Ni Hao Durian
ประเทศไทยกับการป้องกันแชมป์ส่งออกทุเรียนไปจีน โดยมีเวียดนามเป็นผู้ท้าชิงที่น่ากลัว
ในสายตาของชาวจีน ถ้าพูดถึงอาหารในเมืองไทยคุณว่าเขาจะคิดถึงอะไร
คำตอบของคำถามนี้มักเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงต้องเป็นผัดไทย ชาไทยเย็น ต้มยำกุ้ง ข้าวเหนียวมะม่วง หรืออาจจะมีอยู่ช่วงตอนหนึ่งที่สาหร่ายทอดกรอบยี่ห้อดังเป็นของขวัญของฝากที่คนจีนจำต้องซื้อทุกครั้งไปที่มาเมืองไทย จนเป็นหนึ่งในรายชื่ออาหารที่มาจากเมืองไทยที่คนจีนต้องรู้จักถ้ารักจะเที่ยวเมืองไทย
แต่ถ้าเป็นยุคนี้ เมื่อพูดถึงเมืองไทยและอาหารไทย หรือแม้แต่ของดีของเด็ดจากเมืองไทย เชื่อว่าชาวจีนส่วนใหญ่จะคิดถึง ‘ทุเรียน’
ผลไม้เปลือกสีเขียวตุ่นปนเหลือง มีหนามแหลมคมทั้งลูก ไม่สะดวกเลยแม้แต่นิดเดียวทั้งในแง่การเก็บเกี่ยว การขนส่งเคลื่อนย้าย หรือแม้กระทั่งการแกะกินเนื้อด้านในก็ไม่ใช่ว่าจะได้กินกันง่ายๆ ต้องมีทั้งอุปกรณ์พร้อมสรรพและความเชี่ยวชาญประมาณตัวกว่าจะได้อร่อยกับเนื้อสุกงอมด้านใน
แล้วตกลงว่าทุเรียนมีดีอะไร ทำไมคนจีนถึงชอบกันนักหนา?
คำถามนี้อาจเข้าขั้นคำถามโลกแตกได้ เพราะคนที่คลั่งไคล้ในรสทุเรียนคงสามารถบรรยายได้เป็นวันๆ ว่าทุเรียนมันน่าอร่อยแค่ไหน รสชาติที่หวานมันครีมมีและเนื้อสัมผัสที่นุ่มละมุนลิ้นมันดีต่อใจยังไง ในทางตรงกันข้าม คนที่ไม่ชอบกลิ่นและเนื้อของทุเรียนคงหาถ้อยคำมาโต้กลับลบล้างทุกคำเยินยอนั้นได้เป็นวันๆ เช่นกัน
ไม่ว่าคนจีนจะชอบทุเรียนด้วยเหตุใด แต่เอาเป็นว่ามันเป็นผลดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนแน่ๆ และเกษตรกรที่ว่าคือ เกษตรกรไทย
แม้จะไม่ใช่ประเทศเพียงหนึ่งเดียวที่ส่งออกทุเรียนไปยังจีน แต่ยังไงเสียทุเรียนจากไทยได้รับความนิยมสูงที่สุดในบรรดาทุเรียนทุกชาติที่ขายอยู่ในจีน ด้วยชื่อเสียงความพรีเมียมและมาตรฐานของกลิ่นและรสที่ถูกจริตชาวจีน ตั้งแต่ช่วงปี 2000 เป็นต้นมา จึงดูเหมือนกับว่า ไทยเป็นเจ้าตลาดทุเรียนในจีนแบบแทบจะไร้คู่แข่งในสนามรบนี้
เนื่องจากประเทศจีนมีกฎระเบียบในการนำเข้าผักและผลไม้มาในประเทศ เช่น การนำเข้าทุเรียนมาในประเทศจีนจะต้องมีการลงนามและได้รับการอนุญาตจากทางการจีนว่าอนุญาตให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกทุเรียนมายังจีนได้ โดยทุเรียนที่จะนำเข้ามาจะต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานของจีนว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยในอาหารและพืช
ระบบระเบียบการต่างๆ ในการส่งทุเรียนไปขายที่จีนก็อย่างเช่น ทุเรียนนั้นต้องมาจากสวนและบริเวณที่จดแจ้งเอาไว้ว่าจะเป็นบริเวณที่ปลูกทุเรียนเพื่อการส่งออกไปที่จีน บริเวณนั้นจะต้องเป็นบริเวณที่มีระบบการจัดการคุณภาพ จะต้องมีระบบการติดตามได้ว่าทุเรียนที่ปลูกและส่งมาขายที่จีนนั้นมาจากสวนใด จะต้องมีแนวทางในการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ Good Agricutltural Practices (GAP – หมายถึง แนวทางการทำการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ และปลอดภัย)
นอกจากนี้สวนที่จะส่งออกทุเรียนมายังจีนยังต้องเป็นสวนที่ใส่ใจเรื่องความสะอาดและสุขอนามัย บริเวณของสวนที่ปลูกทุเรียนจะต้องอยู่ห่างไกลจากมลภาวะ ผลทุเรียนที่เน่าเสียและหล่นจากต้นจะต้องถูกนำไปทิ้งไม่มาปนรวมกับทุเรียนที่จะส่งออกมายังจีนโดยเด็ดขาด
กฎระเบียบมากมายทั้งหลายทั้งปวงนี้ เพื่อมาตรฐานและสุขอนามัยที่ดีของผลไม้ที่จะนำเข้ามายังจีนทั้งสิ้น และ ประเทศไทย – ประเทศที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดในโลก สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งหมดที่ว่ามาของจีนได้ จึงเป็นประเทศที่สามารถส่งออกทุเรียนไปยังจีนได้
เป็นที่ทราบกันดีว่าตลาดผู้บริโภคของจีนนั้นกว้างใหญ่ขนาดไหน การันตีได้จากจำนวนประชากรกว่า 1,400 ล้านคน (ปี 2021) ถึงแม้ว่าประชากรกว่าหมื่นล้านคนของจีนไม่ได้พิสมัยในทุเรียนทุกคน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่พอใจในรูป รส กลิ่น ของราชาผลไม้ชนิดนี้
ปี 2021 ประเทศไทยส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนมากเป็นประวัติการณ์ ถึงแม้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 มากั้น แต่ก็ยังไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้ชาวจีนหยุดกินทุเรียนได้ ปี 2021 ไทยส่งออกทุเรียนไปยังจีนมากถึง 875,000 ตัน!
แม้จะยังไม่มีข้อสรุปว่า ปี 2022 ไทยส่งออกทุเรียนไปยังจีนมากน้อยแค่ไหน แต่จากตัวเลขการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน ประเทศไทยส่งออกทุเรียนไปยังจีนแล้วมากกว่าห้าแสนตัน ถือว่าเป็นสัญญาณอันดีว่าผู้บริโภคทุเรียนชาวจีนยังคงนิยมทุเรียนไทยอยู่ ถึงแม้ว่าทางการจีนจะยังคงเข้มงวดกับการขนส่งผลไม้ข้ามชายแดนจนบางครั้งบางตอน ทุเรียนจะต้องติดอยู่ที่ชายแดนจีนถึง 2 สัปดาห์ หรือบางครั้งนานถึง 30 วันเลยทีเดียว
บนกลไกของโลกแห่งการค้าขาย ใครๆ ก็เป็นคู่แข่งของคุณได้ และอันที่จริงคุณอาจจำเป็นต้องมีคู่แข่งเสียด้วยซ้ำเพื่อการพัฒนาตัวเองไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ในธุรกิจการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีน ก็เช่นกัน ถึงแม้เราอาจจะมองว่ามันมีกฎระเบียบ ข้อบังคับ มาตรฐาน และขั้นตอนต่างๆ มากมาย ทำให้ชาติอื่นๆ ที่คิดอยากจะมาเป็นคู่แข่งในสนามนี้กับไทยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไมไ่ด้หมายความว่ามันเป็นไปไม่ได้
11 กรกฎาคม 2022 เป็นวันที่ความเป็นไปได้ยากนั้นเป็นไปได้ หลังจากการเจรจายาวนานถึง 4 ปี ทางการเวียดนามนำโดย Le Minh Hoan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม จรดปากกาลงนามในข้อตกลงที่สำคัญที่ระบุเงื่อนไขเกี่ยวกับการที่เวียดนามจะเป็นตลาดในการส่งออกทุเรียนอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวนำไปสู่ประตูในการส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปยังจีน
เกมการแข่งขันในธุรกิจส่งออกทุเรียนไปจีนเริ่มขึ้น ณ จุดนี้
จากเดิมที่ไทยแทบจะครองตลาดทุเรียนในจีน โดยทั่วไปก็อาจจะมีทุเรียนจากประเทศอื่นบ้างประปรายในบางที่บางแห่งวางขาย แต่ทุเรียนแทบจะทั้งสิ้นที่ขายในจีนล้วนมาจากไทย ดังนั้นแล้วการที่เวียดนามมีสิทธิ์ที่จะส่งออกทุเรียนมายังจีนนั้นน่ากลัวตรงไหนกัน
ความน่ากังวลอันดับที่หนึ่งที่ควรตระหนัก คือ เวียดนามอยู่ใกล้จีนมากกว่าไทย นั่นหมายความว่า ต้นทุนที่เกิดจากการขนส่งก็ควรจะลดน้อยลงด้วยเมื่อขนส่งทุเรียนออกจากเวียดนาม เมื่อเทียบกับไทยที่สวนปลูกทุเรียนมักจะมาจากทางภาคตะวันออกหรือภาคใต้ของประเทศ
เมื่อค่าขนส่งลดลง หมายความว่า ทุเรียนที่มาจากเวียดนามจะมีราคาที่ต่ำกว่าทุเรียนไทย สงครามราคาจะเริ่มขึ้นตรงนี้หรือไม่ ต้องคอยติดตามกัน
บุษบา นาคพิพัฒน์ เกษตรผู้ปลูกทุเรียนกล่าวเอาไว้กับ South China Morning Post ว่า เธอจำได้ดีว่าวันแรกที่เธอเริ่มรู้สึกถึงบรรยากาศในการแข่งขันอันคุกรุ่นของการส่งออกทุเรียนระหว่างไทย กับเวียดนาม คือ วันเสาร์ ที่ 19 กันยายน 2022
วันนั้นเป็นวันแรกที่มีการนำทุเรียนจากเวียดนามเข้าไปยังประเทศจีน เธอบอกว่าเมื่อก่อนประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ส่งทุเรียนสดไปยังจีน ส่วนเวียดนามจะส่งทุเรียนแปรรูป แต่ตอนนี้เวียดนามกำลังมาเป็นคู่แข่งกับเราเสียแล้ว
บุษบาเองได้เดินทางไปยังเวียดนามเพื่อเยี่ยมชมตลาดทุเรียน เธอเล่าต่อว่าเวียดนามขยายฐานการปลูกทุเรียนไปมากมายมากกว่าที่เธอคิดไว้มาก
“เวียดนามไม่ได้ปลูกทุเรียนมากเท่าประเทศไทย แต่เขาไม่เคยหยุดพัฒนา มันยังคงมีช่องว่างทางการตลาดอีกมากในเวียดนามสำหรับทุเรียน แต่สำหรับตลาดในประเทศไทยส่วนใหญ่คือเราจะแข่งกันเอง”
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พูดไว้ถึงประเด็นการส่งออกทุเรียนไปยังจีนว่า อันที่จริงแล้วนอกจากเวียดนามประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีความพยายามจะพูดคุยเรื่องความเป็นไปได้ในการส่งออกทุเรียนกับประเทศจีนเช่นกัน แต่อาจจะด้วยระยะทางและการขนส่งอำนวยทำให้เวียดนามปิดดีลนี้ได้ก่อนชาติที่เหลือในอาเซียน
นอกจากระยะทางที่ทำให้เวียดนามได้เปรียบไทยในแง่ของค่าขนส่งที่ถูกกว่าเพราะระยะทางใกล้กับประเทศปลายทาง คือ จีน มากกว่า เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนของเวียดนามยังสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ช้ากว่าไทย เพราะระยะทางใกล้กว่า ทั้งนี้อาจจะส่งผลให้ทุเรียนจากเวียดนามที่ส่งไปยังจีนสุกงอมช้ากว่า เก็บได้นานกว่านั่นเอง
แน่นอนว่าข้อได้เปรียบที่ว่ามาทั้งหมดนี้เรากำลังพูดบนสมมติฐานที่ว่ารส กลิ่น ของทุเรียนจากไทยและเวียดนามไม่ได้แตกต่างกันมากถึงขั้นที่ว่ามีนัยสำคัญ
ยังไงก็ตาม รศ.ดร.อัทธ์ จากมหาวิทยาลัยหอการค้าเคยกล่าวเอาไว้ว่า ณ เวลานี้ จริงๆแล้วเวียดนามยังไม่ใช่คู่แข่งของไทยเสียทีเดียวเพราะกำลังการผลิตทุเรียนของเวียดนามนั้นทำได้เพียงแค่ครึ่งหนึ่งของที่เกษตรกรไทยทำได้เท่านั้น
แต่รศ.ดร.อัทธ์ ยังวิเคราะห์ต่อไปว่า ยังไงเสียไทยยังไม่ควรมองข้ามเวียดนามไป ถึงแม้ว่ากำลังในการปลูกทุเรียนของเวียดนามยังสู้ไทยไมไ่ด้ในตอนนี้ แต่นักลงทุนเวียดนามอาจจะลงทุนเพาะปลูกทุเรียนโดยใช้พื้นที่ในลาว หรือ กัมพูชาได้ในอนาคต ซึ่งนั่นอาจจะเป็นความเป็นไปได้และเป็นความท้าทายของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเพื่อส่งออกในไทย
เกมการแข่งขันการส่งออกทุเรียนไปที่จีนระหว่างไทยกับเวียดนามจะเป็นอย่างไร เราคงต้องติดตามตอนต่อไป และผลลัพธ์ของตอนต่อไปที่ว่า จะมีรสชาติหวานมันเหมือนเนื้อใน หรือแหลมคมเหมือนเปลือกนอก สำหรับเกษตรกรไทย เราคงต้องรอดูตอนที่ทุกอย่างนั้นสุกงอมดี
อ้างอิง