From Band to Brand

รู้จัก 8 ธุรกิจของคนดนตรี วิธีเอาตัวรอดช่วงโควิด-19

ปลายปี 2019 ทั่วโลกต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายๆ เรื่องเนื่องจากโรคระบาด สิ่งที่เห็นชัดที่สุดในวิกฤตครั้งนี้เห็นทีจะไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่สเกลใหญ่ไปจนถึงคนตัวเล็กๆ หลายคนถูกบริษัทเลิกจ้าง ส่วนอีกหลายคนต้องจำใจเลิกทำอาชีพที่ครั้งหนึ่งเคยได้ทำมันด้วยความรัก แต่เมื่อมันไม่สามารถสร้างรายได้ให้อีกต่อไปก็ป่วยการจะดันทุรังทำต่อในช่วงเวลาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกแบบนี้

หากใครได้ตามข่าวสารบ้านเราในช่วงหนึ่งก็น่าจะคุ้นกับเรื่องราวของกลุ่มอาชีพที่ ‘โดนปิดก่อน เปิดทีหลัง’ เพราะถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของการระบาด แถมยังไม่ได้รับการเยียวยามาเป็นเวลาหลายเดือน การที่จะต้องลุ้นว่าจะถูกล็อกดาวน์ไหม และจะได้กลับไปทำงานเมื่อไหร่ ทำให้รายได้ที่ไม่ได้สูงนักและการว่าจ้างที่ไม่แน่นอนอยู่แล้วกลับยิ่งไม่มั่นคงขึ้นไปอีก 

เหล่าผู้ประกอบการผับบาร์รายเล็ก อีเวนต์ออร์แกไนเซอร์ บาร์เทนเดอร์ นักดนตรี ดีเจ และอีกหลายอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคของรัฐ จึงร่วมกันทำให้เกิด ‘สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย’ ขึ้น พวกเขาร่วมกันเคลื่อนไหว ผลักดัน ยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ จนล่าสุดรัฐยอมไฟเขียวเงินเยียวยาให้รายละ 5,000 บาท โดยจ่ายระลอกแรกไปเมื่อธันวาคม 2564 และอีกครั้งเมื่อมกราคม 2565 

แต่กว่าคนกลุ่มนี้จะได้รับเงินช่วยเหลือ คนที่ยื้อกันมาตั้งแต่ล็อกดาวน์รอบแรกก็ยื้อไม่ไหวต้องขายเครื่องดนตรีซึ่งเป็นเครื่องมือหากินของตัวเอง เพราะเอาเข้าจริงก็ไม่รู้จะได้เล่นดนตรีอีกไหม ทั้งยังต้องไปเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อจะไปทำอาชีพอื่นที่ตัวเองก็ไม่ได้ถนัด แต่เพื่อที่จะได้เอาเงินมาโปะค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ผ่อนรถไปก่อน ทว่าในเรื่องร้ายๆ ก็มีบางคนที่ได้หยุดมองดูสิ่งใกล้ตัว และได้ค้นพบว่านี่คือความชอบอีกอย่างที่พวกเขาไม่เคยนึกถึงมาก่อน จนหยิบมาสร้างเป็นธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองที่ทำไปทำมาสักพักก็เข้ามือ! 

เมื่อคนที่คลุกคลีอยู่กับเสียงดนตรีต้องมาวางแผนค้าขาย มันก็คงมีความทุลักทุเลกันบ้างในตอนเริ่ม แต่ทุกคนก็อาศัยการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และใช้แพสชั่นปลุกปั้นออกมาเป็นแบรนด์ที่น่าสนใจไม่ต่างไปจากงานเพลง เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักศิลปินและแบรนด์ของพวกเขากัน

“เราถือว่าโชคดีนะ ที่ได้ทำร้านที่เป็นความชอบส่วนตัว แล้วค่อยมองเห็นโอกาสที่จะทำรายได้ทดแทนงานดนตรีที่หายไป”

เติ้ล–คัมภิรดา แก้วมีแสง
นักร้องนำและคีย์บอร์ด วง Two Pills After Meal
เจ้าของธุรกิจของแต่งบ้าน พรมวินเทจ Little Miss Something

ทำไมถึงเลือกทำธุรกิจนี้ 

ช่วงล็อกดาวน์ต้นปี 2020 เรากลับมาอยู่บ้านที่ขอนแก่นพอดี ก็เลยหาอะไรทำ ลองแต่งบ้าน ซื้อผ้ามาตกแต่ง เอฟของจนหยุดไม่ได้ สนุกกับการหาของมากๆ ประมูลทุกวัน พอเยอะๆ ไม่มีที่จะวางในบ้านแล้วก็เริ่มรู้สึกผิด เลยคิดว่า เมื่อหยุดซื้อไม่ได้ งั้นปล่อยขายทางไอจีด้วยเลยละกัน 

จุดเด่นของ Little Miss Something

เราเลือกของที่เราชอบและใช้ได้จริงมา ถ้าเกิดขายไม่ได้ก็เอาไว้แต่งบ้านตัวเองต่อไป เพราะงั้นสไตล์ที่เลือกก็คือมาจากความชอบของเรา คัดงานแรร์ หรือโทนสีที่ดูวินเทจ มีความ 60-70s ฮิปปี้หน่อย เพราะงานไหมพรมถักแบบนี้นิยมมากๆ ในยุคนั้น รวมถึงดิสเพลย์พรีวิวของร้านแต่ละรอบ เราจะจัดเป็นแนว maximalism สีเยอะๆ หลายแพตเทิร์นมาจัดวางรวมกันในมุมต่างๆ ของบ้าน มีธีมต่างกันไป เหมือนเป็นตัวอย่างให้ลูกค้าหรือคนที่ติดตามได้ดูเป็นแนวทางในการแต่งบ้านด้วย สนุกดี เราใช้เกือบครบทุกมุมในบ้านแล้ว ขาดแค่โรงรถกับห้องน้ำ (หัวเราะ) ก่อนส่งเราจะซักทำความสะอาด เก็บงาน ซ่อมแซมให้ก่อนส่งด้วย ใช้น้ำยาซักผ้าแบบเดียวกับที่เราใช้ ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มสำหรับคนที่แพ้ง่าย อยากให้ไปถึงบ้านลูกค้าแล้วพร้อมใช้งานเลย 

ตอนนี้เราหัดถักเอง ก็จะมีงานออกแบบที่ไม่เหมือนใครด้วย เช่น มู่ลี่แต่งประตู ม่านหน้าต่าง โคมไฟ ที่รองแก้ว ปลอกหมอน ซึ่งลูกค้าสามารถสั่งทำขนาดที่พอดี หรือเลือกโทนสีที่ชอบได้ ที่หัดทำคือเริ่มจากหาซื้อมาแต่งบ้านเองแล้วไม่มี ก็เลยทำเองซะเลย

ตอนนี้วงเป็นยังไงบ้าง

Two Pills After Meal ไม่ได้เล่นดนตรีกันเลยตั้งแต่มีโควิด งานแบ็กอัพก็เงียบกันหมด ร้านนี้ช่วยให้เราอยู่รอดได้จริง แต่ก็คิดถึงคอนเสิร์ต คิดถึงทีมงาน เพื่อนๆ ที่ค่าย (Smallroom) และการทำงานที่กรุงเทพฯ ด้วยเหมือนกัน เหมือนส่วนนึงในชีวิตขาดหายไป ตอนนี้ก็ถักงานวนไปรอวันที่ทุกอย่างดีขึ้น

จะได้กลับมาเล่นดนตรีกันอีก… แต่ร้านนี้ก็จะยังอยู่ต่อไปนะ

“สำหรับเรายังถือว่าโชคดีกว่าเพื่อนๆ นักดนตรีอีกหลายคน เพราะเรามีงานประจำในช่วงที่มีโควิด รายได้เลยไม่ได้ถึงกับหายไปหมด แต่ก็หายไปเยอะเหมือนกันประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ได้ ก็ต้องเอาเงินเก็บออกมาใช้เกือบหมด เพราะรถก็ยังต้องผ่อน ค่าใช้จ่ายที่บ้านก็มี มันไม่ได้ถึงกับเคว้ง แต่ว่าก็ต้องรัดเข็มขัด”

ปอม
ศิลปินอิสระ
เจ้าของธุรกิจ AfterGlow

ทำไมเลือกทำธุรกิจนี้

หลักๆ นอกจากสนใจและมีแพสชั่นกับเรื่องนี้เป็นการส่วนตัวแล้ว เรารู้สึกว่าถ้าสังคมไทยเปิดกว้างกับเรื่องเซ็กซ์ได้มากขึ้นก็ดี เพราะเราว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติมาก เหมือนกินข้าว หิวก็กิน แล้วในปริมาณที่พอดีก็มีประโยชน์กับร่างกายและสุขภาพจิตด้วย 

เราว่าพ่อแม่เราปล่อยแล้วนะ แต่ตอนเด็กๆ สมัยมีแฟนใหม่ๆ เราจะถูกห้ามพูดเรื่องเซ็กซ์ โดนสอนว่าห้ามชิงสุกก่อนห่ามไม่งั้นจะดูเป็นผู้หญิงไม่ดี แม่พูดตลอดว่า ‘ทำตัวเองให้มีค่านะลูก’ เราก็ได้แต่คิดว่าค่าคนเรามันวัดกันที่ตรงนี้หรอ เราไม่เคยมี sex talk กับพ่อแม่ เขาไม่สอนเรา เราก็ไม่กล้าถาม ส่วนที่โรงเรียน เราเรียนหญิงล้วนมาก็ไม่ได้สอนอะไรเลย มันเหมือนกับส่งเด็กไปรบ ให้มาแต่ปืนแต่ไม่สอนวิธีใช้ สุดท้ายคนเดียวที่เราคุยและขอคำปรึกษาได้กลายเป็นหมอสูติฯ ที่เราหาอยู่ตอนนั้น จำได้ว่าโทรหาเขาบ่อยมาก ทั้งที่จริงๆ แล้วเรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่คุยกันในครอบครัวได้

อีกเรื่องคือเราอยากให้เรื่องการช่วยตัวเองของผู้หญิงเป็นเรื่องปกติ เรารู้สึกว่าการที่เรารู้จักร่างกายตัวเองดีพอ ได้เรียนรู้ว่าเราชอบอะไรแบบไหน มันช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเองและช่วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคู่ของเราได้ด้วย เพราะการที่เราชอบแบบนึง แฟนชอบอีกแบบนึง ถ้ากล้าเปิดใจคุยกันเราว่ามันปรับกันได้ เราว่าการสื่อสารสำคัญมากๆ แต่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่กล้าคุยเพราะคิดว่าบางทีรสนิยมในเรื่องเพศของตัวเองเป็นเรื่องแปลก หรืออาจทำให้อีกฝ่ายเสียความมั่นใจ

AfterGlow มีจุดเด่นยังไง

เราเรียกตัวเองว่าเป็น Pleasure Items and Educational Content คือเป็น content platform ที่ชวนคุยเรื่องเพศ ความรัก ความสัมพันธ์ในแบบสนุกและเป็นมิตรสำหรับผู้หญิง แต่ถ้าผู้ชายที่อยากเข้าใจผู้หญิงก็แวะเข้ามาอ่านได้เหมือนกัน เนื้อหาเบาๆ อ่านง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้และสนับสนุนให้ผู้หญิงมั่นใจในร่างกายตัวเอง กล้าพูด กล้าสื่อสารมากขึ้น ในอนาคตเราคิดว่าอยากทำพอดแคสต์เพิ่ม หลังจากนั้นคงชวน therapist มาทำแพลตฟอร์มที่ให้คำปรึกษาเรื่องเซ็กซ์กับความสัมพันธ์แบบจริงจังไปเลย แต่ก็ยังเป็นแผนในระยะยาวอยู่ 

แล้วเราก็มีรับพรีออร์เดอร์ pleasure items ที่เราเลือกดีไซน์ สีสัน รูปทรงน่ารักหลายๆ แบบ คุณภาพดี ปลอดภัยกับร่างกาย คือเรารู้สึกว่าในไทยไม่ได้มีตัวเลือกเยอะขนาดนั้น ของที่ขายอยู่ตามท้องตลาดคุณภาพก็ไม่ได้ดี ยกตัวอย่างถ้าซิลิโคนไม่ได้เป็นเกรดการแพทย์ medical grade  นอกจากจะเสื่อมสภาพเร็วแล้ว ก็อาจจะทำให้ผิวหนังรู้สึกระคายเคืองด้วย แถมดีไซน์ยังไม่น่าใช้ เราเลยอยากเพิ่มทางเลือกให้กับสาวๆ ที่อยากจะทำความรู้จักร่างกายตัวเองและกำลังมองหาอุปกรณ์ชิ้นแรกอยู่ เพราะสุดท้ายแล้วการช่วยตัวเองมันคือสิทธิของเรา ร่างกายของเรา

“ถ้านับกันจริงๆ ตั้งแต่ต้นปี 2020 จนถึงปัจจุบัน อาชีพอย่างนักดนตรี ครูสอนดนตรีก็ค่อนข้างโดนผลกระทบเยอะครับ ทั้งไม่มีงานเล่น งานสอนก็น้อยลงเพราะผู้ปกครองก็ต้องห่วงลูกๆ ที่จะต้องออกจากบ้านมาเจอผู้คน แต่ก็ยังหวังให้มันกลับมาดีขึ้นเรื่อยๆ แหละครับ”

กร วิชิตทรัพยากร
มือกลองวง KUNST, H1F4 และ ACID JOB
เจ้าของธุรกิจสลัดมันฝรั่ง Tamaya

ทำไมเลือกทำธุรกิจนี้ 

เดิมทีผมสอนตีกลองด้วยแต่พอโควิดเข้ามาชั่วโมงเรียนก็น้อยลง ให้สอนออนไลน์ก็สอนลำบาก ช่วงที่งานดนตรีเริ่มน้อยลงมากๆ ไม่รู้จะทำยังไงก็เลยลองคุยกับแฟนว่าลองหาอะไรทำไหม ก็คิดว่าจะขายของกินแบบที่เพื่อนๆ นักดนตรีหลายคนก็ทำ แต่ผมไม่รู้ว่าจะทำอะไรดีเพราะส่วนตัวก็ไม่ได้ทำอาหารกินเอง แต่แล้วก็ดันนึกถึงเมนูสลัดมันฝรั่งที่แม่ผมเคยทำให้กิน ก็เลยลองถามสูตรเขาดูว่าทำยังไง แล้วก็ไปศึกษาต่อในยูทูบ จากนั้นก็มาลองผิดลองถูกประมาณ 3 รอบจนได้สูตรเฉพาะของเราเอง 

Tamaya ต่างจากสลัดมันฝรั่งที่อื่นยังไง

ตอนพัฒนาสูตรผมลองหาสูตรหลายแบบมากๆ ครับ แต่ก็จะยังอยู่ในสไตล์ญี่ปุ่นที่ตัวผมเองชอบกิน แบบที่อิซากายะเสิร์ฟน่ะครับ แล้วก็เกิดไอเดียขึ้นมาอีกอย่างว่าเราน่าจะมีอะไรโรยเป็นท็อปปิ้ง ก็ตกผลึกออกมาเป็น crispy bacon ที่ดูจะเข้าท่ามากที่สุด พอทำแล้วก็ลองให้เพื่อนๆ ที่สนิทกันชิม หลายคนก็บอกว่าโอเค ตอนนี้ขายมาได้ 5 เดือนแล้วก็ยังมีลูกค้ามาเรื่อยๆ ผมเองก็ยังไม่รู้ว่าจะทำไปได้นานแค่ไหนเหมือนกันแต่ตอนนี้ก็ต้องเอาตัวรอดไว้ก่อนครับ

“จากที่โควิดระบาดเฟสแรก คิดว่าใช้เวลาประมาณปีนึง จนมันเกิดรอบสอง ผมกะว่าอีกสองปีน่าจะดีขึ้น แต่พอรอบสาม สี่ ผมไม่แน่ใจแล้วว่าสงครามนี้จะจบเมื่อไหร่ มันก็ทำให้ผมต้องปรับตัว จากเป็นนักดนตรีฟูลไทม์ก็ต้องลองหันมาจับธุรกิจอื่นบ้าง”

คิท–ชาคริต เกิดสกุล และ แม่น–กวิน ศิรินาวิน
มือกลองและนักร้องนำ วง Bedroom Audio
เจ้าของธุรกิจเบเกอรีพรีเมียม Sweet Sentence

ทำไมถึงเลือกทำธุรกิจนี้

คิท : ช่วงที่สถานการณ์ไม่ค่อยดี งานประจำที่เป็นงานดนตรีก็หดหาย รายได้ก็เป็นศูนย์ ล็อกดาวน์แรกผมขายข้าวกะเพราในครัวหลังบ้านที่กรุงเทพ ฯ จนรายได้โอเคและกำลังกลับมาฟื้นตัว แต่พอล็อกดาวน์รอบสอง รายได้ก็เลยลดลงไปอีก เงินทุนที่มีก็เริ่มร่อยหรอ พี่แม่นที่เป็นนักร้องนำของวงเลยเสนอว่าจะลงทุนให้ แล้วเขาก็มีเพื่อนที่ขายเบเกอรีที่โคราชอยู่แล้วก็อยากให้ลองร่วมงานกัน คิดว่าอยากลองเรียนรู้ตรงนี้จะได้ต่อยอดไปทำอย่างอื่นด้วย ผมเรียนรู้การทำขนมใหม่หมดเพราะไม่เคยมีประสบการณ์ แต่คนที่มาร่วมทีมด้วยเขาเก่งมาก เขาศึกษามาจากยูทูบ อ่านหนังสือมาอีกทีแล้วลองทำ มันก็ได้ผล อร่อย

พอมาทำเบเกอรีก็รู้สึกว่าทำงานสบายขึ้น เพราะครัวเบเกอรีไม่ร้อนระอุ เรื่องเสียง วัตถุดิบ มันควบคุมได้ง่ายกว่า แต่ขั้นตอนการทำละเอียดกว่าพอสมควร แล้วการมาทำตรงนี้เราก็ได้ทำเองเกือบหมด เลื่อยไม้ ขัดเหล็ก ต่อประปา ทำบัญชี วางระบบกันเอง ยันหน้าร้าน ทำแทบทุกอย่าง (หัวเราะ)

Sweet Sentence ต่างจากเบเกอรีที่อื่นยังไง

คิท : ขนมของเราแตกต่างด้วยวัตถุดิบ เราเลือกวัตถุดิบออร์แกนิกครับ ทั้งตัวเจ้าของสูตรและทีมพวกผมเคยลองแล้ว ลองใช้วัตถุดิบที่หาซื้อได้ทั่วไป ที่เป็นไข่ใช้สารเร่ง เทียบกับไข่ออร์แกนิกจริง ๆ ที่เป็นไก่ปล่อยให้เดินตามธรรมชาติแล้วออกไข่เอง พอมาใช้ทำ รสชาติ กลิ่น สัมผัสต่าง ๆ มันต่างกันเยอะมากเลย เราใส่ใจรายละเอียดในการทำมาก หลายอย่างลองผิดลองถูกจนได้สูตรที่พวกเรา 4-5 คนชอบ แล้วออกนำมาเสนอให้ได้ลองชิมกันครับ ถึงจะเปิดในลำปาง แต่ว่าก็มีบางโปรดักต์ที่ส่งได้ทั่วประเทศ อย่างป๊อปคอร์น อัลมอนด์ชอร์ตเบรด คล้ายๆ คุกกี้หรือถั่วตัดบ้านเรา แล้วก็มีบราวนี่ที่ส่งต่างจังหวัดได้ครับ

“ในช่วงที่ผ่านมาเราประสบปัญหามากมาย ทั้งธุรกิจร้านกาแฟ (Ageha Cafe) วงดนตรีที่ไม่มีงานแสดงสด รวมถึงการขายสินค้าต่างๆ ของวงก็ดร็อปลงไปตามวิกฤตของธุรกิจดนตรีด้วยเช่นกัน เราจึงพยายามหาทางรอดในหลายๆ อย่าง ทั้งขายเสื้อผ้ามือสอง ทำเทียนหอมขาย จนพบว่าเรามีความสามารถพอที่จะเริ่มทำธุรกิจใหม่ๆ ได้”

ฮอน–ณรงค์ฤทธิ์ อิทธิพลนาวากุล
ฟรอนต์​แมนวง Hope the Flowers Co-founder
ร้านขายหินและคริสตัล Crystal of Hope

ทำไมเลือกทำธุรกิจนี้

เริ่มจากที่เราเห็นความสวยงามของหินและคริสตัล ก็รู้สึกว่ามันคือความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ จนเริ่มศึกษาความหมายและที่มาต่างๆ ของหินแต่ละประเภท และได้พบว่าในหินแต่ละก้อนนั้นมีแร่ธาตุที่ต่างกันเลยทำให้เกิดสีหรือรูปทรงที่ต่างกัน และในเชิง spiritual พวกหินก็มีพลังการรักษาที่ซ่อนอยู่ภายใน ซึ่งหลายคนก็มีความเชื่อว่าถ้าหากเราพกไว้กับตัว หรือมีไว้ในครอบครอง อาจจะทำให้รู้สึกดีขึ้นกับสิ่งรอบตัว เราเลยเริ่มจากการสะสมเป็นของตัวเองก่อน และคิดว่าอยากให้เพื่อนๆ ได้รับพลังงานดีๆ เหมือนกับที่เราได้รับ จึงเริ่มหาหิน คริสตัลมาส่งต่อ จนเกิดเป็น Crystal of Hope

Crystal of Hope ต่างจากร้านอื่นๆ ยังไง

อาจจะเป็นการที่ธุรกิจของเราเกิดขึ้นจากวงดนตรีที่เราทำ มีการเชื่อมต่อกันจากการเอาชื่อวงมาใช้เป็นชื่อร้าน กลายเป็นการซัพพอร์ตซึ่งกันและกันในทางอ้อม ซึ่งใครตามวงดนตรีเราก็จะรู้จักร้านของเรา หรือใครที่ชอบหินจากร้านเราก็อาจจะมีโอกาสได้ไปฟังเพลงของวงเรา เราเองก็ไม่ได้คิดมาก่อนว่าธุรกิจของเรามีจุดเด่นกว่าร้านอื่นๆ ไหม แต่ตั้งใจว่าราคาที่เราส่งต่อจะไม่แพงจนเกินไป

“ทั้งๆ ที่การซ้อม การเรียนดนตรีของเรา มันก็มีอยู่และเกิดขึ้นจริงๆ แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง คนหมู่มากเลยมองว่าการเล่นดนตรีหรือการจะยึดอาชีพนักดนตรีเป็นหลัก คือการอยู่ในโลกแห่งความฝัน”

มาย–สรัญธร ทวีรัตน์
นักร้องนำวง Supergoods
Co-founder ของ Silver Hub สังคมดนตรีออนไลน์เพื่อวัยเก๋า

ทำไมเลือกทำธุรกิจนี้

นอกจากทำวง เราก็รับงานร้องอีเวนต์ อัดคอรัส รับทุกอย่างที่เลี้ยงชีพได้ แต่พอโควิดมารายได้ก็หายไปเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ยังพอโชคดีที่อีกขานึงก็เป็นคุณครูสอนร้องเพลงด้วย แล้วสถานการณ์ดันทำให้เราไปเจอนักเรียนไม่ได้ก็คิดว่าเรียนออนไลน์น่าจะเป็นช่องทางที่สะดวกทั้งกับผู้เรียนและผู้สอน ยุคนี้ทุกคนมีมือถือ อยู่ที่ไหนก็เรียนผ่าน Zoom ได้ แต่กลายเป็นว่าเหมือนตอนนี้ทุกคนเจอปัญหากับการเรียนออนไลน์ ทั้งข้อจำกัดในการเข้าถึงอุปกรณ์ ปัญหาทางเทคนิค การโฟกัสกับบทเรียนทำได้ไม่เท่าตอนเข้าห้องเรียน เราเลยสนใจว่าเราจะสอนออนไลน์ยังไงให้ได้ผล เรากับทีมสนุกที่ได้มามองหาข้อดีของมัน ต้องหาวิธีว่าจะปรับตัวตามสถานการณ์ปัจจุบันยังไงถึงจะเหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนได้รับทักษะติดตัว แล้วก็จะได้หยิบแบบฝึกหัดมาทบทวนและใช้ได้ตลอด

จุดเด่นของ Silver Hub

เป็นแผนการสอน 1 คอร์ส คอร์สละ 12 ครั้ง ที่เหมาะสำหรับสอนผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ค่อนข้างสะดวก ประหยัดเวลา เพราะเป็นการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่นตามความต้องการผู้เรียนเป็นหลัก แล้วการที่มันออนไลน์ก็ทำให้เขาได้คลุกคลีกับสังคมออนไลน์มากขึ้น ที่สำคัญคือเป็นพื้นที่ให้ผู้สูงวัยที่เคยหรือไม่เคยได้อยู่กับดนตรี ได้มาสัมผัสกับดนตรี บางคนก็ได้สานฝันวัยเด็กที่เคยอยากเป็นนักร้อง ถ้ามองในแง่รายได้ เรามองว่าสังคมคนผู้สูงอายุกำลังเยอะขึ้น ถ้าเรามีนักเรียนแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ของผู้สูงอายุทั่วประเทศ ธุรกิจนี้ก็น่าจะไปได้สวย

ความรู้สึกก่อนและหลังจากที่ได้มาทำ Silver Hub 

จากโควิดสองปีกว่านี้ เราเพิ่งเข้าใจจริงๆ ว่าอาชีพนักดนตรีในไทยไม่มั่นคงและไม่ได้รับการคุ้มครองจากอะไรเลย ไม่แปลกใจที่หลายๆ คนล้มเลิกความตั้งใจของตัวเองแล้วไปทำอะไรที่คิดว่า ‘มั่นคง’ กว่า โดยมีแง่คิดว่า ‘ยอมรับและอยู่ในความเป็นจริง’ มีนักดนตรีหลายคนมากที่ฝึกซ้อมหนัก มีความสามารถ แต่ไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้จากอาชีพนี้ ถ้าเป็นไปได้อยากให้รัฐมีกฎหมายคุ้มครองหรือสนับสนุนดนตรีและศิลปะอย่างเปิดกว้างมากกว่านี้

พอเราได้มาสอนโปรแกรมนี้ทำให้ตอนนี้เรามีนักเรียนอายุ 19 และนักเรียนอายุ 73 ถึงตัวเลขจะห่างกันขนาดนี้แต่ไม่น่าเชื่อว่าเขาจะมีความเหมือนกันในหลายๆ เรื่อง อย่างวิธีการสื่อสาร ตั้งใจเรียน ไม่ตั้งใจเรียน งอแงบ้าง  ไม่ทำการบ้านบ้าง คล้ายกันมาก ซึ่งการเข้าใจตรงนี้ก็เป็นประโยชน์กับเราในทางอ้อมเหมือนกัน เรารู้สึกสบายใจขึ้นเวลาคุยกับผู้ใหญ่ และในขณะเดียวกันก็เคารพการตัดสินใจและเข้าใจพลังวัยรุ่นของเด็กๆ มากขึ้นด้วย 

“การเป็นดีเจคือการเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ซึ่งมีต้นทุนเหมือนกัน แต่ทุกวันนี้ดีเจยังเป็นอาชีพหลักไม่ได้”

ยุ้งยิ้ง–พรพิชชา จันทนวัลย์
DJ Yoongying
เจ้าของธุรกิจ Aged Salmon Delivery Soysaucebangkok

ทำไมเลือกทำธุรกิจนี้

ช่วงโควิดระลอกแรก เราทำ Poke bowl กินเองที่บ้านบ่อย จนเพื่อนเห็นในสตอรีอินสตาแกรมก็มาขอชิม เราเลยลองส่งให้เพื่อนหลายคนกินแล้วเขาก็ติดใจเพราะวัตถุดิบเราสดใหม่มากๆ เรามองเห็นโอกาสทางธุรกิจในจุดนี้ก็เลยพัฒนามาเป็นเมนูข้าวแซลมอน เราเอจปลาเองด้วยเทคนิคการปรุงอาหารแบบโอมากาเสะ เลยมองไว้ว่าในอนาคตเราอยากผลิตอาหารที่มีคุณภาพแบบนี้ให้ทุกคนได้ทานกันบ่อยๆ ในราคาที่จับต้องได้

จุดเด่นของ Soysaucebangkok

เราจะให้ลูกค้าพรีออร์เดอร์ส่งเป็นรอบๆ ทุกวันพุธ พฤหัสบดี เราจะสามารถคุมสต็อกวัตถุดิบได้เพราะอยากให้มั่นใจได้ว่าทำสดใหม่ทุกวัน ปลาแซลมอนนำเข้าจากนอร์เวย์คัดพิเศษทุกตัว แพ็กเกจจิ้งและพรีเซนเทชั่นไม่เหมือนใคร และ Instagrammable

ความลำบากใจของอาชีพดีเจที่ไม่ค่อยมีใครรู้

การที่ไม่ค่อยถูกให้ค่าในความสามารถเท่ากับอาชีพอื่นๆ เรามองว่าการเป็นดีเจคือการเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ การมอบความสนุกให้กับผู้ชม ซึ่งมันก็มีต้นทุนเหมือนกัน อาจจะจับต้องเป็นสิ่งของไม่ได้เหมือนอาหารหรือข้าวของ แต่โปรดักต์ของดีเจคือแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ ต่อให้ทุกวันนี้การเล่นดีเจยังทำเป็นอาชีพหลักไม่ได้ แต่เราก็หวังว่าในอนาคตเราจะได้เห็นวงการดีเจไทยเติบโตไปได้ไกล เหมือนกับที่เราฝันกันไว้ว่าอยากให้ที่นี่มีเทศกาลดนตรีดีๆ แบบในยุโรปนะ

“การบังคับให้ใครไปเริ่มใหม่ ในสิ่งที่เขาไม่จำเป็นต้องถนัด ไม่ใช่ใครก็จะทำได้ แล้วมันจะมีความสุข หรือทำให้พวกเขารอดไปกับวิกฤตได้ทุกคน”

บิว–รังสรรค์ ปัญญาใจ
นักร้องนำวง Lemon Soup
เจ้าของธุรกิจร้านอาหารเหนือ กำกิ๋นสุก

ทำไมถึงเลือกทำธุรกิจนี้

จริงๆ อีกธุรกิจที่เราทำมาก่อนมันคืองาน music production ที่ Welfare 6 ถามว่ามันเป็นธุรกิจที่ดีไหม มันไปได้ดี สบายๆ ของมันเลย มันคืองานออกแบบเสียงที่ใช้ศิลปะกับวิทยาศาสต์มารวมกัน แต่ถ้าถามว่ามันมีความเสี่ยงไหม มันก็มีในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของรสนิยม ความงาม ความไพเราะ แล้วก็การให้คุณค่ากับงานเสียงปัจจุบัน ที่ดูเหมือนจะลดมูลค่าลงไปเยอะกว่าเมื่อก่อนซะอีก เพราะด้วยเทคโนโลยีหรือการถูก disrupt ด้วยแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งเอาจริงๆ ดนตรีเชิงพาณิชย์ก็ยังไม่ใช่ปัจจัยสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตของผู้คนในยุคโรคระบาดแบบนี้

เราก็เลยคิดว่าควรจะกระจายความเสี่ยงออกไป กับธุรกิจที่มันเป็นปัจจัยพื้นฐานของผู้คน อะไรที่โรคระบาดมาแต่เราก็ยังต้องใช้มันอยู่ ก็มีหลายๆ อย่าง เช่นเสื้อผ้า ขายพวกอุปกรณ์โน่นนี่ แต่เราเลือกอาหารซึ่งเป็นความสนใจอีกอย่างหนึ่งของเรา 

ผมไม่ใช่เชฟหรือเรียนทำอาหารมาจริงจัง แต่ต้นทุนทางบ้านที่พอจะมีสนับสนุนได้ก็คือ know-how เรื่องอาหารเหนือ ให้เจาะจงลงไปอีกคือลาบเหนือ อาหารพื้นเมืองเหนือ แล้วช่วงล็อกดาวน์แรกก็มีโอกาสลองตลาดมาบ้าง ก็มองเห็นโอกาสบางอย่างในธุรกิจร้านอาหารเหนือ เราเป็นคนเหนือเข้ากรุงเทพฯ มาตั้งแต่วัยรุ่น เรามองหาร้านอาหารเหนือที่ทำรสชาติแบบที่เราอยากกินก็ยังไม่ค่อยมีเท่าไหร่ เลยอยากสร้างประสบการณ์นั้น คือถ้าจะมีอาหารสักร้าน เราก็อยากได้ร้านในแบบที่เราอยากไปนั่งกิน

จริงๆ เราอยากทำร้านมาก่อนหน้านี้แล้ว อาจจะดูสวนทางกับคนอื่นๆ ที่ทำร้านอาหารซึ่งก็ลำบากกันมาตั้งแต่ช่วงที่ผ่านมา แต่เราก็ถามตัวเองว่า ถ้าไม่ทำตอนนี้แล้วจะทำเมื่อไหร่ ก็พยายามวางแผนรัดกุมพอสมควร ใช้บทเรียนจากที่เราเห็นมา เอามาปรับมาใช้ พยายามทำเองทุกอย่างให้ได้มากที่สุด ประกอบกับเราก็ว่างมาก ช่วงนั้น งานมันหายไป 60 เปอร์เซ็นต์ เลยกล้าลองเสี่ยงกับมันสักตั้ง เลยเกิดเป็นร้าน กำกิ๋นสุก 

กำกิ๋นสุก พยายามมอบประสบการณ์ให้กับคนที่มา 

กำกิ๋นสุก คือร้านลาบเหนือ ลาบเมียง ที่มีอาหารพื้นเมืองหลายเมนูซ่อนอยู่ คุณจะได้กินอาหารเหนือที่ทำใหม่เกือบทั้งหมด จานต่อจาน เหมือนเวลาไปกินข้าวบ้านเพื่อนที่เหนือเลย ซึ่งก็มีร้านประเภทนี้อยู่บ้างแต่ไม่ได้เยอะเท่าร้านอาหารอีสาน แล้วเราก็อยากให้บรรยากาศมันสบายๆ เหมือนมานั่งกินบ้านเพื่อนจริงๆ เราเองไม่ได้บอกว่าอาหารเหนือร้านเราดั้งเดิมนะครับ แต่รับประกันว่าเหมือนกินรสมือแม่ผม 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นอาหารที่คนเหนือ คนเมียงกินกันจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แล้ววัตถุดิบอย่างน้ำพริกลาบ น้ำพริกข่า น้ำพริกแกง ไส้อั่ว แคบหมู น้ำพริกตาแดง ก็ส่งตรงมาจากบ้านที่แพร่ มันมีอีกหลากหลายสไตล์ที่ควรจะได้ชิม ไม่ว่าจะร้านเรา หรือร้านอื่นๆ บ้านอื่นๆ สูตรอื่นๆ เราอยากทำให้อาหารเหนือกระจายสู่วงกว้าง

ด้วยเราทำงานทั้งภาพและเสียงมาก่อนในเชิง communication design เราเลยสามารถจบงานพวกงานภาพ งานเสียง โพสต์บนโซเชียลฯ หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้ด้วยตัวเราเอง มันเลยสะท้อนตัวตนของเราได้ชัดเจนอย่างที่ใจเราอยากได้มากที่สุด มันจะมีความลงตัวในความไม่ลงต้วบางอย่างที่เห็นแล้วก็จะไม่ได้รู้สึกตั้งใจขายขนาดนั้น แต่ก็ผ่านการออกแบบมาอย่างดี

คิดว่าจะได้กลับไปเล่นดนตรีเมื่อไหร่

ถามว่านี่คือธุรกิจเพื่อประครองตัวสำหรับกลับไปทำงานภาคดนตรีต่อไปไหม ก็คิดว่ามันคือธุรกิจอีกไลน์ที่ต้องคู่กันไปกับงาน music production ในอนาคตอยู่แล้ว ทุกวันก็ยังแบ่งเวลาทำงานเสียง 60:40 แล้วก็ยังคิดแผนธุรกิจที่เราจะปรับตัวเองให้งานดนตรี งานเสียงของเรา เข้าไปอยู่ในหมวดหมู่ที่เป็นปัจจัยในการดำรงอยู่ได้ยังไงบ้าง ที่ไม่ใช่แค่เพื่อความบันเทิงอย่างเดียว ก็ตั้งใจจะใช้งานพวกนี้มาช่วยกันผลักดันธุรกิจร้านอาหารของเราไปด้วย 

มันเหนื่อยบ้าง แล้วก็ใจหายบ้างในตอนแรกที่เราต้องเปลี่ยนจากงานเสียงมาเป็นงานครัวแบบ 50:50 แต่เรากลับมองว่าเราโชคดีที่ตอนทำงานเพลงก็ได้เอาสิ่งที่เคยเป็นงานอดิเรกที่เราชอบมาก่อนมาทำเป็นอาชีพ เป็นธุรกิจได้ อาหารก็เป็นอีกงานอดิเรกหนึ่งที่เราก็โชคดี ที่ได้ทำให้มันเป็นงานที่เราอยู่กับมันได้โดยไม่ฝืน ไม่เบื่อ แต่หลายคนก็อาจจะไม่ได้โชคดีแบบเรา งานดนตรี การเล่นดนตรี อาจจะเป็นสิ่งสำคัญและความสุขสูงสุดในชีวิตเขาก็ได้

อาชีพคนดนตรี นักดนตรี รัฐก็ควรมีทางออก ทางแก้ปัญหาเยียวยาให้เขาโดยไม่ได้ใช้แค่การเยียวยาด้วยเงินไม่กี่บาท สิ่งที่นักดนตรีหรือคนในวงการดนตรีทำได้มีมูลค่ามากกว่านั้น ถ้ารัฐให้คุณค่าและให้ความสำคัญกับกับธุรกิจทุกธุรกิจอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม สุดท้ายแม้ไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนบนโลกได้รู้สึกว่า พวกเราได้ใช้ชีวิต ไม่ใช่แค่มีชีวิตรอด

Tagged:

Writer

พนักงานประจำที่เขียนบทความดนตรีในเวลาว่าง หรือถ้าไม่ว่างก็สันนิษฐานได้ว่าจะพบเธอที่คอนเสิร์ตหรือปาร์ตี้

You Might Also Like