ชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ในวัย 78 ทำไมทั่วโลกลุ้นผลเลือกตั้งสหรัฐฯ  และประเทศแถบอาเซียนจะได้รับผลกระทบอะไร

แค่รู้ว่านายกรัฐมนตรีของไทยก็พอแล้วไหม ทำไมต้องสนใจว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา?

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยตั้งคำถามกับประเด็นการเลือกตั้งของดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างอเมริกา เพราะทุก 4 ปีที่การเลือกตั้งเวียนมาบรรจบ ไม่เพียงข่าวไทยเท่านั้น แต่ข่าวต่างประเทศต่างก็พูดถึงและจับตามอง เช่นเดียวกับไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่ผลการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาได้ฟันธงแล้วว่าอดีตประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ กลับมาเป็นแชมป์อีกครั้งในอายุ 78 ปี หลังจากที่เขาพลาดท่าให้โจ ไบเดน 

ส่งท้าย weekday นี้ Capital ขอพาไปทำความเข้าใจว่าทำไมการเลือกตั้งของประเทศเดียวประเทศนี้ถึงสำคัญ จนทั่วโลกร่วมลุ้นไปด้วยไม่แพ้คนในประเทศเองเลย

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวพันกับแทบทุกประเทศ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีผลต่อทิศทางของโลกไม่น้อย ด้านเศรษฐกิจก็มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก นโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีแต่ละคนที่เข้ามาปกครองจึงส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลก อัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงการค้าระหว่างประเทศ สหรัฐยังมีความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ที่แตกต่างกัน และเรียกได้ว่าแทบจะมีความสัมพันธ์กับทุกประเทศ 

การเปลี่ยนแปลงหรือการกำหนดนโยบายต่างประเทศจึงมีผลต่อเสถียรภาพของโลก ยังไม่รวมไปถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี ซึ่งหมายรวมถึงการกำหนดการใช้แรงงาน และผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบต่ออุตสาหกรรมพลังงาน และนั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะการเลือกตั้งสมัยไหน ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีย่อมเป็นที่จับตามองทุกครั้งไป โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่ทรัมป์กลับมาครองตำแหน่ง

เช่นที่ มาร์ติน กริฟฟิทส์ ที่เพิ่งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสหประชาชาติฝ่ายกิจการมนุษยธรรมและผู้ประสานงานบรรเทาทุกข์ฉุกเฉินได้บอกกับ BBC ไว้ว่า “ผลของการเลือกตั้งสหรัฐฯ สำคัญมาก เมื่อพิจารณาถึงอิทธิพลของสหรัฐฯ ที่ยากจะหาใครเปรียบ และหาใช่เพียงด้านกำลังทหารและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงศักยภาพในการเป็นผู้นำด้วยอำนาจทางศีลธรรมบนเวทีโลก” 

ผลงานอันน่าขมวดคิ้วของทรัมป์ในสมัยที่ผ่านมา 

สมัยที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี (2017-2021) ทรัมป์ได้ทำหลายๆ สิ่งที่ดูน่าขมวดคิ้วในสายตาพันธมิตรของอเมริกา Vox สรุปไว้ว่าในช่วงสมัยแรกของเขา การดำเนินงานส่วนใหญ่เกิดขึ้นตามแนวคิด ‘American First’ หรือ ‘อเมริกาต้องมาก่อน’

ไม่ว่าจะเป็นการดึงสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้ลงนามทุกรายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทรัมป์เปิดสงครามการค้ากับจีน ทรัมป์ยังวิพากษ์วิจารณ์ NATO หรือองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือที่ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อสร้างพันธมิตรทางทหารระหว่างรัฐบาล 29 ประเทศในยุโรปและ 2 ประเทศในอเมริกาเหนือ ทรัมป์มองว่าประเทศอื่นๆ วางงบสำหรับการทหารน้อยเกินไป ฯลฯ

ความกลัวของทั่วโลกเมื่อทรัมป์ได้รับชัยชนะครั้งที่ 2 

จากบทความของ BBC ที่ลีส ดูเซต์ หัวหน้าผู้สื่อข่าวต่างประเทศได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ อธิบายเอาไว้ว่าภายใต้การนำของทรัมป์ครั้งที่ 2 อาจเกิดสงครามการค้าครั้งใหม่ จากการเก็บภาษีศุลกากรสูงขึ้นโดยเฉพาะจากจีนที่จะถูกเก็บภาษีมากที่สุดที่ 60% ทรัมป์ต้องการเนรเทศแรงงานจำนวนมากออกจากสหรัฐฯ ต้องการลดภาษีโดยเฉพาะจากธุรกิจคนรวยซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ในด้านความมั่นคง ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ถือเป็นผู้บริจาคเงินรายใหญ่ที่สุดขององค์การสหประชาชาติ แต่สมัยแรกของทรัมป์ เขาตัดเงินทุนเพื่อหน่วยงานของสหประชาชาติหลายแห่ง เขายังถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ทรัมป์ยังสนับสนุนรัสเซียอย่างออกนอกหน้า ขณะที่คู่แข่งอย่างแฮร์ริสยืนกรานว่าสนับสนุนยูเครน

ส่วน Euromonitor International ยังได้วิเคราะห์ว่านโยบายการค้าของทรัมป์อาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางการค้าที่สูงขึ้น เป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจโลกกระจัดกระจาย ราคานำเข้าสินค้าจริงทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้น 10% การค้าโลกที่ลดลงก็อาจทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้นได้

ทำไมการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาถึงสัมพันธ์กับการเติบโตของประเทศแถบอาเซียน

ASEAN Briefing ได้คาดการณ์ไว้ว่าการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาครั้งนี้จะส่งผลต่ออาเซียนในหลายมิติ ก่อนหน้านี้อาเซียนได้รับประโยชน์จากการค้าเสรี โดยเฉพาะเวียดนาม มาเลเซีย และไทยที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ ถ้ามีการเก็บภาษีศุลกากรสูงขึ้น ก็อาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดน้อยลง  

อีกสิ่งที่ไม่ใช่แค่ทั่วโลกเท่านั้นที่กลัว แต่ประเทศอาเซียนอย่างไทยเองก็ต้องจับตามองคือความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ทำให้ประเทศในอาเซียนต้องรักษาสมดุลการค้ากับทั้งสองประเทศ เพราะถ้าสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายที่เข้มงวดกับจีน ประเทศในแถบเราๆ อาจเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็อาจพยายามหาฐานการผลิตอื่นซึ่งอาเซียนก็อาจได้รับผลดี 

นอกจากนั้น การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของสหรัฐอเมริกายังเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถ้าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการค้าเสรี แน่นอนว่าประเทศแถบเรานี้ย่อมได้ประโยชน์ แต่ถ้านโยบายการค้าเน้นไปที่ลัทธิชาตินิยม รัฐบาลอาจจูงใจบริษัทสหรัฐฯ ย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ นั่นแปลว่าแนวโน้มการเติบโตและการไหลเข้ามาของเงินทุนสหรัฐฯ ก็อาจชะลอตัวในไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้ ในระดับบุคคล ก็อาจทำให้บริษัทข้ามชาติลดการจ้างงานของคนต่างชาติลงก็ได้  

ที่สำคัญ สมัยที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ทรัมป์แสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่าเขาคิดว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไร้สาระ ทั้งที่การขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการร่วมมือของประเทศมหาอำนาจ 

กลับมาที่ประเทศไทยและแถบอาเซียน ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม ได้ลงทุนกับพลังงานสะอาดจำนวนมาก หากสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนแน่นอนว่าเราย่อมได้ผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเรื่อง Green Financial เรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่เมื่อทรัมป์ได้รับชัยชนะไป ก็อาจต้องรอดูว่าอนาคตพลังงานสะอาดที่ไทยกำลังลงทุนนั้นจะไปในทิศทางไหน

โดยรวมแล้ว ASEAN Briefing สรุปว่าการที่ประเทศในแถบเราๆ พึ่งการการเติบโตจากการค้าและการลงทุนของสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนสูงมาก นโยบายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะด้านการค้า ความสัมพันธ์กับจีน ข้อกำหนดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ฯลฯ จึงล้วนกระทบต่อการเติบโตของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแน่นอน 

หากประเทศไหนปรับตัวให้เข้ากับนโยบายใหม่ของสหรัฐฯ ได้ก็จะช่วยให้เติบโตไปพร้อมกับโลกได้อย่างรวดเร็ว 

อ้างอิง 

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like