The Empathy NEIGHBORS
NEIGHBORS บูทีกเอเจนซีที่ใช้ความเข้าใจโฟกัสปัญหาอย่างตรงจุดเพื่อการสร้างแบรนด์ระยะยาว
ในปัจจุบันเราอาจจะเห็นแนวทางการทำงานของเอเจนซีในการปลุกปั้นให้แบรนด์ของลูกค้าเป็นผู้นำทางการตลาด ด้วยการสร้างตัวเลขชี้วัดทางการตลาดให้ดีที่สุด แต่แนวทางในการทำงานของ NEIGHBORS นั้นแตกต่างออกไป คือการอยากเป็นเอเจนซีที่มีความเข้าใจในตัวแบรนด์ เพื่อที่จะสามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้อย่างแท้จริง
Capital เคยคุยกับ NEIGHBORS ถึงความเชี่ยวชาญในการเป็นบูทีกเอเจนซีที่ทำงานตอบโจทย์สินค้าที่ต้องใช้การตัดสินใจซื้อสูง โดยเฉพาะ เกี่ยวกับการคิดกลยุทธ์สำหรับสินค้าที่ต้องอาศัยการตัดสินใจซื้อเป็นเวลานานอย่างบ้าน รถ ประกัน หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงิน รวมถึงความเชื่อของ NEIGHBORS ที่ใช้ความเชื่อที่มีคนเป็นพลังงานสำคัญขับเคลื่อนธุรกิจ
ในโลกที่มีความท้าทายใหม่และเกิดคุณค่าใหม่ให้เรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าได้ไม่สิ้นสุด เราชวนคุยกับ วรสิทธิ์ พาณิชสุสวัสดิ์ COO หรือ Chief Operating Officer แห่ง NEIGHBORS อีกครั้งถึงมุมมองการคิดกลยุทธ์เพื่อการเติบโตในระยะยาวจากประสบการณ์ การทำงานแนวลึกในฝั่งธุรกิจ การเอาชนะความท้าทายในโลกยุคใหม่ด้วยการโฟกัสปัญหาให้ตรงจุดในกลยุทธ์ ไปจนถึงการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ด้วยการทำความเข้าใจและร่วมมือในการทำงานกับลูกค้า
Agency with Business Goal in Mind
โดยปกติแล้วภาพที่คุ้นชินของเอเจนซีโฆษณามักเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการทำการตลาด เช่น ถนัดดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ทำเฉพาะครีเอทีฟแคมเปญ หรือเน้นทำการตลาดที่เน้นยอดขายเท่านั้น แต่จากการพูดคุยทำให้เราพบว่า NEIGHBORS เป็นเอเจนซีที่สามารถแก้โจทย์ได้หลากรูปแบบโดยใช้ความเข้าใจในพื้นฐานของธุรกิจและความเชี่ยวชาญในสินค้ากลุ่ม high involvement product เป็นตัวนำ
“ในมุมมองของ NEIGHBORS เราจะต้องเข้าใจพื้นฐานธุรกิจทั้งหมดของลูกค้าก่อน ตั้งแต่ business goal จนไปถึงปลายทาง พื้นฐานของธุรกิจเริ่มต้นตั้งแต่สินค้าของคุณเป็นอะไร คุณกำลังจะขายใคร ทีมเราเกือบทุกตำแหน่งจะมีความรู้และเห็นภาพรวมของธุรกิจ เพื่อรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร และนำกลยุทธ์มาแก้โจทย์ของลูกค้าได้”
จุดแข็งด้านความเข้าใจในภาพรวมของธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำทำให้ NEIGHBORS มองเห็นถึงความต้องการสำคัญของทุกธุรกิจคือสุดท้ายแล้วกลยุทธ์ทุกส่วนที่คิดขึ้นมาจะมีภาพปลายทางเดียวกันคือยอดขาย
“ในมุมมองที่บอกว่าเราเข้าใจ business goal คือเรารู้ว่าลูกค้าทุกเจ้าที่มาคุยกับเรา มีปลายทางคือเขาต้องขายได้หรือมีรายได้ เราเลยไม่ได้มองแค่มุมโฆษณาหรือการตลาด ไม่ได้อยากทำแค่ให้บรรลุ KPI (key performance indicator) นอกจากการพาคนเข้ามาชมแคมเปญได้แล้ว เราสนใจว่าเขาปิดการขายได้ไหม ไม่ใช่แค่ทำ KPI ในการโฆษณาให้ถึงเป้า
“เรายังอยากให้แผนงานการตลาดทุกส่วนเชื่อมโยงกันทั้งหมดโดยที่เราเข้าใจแบรนด์จริงๆ แต่เราก็ไม่ได้บอกว่าทุกอย่างต้องทำกับเราเท่านั้นจึงจะเชื่อมโยงกัน ถ้าแผนงานบางอย่างลูกค้าเคยใช้บริการเจ้าอื่นแล้วโอเคก็ไม่ต้องเปลี่ยนในส่วนนั้นเลย ในมุมมองเรา การแก้โจทย์คือการมาคุยกันบนเนื้อหาแต่ละส่วนว่าอยากได้อะไรจากเรามากกว่าและเราก็ส่งมอบการแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้จริง”
Understand Clients’ Pain Points
โดยทั่วไปในการให้คำปรึกษาของเอเจนซี มักพบอุปสรรคคือช่องว่างระหว่างเอเจนซีกับลูกค้าที่มองภาพไม่ตรงกัน ความถนัดของ NEIGHBORS คือการเป็น ‘เพื่อนบ้านที่ดี’ และลดช่องว่างนั้นด้วยการชวนลูกค้ามาจับเข่าคุยกัน
“เราไม่ใช่เอเจนซีที่รับโจทย์มาแล้วรีบไปต่อเลยทันที ทั้งเราและลูกค้าต้องมองเห็นโจทย์ในจุดที่ตรงกันหรือมีวิธีคิดไปทางเดียวกันก่อน มันต้องผ่านการวิเคราะห์ ผ่านการแชร์กันว่า pain point ที่เจอคือเรื่องนี้จริงหรือเปล่า กลับมามองพื้นฐานก่อนว่าสิ่งที่แบรนด์มองว่าเป็น competitive advantage (ความได้เปรียบในการแข่งขัน) ที่มีในตลาดนั้นดีพอหรือเปล่า สิ่งที่คนน่าจะต้องการจริงๆ คืออะไร และในการทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายที่มีจะสามารถเปลี่ยนมาเป็นยอดขายได้จริงหรือเปล่า”
หน้าที่ในการเป็น ‘เพื่อนบ้านที่ดี’ สำหรับวรสิทธิ์คือมีความเป็น professional ในการให้คำปรึกษาอย่างเข้าใจและแนะนำข้อเท็จจริง สำหรับเป็นข้อมูลประกอบให้แบรนด์ตัดสินใจ หากโจทย์หรือโมเดลธุรกิจที่มียังไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง ก็จะชวนลูกค้ามาระดมไอเดียร่วมกัน อย่างจริงใจ
หรือหากธุรกิจของลูกค้ากำลังหลงทางหรือโฟกัสผิดจุดก็จะชวนมารื้อโจทย์ร่วมกันใหม่ไม่ว่าจะเป็นการปรับกลุ่มเป้าหมายให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของตลาด, การตั้งเป้าหมายทางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและทำได้จริง, การวางแผนงบการตลาดให้เหมาะกับดีมานด์ของตลาดในขณะนั้น
วรสิทธิ์สรุปว่าด้วยเหตุนี้โจทย์ที่ NEIGHBORS ได้รับจากลูกค้าจึงมีหลากหลายมาก เมื่อเอเจนซีเข้าใจธุรกิจลูกค้าอย่างถ่องแท้ จะทำให้สามารถให้คำแนะนำด้านกลยุทธ์ทางการตลาดที่สอดคล้องกับธุรกิจในภาพใหญ่ได้
“ลูกค้าแต่ละเจ้าที่เข้ามาหาเราก็มีโจทย์ไม่เหมือนกัน บางเจ้าต้องการให้เราทำเฉพาะการตลาด บางเจ้าต้องการให้เราทำเฉพาะ เรื่องแบรนดิ้งหรือโฆษณา บางเจ้าต้องการให้เราแนะนำไปถึงสินค้าของเขาด้วย”
การวางกลยุทธ์ที่เน้นการสื่อสารร่วมกันยังทำให้ทั้งฝั่งลูกค้าและเอเจนซีรู้จักแบรนด์ดีเท่ากัน เมื่อเกิดความสบายใจร่วมกันแล้ว ก็จะยิ่งทำให้ทั้งสองฝั่งพร้อมแชร์ข้อมูล แชร์อินไซต์ ปรึกษากันได้ มองภาพไปในทิศทางเดียวกัน เหมือนเพื่อนบ้านที่พอสบายใจ ในกันและกันก็เปิดใจและจับมือเดินไปด้วยกันได้ยาว
Data Collaboration with Client
หากลูกค้าเปรียบเสมือน ‘เจ้าของบ้านของแบรนด์’ ที่รู้ลึกรู้จริงในแบรนด์ของตัวเอง รู้จักทุกรั้วรอบขอบชิดในบ้านอยู่แล้ว NEIGHBORS ก็เป็นเหมือนเพื่อนบ้านที่มองแบรนด์มาจากอีกฝั่งคือนอกรั้วบ้านทำให้ได้รับข้อมูลของแบรนด์จากคนละมุมมอง
ดังนั้นในการคิดกลยุทธ์ร่วมกัน สิ่งที่ลูกค้าผู้เป็นเจ้าของบ้านและเอเจนซีผู้เป็นเพื่อนบ้านร่วมแชร์ให้กันและกันได้แล้ว มีประโยชน์คือการแชร์ดาต้า “เราใช้คำว่าทำความเข้าใจร่วมกันเพราะว่าเราไม่สามารถหยิบข้อมูลของแบรนด์มาวิเคราะห์โดยไม่รู้เนื้อหาสำคัญ บางทีถ้าหยิบข้อมูลที่เห็นตามข่าวมาเลย มันก็อาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่สำคัญจริง”
เนื้อหาสำคัญที่วรสิทธิ์พูดถึงคือข้อมูลหลังบ้านของเจ้าของแบรนด์ที่มีประโยชน์ เช่น ปัญหาหลังบ้านที่ถ้าหยิบยกมาคุยร่วมกัน ตั้งแต่วันแรกจะช่วยให้ตีโจทย์ให้แตกได้เร็วขึ้นอย่างตรงจุด “หรือถ้าเกิดแยกกันทำงาน คนที่มีหน้าที่ไปหาลูกค้าเป้าหมายก็ไปหา คนยิงโฆษณาก็แยกไปทำแค่โฆษณา แบบนี้ก็จะแก้โจทย์ยากมาก”
ตัวอย่างการทำงานโดยแชร์ดาต้าร่วมกันกับลูกค้าแล้วประสบความสำเร็จอย่างมากคือแคมเปญหนึ่งของโรงพยาบาลที่ทำแบรนดิ้งอย่างต่อเนื่องทำให้เจอกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนจนสามารถสร้างยอดขายได้เหนือความคาดหมาย
“แคมเปญจะต้องสื่อสารไปยัง 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่ซื้อแพ็กเกจเล็กราคาหลักหลายพันบาท และอีกกลุ่มหนึ่งคือหลักหมื่นกว่าบาท ในโจทย์ตั้งต้นเราและลูกค้าเน้นแพ็คเกจถูกเป็นหลักเพราะราคาถูกน่าจะขายง่ายกว่า ทีนี้พอเราทำแคมเปญไปสักพักหนึ่ง ก็พบว่าแพ็กเกจใหญ่เริ่มขายได้ในจำนวนที่ใกล้เคียงกับแพ็กเกจเล็ก ผลสุดท้ายเราเห็นว่าลูกค้าที่เข้ามาเป็นคนที่มีกำลังซื้อมากกว่า เราก็เลยเปลี่ยนโฟกัสจากแพ็กเกจเล็กมาเป็นแพ็กเกจใหญ่ สุดท้ายในแคมเปญนั้นได้รายได้เยอะกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างชัดเจน
“เวลาทำงานกับโรงพยาบาล เราได้ข้อมูล research จากโรงพยาบาลที่มีข้อมูลเชิงคุณภาพและปริมาณทั้ง 2 แบบอยู่แล้ว เราก็เอาข้อมูลพวกนี้มาวางเป็นทิศทางของกลยุทธ์ต่อได้ว่าภายใน 3 ปีเขาต้องไปแบบไหน
“เคสนี้น่าจะเป็นโจทย์ที่ทั้งท้าทาย สนุก และสร้างสรรค์ คำว่าสร้างสรรค์ของเราไม่ได้แปลว่าต้องเป็นไอเดียที่ตื่นเต้น ทั้ง owner (กันตลักษณ์ หงส์ลดารมภ์–CEO & Owner ของ NEIGHBORS) และทีมเราจะเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้ มาแค่บนภาพไอเดียสุดท้าย แต่มันมาบนทุกๆ อย่าง ความสร้างสรรค์คือการครีเอตสิ่งใหม่ที่สร้างสรรค์กว่าเดิม อย่างตอนแรกที่เราได้โจทย์นี้มาเราก็ไม่คิดว่ามันจะง่ายในการปิดการขาย สุดท้ายเราปิดการขายได้เกินกว่าโจทย์ที่ได้รับไปมาก ทั้งเพราะส่วนหนึ่งได้ข้อมูลจากลูกค้าและทีมเรากระตุ้นที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี”
การแชร์ดาต้าร่วมกันยังช่วยลดการติดขัดในการสื่อสารการตลาดตลอด journey ของลูกค้า หากมีส่วนที่ติดขัดตรงไหนก็สามารถระบุและแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที เช่น การประเมินวัดผลจากแคมเปญ performance marketing หรือ digital marketing ว่าสาเหตุที่ลูกค้ายังไม่กดซื้อสินค้าเพราะอะไร เป็นต้น
วรสิทธิ์ขยายความว่าดาต้าเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่มากำหนดทิศทางการตลาดทั้งหมดแต่เป็นหนึ่งในตัวช่วยที่ทำให้ได้อินไซต์สำหรับนำไปวิเคราะห์ “ข้อมูลเหล่านี้เป็นเหมือน second thought หรือคุณหมอคนที่ 2 ที่ใช้ในการช่วยวางทิศทางของแบรนด์ได้ต่อไป”
Overcome Challenge with Basic Business Foundation
ท่ามกลางเทรนด์การตลาดและเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีกระแสใหม่แทบจะรายวันและรายเดือน เกิดเป็นความท้าทายที่นักการตลาด หลายคนกังวลว่าแบรนด์จะปรับตัวกับเทรนด์เหล่านี้ได้หรือไม่ NEIGHBORS เป็นเอเจนซีที่ยึดหลักพื้นฐานในการทำธุรกิจ และไม่วิ่งตามกระแสนิยมทันทีโดยไม่รู้ทิศทาง
“สิ่งที่เราเจอบ่อยคือหลายคนอยากเอาเทรนด์มาใช้เยอะมาก เช่น ตามสิ่งที่กำลังเป็นเทรนด์ใน TikTok อยากไปตลาดจีนและเปลี่ยนเว็บเป็นภาษาจีน แต่ไม่มีคนพูดจีนได้ ตอนที่เริ่มมีกระแสแพลตฟอร์ม Threads มาช่วงนึงและซาไปแล้ว คนก็พูดกันว่า Twitter เริ่มเน้นขายโฆษณา อยู่ดีๆ เราก็คงไม่รีบพุ่งไปเอา Twitter กับ Threads มาขายลูกค้าเลยตามเทรนด์ มันต้องกลับมาดูว่ากลยุทธ์ใหญ่ที่จะส่งมอบให้ลูกค้า คือเรื่องอะไรก่อน”
ไม่ว่าจะเป็นการเลือกอินฟลูเอนเซอร์เพื่อมาเป็นพรีเซนเตอร์ของแบรนด์หรือนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง data-driven และ AI มาใช้ในการตลาด NEIGHBORS จะไม่เคยเลือกจากแค่ว่าอะไรฮิตติดกระแสในตอนนั้นเพราะไม่ได้อยากแค่สร้างการตระหนักรู้ แต่อยากเลือกสิ่งที่เหมาะกับตัวตนของแบรนด์จริงๆ เพื่อให้สามารถสร้างคุณค่าของแบรนด์ไปจนถึงสร้างยอดขายได้จริง
กระบวนการทำงานแบบนี้เป็นผลดีอย่างยิ่งเมื่อเน้นกลุ่มลูกค้า high involvement product เพราะการหาอินไซต์จากลูกค้ากลุ่มนี้ เป็นงานละเอียดที่ต้องวิเคราะห์ลงลึกใน human value ซึ่งลูกค้าแต่ละกลุ่มก็มีความสนใจ พฤติกรรม และความต้องการแตกต่างกันออกไป จึงเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถนำ AI มาจับวางแล้วได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นอินไซต์สำเร็จรูปได้
อย่างไรก็ตามแม้พฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าจะมีความแตกต่างกันมากแต่ด้วยความเชี่ยวชาญของ NEIGHBORS ที่เชี่ยวชาญการทำการตลาด high involvement product เฉพาะกลุ่มก็ทำให้มีฐานข้อมูลและเห็นวงจรธุรกิจของลูกค้า ในอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น คนกำลังซื้อสูงชอบส่วนลด แต่มักไม่ชอบทำให้รู้สึกว่าถูกบีบให้ตัดสินใจด้วยเวลาที่จำกัด เป็นต้น ไม่ว่าในอนาคตจะมีกระแสเทคโนโลยีหรือเทรนด์การตลาดใหม่มากมายแค่ไหน วรสิทธิ์ก็ยังย้ำว่าหนทางในการปรับตัวคือเรื่องพื้นฐานของธุรกิจ เพราะหากอยากพัฒนาสิ่งใหม่หรือทำแคมเปญการตลาดที่ปลายทาง แต่ยังไม่แม่นในหัวใจพื้นฐานของธุรกิจ การคิดกลยุทธ์ก็จะวนกลับไปหาเรื่องพื้นฐานให้แม่นยำอยู่ดี
“ส่วนกลยุทธ์เป็นพื้นฐานที่เราพยายามเดินหน้าให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจว่าสำคัญ หน้าที่เราก็คือต้องหากลุ่มเป้าหมาย ที่น่าจะยอมรับในสินค้าของแบรนด์ให้ได้แต่สุดท้ายถ้าสินค้ายังไม่ตอบโจทย์ การทำการตลาดก็จะยังมีความยากอยู่ เคสแบบนี้เราต้องทำให้ลูกค้า เห็นตรงกันจริงๆ ว่า pain point น่าจะเป็นเรื่องสินค้าแล้วหาทางแก้ต่อไปร่วมกัน”
Build Branding with Long-Term Trust
วรสิทธิ์มองว่าหากธุรกิจสามารถส่งมอบคุณค่าที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องก็จะเป็นการสะสมการสร้างความเชื่อใจและความน่าเชื่อถือจนเป็นการสร้างแบรนด์ที่แข็งแรงในอนาคต
“เวลาลูกค้าให้โจทย์ทิศทางธุรกิจ (business direction) มาแล้วอยากให้วางกลยุทธ์การตลาดในระยะ 3 ปี สิ่งแรกคือเราต้องกลับมามองโจทย์ในระยะสั้นก่อนเพื่อสามารถมองภาพว่าใน 3 ปีนี้จะทำกลยุทธ์อะไรบ้างให้ต่อเนื่องและสอดคล้องกัน
“พอกำหนดกลยุทธ์ร่วมกันตั้งแต่แรกมันก็จะเห็นภาพในระยะยาวว่าการทำการตลาดเฟส 1-3 ที่กำลังจะทำต่อไปเป็นยังไง เวลาเราทำไปเรื่อยๆ แล้วได้รับฟีดแบ็ก จากลูกค้า เราจะเห็นว่าสิ่งที่เราได้มาคืออะไร อินไซต์เหล่านี้ก็จะถูกนำมาประเมินแล้ว ไปปรับกลยุทธ์ต่อไปถ้ามีสิ่งที่ควรเปลี่ยนแปลง ถ้าเราได้ดูแลแบรนด์ในระยะยาวก็จะทำให้กลยุทธ์เหล่านี้สอดคล้องกัน”
สำหรับลูกค้ากลุ่ม high involvement product การสร้างความเชื่อในใจแบรนด์ (brand trust) มีความสำคัญอย่างมาก สำหรับการสร้างแบรนด์ในระยะยาวเพราะลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการข้อมูลในการตัดสินใจเยอะเป็นพิเศษ วรสิทธิ์ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า คนเราไม่ได้ตัดสินใจเลือกบ้านที่จะอยู่ไปหลายสิบปีแบบเดียวกับเลือกขนมเพื่อทานในยามว่าง (แต่บางคนที่เลือกขนมที่ใส่ใจสุขภาพเป็นพิเศษก็มี)
“สิ่งที่เราพยายามจะบอกกับลูกค้าคือในการทำการตลาดหรือการทำแบรนด์ดิ้งมันใช้ระยะเวลา มันไม่สามารถบอกได้ว่าวันนี้ คุณเข้ามาใช้เงินลงทุนในการทำแบรนด์ 100 ล้านแล้วพรุ่งนี้คุณจะขายได้เพิ่มขึ้นเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ วันนี้คุณทุ่มเงินหรือเอาโปรโมชั่นมากระตุ้นยอดขายให้คนอยากซื้อได้ แต่สุดท้ายสิ่งที่อยู่ในระยะยาวคือแบรนดิ้ง มันคือสิ่งที่เราใส่ไว้ในสินค้าหรือในตัวตนของแบรนด์
“การสร้างแบรนด์เป็นการสะสมมูลค่าแบรนด์อย่างต่อเนื่องเพื่อเห็นผลในระยะยาว ซึ่งการส่งต่อผลลัพธ์ไม่ได้ทำแค่ 3-6 เดือน หรือปีนึงแค่นั้นแล้วจบ เคยเห็นคนที่ทำแบรนด์มาปีนึงแล้วพังก็มีเพราะว่าเขาไม่ทำสิ่งที่ควรจะต้องทำต่อเนื่องไป หรือคนที่เพิ่งเริ่มต้น แล้วทำได้สำเร็จต่อเนื่องไปเลย เราก็เห็นมาแล้วเหมือนกัน
จากประสบการณ์ที่วรสิทธิ์เคยสร้างคาแร็กเตอร์และตัวตนแบรนด์ให้คอนโดทำให้เห็นชัดเจนว่าสามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่ลูกค้า
มองเข้ามาได้จนสามารถขายห้องได้อย่างราบรื่นจากที่ไม่เคยสร้างตัวตนให้แบรนด์อย่างชัดเจน
“และพอเราทำ high involvement product ที่มีพฤติกรรมซื้อ-ขายซับซ้อนได้แล้ว เราก็จะสามารถมองภาพใหญ่ธุรกิจออก เพราะว่าวันนี้เราสามารถทำให้คนตัดสินใจซื้อของบางอย่างด้วยความเป็นเขาจริงๆ และพฤติกรรมผู้บริโภคของกลุ่มนี้น่าสนใจและน่าศึกษามากๆ พอเราทำธุรกิจกลุ่มนี้ได้ การที่เราจะขยายผลลงไปทำสินค้าชนิดอื่น ก็สามารถที่จะนำไปต่อยอดได้เลย”
Limitless Learning
พฤติกรรมลูกค้าเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุดและการทำเอเจนซี NEIGHBORS ก็มีความท้าทายใหม่ที่วรสิทธิ์ได้เรียนรู้ในทุกวัน พื้นฐานของการคิดโจทย์ที่ท้าทายให้ลูกค้าได้คือการมีสปิริตที่อยากเรียนรู้จากความท้าทายของคนในทีม
“ตั้งแต่ที่เปิดมาเรามีจำนวนคนในทีมที่เยอะขึ้นเรื่อยๆ เหมือนได้เรียนรู้ใหม่หมดในทุกๆ วัน ในทุกๆ สเตป บางทีก็เรียนรู้จากน้องในทีม จากเนื้อหาที่ลูกค้าส่งมาหรือเราศึกษาเรียนรู้จากตลาดเอง มองการเติบโตของ NEIGHBORS ว่าอยากให้แต่ละคนมี personal growth เพราะในมุมมองของทีมผู้บริหารหรือ owner เองจะมองว่าศักยภาพของคนไม่มีที่สิ้นสุด”
สำหรับ NEIGHBORS นั้น personal growth ของพนักงานสามารถเป็นได้ทั้งเป้าหมายในการพัฒนาในชีวิตส่วนตัว เป้าหมายชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยตรง ไปจนถึงเป้าหมายการพัฒนาทักษะที่อยู่นอกเหนือขอบเขตงานในปัจจุบัน และการมีคนหลากหลายแบบในองค์กรยังเป็นคุณค่าอีกอย่างที่เอเจนซีแห่งนี้ให้ความสำคัญเพราะเชื่อใน ‘believe in balance’ หรือความสมดุลของทุกคนที่มารวมกันแล้วเป็น NEIGHBORS
“มันก็จะเป็น learning curve ที่โตขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งเราเรียนรู้ทุกวัน แล้วอยากส่งต่อสิ่งนี้ลงไปในทีมให้ได้” ความเข้าใจในพนักงานและลูกค้านี้เอง ที่เป็นหัวใจสำคัญซึ่งทำให้ NEGIHBORS เป็นเอเจนซีที่เป็นมิตร พร้อมพาองค์กรและลูกค้าเติบโตผ่านความท้าทายในสนามธุรกิจ ที่เข้มข้นไปด้วยกันอย่างมั่นคงในระยะยาว