สารแม่ครัว
Frankfurt kitchen 1.9 x 3.4 สถาปัตยกรรมการครัวของผู้หญิงยุคใหม่
ห้องครัวเป็นห้องที่แสนธรรมดา แต่ถ้าเรามองในมุมของความเป็นครอบครัว ครัวมักเป็นหัวใจสำคัญของบ้าน ครัวเป็นพื้นที่อบอุ่น เป็นพื้นที่ของกลิ่น รส และอาหารอร่อย ครัวมักเป็นพื้นที่ของแม่ ห้องครัวมักเป็นหัวใจของบ้านและงานบ้าน เป็นพื้นที่บริบาลทุกข์สุขของสมาชิกในครอบครัว
ถ้าเรามองบ้านในฐานะพื้นที่อยู่อาศัย การออกแบบพื้นที่บ้านในยุคสมัยใหม่ ในห้องครัวที่เราพลิกดูในนิตยสาร หรือเป็นส่วนหนึ่งของคอนโด ห้องครัวที่ถูกแยกออกเป็นสัดส่วน ในที่พักอาศัยในเมืองที่ครัวมักมีขนาดพอประมาณ ครัวขนาด 6 ตารางเมตรที่แยกตัวออกเป็นอิสระจากพื้นที่อื่นๆ ถือเป็นนวัตกรรมการออกแบบหนึ่ง ครัวกะทัดรัดเป็นผลผลิตจากยุคสมัยใหม่ที่ผู้หญิงพยายามออกแบบพื้นที่ให้กับผู้หญิง เป็นพื้นที่ที่ใช้วิธีคิดแบบใหม่และตั้งใจเปิดพื้นที่การทำงานของงานบ้านที่สอดคล้องกับวิธีคิดของโลกสมัยใหม่
ในพื้นที่ที่เราคุ้นเคยเช่นพื้นที่บ้าน คอลัมน์ ‘ทรัพย์คัลเจอร์’ จะขอพาทุกท่านไปมองเห็นจุดเล็กๆ ของประวัติศาสตร์ ในความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่ล้วนแต่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงเชิงความคิดที่ใหญ่โตกว่านั้น ในครั้งนี้เราจะพากลับไปยังสาธารณรัฐไวมาร์ เยอรมนี ในห้วงสมัยของการแก้ปัญหาและการออกแบบที่อยู่อาศัย ในกระแสเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและความพยายามปลดปล่อยผู้หญิง ในการออกแบบบ้านที่เริ่มต้นจากครัว และการออกแบบครัวที่เริ่มต้นจากความเข้าใจในโลกของผู้ชาย
ห้องชุดสมัยใหม่ ชีวิตสมัยใหม่
การสืบไปยังครัวสมัยใหม่ ต้องขอชวนผู้อ่านนึกภาพบรรยากาศและสถาปัตยกรรมของทศวรรษ 1920 ในพื้นที่เยอรมนี ห้วงสมัยที่เราเรียกว่าสาธารณรัฐไวมาร์ หนึ่งในอิทธิพลสำคัญต่อโลกสถาปัตยกรรมและการออกแบบคือการเกิดขึ้นของเบาเฮาส์ (Bauhaus) รวมถึงกระแสการออกแบบสมัยใหม่ (modernist) ยุคสมัยนั้นเองช่วงเวลาที่เราให้ความสำคัญกับความเรียบง่ายและประสิทธิภาพ เมืองเริ่มก่อตัวและการออกแบบต่างๆ เน้นตอบสนองความเหมาะสมกับการอยู่อาศัย ให้ความสำคัญกับการใช้พื้นที่ ยุคนี้เองที่เริ่มเกิดตึกอาคารคอนกรีต เกิดออฟฟิศ เกิดบ้านพักอาศัยแบบอพาร์ตเมนต์
ในกระแสการออกแบบของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ บริบทของสังคมเป็นเงื่อนไขการออกแบบหนึ่ง ในสมัยนั้นเป็นยุคหลังสงครามโลก ด้วยแรงบอบช้ำจากสงคราม และการขาดแคลนที่อยู่อาศัย หนึ่งในโจทย์การออกแบบคือการสร้างพื้นที่อยู่อาศัยในเมืองที่มีความคุ้มค่า เพียงพอ และในมุมของสถาปนิกและนักวางผังเมือง พื้นที่อยู่อาศัยเหล่านี้ต้องดีกับผู้คนด้วย
ในห้วงเวลาหลังสงครามโลก ประกอบกับการขยายตัวของเมือง ในช่วงนี้เองที่เราจะเริ่มเห็นอาคารต้นแบบและหน้าตาของการออกแบบพื้นที่ของห้องในอาคารพักอาศัยแนวตั้งต่างๆ ที่ปารีสก็มี Unité d’Habitation ซึ่งถือเป็นหนึ่งในต้นแบบที่ Le Corbusier พัฒนาขึ้นในปี 1920 ในห้วงเวลาของการเริ่มต้นค้นหาหน้าตาที่พักอาศัยในเมือง ที่เยอรมนีซึ่งเป็นการพัฒนาการออกแบบและสถาปัตยกรรมจากฝ่ายสังคมนิยม แฟรงก์เฟิร์ตก็ได้เริ่มโครงการ Neues Frankfurt หรือแฟรงก์เฟิร์ตใหม่ เป็นโปรเจกต์บ้านพักอาศัยแนวตั้งของรัฐ คือระดมนักบริหาร นักออกแบบมาสร้างพื้นที่อยู่อาศัยใหม่ของเมืองขึ้น
ความน่าสนใจของการออกแบบในยุคนั้นในนามของอาคารและที่พักอาศัยแบบใหม่คือความพยายามในการเข้าใจสเกล วิถีชีวิตโดยเอาความต้องการมาผนวกกับเงื่อนไขทางการออกแบบต่างๆ เช่น ความคุ้มค่า ระยะขนาด การแบ่งจำนวนห้อง การเดินงานระบบต่างๆ จนสร้างเป็นหน้าตาเลย์เอาต์พื้นที่ที่เรานิยามได้ว่าเป็นที่อยู่อาศัยของชีวิตสมัยใหม่ อพาร์ตเมนต์ของโปรเจกต์แฟรงก์เฟิร์ตใหม่ มีจุดเด่นคือเป็นหน้าตาอาคารที่เชื่อว่าตอบสนองการใช้ชีวิต นำไปสร้างที่ไหนก็ตอบสนองการใช้ชีวิตของคนสมัยใหม่ได้ หน้าตาห้องที่ออกมาก็จะเป็นอาคารพักอาศัยแบบห้องชุด มีระบบทำความร้อนส่วนกลาง มีสาธารณูปโภคพื้นฐาน ห้องน้ำ ห้องนอน พื้นที่รับประทานอาหาร เป็นที่พักอาศัยที่คิดเรื่องความคุ้มค่า เหมาะสม มีแนวคิดเรื่องความสะอาด สุขอนามัย ตรงนี้ได้อิทธิพลของ Machine Living ของเลอกอร์บูซีเย
บ้านสมัยใหม่ เริ่มที่ครัวสมัยใหม่
ทีนี้ แม้ว่าในยุโรปจะเริ่มมีการออกแบบอาคารสูงเพื่อการพักอาศัยและมีกระแสสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ แต่บริบทของความเป็นรัฐสังคมนิยมฝ่ายซ้ายก็มีอิทธิพลในงานออกแบบด้วย ในการสร้างบ้านรัฐของแฟรงก์เฟิร์ตยืนอยู่บนความพยายามในการเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมโดยเฉพาะของผู้หญิง กระแสการออกแบบมีม็อตโต้ขับเคลื่อนว่า ‘เริ่มที่ครัว แล้วค่อยไปที่ผิวอาคาร (First the kitchen, then the facade!)’
ครัวในสมัยนั้นถือเป็นพื้นที่ที่ถูกนำมาคิดในฐานะพื้นที่สำคัญของบ้าน เป็นพื้นที่ที่นักออกแบบและนักเคลื่อนไหวมองว่าจะเป็นพื้นที่ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงและเป็นที่ที่ปลดแอกหน้าที่และปลดแอกผู้หญิงจากกิจของผู้หญิงคือการเป็นแม่บ้านและการทำงานบ้าน
ดังนั้นนักออกแบบที่เข้าร่วมทีมออกแบบและเป็นผู้สร้างครัวแบบแฟรงก์เฟิร์ตจึงค่อนข้างเป็นตัวแทนหนึ่งของการเคลื่อนไหว คือ Margarete Schütte-Lihotzky สถาปนิกหญิงผู้เป็นนักศึกษาหญิงคนแรกของวิทยาลัยศิลปะประยุกต์เวียนนา (Kunstgewerbeschule) ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงไม่กี่คนที่มีผลงานโดดเด่นในโลกสถาปัตยกรรมและงานออกแบบซึ่งเป็นโลกของผู้ชาย และเป็นนักออกแบบหญิงคนเดียวของโปรเจกต์ที่พักอาศัยใหม่ของเมือง
ในการออกแบบอพาร์ตเมนต์ใหม่ เธอเองเป็นผู้สร้างหมุดหมายในความคิดของการสร้างครัวในฐานะพื้นที่เฉพาะของบ้านขึ้น ครัวแบบแฟรงก์เฟิร์ตคือพื้นที่ครัวขนาด 1.9 x 3.4 มีลักษณะเป็นครัวบิลต์อินบางส่วนซึ่งผลิตและประกอบได้ในจำนวนมาก ในพื้นที่นั้นเน้นความกะทัดรัด มีอ่างล้างจาน เคาน์เตอร์ สตูลตัวเล็กๆ เตาแก๊ส ตู้ติดผนัง และโต๊ะรีดผ้าพับได้ อุปกรณ์ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า และแยกพื้นที่ครัวออกจากส่วนอื่นของบ้านด้วยประตูบานสไลด์
ห้องทดลองของผู้หญิง
ทำไมห้องครัวกะทัดรัดที่ว่าถึงสำคัญและเป็นรูปแบบครัวที่ถือเป็นหมุดหมายการออกแบบพื้นที่บ้าน และเกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิสตรี อย่างแรกคือการออกแบบพื้นที่บ้านด้วยการเปิดพื้นที่ครัวเป็นพื้นที่เฉพาะของผู้หญิงถือเป็นความคิดในการจัดการพื้นที่ที่มีนัยของเพศสถานะ–ตรงนี้อาจเป็นข้อถกเถียงต่อไป
วิธีคิดของครัวที่แยกออกไป ผู้ออกแบบใช้หลักการของพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อตอบโจทย์งานบ้านของผู้หญิง ด้วยการคิดพื้นที่ที่มีประสิทธิผลสูงสุด คือเป็นที่ที่แม่บ้านจะสามารถทำสิ่งต่างๆ จบได้อย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ของตัวเอง เธอสามารถทำอาหาร จัดการสิ่งของต่างๆ รีดผ้า ล้างจาน ไปจนถึงนั่งพักผ่อนได้ในพื้นที่ครัวของตัวเองด้วยการขยับตัวที่น้อยที่สุด- ทั้งยังใช้พื้นที่น้อยและได้พื้นที่ใช้สอยที่มีประสิทธิภาพมาก
วิธีคิดนี้เป็นการที่นักออกแบบสังเกตและนำเอาวิธีการของโลกอุตสาหกรรมเข้ามาออกแบบกิจกรรมของผู้หญิงและแบ่งเป็นพื้นที่เฉพาะของพวกเธอ ในบางความเห็นระบุว่า ความคิดหนึ่งของการออกแบบเพื่อให้ผู้หญิงทำงานบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้พวกเธอจัดการงานทั้งหลายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้พวกเธอมีเวลาเป็นของตัวเองซึ่งอาจเปิดโอกาสให้พวกเธอไปทำงานนอกบ้านได้
ปลดแอกได้จริงไหม กับการผูกมัดผู้หญิงไว้กับครัว
เป็นเรื่องธรรมดาที่การเคลื่อนไหวต่างๆ จะถูกตั้งคำถาม ครัวแบบแฟรงก์เฟิร์ตของไลออตซ์คีเองก็เช่นกัน อย่างแรกที่สุดคือการออกแบบของเธอคิดด้วยหลักคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล (rationalization) ตีความการงานของแม่บ้านด้วยหลักการของสายพานการผลิต (line of production) ดังนั้นเมื่อผู้หญิงเข้าใช้งานจริงแล้ว พวกเธอพบว่าห้องครัวของบ้านรัฐมีลักษณะตายตัวเกินไป คือถ้าคิดจากสายพานการผลิต การผลิตมักเป็นการทำสิ่งต่างๆ อย่างเดียว ทำเป็นอย่างๆ ไป แต่งานของผู้หญิงมักเป็นการสับเปลี่ยนและทำสิ่งต่างๆ หลายอย่างไปพร้อมๆ กัน (multitasking)
ทั้งนี้ ในเงื่อนไขของความตายตัวและการจำกัดของพื้นที่ นักออกแบบก็คงมองในแง่ดีคือพยายามนำเอาอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่นๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้งาน ทว่าแม่บ้านหรือสุภาพสตรีในสมัยนั้นพบว่าการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ทันสมัยต่างๆ เป็นสิ่งที่พวกเธอต้องเรียนรู้ใหม่ เป็นการปรับตัวเข้ากับพื้นที่ที่ค่อนข้างยาก
หนึ่งในบทสัมภาษณ์ที่ไลออตซ์คีถูกนำมาวิจารณ์บ่อยที่สุดคือการที่เธอให้สัมภาษณ์ว่าเธอเองเป็นคนออกแบบครัวที่ไม่เคยทำครัว คนทำอาหารส่วนใหญ่สมัยเด็กคือแม่ของเธอ ส่วนเธอพึ่งพาร้านอาหารมากกว่า ทว่าในข้อโต้แย้งคือเธอเองไม่ได้จินตนาการครัวขึ้นมา แต่ได้เก็บข้อมูลและทำสัมภาษณ์ก่อนจะลงมือออกแบบครัวแบบแฟรงก์เฟิร์ตขึ้น
ทั้งนี้ การแบ่งแยกพื้นที่ครัวให้เป็นพื้นที่ของผู้หญิง ในที่สุดก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการผูกมัดผู้หญิงเข้ากับครัว และตีความผู้หญิงเข้ากับการทำงานในโรงงาน ตรงนี้ทางไลออตซ์คีก็แย้งว่าเธอไม่ได้คิดถึงงานของผู้หญิงแค่การทำอาหาร แต่คืองานในภาพรวม ทั้งเธอยังชี้ให้เห็นว่าครัวของเธอเป็นพื้นที่ส่วนตัว เธอตั้งใจให้ครัวเป็นพื้นที่ปิดที่ผู้หญิงจะสามารถมีพื้นที่และเวลาของตัวเอง เป็นที่ที่พวกเธอไม่ถูกจ้องมองในขณะทำงาน ในขณะเดียวกันห้องครัวแบบแฟรงก์เฟิร์ตจะติดตั้งหน้าต่างไว้ เป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงสามารถจ้องมองไปยังพื้นที่ภายนอกได้
การออกแบบครัวและพื้นที่บ้านจึงก้าวเข้าสู่ข้อโต้แย้งและการออกแบบที่ซับซ้อน ครัวสำเร็จรูปอาจนำไปสู่การไม่สามารถทำบ้านให้เป็นบ้าน เช่น การนำเฟอร์นิเจอร์เก่าเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ไปจนถึงการออกแบบพื้นที่บ้านและครัวที่อาจต้องคิดจากผู้ใช้งานแล้วปรับพื้นที่กายภาพเข้าสู่พื้นที่ใช้งาน ไม่ใช่การเรียกร้องให้ผู้คนปรับตัวเข้าสู่พื้นที่อยู่อาศัยที่ถูกออกแบบไว้
นอกจากนั้นครัวแฟรงก์เฟิร์ตที่แม้ว่าจะถูกวิจารณ์ว่ายังคิดด้วยความคิดแบ่งแยกเพศ แต่ในหลายความเห็นก็มองว่าพื้นที่ที่ถูกสถาปนาขึ้นเป็นพื้นที่ของผู้หญิงนั้น ถือเป็นครั้งแรกที่มีการวางให้เป็นพื้นที่คู่ขนานกับการทำงานนอกบ้านคือพื้นที่การทำงาน ด้วยวิธีคิดการทำงานในระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ครัวแบบแฟรงก์เฟิร์ตเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ครัวอันสำคัญ ในความเคลื่อนไหวของประวัติศาสตร์การออกแบบ การคิดถึงพื้นที่ที่มีนัยทางเพศและบทบาททางเพศ ทุกวันนี้ครัวแบบแฟรงก์เฟิร์ตถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแนวหน้าแทบจะทุกแห่งของยุโรปและอเมริกา เช่น Museum of Modern Art ที่นิวยอร์ก หรือ Victoria and Albert Museum ที่ลอนดอน ไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่รอบๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งแฟรงก์เฟิร์ต เบอร์ลิน และเวียนนา
ภาพ : Museum der Dinge, Bauhaus Kooperation, Margarete Schütte-Lihotzky
อ้างอิง
- byarcadia.org/post/user-s-guide-for-being-the-new-woman-the-frankfurt-kitchen
- nasjonalmuseet.no/en/stories/explore-the-collection/a-kitchen-for-the-modern-woman
- architectural-review.com/essays/revisit/revisit-frankfurt-kitchen
- moma.org/interactives/exhibitions/2010/counter_space/the_frankfurt_kitchen
- standrewsschoolofhistory.wordpress.com/2021/06/01/spatialising-the-modern-the-frankfurt-kitchen-and-its-gendered-work-politics/