หมายเลขที่ท่านเรียก

ถอดรหัสความหมายของตัวเลขในชื่อเรียกแบรนด์และร้านดัง 1-9

ถ้าเราสังเกตชื่อร้านหรือแบรนด์จะพบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ชื่อมี ‘ตัวเลข’ เข้ามาเกี่ยวข้อง อาจด้วยความบังเอิญหรือความง่ายต่อการจดจำก็ตาม

หากกรอกในช่องค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดจำพวก ร้าน ชื่อ ตัวเลข คุณจะได้พบกับสารพันตำราทางโหราศาสตร์ที่เกี่ยวข้อกับการตั้งชื่อด้วย ‘เลขศาสตร์’ หรือการถอดรหัสตัวเลขออกมาเป็นสิริมงคลทั้งหลายตามความเชื่อด้วยเหมือนกัน

เป็นไปได้ว่าเหล่าหมายเลขที่ปรากฏบนชื่อเรียกของแบรนด์อาจมีความหมายสำคัญมากกว่าทำหน้าที่ห้อยท้ายให้จดจำง่ายเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะอิงตามหลักการใด ก็ต้องยอมรับว่าร้านรวงที่มีชื่อเรียกเป็นหมายเลขล้วนมีความน่าสนใจ และทำให้เราเกิดความสงสัยได้จริงๆ จนอยากชวนมาหาความหมายของตัวเลขที่ซ่อนอยู่ในชื่อแบรนด์ต่อไปนี้ 

หมายเลข 1

สุกี้ยากี้ นัมเบอร์วัน 金牌火鍋

จากสุกี้แต้จิ๋วสูตรต้นตำรับกว่า 60 ปี ของต้นตระกูลธีรวชิรกุล ต่อยอดมาสู่จักรวาลร้านสุกี้ของลูกหลานและคนในครอบครัวหลากหลายแบรนด์ที่ล้วนเป็นสูตรเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นโอเด้ง เอี้ยวฮั้ว เอี่ยวไถ่ และนัมเบอร์วัน

สุเวทย์ ธีรวชิรกุล หนึ่งในทายาทเจ้าของสูตรสุกี้ เล่าเอาไว้ว่าแรกเริ่มร้านที่เป็นเครือญาติคนในครอบครัวเหล่านี้ใช้สูตรเดียวกันทั้งหมดจากอากง แต่ต่อมาต่างคนต่างก็นำไปปรับและทำในแบบของตัวเอง ซึ่งสายครอบครัวของเขาคือร้านสุกี้นัมเบอร์วัน เปิดสาขาแรกที่สะพานควาย และมีช่วงที่ต้องหยุดกิจการไปนานถึง 10 ปี เนื่องจากไม่มีคนสานต่อ ก่อนจะนำกลับมาเปิดอีกครั้งในรูปโฉมใหม่ที่ทันสมัยและได้มาตรฐานกว่าเดิม ภายใต้การบริหารของ ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือเดียวกับข้าวมาบุญครอง และศูนย์อาหาร Food Legends by MBK โดยการนำของสุเวทย์เอง

ส่วนที่มาของชื่อร้านสุกี้ยากี้หมายเลข 1 หรือนัมเบอร์วัน น่าจะมาจากความเป็นร้านสุกี้ต้นตำรับแห่งแรกที่สาขาสะพานควาย นับเป็นสุกี้สไตล์แต้จิ๋วเจ้าแรกของเมืองไทย ซึ่งสร้างความภูมิใจให้ครอบครัว และกลายมาเป็นแนวคิดในการทำธุรกิจอื่นๆ ด้วย

อ้างอิง : mbkgroup.co.th/th/business/food/sukiyaki?lang=th&parent=business&menu=food&submenu=sukiyaki

หมายเลข 2 

Double Dogs Tea Room 

Double Dogs Tea Room คือร้านชาที่ตั้งอยู่ในตึกคูหาเดียวบนถนนเยาวราชที่คนรักชารู้จักเป็นอย่างดี ที่นี่เต็มไปด้วยใบชาที่ผ่านการคัดสรรในระดับพิถีพิถันโดย จงรักษ์ กิตติวรการ ผู้เป็นเจ้าของร้าน และ Tea Master หรือผู้เชี่ยวชาญด้านชาก็สุดแท้แต่จะเรียก 

ใบชาของ Double Dogs Tea Room มีคาแร็กเตอร์หลากหลายให้เลือกชง ทั้งชาที่ได้จากเอเชียและยุโรป อีกความน่าสนใจอยู่ตรงที่โรงชาแห่งนี้ไม่ใช่แค่ขายชาหนึ่งกาแล้วจบ แต่พร้อมจะให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องใบชา การเลือกภาชนะ กรรมวิธีชงและชิม รวมถึงการจับคู่ขนมกับชาที่รสเข้ากันให้กับลูกค้าด้วย 

ส่วนชื่อ ‘หมา 2 ตัว’ ตามนิยามของผู้ก่อตั้ง คือเรื่องเล่าระหว่างขั้นตอนการทำร้านกับเพื่อนอีกคน ช่วงเวลาระหว่างปรับปรุงพื้นที่ตึกแห่งนี้ ผู้เป็นเพื่อนเกิดฝันถึงสุนัขสองตัว ซึ่งตามเส้นเรื่องในฝันเข้าใจได้ว่าเป็นวิญญาณของเจ้าที่ จงรักษ์เลยนำความฝันมาตั้งเป็นชื่อร้านชาหมา 2 ตัวนั่นเอง

อ้างอิง : รายการ The Next Gen youtube.com/watch?v=lEAD5F9VKv0&t=303s

หมายเลข 3 

สามแม่ครัว Three Lady Cooks

แบรนด์อาหารกระป๋องที่มีโลโก้เป็นแม่ครัวสาวทั้งสามนี้ก่อตั้งโดยสุวัฒน์ อุดมบัณฑิตกุล กับเพื่อนที่เคยประกอบอาชีพพนักงานขายมาด้วยกันที่ชวนกันลาออกมาทำธุรกิจอาหารกระป๋องโดยเริ่มจากปลาในซอสมะเขือเทศ 

ต่อมาในปี 2517 สามแม่ครัวจดทะเบียนเป็นบริษัท รอแยลฟู้ดส์ จำกัด และมีผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องอื่นๆ เช่น ฉู่ฉี่ปลา น้ำพริกปลา มัสมั่น ห่อหมก ผักกาดดอง ไปจนถึงเครื่องปรุงรสอย่างซอสหอยนางรม ปัจจุบันมีโรงงาน 3 แห่งด้วยกัน คือโรงงานสมุทรสาคร โรงงานปัตตานี และโรงงานเวียดนาม ภายใต้ชื่อแบรนด์ บา โก ก๋าย หรือสามแม่ครัวในภาษาเวียดนาม 

ส่วนชื่อสามแม่ครัว เดิมทีใช้เพียง ‘แม่ครัว’ เพื่อสื่อถึงรสมือในการทำอาหารว่าอร่อยกว่ามีแม่ครัวคนเดียวทำเป็นแน่ และเลข 3 ก็เป็นสิริมงคล (ผู้เขียนคิดว่าน่าจะมาจากความเชื่อที่ว่าเลข 3 ในภาษาจีนออกเสียงว่า ซาน ซึ่งคล้ายกับ 生 เซิงที่แปลว่าการเกิด) จึงใช้ชื่อสามแม่ครัวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อ้างอิง : threeladycooks.com

หมายเลข 4

ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว 

ชื่อเรียก ‘ชายสี่’ นี้ไม่ได้เกิดจากผู้ชายสี่คน แต่มาจากผู้ชายคนเดียวคือ พันธ์รบ กำลา ผู้ก่อตั้งธุรกิจร้านขายบะหมี่แฟรนไชส์ที่มีรถเข็นหน้าตาคุ้นเคยตั้งอยู่ทุกหัวถนน

สิ่งที่ทำให้ชายสี่บะหมี่เกี๊ยวขยายธุรกิจแฟรนไชส์ได้รวดเร็วคือแนวคิด ‘รวยแล้วบอกต่อ’ ของพันธ์รบ จากการใช้ตัวเองพิสูจน์ให้ลูกค้าแฟรนไชส์เห็นว่าทุกคนสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้จริงจากการขายบะหมี่แบบเขา บวกกับวิสัยทัศน์ที่เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจของแบรนด์ คือ เจ้าแห่งเส้น (เป็นผู้นำในการผลิตเส้นและจำหน่ายเส้นต่างๆ) รถเข็นสากล (นำรูปแบบรถเข็นอาหารไปประสบความสำเร็จในระดับอาเซียน เช่น ลาว กัมพูชา เมียนมาร์) ครัวของทุกบ้าน (ต้องการให้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์เข้าไปอยู่ในห้องครัวของทุกบ้าน) และอาหารของทุกคน (เป้าหมายที่อยากให้ทุกคนกินได้ มีการขอเครื่องหมายฮาลาลให้กับสินค้าบางประเภท และมีแนวคิดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับทุกคนต่อไป) ทั้ง 4 ข้อนี้ของชายสี่ฯ บวกกับรสชาติที่คุ้นเคย ราคาเป็นมิตร และจำนวนสาขา ทำให้ชายสี่บะหมี่เกี๊ยวเป็นที่รู้จักและครองใจผู้บริโภคมานานกว่า 30 ปีแล้ว 

ส่วนที่ว่าทำไมต้องชื่อชายสี่ก็มาจากเหตุผลแสนง่ายแต่น่าสนใจ พันธ์รบเคยให้สัมภาษณ์ว่าด้วยความที่ตัวเขาเองชอบดูหนังจีนอย่างมาก และตัวละครที่ถูกเรียกว่า ‘องค์ชายสี่’ ติดอยู่ในหัวมาตลอด เลยเอามาตั้งเป็นชื่อให้เรียกได้ติดหูติดปากลูกค้าด้วยเหมือนกัน

อ้างอิง : chaixi.co.th/about-us.html

หมายเลข 5

ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น 

ขุนศึก, ลูกอีสาน, ผู้ใหญ่ลีกับนางมา, บุญชู, น้ำพุ, อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป, กลิ่นสีและกาวแป้ง, กว่าจะรู้เดียงสา, ข้างหลังภาพ (เวอร์ชั่นกำกับโดย เปี๊ยก โปสเตอร์), คู่กรรม (เวอร์ชั่นกำกับโดย รุจน์ รณภพ), ฟ้าทะลายโจร, หมานคร, มนต์รักทรานซิสเตอร์ และ Last Life in the Universe เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล 

ถ้าเอ่ยถึงหนังไทยที่โด่งดังและสร้างชื่อให้กับผู้กำกับและนักแสดงเป็นอย่างมากก็ต้องนึกถึงรายชื่อภาพยนตร์ไทยยอดฮิตตลอดกาลเหล่านี้ และถ้าใครได้ผ่านตาหนังไทยเหล่านี้มาบ้างก็ต้องคุ้นเคยกับสัญลักษณ์ดวงดาวทั้งห้าที่โคจรอยู่รอบโลกดวงหนึ่ง ของบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ไทย หรือเรียกติดปากว่าค่ายหนังไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น อย่างแน่นอน 

ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น เป็นบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยที่ก่อตั้งในปี 2516 โดย เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร และเพียง 3 ปีหลังจากเริ่มดำเนินธุรกิจ ในปี 2519 ไฟว์สตาร์ยังเป็นค่ายหนังเจ้าแรกที่พาหนังไทยไปฉายในต่างประเทศ ประเดิมด้วยเรื่องขุนศึก ที่ได้รับรางวัลจากเวทีการประกวดภาพยนตร์เอเชีย-แปซิฟิค เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ กลับมาด้วย นอกจากนี้ยังทำสถิติรายได้สูงสุดในยุคนั้น คือราว 20-30 ล้านบาท ซึ่งเทียบได้กับหนังไทย 100 ล้านในยุคปัจจุบัน

ปัจจุบันไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น บริหารโดย เกียรติกมล และ อภิรดี เอี่ยมพึ่งพร ทายาททั้งสองของผู้ก่อตั้ง และยังดำเนินธุรกิจภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ ซีรีส์ให้กับผู้ชมคนไทยมากว่า 50 ปี และคง ‘คุณภาพระดับห้าดาว’ เอาไว้ตลอดมา

อ้างอิง : fivestarproduction.co.th

หมายเลข 6 

กระจกหกด้าน 

กระจกหกด้าน รายการประเภทสารคดีรายการแรกของประเทศไทย ดำเนินการโดยบริษัท ทริลเลี่ยนส์ แอนด์ ทรีไลอ้อนส์ จำกัด โดยมี สุชาดี มณีวงศ์ เป็นทั้งผู้ผลิตรายการ คนเขียนบท และคนให้เสียงบรรยายในรายการมากว่า 40 ปี 

รายการกระจกหกด้าน เกิดขึ้นจากการประกวดรายการสารคดีของธนาคารแห่งหนึ่งที่สุชาดีได้รับรางวัลชนะเลิศ และได้โอกาสจากช่อง 7 ให้ออกอากาศวันละ 15 นาทีในทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ช่วงเวลาที่ผู้คนสมัยนั้นต่างรอดูละครเย็น ทำให้เสียงพากย์ของสุชาดีฝังอยู่ในความทรงจำของทุกคน และอีกสิ่งที่จำได้ไม่ลืมคือเพลงเปิดรายการที่หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นท่วงทำนองที่ทีมรายการแต่งขึ้นมาเอง แต่ที่จริงคือเพลง Dancing Flames ของ Mannheim Steamroller ที่ล้ำเอามากๆ (ฟังได้ที่ youtube.com/watch?v=LIm6bKVkarU

ส่วนชื่อรายการที่ฟังดูพุทธมากขนาดนี้ เกิดจากที่ช่วงแรกกระจกหกด้านเน้นเล่าเรื่องราวของธรรมะ สุชาดีจึงนำคำสอนของพระพุทธเจ้าที่กล่าวถึงทิศทั้งหก ประกอบด้วยเบื้องหน้า เบื้องขวา เบื้องหลัง เบื้องซ้าย เบื้องบน และเบื้องล่าง สื่อถึงการปฏิบัติตัวต่อผู้คนที่อยู่รอบตัวเราทั้งหมดให้อยู่อย่างมีความสุข มาปรับให้เข้ากับปัจจุบัน เกิดเป็นรายการชื่อกระจกหกด้านขึ้นมา

ปัจจุบัน กระจกหกด้าน ได้ปรับรูปแบบเป็นรายการออนไลน์ ในช่องยูทูบที่มีชื่อว่า Krajokhokdan Official และมีรายการ ไชโย โอป้า ที่สุชาดีรับบทผู้ดำเนินรายการเบื้องหน้าเป็นครั้งแรก 

อ้างอิง : เบื้องลึกที่ไม่มีใครรู้ เจ้าของเสียงในตำนานรายการทีวี กระจกหกด้าน
youtube.com/watch?v=Gs-Sfq7vwcM&t=369s

หมายเลข 7 

Seven Sins

แบรนด์ชาบูที่เรียกติดปากกันว่า ‘ชาบูคนบาป’ มาจากคอนเซปต์ของบาป 7 ประการในหลักคำสอนของศาสนาคริสต์ที่ว่าด้วย 7 สิ่งที่เป็นบาปเมื่อมนุษย์ทำตามสัญชาตญาณหรือความต้องการของตัวเองมากเกินไป 

บาปทั้ง 7 นี้แบ่งออกเป็น Lust (ราคะ), Gluttony (ตะกละ), Greed (โลภะ), Sloth (เกียจคร้าน), Wrath (โทสะ), Envy (ริษยา) และ Pride (อัตตา) 

และจุดเด่นของ Seven Sins คือลูกค้าสามารถเลือกซุปได้ตามชื่อเรียกบาปทั้ง 7 ประการ เช่น Greed ซุปปลาแห้งแทนรสชาติของคนไม่รู้จักพอ, Sloth ซุปสุกี้นำด้ำคือรสชาติของคนขี้เกียจ, Lust ซุปกระดูกหมูแทนรสชาติของราคะ หรือ Envy ซุปหมาล่าเป็นรสชาติของความริษยา เป็นการกินชาบูแบบที่ได้เรียนรู้ศีลธรรมไปด้วย

อ้างอิง : facebook.com/SevenSinsThailand

หมายเลข 8 

Hachiban Ramen ร้านราเมนหมายเลข 8

ฮะจิบัง ประเทศไทย เริ่มดำเนินกิจการในปี 2534 โดยร่วมทุนกับฮะจิบัง ประเทศญี่ปุ่น เปิดสาขาแรกที่ สีลม คอมเพล็กซ์ ส่วนสาขาแรกบนโลกเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นสัก 24 ปี เป็นร้านเล็กๆ ขายราเมนอยู่ไม่กี่แบบ ตั้งอยู่บนถนนหลวงสาย 8 เขตคางะ เมืองอิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น โดย โจจิ โกโต้ เมื่อขายดีจนคิวยาวทุกวัน เขาจึงเริ่มขยายสาขาและพัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นร้านสาขาที่มีกว่า 100 สาขาในญี่ปุ่น และอีกกว่า 130 สาขาในประเทศไทย

ส่วนที่มาของชื่อร้านหมายเลข 8 นั้น แน่นอนว่ามาจากถนนสายหลักหมายเลข 8 ทำเลที่ตั้งของร้านแรกที่ญี่ปุ่น และคำว่า ‘ฮะจิบัง’ มีความหมายตามสัญลักษณ์ที่เป็นตัวเลข 8 อารบิก สื่อถึงความเป็นสิริมงคล 2 อย่าง คือตัวเลข 8 ที่เมื่อมองในแนวตั้งดูคล้ายตุ๊กตาล้มลุก อันเป็นเครื่องหมายของความมั่นคงและเสถียรภาพ (stability) แต่หากมองในแนวนอนจะคล้ายกับเครื่องหมายอินฟินิตี้ (infinity) สื่อถึงความเป็นนิรันดร์ของแบรนด์ฮะจิบังนั่นเอง

อ้างอิง : hachiban.co.th/th/history

หมายเลข 9 

ขนมไทยเก้าพี่น้อง 

ร้านขนมไทยเก้าพี่น้อง มีจุดเริ่มต้นจากครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีลูกทั้งหมด 9 คนด้วยกัน โดยครอบครัวนี้เปิดร้านอาหารตามสั่ง และผู้เป็นแม่ต้องการหารายได้เสริม จึงริเริ่มเรียนรู้การทำขนมไทยและลองวางขายที่หน้าร้านอาหารตามสั่ง ก่อนจะขยับขยายมาเปิดสาขาแรกที่ตลาด อ.ต.ก.ในปี 2522 

กรกมล ลีลาธีรภัทร ทายาทคนที่ 7 เล่าว่าคุณพ่อของเธอเป็นคนตั้งชื่อร้าน โดยบอกว่าบ้านเรามีลูกเก้าคนก็เอาชื่อ ‘เก้าพี่น้อง’ ละกัน ส่วนเรื่องโลโก้ก็ได้รับคำแนะนำจากคุณพ่อเช่นกัน ซึ่งเธอนึกไม่ถึงว่าคุณพ่อที่เป็นคนจีนจะเข้าใจบริบทแบบไทยและมีวิสัยทัศน์ที่ทำให้แบรนด์อยู่ได้นานจนถึงปัจจุบัน

ขนมไทยเก้าพี่น้องใช้รูปนางกวักเป็นโลโก้แรก เพื่อสื่อถึงผู้หญิงหรือความรักของแม่ที่มีต่อลูก และเชื่อว่า “บารมีของแม่นางกวักจะช่วยเสริมให้ค้าขายเจริญรุ่งเรือง” ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้เลขเก้าไทยแทน สื่อถึงการก้าวไปข้างหน้า ซึ่งเป็นก้าวสำคัญและเป็นความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารของชาติ

อ้างอิง : kaopeenong.com/about

Tagged:

Writer

อดีตกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ปัจจุบันรับจ้างเขียนเป็นการเลี้ยงชีพ

You Might Also Like