นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Fisherman's Friend

วิธีการทำร้านสารพัดเมนูปลาไทยของ Fishmonger ที่ครองใจคน ชาวประมง และดีต่อสิ่งแวดล้อม

วัวกระดาษ กะรังแดงจุดฟ้า หมูสีลายตอก เสือซ่อนเล็บ อีโต้มอญ และยูนิคอร์น ฯลฯ 

รู้หรือไม่ว่าชื่อเหล่านี้คือชื่อปลาทะเลท้องถิ่นของไทยที่รสชาติดี แต่คนไทยหลายคน หลากภาคไม่มีโอกาสได้ลิ้มลอง เพราะตั้งแต่เด็กจนโต ไม่ว่าจะเมนูปลาในครัวที่บ้าน หรือตามร้านอาหาร เราก็มักจะได้กินแต่ปลาเก๋า กะพง และกะมงพร้าว 

“ผมเชื่อว่าปลาแต่ละตัวมีคาแร็กเตอร์ที่แตกต่างกัน เมื่อมันถูกจับมาแล้วมันควรถูกนำเสนอให้ดีกว่านี้ ชาวประมงพื้นบ้านเขาควรจะมีรายได้ที่ดี ไม่จำเป็นต้องเสียค่าน้ำมันเพื่อไปแย่งจับแต่ปลาไทยที่คนนิยม”

โอม–กศม ชูดอกไม้ หนึ่งในทีมบริหารและผู้ถือหุ้นของ Fishmonger บอกกับเราแบบนั้น

Fishmonger ตั้งต้นจากการทำเพจลันตาปลาไทย เพจที่บอกเล่าและขายปลาไทยท้องถิ่นจากแดนใต้ ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นร้านขายอาหารที่เสิร์ฟสารพัดเมนูปลาชื่อแปลก โดยเฉพาะฟิชแอนด์ชิป เพื่อให้คนไทยได้รู้จักปลาท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มรายได้ให้ชาวประมงพื้นบ้าน และสร้างความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อมทางทะเล

สาขาแรกของ Fishmonger มีขนาดเพียง 27 ตารางวาตั้งอยู่ที่โครงการ GalileOasis แถวบรรทัดทอง สาขาแรกนี้เน้นขายเมนูฟาสต์ฟู้ดที่จัดการง่ายๆ ในพื้นที่ขนาดย่อม หลัง Fishmonger สร้างเสียงฮือฮาให้นักกิน คนรักปลา และคาเฟ่ฮอปเปอร์ได้ 1 ปี สาขาที่สองอย่างอารีย์ในคอนเซปต์ Local Seafood Bar ก็เกิดขึ้น

ความสำเร็จในขวบปีแรกของ Fishmonger ซึ่งมีทีมผู้บริหารและผู้ถือหุ้นหลากหลายคนทำให้ Capital อยากพาทุกคนไปลงลึกหลังครัวของ Fishmonger ว่าพวกเขาทำยังไงให้ธุรกิจนี้เติบโตได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่นาน ที่สำคัญ เป้าหมายการนำเสนอปลาไทยของเขาสำเร็จได้ด้วยปัจจัยอะไรบ้าง

ร้านอาหารจากองค์ความรู้สหสาขาวิชาชีพ

“ผมจบเชฟจากดุสิตธานี ก่อนจะไปทำงานเป็นเชฟที่ฮ่องกง สกอตแลนด์ และอังกฤษ พอกลับมาก็ทำงานอยู่ทีมวิจัยและพัฒนาโรงงานอาหารแช่แข็งอยู่ 3 ปี จนมี know-how เรื่องการแช่แข็งเลยมาเปิด Ohm Cuisine ครัวกลางอาหารแช่แข็งสำหรับร้านกาแฟ โรงแรม ผับบาร์” โอมเกริ่นให้ฟังขณะรอทีมครัวปรุงสารพัดเมนูให้เราชิม

แต่นอกจากจะเป็นเชฟที่แม่นเรื่องโอเปอเรชั่นในครัว เป็นเจ้าของธุรกิจผู้มีความรู้เรื่องการแช่แข็งอาหารแล้ว เขายังหลงใหลการตกปลาเป็นชีวิตจิตใจ จุดเปลี่ยนสำคัญคือช่วงที่เขาไปตกปลาที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ กับเพื่อนเชฟด้วยกัน และค้นพบว่าปลาท้องถิ่นของไทยนั้นมีหลากหลายสายพันธุ์แต่คนภาคอื่นๆ กลับไม่รู้จักแม้แต่น้อย

“ตอนที่ไปตกปลาก็มีเพื่อนหลายคนขึ้นเรือไปด้วย เราที่เป็นทั้งเชฟและคนตกปลาก็รู้วิธีการเสิร์ฟปลาแต่ละชนิด  เพื่อนที่ไปด้วยกันก็บอกว่า เฮ่ย นี่มันเหมือนโอมากาเสะกลางทะเลเลยนะ” จากคำพูดนั้นของเพื่อนทำให้เขายิ่งสงสัยว่าทำไมปลาคุณภาพดีและแปลกแบบนี้ถึงไม่เคยถึงโต๊ะอาหารคนกรุงและคนภาคอื่นๆ เลย

“ชาวประมงในหมู่บ้านเขาก็บอกว่าไม่ใช่ไม่เคยขายแต่ส่งไปขายแล้วมันขายต่อไม่ได้ พอเป็นแบบนี้ปลาก็เน่าเสีย มูลค่ามันเลยต่ำมากๆ เขาก็ต้องเอาปลาไปแปรรูปเป็นปลาแห้งบ้างล่ะ หนักสุดก็ส่งโรงงานทำอาหารสัตว์”

เมื่อสังคมยังไม่เปิดรับให้กับรสชาติที่หลากหลาย โอมและเพื่อนจึงตัดสินใจเปิดเพจลันตาปลาไทยที่ตั้งใจนำเสนอเรื่องราวของปลาและสัตว์ทะเลท้องถิ่นเพื่อให้คนทั่วไปรู้จัก ตั้งแต่ลักษณะ จุดเด่น กระทั่งวิธีการกินให้อร่อย ก่อนจะเปิดขายวัตถุดิบเหล่านั้น จนความรู้ความเข้าใจเรื่องปลาไทยค่อยๆ กระจายไปไกลมากขึ้น

ทำลันตาปลาไทยมาได้สักพัก โควิดเจ้ากรรมก็เข้ามาชะงักทุกธุรกิจ ด้วยความที่มีโรงงานอาหารอยู่แล้ว โอมจึงนำวัตถุดิบที่ได้จากท้องทะเลซึ่งจับแบบประมงพื้นบ้าน และเก็บรักษาความสดด้วยการฟรีซมาอย่างดี มาทำอาหารให้กับลูกค้า

“ทีนี้ลูกค้าก็ติดใจว่าทำไมไม่ทำร้านอาหารจากปลาพวกนี้ เพราะบางคนอยากกินปลาแต่ขี้เกียจทำ บ้างก็ทำไม่เป็น ผมจึงคิดว่าแหล่งวัตถุดิบอย่างลันตาปลาไทยเราก็มีอยู่แล้ว ครัวกลางอย่าง Ohm Cuisine เราก็มี เราน่าจะทำร้านอาหารที่เป็นแหล่งกระจายวัตถุดิบเหล่านี้ได้ 

“เพราะผมเป็นแค่คนตัวเล็กๆ เป็นแค่คนระบายสินค้า แต่ถ้าวันนึงคนเริ่มรู้จักชื่อปลา เริ่มกล้ากิน ดีมานด์มันก็จะมากขึ้น คนกลางก็จะกล้าเอาไปขาย ปลามันจะไม่กระจุกอยู่แค่ตลาดท้องถิ่นแต่มันจะกระจายมากรุงเทพฯ และหลายจังหวัดได้ สุดท้ายมันก็จะเกิดการกระจายรายได้ให้ชาวประมงพื้นบ้านอย่างแท้จริง”

Fishmonger สาขาแรกที่โครงการ GalileOasis ย่านบรรทัดทองจึงเกิดขึ้น

ไอเดียร้านจากขนาดพื้นที่และความตั้งใจปลายทาง

“ผมได้พื้นที่มาก่อนนะถึงจะตกตะกอนว่าขายอะไรดี ไม่ได้คิดว่าจะขายอะไรแล้วค่อยหาที่” โอมเล่าถึงพื้นที่ขนาด 27 ตารางวาที่โครงการ GalileOasis ซึ่งค่อนข้างจำกัดมาก

ด้วยพื้นที่จำกัด และความตั้งใจที่อยากสร้างความตระหนักรู้เรื่องปลาไทยให้ได้มากที่สุด คอนเซปต์ที่โอมตั้งไว้จึงต้องเป็นเมนูอาหารที่คนเข้าถึงได้ ทั้งในแง่รสชาติ ราคา รวมถึงการจัดการหลังบ้านก็ต้องไม่ยากและทำได้จริงในพื้นที่ที่จำกัด

“พาร์ตเนอร์และคนรอบตัวหลายคนบอกว่าทำไมไม่เอาไปทำซาซิมิ เอาไปทำไฟน์ไดนิง แต่เอาปลามาทอดให้เสียรสชาติ แต่ผมกลับมองว่าถ้าทำแบบนั้น คนทั่วไปก็จะยิ่งเข้าถึงปลาไทยดีๆ ไม่ได้ แถมคนไทยยังไม่ได้กินของดิบๆ ทุกวันอยู่แล้ว

“บวกกับผมมองว่าในไทยมีนักเรียนอังกฤษเยอะ แต่ร้านที่ขายฟิชแอนด์ชิปโดยเฉพาะยังไม่มี เลยคิดว่าเมนูฟิชแอนด์ชิปที่เป็นของทอดและของสุกมันน่าจะเข้าถึงคนไทยได้ง่ายกว่า”

สาขาแรกที่บรรทัดทองจึงเน้นตกแต่งให้คล้ายร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ไม่ว่าจะเป็นป้ายเมนูที่ร้าน จานอาหารที่เสิร์ฟ กระทั่งรูปแบบเมนูที่เน้นทำสะดวกและรวดเร็ว 

“บอกตามตรงว่าผมไม่มั่นใจนะว่ามันจะเวิร์ก แต่พอเปิดได้หนึ่งเดือนก็รู้แล้วว่ามาถูกทาง” 

หลังเปิดสาขาแรกได้เกือบปี Fishmonger สาขาสองที่อารีย์ก็เกิดขึ้นในคอนเซปต์ Local Seafood Bar เพื่อแก้ pain point เรื่องที่จอดรถ ขนาดครัว เพิ่มความหลากหลายของเมนู รวมถึงสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละสาขา 

“พอเราได้ที่ที่อารีย์มา หลายคนบอกว่าเราควรขึ้นราคาไหมเพราะเราอยู่อารีย์เลยนะ แต่ผมกลับคิดว่าในเมื่อเราได้ที่มาในราคาที่เหมาะสม แล้วความตั้งใจแรกของเราคืออยากให้คนเข้าถึงปลาไทยดีๆ ทำไมเราต้องขึ้นราคา 

“เอาตรงๆ ราคาเริ่มต้นที่ 210 บาทของเรา ต้นทุนมัน 50% เลย ผิดหลักการทำร้านอาหารที่ต้องใส่ต้นทุนไป 35% ราคาก็จะเริ่มที่ 300-400 บาท แต่พอเราขายราคาเท่านี้ มันทำให้เราขายได้มากขึ้น ที่สำคัญ คนเข้าถึงได้ทุกวัย

“เพราะจริงๆ อาหารพวกนี้มันเป็นอาหารธรรมดาของเขา เหมือนเราคิดอะไรไม่ออกก็กินกะเพรา ดังนั้น เราควรตั้งราคาที่มันไม่จำเป็นต้องเป็นมื้อพิเศษก็กินได้” 

ลูกค้าของ Fishmonger จึงอายุหลากหลาย ตั้งแต่ 17-70 ปี เด็กวัยรุ่นกำเงินมากับเพื่อนก็เข้าถึงปลาหลายชนิดได้ วัยทำงานมากินแล้วติดใจ ก็พาพ่อแม่กลับมาลอง บางคนมาเป็นคู่สองตายายที่กินไปยิ้มไป

วิธีคิดแบบเชฟ 

ถ้าใครเคยทานฟิชแอนด์ชิปแบบของแท้ที่อังกฤษ ประเทศที่ทานเมนูปลาชุบแป้งทอดเป็นอาหารหลักเหมือนเราทานข้าว จะรู้ดีว่าคนอังกฤษไม่ได้ทอดปลาและมันฝรั่งกรอบมาก และถ้าจะกินแบบดั้งเดิมจริงๆ ก็ต้องกินกับน้ำส้มสายชูหมักและเกลือ

แน่นอนว่าคนไทยอย่างเราๆ อาจจะเลี่ยนเกินจะกินหมด

“ผมเลยคิดสูตรแป้งและวิธีการทอดให้มันกรอบกว่าเดิม ไม่ว่าจะตัวชิ้นปลาหรือมันฝรั่งทอด เพราะคนไทยชอบความกรอบ ส่วนทาทาซอสแต่เดิมมันจะเค็มๆ มันๆ ผมก็ใส่ผักชีลาวและเพิ่มความเปรี้ยวลงไป” โอมอธิบายเบื้องหลังการพัฒนาเมนูในมุมของเชฟให้ฟัง

“ปลาเมืองนอกเขาได้เปรียบเรื่องความฉ่ำความมันเพราะปลาเมืองหนาวมีไขมันเยอะ แต่ผมไม่ได้กังวลหรอก เพราะเราก็อาศัยความมันจากตัวมายองเนสได้” 

จากการชิมทั้งเมนูหลักอย่างฟิชแอนด์ชิป สลัดปลาย่าง และสารพัดเมนูปลาที่สาขาอารีย์ ขอบอกว่าเนื้อปลายังคงฉ่ำและนัว ทั้งที่ไขมันปลานั้นน้อยกว่าปลาแฮดด็อกหรือปลาค็อดที่เราเคยกิน

“ปลาเมืองไทยมันได้เปรียบตรงมีเป็นปลาเป็นพันๆ ชนิด มันเลยนำไปทำเมนูได้หลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนด้วย แต่ในมุมเชฟ ผมก็จะรู้ว่าปลาตัวนี้มันควรจะตัดหนังออก เพราะพอหนังหนาแล้วเนื้อปลามันจะม้วนเวลาทอด หรือถ้าปลาเนื้อเด้งหน่อย ผมก็จะชอบเอาไปทำเบอร์เกอร์ เวลากัด มันจะได้ไม่ยวบไปหมด ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่มีผิดถูก ขึ้นกับว่าใครชอบเนื้อและรสแบบไหนมากกว่า” เขาอธิบาย

หัวใจของการทำร้านอาหารคือระบบหลังบ้านที่ดี

แม้โอมจะบอกว่าระบบหลังบ้านของ Fishmonger ไม่ซับซ้อนและทำง่ายกว่าการเปิดร้านอาหารสไตล์อื่น แต่ความไม่ซับซ้อนที่ว่าก็แลกมาด้วยความยุ่งยากตั้งแต่ที่โอมและเพื่อนก่อตั้งเพจลันตาปลาไทยขึ้นมาแล้ว

“ก่อนผมเข้าไป ชาวบ้านเขาไม่มีความรู้เรื่องการเก็บรักษา ปกติเขาจะเอาถังน้ำแข็งขึ้นไปบนเรือ แต่เขาไม่ได้ใส่น้ำแข็ง แล้วปลาที่เพิ่งกินเหยื่อมาเจอกับอากาศเมืองไทย แป๊บเดียวข้างในมันก็เริ่มเน่าแล้ว” โอมเล่าเรื่องหักมุมที่เราเองอยากรู้ตอนต่อไป

“ผมเลยเริ่มสอนตั้งแต่วิธีการเก็บรักษา ตอนแรกก็เริ่มจากให้เขาใส่น้ำแข็งลงในกระติกก่อน พอยอมทำ ผมก็เริ่มสอนว่าเขาควรจะเรียงปลาแบบไหน ลังหนึ่งไม่ควรเกินกี่กิโล พอเริ่มทำได้ ก็บอกให้เขาเอาปลาใส่ถุงเพื่อไม่ให้ปลาโดนน้ำแข็งโดยตรง 

“จากนั้นก็ให้ติดแท็กว่าปลาอะไรน้ำหนักเท่าไหร่ ค่อยๆ ปรับกัน 2 ปีถึงจะมีบางที่ที่เขาสามารถทำเทคนิคอิเคจิเมะแบบญี่ปุ่นได้” เทคนิคอิเคจิเมะที่ว่าเป็นเทคนิคดั้งเดิมของชาวประมงญี่ปุ่นทีี่ช่วยเก็บความสดใหม่ของปลาเอาไว้

ปลาของลันตาปลาไทยและปลาของ Fishmonger จึงมีทั้งปลาที่ฟรีซด้วยวิธีธรรมชาติทั่วไป และปลาที่ทำด้วยเทคนิคอิเคจิเมะ ซึ่งราคาปลายทางของการเก็บรักษาทั้งสองแบบจะต่างกัน 

“ปลาที่ผมเอามาทำใน Fishmonger จะตายไม่เกิน 48 ชั่วโมงก่อนนำมาตัดแบ่งและแช่แข็งซึ่งจะอยู่ได้นาน 6 เดือน ถามว่ามันมีปัญหากับความเข้าใจของคนที่มองว่าเราเอาปลาแช่แข็งมาขาย แทนที่จะเป็นปลาสดไหมก็มี

“ผมตั้งใจสื่อสารตั้งแต่เปิดร้านและออกรายการแรกๆ อยู่แล้วว่าปลาของผมแช่แข็งมานะ เพราะจริงๆ แล้ว การแช่แข็งมันมีหลายแบบ และมันเป็นวิธีถนอมอาหารที่ดีที่สุด มันยังง่ายต่อการจัดการ ถ้าผมใช้ปลาสดราคามันก็คงจะแพงกว่านี้”

แต่ตั้งแต่เปิด Fishmonger ขึ้นมา รสชาติและความฉ่ำของเนื้อปลาก็ไขข้อข้องใจให้ลูกค้าได้ทั้งหมด

“สุดท้ายแล้วกินปลาแช่แข็งธรรมชาติ กับปลาที่กำลังจะเน่า แบบแรกมันย่อมดีกว่าอยู่แล้ว แล้วพอเราทำรสชาติออกมาดี ความฉ่ำของเนื้อปลาก็ยังไม่ได้หายไปเพราะตัวแป้งมันเคลือบเนื้อไว้ ก็ไม่มีลูกค้าคนไหนที่ไม่เข้าใจเจตนาของเรา” เขาอธิบาย

ทั้งหมดนี้สะท้อนความคิดในการทำร้านอาหารของโอมว่าการจัดการระบบหลังบ้าน ตั้งแต่การจัดเก็บวัตถุดิบไปจนถึงโฟลว์การทำอาหารนั้นสำคัญไม่แพ้รสชาติและความสวยงามของสถานที่ เพราะระบบหลังบ้านที่ดีมีผลต่อการอยู่รอดของร้านเช่นกัน

“ตั้งแต่ทำ Ohm Cuisine ผมไม่ได้แค่ขายอาหารแช่แข็งให้คาเฟ่ต่างๆ แต่ผมเข้าไปช่วยดูเรื่องโอเปอเรชั่นโดยไม่คิดเงินเพิ่ม เพราะคิดว่าถ้าเขาทำโอเปอเรชั่นไม่ดี สุดท้ายเขาไม่รอด ผมก็ต้องหาลูกค้าใหม่ การจัดการระบบหลังบ้านจึงสำคัญมากในธุรกิจอาหาร”

เป้าหมายคือการนำเสนอปลาไทยให้ได้มากที่สุด

“ปกติพี่เขาต้องตะบี้ตะบันวนเรือเพื่อหาแต่ปลาที่คนชอบ ซึ่งวนทั้งวันมันก็อาจจะไม่ได้ พอคนมันแย่งกันจับราคามันก็เฟ้อเกิน ส่วนปลาบางชนิดมีเต็มท้องทะเลเลย แต่กลับขายได้กิโลฯ ละแค่ 30 บาท เขาก็เลือกไม่จับเพราะไม่คุ้มค่าน้ำมัน

“หลักการเลือกปลาของผมเลยคือทุกคนแย่งซื้อปลาเก๋า ปลาอินทรีย์ ปลากะพงกันใช่ไหม งั้นผมรับปลาตามฤดูกาลทุกชนิดเลย แถมรับด้วยราคาที่เป็นธรรมด้วย ขอแค่ได้ขนาด ไม่จับปลาเล็กกว่าที่ควรจะเป็น”

หรือปลาบางชนิดผมก็ไม่รับ เช่น ผมชัดเจนว่าผมไม่เอาปลานกแก้ว แม้ตามหลักแล้วจะไม่ได้ผิดกฎหมายทุกจังหวัด แต่ผมรู้สึกว่ามันอยู่ในทะเลแล้วสวยกว่า ผมก็ไม่เอา”

ทั้งหมดนี้โอมตั้งต้นหลักการจากความจริงที่ว่าปลาทุกตัวมีคาแร็กเตอร์ที่ต่างกัน ปลาที่หลายคนนิยมอาจจะไม่ใช่ปลาที่บางคนชอบก็ได้ เช่นลูกค้าบางคนกลับชอบปลาที่ราคาถูกที่สุดอย่างปลาสำลี มากกว่าปลากะพงเสียอีก

“ขนาดวัวตัวเดียวกัน บางคนยังชอบกินสันใน บางคนชอบกินสันนอก บางคนชอบใบพาย ดังนั้นถึงคนจะกินเมนูเดิมแต่รสชาติที่ได้จากปลา 100 ชนิดมันก็ไม่มีทางเหมือนกัน เพราะเชื่อไหมว่าปลาบางชนิดยังรสชาติเหมือนหมูเหมือนไก่เลย” 

เป้าหมายว่าสาขาแรกจะต้องเสิร์ฟปลาได้ 100 ชนิดของโอมทะลุเป้าไปแล้ว ตอนนี้เขากำลังตั้งเป้าต่อไปว่าจะสามารถนำพาปลาไทยให้คนรู้จักได้อีกกี่ร้อยชนิด

 ประมงพื้นบ้านคือหลักการที่ยึดถือ

“ตอนทำเพจลันตาปลาไทยไปได้สักพัก ผมเอาปลาไปให้เพื่อนที่ขายข้าวต้มปลาลองใช้ ปรากฏเขาบอกว่ามันอร่อยกว่าปลาที่เขารับมา ถามว่าทำไมมันต่าง ก็เพราะวิธีการจับปลาที่แตกต่างกัน”

นอกจากชนิดของปลาที่โอมยึดเป็นบรรทัดฐาน อีกสิ่งที่โอมปวารณาตนตั้งแต่วันแรกที่ทำเพจลันตาปลาไทย คือปลาที่จะรับมาจากท้องทะเลต้องเป็นปลาจากประมงพื้นบ้านที่ดีกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเท่านั้น

โอมเล่าว่าประมงพื้นบ้านที่เขายึดมั่น เป็นประมงเรือเล็กที่จับปลาวันต่อวัน ต่างจากประมงพาณิชย์ที่ออกจากฝั่งครั้งละ 15-30 วัน ทำให้ประมงพื้นบ้านได้เปรียบเรื่องความสด นอกจากนั้นประมงพื้นบ้านยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าด้วย

“ประมงเชิงพาณิชย์มีหลายแบบแต่แบบที่อันตรายที่สุดคือประมงเรือคู่ คือเขาจะมีเรือสองลำ แล้วเอาตาข่ายลงไปถึงหน้าดิน กวาดเอาทุกอย่างขึ้นมาหมด รูตาข่ายมีขนาดตามกฎหมายกำหนดก็จริง แต่รูมันเล็กลงเรื่อยๆ เพราะใบไม้ปิด จนเอาสัตว์ทะเลทุกชนิดขึ้นมา 

เรียกว่ากว่า 70% ของสิ่งที่จับได้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการซึ่งถ้าอยากจะเลือกและปล่อยสัตว์เหล่านั้นลงทะเลก็ช้าเกินไป เพราะกว่าจะคัดเลือกเสร็จ เหล่าสัตว์ทะเลตัวน้อยใหญ่ก็จากโลกนี้ไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น การลากตาข่ายแต่ละครั้งยังส่งผลต่อปะการังที่เป็นบ้านของสัตว์ทะเลหลายชนิด

“ผมเลยชัดเจนว่าจะเน้นประมงพื้นบ้านที่ใช้อุปกรณ์ที่ดีกับธรรมชาติ เพื่อความสด เพื่อความยั่งยืน” เขายืนยัน

ก้าวต่อไปของคนขายปลาที่คิดใหญ่และทำได้จริง

จริงๆ เปิดสาขาแรกไปได้แค่เดือนเดียวผมก็มั่นใจแล้วเพราะผลการตอบรับดี ขนาดที่มีลูกค้ามากางโน้ตบุ๊กคุยกับผมเลยว่าวันนี้มีปลาชนิดนี้ใช่ไหม เขาไปทำการบ้านมาแล้วนะว่ามันหน้าตาเป็นแบบไหน รสชาติยังไง” โอมเล่าความภูมิใจของการทำ Fishmonger ให้เราฟัง ก่อนจะเล่าความภูมิใจข้อที่สองต่อว่า

“พอร้านมันมีชื่อเสียงขึ้น ลันตาปลาไทยที่ซัพพอร์ตเรื่องวัตถุดิบก็มีชื่อเสียงมากขึ้นไปด้วย เพื่อนที่ทำงานราชการเขาไปประชุมกับกรมประมง ก็มีการพูดถึงลันตาปลาไทยว่าประมงพาณิชย์น่าจะปรับใช้อุปกรณ์พื้นบ้านในกระบวนการจับเพื่อเพิ่มคุณภาพและสร้างความยั่งยืนให้ทะเลมากกว่านี้”

การทำร้านสารพัดเมนูปลาทั้งสองสาขาขึ้นมาจึงเป็นเครื่องยืนยันว่าความฝันที่โอมตั้งไว้และตั้งใจคงไม่ไกลเกินเอื้อม

“มันทำให้ผมเข้าใจว่าที่จริงคนสนใจปลาไทยนะ เพียงแต่ก่อนหน้านี้เขาไม่รู้จะไปลองที่ไหน ถึงมีให้ลองก็แพงเกินที่คนชนชั้นกลางจะกินไหว ผมเลยตั้งใจว่าอยากจะรับซื้อปลาในราคาที่สูงขึ้นและสอนให้เขาถนอมวัตถุดิบให้มีคุณภาพมากขึ้นไปอีก 

“เพราะถ้าปลาชนิดเดิมขายได้ราคาสูงขึ้นจากการถนอมให้ดีขึ้น ชาวประมงก็จะมีรายได้สูงขึ้นแต่จับเท่าเดิม ส่วนผมก็จะมีสินค้าคุณภาพส่งให้ลูกค้าได้กินปลาดีๆ คนก็รู้จักปลาไทยมากขึ้น ท้องทะเลก็จะเสียทรัพยากรน้อยลง ผมว่ามันวินตลอดเส้นทาง” เขาบอกเป้าหมายต่อไปที่ Fishmonger อยากไปให้ถึง

What I’ve Learned

  • หุ้นส่วนเยอะนั้นดีตรงที่เราสามารถดึงฐานลูกค้าของแต่ละคนมาได้ แต่ข้อเสียก็คืออาจทะเลาะกันได้ ดังนั้นจึงต้องรู้จักแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจนว่าใครทำเรื่องอะไร และแต่ละตำแหน่งจะต้องมีเงินเดือนชัดเจน โดยเฉพาะตำแหน่งที่ต้องทำงานตลอดเวลาอย่างบัญชีและโซเชียลมีเดีย 
  • คิดก่อนทำเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ถ้าคิดแล้วไม่เริ่มทำมันก็ไม่เกิดสักที เพราะสุดท้ายแล้วการทำธุรกิจมันไม่มีคำว่าพร้อมหรือไม่พร้อม เราต้องทำไป แก้ไขไป ปรับปรุงไป ที่สำคัญ อย่าผิดซ้ำเรื่องเดิม
  • ถ้าทำธุรกิจร้านอาหาร คุณต้องเตรียมใจไว้ว่าธุรกิจนี้มันมีปัญหาอยู่ตลอดเส้นทางตั้งแต่เรื่องก่อสร้าง หาคน พอเปิดหน้าร้านจริงๆ มันจะเจอหมด น้ำไม่ไหล ไฟดับ ขยะเต็ม เราต้องแก้เกมให้เร็วที่สุด 
  • สถานที่ที่สวยงามน่าถ่ายรูปมันเหมือนประตูบานแรกให้คนอยากรู้จักเรา แต่ถ้าอยากทำธุรกิจอาหารให้ยั่งยืนมันต้องกลับมาที่สินค้าว่ามันคุ้มค่ากับเงินที่เขาเสียไปไหม ไม่อย่างนั้นคนเขาก็จะมาเช็กอินแค่ครั้งสองครั้งแล้วก็หายไป 
  • ก่อนจะเปิดร้านอาหารสักร้าน สิ่งที่ต้องทำคือการดู feasibility หรือความเป็นไปได้และความจริงว่าเราลงทุนไปแล้วมันจะคุ้มค่าไหม ต้องดูตั้งแต่โลเคชั่นร้าน จำนวนคนหลังบ้าน ราคาอาหาร ยิ่งถ้าจะขายเดลิเวอรีหรือเข้าห้างยิ่งต้องดูว่าถ้าต้องแลกกับค่า GP คุณจะเหลือเท่าไหร่แล้วมันคุ้มแค่ไหน
  • ตัวชี้วัดว่าคุณเปิดสาขาที่ 2 ที่ 3 ได้หรือยังคือระบบหลังบ้านคุณพร้อมหรือเปล่า ทีมงานสามารถรันงานกันเองได้ไหม เพราะก่อนหน้านี้มีคนขอซื้อแฟรนไชส์ มีคนติดต่อเข้าห้างเยอะมาก แต่ว่าผมก็ไม่ไปเพราะระบบหลังบ้านมันต้องโตไปด้วย ซึ่งผมเองไม่ได้อยากโตเร็ว ผมอยากจะไปแบบยั่งยืน อยากจะไปทั้งซัพพลายเชน 
ข้อมูลติดต่อ :
Facebook : Fishmonger
Instagram : fishmonger.bkk
Line : @fishmonger  

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like