What’ Next in e-Commerce 

เทรนด์ e-Commerce ปี 2566 หมดยุคเผาเงิน เน้นทำกำไร สินค้าจีน และ affiliate marketing มาแรง

ใน 1 ปีที่ผ่านมา คุณกดซื้อของ ช้อปปิ้งออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ไปทั้งหมดกี่ครั้ง

ใน 1 เดือนที่ผ่านมา คุณซื้อสินค้าตามเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ไปเยอะแค่ไหน

ใน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา คุณเข้าแอพฯ กดสั่งอาหาร และใช้บริการเรียกรถ ถี่แค่ไหนกัน

เราเชื่อว่าคำตอบส่วนใหญ่ที่ได้คงไม่ต่ำกว่า 10 ครั้งแน่ๆ เพราะการทำธุรกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปแล้ว e-Commerce เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอย่างคุ้นชิน และกำลังนำไปสู่เทรนด์ใหม่ๆ ที่ไม่สามารถใช้ตำราการทำธุรกิจแบบเดิมได้อีกต่อไป

ปี 2566 ที่กำลังมาถึงนี้ อุตสาหกรรม e-Commerce จะเกิดการเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง เราชวน ป้อม–ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด และผู้ก่อตั้ง TARAD.com ที่ใครหลายคนเรียกเขาว่าเจ้าพ่อ e-Commerce มาสรุปและมองเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นให้ฟัง โดยเขามั่นใจว่า เทรนด์ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้มาแน่ ทั้งสินค้าจีนบุกไทยเต็มสูบ หมดยุคเผาเงินของเหล่า e-Marketplace และหันมาเร่งทำกำไรแข่งกัน รวมทั้งการเกิดขึ้นของซูเปอร์แอพฯ ของเหล่าบรรดาผู้ให้บริการเดลิเวอรี

สิ่งสำคัญนอกจากจะรู้ว่าเทรนด์ไหนกำลังมา คือผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้บริโภคต้องปรับตัว พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง และหาโอกาสใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ

มูลค่าการค้าออนไลน์ขยับขึ้นอีกครั้ง

เราอาจเห็นผู้คนปรับพฤติกรรมไปสั่งซื้อของออนไลน์ สั่งเดลิเวอรีมากขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติ และน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ตลาด e-Commerce โต แต่นั่นอาจถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะหากมองทั้งอุตสาหกรรมแล้วมูลค่าตลาด e-Commerce ลดลงจากสถานการณ์โควิด-19

ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่า มูลค่า e-Commerce ปี 2563 อยู่ที่ 3.78 ล้านล้านบาท ส่วนปี 2562 อยู่ที่ 4.05 ล้านล้านบาท 

“แม้ว่าอุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่งยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่สาเหตุหลักเกิดจากตัวเลขของ e-Commerce ประเทศไทยครึ่งหนึ่งมาจากการท่องเที่ยว การเดินทาง สายการบิน และการผลิตต่างๆ เมื่อมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด ไม่มีการเดินทางท่องเที่ยว จึงส่งผลกระทบทำให้ภาพรวมมูลค่า e-Commerce ไทยลดลง”

จากการที่ไทยเริ่มเปิดประเทศมาได้สักระยะก็ทำให้ตัวเลข e-Commerce เริ่มฟื้นตัวกลับมา ภาวุธมั่นใจว่า ปี 2566 มูลค่า e-Commerce ของไทยน่าจะกลับเป็นบวกแบบเต็มที่ และเติบโตแบบก้าวกระโดด ประกอบกับโมเมนตัมของธุรกิจเข้าสู่ออนไลน์เต็มรูปแบบแล้ว

e-Marketplace : The End of War

หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน เชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้จัก และไม่เคยใช้บริการ e-Marketplace ทั้ง Lazada และ Shopee ด้วยซ้ำ ระหว่างทางทั้ง Lazada และ Shopee ปี้ทุ่มตลาดใช้เม็ดเงินลงไปกับการทำโปรโมชั่น นำเสนอบริการต่างๆ ให้คนไทยรู้จักและใช้งานมากขึ้น

ภาวุธบอกว่า สิ่งที่ทำมาตลอดหลายปีนั้นได้ผล ยิ่งพอมาเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ผู้คนก็ยิ่งคุ้นเคยกับการซื้อของออนไลน์จนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่ตอนนี้สงครามของการใช้เงินมาถล่มกันเริ่มลดน้อยลง และบรรดา e-Marketplace ต่างๆ กำลังเริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนโหมดตัวเอง

จากที่เน้น growth โดยการใช้เงินลงทุนทำให้ตัวเองเติบโต ก็เริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองสู่ธุรกิจเพื่อทำกำไรอย่างชัดเจน Lazada เก็บค่าบริการมากขึ้น ส่วน Shopee ก็ลดคน ปิดบริการที่เพิ่งเปิดไม่นาน และโฟกัสการทำกำไรมากขึ้นกว่าเดิม

“Lazada ทำกำไรได้แล้ว เป็นการทำกำไร 2 ปีติดกัน และการที่เขาทำกำไรได้แล้ว เขาใช้เงินในการทำการตลาดน้อยลง เริ่มโฟกัสที่การสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น เห็นได้ชัดจากที่เริ่มมีการเก็บเงินจากลูกค้าและร้านค้าเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการปรับเพิ่มค่าบริการมากขึ้น และหากมองภาพรวมธุรกิจของ Lazada ที่ยังมีบริการทั้ง Lazada Pay, Lazada Express หรือบริการด้านดิจิทัลอื่นๆ จะพบว่ารายได้ทั้งหมดของกลุ่ม Lazada ในปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 38,000 กว่าล้านบาท มีกำไรประมาณ 3,200 กว่าล้านบาท”

“Shopee ยังขาดทุนอยู่ ปี 2564 Shopee ขาดทุนประมาณ 4,900 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนสะสมติดต่อกันมา 7 ปี เห็นได้ชัดว่าปีที่แล้ว Shopee มุ่งเน้นการเติบโตทางธุรกิจมากกว่าการทำกำไร แต่ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมามีการปรับโครงสร้างเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจค่อนข้างถดถอย ทำให้ Shopee มีปัญหาเรื่องการระดมเงินจากนักลงทุน Shopee เริ่มเน้นกลยุทธ์การทำกำไรมากขึ้น เริ่มจากการลดคน ปิดบริการในแต่ละประเทศที่ไม่ทำกำไรหรือเพิ่งดำเนินการ พร้อมกลับมาโฟกัสที่การทำกำไรแทน สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ งบประมาณในการทำการตลาดของ Shopee ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วง 11.11 ที่ผ่านมา”

นั่นเป็นสัญญาณว่าทุกเจ้าจะลดงบการตลาด การทำคูปองจะน้อยลง การลดราคาจะลดลง งบที่ใช้จะยังมีอยู่แต่จะไม่ใช่จาก e-Marketplace แต่จะเป็นงบที่เรียกเก็บจากบรรดาร้านค้าที่มาใช้บริการทั้งสิ้น ส่งผลให้ร้านค้าขายของได้น้อยลง และกำไรไม่ได้ดีเท่าเดิม

ที่สำคัญ e-Marketplace ในไทย กลายเป็นสมรภูมิการแข่งขันของต่างชาติเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะคู่แข่งอีกรายอย่าง JD Central กลุ่มเซ็นทรัลได้มีการถอนตัวออกจาก JD.com และในฟากของ JD ในประเทศไทยก็จะมีการถอนตัวจากตลาดประเทศไทยและอินโดนีเซียแล้ว แม้จะมีแพลตฟอร์มของไทยอย่าง Shop24 ในเครือ CP All ที่ยังทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องก็ตาม

“ความน่ากลัวคือ infrastructure ไม่ใช่ของไทย เวลาที่เราจะพัฒนาอะไรขึ้นมาเพื่อรองรับกับพฤติกรรมคนไทยมันอาจจะไม่ได้อินขนาดนั้น พอเป็นของต่างชาติหมดแบบนี้ และคนไทยเป็นเพียงผู้ใช้ธรรมดา ในระยะยาวอาจไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ในอนาคตธุรกิจเชื่อว่าจะเป็นแบบ multi-national มากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องย้อนกลับมาถามว่าเราจะเป็นแค่ผู้ใช้หรือผู้ให้บริการ”

ผู้เล่นไทยจะไม่ได้เป็นแค่ผู้ใช้อย่างเดียวได้ยังไง คำตอบคือมายด์เซตในการทำธุรกิจ เพราะนักธุรกิจเมืองไทยไม่สามารถทนกับการขาดทุนเป็นระยะเวลานานๆ ได้เหมือนต่างชาติ

“ต้องบอกว่าคนไทยยังมีมายด์เซตแบบเก่าที่ลงทุนและหวังผลกำไรในระยะสั้น แต่สำหรับต่างชาติ เขาลงทุนและมองผลกำไรที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ยอมขาดทุนหลายหมื่นล้านก่อนก็ได้ คำถามคือหากให้เจ้าสัวเมืองไทยมาขาดทุนเป็นหมื่นๆ ล้าน เขาคงไม่เอา และถามว่าทำไมต่างชาติถึงมาลงทุนได้ เพราะมันคือเกมของนักลงทุนที่ยอมทุ่มตลาดเพื่อให้เป็นเบอร์หนึ่งได้ เป็นมายด์เซตใหม่ที่ในไทยยังไม่ค่อยมีแนวคิดนี้เท่าไหร่”

สินค้าจีน is very coming

e-Marketplace เป็นหัวใจในการขายของของใครหลายๆ คน แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าใน e-Marketplace เป็นที่ที่สินค้าจีนกำลังบุกไทยเต็มสูบ 

จากเดิมที่สินค้าส่งจากจีนมาไทยใช้เวลา 7-10 วันหรือมากกว่านั้น  แต่ตอนนี้แค่กดสั่งไม่กี่วันของก็มาถึง เพราะผู้ผลิตผู้นำเข้าสินค้าจีนต่างยกขบวนมาตั้ง warehouse ในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว

“ผมเคยพูดว่าสินค้าจีนจะมาบุกไทยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว วันนี้เป็นจริงแล้ว ช่วงหลายปีที่ผ่านมาไทยมีผู้ให้บริการนำสินค้าจากจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก infrastructure ของจีนเริ่มเชื่อมต่อเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะทางรถ ทางราง ทางน้ำ เอื้อต่อผู้ให้บริการสามารถส่งสินค้าจากจีนเข้ามาไทยได้ในไม่กี่วัน แต่ตอนนี้ผู้ผลิตผู้นำเข้าสินค้าจีนต่างยกขบวนมาตั้ง warehouse ในประเทศไทยในพื้นที่รอบๆ กรุงเทพฯ และเริ่มใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางที่จะขายสินค้าตรง จากสินค้าใน warehouse ในไทยตรงสู่ผู้บริโภค”

การที่ผู้ผลิตต้นทางมาตั้ง warehouse นั้นทำให้ราคาสินค้าของจีนถูกลงมากๆ แม้อาจจะดีกับผู้บริโภคที่ได้ซื้อ ได้ใช้สินค้าราคาไม่แพง แต่ในทางกลับกันกลายเป็นความเสียเปรียบของฝั่งผู้ประกอบการ ร้านค้าที่เป็นคนไทยเองที่จะผลิตสินค้าต้องมีมาตรฐานการ การควบคุมคุณภาพให้ผ่านมาตรฐาน มอก.หรือ สคบ. ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ไข

“สินค้าจีนที่เข้ามาก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย มีการเสียภาษี ผ่านขั้นตอนชัดเจน แต่ก็มีบางส่วนที่ยังผิดกฎหมาย นำเข้ามาค้าขายในโลกออนไลน์ โดยไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบหรือขออนุญาตตามมาตรฐานของไทยที่หาซื้อได้ใน e-Marketplace จากที่ไม่ผ่านมาตรการต่างๆ ก็ทำให้มีต้นทุนถูกลง ทำให้สามารถนำสินค้าเข้ามาเป็นจำนวนมากๆ ผู้ประกอบการไทยหลายคนปิดกิจการไปเพราะเหตุนี้”

“หรือแม้กระทั่งไปเดินสำเพ็ง เสือป่า แต่ก่อนเจอร้านที่เป็นของคนไทย แต่ตอนนี้กลับเจอแต่ร้านคนจีน กลายเป็นว่าเราเจอระบบนิเวศคนจีนซ้อนอยู่ในระบบนิเวศของคนไทยอีกที มันอาจจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนอันใหม่ก็ได้”

On-Demand Commerce ฟู้ดเดลิเวอรีต้องมีมากกว่าแค่ส่งอาหาร

สงคราม e-Marketplace จบลง แต่การแข่งขันของ On-Demand Commerce หรือพวกแพลตฟอร์มเดลิเวอรีกำลังเริ่มต้นขึ้น ต้องเริ่มเปลี่ยนตัวเองให้มีมากกว่าแค่บริการส่งอาหาร ช่วงที่ผ่านมาเราเห็นผู้ประกอบการหลายรายเริ่มออกบริการใหม่ๆ มากขึ้น และในปีหน้าจะแข่งขันกันเยอะกว่าเดิม และจากแค่แอพฯ เดลิเวอรี จะกลายเป็น Super App กันมากขึ้น

Grab ครองส่วนแบ่งตลาดมากสุด ไม่ได้มีแค่บริการส่งอาหารและบริการเรียกรถ แต่ยังมีทั้ง GrabMart, GrabHome, GrabTukTuk

Robinhood ที่มีจุดเด่นด้วยการไม่เก็บค่า GP ไม่มีค่าสมัครสมาชิก และมีบริการบางอย่างที่ดีกว่ารายอื่น ทำให้ร้านค้าหลายร้านหันมาขายผ่าน Robinhood เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน Robinhood ก็เริ่มมีการขยายธุรกิจ มีบริการจองโรงแรม บริการซื้อของ และบริการใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามาเร็วๆ นี้ โดยมีโมเดลการทำกำไรจากการขายโฆษณาและบริการอื่นๆ

LINE MAN ที่ควบรวมกิจการบริษัทกับ Wongnai กลายเป็น LINE MAN Wongnai มีการขยายบริการทั่วประเทศมากขึ้น และการขยับตัวที่น่าสนใจกับข่าวลือที่จะซื้อ foodpanda ประเทศไทย หากเป็นจริงและเจรจาซื้อกิจการสำเร็จ LINE MAN Wongnai จะขึ้นแท่นแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีเบอร์ 1 ในไทยทันที และน่าจะกระทบกับผู้บริโภคไม่น้อย

“การร่วมกัน การซื้อกิจการแน่นอนว่าตลาดจะเล็กลง การแข่งขันจะเหลือแค่ Grab, LINE MAN และ Robinhood ซึ่งก็เหมือนกับตลาดโอเปอเรเตอร์ที่หากมีผู้เล่นน้อยราย การฟาดฟันก็จะน้อยลงตาม พอทางเลือกน้อยลงย่อมกระทบกับผู้บริโภคแน่ๆ”

บริการการเงินออนไลน์ หัวใจสำคัญผลักดันให้ e-Commerce เติบโตมากขึ้น

Digital Financial Services คือบริการทางการเงินดิจิทัลการเงินทางออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น ผู้ให้บริการเหล่านี้จะไม่ใช่ธนาคาร หรือที่เรียกว่า non-bank เช่น บริการรับชำระเงิน, บริการกู้เงินทางออนไลน์, บริการประกันออนไลน์, บริการดูแลความมั่งคั่ง ดูแลสินทรัพย์ออนไลน์ หรือการโอนเงินออนไลน์ โอนเงินต่างประเทศ แนวโน้มการใช้บริการ digital financing เหล่านี้เริ่มมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันให้ e-Commerce ของประเทศไทยเติบโตมากขึ้น

“บริการทางการเงินออนไลน์กำลังเติบโต มากินส่วนแบ่งในบริการของธนาคารมากขึ้น อย่าง Grab, Shopee, Lazada  ที่มีบริการใช้ก่อนจ่ายที่หลังแบบ Buy Now, Pay Later ซึ่ง Food Panda หรือ Lazada เริ่มมีการให้บริการทางการเงินให้กับคู่ค้ามากขึ้น” 

short video commerce มาแล้ว และการเกิดการแข่งขันในแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่

“ปฏิเสธไม่ได้ว่า TikTok คือผู้ปลุกกระแสวิดีโอสั้น ทำให้โซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้ง Youtube, Facebook และ Instagram กระโดดลงมาแข่งขัน หรือแม้แต่ผู้ให้บริการอย่าง Line ก็ลงมาแข่งในสนามวิดีโอเช่นกัน“

ดังนั้นกลยุทธ์ที่จะมาดึงดูดผู้บริโภคจะไม่ใช่แค่ทำมาเพื่อให้บริการเพียงอย่างเดียว แต่มีบริการอื่นของ e-Commerce เช่นการเปิดร้านค้าเข้ามาเสริมให้สั่งซื้อสินค้าผ่านผ่านแพลตฟอร์มได้เลย

และนำมาซึ่งเทรนด์ในการแข่งขันของแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ที่ทุกเจ้ามี ecosystem รองรับ และส่งเสริม e-Commerce มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้ากระโดดข้ามไปใช้บริการของคู่แข่ง

Facebook มี Facebook Shop, Facebook Live, Facebook Marketplace, Facebook Messenger

Line มี Line Chat, Line OA, Line Shop, Line Pay

TikTok มี TikTok Video, TikTok Ads, TikTok Shop 

โฆษณาออนไลน์ที่มีทางเลือกมากขึ้น

จากที่ทั้งแบรนด์ เจ้าของกิจการมักจะเลือกโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กเป็นอันดับต้นๆ เพราะเข้าถึงผู้คนได้มาก แต่ปัจจุบันผู้โฆษณา พ่อค้าแม่ค้าหันไปทางเลือกอื่นแทน ด้วยเหตุผลที่การโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กประสบปัญหาของการได้ผลลัพธ์ที่น้อยลงและมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

“เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งอย่าง TikTok ผู้คนเห็นแล้วว่าการโฆษณาให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า แนวโน้มที่เกิดขึ้นคือ แบรนด์และผู้โฆษณาเริ่มเปลี่ยนไปโฆษณาผ่าน TikTok เพิ่มมากขึ้น และใช้เม็ดเงินกับเฟซบุ๊กน้อยลง รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อเสริมให้ลูกค้าขายของได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน”

เพราะฉะนั้นในปีหน้าการทำการตลาดออนไลน์โดยเฉพาะเรื่อง performance marketing จากที่จะอยู่กับเฟซบุ๊กเป็นหลัก เราจะได้เห็นการกระจายไปยังหลากหลายช่องทาง หลากแพลตฟอร์มมากขึ้น นั่นก็หมายความว่า คนที่เหนื่อยมากขึ้นคือบรรดาพ่อค้าแม่ค้า เจ้าของกิจการที่ต้องบริหารช่องทางเพื่อเข้าถึงลูกค้าให้ได้ดีกว่าเดิม

การตลาดผ่านการบอกต่อยังได้ผล

คำที่ว่า ยุคนี้ลูกค้าไม่เชื่อในสิ่งที่แบรนด์พูด แต่เชื่อในเรื่องการบอกต่อ และการีวิว ยังคงเป็นจริงเสมอ ทำให้การทำการตลาดแบบ affiliate marketing หรือการตลาดผ่านการบอกต่อ กำลังเป็นเทรนด์ที่มีการเติบโตอย่างมาก แพลตฟอร์มอย่าง TikTok, Shopee, Lazada เริ่มมีการผลักดันบริการดังกล่าวมากขึ้น และเชื่อว่าในปีหน้าจะมีอีกหลากเจ้าลงมาทำการตลาดผ่านการบอกต่อเช่นกัน

ภาวุธอธิบายว่าเพราะคนเริ่มเป็นอินฟลูเอนเซอร์มีฐานลูกค้าตัวเองมากขึ้น ทำให้เรามีความสามารถบอกต่อสินค้าไปยังกลุ่มเพื่อนๆ และเราเองสามารถได้ส่วนแบ่งกำไรเมื่อเพื่อนที่เราบอกต่อกดซื้อสินค้าผ่านลิงก์และทำการสั่งซื้อสินค้าชิ้นนั้นๆ  

 “MarErce” = MarTech + e-Commerce

จากเมื่อก่อนคนทำการตลาดจะเน้นเรื่องการตลาด และคนค้าขายออนไลน์ก็เน้นเรื่องการขาย แต่ปัจจุบันจะไม่ใช่วิธีการแบบเดิมอีกต่อไป เพราะปัจจุบันมาร์เกตติ้งกับ e-Commerce ถูกผสานรวมเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ 

“ผมเรียกมันว่า MarErce คือคำว่า MarTech + e-Commerce  ผู้ให้บริการด้าน MarTech ก็จะเริ่มมีแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่การทำการตลาดเท่านั้น แต่จะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยทำให้เกิดออร์เดอร์ เกิดการซื้อ-ขาย และเมื่อเกิดการขายแล้ว ทางฝั่ง MarTech จะเริ่มนำเทคโนโลยีย้อนกลับไปทำ CRM หรือ retention เพื่อทำให้ลูกค้าเกิดการซื้อซ้ำต่อไปอีกที ฉะนั้นใครที่ปรับตัวไม่ได้อันนี้เริ่มน่ากลัว เพราะต่อไปมันจะ automate มากขึ้น และเริ่มเข้ามาถึงกลุ่ม SME มากขึ้น”

ดังนั้น มาร์เอิร์ซ (MarErce) จะเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการซื้อ-ขายแบบ direct-to-consumer ที่โรงงานผู้ผลิตเปิดช่องทางการตรงไปยังผู้บริโภคเองมากขึ้น นั่นเท่ากับว่าเป็นการตัดตัวกลางทางการค้าออกไปจากห่วงโซ่

“โรงงานเริ่มขายของออนไลน์มากขึ้น ขายตรงไปยังผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบให้ธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่นเริ่มถดถอย เพราะคนรุ่นใหม่เริ่มซื้อสินค้าจากร้านในท้องถิ่นน้อยลงและหันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ทำให้ในแง่ของธุรกิจท้องถิ่นจะมีผู้ที่เป็นตัวกลาง หมดโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าเพราะพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป”

สุดท้ายสิ่งที่ภาวุธย้ำคือเรื่องของการขาดดุลดิจิทัลของประเทศไทย เพราะไทยไม่เคยประเมิน หรือสอดส่องว่าประเทศไทยมีการขาดดุลทางการค้าดิจิทัลอย่างไร เพราะฉะนั้นควรนำตัวเลขนี้ไปคำนวณ วิเคราะห์เรื่องของการขาดดุลของระบบประเทศไทยด้วยเช่นกัน เพราะมูลค่าการขาดดุลเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย

“กรมสรรพากรได้ออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศเมื่อ 1 กันยายน 2564 และจากข้อมูลล่าสุดมีผู้ให้บริการต่างชาติที่ขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 127 ราย ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บสะสม 6 เดือน (ตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,200 กว่าล้านบาท 

“มีการคาดการณ์ว่าอาจจะเก็บภาษีได้ถึงเกือบหมื่นล้านเมื่อครบปี และมีผู้ให้บริการหลายรายยังไม่ได้มาขึ้นทะเบียน ซึ่งเมื่อคาดการณ์เม็ดเงินที่ใช้ซื้อ-ขายบริการจากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศของคนไทยอาจจะขึ้นไปสูงถึงเกือบๆ สองแสนล้านบาทเลย”

ทั้งหมดทั้งมวลนี้นับเป็นสิ่งที่ต้องจับตาต่อไป และหากใครปรับตัว และเรียนรู้สิ่งใหม่ไม่ทันก็อาจจะไม่สามารถอยู่รอดในยุคที่ e-Commerce เข้ามามีบทบาทและเปลี่ยนแปลงไปทุกวันได้

Writer

กองบรรณาธิการธุรกิจ

Photographer

ช่างภาพและ baker ฝึกหัด

You Might Also Like