Fresh Time

City Fresh แบรนด์ผลไม้นำเข้าที่อยากสร้างคอมมิวนิตี้คนรักผลไม้ และทำให้การกินผลไม้สนุก

องุ่นเขียวฉ่ำๆ จากญี่ปุ่น แอปเปิลแดงเนื้อกรอบจากอเมริกา บลูเบอร์รีรสหวานอมเปรี้ยวที่เราไม่แน่ใจว่ามาจากไหน แต่ที่แน่ๆ คือกินเพลินจนหมดในเวลาไม่กี่นาที

ขนาดเราเป็นคนไม่ชอบกินผลไม้เท่าไหร่ แต่ผลไม้นำเข้าเกรดพรีเมียมของ City Fresh ก็ทำให้ติดใจจนถอนตัวไม่ขึ้นหลังจากได้ชิมคำแรก เพราะมันทั้งฉ่ำ กรอบ หวาน อร่อยไปทุกอย่าง

ยิ่งได้มานั่งคุยกับ บิล–วงศกร ฉัตรอมรวงศ์ 1 ใน 3 พี่น้องผู้เป็นทายาทรุ่น 2 ที่มารับช่วงต่อธุรกิจจากพ่อแม่ เราก็ยิ่งเปิดพื้นที่ในใจให้ผลไม้ของ City Fresh เข้ามาจับจอง เพราะในทุกคำที่เรากัดแล้วหวานฉ่ำ เบื้องหลังคือความใส่ใจในทุกขั้นตอนของธุรกิจ ไล่ตั้งแต่การคัดสรรคู่ค้า การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา การนำเข้าอันเข้มงวด และการกักเก็บคุณภาพให้คับแน่นจนถึงมือผู้บริโภค

เซอร์ไพรส์กว่านั้นคือการได้รู้ว่า นี่อาจไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้ชิมผลไม้ของ City Fresh เพราะพวกเขารันธุรกิจนี้มายาวนานตั้งแต่ 30 ปีก่อน โดยจัดจำหน่ายผลไม้คุณภาพดีให้กับห้างร้านและตลาดสดต่างๆ ที่ชื่อแสนจะคุ้นหู ไม่ว่าจะเป็นกูร์เมต์ มาร์เก็ต, โลตัส, บิ๊กซี, แม็คโคร, ท็อปส์ ไปจนถึงตลาดไท

“เราอยากให้คนสนุกกับการมีคอมมิวนิตี้ผลไม้” คือความตั้งใจล่าสุดที่ผู้บริหารรุ่นใหม่เล่าให้เราฟัง จึงไม่แปลกที่เราจะเห็น City Fresh กระโดดมาขายผลไม้ออนไลน์ ก่อนจะเปิดร้านสไตล์คาเฟ่ของตัวเองเพื่อจำหน่ายผลไม้เกรดพรีเมียมให้กับลูกค้าทั่วไป รวมไปถึงอาหาร เครื่องดื่ม เบเกอรี และสารพัดของกินที่พวกเขามิกซ์แอนด์แมตช์ผลไม้อย่างสนุกสนาน

บทสนทนาของเราเกิดขึ้นในบ่ายวันที่กรุงเทพฯ กำลังร้อนได้ที่ ในร้าน City Fresh ซอยปรีดี 26 โดยมีสมูตตี้ปั่นกับฟองดูว์ผลไม้จานใหญ่ตั้งอยู่ตรงหน้า

ความชอบผลไม้ของคุณเริ่มมาจากไหน

City Fresh เป็น family business ซึ่งผมเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 คุณพ่อกับคุณแม่เป็นคนก่อตั้งธุรกิจ ใน พ.ศ. 2532 ตอนนี้ก็จะครบ 34 ปีแล้ว

ครอบครัวของคุณแม่เคยเปิดร้านผลไม้ขายปลีกที่ตลาดน้อยชื่อร้านกิมซัวฮึ้ง เขาเลยมีความรู้ความเข้าใจเรื่องผลไม้ ส่วนคุณพ่อเคยทำธุรกิจส่งออก พอเขาแต่งงานกันก็เลยมีโอกาสได้ดีลกับต่างประเทศ จึงเป็นที่มาของการทำธุรกิจนำเข้าผลไม้คือ City Fresh

ด้วยความเป็นธุรกิจครอบครัว ลูกๆ ทั้งสามคนคือพี่สาวผม ผม และน้องชายก็เลยได้คลุกคลีอยู่กับผลไม้มาตั้งแต่เด็ก เราเห็นพ่อแม่ทำงานกับผลไม้มาตลอด มีโอกาสได้กินผลไม้ดีๆ อยู่เรื่อยๆ ยิ่งเป็นผลไม้นำเข้าทำให้เราได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อพบกับซัพพลายเออร์ ได้เห็นสวนหลายที่ เจอคนหลายแบบ การซึมซับสิ่งเหล่านี้ทำให้ชอบผลไม้มาเรื่อยๆ

เหตุผลที่ทำให้เรามารับช่วงต่อเพราะรู้สึกว่ามันเป็น legacy ของครอบครัว ผมเองก็ชอบติดต่อกับคู่ค้าในต่างประเทศ ชอบเจอคนหลากหลายอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมมีแพสชั่นมาตลอด

ในขวบปีที่ได้เติบโตมากับ City Fresh คุณเห็นการเปลี่ยนแปลงของแบรนด์ยังไงบ้าง

ตอนที่เปิด City Fresh ธุรกิจนี้เคยเป็นธุรกิจแบบ B2B คือนำเข้าและจำหน่ายผลไม้ให้กับห้างและซูเปอร์มาร์เก็ต ย้อนกลับไปเมื่อราว 35 ปีที่แล้วเป็นยุครุ่งเรืองของโมเดิร์นเทรด ห้างอย่างโลตัส, บิ๊กซี, ท็อปส์, โรบินสัน เพิ่งเข้ามาบูมในไทย เราก็มีโอกาสได้เติบโตไปกับห้างเหล่านั้น

ช่วงนั้นยังไม่ค่อยมีคนทำธุรกิจนำเข้าผลไม้เท่าไหร่ ธุรกิจของเราจึงโตไว พอทำมาเรื่อยๆ ก็ค่อยๆ ขยายมาขายผลไม้ผ่านช่องทาง traditional trade หรือตลาดสดทั่วไป ถ้านึกภาพสมัยก่อนก็จะเป็นพวกปากคลองตลาด ตลาดสี่มุมเมือง ยุคหลังมาหน่อยคือตลาดไท เราขายผลไม้ให้กับสองกลุ่มหลักนี้และพยายาม maintain มาเรื่อยๆ 

จุดเริ่มต้นที่ทำให้เรามาขายให้กับผู้บริโภคโดยตรงคือ พ.ศ. 2558 เป็นยุคที่การขายออนไลน์กำลังเริ่มต้น คู่แข่งเริ่มมีเยอะขึ้น เรามองเห็นโอกาสในช่องทางออนไลน์เพราะคิดว่าเป็นช่องทางที่ทำให้เราเข้าถึงและสื่อสารกับผู้บริโภคได้มากขึ้น นั่นเป็นจุดแรกที่ทำให้เราก้าวไปสู่การทำธุรกิจแบบ B2C

เรื่องนี้สัมพันธ์กับกลยุทธ์ของเราตอนนี้ด้วย นั่นคือเราไม่อยากเป็นแค่เทรดเดอร์ที่หาผลไม้มาขาย แต่พยายามหาซัพพลายเออร์ที่มีคุณภาพดีกว่าหรือมีแบรนด์ของตัวเอง พอเราเวิร์กกับแบรนด์เหล่านี้ เราก็ต้องทำการตลาดควบคู่กันไป ซึ่งออนไลน์ก็เป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารตัวตนของพวกเขา

และเมื่อปีที่แล้วนี่เอง เรามูฟจากออนไลน์มาเปิดหน้าร้านของตัวเอง เป็น big step จริงๆ ของเรา เพราะก่อนหน้านี้ถึงจะทำธุรกิจแบบ B2C แต่เรารู้สึกว่ายังไม่ได้ utilize (ดำเนินการ) มันได้อย่างเต็มที่ ลูกค้าอาจรู้ว่า City Fresh มีขายออนไลน์ด้วย แต่ไม่รู้ว่า City Fresh เป็นใคร ผลไม้ของ City Fresh ดียังไง 

นั่นทำให้เรารีแบรนด์ตัวเองใหม่ เปลี่ยนโลโก้ใหม่ตอนช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน เพิ่มแท็กไลน์ใหม่ว่าเป็น  “Community of Fruit Lovers” 

ทำไมต้อง Community of Fruit Lovers

ก่อนหน้านี้เราก็มีคุยกันในบริษัทว่าจุดขายของเราคืออะไร ได้คำตอบว่าเราอยากเป็นแหล่งรวมผลไม้ที่ดี อยากให้คนที่สนใจผลไม้ รักผลไม้มาที่นี่ จึงเป็นที่มาของคำว่า Community of Fruit Lovers นี่คือในเชิงของผู้บริโภค

ในเชิงของบริษัทก็เช่นเดียวกัน เรารู้สึกว่าผลไม้เป็นสินค้าที่เสียหายง่าย เพราะฉะนั้นคนที่ทำงานกับผลไม้เขาค่อนข้างอินกับมัน มีแพสชั่นกับมันค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าเป็นคนปลูก คนส่งออก คนนำเข้าอย่างผม หรือร้านค้าต่างๆ นานาต้องทำงานแข่งกับเวลา ผมรู้สึกว่าคนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับผลไม้ต้องเป็นคนที่รักผลไม้

ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเราตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำล้วนเป็น fruit lover ทั้งนั้น แม้แต่ในองค์กร ผมก็อยากให้พนักงานของเราเข้าใจในธรรมชาติของการทำงานกับผลไม้ เพราะฉะนั้นพนักงานของเราเขาก็ต้องอินและเป็น fruit lover เหมือนกัน

การได้ผลักดันสังคมของคนรักผลไม้ให้เกิดขึ้นในไทยสำคัญกับคุณยังไง

ผมรู้จักผลไม้ดี รู้สึกว่าโลกของผลไม้เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น น่าสนใจ และมีสิ่งที่คนไม่รู้เกี่ยวกับผลไม้หลายๆ ชนิด เช่น แอปเปิ้ลที่เราเห็นทั่วไป จริงๆ มันมีหลายสายพันธุ์นะ หรือโลกนี้มีผลไม้ที่เรียกว่า ‘กีวี่เบอร์รี’ เป็นกีวี่ลูกจิ๋วสีเขียวๆ ออกผลแค่สองเดือนต่อปี คนรู้จักน้อยมาก แต่เป็นผลไม้ที่ใหม่ พิเศษ เป็น super fruit กินอร่อย ใครได้กินก็ชอบ

หรืออย่างบลูเบอร์รี ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่เคยถามว่า เฮ่ย บิล ทำไมกินบลูเบอร์รีที่เมืองไทยไม่อร่อย เปรี้ยว ซึ่งจริงๆ บลูเบอร์รีมันมีหลากหลายสายพันธุ์ไปหมด สายพันธุ์ที่อร่อยๆ ก็มี ซึ่งพอผมเอาให้เพื่อนลองเพื่อนก็ชอบมาก ติดใจ

นี่คือโลกที่ผู้บริโภคหมู่มากยังเข้าไม่ถึง บางคนอาจมองว่าผลไม้เป็นหนึ่งในอาหาร 5 หมู่ที่ต้องกิน แต่ไม่ได้เอนจอยกับมันเหมือนเนื้อสัตว์ โปรตีนที่มีเรื่องน่าตื่นเต้นเต็มไปหมด นั่นคือเหตุผลที่เราอยากสร้างคอมมิวนิตี้ตรงนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนสามารถมา explore มัน

ธรรมชาติของการทำธุรกิจนำเข้าผลไม้ที่แตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ คืออะไร

ผลไม้เป็นสินค้าเกษตรที่ต้องขายตามฤดูกาล ชาวสวนเขาจะมีช่วงเวลาขายจริงๆ แค่ 4-5 เดือนต่อปี เวลาที่เหลือคือการเตรียมพร้อม ปลูก ใส่ปุ๋ย ดูแล เพราะฉะนั้นบทบาทของ City Fresh ในฐานะดิสทริบิวเตอร์ (ผู้จัดจำหน่าย) คนหนึ่งของเขา เราจะพยายามสร้างผลตอบแทนให้เขาได้มากที่สุด ค้นหาวิธีที่จะขายผลไม้ของเขาให้กับคนที่ใช่และได้ value ที่ดีคืนกลับไปหาเขา

ตลาดนำเข้าผลไม้มีการแข่งขันสูง และมีความเป็น commodity product หมายถึงการแข่งด้วยราคา ใครขายแอปเปิลถูกสุดก็ไปซื้อกับคนนั้น เราจึงพยายามหนีจากการแข่งขันเรื่องนี้ด้วยการเน้นเรื่องการสร้างแบรนดิ้ง เริ่มต้นตั้งแต่การเลือกสวนและแบรนด์ต่างๆ มาร่วมงานกัน เรามีแบรนด์ดังๆ ในมือหลายแบรนด์ เช่น Dole, ZESPRI, Pink Lady, Rockit แบรนด์เหล่านี้เป็นตัวชูโรงของเรานอกเหนือจากผลไม้ทั่วไป

ในอีกมุมหนึ่งของ City Fresh เอง เราก็อยากมีตัวตนให้ลูกค้ารับรู้เหมือนกันว่า ทำไมต้องซื้อกีวี ZESPRI จาก City Fresh ทำไมต้องซื้อแอปเปิล Pink Lady จากเรา ก็เลยพยายามสื่อสารเรื่องนี้มากขึ้น เพราะเรารู้สึกว่ามันคือหนทางในการหนีออกจากกับดักความเป็นสินค้า commodity product ได้

คุณมีเกณฑ์ในการคัดเลือกซัพพลายเออร์หรือแบรนด์ที่อยากทำงานด้วยไหม

ผมว่ามันต้องเป็นบริษัทที่เขามี value เดียวกับเรา นั่นคือความพร้อมในการทำธุรกิจกับเราแบบ long-term ทำกับเรายาวๆ ถึงแม้เป็นบริษัทที่ทำผลไม้ดีมากก็แล้วแต่ แต่ถ้าเขาพยายามจะทำกำไรให้ได้เยอะที่สุดในแค่ระยะสั้นก็อาจจะไม่ได้ร่วมงานกัน 

เหตุผลที่ผมบอกว่าเป็น long-term เพราะพอเป็นธุรกิจผลไม้ ของสด มันจะมีทั้งปีที่ดีและปีที่แย่ คละเคล้ากันไป สมมติปีนี้ผลผลิตไม่ดีเพราะต้นทางฝนตกเยอะ เลยทำให้ได้ผลตอบแทนกลับไปไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เราก็ต้องพยายามผ่านปีนั้นไปด้วยกันกับพาร์ตเนอร์ เช่นเดียวกันมันก็มีปีที่ดีที่ได้ผลตอบแทนเยอะหน่อย การมีพาร์ตเนอร์ที่เข้าใจความ long-term ก็จะทำให้เราทำธุรกิจนี้ได้อย่างราบรื่น

นอกจากนี้ คาแร็กเตอร์ของบริษัทที่เราชอบทำงานด้วยต้องเป็นแบรนด์ที่ค่อนข้าง honest ปีนี้ของเป็นยังไง ดีหรือไม่ดี shelf life จะสั้นไหม เราจะได้จัดการมันได้อย่างดีที่สุด นี่ก็เป็นเรื่องสำคัญ

เรื่องสุดท้ายคือคุณต้องมีสินค้าที่ดี ซึ่งผมว่าสำคัญน้อยกว่าสองข้อที่กล่าวมา เพราะถ้าคุณมีสินค้าที่ดีแต่ไม่ได้มอง long-term ไม่ซื่อสัตย์ ไม่ตรงไปตรงมากับเรา เราอาจไม่ได้อยากทำธุรกิจกับเขาในระยะยาว แต่ถามว่าปิดประตูกับเขาเลยไหม เราไม่ปิดประตูนะ แต่อาจมีธุรกิจแบบอื่นๆ ที่ทำกับเขาเป็นครั้งคราวได้

แล้วกับสินค้าล่ะ ผลไม้แบบไหนที่ City Fresh เรียกว่าของดี

ถ้าในเชิงธุรกิจเลย คำว่าของดีของเราคือของที่ตรงสเปก ไม่ได้แปลว่าเป็นของที่พรีเมียมจ๋าเสมอไป เพราะเวลาเราซื้อผลไม้มา แต่ละล็อตก็จะมีสเปกของเขา ซึ่งสเปกสัมพันธ์กับราคาและมาตามที่มันควรจะเป็น

แต่ถ้าเป็นสินค้าที่ขายแบบ B2C ขายในร้าน City Fresh เองหรือขายในช่องทางออนไลน์ของเรา เราจะเลือกเฉพาะเกรดพรีเมียมเท่านั้น คำว่าพรีเมียมอาจไม่ได้จำกัดด้วยประเภทของผลไม้หรือ origin (ที่มา) เสมอไป อย่างผลไม้ที่มาจากเมืองจีนเป็นต้น เขาก็มีทั้งของที่ดีกับเกรดถูก City Fresh ขายของจีนไหมก็ขาย แต่ขายเกรดพรีเมียม มาจากสวนที่ไว้ใจได้ 

ปัจจุบันแบ่งประเภทของผลไม้ที่นำเข้ายังไง และรับมาจากแหล่งไหนบ้าง

เรารับจากทุกแหล่งที่สามารถนำเข้าได้ ส่วนใหญ่เป็นทางโซนออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ ถ้าพูดถึงตัวที่ volume (ปริมาณ) เยอะที่สุด ซึ่งเป็นตัวที่มีบริโภคเยอะที่สุด จะมี 3 ตัวคือแอปเปิล องุ่น ส้ม ในแง่ volume 3 ตัวนี้ใหญ่ที่สุดอยู่แล้ว

แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เฉพาะทางสำหรับ City Fresh ผมอาจจะตีออกมาได้ราว 4 อย่าง หนึ่ง–กีวี สอง–อะโวคาโด้ สาม–บลูเบอร์รี สี่–ลูกพลับ 4 ตัวนี้เป็น 4 ตัวที่เราพูดได้เต็มปากว่าถนัดมากกว่าคนอื่นในตลาด เป็นจุดแข็งของเรา อย่างกีวี่ก็ทำมาตั้งแต่ 20 ปีก่อน เราเป็นคนแรกที่เอากีวี่มาแนะนำตัวกับเมืองไทย หรืออะโวคาโด้กับบลูเบอร์รีก็เป็นผลไม้ 2 ชนิดที่มีอัตราการเติบโตเยอะสุดในทั่วโลก หมายถึงคนกินเยอะ เป็น 2 ตัวที่คิดว่ากำลังมาเราเลยโฟกัสกับมัน ส่วนลูกพลับ เราชำนาญเพราะมีซัพพลายเออร์ที่ค่อนข้างแข็งแรง ร่วมงานกับเรามาตั้งแต่ 20 ปีก่อน 

ผลไม้ดูเป็นสินค้าที่เปราะบางมาก มีวิธีการดูแลระหว่างนำเข้าให้ยังคงคุณภาพได้ยังไง

เราทำงานใกล้ชิดกับทางคนปลูกและคนส่งออก เขาเป็น specialist ในทางของเขา รู้วิธีการจัดการที่เหมาะสมอยู่แล้วเพราะเขาทำมานาน เราเลยไม่ต้องกังวลเท่าไหร่ 

บทบาทที่เราพอจะจัดการได้คือการไปรับจากท่าเรือหรือสนามบิน เราจะทำยังไงให้คงคุณภาพไว้ได้ดี ซึ่งผมว่าคีย์เวิร์ดคือการรักษาอุณหภูมิ ผลไม้นำเข้าส่วนมากเป็นผลไม้เมืองหนาว การรักษาอุณหภูมิให้คงที่ตลอดเวลาตั้งแต่ตอนรับสินค้าจนส่งถึงมือลูกค้าคือหัวใจสำคัญ

ทั้งนี้ทั้งนั้น เนื่องจากของสดมีโอกาสเกิดความแปรปรวนของคุณภาพได้ การสุ่มตรวจคุณภาพของเราก็เป็นเรื่องที่ควรใส่ใจเช่นกัน ถ้าเราตรวจเจอคุณภาพที่ไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น เราก็ต้องมาเลือกต่อแล้วว่าเราควรขายในช่องทางไหน

คุณไม่เคยขายผลไม้ทางช่องทางออนไลน์มาก่อน ในช่วงที่ได้ลุยเรื่องนี้อย่างจริงจังทำให้คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง

สิ่งที่ได้เรียนรู้คือลูกค้าอยากคุยนะพอเป็นผลไม้ เพราะมันไม่ใช่สินค้าที่อยู่ๆ เปิดเข้าเว็บไปหยิบลงตะกร้าแล้วซื้อ แต่ลูกค้าจะสงสัยว่าเชอร์รีช่วงนี้ดีไหม เป็นยังไงบ้าง 

เรื่องหนึ่งที่การขายออนไลน์ได้เปรียบกว่าการขายออฟไลน์คือเราคอนโทรลเมสเซจที่จะส่งหาลูกค้าได้ค่อนข้างดีกว่า เวลาไปขายออฟไลน์ สมมติสินค้าอยู่บนเชลฟ์ บางทีมันไม่มีคนไปบอกลูกค้าว่าผลไม้ตัวนี้พิเศษยังไง พออยู่ในออนไลน์ มันเป็นโลกของคอนเทนต์ เราจึงสามารถทำคอนเทนต์หลายรูปแบบเพื่อบอกลูกค้าได้ว่าผลไม้ชนิดนี้มาจากไหน ดียังไง หรือแม้แต่การขายผ่านไลฟ์ที่เอาคนที่เป็นกูรูเรื่องผลไม้จริงๆ มายืนคุยกับลูกค้าโดยตรง ผมว่ามันเป็นจุดแข็งหนึ่งที่ออนไลน์ทำได้ดีกว่าตัวออฟไลน์

แล้วกับร้านที่เพิ่งเปิดใหม่ร้านนี้ล่ะ สนใจว่าทั้งๆ ที่ทำเป็นช้อปขายผลไม้เฉยๆ ก็ได้ ทำไมต้องทำเป็นคาเฟ่ มีเมนูอาหาร มีเครื่องดื่ม

ย้อนกลับไปที่ความตั้งใจว่าเราอยากให้คนสนุกกับการมีคอมมิวนิตี้ผลไม้ ผมมองว่าการมีเมนูอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลไม้ของเราเป็นส่วนประกอบคือการทำให้มันสนุกขึ้น ด้วยตัวผลไม้เองก็มีความสนุกระดับหนึ่งแหละ แต่การต่อยอดก็ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่ามันสนุกได้ยังไง และมันสามารถทำออกมาเป็นเมนูได้หลากหลายและทำได้ดี โดยไม่ต้องปรุงแต่งเยอะเลย 

เราไม่อยากให้ City Fresh ถูกจำกัดแค่คำว่า ‘ผลไม้สด’ แต่ City Fresh คือใดๆ ที่เป็นผลไม้ มาที่นี่คุณก็กินเบเกอรี กินสมูตตี้ได้ 

ความท้าทายของ City Fresh ในวันนี้คืออะไร

เราพยายามทำให้ธุรกิจเติบโตเรื่อยๆ มันเคยมีวันที่เราสามพี่น้องมานั่งคุยกันว่าจะเอายังไงกับธุรกิจครอบครัวดีวะ จะ maintain ให้มันไปเรื่อยๆ หรืออยากให้มันเติบโตขึ้น สุดท้ายเราก็เห็นตรงกันว่าเราอยากให้มันเติบโต พอเติบโตก็มีความเสี่ยง เพราะเราอยากหาโอกาสทำนู่นทำนี่ อย่างเช่นการลงทุนเปิดร้านก็เป็นสิ่งใหม่ของเราเหมือนกัน เราเชี่ยวชาญในการทำงานกับผลไม้ แต่การเปิดร้านนี่เป็นการทำงานอีกแบบหนึ่งเลย มันก็เป็นชาเลนจ์ใหม่ซึ่ง ผ่านมา 5-6 เดือนเราก็ยังเรียนรู้อยู่

คุณตั้งเป้าหมายของ City Fresh ไว้แบบไหน

(นิ่งคิด) เราพยายามตั้งเป้าหมายเพื่อชาเลนจ์ตัวเอง ดันตัวเองไปข้างหน้าเรื่อยๆ ถ้าถามผมว่าวันนี้เราทำสำเร็จหรือยัง มันสำเร็จในบางเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น การรับช่วงต่อจากพ่อแม่ที่พูดได้เต็มปากว่าสำเร็จแล้ว เพราะเราก็รับมาบริหารต่อได้แล้ว แต่ถ้าถามว่าสำเร็จตามเป้าหมาย ไปถึงจุดที่อยากเป็นหรือยัง คงพูดอย่างนั้นไม่ได้เต็มปาก เพราะยังมีหลายๆ เรื่องที่อยากบรรลุอยู่

จุดที่อยากเป็นคืออะไร

ถ้าในเชิงธุรกิจคือเราอยากขยายธุรกิจให้มีความบาลานซ์ระหว่าง B2B กับ B2C มากขึ้น เพราะเมื่อเราเข้าใกล้ B2C เราจะเข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้เราสามารถคิดกลยุทธ์ในการทำธุรกิจในภาพรวม รวมถึง B2B ได้ดียิ่งขึ้นด้วย มันน่าจะเป็น positioning (การจัดวางตำแหน่งธุรกิจในภาพรวมของตลาด) ที่ดีต่อองค์กรในการตอบโจทย์ลูกค้าได้มากกว่าที่เป็นอยู่ 

นอกจากนี้เรายังอยากเป็นแบรนด์ผลไม้ที่คนจดจำได้มากกว่านี้ ตอนนี้ลูกค้า B2B รู้จัก City Fresh แล้ว แต่ถ้าเป็นผู้บริโภคทั่วไป ผมว่าเขายังไม่รู้จัก City Fresh ขนาดนั้น เราอยากให้เขารู้จักเราว่าเราเป็นใคร ทำ Community of Fruit Lovers เป็นคนนำเข้าผลไม้ดีๆ ที่ใหม่และน่าสนุก นี่คือภาพที่เราอยากให้เป็น

สุดท้าย การทำ City Fresh เติมเต็มตัวคุณยังไง 

โดยพื้นฐานแล้วธุรกิจต้องเลี้ยงปากท้องได้ ซึ่ง City Fresh ก็ตอบโจทย์ข้อนี้ของผมและครอบครัวได้

ข้อที่สองคือผมมีความสุขกับมัน ไม่ใช่แค่ความสุขที่ได้จากการทำงานกับสินค้าที่สนุกเท่านั้น แต่ธุรกิจนี้ทำให้ผมมีเพื่อนจากหลากหลายประเทศเต็มไปหมด ธุรกิจคนทำผลไม้มักจะเป็น family business ทุกวันนี้ผมจึงมีเพื่อนกว่า 10 สัญชาติที่อยู่ในรุ่นเดียวกัน มารับช่วงต่อพ่อแม่เหมือนกัน เป็นเพื่อนที่สามารถโทรไปคุยกับพวกเขาได้ตลอดทั้งเรื่องธุรกิจและเรื่องส่วนตัว นี่เป็นสิ่งที่ผลักดันให้อยากทำธุรกิจนี้ต่อไป ผมไม่ได้รู้สึกเหนื่อยหรือกังวลกับการต้องโทรหาเขาตอน 4-5 ทุ่ม เพราะเหมือนผมโทรคุยกับเพื่อนไปด้วย

หนึ่งในความตั้งใจของ City Fresh คือการเป็นองค์กรที่เปิดให้พนักงานได้มาสร้างเนื้อสร้างตัว ให้เขาได้เติบโตในอาชีพ มีรายได้ที่ดีขึ้น และมีความสุขไปการทำงานควบคู่กันไปด้วย นี่คือสิ่งที่เราสามคนพี่น้องคุยกันว่าอยากโฟกัสเรื่องนี้ มีการคุยกันกับฝั่ง HR ว่าจะทำยังไงให้เราตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ เพราะพนักงานเขามาอยู่กับเราวันละ 7-8 ชั่วโมง บางคนทำงาน 10 ชั่วโมง เราก็อยากให้เขาได้รับสิ่งที่ดีที่สุด

Writer

นักอยากเขียนผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like