เพ้อเจ้อริ่ง

‘เพ้อเจ้อริ่ง’ ศาสตร์แห่งการตั้งชื่อร้านอาหารของ ปลา อัจฉรา แห่งอาณาจักร iberry

iberry คือ ร้านไอศครีมสีสันสดใสที่ทีเด็ดอยู่ที่ไอศครีมผลไม้เมืองร้อนหลากหลายให้เลือกลอง

iBERISTA คือร้านขายกาแฟภายใต้ชายคา iberry Group

กับข้าว’ กับปลา, รส’นิยม, เจริญแกง คือร้านอาหารไทยที่มีสไตล์ที่ต่างกันออกไป

โรงสีโภชนา และข้าวต้มกุ๊ยโรงสี คือร้านขายอาหารสไตล์ไทย-จีน มีทั้งอาหารแบบภัตตาคารและอาหารแบบข้าวต้มกุ๊ย

ฟ้าปลาทาน คือร้านขายข้าวต้มปลา เสิร์ฟส่งถึงบ้านลูกค้าอย่างร้อนๆ แถมสั่งง่ายสั่งสะดวกเพียงแค่ปลายนิ้วคลิก

เบิร์นบุษบา คือร้านขายยำรสแซ่บ เผ็ดสะเด็ดใจ สมกับคอนเซปต์ ‘ยำไฟแล่บ ย่างไฟลุก’ ของร้าน

ทองสมิทธ์ คือร้านก๋วยเตี๋ยวเรือที่แม้ไม่ได้อยู่ในเครือ iberry Group แต่ก็เป็นร้านที่ปลา อัจฉรา ร่วมหุ้นกับเพื่อนๆ ช่วยกันสรรค์สร้างขึ้นมาจนกลายเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวเรือชื่อดัง

หากอ่านดูเพียงแค่ชื่อร้านแบบผ่านๆ แค่ทีเดียว บางร้านอาจทำให้เราต้องคิดถึงหลายตลบว่า ตกลงว่าร้านนี้ขายอะไรกันแน่ แต่เมื่อรู้ความเชื่อมโยงระหว่างชื่อกับคอนเซปต์ร้านก็ล้วนประทับใจในศิลปะการตั้งชื่อร้านอาหารที่ไม่เหมือนใครของ ปลา–อัจฉรา บุรารักษ์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารร้านอาหารในเครือ iberry Group

ชื่อร้านไอศครีมของเธอไม่มีคำว่า ‘ไอศครีม’, ชื่อร้านข้าวต้มของเธอที่ไม่มีคำว่า ‘ข้าวต้ม’ หรือชื่อร้านยำของเธอไม่มีคำว่า ‘ยำ’ นี่ไม่ใช่เพลงใหม่ของเก็ตสึโนวา แต่เป็นแนวทางในการตั้งชื่อร้านของปลา อัจฉรา

ความแหวกแนวและแตกแถวของหลักการการตั้งชื่อร้านของเธออาจทำให้ร้านของเธอดูน่าสนใจและเชิญชวนให้คนเดินเข้าร้าน แต่หากคุณเคยเป็นลูกค้าของร้านอาหารในเครือ iberry Group คุณจะเข้าใจว่า ‘อาหาร’ ในร้านของเธอต่างหาก ที่เป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้ากลับมากินซ้ำจนกลายเป็นลูกค้าประจำ

อย่างไรเสีย ชื่อร้านก็คือหน้าต่างบานแรกของหัวใจ ก่อนที่จะพาลูกค้ามารักอาหารในร้านของเธอ

“เชื่อไหมว่าการตั้งชื่อร้านเป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 เลยนะเวลาทำแบรนด์” ปลา อัจฉรา กล่าวเปิดการสนทนา พร้อมกับพรั่งพรูถึงหลักการในการตั้งชื่อแบรนด์ของเธอ

“ถ้าชื่อแบรนด์เราดี มันจะเป็นต้นทุนที่ดีในการคลอดแบรนด์ มันช่วยเรื่องการมองเห็น การจดจำ การรับรู้ของคน ถ้าเรา pick ชื่อที่ใช่ มันจะส่งให้แบรนด์เราติดตลาดได้เลยนะ พอคิดได้ว่าเราอยากจะขายอะไร เราก็เริ่มคิดชื่อเลย แล้วก็ตอนที่เราตั้งชื่อแบรนด์ เราแทนตัวแบรนด์นั้นให้เป็นคนนะ แต่ละแบรนด์เลยจะมีคาแร็กเตอร์ที่เป็นคนที่ลุคต่างกันออกไป”

ปลา อัจฉรา บัญญัติศัพท์ใหม่ในพจนานุกรมของเธอเองว่า เธอใช้หลักการ ‘เพ้อเจ้อริ่ง’ ในการตั้งชื่อแบรนด์ แต่ละครั้งที่เธอ ‘เพ้อเจ้อริ่ง’ อาจจะใช้เวลานานเป็นเดือน หรือหลายเดือน ก่อนที่จะคลอดแบรนด์นั้นออกมา

และนี่คือเบื้องหลังความคิดการตั้งชื่อแบรนด์แต่ละชื่อจากปลายปากกาของเธอ ที่อาจทำให้คุณงุนงงในแวบแรกแต่หลงรักในแวบสองด้วยคุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารและรสชาติที่ถูกปากคนไทย

iberry

ร้านไอศครีมที่ทำให้ไอศครีมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

ในวันนี้ที่เรามีไอศครีมกินกันอย่างหลากหลายในทุกรูปแบบ เราคงคิดกันไม่ออกเลยว่า เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ไอศครีมเป็นที่ฮือฮามากๆ คือไอศครีมที่เลือกเอาผลไม้แบบไทยๆ มาใช้เป็นส่วนผสมของไอศครีม เช่น กระท้อน มะยม น้อยหน่า

นี่คือส่วนผสมที่เลือกสรรจนเป็นที่มาของไอศครีมร้าน iberry ที่ทำให้เรารู้จักคำว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ผ่านของกินเล่นหวานเย็นในถ้วยเล็กๆ นี้ จนเกิดกระแสทอล์กออฟเดอะทาวน์

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของฉายา ‘ปลา iberry’

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1999 สมัยที่อินเทอร์เน็ตยังไม่ได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับการหายใจเข้า-ออกของผู้คนอย่างทุกวันนี้ วิถีทางที่จะตามล่าหาร้านอาหาร ร้านขนมอร่อยๆ สักร้าน คงจะหนีไม่พ้นการแนะนำแบบปากต่อปาก จากเพื่อนสู่เพื่อนบอกกันต่อเป็นทอดๆ ออกไปเรื่อยๆ

ช่วงนั้นเอง ประชาชนชาวสุขุมวิททั้งคนไทย คนต่างชาติต่างพากันฮือฮาพูดถึงร้านไอศครีมน้องใหม่ใจกลางเมืองที่ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 24 ว่าเป็นร้านที่เสิร์ฟไอศครีมรสชาติแปลกใหม่ มีไอศครีมรสผลไม้ให้เลือกมากมาย ทั้งผลไม้ไทย ผลไม้เทศ หรือจะเป็นไอศครีมรสชาติคลาสสิกแบบนิยมนมเนย ก็มีให้เลือกเช่นกัน แถมโลโก้ สีสัน การตกแต่งของร้านก็ดูสดใสแปลกตา ช่วงนั้นถ้าแวะไป (สุขุมวิท) ซอย 24 ไม่มีใครไม่พูดถึงร้านนี้ ‘iberry’

“iberry เกิดจากการผสมคำของเราเอง คือ ice cream บวกกับคำว่า berry” 

นี่คือความคิดตั้งต้นของการเปิดร้านไอศครีมในวัย 22 ของปลา อัจฉรา การเอาคำว่าไอศครีมซึ่งเป็นสินค้าชูโรงของแบรนด์ มาผนวกกับเบอร์รีซึ่งเป็นผลไม้ตระกูลเปรี้ยวที่นิยมเอามาผสมให้เป็นส่วนหนึ่งของรสชาติไอศครีม ทั้งสตรอว์เบอร์รี, บลูเบอร์รี, ราสเบอร์รี, กูสเบอร์รี จึงเป็นที่มาของจุดเริ่มต้นของคำว่า iberry และอาณาจักรร้านอาหารก็เริ่มต้นที่นี่

“ตอนนั้นเราเปิดร้านตอนอายุ 22 iberry คือตัวเราเองเลย เป็นผู้หญิงวัยรุ่น มันคือตัวเราในตอนนั้นเลย”

ทุกอย่างจึงถูกสะท้อนออกมาในแนวทางนั้น ทั้งสีสันสดใส กราฟิกน่ารักมีสไตล์ถูกถ่ายทอดออกมาจากลักษณะของเจ้าของแบรนด์ iberry ในวัย 20 ต้นๆ

กับข้าว’ กับปลา

กินข้าวที่ไหนก็เหมือนได้กินข้าวกับปลา อัจฉรา

หาก ‘iberry’ นำเสนอความเป็นปลา อัจฉรา ที่แสน ’เปรี้ยวจี๊ด’ ในวัย 22 

ร้าน ‘กับข้าว กับปลา’ ก็คงเป็นร้านอาหารที่นำเสนอความเป็นปลา อัจฉรา ในวัยที่มีวุฒิภาวะมากขึ้น เป็นวัยที่เรียนรู้เรื่องราวของธุรกิจร้านอาหารมาพอตัว จนอยากเชิญชวนทุกคนมานั่งกินกับข้าว’ กับปลา (อัจฉรา)

อาหารไทยหลากหลายเมนู มีทั้งที่เป็นจานเดี่ยวกินง่ายๆ อย่างก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ก๋วยจั๊บญวน จนถึง ‘กับ’ ที่กินกับ ‘ข้าว’ แบรนด์นี้ถือเป็นแบรนด์ที่สองของเธอที่ขยายฐานจากแค่ขายไอศครีมมาขายอาหารคาวอย่างเต็มตัว

ชื่อ กับข้าว’ กับปลา เป็นชื่อที่สรุปรวมความทั้งการสื่อสารกับลูกค้าว่าร้านนี้ขายสิ่งใดบ้าง ไปจนถึงการสื่อสารกับลูกค้าว่าถ้าคุณเดินเข้ามาในร้านนี้ เท่ากับว่าคุณกำลังกินข้าว ‘กับปลา (อัจฉรา)’

ตอนตั้งชื่อนี้เรารีเลตถึงตัวเราเองนี่แหละ เราคิดว่าจะขายของที่เป็น sharing goods ที่คนแบ่งกันทานบนโต๊ะ มันก็คือพวกกับข้าวใช่ไหม แล้วก็คิดถึงชื่อตัวเราเอง เลยออกมาเป็นกับข้าว’ กับปลา”

“ถ้าเปรียบเป็นคน เราว่ากับข้าว’ กับปลา เป็นผู้หญิงที่มีความโมเดิร์นนะ มีความ authentic แล้วก็รสนิยมดี”

รส’นิยม

อาหารรสมือคุณป้า

ร้านอาหารไทย ขายอาหารกินง่ายๆ ที่เป็นเมนูยอดนิยมสำหรับคนไทย ทั้งขนมจีนน้ำยาปักษ์ใต้, ข้าวราดกะเพรา, ผัดไทย, ลูกชิ้นทอด แบรนด์ที่ 3 ตามมาหลังจากที่การบุกเบิกเส้นทางร้านอาหารคาวของกับข้าว’ กับปลาสำเร็จไปด้วยดี

หลังจากที่เป้าหมายชัดเจนแล้วว่า อยากจะขายของกินที่เป็นที่นิยมของคนทั่วไป ชื่อ รส’นิยม จึงถือเป็นชื่อที่ถูกตั้งตามโจทย์ของที่จะขายเป็นอย่างดี

“เราคิดถึงการเป็นรสชาติที่เป็นที่นิยมนะ กับคำว่า good taste การมีรสนิยมที่ดี คิดไปคิดมาเลยออกมาเป็นชื่อ รส’นิยม แล้วเชฟคนแรกของร้านนี้เป็นคุณป้าคนนึงซึ่งเข้ากับบุคลิกของแบรนด์นี้เลย เรารู้สึกว่าเวลานึกถึงแบรนด์นี้ เรานึกถึงคุณป้าโบราณๆ ทำอาหารอร่อยๆ คนนึงมานั่งทำกับข้าวให้เรากิน”

iberry

iBERISTA

ร้านกาแฟในนิยามของอัจฉรา

เราอาจคุ้นชินกับร้าน iberry แต่อาจไม่ได้คุ้นเคยกับคำว่า iBERISTA สักเท่าไหร่นัก นั่นเป็นเพราะว่าการเปิดแบรนด์ iBERISTA อาจเรียกได้ว่าเป็นการเปิดแบรนด์ด้วยความบังเอิญ

ความบังเอิญที่ว่า คือการได้พื้นที่ที่จะเปิดร้าน กับข้าว’ กับปลา สาขาเกษรพลาซ่ามาค่อนข้างใหญ่ ปลา อัจฉราเลยคิดว่า อย่าว่ากระนั้นเลย ลองขยายไลน์จาก iberry ดูก็ไม่เห็นเสียหาย ถ้าอย่างนั้นเปิดเป็นร้านกาแฟเลยก็แล้วกัน ร้าน ‘iBERISTA’ จึงถือกำเนิดขึ้นที่นี่เป็นที่แรก

“iBERISTA นี่เป็นการรวมคำของเราเลย คือเอา iberry บวก barista ตอนนั้นเรากำลังจะเปิดร้าน แล้วเราได้พื้นที่มาค่อนข้างใหญ่ เลยคิดว่า เออ ขายกาแฟดีกว่า เป็นชื่อ iBERISTA ก็แล้วกัน คาแร็กเตอร์ของแบรนด์นี้คือคนชงกาแฟเลย ให้นึกถึงบาริสต้าที่ยืนชงกาแฟให้เรา แบรนด์นี้คือแบบนั้นเลย”

iberry

โรงสีโภชนา

ร้านอาหารที่เล่าเรื่องเหลา

หากเปรียบการเปิดธุรกิจร้านอาหารของปลา อัจฉรา เป็นหนัง ‘ไตรภาค’ แล้ว มาถึงจุดนี้เธอมีโอกาสเปิดร้านอาหารไทย ร้านไอศครีม ร้านกาแฟ และสอบผ่านในสามด่านสำคัญของธุรกิจอาหารมาแล้วทั้งสิ้น

เส้นทางสายใหม่จึงเริ่มขึ้น เธอริเริ่มอยากทดลองเปิดตลาดร้านอาหารที่เธอไม่เคยเยื้องกรายเข้าไป นั่นคือร้านอาหารแนวไทย-จีน

เดิมที ‘โรงสีโภชนา’ ไม่ใช่ชื่อแรกของแบรนด์นี้ แต่แรกเริ่มแบรนด์นี้เกิดมาจากการไปได้พื้นที่ในการเปิดร้านที่ล้ง 1919 แถบเจริญนคร ปลา อัจฉรา เดินตรวจตราพื้นที่ก่อนตัดสินใจว่าเธอจะเช่าพื้นที่ตรงนี้เพื่อขยายอาณาจักรของเธอดีหรือไม่ อาจจะเพราะลมเย็นๆ ที่พัดโชยอ่อนจากริมเจ้าพระยา หรืออาจจะเพราะกลิ่นสดชื่นของอากาศริมน้ำที่ทำให้นักธุรกิจสาวคนนี้ตัดสินใจเช่าพื้นที่ตรงนั้น

“เราก็เดินดูพื้นที่รอบๆ ทีนี้เราเห็นว่าพื้นที่มันตั้งอยู่ริมน้ำ ตรงล้ง 1919 มันเคยเป็นโกดังเก็บข้าวมาก่อน เราก็เลยคิดถึงคำว่า โรงสี ขึ้นมา ประกอบกับมันอยู่ริมน้ำ เลยเอาเป็น โรงสีริมน้ำ ก็แล้วกัน ทีนี้พอเราย้ายร้านนี้ไปที่หลังสวน (ซึ่งพื้นที่ตรงหลังสวนไม่ได้ติดริมน้ำ) แต่เราก็ยังอยากให้มัน Chinese อยู่ ประกอบกับเราอยากใช้คำที่มันโบราณๆ ที่มันสื่อถึงความเป็นร้านอาหารและ old school ก็เลยคิดถึงคำว่า ‘โภชนา’ ขึ้นมาได้ ก็เลยเอามาผสมกัน เป็น ‘โรงสีโภชนา’

“แสดงว่าคาแร็กเตอร์ของ ‘โรงสีโภชนา’ คืออาเจ็กหรืออาแปะจีนๆ ใส่เสื้อสีขาว กางเกงผ้าแพรมายืนผัดผักบุ้งให้เราใช่ไหม” เราสงสัย

“นี่แสดงว่าเราประสบความสำเร็จนะ ที่ทำให้คนสามารถเห็นภาพตามแบบที่เราเห็นได้” ปลา อัจฉราตอบพลางแย้มยิ้มดีใจที่จิ๊กซอว์ที่เธอวางเอาไว้ถูกนำมาต่อเป็นภาพรวมกันจนลูกค้าสามารถเกิดภาพเห็นเป็นภาพเดียวกับที่เธอจินตนาการ

นึกถึงขนมผักกาด, เป็ดพะโล้, ผัดถั่วแขก, หรือปลาหมึกทอดคั่วพริกเกลือแบบจีนๆ เมื่อไหร่ โรงสีโภชนาคือคำตอบ

iberry

ข้าวต้มกุ๊ยโรงสี

ลูกพี่ลูกน้องของโรงสีโภชนา

“จริงๆ แล้วเรียก ข้าวต้มกุ๊ยโรงสี ว่าเป็น subset ของโรงสีโภชนาจะเหมาะกว่า” 

ปลา อัจฉราเปรยขึ้นก่อนเล่าถึงแบรนด์ที่เปิดขายเมนูจำพวกข้าวต้มกุ๊ยและกับข้าวในแพลตฟอร์มออนไลน์ delivery

“ไอเดียมันเกิดจากการที่เราอยากเติม transaction ช่วงเย็นแล้วเห็นช่องว่างตรงนี้ เพราะมันดูเหมือนกับว่าตอนเย็นคนเขาอาจจะไม่ได้อยากกินอาหารหนักๆ แล้ว เราเลยคิดว่าทำแบรนด์นี้มาขายใน cloud kitchen ดีกว่า พวกข้าวต้มกุ๊ยนี่แหละ มีกลิ่นความเป็นจีน ความเป็นแต้จิ๋วมากๆ เลยเรียกมันว่า ข้าวต้มกุ๊ยโรงสี” 

iberry

ทองสมิทธ์

หล่อเหลา หรูหรา วากิว

นาทีนี้ถนนทุกสายของคนรักก๋วยเตี๋ยวเรือเนื้อวากิว คงมุ่งหน้าตรงกันเพื่อไปที่ ‘ทองสมิทธ์’ ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือพรีเมียมที่มีดีตั้งแต่รสน้ำซุป เส้นก๋วยเตี๋ยว ความสดของเนื้อหมู เนื้อวัว หรือจะเป็นกากหมูเจียวที่ถึงแม้ว่าคุณจะกำลังลดความอ้วนอยู่ แต่ถ้าคุณไปถึงทองสมิทธ์ยังไงคุณก็ต้องสั่ง

อันที่จริงทองสมิทธ์ไม่ได้อยู่ภายใต้เครือร้านอาหาร iberry Group แต่เป็นแบรนด์ที่ปลา อัจฉราร่วมหุ้นกับเพื่อนๆ สร้างแบรนด์นี้ขึ้นมา ซึ่งการตั้งชื่อแบรนด์ว่า ‘ทองสมิทธ์’ เกิดจากการระดมสมองของทั้งเธอและเพื่อนๆ ในทีม

“เรามีกรุ๊ปไลน์กัน แล้วพี่ก็โยนไปในกลุ่มว่า เราชอบคำว่า ‘ทอง’ นะ มันดูหนักแน่น สื่อถึงความหรูหรา ดูมีคุณค่า ทีนี้เราเลยลองหาคำมาผสมกัน เลยคิดถึงคำว่า ‘สัมฤทธิ์’ คือทำอะไรก็สัมฤทธิ์ผล และก็ไปค้นดู ไปเจอว่าคำว่า ‘สมิทธ์’ ซึ่งมันมีรากศัพท์มาจากที่เดียวกันนะสองคำนี้ (คำว่า สัมฤทธิ์กับสมิทธ์) ลองเอาคำว่า ทอง กับ สมิทธ์ มาผสมกัน ปรากฏว่าเป็นคำที่เพราะเลย เขียนสวยด้วยทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ฝรั่งก็ออกเสียงง่ายด้วยนะ

“เลยเป็นทองสมิทธ์นี่แหละ”

แม้ว่าจะเป็นแบรนด์ที่ทำกับเพื่อนๆ แต่ปลา อัจฉราก็ไม่วายเห็นภาพ ‘ทองสมิทธ์’ เป็นตัวละครในหัวจนได้ “เราคิดว่า ‘ทองสมิทธ์’ คือหนุ่มนักเรียนนอกนะ แบบสมัย ร.5 ที่ไปเรียนเมืองนอก แล้วโก้ๆ”

iberry

เจริญแกง

ชื่อร้านที่คัดมาจาก 108 ชื่อที่ตั้งไว้

“งานด่วนมาก (ลากเสียงยาว) แบรนด์นี้ พอโควิดมาเราต้องรีบหาทางจัดการวัตถุดิบที่มี แบรนด์นี้เลยเกิดเร็วมาก ‘เจริญแกง’ นี่คลอดเร็วมาก” 

ตั้งแต่คุยกันมานี่คือแบรนด์ที่ปลา อัจฉราออกปากว่า เป็นแบรนด์ที่เกิดขึ้นเร็วที่สุด

“เราเริ่มมานั่งคิดว่า จริงๆ แล้ว ข้าวแกงที่มันอร่อยๆ หากินยากนะ ว่าไหม แล้วด้วยช่องว่างที่หาข้าวแกงได้ยากในแพลตฟอร์ม delivery เราเลยคิดว่า เอาล่ะ จะขายข้าวแกง (หัวเราะ) แล้วก็ออกมาเป็นชื่อนี้เลย เจริญแกง”

แต่ก่อนจะมาเป็นชื่อนี้ ปลา อัจฉราย้อนเล่าว่าเธอคิดมาเป็น 108 ชื่อ ขนาดที่เธอบ่นว่าเป็นงานรีบงานด่วนก็ยังไม่วายวางมาตรฐานว่าต้องเป็นชื่อที่ถูกใจเสียก่อนในบรรดา 108 ชื่อ กว่าจะเป็น ‘เจริญแกง’ ซึ่งพอเอ่ยถามถึงคาแร็กเตอร์ตัวละครของเจริญแกง ปลา อัจฉราตอบอย่างทันควันว่า

“เป็นคุณแม่เลย กับข้าวที่ขายในเจริญแกงนี่กับข้าวแบบรสมือแม่เลยนะ เพราะฉะนั้นแบรนด์นี้คือคุณแม่เลย” 

คุณแม่ที่ทำกับข้าวแบบโฮมเมด ใช้ของคุณภาพดีทำกับข้าวรอเรากลับมากินข้าวยามเย็นที่บ้าน อย่างไข่พะโล้หมูสามชั้น, หมูก้อนทอด 3 เกลอ หรือแกงจืดมะระผักกาดดองกระดูกหมู

iberry

ฟ้าปลาทาน

ชื่อนี้ที่ฟ้าประทาน

ร้านฟ้าประทาน ไม่ใช่ว่า ฟ้าที่ไหนมาประทาน แต่คือ ปลา อัจฉราที่ตั้งชื่อและคลอดแบรนด์นี้ เพื่อให้คนมากินข้าวต้มปลา (อ่านแล้วอย่าเพิ่งงงกันนะว่ามีกี่ปลาในย่อหน้านี้)

ร้านข้าวต้มสารพัดปลาที่คุณสรรหา คุณจะพบได้ที่ ‘ฟ้าปลาทาน’ ไม่ว่าจะเก๋า, กะพง, จะละเม็ดทอง หรือจะหมึกและกุ้ง คุณจะอิ่มหนำได้ร้อนๆ แบบสบายท้องที่แบรนด์นี้แหละ

“เราคิดอยากขายข้าวต้มปลาอร่อยๆ เลยเริ่มคิดว่า เอ…เราจะตั้งชื่อยังไงดีให้มีคำว่า ‘ปลา’ อยู่ในชื่อแบรนด์ แบรนด์นี้พี่ก็เหมือนเดิมนะ คือไม่มีหลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อ ลองผสมคำไปเรื่อยๆ อยากได้คำที่มีความหมายใหม่ๆ” ครั้นพอเธอคิดถึงคำว่า ‘ฟ้าประทาน’ ขึ้นมาได้ ไอเดียจึงเริ่มบังเกิด

“ฟ้าปลาทาน ชื่อนี้แหละมันทำให้เรารู้สึกว่า โหย อร่อยเหมือนฟ้าประทาน ฟ้าส่งมาให้เลย”

เมื่อเราพูดถึงข้าวต้ม คงจะหนีไม่พ้นที่จะจินตนาการถึงคนจีน อาตี๋ อาหมวย ปลา อัจฉรา ก็เช่นกัน

“ฟ้าปลาทาน คืออาหมวย อาซ้อ แบบที่ชอบกินข้าวต้มร้อนๆ อร่อยๆ แบบนั้นเลย”

iberry

เบิร์นบุษบา

น้องสาวคนเล็กของบ้าน iberry Group

น้องสาวคนเล็กของบ้าน iberry Group ที่ขายของเผ็ดจานเด็ดๆ ที่สาวกยำ ตำ ต้องชอบ ปลา อัจฉราตั้งต้นที่เดิมตรงที่ว่า เธอคิดถึงโปรดักต์ที่เธอจะนำมาขายก่อนแล้วจึงคิดชื่อตามขึ้นมา

“เราไม่อยากตั้งชื่อร้านยำให้มีคำว่า ยำ ต้องไม่มีคำว่า ยำ แซ่บ เผ็ด” 

โจทย์ข้อนี้ของเธอดูเรียบง่ายแต่ซับซ้อน คุณจะบอกคนอื่นได้ยังไงว่าคุณขายของเผ็ด โดยไม่มีคำว่าเผ็ดอยู่ในชื่อร้านเลย

แล้วร้านขายของเผ็ดที่ไม่มีคำว่าเผ็ดจะเป็นยังไง

“เราพยายามคิดชื่อที่เรียบง่าย อินเตอร์ คือชื่อมันต้องเผ็ดร้อนนั่นแหละ ต้อง catchy, แปลก, เรียบง่าย, ฟังครั้งเดียวต้องจำได้เลย แล้วพี่อยากสื่อถึงความเป็นไทยด้วย พอนึกถึง ‘บุษบา’ ก็คิดว่า เออ ฝรั่งออกเสียงได้นะคำนี้ แล้วเราก็ลองหาคำมาสมาสดู” 

“เลยได้เป็นเบิร์นบุษบา”

เมื่อถามถึงคาแร็กเตอร์ของ ‘เบิร์นบุษบา’ ว่าคือตัวละครแบบไหน ปลา อัจฉราตอบกลับมาอย่างทันควันว่า

“เป็นเจ๊เลย เจ๊ขายยำเผ็ดๆ แซ่บๆ เลยนะ จะเห็นว่าทุกช่องทางการสื่อสารของเบิร์นบุษบา จะเรียกแทนตัวเองว่า เจ๊เสมอเลย เพราะภาพในหัวพี่ก็เห็นเป็นแบบนั้น”

สังเกตว่า ทุกครั้งที่ปลา อัจฉราพูดถึงที่มาของแบรนด์และการตั้งชื่อแบรนด์ เธอมักจะใช้คำว่า ‘คลอด’ อาจเป็นเพราะเธอรักแบรนด์แต่ละแบรนด์ของเธอประหนึ่งลูกสาวลูกชาย ที่กว่าจะชุบชูปลุกปั้นขึ้นมาได้เธอใช้ทั้งพลังสมอง พลังกาย พลังใจไปไม่น้อย และเหมือนดั่งเธออ่านใจเราออก ก่อนปิดการสนทนาเธอจึงเปรยขึ้นเองว่า

“ขนาดเรามีลูก เรายังอยากให้ลูกเราสวยเก๋เลย ฉะนั้นพอเราจะคิดชื่อแต่ละทีเราคิดอย่างดีเลยล่ะ”

ปลา อัจฉราบอกว่าเธอไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น นำคำมาผสม ประกอบกันไปเรื่อยๆ จนเมื่อหัวใจเธอมันบอกว่าชื่อนี้แหละที่ ‘ใช่’ เธอจึงจะตกลงใจใช้ชื่อนั้น เมื่อไหร่ที่เธอมีธงในใจว่าจะต้องตั้งชื่อแบรนด์ เธอจะใช้สมองคิดชื่อแบรนด์ตลอดเวลา คิดทุกนาที บางครั้งก็นานเป็นหลายเดือน

“อย่างตอนนี้ที่เราคุยกัน เราก็คิดอยู่นะ ระหว่างคุยกันสมองส่วนหนึ่งของเราก็คิดชื่อไปด้วยนะ เชื่อไหม”

Writer

อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย หญิงสาวผู้หลงรักอาหาร และโฮสต์รายการพอดแคสต์ชื่อ 'Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว'

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like