ตลาดไวน์

ทำไมภาครัฐฝรั่งเศสถึงจ้างโรงงานผลิตไวน์ทำลายไวน์และจ้างเกษตรกรปลูกมะกอกแทนองุ่น

ฤดูร้อนที่ผ่านมาเราใช้เวลาร่วมครึ่งเดือนอยู่ที่ฝรั่งเศส ถึงแม้เป็นเพียงช่วงเวลาสิบกว่าวันเท่านั้นแต่ช่วงเวลาสั้นๆ นี้ ทำให้เราเห็นถึงความรุ่มรวยไม่เร่งเร้ารีบร้อนของคนฝรั่งเศส ความสุนทรีในการกินดื่ม และการใช้ชีวิต

ไวน์ ดูเป็นเครื่องดื่มสามัญประจำบ้านและร้านอาหารที่หันมองซ้ายขวาก็เจอได้ทั่วไป พอๆ กับการหาซื้อน้ำอัดลมได้ง่ายๆ ในบ้านเรา คนฝรั่งเศสบางคนดื่มไวน์ตอนมื้อกลางวัน หลังวุ่นกับงานมาตลอดช่วงเช้า หรือบางคนดื่มมันตอนบ่ายๆ เพื่อดึงเข็มนาฬิกาให้หมุนช้าลงอีกนิดตอนที่ละเลียดไวน์แต่ละจิบเข้าไปในลำคอ

จากที่เราเล่าไป ฟังดูเหมือนว่า ‘ไวน์’ เป็นเครื่องดื่มที่สำคัญและแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของคนฝรั่งเศสอย่างแพร่หลายใช่ไหมคะ

ถ้าอย่างนั้นคุณคงจะแปลกใจถ้าเราจะบอกคุณว่าตอนนี้รัฐบาลฝรั่งเศสกำลังต้องควักเงินจำนวนกว่า 160 ล้านยูโร (ประมาณ 5,900 ล้านบาท) ในการทำลายไวน์ทิ้ง หรือที่หลายๆ สำนักข่าวใช้คำแบบสุดโต่งว่า ‘เทไวน์ทิ้ง’

เราอยากให้คุณเลิกคิ้วลงสักครู่แล้วฟังเราอธิบายก่อนว่าทำไมอยู่ดีๆ รัฐบาลของประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องไวน์นักหนาจำต้องมาทำลายไวน์ทิ้งกันนะ

สาเหตุทั้งหมดเริ่มต้นจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเราอาจจะต้องย้อนกลับไปถึง 3-4 ปีที่แล้ว ช่วงปลายปี 2019 เมื่อเริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และทุกอย่างหยุดชะงัก ทั้งเศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศ เราต้องรักษาระยะห่าง ร้านค้าต่างๆ ต้องปิดตัวลงชั่วคราวหรือบางแห่งถึงกับต้องปิดตัวลงอย่างถาวรเลยด้วยซ้ำ เพราะผู้คนรัดเข็มขัดเรื่องการใช้จ่าย และร้านค้าเองก็ไม่มีสายป่านที่ยาวพอที่จะพยุงค่าใช้จ่ายเอาไว้ได้

ร้านอาหารเกือบทุกร้านต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งสำคัญเพราะผู้คนเข้ามานั่งกินข้าวในร้านไม่ได้ ต้องสั่งกลับบ้านเท่านั้น ลำพังอธิบายเพียงเท่านี้คุณคงพอนึกภาพตามได้แล้วว่าผลกระทบคลื่นลูกใหญ่จากโควิด-19 นั้นสร้างความเสียหายมหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจของโลก

แล้วสรุปว่ามันเกี่ยวกับการทำลายไวน์ทิ้งยังไง? 

เมื่อร้านอาหารเปิดให้บริการนั่งกินในร้านไม่ได้ ยอดขายของเครื่องดื่มหลายชนิดก็ลดลงตามไปด้วย รวมถึง ‘ไวน์’ ที่ยอดขายตามร้านอาหารลดฮวบ อาจจะเรียกได้ว่าคลื่นลูกแรกแห่งวิกฤตความต้องการไวน์ลดลงเริ่มขึ้นจากตรงนี้

ถึงแม้ไม่ได้เรียนเอกเศรษฐศาสตร์ แต่ทุกคนคงพอมีความรู้วิชาเศรษฐศาสตร์พื้นฐานระดับ 101 ที่ว่าถ้าความต้องการของผู้ซื้อในตลาด ไม่สัมพันธ์กับจำนวนของสินค้าที่มีในตลาด กลไกของราคาก็จะมีการปรับขึ้นและลงตามอำนาจและความต้องการของผู้ผลิตและผู้ซื้อ 

เมื่อเกษตรกรผู้ปลูกองุ่นและเจ้าของกิจการโรงงานทำไวน์ยังคงผลิตไวน์มาในอัตราการผลิตเท่าเดิม แต่ความต้องการไวน์ในตลาดลดลง ไวน์กลายเป็นของที่มีเกลื่อนตลาดจนเกินไป ราคาไวน์หลายแห่งจึงจำต้องปรับตัวลงเพราะไวน์ที่มีอยู่มากจนเกินไป ร้านค้าหรือบางทีผู้ผลิตเองจำต้องระบายของออกด้วยวิธีการที่ไม่มีใครอยากทำแต่ก็จำต้องทำ นั่นคือ ลดราคาลง

grapes line controller

แต่สถานการณ์โรคระบาดคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นวัฏจักรบนโลกใบนี้อยู่แล้วมิใช่หรือ เมื่อมียารักษาหรือวัคซีนที่ก้าวหน้ามากพอ สถานการณ์ทุกอย่างควรจะคลี่คลายลงและทุกอย่างควรจะกลับมาเป็นปกติ นี่คงเป็นความคิดที่เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นหรือผู้ผลิตไวน์แอบหวังใจอยู่ลึกๆ แต่ความเป็นจริงแล้วบางสิ่งบางอย่างบนโลกนี้ที่เปลี่ยนไปแล้ว ใช่ว่าจะกลับคืนสู่สภาวะเดิมได้เสมอไป บางอย่างที่เปลี่ยนไปแล้วก็ไม่สามารถคืนย้อนกลับมาได้เหมือนเดิม ดังเช่น พฤติกรรมการดื่มกินของคน ที่ลดความนิยมในการละเลียดไวน์ลงแต่หันไปดื่มเครื่องดื่มชนิดอื่นมากขึ้น เช่น เบียร์ และค็อกเทล 

ซึ่งจะว่าไปเทรนด์การบริโภคไวน์ที่ลดลงใช่ว่าจะมาแรงในช่วงโควิด-19 เท่านั้น อันที่จริงแล้วเทรนด์ความนิยมในไวน์ของคนฝรั่งเศสค่อยๆ ลดลงเรื่อยมา เพียงแต่โควิด-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้ทุกอย่างมันรุนแรงและรวดเร็วขึ้นก็เท่านั้นเอง

ความนิยมในการดื่มที่เปลี่ยนแปลงไปดูได้จากสถิติในการบริโภคไวน์ของคนฝรั่งเศส โดยเฉลี่ยแล้วสถิติเมื่อ 70 ปีย้อนหลังคนฝรั่งเศสดื่มไวน์ 130 ลิตร ต่อคนต่อปี แต่ปัจจุบันนี้ที่ปี 2023 ตัวเลขลดลงเหลือเพียงแค่ 40 ลิตรต่อคนต่อปีเท่านั้น ไวน์แดงทั่วทั้งฝรั่งเศสมียอดขายลดลง 15% ในปี 2022 ส่วนไวน์ขาวและไวน์โรเซ่มียอดลดลงอยู่ที่ 3-4%

ตัวเลขการดื่มไวน์ลดลงอย่างน่าใจหายแต่ผู้ผลิตไวน์ยังคงผลิตออกมาเท่าเดิม คือสาเหตุหลักที่ทำให้ไวน์มีมากจนล้นเกินความต้องการของตลาด และรัฐบาลฝรั่งเศสจำต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเพื่อให้อุตสาหกรรมการผลิตไวน์ในฝรั่งเศสยังเดินต่อไปข้างหน้าได้ นอกจากเป็นการประคับประคองผู้ผลิตไวน์ในประเทศ การยื่นมือเข้าช่วยเหลือของรัฐบาลฝรั่งเศสถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการจ้างงานระดับประเทศด้วยเช่นกัน เพราะมีการประมาณการเอาไว้ว่าแรงงานในอุตสาหกรรมไวน์ในฝรั่งเศสมีอยู่ประมาณ 5 แสนคน ดังนั้นหากไม่มีการแทรกแซงช่วยเหลือใดๆ จากรัฐเลย น่าจะมีคนประมาณ 1-1.5 แสนคนต้องตกงานในไม่ช้านี้

โดยผู้ผลิตไวน์ในฝรั่งเศสที่ดูเหมือนกับว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือผู้ผลิตไวน์จากบอร์กโดซ์ ซึ่งสัมพันธ์กับข้อมูลข้างต้นที่เราเล่าให้คุณฟังเอาไว้ว่า ยอดขายไวน์แดงลดลงกว่า 15% ในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วฝรั่งเศส และบอร์กโดซ์ก็ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตไวน์แดงซะด้วย โดยเดือนมิถุนายน 2023 รัฐบาลฝรั่งเศสจ่ายเงินไปแล้วกว่า 57 ล้านยูโร (ประมาณ 1,900 ล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตไวน์ในแคว้นนี้และสนับสนุนให้เปลี่ยนจากการปลูกองุ่นเพื่อทำไวน์ไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น มะกอก

แต่สมาพันธ์เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นและทำไวน์จากบอร์กโดซ์กลับมองว่าเงินจำนวนนี้ไม่เพียงพอต่อการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้ไปปลูกพืชชนิดอื่นแทนได้ เงินจำนวนนี้ทำได้แค่เพียงช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ทำไวน์ในระยะสั้นเท่านั้น

มีการคาดการณ์จากสมาพันธ์เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นและทำไวน์จากบอร์กโดซ์ว่า การปรับเปลี่ยนพื้นไร่และผืนดินจากการปลูกองุ่นเพื่อทำไวน์มาเป็นการปลูกมะกอกน่าจะกินพื้นที่ถึง 15,000 เฮคแทร์ และจำนวนเงินที่สมาพันธ์เรียกร้องให้รัฐบาลฝรั่งเศสช่วยเหลือในการปรับพื้นที่คือ 10,000 ยูโร ต่อ 1 เฮคแทร์

ต่อมาคือประเด็นที่ว่าเงิน 160 ล้านยูโรที่รัฐบาลฝรั่งเศสกำลังจ่ายไปเพื่อช่วยพยุงราคาของไวน์ทั้งประเทศนั้น รัฐบาลฝรั่งเศสจะนำไวน์จำนวนมหาศาลนั้นไปทำอะไรต่อ?

คำตอบอาจไม่เหมือนดังเช่นที่หลายสำนักพาดหัว คือเอาไปเททิ้ง เพราะการซื้อมาเพื่อเททิ้ง คงดูสวนทางกับหลักการการบริโภคอย่างยั่งยืนที่รัฐบาลฝรั่งเศสตั้งใจจะปฏิบัติ ดังนั้นรัฐบาลฝรั่งเศสจึงซื้อไวน์มาเพื่อนำไปแปรรูปเป็นอย่างอื่น เช่น นำไปแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์ในอุตสาหกรรมยา นำไปแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์ล้างมือ นำไปแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและน้ำหอม เป็นต้น

มิใช่แต่เพียงแค่ชาวไร่ที่ปลูกองุ่นหรือผู้ผลิตไวน์ในฝรั่งเศสเท่านั้นที่จับตาดูว่าเทรนด์การดื่มไวน์และราคาไวน์ฝรั่งเศสจะไปต่อในทิศทางใด แต่เชื่อว่าคนทั้งโลกก็คอยจับจ้องดูเช่นกันว่าเราจะได้เห็นไวน์ฝรั่งเศสที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์แห่งความหรูหรารุ่มรวย ดื่มได้เฉพาะในโอกาสพิเศษที่สำคัญเท่านั้น หรือมันจะกลายเป็นเครื่องดื่มที่มีราคาเป็นมิตรมากเสียจนคนธรรมดาที่ไม่ได้อยู่ที่ฝรั่งเศสสามารถจิบละเลียดได้ในมื้อกลางวันในวันที่อากาศร้อนๆ เพื่อความบันเทิงในตอนพักเที่ยงหลังต้องเผชิญงานกองท่วมหัวมาตลอดเช้า

ไม่แน่ว่าเราอาจได้เห็นเพื่อนร่วมงานเราสักคนดื่มไวน์แดงจากบอร์กโดซ์สักแก้วเคียงกับข้าวเหนียวหมูปิ้งตอนพักกลางวันก็ได้ในอนาคต

อ้างอิง 

Writer

อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย หญิงสาวผู้หลงรักอาหาร และโฮสต์รายการพอดแคสต์ชื่อ 'Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว'

You Might Also Like