ขายดิบขายดี
ขวบปีที่ 14 ของดิบดีแบรนด์สมุดเย็บมือของสาวเชียงใหม่ผู้ไม่ชอบจด แต่ชอบทำสมุดให้น่าตื่นเต้น
นอกจากประเพณีโบราณ อาหารอร่อย และดอยสวย คนที่เคยไปเที่ยวน่าจะรู้กันดีว่าเชียงใหม่คือหนึ่งในเมืองที่งานคราฟต์โดดเด่นไม่แพ้ที่ไหน
ร่ม เครื่องปั้นดินเผา งานถัก งานสาน สิ่งทอ ฯลฯ บอกมาเถอะว่าอยากได้อะไร เพราะสารพัดสิ่งที่คุณนึกออกแทบจะหาซื้อได้ทั้งหมดในเชียงใหม่
ไหนๆ ก็ไหนๆ Brand Belief ตอนนี้ขอถือโอกาสนี้แนะนำอีกสิ่ง นั่นคือสมุดเย็บมือ
ดิบดี เป็นแบรนด์สมุดเย็บมือและงานคราฟต์คัดสรรอายุของ แอ๊ว–คณัสนันท์ ตันวัฒนานันท์ หญิงสาวจาวเจียงใหม่แต๊ๆ ที่โปรดปรานสมุดบันทึกเล่มใหม่เป็นที่สุด แอ๊วชอบซื้อสมุดมาสะสมตั้งแต่เด็ก พอขึ้นมหาวิทยาลัยที่ต้องจด วาด เขียนเยอะๆ ก็อยากทำสมุดแบบที่ใช้งานได้สะดวกในแบบฉบับของตัวเองขึ้นมา ด้วยวิธีเย็บเล่มและเลือกสรรกระดาษแบบดิบๆ ที่เธอหาจากอินเทอร์เน็ต
ทำไปทำมา เพื่อนๆ ก็ขอสมัครมาเป็นลูกค้าหลายราย รู้ตัวอีกทีดิบดีก็กลายเป็นแบรนด์สมุดเย็บมือสุดฮิตประจำเชียงใหม่ มีช็อปของตัวเองที่ลูกค้าชาวไทยและต่างชาติแวะเวียนมาไม่ขาดสาย จนปัจจุบันก็เข้าสู่ขวบปีที่ 14 ของแบรนด์ไปแล้ว
ฤดูฝนที่ฟ้าเชียงใหม่กำลังครึ้มได้ที่ เราถือโอกาสนี้บินไปแอ่ว DIBDEE BINDER LAB ช็อปของดิบดีที่เพิ่งเปิดใหม่ และนั่งคุยกับแอ๊วเรื่องความชอบในสมุดบันทึก ความเชื่อในงานคราฟต์ และการเดินทางของแบรนด์สมุดเย็บเล่มและสิ่งอื่นๆ ที่สะท้อนตัวตนของเธอได้ชัดเจนที่สุด
เล่มที่ชอบ
“ความชอบเรื่องสมุดบันทึกติดมากับเนื้อตัวเราตั้งแต่เด็ก” แอ๊วบอก
พ่อแม่ของแอ๊วเป็นครู ที่บ้านของเธอเปิดโรงเรียนกวดวิชา เธอจึงคุ้นเคยกับเสียงเครื่องโรเนียวในบ้านที่ดังอยู่แทบทุกวัน ไหนจะต้องมาช่วยพ่อแม่เรียงชีตสื่อการสอนวิชาต่างๆ และเข้าเล่ม
“เราโตมากับกองกระดาษ ช่วงวันหยุดจะดูละครก็ต้องเรียงชีต รีดกระดาษไปด้วย”
และเพราะโตมากับกระดาษ แอ๊วจึงโปรดปรานการไปเยี่ยมร้านเครื่องเขียนที่สุด ในโอกาสพิเศษที่เธออยากให้รางวัลตัวเองหรืออ้อนให้พ่อแม่ให้รางวัล เด็กหญิงแอ๊วจะเดินเข้าร้านเครื่องเขียนเท่านั้น
ไอเทมที่ต้องได้ติดตัวกลับมาแทบทุกครั้ง คือสมุดบันทึก
แปลกดีเหมือนกัน ถึงแอ๊วจะชอบซื้อสมุดบันทึก แต่เธอออกปากว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่ชอบการเขียน การวาด หรือการบันทึกเลย
“เราไม่เคยประสบความสำเร็จกับการบันทึก แต่ชอบการได้เปิดสมุดเล่มใหม่ ปิดเทอมเมื่อไหร่ก็เหมือนเป็นโรค ไล่เปิดสมุดใหม่ทุกเล่ม บางทีเอากระดาษที่ไม่ได้ใช้มารวมเล่มใหม่อีกทีหนึ่งโดยใช้เครื่องมือที่บ้าน”
มองย้อนกลับไป นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเป็น Bookbinder หรือช่างเย็บหนังสือของแอ๊วในทุกวันนี้ก็ได้
เล่มที่ใช่
ความน่าตื่นเต้นของการเจอสมุดเล่มใหม่ กลับมาอีกครั้งตอนเธอเรียนมหาวิทยาลัย
ระหว่างเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แอ๊วเจอกระดาษหลากหลายแบบที่ใช้ประกอบการเรียน ไม่ว่าจะกระดาษไข กระดาษจดเลกเชอร์ และกระดาษสำหรับวาดเขียน
บางวันที่ต้องเรียนหลายวิชา เธอพบว่าการพกสมุดหลายเล่มกับกองกระดาษเป็นปึกๆ นั้นไม่ตอบโจทย์ แอ๊วกับตุ๋ย–เพื่อนอีกคนที่โปรดปรานการใช้สมุดบันทึกไม่แพ้กัน จึงหาความรู้เรื่องเย็บเล่มง่ายๆ จากเสิร์ชเอนจิ้น แล้วสร้างสรรค์สมุดเล่มพิเศษของตัวเองขึ้นมา จนสุดท้ายก็ได้สมุดหน้าตาน่าใช้ แถมยังใช้งานได้จริง
สมุดเล่มนี้ของแอ๊วสามารถใช้ได้ทุกวิชา จะจด วาด เขียน หรือพลิกหน้าพลิกหลังก็ทำได้ตามใจ
“เพื่อนคนอื่นเห็นก็ขอให้ทำให้หน่อย แต่เราไม่ทำให้ฟรี ให้เพื่อนซื้อ จากนั้นการทำสมุดก็เริ่มเป็นงานอดิเรก”
รู้ตัวอีกที งานอดิเรกของเธอก็มีลูกค้ามาต่อคิวยาว แอ๊วกับเพื่อนจึงเปิดเพจขายในเฟซบุ๊กจริงจัง และนั่นคือวันที่แบรนด์ดิบดีถือกำเนิด
“ชื่อดิบดีมาจากสมุดเล่มแรกที่เราเย็บ ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่กระแสอัพไซเคิลกำลังมาแรง สมุดเล่มแรกของเราใช้กระดาษมือสองมาเย็บด้วยเชือกป่านที่ดิบมากๆ พอเย็บเสร็จเราก็สบถออกมาว่า ‘ดิบดีว่ะ’ ปรากฏว่าเพื่อนชอบมาก ความหมายก็ดีในแง่ที่เราจะขายดิบขายดีด้วย สุดท้ายก็ใช้ชื่อนี้มาตลอด” เธอยิ้ม
เล่มที่ทำขาย
จากแบรนด์สมุดเย็บมือที่ทำเพื่อหาเงินสนุกๆ แอ๊วกับเพื่อนขยับขยายมาสู่เป้าหมายใหม่
“ตอนแรกเป้าหมายไม่ใช่เรื่องธุรกิจเลย เป้าหมายคือเราอยากหาเงินสนับสนุนงานอดิเรกอื่นๆ ของเรา อย่างเพื่อนเราเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก เราเลยเอาสมุดของเราไปฝากขายที่ร้านหนังสือ ‘เล่า’ ถ้าขายได้มูลค่าเท่าไหร่ก็แลกเป็นหนังสือกลับมา”
ส่วนแอ๊วเป็นสายท่องเที่ยว ซึ่งยุคนั้นรายการหนังพาไปกำลังมาแรง แอ๊วจึงได้แรงบันดาลใจว่าหากหนังพาพี่บอล-พี่ยอดไปเที่ยวที่ต่างๆ ได้ เธอจะใช้สมุดเย็บมือนี่แหละเป็นกุญแจพาเธอไปสู่โอกาสใหม่ๆ และเป็นการสร้างรายได้ให้เธอได้ไปท่องโลก
จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งตอนที่แอ๊วเรียนจบ เธอถามความรู้สึกตัวเองและพบว่าเธอไม่ได้อยากเป็นสถาปนิกขนาดนั้น ตรงกันข้าม หัวใจเธอตะโกนคำว่าผู้ประกอบการเสียงดังกว่า
ปี 2014 ดิบดีเปิดช็อปของตัวเองครั้งแรกริมถนนท่าแพเชียงใหม่ ในเวิ้งเหล็กแดงที่นักท่องเที่ยวแวะเวียนกันไปมาไม่ขาดสาย ด้วยความที่เป็นช็อปเล็กๆ ที่มีต้นทุนจำกัด ดิบดีจึงต้องแชร์พื้นที่ในร้านร่วมกับธุรกิจร้านกาแฟและเครื่องประดับของเพื่อน
“เหตุผลที่เราคิดว่าน่าจะเวิร์กคือทั้ง 3 ธุรกิจซัพพอร์ตกัน เพราะมองในองค์รวมว่าร้านมีความอาร์ตและคราฟต์ และมีกาแฟที่ทำให้ลูกค้าอยู่ในร้านนานขึ้น” เธอวิเคราะห์
เล่มที่ไม่มีเบื่อ
ถ้าจะให้นิยามสมุดของดิบดีได้ดีที่สุด เราอาจพูดได้ว่าสมุดของดิบดีเป็นสมุดของคนขี้เบื่อ
“พอได้มาเย็บสมุดจริงๆ เราค้นพบคำตอบว่าทำไมตอนเด็กๆ เราถึงชอบเปิดเล่มใหม่แต่ไม่เคยใช้เล่มเก่าๆ ได้จนจบเล่มเลย นั่นเพราะกระดาษในเล่มมันเหมือนกันไปหมด และเราเป็นคนขี้เบื่อกับอะไรที่เหมือนเดิม” แอ๊วย้ำ
“เพราะฉะนั้น สมุดของดิบดีจะคละกระดาษในหนึ่งเล่มเยอะมาก ทุกหน้าที่กระดาษเปลี่ยนเนื้อ เราจะรู้สึกว่าเราได้เริ่มต้นใหม่ในเล่มเดิม มันเหมือนได้ให้โอกาสตัวเองได้ลองขีดลองเขียนอีกหลายๆ ครั้ง สิ่งที่เคยเขียนไปแล้วผิดพลาดไม่เป็นไร เริ่มกับกระดาษหน้าใหม่ได้ตลอด”
มากกว่านั้น แอ๊วยังรู้สึกว่า สมุดเย็บมือมีความเป็น ‘มนุษย์’ มากกว่าสมุดทั่วไป
“ไม่ใช่เพราะมันทำด้วยมือนะ แต่สมุดทุกเล่มถูกคิดบนพื้นฐานความต้องการของผู้ใช้มากกว่าเงื่อนไขของระบบอุตสาหกรรม มันไม่ได้ถูกคำนวณว่ากระดาษแบบนี้ต้องทำพันเล่มหมื่นเล่มแล้วจะได้กำไร แต่พอเราทำมือแล้วเราไม่ได้คิดเรื่องต้นทุนขนาดนั้น เราคิดแค่ว่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีความหลากหลายอยู่ในตัวเอง เราต้องการสมุดแบบไหน”
สมุดของดิบดีมีทั้งแบบสต็อกและ made-to-order บางเล่มเป็นสมุดหนา บางเล่มบางแค่ไม่กี่หน้า บางเล่มมาพร้อมโจทย์ว่าอยากให้เก็บได้นานๆ จึงต้องใช้การเย็บที่แข็งแรง ในขณะบางเล่มเจ้าของก็อยากให้เป็นหนังสือท่องเที่ยวที่สามารถเก็บตั๋วหรือโปสต์การ์ด จึงต้องเย็บแบบหลวมๆ เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับสิ่งของเหล่านั้น
“สมุดของดิบดีเปลี่ยนได้เรื่อยๆ บางเล่มเป็นสมุดของนักเดินทาง บางเล่มเป็นสเกตช์บุ๊ก บางเล่มเป็นของที่ระลึกนักท่องเที่ยว แต่สุดท้ายแล้วถ้าพูดถึงเอกลักษณ์ของดิบดีจริงๆ เราคิดว่าเป็นเรื่องของลายเย็บ เราหมกมุ่นกับการตามหาลายเย็บใหม่ๆ ซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามโจทย์ของลูกค้า จริงๆ การเย็บสมุดของดิบดีก็ใช้วิธีคิดเหมือนสถาปนิกเหมือนกัน เขาสร้างบ้านเพื่อแก้ปัญหาให้ผู้เข้าพัก เราก็ทำสมุดที่แก้ปัญหาให้ผู้ใช้”
เพราะเชื่อในความหลากหลาย ภายหลังแบรนด์ดิบดีจึงไม่ได้ขายแค่สมุด แต่มีไอเทมงานคราฟต์ต่างๆ ซึ่งล้วนช่วยสร้างบรรยากาศการจดบันทึกให้รื่นรมย์ขึ้น ไม่ว่าเครื่องเขียน ของกระจุกกระจิก ของใช้ และของตกแต่งบ้านสไตล์วินเทจที่แอ๊วเชื่อว่าคนที่ชอบสมุดของดิบดีจะต้องชอบสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน
เล่มที่สร้างด้วยแพสชั่น
ณ วันที่ดิบดีเปิดช็อปครั้งแรก การจะหาแบรนด์สมุดเย็บมือในเชียงใหม่ยังถือเป็นเรื่องยาก ดิบดีจึงถือเป็นแบรนด์แรกๆ ที่ปลุกตลาดนี้
“เราไม่ได้มองว่าตลาดเล็กเกินไป แต่เราเติบโตไปพร้อมๆ กับตลาดมากกว่า ดิบดีไม่เคยขาดลูกค้าเลย เพราะบางครั้งลูกค้าหลายคนจะนำความท้าทายใหม่มาให้เราเสมอ บางครั้งเขาอยากได้กระดาษหรือเทคนิคการเย็บใหม่” แอ๊วเผย
อย่างไรก็ดี อาจพูดได้ไม่เต็มปากนักว่าการทำแบรนด์ดิบดีเป็นงานที่ทำเพื่อเลี้ยงชีพ นั่นเพราะแอ๊วทำงานหลายอย่าง แต่ละอย่างก็ต่อยอดมาจากความชอบและความถนัดของเธอ
“เราทำหลายสิ่งควบมาเสมอ ทั้งเป็นบาร์เทนเดอร์ที่บาร์ North Gate เป็นสไตลิสต์ และมีแบรนด์ของตัวเอง ถ้าถามว่าดิบดีเลี้ยงเราได้ไหม เราเชื่อว่ามันเลี้ยงได้ แต่เราไม่เคยให้น้ำหนักว่ามันต้องเลี้ยงเรา ดิบดีจึงเป็นงานที่ตอบแพสชั่นมากกว่าเรื่องการเงิน และการเงินไม่เคยเป็นอุปสรรคในการทำงานของเรา”
เช่นเดียวกับทุกธุรกิจ ดิบดีมีวันที่หลง มีวันที่งง มีวันที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหา
“ที่ผ่านมาดิบดีก็มีจุดที่เคว้งนะ” เธอเล่าต่อ “มันคือจุดที่แบรนด์สร้างมาพักหนึ่งแล้วไม่รู้จะไปต่อทางไหน บางคนที่เขาทำคล้ายๆ กันก็โตไปทางจัดเวิร์กช็อป ขายประสบการณ์ให้ผู้ใช้ บางคนก็เน้นขายสินค้าไปเลย เราถามตัวเองแล้วได้คำตอบว่าอยากโตไปทุกทางนั่นแหละ พยายามบาลานซ์ให้ตัวเองอยู่ในจุดที่ไปทางไหนก็ได้ และปล่อยให้โอกาสมันพาเราไปเรื่อยๆ”
หญิงสาวเจ้าของแบรนด์บอกเราอีกว่า ในวันที่หลงๆ งงๆ การกลับมาอยู่กับสมุดนี่แหละช่วยให้เธอผ่านเวลานั้นได้อย่างไม่ยากลำบากจนเกินไป
“ส่วนตัวรู้สึกว่าการได้ทำสมุดเป็นการเยียวยาตัวเอง ในวันที่งานหนักมากๆ แล้วเราได้มานั่งพัก เย็บสมุดเล่นๆ มันเป็นช่วงที่เราได้หยุดความวุ่นวายต่างๆ แล้วอยู่กับมันโมเมนต์นี้ฮีลเราได้ เป็นเซฟโซนของเรา”
เล่มที่เปิดโอกาส
จากช็อปแรกของดิบดีที่ขึ้นชื่อว่าเป็นช็อปที่รวมงานคราฟต์สวยๆ ดิบดีย้ายร้านและแปลงโฉมตัวเองหลายครั้งหลังจากนั้น ทั้งการเปิดช็อปเล็กๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม The Localist ย่านช้างม่อย ตั้งช็อปใหม่ของตัวเองอย่างเป็นทางการในย่านเดียวกันชื่อ dibdee.binder ไหนจะแวะเวียนมาเปิดบูท จัดกิจกรรมที่กรุงเทพฯ เมื่อมีโอกาส
ในวาระที่แบรนด์เดินทางมาถึงปีที่ 10 พอดิบพอดี ดิบดีก่อตั้ง DIBDEE BINDER LAB ช็อปอีกสาขาที่อยู่ภายในพื้นที่ของโรงแรม The Hotel Journal ที่แอ๊วเป็นเจ้าของ นอกจากจะขายสมุดและโปรดักต์อื่นๆ เหมือนเดิม เธอยังเปิดรับงานผลิตสิ่งพิมพ์ของลูกค้า บางครั้งเป็นสมุดของที่ระลึกที่ลูกค้านำไปขายต่อ บางทีก็เป็นหนังสือที่ต้องการความคราฟต์พิเศษ เช่น อาร์ตบุ๊ก ชีวประวัติ หรือหนังสือของนิทรรศการศิลปะที่ต้องการการเย็บเล่มที่ทนทานและเก๋ไก๋
พ้นไปจากนั้น แอ๊วยังตั้งใจอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่ในการทำเวิร์กช็อปและกิจกรรมอื่นๆ ของดิบดีในอนาคต
“เราอยากทำให้ที่นี่เป็นแล็บงานคราฟต์ด้าน bookbinding ให้กับคนที่สนใจหรือคนที่เคยมาทำสมุดกับดิบดีได้มาทำงานของตัวเอง เป็นเหมือน craft-working space ที่เราใช้เครื่องมือร่วมกัน ปรึกษากัน หรือให้เราเป็นเมนเทอร์ได้ พิเศษกว่านั้นคือคราวนี้เรามาใช้พื้นที่ของโรงแรมที่เราทำเองด้วย ในอนาคตก็อยากให้มีโปรเจกต์ artist residency ที่ให้ศิลปินมาพักที่โรงแรมเรา พัฒนางานของเขาที่ DIBDEE BINDER LAB และจัดแสดงงานของเขาในแกลเลอรีของโรงแรมได้เลย”
กว่า 10 ปีที่ก่อตั้งแบรนด์ และค่อนชีวิตที่คลุกคลีกับสมุดทำมือ ความฝันในวันนี้ของแอ๊วคือการอยากให้ดิบดีพาเธอออกเดินทางอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ หญิงสาวจะไม่ได้ออกเดินทางในฐานะนักท่องเที่ยว ทว่าเธอจะเป็นช่างเย็บสมุดที่อยากเดินทางไปเจอช่างหลายๆ คนทั่วโลกเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้มาพัฒนางานของตัวเองให้ดีขึ้น
“ถามว่าการทำแบรนด์นี้ปลดหนี้ให้เราไหม ไม่ขนาดนั้น แต่มันถือว่าเป็นรากที่ทำให้เราเข้มแข็ง ยืนหยัดอยู่กับสิ่งเดิมๆ ได้นาน ณ วันนี้เราก็ไม่ได้ตั้งเป้าว่าดิบดีต้องมียอดขายเท่าไหร่ มีคนในองค์กรกี่คน ส่งขายกี่ประเทศนะ แต่สิ่งที่ทำให้อยากทำต่อคือเราอยากรู้ว่าดิบดีจะพาเราไปทางไหน เจออะไรต่อ และเราอยากเห็นมันพัฒนาต่อยังไง
“กว่า 10 ปีที่เปิดแบรนด์มา ดิบดีทำให้เรารู้ว่าเรามาถึงวันนี้ได้เพราะเราเคารพตัวเอง และมันเป็นจุดที่ย้ำเตือนเราว่าเพราะเราเคารพตัวเอง เชื่อในตัวเอง เราจึงมีวันนี้
“เวลาเราทำสมุด เราเหมือนอยู่กับเพื่อนที่ไม่ต้องพูดก็ได้ มันเหมือนเราได้เป็นตัวเองโดยไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องต่อสู้กับอะไรเลย ทำไปเรื่อยๆ จนสำเร็จ พอเราให้เวลากับมัน เราจะเห็นเลยว่าถ้าเราทำอย่างใส่ใจ สุดท้ายแล้วผลตอบรับจะโอเคเอง” แอ๊วระบายยิ้ม