Dough by Heart

วิธีการดูแลธุรกิจให้อยู่ในกระแสอย่างยั่งยืนฉบับสองพาร์ตเนอร์แห่ง DROP BY DOUGH

คาเฟ่โทนสีน้ำเงิน-สีฟ้าสดใสตัดด้วยเฉดสีครีมและเฟอร์นิเจอร์ไม้แห่งนี้ถูกตกแต่งให้ออกมาในสไตล์สแกนดิเนเวียผสมกลิ่นอายของมิดเซนจูรีโมเดิร์น (mid-century modern) ที่ถึงแม้เราจะยังไม่เอ่ยถึงโปรดักต์ของตัวคาเฟ่เอง แต่เราก็สามารถรับรู้ได้ถึงความใส่ใจในการตกแต่งร้านผ่านการเลือกใช้ดีไซเนอร์เฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด เพราะแค่เพียงโคมไฟที่ประดับประดาอยู่ภายในแต่ละมุมของทางร้านก็ถือเป็นเหล่าโคมไฟซิกเนเจอร์ของหลากหลายแบรนด์

เช่น แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติเดนมาร์กอย่าง Hay ในรุ่น PC Table Lamp โคมไฟรูปทรงเห็ดที่ตั้งอยู่ตรงหน้าเคาน์เตอร์ของร้าน, Louis Poulsen ในรุ่น Pendant กับ Fritz Hansen ในรุ่น Concert Pendant โคมไฟไลน์คลาสสิกชั้นเลเยอร์ที่ต่างก็ห้อยอย่างสง่าอยู่ตรงแต่ละโซนโต๊ะที่นั่ง หรือจะเป็นโคมไฟของแบรนด์สัญชาติสหรัฐอเมริกาอย่าง Herman Miller ในรุ่น Nelson Ball Bubble Pendant โคมไฟรูปทรงคล้ายลูกบอลเองก็ยังมี ซึ่งด้วยสไตล์การตกแต่งที่เด่นชัดเช่นนี้ก็ยังสามารถบ่งบอกถึงความชอบร่วมกันของทั้งสองพาร์ตเนอร์อย่าง โอ๊ต–ณรงค์ฤทธิ์ ศรีตลานนท์ และโอ๊ตซึ–เฉลิมพล อัครภิญโญกุล ได้ตั้งแต่เราเยื้องก้าวเข้าไปในร้าน

และนี่คือคาเฟ่แฮนด์คราฟต์โดนัทที่มีชื่อว่า ‘DROP BY DOUGH’

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว DROP BY DOUGH เกิดจากความตั้งใจของสองพาร์ตเนอร์อย่างโอ๊ตและโอ๊ตซึ เจ้าของเพจท่องเที่ยว OATSxSomewhere ที่คิดอยากจะมีธุรกิจส่วนตัวเป็นหลักเป็นแหล่งร่วมกัน แต่หากจะเป็นแค่ธุรกิจร้านกาแฟทั่วไปก็คงจะไม่ได้ต่างอะไรกับคาเฟ่ที่ตั้งอยู่ทั่วทุกมุมถนนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งด้วยประสบการณ์การเดินทางในหลากหลายประเทศของทั้งคู่ โอ๊ตและโอ๊ตซึจึงตัดสินใจนำสิ่งที่ตนเองต่างก็ประทับใจในแต่ละทริปมาสร้างเป็นธุรกิจคราฟต์โดนัทบูทีกเจ้าแรกในประเทศไทยขึ้นมา

“เมื่อเปิด camera roll ในมือถือของเราขึ้นมาเราก็จะเจอว่าโดนัทคือขนมที่เราแวะไปกินตามเมืองต่างๆ กันอยู่บ่อยๆ ซึ่งมันก็อาจจะเป็นเพราะรูปร่างของโดนัทเองที่ก็น่ารักอยู่แล้ว อย่างรูปทรงกลมที่มีรูตรงกลาง ชวนให้เราได้หยิบจับ ดูแล้วค่อนข้างเฟรนด์ลี่ดี ประจวบกับว่าเราก็เคยไปชิมโดนัทของประเทศนึงที่ก็เป็นเหมือนโดนัทธรรมดานี่แหละ เพียงแต่ว่าโดนัทของเขาดันมีไส้อยู่ข้างในด้วย และนี่คือส่ิงที่จุดประกายไอเดียให้เราสองคน เพราะในวันนั้นประเทศไทยก็ยังไม่มีโดนัทที่เป็นแบบบูทีก จะมีก็แต่แบรนด์ต่างประเทศซึ่งเป็นธุรกิจแบบเชนทั้งหมด เราทั้งคู่เลยมองเห็นโอกาสทางธุรกิจจากตรงนี้ และคิดว่าถ้าเราเอามาทำเองเราก็น่าจะครีเอตคอมบิเนชั่นของรสชาติที่หลากหลายได้ในอนาคตด้วย” โอ๊ตเล่าจุดเริ่มต้นของ DROP BY DOUGH ให้เราฟัง

เมื่อโอ๊ตและโอ๊ตซึตัดสินใจได้แล้วว่าพวกเขาจะร่วมเปิดธุรกิจคาเฟ่โดนัทกัน ชื่อ DROP BY DOUGH จึงมีที่มาจากคอนเซปต์ของร้านอย่างการอยากเป็นสเปซที่ให้ผู้คนได้แวะเข้ามาพักผ่อน ดื่มกาแฟและกินโดนัทกันได้ที่นี่ โดยทั้งคู่เลือกใช้คำว่า ‘drop by’ ในภาษาอังกฤษ เพื่อสื่อถึงความหมายของคำว่า ‘แวะ’ เช่นเดียวกับคำว่า ‘dough’ ที่ก็หมายถึงแป้งโดว์หรือจุดเริ่มต้นของทั้งตัวธุรกิจเองและขั้นตอนการทำโดนัทในแต่ละชิ้นอีกด้วย

ปัจจุบัน DROP BY DOUGH มีทั้งหมด 2 สาขาหลัก ได้แก่สาขาอุดมสุขกับสาขาเอ็มควอเทียร์ และเมื่อไม่นานมานี้เอง โอ๊ตและโอ๊ตซึก็เพิ่งเปิดตัวร้านคราฟต์โดนัทในสไตล์อิตาเลียนอย่างบอมโบโลนี (Bomboloni) แบรนด์ใหม่ล่าสุดอย่าง Donut Disturb! ในย่านอารีย์ออกมาให้หลายๆ คนได้ทำความรู้จักกันแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ยังคงมีเพจท่องเที่ยว OATSxSomewhere ที่จะต้องบริหารไปพร้อมๆ กัน ด้วยแนวคิดของการ ‘มีเป้าหมายเดียวกัน’ ในการทำธุรกิจ

และคอลัมน์ Business Partner ที่ว่าด้วยวิธีการบริหารความสัมพันธ์ไปพร้อมกันกับการทำธุรกิจตอนนี้ จึงอยากชวนทั้งสองคุยถึงวิธีการดูแลธุรกิจแฮนด์คราฟต์โดนัท DROP BY DOUGH ให้ยังคงอยู่ในกระแสและดูแลความสัมพันธ์ได้อย่างยั่งยืน

พวกคุณเริ่มรู้จักกันได้ยังไง

โอ๊ต : พวกเราเป็นเพื่อนร่วมงานกันที่ PAÑPURI ตอนนั้นโอ๊ตซึเขาก็จะทำงานอยู่ในฝ่าย digital marketing ส่วนตัวเราเอง จะทำงานในฝ่ายของ product development โดยทั้งสองทีมนี้ทางบริษัทเขาก็เรียกกันว่าเป็น creative team  

อะไรคือสิ่งที่ทำให้พวกคุณตัดสินใจเริ่มทำธุรกิจด้วยกัน

โอ๊ต : ด้วยความที่เราอายุใกล้เคียงกัน มันก็จะมีความชอบคล้ายๆ กัน เราก็เริ่มจากการออกไปแฮงเอาต์และเริ่มไปเที่ยว ไปเดินทางด้วยกัน สิ่งเหล่านี้เองก็ทำให้เราทั้งคู่ได้แลกเปลี่ยนความชอบร่วมกันไปโดยอัตโนมัติ แล้วเราก็ยังได้เรียนรู้และรู้จักนิสัยกันไปด้วย จนถึงจุดนึงที่เราสองคนก็เริ่มรู้สึกว่าเราเองก็น่าจะสามารถเป็นพาร์ตเนอร์ในการทำธุรกิจที่ดีให้กันได้นะ

โอ๊ตซึ : เพราะการที่เราทั้งทำงานร่วมกันและเราก็ยังไปเที่ยวด้วยกันบ่อยๆ มันเลยทำให้เรียนรู้ว่าเราชอบอะไรเหมือนกันในหลายๆ อย่าง ดังนั้นพอจะเริ่มทำธุรกิจอะไรขึ้นมาสักชิ้นเราเลยไม่คิดลังเลว่าเราจะทะเลาะกันหรืออะไร

โอ๊ต : นอกจากความชอบที่คล้ายกันแล้ว ในวันที่เรายังทำงานอยู่ที่ head office ของ PAÑPURI เอง เราก็ยังได้เห็นโปรเซสของการทำธุรกิจและการออกไลน์โปรดักต์สินค้าต่างๆ มาตั้งแต่ต้นว่าเขาเริ่มกันมาจากจุดไหน เขา brainstorm ไอเดียและคอนเซปต์กันยังไง production หรือกระบวนการระหว่างทางมีอะไรบ้าง ตลอดจนโปรดักต์เนี่ยมันเสร็จของมันแบบไหนและมีวิธีการโปรโมตยังไง จุดนี้มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าเราเองก็อยากมีธุรกิจอะไรบางอย่างเป็นของตัวเองแหละ แต่คำถามของเรา ณ วันนั้นคือ ‘จะทำอะไรดี’ 

ก่อนจะมาเป็น DROP BY DOUGH พวกคุณเคยทำธุรกิจอะไรร่วมกันมาบ้าง 

โอ๊ต : จริงๆ ไทม์ไลน์การทำงานของพวกเรามันซ้อนทับกันไปหมดเลย คือเราทำงานประจำกันอยู่ที่ PAÑPURI แล้วเราก็เริ่มฟอร์มทีมกับน้องอีกคนนึงมาเปิดแบรนด์เสื้อผ้าเล็กๆ อยู่ประมาณ 2-3 ปี มีชื่อว่า ‘Moutain Boy’ ซึ่งเราทั้ง 3 คนก็ค่อนข้างใช้เวลานานพอสมควรไปกับการทำธุรกิจเล็กๆ อันนี้ เราเลือกผ้ากันเอง เลือกผ้าที่ดี เพราะเราก็อยากทำให้แบรนด์มันออกมาดี ซึ่งจริงๆ มันก็เป็นไปได้ด้วยดีนั่นแหละ เพียงแต่ว่าเราสามคนไม่มีใครจบสายแฟชั่นหรือด้านดีไซน์กันมาก่อนเลย ในขณะเดียวกันนี้เองเรากับโอ๊ตซึก็ได้ไปท่องเที่ยวต่างประเทศด้วยกันอยู่เรื่อยๆ ลงรูปในอินสตาแกรมกันปกติ ก่อนจะมีหลายๆ คนเห็นแล้วก็ถามคำถามกับเรามาค่อนข้างเยอะ เป็นคำถามเดียวกันอย่าง ‘ไปยังไงนะ?’ แล้วช่วงนั้นเพจท่องเที่ยวก็กำลังเป็นที่นิยมเอามากๆ พี่ๆ ที่ออฟฟิศก็เลยแนะนำว่าให้เราลองทำเพจท่องเที่ยวของพวกเราขึ้นมาเอง จะได้แชร์เรื่องราวและตอบคำถามที่หลายๆ คนสงสัยในคราเดียว นั่นก็เลยเป็นที่มาของการเริ่มทำเพจ OATSxSomewhere ด้วย 

คิดยังไงกับประโยคที่ว่า “เพื่อนกัน ทำธุรกิจด้วยกัน ระวังทะเลาะกัน”

โอ๊ตซึ : เราก็ได้ยินมาบ่อยเหมือนกันนะประโยคนี้ ซึ่งพอเริ่มทำเข้าจริงๆ แล้ว จุดที่เราจะทะเลาะกันเนี่ยมันก็เหมือนจะเป็นเรื่องปกติของทั้งการทำธุรกิจร่วมกันกับเพื่อน กับครอบครัว หรือกับคนรักเองก็ดี แต่แค่ส่วนตัวเราเองก็อาจจะโชคดีที่เราทั้งคู่มีความชอบที่คล้ายกันอยู่แล้ว และถึงแม้ว่าระหว่างทางเรากับโอ๊ตจะมีวิธีการคิดที่ต่างกันจนมีทะเลาะกันไปบ้าง แต่พอเราได้กลับมาคุยกันถึงจุดหมายปลายทางหรือ objective ของการทำธุรกิจนั้นๆ แล้วมันตรงกัน แล้วเราก็ยังอยากให้ผลลัพธ์ที่เราต่างก็คาดหวังไว้นั้นออกมาตรงกัน สุดท้ายแล้วเรากลับมองว่าจุดนี้ต่างหากคือจุดที่สำคัญของการเป็นพาร์ตเนอร์ธุรกิจร่วมกัน

อะไรที่ทำให้พวกคุณตัดสินใจทำธุรกิจใหม่อย่าง DROP BY DOUGH ด้วยกันอีก

โอ๊ตซึ : ถ้ามองย้อนกลับไปตอนนั้น ตอนที่เราต่างก็ทำงานกันอยู่ที่ PAÑPURI แล้วก็ทำเพจท่องเที่ยวของตัวเองไปพร้อมๆ กัน ในช่วงนั้นมันก็จะมีหลากหลายเหตุการณ์ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา อย่างเช่นเวลาที่เราได้ไปเที่ยวต่างประเทศด้วยกันบ่อยๆ พวกเราก็เริ่มคิดกันบ้างแล้วว่า ’หรือเราจะออกจากงานประจำมาทำธุรกิจด้วยกันเลยดีไหม’ ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็เหมือนจะเป็นเหตุผลหลักๆ ของพนักงานออฟฟิศทั่วไปเลย อย่างการที่เราอยากมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น มีเวลาเป็นของตัวเองและได้ไปเที่ยวด้วยกันมากขึ้น มันก็เลยเหมือนเป็นจุดที่ทำให้เราเริ่มตัดสินใจอย่างจริงจังที่จะทำธุรกิจคาเฟ่ขึ้นมา 

โอ๊ต : สิ่งที่ทำให้เราตัดสินใจหันมาทำ DROP BY DOUGH เลยก็คือการสะสมประสบการณ์และเรื่องราวที่ผ่านมาทั้งหมดของเรา ซึ่งถ้าจะให้เราสรุปออกมาภายในประโยคเดียวเลย คือทุกๆ ธุรกิจที่เราทำหรือแม้แต่การทำงานประจำเองก็ดี มันก็คือการที่เราสองคนวิ่งเข้าหาและทำในสิ่งที่ชอบ เราทั้งคู่ทำทุกอย่างด้วยแพสชั่น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานประจำเราก็ชอบ เราชอบถ่ายรูป ชอบพูดคุย โซเซียลกับผู้คน และเราสองคนก็ยังรู้สึกสนุกกับการที่ได้ develop อะไรบางอย่างจากโปรเจกต์ต่างๆ ที่เราได้รับมอบหมายหรือทำกันมา จนกระทั่งวันหนึ่งผมก็รู้สึกว่าเราสองคนก็น่าจะมีความรู้ในการผลิตอะไรกันสักอย่างแหละ ไม่แบรนดิ้ง ก็มาร์เก็ตติ้ง จุดนี้มันเลยยิ่งทำให้เราอยากจะลองทำอะไรสักอย่างด้วยตัวเองขึ้นมา

ในการทำร้าน DROP BY DOUGH คุณแบ่งหน้าที่กันยังไง

โอ๊ต : ถ้าให้พูดโดยรวมเลย หน้าที่ของเราในชวบปีแรกกับตอนนี้ก็ค่อนข้างเหมือนเดิม คือเราสองคนจะคิดทุกๆ อย่างด้วยกันแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ว่าเราต่างก็จะให้สิทธิ์ในการตัดสินใจในเรื่องที่แต่ละคนถนัดกันมากกว่า อย่างเช่นพวกอาร์ตไดเรกชั่น-ครีเอทีฟไดเรกชั่นก็จะเป็นหน้าที่ของโอ๊ตซึเขา ส่วนเราก็จะรับหน้าที่ดูแลไดเรกชั่นในร้านทั่วไป จัดการทางด้านการเงิน แล้วก็ดูแลเรื่องพนักงานซะเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ทั้งนั้น ในทุกๆ อย่าง เราสองคนก็นำมาคุยด้วยกัน เราก็เลยจะรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่ว่าจะแก้ปัญหายังไงกันต่อเนี่ยเราก็ต้องมาแบ่งหน้าที่ในการตัดสินใจกันอีกที

โอ๊ตซึ : ง่ายๆ คือโอ๊ตเขาจะดูในพาร์ตธุรกิจ ส่วนเราจะดูในพาร์ตครีเอทีฟ

แล้วตอนที่แต่งร้านพวกคุณคุยกันยังไง

โอ๊ต : ในวันนั้น เราว่าการตกแต่งร้านในสไตล์สแกนดิเนเวียมันเป็นสิ่งที่เราชอบกันจริงๆ เพราะเรามีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวในแถบแสกนดิเนเวียกันมาก่อน แล้วเราทั้งคู่ก็ชอบในเฟอร์นิเจอร์คราฟต์ของบ้านเขา จากจุดนี้ เราเลยรู้สึกว่าถ้าเราทำสเปซของเราขึ้นมากันเอง เราก็อยากให้ทุกๆ เฟอร์นิเจอร์ที่เราชอบนั้น มาอยู่รวมกันเหมือนเป็นบ้าน ประจวบกับความที่โอ๊ตซึเขาจะถนัดพาร์ตครีเอทีฟ เขาก็เป็นคนดีไซน์เองสเกตช์ขึ้นมาเอง แล้วในวันนั้นที่เราเริ่มสเกตช์แบบ พวกเราต่างก็รู้สึกว่าการตกแต่งสไตล์สแกนดิเนเวียก็น่าจะใหม่สำหรับวงการคาเฟ่ในไทยเหมือนกัน เพราะว่าเทรนด์ ณ วันนั้นมันคือคาเฟ่สไตล์มินิมอล-ปูนเปลือยซะส่วนใหญ่ เราสองคนในฐานะผู้ประกอบการรายใหม่ก็อยากที่จะสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจคาเฟ่ในกรุงเทพฯ หรือจะเรียกว่าในไทยเลยก็ได้ ดังนั้นเราทั้งคู่จึงตัดสินใจดึงเอาดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ที่เราชื่นชอบมาสร้าง experience ในร้านของเราด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะทั้งโคมไฟ หรือทั้งโต๊ะ ที่นั่งเองก็ดี

โอ๊ตซึ : เราเริ่มชอบการตกแต่งในสไตล์สแกนดิเนเวียก็จากการที่เราไปทริปแถบสแกนดิเนเวียกัน คนที่นู่นเขาใช้ชีวิตกันค่อนข้างสบายๆ และเรียบง่าย แต่ในความสบายนี่แหละที่มันดันทำให้พวกเราต้องกลับมารีเสิร์ชข้อมูลต่อ จนทราบว่าเฟอร์นิเจอร์ที่เขาใช้ตกแต่งบ้านหรือร้านค้าเอง มันเป็นดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดเลย ขณะเดียวกันเองเราก็มีโอกาสได้ไปเมืองหลวงประเทศเดนมาร์กอย่างโคเปเฮนเกน เมืองที่เขามีการผลิตดีไซน์เฟอร์นิเจอร์กันมาแบบยาวนาน  โดยความดั้งเดิมของทั้งตัวแบรนด์และเฟอร์นิเจอร์เองมันเลยยิ่งทำให้เราเข้าใจขึ้นว่าคนที่นี่เขาใช้เฟอร์นิเจอร์คุณภาพนี้ในชีวิตประจำวันของเขาเลย แล้วทำไมเราถึงจะนำมาใช้ชีวิตประจำวันหรือในธุรกิจของเราไม่ได้บ้าง

โอ๊ต : อีกจุดหนึ่งที่เรารู้สึกประทับใจกับดีไซเนอร์เฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ คือตัวเฟอร์นิเจอร์จะทั้งคราฟต์ ทั้งสวยงาม แล้วก็ยัง useful ด้วย โดยปกติผู้คนอาจจะคิดว่าการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์เข้าบ้านสักชิ้นมันจะต้องสวย เพื่อตกแต่งบ้านของเราได้ แต่ไม่ใช่กับดีไซเนอร์เฟอร์นิเจอร์ เพราะเฟอร์นิเจอร์ทุกๆ ชิ้นของเขามันจะถูกดีไซน์มาให้เข้ากับการใช้งานในชีวิตประจำวันของทุกๆ คนเหมือนกัน

คุณสองคนคิดว่าแบรนดิ้งสำคัญกับ DROP BY DOUGH ยังไงบ้าง

โอ๊ตซึ : เพราะเราอยากให้คนมอง DROP BY DOUGH ตั้งแต่ day 1 เลยว่าเราเป็นแบรนด์หนึ่งที่มีความครีเอทีฟ จากการที่เรามีการครีเอตอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา สนุกอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้มองแค่ว่าเราเป็นร้านที่ตกแต่งสวยอย่างเดียว แต่ว่าโปรดักต์ของเราก็ต้องกินอร่อยด้วย เช่นเดียวกันกับการเลือกเฟอร์นิเจอร์เลย คือดีไซน์จะต้องมาพร้อมกับฟังก์ชั่น ดังนั้นในเรื่องของขนมเอง นอกจากหน้าตาที่ต้องสวยงามแล้ว ก็ต้องมาพร้อมกับความอร่อยและรสชาติที่ดี

โอ๊ต : จริงๆ โดยแกนกลางของแบรนดิ้งและ experience ของ DROP BY DOUGH ในขวบปีที่ 4 ก็ยังคงเหมือนเดิมตั้งแต่ day 1 ไม่ได้มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปเลย สิ่งนั้นก็คือการที่พวกเราอยากให้ DROP BY DOUGH เป็นดั่งสเปซที่ไม่ว่าใครที่ได้แวะเวียนมาแล้วก็รู้สึกสบายๆ เป็นกันเองเหมือนอยู่ที่บ้าน นี่จึงเป็นเหตุผลอีกด้วยว่าทำไมพวกเราจึงตกแต่งร้านในสไตล์สแกนดิเนเวียกัน เพราะเราก็อยากให้บรรยากาศที่ร้านมีความอบอุ่น โฮมมี่ เราจึงเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์โทนไม้และเบาะนั่งที่สบาย เราใส่ใจในแบรนดิ้งและ experience ไปจนถึงการเลือกมู้ดของเพลงในร้าน การจัดแสง จัดบรรยากาศเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจจริงๆ 

ในส่วนของอาหารและเครื่องดื่ม เราก็มีสโลแกนอย่าง ‘Donut & Coffee’ หรือโดนัทและกาแฟ สำหรับสาขาอุดมสุข เพื่อบ่งบอกถึงโฟกัสของสิ่งที่เราอยากจะขายในสาขานั้นๆ ก่อนในสาขาเอ็มควอเทียร์ก็จะเป็น ‘Donut & Wine Bar’ ที่จะไม่มีเพียงแค่โดนัทและกาแฟนะ แต่ยังมีเมนูอาหารอย่างแซนด์วิชโดนัท บรันช์ และเนเชอรัลไวน์ เป็นต้น ไม่ใช่แค่ในเรื่องแบรนดิ้ง แต่เราต้องคงคุณภาพของอาหารอยู่เสมอๆ เพื่อให้ลูกค้าเขามีความสุข กินโปรดักต์ของเราแล้วทำให้เข้านึกถึงใครสักคนหนึ่งจนอยากจะซื้อกลับไปฝากเขา นี่คือแบรนดิ้งหลักๆ ของเรา 

ถัดจากแบรนดิ้ง อะไรคือสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในการทำธุรกิจ

โอ๊ตซึ : ถัดจากเรื่องแบรนดิ้ง เราก็ค่อยๆ มาลงลึกในเรื่องของดีไซน์กันต่อ ในตอนแรกที่เราเวิร์กชื่อ DROP BY DOUGH กันเสร็จสรรพ ได้คอนเซปต์ที่อยากให้ลูกค้าที่มาที่ร้านกับลูกค้าที่สั่งเดลิเวอรีได้ความรู้สึกที่สบายๆ เหมือนกัน ตรงนี้มันเลยทำให้เรารู้สเตปต่อๆ มาอย่างชัดเจนขึ้น อย่างการดีไซน์ตัวกล่องใส่โดนัท โดยเราก็เริ่มทำการวัดไซส์ของโดนัทว่ากว้างเท่าไหร่ แล้วกล่องใส่โดนัทต้องกว้างเท่าไหร่ เวลาแต่งหน้าแล้วโดนัทจะสูงขึ้นอีกเท่าไหร่ เพราะเราอยากให้กล่องหนึ่งมันวางโดนัทได้ประมาณ 4 ชิ้น มันเลยเป็นที่มาของกล่องสวยๆ โทนสีน้ำเงิน-ฟ้าของแบรนด์และโลโก้ OD ที่ตัว ‘O’ จะมาจากรูปทรงของแป้งโดว์ และตัว ‘D’ ที่เรานำแก้วกาแฟแบบมัคมาตะแคงข้างตั้งไว้คู่กันอีกที 

โอ๊ต : ฉะนั้นแล้วแบรนดิ้ง ดีไซน์ และ experience สำคัญกับพวกเรามากๆ โดยเฉพาะเมื่อเราอยากให้ลูกค้านึกถึง DROP BY DOUGH คาเฟ่แฮนด์คราฟต์โดนัทของเราเป็นร้านแรกเมื่อพูดถึงโดนัท ไม่ว่าจะแวะเข้ามากินเองก็ดีหรือแค่คิดว่าจะเอากลับไปฝากคนอื่นก็ได้ เพราะเท่านี้ก็ทำให้เราประสบความสำเร็จไปหนึ่งเปลาะจากการที่เราสามารถทำให้ลูกค้าเขามีความสุขได้ แล้วเราสองคนก็ยังคาดหวังว่า DROP BY DOUGH จะเข้าไปอยู่ในชีวิตของผู้คนได้มากขึ้น เป็น everyday donut ของใครหลายๆ คนต่อไป

แล้วทำไมแบรนด์ถึงเลือกใช้สีฟ้าซึ่งเป็นสีที่ว่ากันว่าทำให้ไม่อยากอาหาร

โอ๊ตซึ : สีฟ้ามันอาจจะดูแปลกตาไปบ้างสำหรับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเนอะ แต่ทั้งเราและโอ๊ตซึเองชอบสีฟ้า สีฟ้าในเฟอร์นิเจอร์เองมันก็ทำให้เราอยากขลุกตัวอยู่ในนั้นนานๆ ส่วนตัวพวกเรามีความรู้สึกว่าสีฟ้ามันให้ความเย็นสบาย เราก็คิดกันง่ายๆ ว่าเราก็อยากให้ลูกค้าของเรารู้สึกสบาย แม้สีที่ดึงดูดให้ผู้คนอยากอาหารอาจจะไม่ใช่สีโทนนี้ แต่ว่าส่ิงที่เราอยากจะให้ลูกเข้ามาแล้วประทับใจคือการได้เข้ามาเห็นโดนัทหน้าตาสนุกๆ หรือได้กลิ่นหอมของกาแฟแล้วอยากกินมากกว่า เราก็เลยคิดว่าสีเนี่ยมันอาจจะไม่เกี่ยวกัน

พวกคุณทั้งสองเลือกโลเคชั่นกันยังไง

โอ๊ตซึ : ถ้าเอาจริงๆ แล้ว ทำเลที่ตั้งของร้านแต่ละสาขามันเกิดจากความบังเอิญ ความบังเอิญที่ว่าคือการที่เราไปที่นั้น แล้วเราไปเจอสเปซที่เรารู้สึกชอบกัน อย่าสาขาอุดมสุขเองมันก็คือย่านที่เราอยู่ เราใช้ชีวิตละแวกนี้มาค่อนข้างหลายปี แต่เราก็ไม่เคยรู้กันเลยว่าในซอยแถวๆ นี้มันมีความคึกคักในตัวมันเอง จนถึงวันที่เรามาเดินดูพื้นที่สำหรับเปิดร้าน เราก็พบเจอกับสเปซที่นี่ สเปซที่เรารู้สึกว่าเรามองเห็นอนาคตอะไรหลายๆ อย่าง พูดกันง่ายๆ คือเราชอบ แล้วเราก็พร้อมลุยเลย 

ส่วนสาขาเอ็มควอเทียร์ พื้นที่ตรงนี้มันเคยเป็นพื้นที่เช่าของร้านอื่นมาก่อน ซึ่งเราก็ชอบสเปซตรงนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ทุกครั้งที่ได้มาเดินเอ็มควอเทียร์เราก็ค่อนข้างมีความสนใจพื้นที่ตรงนี้เป็นพิเศษ เพราะสิ่งที่เราชอบคือแสงที่มันสวย บรรยากาศที่ดีและไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าเรากำลังอยู่ในห้าง จนวันหนึ่งที่ทางห้างเขาประกาศให้เช่านี่แหละ พอเรารู้เราก็แบบลุยเลย เพราะว่าชอบอีกแล้วเหมือนกัน

โอ๊ต : แต่ criteria ส่วนหนึ่งที่เราคิดไว้นอกจากความชอบส่วนตัวแล้ว คือโลเคชั่นนั้นๆ จะต้องเดินทางสะดวก ส่วนตัวเราเองก็อยากจะให้ใกล้รถไฟฟ้ามากที่สุด แล้วก็ต้องมีที่จอดรถประมาณนึง เพราะว่าตั้งแต่เปิดร้านมา คำถามที่คนถามเยอะที่สุดเลยคือ ‘ที่จอดรถ’ กับ ‘เดินทางยังไง’ เราเลือกเปิดในโลเคชั่นที่ลูกค้าสามารถเดินทางได้สะดวก ส่วนโอ๊ตซึเขาก็จะชอบที่ที่มีแสง ให้ความรู้สึกอุ่นๆ ในร้าน 

โลเคชั่นต่าง ทำให้ทาร์เก็ตลูกค้าต่างกันไหม

โอ๊ต : พอเราเริ่มมีสาขาหลักเพิ่มขึ้นเราก็เริ่มคิดถึงเรื่องของการกระจายสาขาไปในย่านต่างๆ มากขึ้นด้วย อย่างเมื่อก่อนเราก็จะมีสาขาอารีย์หรือสาขาที่ในตอนนี้เรา turn เป็น ‘Donut Disturb!’ แบรนด์ใหม่ของเรา 

ในย่านนั้นก็จะมีกลุ่มเด็กเดินเยอะ กลุ่มวัยรุ่น นักท่องเที่ยวมาคอยถ่ายรูปและฮอปปิ้งคาเฟ่กันเยอะ ตรงนี้เราก็เริ่มเห็นกลุ่มลูกค้าของเราที่ชัดเจนมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเซอร์ไพรส์กันมากๆ ระหว่างการทำ DROP BY DOUGH คือการที่เราเลือกตั้งร้านอยู่นอกตัวเมืองออกมาหน่อยอย่างสาขาอุดมสุข ย่านที่เป็น residental area จุดที่ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าการทำธุรกิจในย่านที่อยู่อาศัยเนี่ยมันเวิร์กมากๆ เหมือนกันนะ แถมมันก็ยังทำให้ธุรกิจของเราในวันที่เจอกับโรคระบาดโควิด-19 ไปด้วยดีอีกด้วย เพราะในวันที่ทุกคนอยู่บ้าน เทรนด์ work from home มันกำลังมา หลายๆ คนก็อาจจะอยากสั่งร้านขนมใกล้บ้านมากขึ้น

แล้วจุดขายของโดนัท DROP BY DOUGH คืออะไร

โอ๊ต : คือรสชาติโดนัททั้งหมดที่พวกเราคิดกันเองครับ DROP BY DOUGH ในวันแรกเนี่ย ผมและโอ๊ตซึตั้งต้นรสชาติกันเอง เราก็เริ่มจากลิสต์รสชาติกันเป็นร้อยๆ ชื่อเลย ในดราฟต์แรกของเราเองก็จะมีโดนัททั้งหมด 9 อัน รวม 10 รสชาติ โดยรสชาติทั้งหมดนี้พวกเราก็เบสออนความน่าจะเป็นในความชอบของลูกค้ากันเลย อย่างเช่นว่าถ้าลูกค้าหนึ่งคนที่เดินเข้ามา เขาน่าจะต้องชอบรสชาติประมาณนี้ อย่างน้อยหนึ่งคนก็ต้องมีรสชาติที่เขาชอบ ก็ต้องแบบมีวานิลลา มีช็อกโกแลตบ้างแหละ ถ้าสมมติว่าชอบช็อกโกแลตถั่วจะเป็นนูเทลล่า ถ้าชอบรสผลไม้ก็จะมีเบอร์รี มีมะพร้าว ชอบหวานมาก-น้อย เปรี้ยวมาก-น้อย ครีมมี่ช็อกโกแลต มีไส้เค็มด้วย หรือถ้าไม่ชอบไส้เลยก็ยังมี อย่างน้อยใน 10 รสที่ว่าลูกค้าก็จะต้องชอบสักหนึ่งรสชาติแหละ 

จาก 9 อัน 10 รสชาติในคราฟต์แรก เราสองคนก็ยังรู้สึกว่าพวกเรายังมีไอเดียในรสชาติอื่นๆ อีกมากมาย เรามีความคิดอยากจะทำรสชาติใหม่ๆ ออกมาเยอะมาก มันจึงทำให้เราเริ่มทำโดนัทรสชาติประจำฤดูกาล หรือ seasonal menu กันออกมา ในรสชาติแบบ seasonal นี้ เราตั้งใจอยากทำให้มันสนุกๆ หน่อยผ่านการถ่ายทอดคอมบิเนชั่นของของหวานที่เราเคยได้ไปลิ้มลองกันมาที่ต่างประเทศ ของหวานที่เรากินแล้วรู้สึกว่ามันน่าจะเป็นคอมบิเนชั่นที่ดีได้ถ้าเราเอามาทำเป็นรสชาติโดนัท 

แล้วเวลามีไอเดียในรสชาติใหม่ๆ คุณสองคนพูดคุยกันยังไง

โอ๊ต : เวลาเรามีไอเดียใหม่ๆ เราก็จะคุยกันตอนที่นึกได้เลยครับ (หัวเราะ) แต่บางทีมันก็จะไม่จบที่การคุยตอนนั้นหรอกครับ ต่างคนต่างก็คงจะต้องไปคิดกันต่อแหละ แล้วก็ค่อยกลับมาคุยกันอีกครั้ง 

งั้นแบ่งเวลาให้ธุรกิจอื่นและเวลาส่วนตัวกันยังไง

โอ๊ตซึ : เราว่าธุรกิจอย่างเพจท่องเที่ยวกับธุรกิจ F&B หรือ DROP BY DOUGH มันส่งเสริมกันนะ คือเหมือนตอนที่เราทำเพจท่องเที่ยว มันก็จะมีคนส่วนหนึ่งที่รู้จักและติดตามเราเนอะ พอเรามาเปิดร้านเขาก็มาตามมาอุดหนุนพวกเรากันต่อที่หน้าร้าน

แต่ว่าการแบ่งเวลาให้ทุกอย่างมันไม่กระทบกันเนี่ย เรารู้สึกว่าเราต้องโฟกัสกับธุรกิจมากที่สุด เพราะว่าร้านโดนัทของเรามันยังต้องรันไปในทุกๆ วัน เราต้องใส่รายละเอียดในทุกวัน ฟีดแบ็กเข้าทุกวัน ปรับกันทุกวันเลย ทำงานกับพนักงาน ดูแลพนักงานในทุกๆ วัน มันก็จะแอ็กทีฟมากที่สุด แต่ว่าส่วนที่เป็นเพจท่องเที่ยวเนี่ย พอมีงานติดต่อมาเราก็ต้องมาจัดคิว ลงคัวกันอีกทีว่าพวกเราไปร่วมงานกันวันไหนได้บ้าง 

โอ๊ต : ผมมองว่า priority หลักของเราก็คือการทำร้าน เพราะว่า F&B มันต้องรันทุกวัน แล้วธุรกิจมันก็มีปัญหาทุกวันจริงๆ ตัวผมเองก็ทำงานทุกวัน ว่างเข้าร้านทุกวัน แต่ก็ต้องเวียนสาขาไปในแต่ละวัน ส่วนงานอื่นๆ อย่างการทำเพจหรืองานท่องเที่ยว เราว่ามันเป็นโบนัสสำหรับพวกเราแหละ แล้วเราก็โชคดีมากๆ ที่เรามีเพจ OATSxSomewhere เพราะว่ามันก็เหมือนการเดินทางที่ช่วยเติมไฟอะไรบางอย่างในการทำงานของเราไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเพื่อไป explore สิ่งใหม่ๆ ก็ดี หรือจะเป็นการเอาความรู้สึกใหม่ๆ กลับมาทำงานอีกครั้งก็ยังได้ เรามองว่าสองธุรกิจมันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ส่วนการทำงานอีกเรื่องนึงที่เราว่าสำคัญคือเราก็ต้องฝึกที่จะตัด หมายถึงการ shut down work ในวันที่เราพักผ่อนอยู่บ้านบ้าง เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไหร่ที่เรากลับบ้านเราก็จะไม่ทำงานกันแล้ว แต่ก็อาจจะมีแค่มอนิเตอร์กันบ้างครับ

โอ๊ตซึ : จริงเหรอ (หัวเราะ)

โอ๊ต : คือจริงๆ แล้วผมว่ามันก็พูดยาก เพียงแต่ว่ามันก็เป็นสิ่งที่เราก็ต้องพยายาม ซึ่งเราเองก็จะพยายามคิดอยู่เสมอว่า “ช่างมันเถอะ เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยเคลียร์” (หัวเราะ)

โดนัทของ DROP BY DOUGH ในวันแรกต่างจากวันนี้ยังไง

โอ๊ตซึ : โห เราว่ามันพัฒนามาเยอะมาก จริงๆ เราพัฒนาในทุกๆ วัน ในทุกๆ เดือนกันเลยด้วย ถ้ามองย้อนกลับไปดูรูปแรกที่เราถ่าย เซตแรกที่ทอดมันก็จะไม่ได้สวย แล้วก็ไม่ได้คราฟต์เท่าทุกวันนี้ ส่วนในเรื่องของรสชาติเองเราก็มีการพัฒนาและปรับปรุงกันมาอยู่ตลอดๆ จนในทุกวันนี้เราก็คิดว่ามันคือโดนัทที่เพอร์เฟกต์ที่สุดของเราแล้ว

ในวันแรกที่เราทั้งคู่ยังไม่ได้มีความรู้ในการทำธุรกิจ F&B มาก การทำโดนัทออกมาในหลายๆ รสชาติ ในแต่ละชิ้นเอง มันก็เป็นเหมือนการทดลองของพวกเรา ในตอนแรกเราเริ่มทอดจากกระทะละ 5 ชิ้น 10 ชิ้น แต่พอเราเริ่มทำในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ต้องทอดเยอะขึ้น เราก็ต้องคอยดูว่าน้ำมันเท่านี้ ทอดได้กี่ชิ้นแล้วทิ้ง แล้วเปลี่ยน จริงๆ ในการทดลองทำตอนแรกๆ แค่ 10 ชิ้นเงี้ย มันง่ายๆ เพราะตัวโดนัทมันฟูสวยไปหมดเลย แต่เมื่อไหร่ที่เริ่มทำ 50 ชิ้น อุณหภูมิความชื้นมันก็แตกต่างกัน เราก็ต้องมา adapt ในทุกๆ วัน

โอ๊ต : ด้วยความที่เราตั้งใจอยากจะบอกทุกคนว่าเราเป็นคาเฟ่แฮนด์คราฟต์โดนัท มันก็ย่อมมาพร้อมกับความชำนาญและประสบการณ์ในการทำ อย่างในวันแรกของ DROP BY DOUGH เราสองคนก็เตรียมตัวกันมาดีมากๆ แล้ว แต่เราว่ากว่าที่เราผ่านมาจนถึงวันนี้ แน่นอนว่าพวกเราก็ต้องมีความชำนาญในการทำ แต่เราก็ไม่หยุดที่จะพัฒนาสูตรใหม่ๆ สำหรับลูกค้า เราก็ตั้งใจพัฒนาสิ่งนั้นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันแบรนด์ไหนที่ใช้แล้วโดนัทของเรามีกลิ่นน้ำมันน้อยที่สุด คุณภาพแป้งแบบไหนที่จะดีที่สุด รวมไปถึงรสชาติของไส้แต่ละไส้ต่างๆ คอมบิเนชั่นใหม่ๆ ก็เลยคิดว่าโดนัทของ DROP BY DOUGH ในวันนี้ก็จะเป็นโดนัทที่เราคิดค้นและพัฒนามาสำหรับลูกค้าในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด เพียงแต่ว่าในอนาคตเองเราก็จะหาวิธีการให้มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ

ในวันที่ธุรกิจโดนัทแบบบูทีกมีมากขึ้น คุณมีวิธีบริหาร DROP BY DOUGH ให้เติบโตอย่างยั่งยืนยังไง

โอ๊ตซึ : ในวันที่กระแสมันเริ่มนิ่ง ในช่วงนั้นเราก็พยายามคิดว่าเราจะทำอะไรใหม่ๆ กันดีเพื่อที่จะให้ลูกค้ายังสั่งโดนัท กาแฟ หรืออาหารจากเราอยู่ หรือว่าให้ลูกค้าเขายังหันมามองแบรนด์เราอยู่ แต่ว่าด้วยวิธีการของเรา มันอาจจะไม่ใช่วิธีการที่ผาดโผนหรือ grab attention จากคนได้มากๆ แต่วิธีที่เราตั้งใจ ที่ทำมากที่สุด คือการรักษาสแตนดาร์ดและคุณภาพของอาหาร-เครื่องดื่มของเราให้ดี เราเชื่อว่าสิ่งนี้นี่แหละที่จะทำให้ลูกค้าเขาก็จะนึกถึงเราเอง แล้วเราก็ต้องทำให้โซเซียลมีเดียของเรามีมูฟเมนต์อยู่ตลอด ให้คนเห็นเราในโซเซียลมีเดียเยอะๆ อาจจะเห็นใน ad เพื่อให้นึกถึงกันบ้าง ในขณะเดียวกันเราก็จะพยายามคิดคอมบิเนชั่นใหม่ๆ เพื่อที่จะได้ grab attention จากคนส่วนหนึ่งได้บ้าง มี collaboration กับแบรนด์อื่นๆ บ้าง อาจจะเป็นรสชาติที่ลูกค้าก็ไม่ได้นึกถึงว่ามันจะสามารถเกิดขึ้นในโดนัทได้ 

โอ๊ต : อีกสิ่งหนึ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุดตั้งแต่ day 1 เลยคือการตระหนักรู้อยู่ตลอดเวลาว่าเราขายอะไร และโฟกัสของเราอยู่ตรงไหน โอเค ที่ลูกค้ามาถึงร้านเราปุ๊บ แล้วรู้สึกว่าร้านเรามันถูกตกแต่งให้สวยงาม แต่มากไปกว่านั้นคือ เราสองคนใส่ใจในคุณภาพของโดนัทและรสชาติของโดนัทมากจริงๆ คือตั้งแต่ day 1 ที่เปิด ทุกคอมเเมนต์ที่ได้รับมา พวกเราอยากจะบอกว่าเรานำกลับมาเวิร์กกันหนักมาก เราพยายามแก้ให้วันต่อไปของเรามันดีขึ้นจริงๆ อย่างที่โอ๊ตซึว่า การใส่ใจคุณภาพของโปรดักต์และการคิดค้นโปรดักต์ใหม่ๆ ออกมาก็เป็นอีกจุดนึงที่จะทำให้ลูกค้าจดจำเราในฐานะคาเฟ่ที่ขายโดนัทจริงๆ และด้วยความที่ DROP BY DOUGH มันเป็นตัวตนของเราและโอ๊ตซึมากๆ ดังนั้นเราก็จะไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวแบรนด์ของเรา เพราะเราก็ทำให้คนเชื่อจริงๆ ว่าตัวตนเรากับ​ DROP BY DOUGH นั้นมันลิงก์กัน อยากให้คนเจอเราสองคนแล้วนึกถึงภาพโดนัทอยู่ตลอด เราอยากเวิร์กไปกับธุรกิจของเรา อยากให้ชีวิตของเราไปกับมัน นี่แหละคือการบริหารธุรกิจ DROP BY DOUH ให้ยั่งยืนในแบบฉบับพวกเรา

อะไรคือบทเรียนที่สำคัญในการทำธุรกิจของคุณทั้งสอง

โอ๊ตซึ : บทเรียนที่สำคัญในการทำธุรกิจของพวกเรา เราว่าทุกวันเป็นบทเรียน เพราะว่าจากที่เราไม่เคยทำขนมมาก่อนเลย เราก็เรียนรู้ ปรับปรุงมาตลอดเวลา เราเลยคิดว่าทุกๆ อย่าง ในทุกๆ วันเป็นบทเรียนสำหรับโอ๊ต 

โอ๊ต : สำหรับเราเองยืนยันเลยว่าแพสชั่นมันสำคัญ แต่ว่ามันไม่พอสำหรับการทำธุรกิจจริงๆ เพราะในการทำธุรกิจ ธุรกิจนึง เราจะไม่ได้เจอแค่เรื่องที่เราชอบมันอยู่แล้ว เราจะต้องเจอเรื่องที่เราไม่ชอบด้วยซึ่งเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงมันได้ เพราะฉะนั้นเราก็แค่รู้สึกว่าเราจะต้องมีความอดทนและมีความรับผิดชอบ สองอย่างนี้จะทำให้เราฝ่าฝันมันไปได้แน่นอน 

มีอีกเรื่องหนึ่งคือ จากที่เราเคยคิดไว้เล่นๆ ว่าเราจะทำคาเฟ่ แล้วเราก็แค่จะมาเซตอัพร้านสัก 3 เดือน ไม่เกิน 6 เดือน แล้วเราก็ค่อยปล่อยให้พนักงานดูเพื่อที่เราจะได้ไปทำอย่างอื่น ธุรกิจอันนี้ผมกับโอ๊ตซึก็ถือว่ามันเป็น passive income กันไป ซึ่งอันนี้มันไม่มีจริงสำหรับเรานะ (หัวเราะ) เพราะพอมาทำแล้วเราก็อยากให้ธุรกิจของเรามันรันไปได้อีกในอนาคต เราเลยหยุดทำกันไม่ได้เลยนั่นเอง จากวันแรกที่เปิดร้านมาจนถึงตอนนี้ที่กำลังจะสู่ปีที่ 4 ยังไม่มีวันไหนที่เราหยุดดูแลธุรกิจ DROP BY DOUGH สักวันเลย เพราะว่าตัวเราเองก็ยังอยากที่จะพัฒนาร้านต่อ ไม่อยากปล่อยทิ้งไว้ให้มันรันไปเอง

มีอะไรอยากจะบอกกับคนที่กำลังอยากทำธุรกิจร่วมกับพาร์ตเนอร์ไหม

โอ๊ต : สิ่งหนึ่งที่คุณจะต้องมีคือการมองเห็นจุดหมายเดียวกัน เพราะว่าไม่ว่าเรากับพาร์ตเนอร์จะมีปัญหาระหว่างการทำงานยังไง แต่สุดท้ายมันก็วนกลับมาที่จุดหมายเดียวกัน อีกส่วนหนึ่งก็คือต้องอดทนและรับฟังกันด้วย

โอ๊ตซึ : อยากบอกว่าให้คิดดีๆ ก่อนที่จะเริ่ม เพราะเราก็รู้สึกว่าเขาก็คงอาจจะเหมือนเราใน day 1 ที่เราสองคนแค่อยากทำธุรกิจ แล้วก็ไม่ได้คิดอะไร คิดว่ามันง่าย เพราะเราก็ยังไม่ได้ทำร่วมกันเนอะ ถ้าหากว่าคิดกันดีแล้ว มีพาร์ตเนอร์แล้ว ก็อยากจะให้ศึกษากันให้ดีๆ ก่อน ไม่ใช่ว่าจะแค่เป็นเพื่อนที่สนิทกันมากแล้วตัดสินใจร่วมลงทุนและทำธุรกิจร่วมกันเลย คือก็อยากให้ศึกษาความชอบ ความต้องการ แล้วก็ objective แบบ 5 ปี 10 ปีเลยว่าเราจะยังมองตรงกันอยู่มั้ย ให้ make sure กันก่อน

สุดท้ายสิ่งสำคัญของการเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดีคืออะไร

โอ๊ต : เราว่าจุดสำคัญของการเป็นพาร์ตเนอร์ธุรกิจ คือเราทั้งคู่จะต้องโฟกัสในจุดที่จะต้องทำงานร่วมกัน แม้ในช่วงแรกที่เราเริ่มทำงานด้วยกันเอง เราอาจจะโฟกัสว่าเราพูดอะไรแล้วเขาจะโอเคมั้ย เหมือนเราแคร์กัน แต่พอทุกวันนี้ที่ความสัมพันธ์ของเราเริ่มเปลี่ยนไป ต่างคนต่างเข้าใจกันมากพอ เดาใจกันได้แล้วว่าแต่ละคนคิดอะไรกันอยู่ เพราะฉะนั้นจุดสำคัญของเราทุกวันนี้ก็จะเปลี่ยนเป็น ‘ทำยังไงให้เราไปด้วยกันได้ไกลกว่านี้’ เหมือนเราก็อยากจะทำให้ธุรกิจของเรามันดีขึ้นกว่าทุกวันนี้อีก มันเลยถึงจุดของการมองความสัมพันธ์ในการทำงานที่เปลี่ยนไป

โอ๊ตซึ : เราว่าคือความเชื่อใจและมั่นใจในตัวพาร์ตเนอร์อีกคน เหมือนเรารู้ว่าเขาเก่งในเรื่องของธุรกิจหรือว่าการจัดการคน เราก็จะปล่อยให้เขาคิดเองได้เลย ส่วนเขาก็น่าจะรู้ว่าเราชอบคิด ครีเอตอะไร เขาก็จะปล่อยให้เราคิดแล้วก็ดีไซน์ออกมา แต่บางเรื่องมันก็จะมีบางอันที่มันก็จะต้องมาประสานกันเนอะ อย่างเช่นเรื่องดีไซน์ บางครั้งเราก็อาจจะฟุ้ง อยากจะสร้างอะไรออกมาเยอะมาก แต่เขาก็จะคอยเบรก คอยเตือนว่าดูบัดเจ็ตด้วยนะ มันก็จะเวิร์กร่วมกันได้ดี

โอ๊ต : สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการบริหารงานร่วมกันก็คือการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี สมมติว่าผมมีหน้าที่ของผม ผมก็ทำให้ดีและก็ซื่อสัตย์กับตัวเองในการทำงาน แล้วก็ต้องซื่อสัตย์กับโอ๊ตซึด้วย เราก็ไม่คิดที่จะโกงกัน แล้วเขาก็จะรู้สึกเองว่าเราก็ทำหน้าที่ของเราได้ดี เขาก็ตั้งใจทำในส่วนของเขาให้ดีด้วยเหมือนกัน ก็ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน

Writer

นักเขียน ผู้ซึ่งมี ‘มัทฉะ’ เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต

Photographer

ทำงานให้งานมันท้อเรา ig : chinnakanc

You Might Also Like