Pain Point

ซีรีส์ Dopesick กับประเด็นเรื่องยา ความโลภ ช่องโหว่กฎหมาย จนยาแก้ปวดโอปิออยด์ OxyContin ระบาดครั้งใหญ่

ภาพลักษณ์ของวงการแพทย์เป็นอะไรที่ซับซ้อนและเข้าถึงได้ยากสำหรับคนทั่วไป ศีลธรรมและจรรยาบรรณของแพทย์ถูกยกไว้บนหิ้งเชิดชูเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การจ่ายยารักษาอาการเจ็บป่วยถือเป็นเป้าหมายอันสูงส่งเพื่อปกป้องชีวิตมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันแพทย์คือด่านหน้าของอุตสาหกรรมธุรกิจการแพทย์มูลค่าหลายแสนล้านทั้งโรงพยาบาล อุปกรณ์การแพทย์ ประกันสุขภาพและยารักษาโรค สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับองค์กรเหล่านี้ควรเป็นการรักษาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น แต่ความจริงบางทีก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น บางครั้งที่เป้ากลับกลายเป็นผลกำไรและรายได้จำนวนมหาศาล สร้างผลประโยชน์ให้คนเพียงหยิบมือโดยไม่สนเลยว่าจะแลกมาด้วยหายนะของสังคม ครอบครัว และชีวิตของคนอีกหลายแสนคน

ซีรีส์ Dopesick ที่กำลังฉายอยู่ใน Disney+ ได้หยิบเอาเบื้องหลังอันน่าตกใจของอุตสาหกรรมการแพทย์ที่พึ่งพาภาพลักษณ์ของแพทย์อันน่าเชื่อถือเพื่อแนะนำการรักษา จ่ายยา และดูแลให้กับผู้ป่วยที่เต็มไปด้วยความกังวล พร้อมจะเชื่อฟังและทำตามทุกอย่างที่แพทย์บอกด้วยความไว้ใจ เรื่องราวในซีรีส์อ้างอิงถึงเหตุการณ์การระบาดของยาแก้ปวดโอปิออยด์ OxyContin ตั้งแต่ยุค 90s จนถึงปัจจุบันในอเมริกาที่ขับเคลื่อนด้วยทุนนิยม ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้ช่วยให้รอดกับนักขายในการสร้างรายได้จำนวนมหาศาล ตลาดที่ผู้เคราะห์ร้ายคือผู้ป่วยที่เพียงแค่อยากกลับมาแข็งแรงเป็นปกติอีกครั้งหนึ่ง สำหรับบางคนโอกาสนั้นไม่เกิดขึ้นอีกเลย

หนึ่งในคนที่เห็นช่องว่างตรงนี้คือ อาเทอร์ แซกเลอร์ (Arthur Sackler) ชายผู้เป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรผลิตยาหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐบนการทุจริตและบิดเบือนข้อมูลเพื่อหาผลประโยชน์

อาเทอร์เป็นลูกชายคนโตของผู้อพยพชาวยิวจากทวีปยุโรปที่มักมองหาโอกาสทางธุรกิจเสมอ เป็นจิตแพทย์ที่มีความสามารถ แต่สิ่งที่นำความร่ำรวยมาสู่ตัวเขากลับเป็นความสามารถทางการตลาดเสียมากกว่า ในปี 1980 บริษัท Purdue Pharma ที่สามพี่น้องจากตระกูลแซกเลอร์ได้ผลิตยาแก้ปวด MS Contin สำหรับคนไข้มะเร็งขั้นสุดท้ายที่กำลังทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวด เป็นมอร์ฟีนแบบเม็ดที่ออกฤทธิ์นานช่วยทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตที่บ้านอย่างไม่โหดร้าย แทนที่จะต้องนอนหยอดมอร์ฟีนแบบเหลวที่โรงพยาบาล

ยาตัวนี้สร้างรายได้และความสำเร็จอย่างมากต่อ Purdue Pharma และตระกูลแซกเลอร์ก็ร่ำรวยขึ้นมาจากตรงนั้น (ซึ่งมีรายงานว่านำออกมาขายโดยยังไม่ได้รับการรับรองทางกฎหมายก่อนด้วย) หลังจากที่อาเทอร์เสียชีวิตในปี 1987 ทายาทของเขาก็ขายหุ้นให้กับพี่ชายของอาเทอร์ทั้งสองคนให้ดูแลต่อไป ซึ่งยุคต่อมาคำว่าจริยธรรมและกฎหมายแทบไม่มีความหมายสำหรับพวกเขาอีกต่อไป เมื่อริชาร์ด แซกเลอร์ (Richard Sackler) เข้ามารับช่วงต่อพยายามผลักดัน OxyContin สู่ท้องตลาดอย่างไร้ความรับผิดชอบในช่วงปี 90s ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่าโฆษณาเกี่ยวกับยานั้นเป็นเรื่องโกหก แต่เขาไม่สนใจเลยสักนิดว่ามันจะทำร้ายหรือสร้างผลกระทบกับสังคมแค่ไหน

OxyContin เป็นยาแก้ปวดโอปิออยด์ที่กลายเป็นต้นตอการระบาดของการใช้ยาเสพติดทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา อย่างน้อยที่สุดมีคนเสียชีวิตจากการใช้ยาแก้ปวดโอปิออยด์อย่าง OxyContin ไปแล้วกว่า 500,000 ราย โดยจำนวนมากมาจากภูมิภาคแอปพาเลเชียที่มีอุตสาหกรรมหนักอย่างการขุดเหมืองเป็นแหล่งรายได้หลักของชาวเมือง สาเหตุที่เป็นแบบนั้นเพราะว่าคนงานขุดเหมืองเหล่านี้มักประสบอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เผชิญปัญหาเรื่องอาการบาดเจ็บอยู่บ่อยๆ จนกลายเป็นเป้าหมายแรกของ Purdue Pharma ในการเข้าไปเจาะกลุ่มแรงงานที่ต้องการยาระงับการเจ็บปวดเหล่านั้น

ยาแก้ปวดโอปิออยด์สร้างขึ้นมาโดยมีส่วนประกอบสำคัญคือสารโอปิออยด์เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อตัวรับโอปิออยด์ (opioid receptor) ในสมองโดยตรง เมื่อสมองรับโอปิออยด์จะทำให้เคลิบเคลิ้ม และมีฤทธิ์ลดอาการปวด โอปิออยด์ที่ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ด้วยอย่างเช่นมอร์ฟีน (morphine) สามารถนำเข้าสู่ร่างกายได้ ทั้งแบบสูบ สูดทางจมูก ฉีดเข้าเส้นเลือดหรือกินทางปาก OxyContin ก็อยู่ในยาแก้ปวดกลุ่มนี้ ปัญหาอยู่ที่ Purdue Pharma บริษัทยาของครอบครัวแซกเลอร์บิดเบือนความจริง นำเสนอ OxyContin ว่าเป็นยาแก้ปวดโอปิออยด์ที่มีโอกาสเสพติดน้อยกว่า 1% สามารถใช้เป็นระยะเวลานานได้โดยมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย นั่นก็เป็นคำโกหกที่เซลส์ขายยาบอกแก่แพทย์และเภสัชกรจน OxyContin เริ่มถูกจ่ายให้กับคนไข้ที่มีอาการปวดนิดหน่อย (อย่างปวดหัวหรือปวดฟัน) กลายเป็นจุดเริ่มต้นการระบาดของวิกฤตเสพติดยาแก้ปวดโอปิออยด์ตั้งแต่ช่วงกลางของยุค 90s ที่สำคัญยาแก้ปวดโอปิออยด์เหล่านี้ยังเป็นการเบิกทางให้คนที่เสพติดหันไปหาเฮโรอีนมากขึ้นด้วย

ตระกูลแซกเลอร์ได้สร้าง OxyContin ให้กลายเครื่องผลิตรายได้หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ แพทริก แรดเดน คีฟ (Patrick Radden Keefe) นักข่าวเชิงสืบสวนชาวอเมริกันได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้บนเว็บไซต์ The New Yorker เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน ตอนนั้นชาวอเมริกันเริ่มแสดงความโกรธเคืองต่อครอบครัวแซกเลอร์ผู้อยู่เบื้องหลังการผลิตและจำหน่ายยาแก้ปวดโอปิออยด์ OxyContin และใช้เงินที่เปื้อนเลือดเหล่านั้นไปบริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลก (Louvre, The Metropolitan Museum of Art, Serpentine Sackler Gallery และมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ อย่าง Harvard และ Oxford)

แพทริกเล่าถึงเบื้องหลังของครอบครัวนี้อย่างละเอียด โดยใช้หลักฐานประกอบอย่างแน่นหนาบ่งบอกว่าครอบครัวแซกเลอร์ ทราบดีว่ายา OxyContin ที่พวกเขาขายนั้นเป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนการแพร่ระบาดของการใช้ยาแก้ปวดโอปิออยด์ที่มีสารฝิ่นในทางที่ผิดยังไงบ้าง และในความเป็นจริงพวกเขาทำการตลาดอย่างหนักเพื่อหาประโยชน์จากมันจนร่ำรวยมหาศาล จนมีเงินไปบริจาคเพื่อสร้างภาพลักษณ์ครอบครัวแซกเลอร์ผู้ใจบุญ (ใครสนใจเรื่องนี้สามารถหาอ่านได้ในหนังสือ Empire of Pain โดย แพทริก แรดเดน คีฟ เขียนไว้ดีมาก หรือถ้าดูซีรีส์ Dopesick แล้วอยากอ่านหนังสือก็ไปตามหนังสือ Dopesick ของ Beth Macy ได้ ดีไม่แพ้กัน)

ที่น่าตกใจก็คือว่าตระกูลแซกเลอร์นั้นปฏิเสธความผิดทุกอย่าง โดยเฉพาะริชาร์ดผู้นำที่อยู่เบื้องหลังบริษัท Purdue Pharma ที่ไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากหน่วยงานกำกับดูแลที่หละหลวม ระบบสุขภาพและรักษาพยาบาลที่บกพร่อง และความโลภของกลุ่มคนจนทำให้ยาตัวนี้ถูกแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว นอกจากจะเคลมว่ามันคนไข้จะมีโอกาสเสพติดน้อยกว่าโอปิออยด์อื่นแล้ว (ซึ่งไม่จริง) พวกเขายังบอกว่าโครงสร้างของยาเป็นแบบออกฤทธิ์ช้า ซึ่งทำให้คนที่ทานไม่รู้สึกเคลิ้มทันที (high) จึงมีโอกาสน้อยที่จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด (ซึ่งก็ไม่จริงอีก) ผู้เสพติดบางรายใช้วิธีการบดยาเพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์เร็วขึ้นแล้วสูดทางจมูกเหมือนเฮโรอีน ช่วงแรกที่ทานจะแก้ปวดได้ดี แต่พอนานไปจะออกฤทธิ์สั้นลง ทำให้ต้องทานยาเพิ่มขึ้น บริษัทให้ข้อมูลกับแพทย์ว่ามันเป็นเรื่องปกติและสามารถเพิ่มโดสยาเพื่อระงับความปวดได้เพราะไม่ติดยาก (ซึ่งไม่จริง) แพทย์บางคนทั้งๆ ที่เริ่มรู้สึกถึงความรุนแรงของ OxyContin แต่ก็ยังไม่หยุดจ่าย (มีทั้งส่วนที่เชื่อคำโกหกและมีทั้งส่วนที่ได้ผลประโยชน์) บริษัทถึงขั้นมีมีลิสต์ของแพทย์ที่จ่าย OxyContin เกินความพอดีไว้ในมือ แต่ไม่เคยมีคนไปแจ้งหรือควบคุมการจ่ายยาของแพทย์เหล่านี้เลย ส่วนแพทย์เองก็จะได้รับการประคบประหงมอย่างดี พาไปงานเลี้ยง ทานข้าว พักผ่อน เพื่อให้เซลส์สามารถเข้าถึงตัวแพทย์และขาย OxyContin ได้มากขึ้น ส่วนเซลส์ขายยานอกจากจะได้คอมมิชชั่นสูงจากยอดขายแล้ว บริษัทยังจัดการแข่งขันภายในเพื่อหาเซลล์ที่ทำยอดขายได้มากที่สุดเพื่อชิงรางวัลใหญ่อย่างทริปเดินทางไปพักผ่อนต่างประเทศอีกด้วย

แม้จะมีรายงานเกี่ยวกับการเสพติดยา OxyContin มากมายแค่ไหน ริชาร์ดก็โต้กลับไปเหมือนเดิม

“ยาไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือเพราะคนที่ใช้ยาผิดวิธีต่างหาก”

Purdue Pharma สร้างรายได้จาก OxyContin ราวๆ 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างที่บริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับครอบครัวเล็กๆ น้อยๆ พวกเขาก็ไปซื้อคฤหาสน์ทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกา มันเป็นความบกพร่องของระบบสาธารณะสุข อาจจะมาจากความละเลยในหน้าที่หรือผลประโยชน์บางอย่างส่วนตัว ในหนังสือของแพทริกรายงานเอาไว้ด้วยว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ที่ดูแลเรื่องการอนุมัติ OxyContin ใช้เวลาสั้นมากเพียงแค่ 11 เดือนเท่านั้น พอยาถูกปล่อยสู่ตลาด ก็ลาออกจาก FDA แล้วหนึ่งปีต่อมาก็มาทำงานที่ Purdue Pharma โดยมีรายได้ 400,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราวๆ 14 ล้านบาท) หรืออย่างอีกเหตุการณ์หนึ่งที่อัยการของรัฐบาลกลางเรียกผู้บริหารของ Purdue Pharma มาเข้าพบเพราะตอนนี้จำนวนคนที่เสพติดยาแก้ปวดเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นประเด็นระดับประเทศ ผู้บริหารของ Purdue Pharma ยอมรับว่า OxyContin แบบเม็ดขนาด 160 มก. รุนแรงมากพอที่จะทำให้เด็กเสียชีวิตได้ แต่หลังจากนั้นไม่นาน อัยการดังกล่าวตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งมารับงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท Purdue Pharma แทน

แม้ว่าจะพยายามปกปิดและหลบเลี่ยงความผิดมาโดยตลอด แต่สุดท้ายกฎหมายที่ถูกขับเคลื่อนโดยสังคมและครอบครัวผู้เสียหายก็เริ่มมีหลักฐานมากพอเพื่อจะฟ้องร้องบริษัทได้ ในปี 2007 ที่ศาลรัฐเวอร์จิเนีย Purdue Pharma ยอมรับว่าโกหกเกี่ยวกับศักยภาพในการเสพติดของ OxyContin โดนปรับ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มันก็เป็นเพียงรอยข่วนเล็กๆ ไม่ได้สะทกสะท้าน หลังจากนั้นก็ขายยาเหมือนปกติต่อไป แต่ก็เจอการต่อต้านและถูกฟ้องอยู่เรื่อยๆ มาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อปี 2019 ที่เริ่มเจอข้อหาและหลักฐานที่มัดแน่นเอาผิดมากขึ้น ครอบครัวแซกเลอร์ตัดสินใจโยกเงินของครอบครัวออกจากบริษัทไปไว้ในธนาคารต่างชาติและยื่นล้มละลาย Purdue Pharma ทันที ซึ่งถ้าทำสำเร็จได้ก็หมายความว่าจะไม่มีใครสามารถเอาผิดและปรับสมาชิกในครอบครัวของพวกเขาได้เลย 

ในรายงานล่าสุดจากหนังสือพิมพ์ The New York Times เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2022 บอกว่าได้มีการตกลงจ่ายค่าปรับจากตระกูลแซกเลอร์เป็นเงินราวๆ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อนำไปช่วยเป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุนให้กับองค์กรและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ OxyContin ส่วนตัวของสมาชิกครอบครัวแซกเลอร์จะไม่มีใครถูกเอาผิดทั้งที่ผ่านมาและในอนาคตเกี่ยวกับเรื่องการระบาดของยาแก้ปวดโอปิออยด์อีก (แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงการดำเนินคดีอาญา)

จริงอยู่ว่าการเมินเฉยต่อกฎหมายและความโลภของครอบครัวแซกเลอร์ทำให้ความเสียหายบานปลายมาจนถึงตอนนี้ แต่เรื่องราวของ OxyContin เป็นเพียงมุมหนึ่งของปัญหาระบบสาธารณะสุขของประเทศทุนนิยมทั่วโลกที่ใช้ผลประโยชน์เป็นตัวขับเคลื่อนกลไกการทำงาน (มองไปรอบๆ ตัวจะรู้ว่าไม่ใช่แค่อเมริกา) ใช้ช่องว่างระหว่างการเป็นผู้ช่วยให้รอดกับนักขายของแพทย์เพื่อโอกาสสร้างรายได้อันแปดเปื้อน เพราะฉะนั้นตราบใดที่กฎหมายยังมีช่องโหว่ อุตสาหกรรมการแพทย์ยังคงสร้างรายได้มหาศาล มนุษย์ยังมีความโลภ เรื่องราวของ OxyContin ตัวต่อไปก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดขึ้น เปลี่ยนก็เพียงแต่ตัวยา ตัวละคร และความเสียหายที่รุนแรงมากแค่ไหนเพียงเท่านั้น

อ้างอิง

www.theguardian.com/books/2021/may/13/empire-of-pain-review-by-patrick-radden-keefe-the-dynasty-behind-an-opioid-crisis?CMP=Share_iOSApp_Other

www.youtube.com/watch?v=3ezLg1fL_jQ

www.ft.com/content/1db7800f-78d5-474e-9b1e-744b1c1a837c?fbclid=IwAR3LHcZ5NvbWoEUvE0CkHJMYGvhNZVuria9Bk12tpSyjyarkHl3Pm3kydFc

www.theguardian.com/us-news/2021/mar/16/purdue-pharma-10bn-opioid-settlement-plan-bankruptcy-sackler-family

www.nytimes.com/2022/03/03/health/sacklers-purdue-oxycontin-settlement.html

www.nytimes.com/2019/09/19/health/purdue-sackler-opioid-settlement.html

Tagged:

Writer

คุณพ่อลูกหนึ่งจากเชียงใหม่ที่รักการเขียน การอ่าน และการดองหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจและเป้าหมายการทำงานที่เป็นมากกว่าแค่ผลกำไรและทำงานหนักจนลืมความหมายของการมีชีวิตอยู่

You Might Also Like