นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Drive To Survive

Drive To Survive สารคดีที่ทำให้ F1 กลายเป็นกีฬาที่มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วที่สุดในโลก

สนาม : อาบูดาบี กรังด์ ปรีซ์
วันที่ : 12 ธันวาคม 2021

“ไมเคิล นี่มันไม่ถูกต้องนะ”

เสียงจากวิทยุเป็นเสียงของ โตโต้ วูล์ฟฟ์ หัวหน้าทีมเมอร์เซเดส ที่ไม่เห็นด้วยกับ ไมเคิล มาซี ผู้อำนวยการแข่งขันฟอร์มูลาวัน หลังสั่งให้ปล่อยรถบางคันที่คั่นกลางระหว่างนักขับ 2 ทีม ได้แซงขึ้นหน้าเซฟตี้คาร์ไป ซึ่งจะทำให้ ลูอิส แฮมิลตัน นักขับของเขาที่กำลังนำห่างเพียงวินาทีและเห็นแชมป์โลกสมัยที่ 8 อยู่ตรงหน้าแล้ว ต้องเสียเปรียบอย่างยิ่งในการดวลกับ แม็กซ์ เวอร์สแตปเพน ผู้ท้าชิงที่เพิ่งเดิมพันเข้าพิตเพื่อเปลี่ยนยางใหม่ตามคำสั่งของคริสเตียน ออร์เนอร์ หัวหน้าทีมเรดบูล

“โตโต้ นี่มันคือการแข่งรถ” คำตอบสั้นๆ จากมาซี 

แล้วเราก็ได้เห็นการดวลกันหนึ่งรอบสุดท้ายตัดสินแชมป์โลกฟอร์มูลาวัน ฤดูกาล 2021 ที่เป็นที่จดจำและโจษจันที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยที่เราทุกคนมีโอกาสได้เป็นสักขีพยานร่วมกันทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในเบื้องหน้า 

รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเบื้องหลังในสุดยอดซีรีส์สารคดีที่ดีต่อแบรนด์อย่าง Formula 1: Drive to Survive

รอบที่ 1

แค่เสี้ยววินาทีหลังไฟสัญญาณปล่อยตัวดับลง ลูอิส แฮมิลตัน ก็ควบรถคันเก่งทะยานฉีกตัวแซงหน้าแม็กซ์ เวอร์สแตปเพน ในตำแหน่งโพลโพซิชั่น หรือนักขับที่ออกสตาร์ทเป็นคันแรกไปแบบต่อหน้าต่อตา

แต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่มของสงครามในสนามแข่งเท่านั้น

การขับเคี่ยวกันระหว่างแฮมิลตันกับเวอร์สแตปเพน ในการแข่งขันรถแข่งฟอร์มูลาวัน หรือ ‘เอฟวัน’ รายการสุดท้ายของปี 2021 ถือเป็นหนึ่งในความทรงจำที่ยิ่งใหญ่ของยุคสมัย 

เพราะในการแข่งขันวันนั้นไม่ต่างอะไรจากบทภาพยนตร์ดีๆ สักเรื่องหนึ่งที่มีครบทุกรสชาติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการหักเหลี่ยมเฉือนคมกันระหว่างสองสุดยอดนักแข่งรถ การแทรกเข้ามามีบทบาทสำคัญของตัวละครลับอย่าง ‘เชโก้’ เซร์จิโอ เปเรซ นักขับมือสองของทีมเรดบูลที่ได้รับการยกย่องในฟอร์มขับระดับตำนาน 

ไปจนถึงจุดพลิกผันราว ‘ปาฏิหาริย์’ ที่คริสเตียน ออร์เนอร์ต้องการ เมื่อรถของโธมัส ลาติฟี แหกโค้งจนทำให้การแข่งต้องหยุดชะงักชั่วคราว 

และที่สุดคือช่วงโมเมนต์การตัดสินใจของผู้ควบคุมการแข่งขันอย่างไมเคิล มาซี ที่สร้างความประหลาดใจให้กับทีมแข่งและผู้ชมทั่วโลก และให้โอกาสเวอร์สแตปเพนได้ดวลกับแฮมิลตันในการขับรอบสุดท้าย

ใครได้ชมการถ่ายทอดสด (ผมเองก็เช่นกัน) คงจำกันได้ถึงความตื่นเต้นระดับทะลักจุดเดือดในวันนั้น

แต่นั่นไม่อาจเทียบได้เลยกับการได้เห็นสิ่งที่อยู่ ‘เบื้องหลัง’​ ของการแข่งขันที่ถูกถ่ายทอดออกมาในซีรีส์สารคดีที่โด่งดังที่สุดในโลกตอนนี้อย่าง Formula 1: Drive to Survive ซึ่งเรื่องราวของเหตุการณ์ในวันที่ 12 ธันวาคม 2021 ที่อาบูดาบี อยู่ในซีซั่นที่ 4 ตอนที่ 10 ในชื่อตอนว่า Hard Racing (ซึ่งก็มาจากคำพูดของมาซีที่บอกกับโตโต้ วูล์ฟฟ์ ที่พยายามฟ้องว่าเชโก้ เปเรซ ขับรถอันตรายเกินไป)

ตลอดระยะเวลา 46 นาที 51 วินาทีในอีพีนี้เต็มไปด้วยเบื้องหลังของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกเอาไว้และถ่ายทอดออกมาได้อย่างเข้มข้นเร้าใจ

ดีขนาดไหน? ก็ดีในระดับที่ Formula 1: Drive to Survive ได้รับการยกย่องว่าเป็นสารคดีที่ไม่เพียงแต่คืนชีพกีฬารถแข่งเอฟวันอีกครั้ง แต่มันยังทำให้เอฟวันกลายเป็นกีฬายอดฮิตของแฟนๆ ทั่วโลกในระดับที่ไม่เคยทำได้มาก่อนด้วย

เพียงแต่ปรากฏการณ์ครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญเลยแม้แต่นิด

ทุกอย่างของ Formula 1: Drive to Survive ได้ถูกขีดและเขียนเส้นทางเอาไว้หมดแล้ว

รอบที่ 13

เวอร์สแตปเพนตัดสินใจเข้าพิตในรอบที่ 13 ส่วนแฮมิลตันเข้าพิตตามมาในรอบถัดไป ทั้งคู่เลือกยางแบบแข็ง (hard tyre) เพื่อใช้วิ่งยาวๆ ส่งให้เซร์จิโอ เปเรซ ขึ้นเป็นผู้นำชั่วคราวในช่วงเวลานี้

“ผมไม่เคยได้มีรถแข่งที่เร็วที่สุดเลย การได้หวดกับรถของเมอร์เซเดสแบบนี้เป็นเรื่องที่สุดยอดมากๆ คริสเตียน (ออร์เนอร์) ต้องการให้ผมรีดศักยภาพของรถให้สุด”

คำพูดและความรู้สึกของเปเรซ เอาเข้าจริงแล้วในยามทั่วไปอาจจะไม่ใช่สิ่งที่แฟนเอฟวันให้ความสนใจมากนักมาก่อน แต่ใน Formula 1: Drive to Survive แล้ว ชีวิต ตัวตน ความรู้สึก และสิ่งละอันพันละน้อยของนักแข่งที่ไม่ได้อยู่ในแสงสปอตไลต์มากนักอย่างเชโก้ รวมถึงอีกหลายคนคือสิ่งที่ทำให้สารคดีกีฬาเรื่องนี้พิเศษและแตกต่างจากสารคดีอื่นๆ ทั่วไป

เพราะมันทำให้เราได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยถูกบอกเล่า (untold story) ของการแข่งขันเอฟวันที่ถูกเก็บงำตลอดมา โดยที่เรื่องราวนั้นได้ถูกรวบรวมและเรียบเรียงมาเป็นอย่างดี 

Formula 1: Drive to Survive หนึ่งในคอนเทนต์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของเน็ตฟลิกซ์ชนะใจผู้ชมได้ตั้งแต่อีพีแรก “All to Play For” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งในซีซั่นที่ 1 ของ Formula 1: Drive to Survive ซึ่งออกฉายพร้อมกันทั่วโลกในช่วงต้นปี 2019 จนถึงปีนี้ 2024 ที่เข้าสู่ซีซั่นที่ 6 แล้ว

จุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากไอเดียของ Liberty Media ซึ่งตัดสินใจซื้อกิจการรายการรถแข่งฟอร์มูลาวัน รายการรถแข่งที่ดีที่สุดและมีแฟนติดตามมากที่สุดในโลกต่อจาก CVC Capital ด้วยเงินมหาศาลถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.87 แสนล้านบาท) เมื่อปี 2017

เพียงแต่ในครั้งนั้น Liberty Media บริษัทสัญชาติอเมริกันเองก็ถูกตั้งคำถามอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะเอฟวันดูเหมือนจะตกต่ำลงเรื่อยๆ จำนวนผู้ชมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และปัญหาใหญ่ที่สุดคือการที่พวกเขาไม่สามารถเจาะกลุ่มแฟนกีฬาที่เป็นคนรุ่นใหม่เจนฯ Z ได้

อย่างไรก็ดี พวกเขามองเห็นโอกาสและศักยภาพมากมายของเอฟวัน ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องของนักขับรถแข่ง หรือศาสตร์ที่เข้าใจได้ยากอย่างอากาศพลศาสตร์ และความลึกซึ้งของเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ซึ่งอาจเป็นกำแพงบางๆ ที่เคยจำกัดเอฟวันไว้สำหรับแฟนตัวยง

สิ่งที่ Liberty Media มองเห็นคือ ‘ฉากชีวิต’ เรื่องราวที่เหมือนบทหนังบทละครดีๆ ที่มีตัวละครให้เลือกกระจายบทอย่างมากมาย ตัวเอก ตัวร้าย เพื่อนพระเอก ตัวโกง ตัวละครสุดดราม่า 

และสำคัญที่สุดคือเรื่องราวทั้งหมดที่เหมือนถูกขีดเขียนขึ้นมานั้นเป็นเรื่องจริงทั้งหมด เพราะเอฟวันเป็นกีฬาที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ทั้งสิ้น ด้วยความเป็นกีฬาที่วัดกันด้วยการตัดสินใจในหลักเสี้ยววินาที​ การวางแผนที่ดี และทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยที่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ สามารถส่งผลต่อการแข่งขันอย่างรุนแรงได้เสมอ

ถ้าพวกเขาถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ออกมาให้ทุกคนได้เห็นมากกว่าแค่รถวิ่งผ่านไปมาอย่างรวดเร็วในสนามกับรายงานข่าวสั้นๆ ว่าใครได้แชมป์ในสนามนั้น เปลือยตัวตนของนักขับ เปิดเผยฉากที่ซ่อนอยู่ในเบื้องหลัง บทสนทนาที่เผ็ดร้อน ธาตุแท้ของมนุษย์คนหนึ่ง การชิงไหวชิงพริบนอกสนาม มันน่าจะโดนใจคนได้ไม่ยาก

คำถามคือแล้วจะเล่าแบบไหน เล่าผ่านช่องทางอะไร?

พวกเขาเลือกเน็ตฟลิกซ์ และเป็นฝ่ายที่ติดต่อไปเองด้วย

“พวกคุณสนใจจะทำสารคดีร่วมกับเราไหม เราจะให้สิทธิ์พวกคุณเข้าได้ทุกพื้นที่เลย”

รอบที่ 35

เวอร์สแตปเพนชิงจังหวะเปลี่ยนยางอีกครั้งในช่วงที่รถของอันโตนิโอ จิโอวินาสซี ของทีมอัลฟา โรมีโอ มีปัญหาระบบเกียร์โดยที่ไม่ต้องเสียอันดับ ขณะที่แฮมิลตันตัดสินใจไม่เปลี่ยนยางเพราะไม่อยากเสียความได้เปรียบในสนามไป 

ในสนามยามนั้นคือความท้าทายสำหรับแฮมิลตันและทีมเมอร์เซเดส ในขณะที่ความท้าทายสำหรับ Liberty Media และเน็ตฟลิกซ์คือการที่พวกเขาจะทำยังไงถึงจะสามารถทำให้ Formula 1: Drive to Survive แซงเข้าเส้นชัยในหัวใจของแฟนๆ ทุกคน

สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่แค่การเพิ่มแฟนกลุ่มใหม่ ซึ่งเป้าหมายใหญ่ในงานนี้เป็นการเข้าถึงกลุ่มแฟนชาวสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศแม่ของ Liberty Media และเป็นผู้ชมกลุ่มหลักของเน็ตฟลิกซ์ที่ไม่เคยอินกับเอฟวันมาก่อน เพราะถ้าพูดถึงรถแข่งแล้ว ทั้งใจของพวกเขามีแต่ Indy 500 กับ NASCAR เท่านั้น

ในเวลาเดียวกันก็ต้องพยายามรักษาฐานแฟนคลับกลุ่มเดิมที่เป็นแฟนเดนตาย (die-hard fan) เอาไว้ด้วย เรียกว่าต้องรักษาสมดุลให้ดีระหว่างแฟนใหม่กับแฟนเก่า และหัวใจของการแข่งขัน

ว่าแต่คำถามแรกคือ แล้วใครจะเป็นคนทำ? 

โชคดีที่แนท กรูยล์ (Nat Grouille) ผู้อำนวยการ Nonfiction series ของเน็ตฟลิกซ์ค้นพบเจมส์ กาย-รีส (James Gay-Rees) โปรดิวเซอร์ที่อยู่เบื้องหลังสุดยอดสารคดีรถ Senna ที่ว่าด้วยประวัติของอายร์ตัน เซนนา ตำนานนักขับเอฟวันผู้ล่วงลับชาวบราซิล

กาย-รีสมีบริษัทสร้างหนังของตัวเองที่ชื่อ Box to Box Films ซึ่งกำลังมองหาโอกาสจะสร้างหนังเอฟวันที่มีแกนเป็นทีมเรดบูลอยู่พอดีด้วย ทำให้จิ๊กซอว์ต่างๆ ประกอบเข้าเป็นภาพเดียวกัน เป็นภาพของสารคดีชุดที่มีความยาวหลายตอน

โดยที่พวกเขาค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละเปลาะ เริ่มจากการให้ทีมรถแข่งต่างๆ เซ็นสัญญาอนุญาตให้เก็บภาพฟุตเทจได้ในทุกมุมและทุกที่ ซึ่งทีมใหญ่อย่างเฟอร์รารีไม่ยินยอมในตอนแรก ขณะที่เมอร์เซเดสบอกว่าพวกเขาติดสัญญากับ Amazon ที่จะถ่ายทำสารคดีเฉพาะทีมของพวกเขาอยู่

เอาล่ะ ไม่มีทีมใหญ่ก็ไม่เป็นไร ต่อให้เหลือทีมเล็กกว่าอย่างฮาส, เรอโนลต์ และวิลเลียมส์ ก็ไม่ได้แปลว่าจะสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม มันเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ลองคิดนอกกรอบดู

ย้อนกลับไปในระหว่างการถ่ายทำสำหรับซีซั่นแรกซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2018 ทีมงานมีความกังวลอยู่ไม่น้อยว่ามันจะมีเรื่องมีราวอะไรให้หยิบมาเล่นได้มากพอไหม แต่แล้วในช่วงปลายปีของฤดูกาลแข่งขันทีมถ่ายทำก็ได้ฟุตเทจสำคัญมาจนได้

ฟุตเทจนั้นเป็นเหตุการณ์การปะทะคารมกันระหว่างคริสเตียน ออร์เนอร์ หัวหน้าทีมเรดบูล กับไซริล อาบิเตบูล ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าทีมเรอโนลต์ 

ออร์เนอร์กล่าวหาอาบิเตบูลว่าจัดเตรียมเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอาบิเตบูล ได้ยินดังนั้นก็ซัดกลับว่า “ปัญหาของเรดบูลมันไปไกลกว่าเรื่องตัวรถเยอะนะ”

ฟุตเทจนี้ได้กลายเป็นแกนของตอนสำคัญในซีซั่นแรกในอีพีที่ชื่อว่า Art of War ซึ่งในเวลาต่อมา เรดบูลได้ยุติความสัมพันธ์กับเรอโนลต์และหันไปใช้เครื่องยนต์ของฮอนด้าแทน ส่วนเรอโนลต์ไปกระชากตัวดาเนียล ริคคิอาร์โด นักขับลูกรักของออร์เนอร์มา

มันทำให้ทีมถ่ายทำค้นพบคำตอบว่าดราม่าที่พวกเขาต้องการอาจอยู่ที่นอกสนาม 

เพราะการแข่งขันไม่ได้มีเฉพาะระหว่างทีมหรือนักขับ แต่เป็นนักขับในทีมเดียวกัน หรือนักขับกับหัวหน้าทีมที่ความสัมพันธ์ระหว่างบางคู่นั้นเหม็นหน้ากันยิ่งกว่าอะไร แต่ในความเป็นมืออาชีพก็ต้องหาทางที่จะทำงานร่วมกันให้ได้ ไปจนถึงตัวละครแวดล้อมอื่นๆ เช่น ทีมช่าง ทีมเทคนิค เจ้าหน้าที่สนาม ผู้ควบคุมการแข่งขัน ที่ล้วนแต่มีความสำคัญในแบบของตัวเอง

และด้วยความสุดยอดของทีมถ่ายทำที่แฝงตัวอยู่กับทุกทีม โดยทุกคนจะได้รับชุดเครื่องแบบของทีม ใช้จ่ายวันเวลาร่วมกัน ทำให้คนในทีมรถแข่งบางครั้งก็ลืมตัวและแทบจะไม่ได้ใส่ใจด้วยซ้ำแล้วว่ามีกล้องและไมค์ที่จับจ้องพวกเขาอยู่ตลอดเวลา

เราจึงได้ยินบทสนทนาที่เกิดขึ้นจริง ถ้อยคำและอารมณ์ฟาดกันและเชือดเฉือนระหว่างกัน กลายมาเป็นตัวดำเนินเรื่องในแต่ละอีพี ที่จะมีความเข้มข้นมากน้อยและหนักเบาแตกต่างกันออกไป

Formula 1: Drive to Survive จึงเป็นสารคดีที่เปิดเผย ‘ตัวตนที่แท้จริง’ ของ​เอฟวัน มากกว่าว่าชัยชนะเป็นของใคร เป็นเหมือนนักขับที่พาทุกคนมาสัมผัสโลกที่หมุนเร็วที่สุดใบนี้แบบชัดๆ ไปด้วยกัน 

และแน่นอนว่ามันเป็นประสบการณ์ใหม่ที่อย่าว่าแต่แฟนรุ่นใหม่เลย 

แฟนกีฬาตัวยงหลายคนก็อาจจะไม่เคยเห็นมาก่อนเหมือนกัน

รอบที่ 53

เราทำเท่าที่ทำได้แล้ว มากกว่านี้ก็ต้องพึ่งปาฏิหาริย์แล้วคริสเตียน ออร์เนอร์ บอกกับทีมหลังเห็นลูอิส แฮมิลตัน ทะยานหนีไปไกล โดยที่แม็กซ์ เวอร์สแตปเพน ไล่ยังไงก็ไม่ทัน แม้ว่าจะพยายามซิ่งแบบสุดคันเร่ง แต่แล้วจู่ๆ รถของนิโคลัส ลาติฟี ก็เกิดแหกโค้งตู้ม!

ในแง่ของความสำเร็จ Formula 1: Drive to Survive ทำให้การแข่งรถเอฟวันกลายเป็นกีฬาที่มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วที่สุดในโลก 

ตามข้อมูลในปี 2022 ระบุว่าเอฟวันทำรายได้ถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้นจากปี 2018 ที่ทำได้ 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่จำนวนผู้ชมทั่วโลกมีมากถึง 70 ล้านคน ขณะที่ผลสำรวจของสถาบัน Nielsen พบว่าฐานแฟนของเอฟวันเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2017

ที่สำคัญที่สุดคือพวกเขาทำตามเป้าหมายได้สำเร็จเมื่ออายุเฉลี่ยของผู้ชมลดลงจากเดิม 4 ปี ค่าเฉลี่ยตอนนี้อยู่ที่ 32 ปี และมีจำนวนผู้ชมที่เป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 2 เท่า 

โดยที่แฟนๆ กลุ่มนี้ยังส่งผลทำให้นักแข่งอย่างแม็กซ์ เวอร์สแตปเพน, ชาร์ลส์ เลอร์แกลร์ก, ดาเนียล ริคคิอาร์โด, คาร์ลอส ไซนซ์ กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ในระดับนานาชาติไปด้วยเพราะมีกลุ่มแฟนติดตามเพิ่มขึ้น ในเวลาเดียวกันพวกเขาก็เอาใจแฟนๆ เหล่านี้ด้วยการเสิร์ฟคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มที่แฟนกลุ่มนี้อยู่อย่าง TikTok

แม้กระทั่งหัวหน้าทีมอย่างกุนเธอร์ สไตเนอร์ ก็กลายเป็นขวัญใจไปกับเขาด้วย จากเรื่องราวในปี 2020 ที่ฮาสประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักจนต้องรับเงินสนับสนุนจากดมิทรี มาเซปิน มหาเศรษฐีชาวรัสเซียที่จ่ายเงินเพื่อขอแลกกับการให้ลูกชาย นิกิตา มาเซปิน มีชื่อเป็นนักขับในทีมด้วย รวมถึงขอเปลี่ยนสีรถใหม่ให้เป็นสีธงชาติรัสเซีย พร้อมกับติดแบรนด์ชื่อบริษัทของเขาบนรถ

การยืนหยัดของสไตเนอร์ ที่อดทนอดกลั้นต่อสถานการณ์ยากลำบากนานา ไปจนถึงความเดือดดาล ความสุข ตัวตนที่ถูกเปิดเผยและได้รับการถ่ายทอดทำให้สไตเนอร์กลายเป็นหนึ่งในฮีโร่ของ Formula 1: Drive to Survive ไปด้วย 

สำหรับตลาดสหรัฐอเมริกาที่เป็นเป้าหมายหลักของซีรีส์นั้นก็มีจำนวนผู้ที่เข้าชมเอฟวันในสนามเพิ่มขึ้น โดยรายการยูเอสกรังด์ปรีซ์ ที่เท็กซัสในปี 2022 มีผู้ชมถึง 440,000 คน เพิ่มจากในปี 2018 ที่มีผู้ชม 263,000 คนเกือบ 2 เท่า และทำให้มีการจัดการแข่งขันเพิ่มอีก 2 สนามที่ไมอามี และลาสเวกัส กลายเป็นประเทศที่จัดการแข่งมากกว่าทุกประเทศในโลก ซึ่งแน่นอนว่าเม็ดเงินมหาศาลทั้งจากแฟนๆ และจากสปอนเซอร์หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย

ผลสำรวจในปี 2022 ยังระบุด้วยว่ามีแฟนชาวอเมริกันถึง 53% บอกชัดเจนว่า Formula 1: Drive to Survive คือเหตุผลที่พวกเขาติดตามชมการแข่งขันเอฟวัน

“มันเป็นการแข่งขันเพื่อแย่งชิงคนดู และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างเอฟวันกับแฟนกีฬาในระยะยาว พวกเขาอยากเข้าถึงกลุ่มแฟนอายุน้อยให้ได้” กาย-รีสบอกถึงความสำเร็จของเอฟวันและ Formula 1: Drive to Survive ที่ทำให้กีฬาอีกหลายประเภทอยากเดินตามรอยความสำเร็จนี้ เช่น กอล์ฟ (Full Swing), เทนนิส (Break Point) และอีกมากมาย

เพียงแต่การจะเดินตามรอยนั้นไม่ง่าย เพราะการแข่งเอฟวันมีจุดแข็งหลายอย่างที่ได้เปรียบกว่า 

รอบที่ 58 (รอบสุดท้าย)

หากการแข่งรถเอฟวันมีองค์ประกอบหลายอย่างที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ Formula 1: Drive to Survive เองก็ไม่แตกต่างกัน สารคดีชุดนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอด branded content เลยทีเดียว

เพราะอะไร?

1. มีเป้าหมายที่ชัดเจน: เข้าถึงคนดูกลุ่มใหม่ และสร้างการรับรู้ให้แบรนด์เอฟวัน

2. พร้อมต้อนรับแฟนกลุ่มใหม่: Formula 1: Drive to Survive ถูกสร้างมาเพื่อเปิดมุมมองการดูกีฬา และดึงดูดแฟนกีฬาหน้าใหม่ ไม่ต้องลงลึกทุกรายละเอียดแบบแฟนเดนตายก็บันเทิงได้ 

3. มีรูปแบบที่โดนใจ บนแพลตฟอร์มที่ใช่: การเลือกจับมือกับเน็ตฟลิกซ์เป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุด แบบวิน-วินสำหรับทั้งเอฟวัน ที่ได้เข้าถึงผู้ชมทั่วโลกของเน็ตฟลิกซ์ โดยเฉพาะตลาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา และเน็ตฟลิกซ์ก็ได้ลูกค้าที่สมัครใช้บริการเพิ่มขึ้นเพราะอยากติดตาม Formula 1: Drive to Survive 

4. ให้ผลลัพธ์จับต้องได้จริง: Formula 1: Drive to Survive สร้างตัวตนและการรับรู้ถึงเอฟวันในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน พวกเขาชนะใจกลุ่มแฟนคนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นแฟนตัวยงที่ติดตามต่อเนื่องยาวๆ ในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีบทเรียนที่สามารถถอดรหัสจากสารคดีชุดนี้ได้อีกหลายอย่าง 

• การเล่าเรื่องตามความเป็นจริง (authentic storytelling) คือหัวใจ: เพราะทำให้ทุกคนได้ร่วมเดินทางไปด้วยกันในเรื่องราวและความท้าทายที่บอกเล่าผ่านผู้คนจนจับต้องได้ กลายเป็นความผูกพัน และความเข้าใจที่มากขึ้น

• ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ (strategic partnership) เลือกดีมีชัยไปกว่าครึ่ง: การที่ Liberty Media ตัดสินใจเลือกแพลตฟอร์มอย่างเน็ตฟลิกซ์ช่วยเพิ่มการรับรู้ถึงแบรนด์ได้อย่างมากมายมหาศาล ร่วมถึงสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางการตลาด

• การกระจายความหลากหลายของเนื้อหา (content diversification): ช่วยให้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่กว้างขึ้น เพราะการพยายามทำเนื้อหาให้มีความหลากหลายและแตกต่างช่วยทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่มีความสนใจหลากหลาย ไม่ได้จำกัดแค่กรอบเนื้อหาและรูปแบบเดิมๆ เช่น รายงานทีมเต็ง ข่าวผลการแข่งขัน หรือสกู๊ปข่าวนักแข่งเทพ 

• ใครๆ ก็อยากรู้เบื้องลึกเรื่องวงใน (behind the scenes): การเปลี่ยนมุมมองใหม่ของเรื่องเดิมก็อาจทำให้ผู้ชมรู้สึกสดใหม่และน่าตื่นเต้นได้ แม้ว่าจะเคยชมการแข่งแบบสดๆ มาแล้วแต่การได้รู้รายละเอียดเบื้องหลังช่วยเพิ่มความลึกซึ้งในความเข้าใจและความรู้สึกชื่นชมของคนดูได้อีก 

ทั้งหมดนี้ของ Formula 1: Drive to Survive ทำให้การแข่งรถเอฟวันไม่เพียงแค่ ‘รอดชีวิต’ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ยังเติบโตอย่างสดใสได้อีกครั้งอย่างน่ามหัศจรรย์

จากเดิมที่แฟนรถแข่งจะรอเปิดฤดูกาลอย่างเหงาๆ ตอนนี้ทุกคนเฝ้ารอซีซั่นใหม่ของสารคดีรถแข่งชุดนี้ว่าจะมีเบื้องลึก เบื้องลับ มีพัฒนาการของตัวละครหรือเรื่องราวยังไง ไปจนถึงมีอะไรที่เป็นเหตุและผลของเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นและเป็นข่าวผ่านตามาก่อน

ว่าแล้วภาพบนจอตอนนี้ ถัดจากเซฟตี้คาร์ เห็นแฮมิลตันในอารมณ์หงุดหงิดแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ กำลังรอออกตัวในรอบสุดท้ายของการแข่งขันโดยที่รู้ว่าเขาพลาดไม่ได้แล้ว ขณะที่เวอร์สแตปเพนค่อยๆ เคลื่อนรถมาใกล้ๆ เหมือนเสือที่รอขย้ำเหยื่อ

“นี่คือช่วงเวลาที่ทั้งสองจะได้สร้างประวัติศาสตร์”

โดยไม่รู้ตัว หัวใจของเราเต้นแรงตามไปด้วยแล้ว

อ้างอิง

Match facts

  • ในบางซีซั่นอาจจะไม่มีทีมที่ปฏิเสธจะเซ็นสัญญาเพื่อปรากฏในซีรีส์ ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่ทีมสามารถทำได้ และก็เปลี่ยนใจกลับมาได้เช่นกัน
  • การที่ Formula 1: Drive to Survive ยืนยาวถึงซีซั่นที่ 6 ทำให้ผู้สร้างสามารถเจาะลึกถึงพัฒนาการของตัวละครได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักขับหรือหัวหน้าทีมก็ตาม
  • เน็ตฟลิกซ์ยังไม่มีการยืนยันการสร้างซีซั่นที่ 7 ในเวลานี้ แต่เชื่อว่าน่าจะมีให้ชมอย่างแน่นอน

Writer

นักเตะสมัครเล่นที่พอเขียนหนังสือได้นิดหน่อย เชื่อในพลังของตัวหนังสือที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้ มีเพจเล็กๆของตัวเองชื่อ Sockr และเคยแปลหนังสือ เมสซี vs. โรนัลโด: คู่ปรับฟ้าประทาน

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: y.pongtorn@gmail.com

You Might Also Like