นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

รสพระทำ

ความรู้เรื่องฮอปส์และเทคนิคทำเบียร์ ยุคสมัยที่พระทำเบียร์ แถมพัฒนาให้กลายเป็นอุตสาหกรรม

ส่งท้ายเดือนสิงหาคม เดือนที่เรามีทั้งวันเบียร์สากลและมีวันหยุดทางศาสนาที่ห้ามขายเบียร์อยู่หลายวัน เบียร์กับพื้นที่ศาสนาขึ้นอยู่กับมุมมอง รวมถึงมิติทางวัฒนธรรมที่มีต่อเครื่องดื่มมึนเมานั้น ในพื้นที่เช่นคริสต์ศาสนา ถ้าเรามองย้อนไปนอกจากการมีเครื่องดื่มเช่นไวน์เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อและพิธีกรรมแล้ว เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ยังสัมพันธ์กับบริบทเมืองหนาว และถ้าเราดูบริบทประวัติศาสตร์ เบียร์เป็นเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่สัมพันธ์กับเงื่อนไขในการใช้ชีวิต

และนี่คือเรื่องราวท่ีคราวนี้ทรัพย์คัลเจอร์จะพาย้อนเวลาไปไกลสักหน่อยคือเราจะพากลับไปในยุคกลาง ยุคสมัยที่ต่อเนื่องหลังอาณาจักรกรีกและโรมันล่มสลาย ทั่วทั้งทวีปเต็มไปด้วยชนกลุ่มใหม่ๆ ที่เคยถูกเรียกว่าอนารยชนค่อยๆ ก่อร่างขึ้น ยุคสมัยแห่งเมืองล้อมกำแพง และห้วงเวลาที่ศาสนจักรเรืองอำนาจ

ในช่วงเวลาที่ค่อนข้างระส่ำระสายและกินเวลาค่อนข้างนานคือตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 ลากยาวไปจนถึงศตวรรษที่ 15 ยุคสมัยที่เริ่มเกิดเมือง และบทบาทสำคัญในยุคนั้นคือการเกิดขึ้นของโบสถ์และอารามน้อยใหญ่ พื้นที่ของพระผู้เป็นเจ้าที่ไม่ได้มีบทบาทแค่ในเรื่องศรัทธาแต่ยังมีบทบาทเชิงสังคมด้วย โบสถ์เหล่านี้เป็นเหมือนพื้นที่หลบภัย เป็นพื้นที่รวมตัวของผู้คน เป็นที่ที่สอนการอ่านการเขียน สืบทอดความรู้ 

ด้วยความเปลี่ยนแปลงในวัตรปฏิบัติในสมัยกลาง โบสถ์หลายแห่งในยุโรปกลายเป็นพื้นที่พึ่งพาตนเอง ทำไร่ไถนา และด้วยเงื่อนไขในการใช้ชีวิต เบียร์จึงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคือการถนอมอาหาร เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องดื่มที่ให้พลังงาน ถ้าเรามองย้อนไป เบียร์ที่เจือรสหวานลิ้น นวัตกรรมหลายอย่างของการทำเบียร์ให้รสอร่อยก็ล้วนผ่านมือเหล่าบาทหลวงที่ตั้งโรงต้มและบ่มเบียร์ในรั้วอาราม เอาแค่ว่าความรู้เรื่องฮอปส์และการใช้ฮอปส์ทำเบียร์ การเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมเบียร์ ตรงนี้เราเองก็ต้องให้เครดิตกับเหล่าสาธุคุณ

กฎของนักบุญเบเนดิกต์และความสำคัญของเบียร์ในยุคกลาง

ประวัติศาสตร์เบียร์ในสังคมรวมถึงการเฟื่องฟูของการทำเบียร์ในพื้นที่อาราม เป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและล้อไปกับการขยายตัวของคริสต์ศาสนาในยุโรปด้วย ในช่วงปีคริสต์ศักราช 800 คือราวศตวรรษที่ 9 ตอนนั้นศาสนจักรแพร่ขยายไปในหลายส่วนของยุโรป โดยทั่วไปการปลูกองุ่นทำไวน์ถือเป็นกิจกรรมพื้นฐานของโบสถ์อยู่แล้ว ทีนี้ ด้วยความที่ศาสจักรขยายไปในหลายพื้นที่ การเกิดขึ้นของโบสถ์ต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ยุโรปตอนเหนือ เช่นแถวฝรั่งเศส เยอรมนีมัน พื้นที่เหล่านี้มีภูมิอากาศเย็น ปลูกองุ่นไม่ได้ ทางโบสถ์เองจึงหันไปปลูกข้าวสาลีตามบริบทท้องถิ่น ตรงนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของการทำเบียร์แทนการทำไวน์

ก่อนจะเข้าสู่พื้นที่อารามอันศักดิ์สิทธิ์ ในยุคสมัยนั้นมีหลักฐานว่าชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบชนบท ห่างไกลจากศูนย์กลางเมือง ผู้คนโดยทั่วไปตามบ้านเรือนก็จะมีการทำเบียร์ไว้ดื่มหรือแจกจ่ายขายบ้างในครัวเรือนอยู่แล้ว เบียร์นับเป็นหนึ่งในวิธีการจัดเก็บวัตถุดิบอันล้ำค่าที่ปลูกได้นอกฤดูหนาว เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่ให้พลังงาน เก็บได้ยาวนาน มีข้อมูลว่าผู้คนในยุคกลางทำเบียร์และมีการปรุงรสเบียร์ด้วยสมุนไพรต่างๆ การทำเบียร์ในครัวเรือนในช่วงก่อนศตวรรษที่ 12 ยังไม่ค่อยเป็นเรื่องเป็นราวนัก คือมีข้าวสาลีเหลือจากขนมปังก็ทำไป จนถึงยุคที่เบียร์ไปเฟื่องฟูใต้ร่มเงาของศาสนาในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์หลังจากนั้น

รากฐานสำคัญหนึ่งของการหมักเบียร์ในอารามมาจากนิกายที่เรียกว่าคณะเบเนดิกติน เป็นกลุ่มนักบวชที่บำเพ็ญพรตตามนักบุญเบเนดิกต์แห่งเนอร์เซีย นิกายเบเนดิกตินเกิดขึ้นราวศตวรรษที่ 6 ลักษณะนิกายเป็นนิยายเพื่อการปฏิรูป คือเน้นให้พระและแม่ชีมีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด โดยนักบุญเบเนดิกต์มีคำสอนสำคัญเรียกว่ากฎของนักบุญเบเนดิกต์ (The Rule of St Benedict) 

หัวใจหนึ่งของกฎนักบุญเบเนดิกต์ คือความเชื่อว่าการทำงานเป็นวัตรสำคัญในการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าอย่างหนึ่ง การทำงานในยุคนั้นก็คือการทำกิน การทำฟาร์ม ส่วนหนึ่งของความคิดของนักบุญเบเนดิกต์คือการที่โบสถ์สามารถพึ่งพาตนเอง ผลิตอาหาร ปลูกผัก ดูแลกิจการต่างๆ ได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงปัจจัยภายนอก วัตรปฏิบัติดังกล่าวค่อนข้างสอดคล้องกับเงื่อนไขของพระในสมัยนั้นที่บางครั้งมีการเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ และตั้งอารามขึ้นเพื่อเผยแผ่ศาสนา ดังนั้นเองการทำเบียร์จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของอารามที่ผลิตอาหารเลี้ยงตัวเอง

การทำเบียร์นอกจากจะเป็นการถนอมอาหารแล้ว ในสมัยกลางบางพื้นที่อาจขาดแคลนน้ำสะอาด เช่นน้ำในบ่อขุดอย่างที่เราเห็นในหนังเช่น Game of Thrones เบียร์จึงเป็นเครื่องดื่มทางเลือกหนึ่งที่ทั้งให้พลังงานและทดแทนน้ำดื่มในยามขาดแคลนได้ 

สำหรับนิกายเบเนดิกต์ค่อยๆ ขยายตัวเช่นกลายเป็นแนวทางหลักของยุโรปตะวันตกในราวศตวรรษที่ 9 ยกเว้นพื้นที่สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์ บางความเห็นเห็นว่าการเกิดขึ้นของนิกายนี้อาจสัมพันธ์กับการก่อตัวขึ้นของเมืองใหญ่ที่วุ่นวาย การถอยห่างออกจากเมืองกลับไปสู่ชีวิตสามัญจึงเป็นวัตรสำหรับนักบวชที่ได้รับการชื่นชม

โรงเบียร์ในโบสถ์ เส้นทางจาริก และบทบาทของอาราม

ร่องรอยของโรงบ่มเบียร์และสวนฮอปส์ในอารามค่อนข้างสัมพันธ์กับหลายบริบท และเป็นห้วงเวลาที่ค่อนข้างยาวนานมาก แต่เราก็สามารถมองเห็นร่องรอยของโรงเบียร์ในพื้นที่โบสถ์ที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ภาพใหญ่ของสมัยกลาง เช่นการอพยพจากดินแดนหนึ่งไปสู่อีกดินแดน การตั้งอาราม และเส้นทางจาริกแสวงบุญ ร่องรอยหนึ่งที่เรามองเห็นได้คือเรื่องราวของโบสถ์เซนต์กาลเลิน (St. Gallen) ในสวิตเซอร์แลนด์

เรื่องราวของโบสถ์ของนักบุญกาลเลินนี้อาจสัมพันธ์ไปจนถึงการมาถึงของการหมักเบียร์ คือย้อนไปตั้งแต่ยุคที่จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ขยายตัวไปถึงเกาะอังกฤษ ที่ไอร์แลนด์เองก็มีตำนานเกี่ยวกับการทำเบียร์ที่เก่าแก่เล่าถึงนักบุญแพททริก (St. Patrick) ที่มีสหายชื่อ Mescan เป็นนักทำเอลล์ (Ale) โดยในประวัติศาสตร์ศาสนจักรของไอร์แลนด์เป็นผู้ผลิตเอลรายใหญ่มาโดยตลอด

ทีนี้ในราวปลายศตวรรษที่ 6 คือช่วงปีคริสต์ศักราชที่ 585 มีคณะนักบวชหนึ่งจากไอร์แลนด์ นำโดยบาทหลวงนามว่าโคลัมบัน (Columban) ได้นำคณะบาทหลวงนิกายเบเนดิกต์จากไอร์แลนด์ข้ามทะเลมายังยุโรปแผ่นดินใหญ่ หนึ่งในผู้ติดตาม 12 รูป มีบาทหลวงรูปหนึ่งนามว่า กาลล์ (Gall)

เรื่องราวของคณะบาทหลวงคือ เมื่อถึงแผ่นดินใหญ่แล้วก็ได้จาริกไปอยู่แถวดินแดนที่เป็นเขตของเยอรมนีในปัจจุบัน ยุโรปในตอนนั้นมีการแบ่งการปกครองเป็นดินแดนแล้วแต่ราชวงศ์แยกกัน ยังไม่เป็นประเทศ ทีนี้คณะนักบวชนี้ค่อนข้างเคร่ง และหัวร้อนตามประสานักบวชหนุ่ม วัตรปฏิบัติของคณะนักบวชเต็มไปด้วยระเบียบและการลงโทษถึงขั้นเฆี่ยนเช่นถ้าลืมกล่าวคำว่าเอเมนหรือร้องเพลงสวดผิดคีย์จะถูกเฆี่ยน 6 ที วางมีดถากโต๊ะโดน 10 ที มีกฎการรับประทานในปริมาณพอเหมาะ ดื่มเบียร์ก็ห้ามถึงเมามาย รวมถึงหากทำเบียร์หกจะต้องลงโทษด้วยการให้ยืนเฝ้ายามทั้งคืน

ทีนี้อาจจะด้วยความเคร่ง หรือความขัดแย้ง คณะนักบวชเบเนดิกต์หนุ่มไม่เป็นที่โปรดปราดของอาณาจักรในยุโรปตอนกลาง โดยเฉพาะไม่โปรดโดยพระราชินีบรุนฮิลด์แห่งราชวงศ์เมรอแว็งเฌียง (Queen Brunhilda of the Merovingian) ส่วนหนึ่งคือนัยของคณะนักบวชแสดงสิทธิอำนาจที่สืบทอดจากคริสตจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระนางผู้ปกครองดินแดนส่วนใหญ่ในแถบฝรั่งเศสและแถบออสเตรียในปัจจุบันเกือบทั้งหมดได้สั่งเนรเทศคณะนักบวชออกจากดินแดนในปกครองของพระนาง

ผลคือคณะนักบุญต้องอพยพและเดินทางไปทางเทือกเขาแอลป์ ผลคือบาทหลวงโคลัมบันเลือกพื้นที่ตรงรอยต่อระหว่างเขตแดนทางตอนใต้ของเยอรมนีจรดกับตะวันตกของออสเตรีย ในปีคริสต์ศักราชที่ 612 บาทหลวงโคลัมบันและบาทหลวงกาลล์ได้พื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นพื้นที่ระหว่างเทือกเขาตั้งอยู่ทางตอนเหนือของสวิตเซอร์แลนด์ตั้งอารามเล็กๆ ขึ้น เป็นอารามของการถูกเนรเทศ ภายหลังบาทหลวงกาลได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญในฐานะผู้เผยแผ่คริสต์ศาสนาสู่ทวีปยุโรปกลาง และพื้นที่อารามกลางขุนเขาอันสวยงามนั้นก็ได้ชื่อว่า ซังคท์กัลเลิน (St. Gallen) เป็นทั้งชื่อของอารามและของรัฐของสวิสในปัจจุบัน

ทีนี้อาจจะด้วยความตั้งใจหรือบังเอิญ ที่พระประสงค์ของราชินีที่อุตส่าห์เนรเทศไปที่ห่างไกลกลับตาลปัตร คือพื้นที่ที่ตรงซังคท์กัลเลิน จริงๆ แล้วเป็นเส้นทางสำคัญในการจาริกแสวงบุญของผู้จาริก (pilgrim) ที่จะเดินทางแสวงบุญไปยังโรม คือต้องผ่านเทือกเขาแอลป์ และต้องผ่านบริเวณอาราม ทีนี้ในยุคนั้นการเดินทางระหว่างดินแดนเป็นเรื่องอันตราย มีโจรบ้าง อากาศแย่บ้าง ประกอบกับว่าผู้จาริกในยุคนั้นที่เดินทางจากเยรูซาเลมไปโรมค่อนข้างหลากหลายและเปิดกว้าง ทั้งราชินีที่เป็นคู่ขัดแย้งก็สิ้นไปในราวปีคริสต์ศักราช 614 อารามน้อยที่เคยเป็นที่ปลีกวิเวกจากการเนรเทศก็ค่อยๆ ยกระดับความสำคัญขึ้น

ร้อยปีหลังจากนั้นคือในทศวรรษ 720 อารามน้อยโดดเดี่ยวได้กลายเป็นอารามอย่างเป็นทางการ อีกหนึ่งร้อยปีคือช่วงปี 800 ก็ได้รับยกย่องเป็นอารามหลวง (imperial abbey) ได้รับการยอมรับให้เป็นศูนย์กลางศรัทธาหนึ่ง ในช่วงทศวรรษ 820 อารามสำคัญแห่งนี้มีหลักฐานถึงบทบาทของโบสถ์ในศาสนจักรที่มีต่อผู้คนอย่างเป็นรูปธรรม มหาวิหารของซังคท์กัลเลินในช่วงนั้นไม่ได้มีแค่โบสถ์หรือที่พำนักของนักบวช แต่ภายในยังมีโรงพยาบาล โรงเรียน ห้องสมุด มีที่พักสำหรับผู้จาริก ที่พักเฉพาะของช่างฝีมือและพ่อค้าที่ผ่านทาง มีที่พักสำหรับบุคคลสำคัญ มีโถงรับประทาน สวน และในอารามที่เป็นเหมือนโรงเตี๊ยมด้วยนี้ก็ปรากฏว่ามีพื้นที่สำหรับทำเบียร์ถึงสามแห่ง

การเกิดขึ้นของวิหารซังคท์กัลเลินเป็นภาพหนึ่งที่เราอาจเห็นความเชื่อมโยงของการผลิตเบียร์ที่แพร่กระจายมายังยุโรปตอนกลางจากไอร์แลนด์ นอกจากวิหารซังคท์กัลเลินแล้ว ในช่วงเวลาใกล้ๆ กันคือราวปี 720 ที่พื้นที่เนินเขา Weihenstephan ตอนเหนือของมิวนิก ที่บริเวณนั้นเองก็มีคณะมิชชันนารีชาวไอริสไปตั้งอารามและกลายเป็นอารามใหญ่ของคณะเบเนดิกต์ด้วย ภายหลังอารามที่ Weihenstephan กลายเป็นโรงเบียร์เก่าแก่ที่สุดของอารามที่รัฐอนุญาตให้ผลิตและขายเบียร์ได้ตั้งแต่ปีคริต์ศักราชที่ 1040

ปัจจุบันอารามยังคงผลิตเบียร์ที่บ้านเราก็มีขาย เป็นมหาวิทยาลัยเบียร์ที่ดูแลโดยรัฐบาวาเรีย อารามแห่งนี้ถือเป็นอารามแรกๆ ที่พบสวนฮอปส์และนับว่าเป็นโรงเบียร์แรกที่ใช้ฮอปส์ในการทำเบียร์ รากฐานของมิชชันนารีไอริสนั้นเป็นรากฐานของมิวนิกและแคว้นบาวาเรียในฐานะดินแดนแห่งเบียร์ในทุกวันนี้

ฮอปส์ ความรู้ที่ทำให้เบียร์กลายเป็นสินค้า

การทำเบียร์ด้วยฮอปส์ถือเป็นจุดพลิกผัน และเป็นองค์ความรู้สำคัญ การที่เรามีเบียร์ที่รสดีสดชื่นดื่มจากการหมักด้วยฮอปส์นี้ก็ต้องขอบคุณไปที่เหล่าสาธุคุณในสมัยกลาง ข้อมูลเรื่องการใช้ฮอปส์ในการทำเบียร์ค่อนข้างหลากหลาย มีข้อมูลว่าอารามหลายแห่งมีการใช้ฮอปส์ในการร่วมทำเบียร์มาตั้งแต่ยุคต้นของสมัยกลางแล้ว แต่ยังกระจัดกระจายและยังไม่มีองค์ความรู้หรือหลักฐานที่ชัดเจน

ทีนี้ เป็นอีกครั้งที่คณะนักบวชในนิกายเซนต์เบเนดิกมีคุณูปการต่อวงการเบียร์อย่างเป็นรูปธรรม คราวนี้เป็นสำนักแม่ชี คือในทศวรรษ 1100 ฮิลเดการ์ดแห่งบิงเงน (Hildegard von Bingen) แม่ชีที่ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นนักบุญฮิลเดการ์ด ได้ตั้งสำนักชีนิกายเบเนดิกต์ขึ้นที่ริมแม่น้ำไรน์ใกล้ๆ เมืองบิงเงน โดยแม่ชีฮิลเดการ์ดเป็นผู้รอบรู้ในหลายศาสตร์หนึ่งในนั้นคือการแพทย์ โดยท่านได้เขียนตำราสำคัญขึ้นหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Physica Sacra หนังสือที่พูดถึงสรรพคุณต่างๆ ของพืชพรรณและสมุนไพร ในงานเขียนเล่มนี้ได้พูดถึงฮอปส์ในฐานะผลไม้สำคัญที่มีประโยชน์หลายอย่าง หนังสือระบุว่าฮอปส์มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพและใช้ยืดอายุเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ได้ หลังจากทศวรรษนี้เอง ฮอปส์ก็กลายเป็นที่รู้จัก และค่อยๆ กลายเป็นวัตถุดิบหลักในการทำเบียร์ ในช่วงศตวรรษที่ 12 นี้เองที่เบียร์ในอารามส่วนใหญ่เปลี่ยนมาใช้ฮอปส์กันเกือบทั้งหมด

บันทึกข้อเขียนและปูมความรู้ต่างๆ เป็นหัวใจหนึ่งที่ทำให้อารามกลายเป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาการทำเบียร์ เพราะในสมัยกลางอารามเป็นหนึ่งในไม่กี่พื้นที่ที่รู้หนังสือ เป็นพื้นที่ของการอ่านออกเขียนได้ เบื้องต้นที่สุดการทำเบียร์ในอารามโดยพระของแต่ละที่นั้นมักมีการจดบันทึกในการทำแต่ละครั้งโดยละเอียด ตรงนี้เองที่อารามกลายเป็นพื้นที่ค้นคว้าและสืบทอดความรู้ในการผลิตเบียร์ พระที่รับช่วงทำเบียร์ต่อก็จะมีการศึกษาบันทึกข้อมูลต่างๆ เพื่อทำเบียร์ให้ได้ดีขึ้น กรณีบันทึกของนักบุญฮิลเดการ์ดเองก็อาจมีส่วนที่โบสถ์ต่างๆ รับความรู้เรื่องฮอปส์ภายในศาสจักรด้วยกันเองด้วย

สำหรับการใช้ฮอปส์ ประวัติศาสตร์ให้เครดิตกับกลุ่มอารามในแถบตอนเหนือของเยอรมนี ประเด็นสำคัญของการใช้ฮอปส์ในช่วงนั้นไม่ใช่เรื่องรสชาติแต่อย่างเดียว แต่ความรู้เรื่องฮอปส์จากโรงเบียร์ในอารามเป็นความรู้ในการยืดอายุของเบียร์ที่ผลิตขึ้น พระในยุคนั้นพบว่าการใช้น้ำมันของฮอปส์ในปริมาณที่เหมาะสมช่วยลดกรดและสารอื่นๆ ที่ทำให้เบียร์เน่าเสียได้ เบียร์จากฮอปส์มีอายุการเก็บที่ยาวนานกว่า สามารถขายได้หลังทำเสร็จนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ฮอปส์เป็นหัวใจที่ช่วยแก้ปัญหาการทำเบียร์ในฤดูร้อนซึ่งความต้องการเบียร์สูงขึ้นในช่วงอากาศอบอุ่นที่คนอยากดื่มเบียร์ การใช้ฮอปส์ทำให้เบียร์ที่ทำในเดือนมีนาคมมีอายุยาวนานได้ถึงเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม

ตรงนี้เองที่เราอาจเริ่มเห็นการก่อตัวขึ้นของความเป็นอุตสาหกรรม ทั้งการที่อารามเป็นพื้นที่ผลิตเบียร์หลัก รัฐเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมเช่นมีการให้ใบอนุญาตไปจนถึงการออกกฎหมายต่างๆ และการมาถึงของเบียร์จากฮอปส์นี้ทำให้การขนส่งเบียร์ไปขายยังพื้นที่อื่นที่ไกลออกไปหลายร้อยไมล์กระทั่งขนส่งข้ามน้ำข้ามทะเลไปก็ยังได้

การยืดอายุเบียร์ได้นี้ทำให้เบียร์กลายเป็นสินค้า เกิดการปรับปรุงรสชาติ พัฒนาคุณภาพในด้านต่างๆ ของเบียร์ เพื่อแข่งขันและป้อนเข้าสู่ตลาดที่เรียกได้ว่าเป็นตลาดนานาชาติขึ้น เบียร์เองกลายสินค้าสำคัญกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของความมั่งคั่งและเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองระหว่างรัฐในสมัยนั้น จุดนี้เองที่เมืองต่างๆ เริ่มกลายเป็นศูนย์กลางของการเป็นผู้ผลิตเบียร์ 

หนึ่งในเมืองที่ก้าวขึ้นมาเป็นเมืองในแนวหน้าจากการเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมเบียร์คือเมืองฮัมบวร์ค (Hamburg) แม้แต่จักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ยังเอ่ยปากชมในฐานะเมืองที่เติบโตขึ้นด้วยอุตสาหกรรมเบียร์ ฮัมบวร์คเฟื่องฟูแค่ไหน ในทศวรรษ 1360 เมืองฮัมบวร์คผลิตเบียร์ได้มากถึง 25 ล้านลิตรต่อปี มีโรงเบียร์กว่า 450 แห่ง ช่วงนั้นยุโรปมีกาฬโรคซึ่งประชากรลดลงไปมาก แต่การผลิตเบียร์ของฮัมบวร์คเริ่มทะยานขึ้นอีกครั้งเมื่อโรคระบาดผ่านไป ในศตวรรษที่ 15 เมืองฮัมบวร์คผลิตเบียร์สูงถึง 30 ล้านลิตรต่อปี ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อส่งออกไปนอกเมือง

Image: Georg Braun

แค่การใช้ฮอปส์และอิทธิพลของบาทหลวงนิกายเบเนดิกต์ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและนับว่าเป็นรากฐานหนึ่งที่เบียร์กลายเป็นอุตสาหกรรม ในยุคนั้นอารามนับเป็นพื้นที่เดียวที่ผลิตเบียร์ในระดับผลิตเพื่อการค้า นอกจากฮอปส์แล้วเหล่าพระคุณเจ้ายังคิดค้นอีกหลายวิธี เช่น การนำเบียร์ไปบ่มในพื้นที่เย็นเพื่อประโยชน์ของการใช้ยีสต์ ซึ่งเกิดขึ้นในอารามแถบบาวาเรียซึ่งก็คือแถบเยอรมนี ท่านเอาถังเบียร์ที่อาจเป็นทองแดงไปบ่มไว้ในภูเขาที่เป็นน้ำแข็ง หรือความรู้เรื่องความเข้มข้นที่เบียร์ค่อยๆ จางลง มีการจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ นำเอาเบียร์เข้มข้นสูงขายแก่ผู้คน เก็บเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ต่ำไว้ดื่มเองโดยเฉพาะช่วงถือศีลอดที่ต้องอดอาหาร

เรื่องราวของเบียร์อันยาวนานย้อนไปถึงยุคกลางนี้ อย่างน้อยที่สุดคือเบียร์ในขวดที่ทำจากฮอปส์ เมื่อเราหยิบขวดเบียร์ขึ้นมาก็อาจชวนให้นึกถึงอารามเก่าแก่ที่อาจตั้งอยู่กลางเทือกเขาแอลป์อันหนาวเย็น อารามที่กลายเป็นที่พักนักเดินทาง หรืออาจนึกถึงสวนฮอปส์และนักบวชผู้ศึกษาพืชพรรณจนกลายเป็นฐานความรู้ที่เหล่านักบวชอื่นๆ พากันใช้ประโยชน์ในการทำเบียร์ให้ทั้งรสอร่อยและมีอายุยาวนาน ตอนนี้เราคงไม่แปลกใจที่เบียร์หลายยี่ห้อมีภาพพระในชุดคลุมแบบยุคกลางและแอบอมยิ้มเมื่อเห็นภาพนักบวชที่ชูแก้วเบียร์และยิ้มให้กับเราผ่านโลโก้ในขวด

แหล่งอ้างอิง

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

กราฟฟิกที่พยายาม ประคองสติ เพื่อค้นหาสไตล์

You Might Also Like