สินค้าเด็ก

‘Broker’ และธุรกิจสีหม่นที่ช่วยสานฝันพ่อแม่ชาวเกาหลีที่มีลูกไม่ได้ให้เป็นจริง

ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ เป็นผู้กำกับที่ชอบทำหนังประเภทที่เรากับเพื่อนชอบเรียกว่า ‘แสงสว่างตรงปลายอุโมงค์’ 

ไม่ว่าโลกในหนังจะบิดเบี้ยว ตัวละครจะเจอสถานการณ์ดำมืดแค่ไหน จะต้องมีสักโมเมนต์หนึ่งในเรื่องที่เฉลิมฉลองให้แก่การมีชีวิต ในเวลาเดียวกันมันก็ทำให้เราเหล่าคนดูได้ฉุกคิดถึงคำถามที่ไม่เคยนึกถามมาก่อน อย่างใน Shoplifters (2018) หนังรางวัลปาล์มทองคำเรื่องก่อนของเขา เล่าเรื่องราวของเหล่าคนชายขอบต่างวัยที่มาใช้ชีวิตร่วมกัน ก็ทำให้เราตั้งคำถามกับนิยามของคำว่าครอบครัวว่าจริงๆ แล้วคืออะไร จำเป็นไหมที่คนในครอบครัวจะต้องผูกพันทางสายเลือด

หนังเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Broker ก็ไม่ต่าง มันพูดถึง baby box หรือกล่องรับเด็กทารกในเกาหลีที่เปิดให้แม่ผู้ไม่พร้อมเลี้ยงเด็กเอาลูกมาหย่อนไว้ เพื่อให้พวกเขาได้ไปเติบโตในสถานที่และครอบครัวที่พร้อมซัพพอร์ตต่อไป หนังเล่าเรื่องราวของซังฮยอน (รับบทโดย ซงคังโฮ) และดงซู (รับบทโดย คังดงวอน) เพื่อนต่างวัยผู้ดูแลเบบี้บอกซ์แห่งหนึ่ง คนแรกเป็นเจ้าของร้านซ่อมเสื้อผ้าโทรมๆ ที่เปิดไปวันๆ ส่วนคนหลังเป็นอดีตเด็กกำพร้าที่ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งคู่มีงานอดิเรกลับๆ คือการขโมยเด็กที่แม่ทิ้งไว้โดยไม่มีข้อมูลระบุตัวตน เพื่อนำไปขายต่อให้กับพ่อแม่ที่อยากมีลูกแต่ไม่สามารถ

แต่ระหว่างกำลังจะเริ่มทริปขายเด็ก โซยอง (รับบทโดย อีจีอึนหรือ IU) แม่ของเด็กคนล่าสุดก็ปรากฏตัวขึ้นและกลายเป็นนายหน้าคนที่สาม โดยมีสองตำรวจสาว ซูจิน (รับบทโดย แบดูนา) และลี (รับบทโดย อีจูยอง) ที่ติดตามไปแบบลับๆ เพื่อจับกระบวนการค้ามนุษย์นี้ให้ได้คาหนังคาเขา

นายหน้าค้าเด็ก

เห็นชื่อเรื่อง หลายคนอาจจะเดาไปว่านอกจาก Broker จะแปลว่านายหน้า คำคำนี้น่าจะหมายถึงคนที่ผุพังและแตกสลาย ถึงอย่างนั้น ตัวโคเรเอดะเองก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าสำหรับเขา Broker แปลตรงตัวว่านายหน้านั่นแหละ เขามองว่านายหน้าคือคนที่อยากให้เด็กขายออกมากที่สุด ซึ่งอาจหมายไม่ได้หมายถึงแก๊งลักเด็กเท่านั้น เพราะเมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงจุดหนึ่ง กลับเป็นตำรวจที่ตามสืบคดีนี้เสียเองที่อยากให้เด็กขายออกมากๆ

ระหว่างที่ล้อรถของพวกเขาแล่นไปบนถนน Broker ชวนให้เราสำรวจชีวิตของตัวละครผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ที่เปิดเปลือยตัวตนและรอยแผลของพวกเขาอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนในที่สุดเราก็อดไม่ได้ที่จะโอบรับตัวละครทุกตัวเข้ามาในใจ น้ำตาซึมไปกับโมเมนต์เฉลิมฉลองชีวิตของพวกเขา และแน่นอน หนังชวนให้เราตั้งคำถามกับกล่องรับทารกและ ‘นายหน้า’ ในแง่มุมสีเทาๆ ว่าการมีอยู่ของพวกเขาเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีกันแน่ นับตั้งแต่นาทีแรกๆ ที่ตัวละครของแบดูนาพูดว่า “ถ้ามีลูกแล้วเลี้ยงไม่ได้ จะมีลูกไปทำไม” ซึ่งอาจมีคนเห็นด้วยไม่น้อย ขณะเดียวกัน บางคนอาจมองว่าการส่งต่อเด็กๆ ให้คนที่พร้อมดูแลพวกเขา มันก็ยังดีกว่าการทิ้งไว้ในถังขยะ

กล่องนี้มีรัก

โคเรเอดะได้แรงบันดาลใจในการทำหนังเรื่องนี้ระหว่างเขากำลังรีเสิร์ชข้อมูลมาเขียนบทหนัง Like Father, Like Son และเจอข้อมูล baby box ที่มีอยู่จริงในหลายประเทศ ที่เกาหลีเอง กล่องรับทารกเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2019 จากการริเริ่มของลีจองรัก บาทหลวงประจำโบสถ์แห่งหนึ่งที่สร้างกล่องรับทารกขึ้นมาเพื่อซัพพอร์ตแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เลี้ยงลูกไม่ไหว โดยเขาจะส่งต่อเด็กๆ เหล่านั้นไปตรวจเช็กร่างกายและส่งให้สถานรับเลี้ยงเด็กต่อไป

กล่องรับทารกเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในเกาหลี คนจำนวนหนึ่งบอกว่า baby box นั้นส่งเสริมให้มีการทิ้งเด็กได้ง่ายขึ้น แถมยังเป็นสิ่งที่ขัดต่อสนธิสัญญาของ UN ว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็กที่ระบุว่าเด็กทุกคนต้องได้รับการลงทะเบียนตนทันทีที่เกิด (เพราะเด็กที่ถูกทิ้งใน baby box บางคนก็ไม่ได้ลงทะเบียนในขั้นตอนนี้ ทำให้พวกเขาถูกรับไปอุปถัมภ์เป็นบุตรบุญธรรมได้ยาก) แต่อีกฝั่งหนึ่งก็โต้กลับว่าสังคมเกาหลีไม่ได้ซัพพอร์ตแม่เลี้ยงเดี่ยวมากพอ แถมยังตีตราคนที่ท้องโดยไม่แต่งงานว่าเป็นบาปอีก การมีอยู่ของ baby box จึงยังถือว่าเป็นทางเลือกที่มีประโยชน์สำหรับแม่ผู้อับจนหนทาง

ธุรกิจรับเลี้ยงเด็ก

สิ่งที่เราสนใจเป็นพิเศษใน Broker คือธุรกิจสีหม่นที่ต่อยอดมาจากช่องโหว่ของ baby box ซึ่งอาจเอื้อให้เกิดการลักพาตัวเด็กไปขาย ในกรณีที่เด็กคนนั้นไม่มีข้อมูลระบุตัวตน 

การขายเด็กให้ครอบครัวอื่นรับไปเป็นบุตรบุญธรรมอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ในเกาหลี นับตั้งแต่ที่รัฐบาลประกาศใช้กฎหมาย The Special Adoption Act ในปี 2012 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการอุปถัมภ์เด็กๆ ชาวเกาหลีโดยพ่อแม่เชื้อชาติเดียวกัน และลดการอุปถัมภ์โดยคนต่างชาติให้น้อยลง (เนื่องจากก่อนหน้านั้นมีเด็กเกาหลีถูกส่งออกไปให้คนต่างชาติอุปถัมภ์จำนวนมากตั้งแต่สมัยสงครามเกาหลี พีคสุดๆ คือปี 1985 ที่มีเด็กส่งออกประเทศกว่าแปดพันคน!) รัฐบาลจึงออกกฎว่าหากพ่อแม่คู่ไหนประสงค์จะมอบลูกของตัวเองให้เป็นลูกบุญธรรมของคนอื่น ต้องยื่นเรื่องต่อศาลครอบครัวก่อน และต้องสมัครใจที่จะเปิดเผยข้อมูลนี้สู่สาธารณะด้วย

ประเด็นคือพ่อแม่ผู้รับเลี้ยงเด็กบางคนอยากเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ พวกเขาไม่อยากให้เด็กหรือใครรู้ว่าเด็กไม่ใช่ลูกแท้ๆ และอยากทำตัวประหนึ่งเป็นพ่อแม่จริงๆ ในขณะที่ฝั่งพ่อแม่จริงๆ นั้นก็อยากลบอดีตของตน นั่นทำให้อัตราการรับเลี้ยงบุตรอย่างถูกกฎหมายในประเทศจากหลักพันก็ลงเหลือแค่หลักร้อย และทำให้ธุรกิจขายเด็กเป็นบุตรบุญธรรมแบบผิดกฎหมายนั้นรุ่งเอาๆ

อาจเพราะขั้นตอนการซื้อ-ขายง่ายแสนง่าย และไม่ได้ซับซ้อนชวนตื่นเต้นเหมือนใน Broker ด้วยซ้ำ เพียงแค่พ่อแม่ผู้อยากรับเลี้ยงตามหานายหน้าในเว็บไซต์ลับ ส่งข้อความไปแจ้งความประสงค์ซึ่งสามารถระบุได้ละเอียดถึงขั้นว่าอยากได้ลูกเพศไหนหรือกรุ๊ปเลือดอะไร หลังจากนั้นนายหน้าก็จะหาแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มาให้ และลูกค้าต้องจ่ายราคา ‘ค่าแนะนำ’ ที่นายหน้าจะพาลูกค้ากับแม่มารู้จักกัน ซึ่งส่วนมากจะอยู่ที่ราวๆ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ 

สุดท้ายคือตกลงเงื่อนไขกันว่าหลังจากคลอดในคลินิกที่พวกเขาเตี๊ยมกันไว้แล้ว เด็กจะถูกระบุว่าเป็นลูกของพ่อแม่ผู้รับเลี้ยงโดยอัตโนมัติ และวันที่คลอดจริงๆ พ่อแม่ที่จะรับเลี้ยงต้องอยู่ตรงนั้นด้วย ถ้าจะให้สมจริงเข้าไปอีก พ่อแม่ผู้รับเลี้ยงเด็กต้อง ‘แสดง’ ว่ากำลังตั้งครรภ์ลูกคนใหม่เพื่อตบตาคนรอบตัวมาก่อนหน้านั้นเลย

นี่เองคือกระบวนการที่ทำให้การอุปถัมภ์นี้สำเร็จได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลครอบครัว ซึ่งตามรายงานของสำนักข่าวโชซุนเคยรายงานไว้ว่าในปี 2014 มีอัตรา ‘การอุปถัมภ์เป็นบุตรบุญธรรมแบบส่วนตัว (personal adoption) เกิดขึ้นทั้งในเกาหลีและต่างประเทศหลายสิบครั้งในหนึ่งวันเลยทีเดียวไม่ต่างจากขบวนการขายเด็กจาก baby box ใน Broker หากใช้ข้อกฎหมายมาวัด มันคือการละเมิดสิทธิเด็กที่ยังไม่รู้ประสีประสา แต่ในทางกลับกัน ก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเราคือคนที่ตกอยู่ในที่นั่งของพ่อแม่ผู้อยากมีลูกมากแต่ไม่สามารถมีได้ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไร หรือเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่สู้ชีวิตยังไงชีวิตก็สู้กลับจนเลี้ยงลูกไม่ไหว ธุรกิจนี้อาจเป็นแสงสว่างตรงปลายอุโมงค์ของเราก็ได้ ใครจะรู้

อ้างอิง

sahamongkolfilm.com

koreatimes.co.kr

youtube.com

chosun.com

mpakusa.blogspot.com

hollywoodreporter.com

Writer

นักอยากเขียนผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender และเรื่องป๊อปทุกแขนง

You Might Also Like