคนอาจจะเคยเห็นถุงขยะสีสดใสของแบรนด์ที่แยกออกเป็นหลายสีเพื่อคให้แยกขยะได้ง่ายขึ้นมาบ้างแล้ว คุณตุ๋ยบอกว่า “เราพยายามบอกทุกคนให้แยกขยะเพราะมันจะช่วยลดขยะจนในที่สุดการใช้พลาสติกจะลดลง” ที่ผ่านมาบริษัทชวนองค์กรจากหลากหลายอุตสาหกรรมมามีส่วนร่วมในการแยกขยะอย่างจริงจัง ทั้งการไปสอนแยกขยะให้นักเรียนในโรงเรียนต่างๆ, การร่วมมือกับร้านอาหารชื่อดังเช่น สมบูรณ์ภัตตาคารเพื่อให้ความรู้ในการแยกขยะ, ร่วมมือกับ gourmet และกทม. ในการแยกเศษอาหาร ไปจนถึงสนับสนุนชุมชนต่างๆ ในการแยกขยะอย่างชุมชนวัดจันแดง  ชุมชนหนองแขม เพื่อให้แต่ละชุมชนแยกขยะอย่างสม่ำเสมอกันมากขึ้น

นอกจากโครงการเหล่านี้บริษัทยังสนับสนุนโครงการรักษ์ทะเล, โครงการหนึ่งคนว่าย หลายคนช่วย (One man and the sea) และ หนึ่งคนว่าย หลายคนให้ (One man and the river) ที่ระดมทุนให้ศูนย์รักษาพันธุ์สัตว์ทะเลหายากและช่วยเหลือโรงพยาบาลทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง โดยตั้งใจใช้สินค้าถุงขยะที่ผลิตเองไปสนับสนุนในโครงการต่างๆ เช่น ใช้ถุงขยะแชมเปี้ยนในโครงการรักษ์ทะเลในการเก็บขยะที่ชายหาด

ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีในการแก้ปัญหาสังคมด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ และทำให้บริษัทไม่ได้เป็นแค่ผู้ผลิตอีกต่อไป แต่กลายเป็นผู้รณรงค์ที่สามารถสร้างอิมแพ็กได้จากสินค้าของตัวเอง  

4. การสร้างแคมเปญของ LINE MAN Wongnai ที่อิมแพ็กเพราะรู้จุดแข็งของตัวเองและพาร์ทเนอร์

LINE MAN Wongnai คือบริษัทเทคโนโลยีด้าน platform on-demand ของคนไทยที่เกิดจากการควบรวมบริษัทของ LINE MAN ที่ใช้สั่งอาหาร เรียก Messenger หรือ เรียกรถ และ Wongnai แพลตฟอร์มรีวิวอาหาร จุดแข็งของแอปคือการมีผู้ใช้เป็น active user จำนวนมากเฉลี่ยประมาณเดือนละมากกว่า 10 ล้านคน

ด้วยจุดแข็งที่เข้าถึงคนได้มากนี้เองที่ทำให้ Mastercard มาชวน LINE MAN Wongnai ทำโครงการเพื่อสังคมด้วยกัน ดร.มาลียา โชติสกุลรัตน์ ผู้จัดการอาวุโสด้านนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์เล่ากิมมิคของแคมเปญ ‘สั่งมื้อนี้ ส่งมื้อดีให้น้อง’ ที่อยากให้คนทั่วไปมีส่วนร่วมให้ฟังว่า ทุกๆ การสั่งอาหารถ้าสั่งผ่าน LINE MAN ทาง Line Pay แล้วจ่ายด้วย Mastercard จะมีการสมทบทุน 10 บาทให้โครงการ FOOD FOR GOOD ที่ทำงานด้านโภชนาการ” โดย LINE MAN เป็นผู้ทำประชาสัมพันธ์ออกไปให้ผู้ใช้แอปที่กำลังจะสั่งอาหารหรือกำลังจะจ่ายเงินรับรู้ทางเลือกในการบริจาคเมื่อจ่ายด้วย Mastercard ผลลัพธ์คือเมื่อผ่านไปเพียง 1 เดือนครึ่งเท่านั้นก็ได้เงินบริจาคมาทั้งหมด 1,760,000 บาท

ดร.มาลียาให้คำแนะนำในการทำแคมเปญเพื่อสังคมว่า “คีย์ของความสำเร็จคือการมีพาร์ทเนอร์ที่ถูกต้อง เพราะเราไม่รู้บางเรื่อง เราทำได้แค่บางเรื่อง เพราะฉะนั้นเราต้องหาคนที่รู้และเป็นตัวจริงมาช่วยทำแทนเรา” ซึ่ง FOOD FOR GOOD ก็เป็นมูลนิธิที่เลือกมาเพราะเป็นตัวจริงในวงการและลงลึกในการแก้ปัญหาด้านโภชนาการในเด็ก โดยมูลนิธิไม่ได้แค่นำอาหารไปมอบให้โรงเรียนเป็นมื้อๆ แล้วจบไปแต่มีการให้ความรู้แก่คุณครูผู้เตรียมอาหารและนักเรียนที่เป็นผู้ทานด้วย 

ในการทำงานร่วมกันดร.มาลียายังบอกว่าสิ่งสำคัญคือความจริงใจ “ถ้าจับมือว่าเราจะทำงานร่วมกัน เราก็ต้องแชร์ทุกอย่างอย่างจริงใจ ไม่พยายามบิดเพื่อภาพพจน์แล้วสุดท้ายสิ่งที่ตกลงกันไว้แล้วมันไม่ได้เป็นตามนั้น เพราะมันจะทำให้การทำงานร่วมกันต่อไปมีปัญหา ถ้าเรามีข้อจำกัดบางอย่างก็ต้องบอกอย่างจริงใจไปเลยว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้เพื่อจะมาหาทางแก้ร่วมกันแล้วปฏิบัติต่อกันหรือสื่อสารต่อกันอย่างเคารพในฐานะที่แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญด้านนั้น”  

นอกจากอิมแพ็กที่สร้างให้สังคมแล้ว พนักงานในองค์กร LINE MAN Wongnai ที่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นรีเสิร์ชในการทำแคมเปญจนถึงติดตามมูลนิธิเข้าไปทำกิจกรรมที่โรงเรียนก็ยังได้ความรู้เรื่องโภชนาการเพิ่มมากขึ้นและแรงบันดาลใจในการสร้างอิมแพ็กให้สังคมตามไปด้วย  

5. การขยายผลการแก้ปัญหาสุขภาพจิตของ Sati App ด้วยแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง

Sati App เป็น on-demand listening service ที่ช่วยแก้ปัญหาสุขภาพจิต จุดเริ่มต้นคือคุณซันจู-อมรเทพ สัจจะมุณิวงศ์เคยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อนและพบว่ามีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงไปจนถึงรู้สึกว่าหาคนรับฟังความรู้สึกในเวลาย่ำแย่ได้ยาก จึงศึกษาโมเดลจากประเทศที่มีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาไม่เพียงพอและพบว่าทางแก้คือชวนคนทั่วไปมาเป็นอาสาสมัครในการรับฟังและสอนการฟังเชิงลึกให้คนเหล่านั้น แอป Sati ที่มีเพื่อนรับฟังเป็นคนทั่วไปจึงเกิดขึ้น

แม้ Sati App จะเริ่มจากทีมเล็กๆ แต่ก็ได้ร่วมทำแคมเปญสื่อสารกับแบรนด์ระดับโลกอย่าง Maybelline New York ที่สนใจด้านการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตอยู่แล้ว คุณซันจูได้มีโอกาสเข้าไป pitch กับแบรนด์ดังโดยสื่อสารว่า Sati จริงจังกับการแก้ปัญหาถึงขั้นผลักดันในระดับนโยบายจนได้ทำวิดิโอโปรโมทแอปในชื่อ ‘Brave together’ ร่วมกับแบรนด์ที่เข้าถึงคนหลายล้านคนและทำให้แอปเติบโตจากมีผู้ใช้ที่มาขอคำปรึกษาในแอปหลักพันสายต่อสัปดาห์เป็นหลักหมื่นต่อสัปดาห์ 

อีกแคมเปญหนึ่งของ Sati ที่สร้างแรงกระเพื่อมไม่แพ้กันคือ ‘Better Mind, Better Bangkok’ เกิดจากการเห็นปัญหาว่าเวลาพูดถึงสุขภาพจิตในสังคมไทย มักมีการพูดถึงในมิติเดียวในมุมเกี่ยวกับโรคเท่านั้นและมักไม่ค่อยมีใครพูดถึงว่าสภาพแวดล้อมก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาทางใจได้เช่นกัน แคมเปญนี้จึงสื่อสารเรื่องสุขภาพจิตในหลายมิติไปยังคนหลายกลุ่มมากขึ้นทั้งเยาวชน สตรี กลุ่ม LGBTQI คนเมือง คนชนบท 

ในแคมเปญนี้คุณซันจูได้ติดต่อขอความร่วมมือกับทางกทม. ว่าอยากผลักดันเรื่องสุขภาพจิตให้เป็นหนึ่งในนโยบายของกทม. โดยได้เริ่มแคมเปญจากกรุงเทพฯ ก่อนและตั้งใจขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ในหลายภาคของไทย ซึ่งการชวนพาร์ทเนอร์ใหญ่อย่างกทม. มาเป็นพันธมิตรได้กลายเป็นจิ๊กซอสำคัญที่ทำให้การติดต่อพาร์ทเนอร์เจ้าอื่นเป็นเรื่องง่ายขึ้น ที่ผ่านมา Sati ยังได้ออกสื่อแมสต่างๆ ทั้งไลฟ์ทาง Youtube และ Tiktok ไปจนถึงชวนดาราและอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังมาที่กิจกรรมของ Sati เช่น สมาชิกวง BNK, อุ๋ย Buddha Bless, อแมนด้า, จอมขวัญ พิธีกรชื่อดัง

Sati ทำให้สุขภาพจิตกลายเป็นเรื่องที่คุยกันได้อย่างผ่อนคลายมากขึ้นและเข้าถึงคนทั่วไปได้มากขึ้นด้วยการกล้าเข้าหาพาร์ทเนอร์ต่างๆ หาจุดเชื่อมโยงที่พาร์ทเนอร์แต่ละฝ่ายต่างอินด้วยกันทั้งคู่ไปจนถึงหาจุด win-win ในการทำงานร่วมกันระหว่างแบรนด์ ภาคเอกชน และภาคสังคม  ในฐานะผู้ทำองค์กรเพื่อสังคม คุณซันจูบอกว่า KPI หรือเป้าหมายขององค์กรเพื่อสังคมอาจมีภาพคนละแบบกับทางฝั่งแบรนด์แต่เคล็ดลับในการทำงานร่วมกันให้ราบรื่นคือการหาจุดตรงกลางว่าจะทำให้มุม Human กับ Brand ในการทำแคมเปญเชื่อมโยงกันได้ยังไงบ้าง

Lesson learned

1. Multi-Stakeholders Collaboration : การร่วมมือจากหลายภาคส่วน 

ปัญหาสังคมเป็นปัญหาสเกลใหญ่ที่มีหลายมิติ แทบทุกประเด็นอาศัยการมีส่วนร่วมจากคนหลายภาคส่วนในสังคมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม ภาคการศึกษา ประชาชนทั่วไป ฯลฯ เมื่อแต่ละหน่วยในสังคมมารวมพลังกันและมีการ ‘put the right man on the right job’ หรือจัดสรรให้แต่ละคนช่วยแก้ปัญหาในส่วนที่ตัวเองถนัด การแก้ปัญหาก็จะมีโอกาสสำเร็จลุล่วงมากยิ่งขึ้น

2. Find Compability : หาสิ่งที่ตรงกันและเข้ากันได้

การทำแคมเปญหรือโครงการเพื่อสังคมให้สำเร็จคล้ายกับการหาคู่เดท นั่นคือสามารถเริ่มได้ง่ายๆ ด้วยการหาพาร์ทเนอร์ที่ใช่ก่อน พาร์ทเนอร์ที่ใช่คือองค์กรหรือผู้ที่ให้คุณค่าตรงกันกับเรา มีวิสัยทัศน์ สิ่งที่ให้คุณค่าและความสำคัญในทิศทางที่ใกล้กัน 

3. Sprint Testing : รับฟีดแบ็คและปรับตัวร่วมกับพาร์ทเนอร์

ในการเริ่มต้นทำโครงการอาจไม่จำเป็นต้องหวังการร่วมงานกับพาร์ทเนอร์ระยะยาวตั้งแต่แรกเสมอไป อาจเริ่มได้ง่ายๆ ในสิ่งเล็กๆ ที่ทำได้ด้วยแคมเปญระยะสั้นก่อน จากนั้นสามารถนำผลลัพธ์มาประเมินแล้วหาพาร์ทเนอร์เพิ่มเติมไปจนถึงขยายผลต่อไปได้เรื่อยๆ 

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like