Chinese Name

ส่องความหมายใต้สำเนียงเสียงจีน ของชื่อแบรนด์จีนและร้านไทยชื่อจีน

ฮวด เฮง อึ้ง กิม สารพัดสำเนียงเสียงถิ่นจีนเข้ามาวนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอยู่นานโข ต่างตรงที่ว่าครั้งหนึ่งร้านรวงชื่อจีนมักถูกครอบครองพื้นที่ด้วยการออกเสียงภาษาถิ่นในสำเนียงแต้จิ๋ว กวางตุ้ง ไหหลำ เป็นส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้ป้ายยี่ห้อ ร้านรวง หรือแบรนด์จีนของเจเนอเรชั่นใหม่ล้วนใช้การออกเสียงอย่างจีนกลาง (Mandarin Chinese) 

และคนที่ไม่รู้ภาษาจีนก็พากันออกเสียงเพี้ยนไปบ้าง บ้างออกเสียงถูกแต่ไม่รู้ความหมาย คอลัมน์ Brand Name อยากชวนคนอ่านมารู้ความหมายและปรับเสียงให้ใกล้เคียงกับความถูกต้องที่สุด ผ่านการสอดส่องแบรนด์จีนและร้านไทยชื่อจีนไปพร้อมกัน เริ่ม!

Haidilao 海底捞

แบรนด์หม้อไฟที่มีพนักงานมาระบำทำเส้นสดโชว์ตรงหน้าที่เห็นบ่อยในไอจีสตอรียามนี้ ต้องยกให้ Haidilao แบรนด์หม้อไฟจากมณฑลที่ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติเผ็ดชาอย่างซื่อชวน (คนไทยเรียกเสฉวน) สร้างความประทับใจให้คนไทยด้วยรสชาติซุปในหม้อทรงสี่เหลี่ยมอันโดดเด่น บาร์น้ำจิ้มที่ตักได้เพลิดเพลิน พร้อมรับชมการแสดงเปลี่ยนหน้ากากได้ในร้าน แต่แบรนด์นี้ก็ยังเป็นที่กังขาเรื่องชื่อเรียก 

เดิมที จางหย่ง ชาวจีน-สิงคโปร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์เริ่มจากเปิดร้านหม้อไฟ 小辣椒 (อ่านว่าเสี่ยวล่าเจียว แปลว่าพริกเม็ดเล็ก ตามบริบทไทยก็อารมณ์ประมาณ เล็กพริกขี้หนู) ที่เมืองเจี่ยนหยางก่อนในปี 1994 พอธุรกิจเริ่มเข้าที่เข้าทางเขาก็เริ่มเปิดสาขาแรกที่เมืองซีอาน ก่อนจะปักหมุดร้านไปทั่วโลก 

แม้เสียงในภาษาไทยของร้านจะถูกกำกับเอาไว้ชัดเจนว่า ‘ไหตี่เลา’ แต่หลายคนก็อยากเรียกแบบคุ้นปากว่า ไห่ตี้เหลา ไฮ้ตี่เหลา ไฮด์ดี้เหลา อยู่ดี อาจเพราะรู้สึกว่าร้านจีนต้องมีคำว่าเหลาหรือเปล่านะ 

ชื่อนี้มาจากอักษรจีนสามตัวประกอบกันคือ 海底捞 (hǎi dǐ lāo ไหตี่เลา) ตัวแรก 海 (hǎi) ที่จริงออกเสียงว่า ไห่ แต่เนื่องจากไห่เป็นวรรณยุกต์เสียงที่สาม (ใกล้เคียงเสียงเอกในวรรณยุกต์ไทย) เมื่อมาเจอกับตี่ที่เป็นเสียงสามเหมือนกัน ในไวยากรณ์จีนกำหนดให้เปลี่ยนวรรณยุกต์ตัวแรกเป็นเสียงที่สองแทน ไห่ตี่ (hǎidǐ) จึงกลายเป็น ไหตี่ (hái dǐ) ส่วนความหมาย ไห / ไห่ แปลว่าทะเล ตี่ แปลว่า ใต้สุด / จุดสิ้นสุด และตัวสุดท้าย เลา หมายถึง ตกขึ้นมา / ช้อนขึ้นมา ทั้งหมดจึงแปลได้ว่า ‘ตกขึ้นมาจากใต้ท้องทะเล’ ยังไม่หมดเท่านั้น เมื่อในศัพท์เฉพาะของวงการไพ่นกกระจอก ไหตี่เลา ยังหมายถึง การชนะไพ่ใบสุดท้าย ที่นับเป็นแรร์ไอเทมของเกมที่ใครได้ไปนับว่าโชคดีสุดๆ ซึ่งจางหย่งเองก็คว้าไพ่ใบสุดท้ายไปตามชื่อแบรนด์ด้วยการประสบความสำเร็จอย่างมากจนติดอันดับที่ 75 ของ Forbes World’s Billionaires ไปเรียบร้อย 

ปัจจุบันทางแบรนด์เลยใช้คำว่า Hi เป็นโลโก้แทนการเรียกชื่อร้านที่ออกเสียงลำบาก โดยวางตัว i เป็นรูปพริกสื่อสารให้เข้าใจได้ง่ายๆ ในระดับอินเตอร์ และมีสโลแกนว่า “มาเซย์ไฮกันที่ไหตี่เลา” หรืออีกนัยหนึ่งคือ “มาสุขล้นด้วยกันที่ไหตี่เลา” (一起嗨,海底捞)

Xiaomi 小米

กลายเป็นแบรนด์ที่มีทุกบ้านไปแล้ว สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ตโฟน และเครื่องใช้ไฟฟ้าของ Xiaomi ที่แปลว่าข้าวเม็ดเล็กหรือข้าวฟ่าง ที่อยากสื่อความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์และเต็มไปด้วยคุณประโยชน์ โดยเหลยจวิน (Lei Jun) ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าขณะที่คิดชื่อแบรนด์จู่ๆ เขาก็นึกถึงวลีหนึ่งตามคติของศาสนาพุทธคือ “ข้าวเม็ดเดียวทว่ายิ่งใหญ่ดุจภูเขาสุเมรุ” (佛观一粒米,大如须弥山) เลยมาลงเอยที่แบรนด์ข้าวเม็ดเล็ก แฝงคอนเซปต์ว่าคือ “การรวมตัวของเมล็ดพันธุ์เล็กๆ เกิดเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้” แต่ก่อนได้ชื่อนี้ก็เกือบจะใช้ชื่อว่าหงซิง (红星–ดาวแดง) หงล่าเจียว (红辣椒–พริกแดง) และเฮยหมี่ (黑米–ข้าวดำ) มาแล้ว

Xiaomi ก่อตั้งในปี 2010 เมืองเป่ยจิง (คนไทยเรียกปักกิ่ง) โดยเหลยจวิน นักศึกษาสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น และอดีตวิศวกรในบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ Kingsoft ก่อนได้ขึ้นเป็น CEO อย่างรวดเร็ว และในที่สุดก็ออกมาก่อตั้งแบรนด์ของตัวเองด้วยหลักคิดที่มุ่งจะ “ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีคุณภาพสูง ไม่จำเป็นต้องแพง” ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ด้วยรูปลักษณ์สวยงามทันสมัยในราคาที่จับต้องได้สุดๆ ทำให้แบรนด์ข้าวฟ่างเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และปัจจุบันกำลังขยายฐานการผลิตเพื่อก้าวขึ้นเป็นแบรนด์ระดับโลก 

การออกเสียงเรียกชื่อแบรนด์ยังเป็นที่ข้องใจของคนไทย และเสี่ยวมี่ไม่ใช่คำตอบ เพราะแบรนด์นี้ออกเสียงว่าเสียวหมี่ โดย ‘เสียว’ คำแรก (ใช้หลักการเปลี่ยนวรรณยุกต์แบบเดียวกับไหตี่เลา) แปลว่า ขนาดเล็ก มาเจอกับ หมี่ ที่แปลว่า ข้าวและเป็นเสียงสามเหมือนกัน เลยต้องออกเสียงว่า เสียวหมี่ ส่วนโลโก้ MI หมายถึง หมี่หรือข้าวตามชื่อ แต่ยังแฝงไว้อีกสองความหมายคือ mobile internet และ mission impossible จากการผ่านอะไรมามากมายจนเหมือนจะไม่สามารถสำเร็จได้ในช่วงแรกของแบรนด์

Huawei 华为

สมาร์ตโฟนชื่อดังที่มีผู้ใช้ทั่วโลกก่อตั้งโดยเหยินเจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ความน่าสนใจอยู่ตรงที่อาชีพเดิมของเขาคือทหารประจำกองทัพจีน ก่อนถูกส่งไปทำงานด้านเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 1980 ที่กองทัพจีนต้องการลดกำลังทหาร ต่อมาเมื่อมีโอกาสก่อตั้ง Huawei ขณะกำลังจดทะเบียนบริษัทเขาคงนึกถึงตัวเองสมัยเป็นทหารขึ้นมา เพราะอักษร 2 ตัวที่ประกอบเป็นชื่อแบรนด์มาจากประโยคที่ดูฮึกเหิมเอาการคือ “ใจผูกพันแผ่นดินจีน สู้เพื่อสร้างอนาคต” (心系中华, 有所作为) โดยเลือกดึงอักษร 华 กับ 为 มาใช้เป็นชื่อแบรนด์ของตัวเอง และให้ความหมายว่า “ชนชาติจีนที่มีความหวังจะสร้างความเปลี่ยนแปลง” (中华有为)

เรื่องการออกเสียงเป็นที่น่าแปลกใจอยู่สักหน่อยว่าแม้แต่ Huawei Thailand เองยังให้เสียงในภาษาไทยว่า ‘หัวเว่ย’ ทั้งที่ไม่ใช่เสียงที่ถูก (แต่มันก็กลายเป็นชื่อไทยไปแล้ว) อักษร 华为 ควรออกเสียงว่า ฮว๋าเหวย หรือจะเป็น หัวเหวย ก็ได้ เพราะคนไทยคุ้นเคยกับการออกเสียงคำนี้จากคำว่าจงหัวหรือโรงพยาบาลหัวเฉียว โดย ฮว๋าแปลว่าชนชาติจีน ส่วน เหวยคือที่มีความหวังหรือคำมั่นสัญญา (อยู่ที่บริบทในการใช้)

Ba Hao 八號
Ba Hao Tian Mi 八號甜蜜

บาร์สไตล์โอเรียนทัล และอาหารจีนแบบคอมฟอร์ตฟู้ดจากปาเฮ่าเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี ชื่อนี้มาจากบ้านเลขที่ของอาคารเก่าสี่ชั้นในซอยนานาหลังแรก ‘หมายเลข 8’ เลยพ่วงกับแบรนด์มาตลอด แถมเอามาใช้เป็นเลขสุดท้ายในราคาอาหารในร้านด้วย

ปาเฮ่า (八號) ตัวแรกแปลว่า แปด และตัวหลังแปลว่า หมายเลข หรือจะแปลว่ายี่ห้อก็ใช้ได้ เพราะยี่ห้อเป็นคำยืมจากภาษาจีนคือจื้อเฮ่า (字號) นอกจากความบังเอิญที่ได้เลข 8 จากบ้านเลขที่แล้ว ยังนับว่าเป็นความโชคดีของแบรนด์ เพราะเลข 8 เป็นเลขที่คนจีนเชื่อว่ามีความเป็นสิริมงคล มีความหมายของความโชคดีด้วยการออกเสียง ปา ของเลข 8 ไปใกล้เคียงกับคำว่า ฟา (发) ที่แปลว่าร่ำรวย เป็นฟาเดียวกันกับคำอวยพร ‘ปีใหม่นี้ขอให้สมปรารถนาทุกประการ ร่ำรวยมั่งคั่ง’ อย่างซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาฉาย หรือ ซิงเจี่ยอยู่อี่ ซิงนี้ฮวกใช้ ในสำเนียงแต้จิ๋วที่อาจคุ้นหูคนไทยมากกว่า

จากบ้านเลขที่ 8 ยังขยับขยายไปเป็นอีกแบรนด์ในชื่อ ปา เฮ่า เถียน มี่ Ba Hao Tian Mi โดยเถียนมี่ที่เราอาจคุ้นจากเพลง Tian Mi Mi ของเติ้งลี่จวินนี้ แปลว่าหวานราวน้ำผึ้ง ที่แบรนด์ตั้งใจสื่อถึงของหวานตบท้ายมื้ออาหารนั่นเอง 

Ku bar 苦

บาร์ที่ซ่อนตัวอยู่ในชั้นบนของตึกที่ต้องเข้ามาตรอกแห่งนี้ หากอ่านจากภาษาอังกฤษ หลายคนเรียกว่า คูบาร์ แต่ในการออกเสียงภาษาจีน เราขอเรียกว่า ขู/ขู่บาร์ 

อนุภาส เปรมานุวัติ ผู้เป็นเจ้าของไม่เคยพูดถึงที่มาว่าทำไมถึงใช้ชื่อนี้ บอกเพียงว่า แปลว่าขม เราเลยลองถอดโครงสร้างของคำออกมาพิจารณา ส่วนประกอบ 艹 ด้านบน หมายถึงพืชหรือสมุนไพร ส่วน 古 คือการให้เสียงเฉยๆ คำว่าขมเกิดจากสิ่งนี้ ด้วยพืชผักสมุนไพรส่วนใหญ่ให้รสขม แต่เป็นขมที่ดีและช่วยเยียวยาเราจากความเจ็บป่วยได้อีกต่างหาก ก็อาจเป็นที่มาของบาร์ชื่อขมที่สร้างสรรค์ค็อกเทลดีๆ จากวัตถุดิบมากคุณประโยชน์ที่หาได้รอบตัว

Píjiǔ Bar 啤酒吧 

บาร์คราฟต์เบียร์ในตึกเก่าย่านซอยนานา (วงเวียนยี่สิบสองกรกฎาคม) อ่านว่าผีจิ่วปาที่ถ้าเขียนชื่อร้านด้วยภาษาไทยอาจจะสร้างความงุนงงสงสัย บาร์นี้เฮี้ยนไหม ทำไมต้องชื่อผี แต่ที่จริง ผีจิ่ว หมายถึงเบียร์ต่างหาก ส่วน ปา คือการทับศัพท์ของคำว่าบาร์ แบรนด์นี้มีความหมายว่าบาร์เบียร์แบบตรงตามตัวอักษร

มาดูที่อักษรกันสนุกๆ คำว่า จิ่ว ตัวเดียว หมายถึง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ ไวน์ ใช้จิ่วได้ทั้งหมด สังเกตอักษรจิ่ว 酒 เห็นเป็นรูปของไหเหล้าหรือเปล่า (หลับตาจินตานาการกันอีกนิด) และสามขีดข้างหน้าคือของเหลวที่อาจเป็นเหล้าหรือน้ำที่ใช้ในการปรุงเหล้า ส่วนผี 啤 สี่เหลี่ยมข้างหน้าเป็นรูปปากที่อ้าอยู่ สื่อถึงการดื่ม และเปย 卑 หมายถึง ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ รวมแล้ว ผีจิ่วจึงคือเครื่องดื่มที่ปริมาณแอลกอฮอล์ไม่สูงมากนักอย่างเบียร์นั่นเอง

เช็งซิมอี๊ 清心圆 

ลือลั่นสะท้านโลกันตร์ มายาวนานกว่า 60 ปี จากรุ่นสู่รุ่นมาถึงเจเนอเรชั่นที่สาม เชื่อว่าใครหลายคนต้องรู้จักสำหรับร้านขนมหวาน น้ำแข็งไส นามเช็งซิมอี๊ 

สมชาติ คงศักดิ์ศรีสกุล (ทายาทรุ่น 2) เล่าเอาไว้ว่าในยุคบุกเบิกคุณพ่อขายขนมหวานแบบหาบเร่ มีตีทึงหรือเต้าทึงเป็นซิกเนเจอร์ และคุณพ่อเป็นคนปรับจากบัวลอยลูกใหญ่มาสไลด์เป็นแผ่นแป้งแล้วใส่น้ำแข็งลงไปแบบคนเมืองร้อนจะชอบ เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเต้าทึงเย็น (เต้าทึง (豆汤) คือต้มถั่วรวมร้อน คล้ายต้มถั่วเขียวใส่น้ำตาล) หรือที่เรียกตามชื่อแบรนด์ว่า เช็งซิมอี๊ แน่นอนว่าเราจะไปสั่ง เช็งซิมอี๊หรือเต้าทึงถึงประเทศจีนแล้วคาดหวังว่าจะได้หน้าตาแบบเดียวกับที่ไทยนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ 

清 ออกเสียงในภาษาแต้จิ๋วว่า เช็ง (เวลาอาม่าซดซุปใสแล้วเอ่ยว่า เช็งๆ  ก็คือเช็งตัวนี้) หมายถึง ใสบริสุทธิ์ รสชาติสะอาดปาก 心 ซิน หมายถึง หัวใจ และ 圆 อี๊ หมายถึง ขนมทำจากแป้งและมีลักษณะกลม รวมความหมายในบริบทไทยได้ว่า ขนมที่กินแล้วเย็นชื่นใจ  

ถิงถิง 婷婷

หลายคนน่าจะเป็นเหมือนกัน คืออยากกินขนมหวานตบท้ายมื้อ แต่ก็รู้สึกผิดบาปกับร่างกาย เลยมองหาขนมท้ายมื้อแบบดีต่อสุขภาพ ถิงถิง บิงซูน้ำขิง ได้ตอบโจทย์นี้ไปแบบรับคะแนนเต็ม

วทัญญู ชุติศิลป์ ผู้ก่อตั้งบิงซูสไตล์จีนแบรนด์นี้อยากเห็นขนมหวานที่เข้าถึงง่าย เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินดี และดีต่อสุขภาพของทุกคน เขาเชื่อว่าเราต่างก็คุ้นเคยกับเฉาก๊วย เต้าฮวย เต้าทึง บัวลอยน้ำขิง กันอยู่แล้ว เลยนำสิ่งเหล่านี้มาประยุกต์กับน้ำแข็งเกล็ดหิมะ ออกมาเป็นบิงซูรสชาติใหม่ๆ แต่คุ้นปากมากๆ 

เด็กผู้หญิงชุดเหลืองมากับอาม่าของเธอในชุดชมพู ที่เราจำได้จากโลโก้แบรนด์ โดยถิงถิงน่าจะเป็นชื่อของเด็กผู้หญิงคนนั้น ตัวอักษร 婷 แยกส่วนได้เป็นสองคำคือ 女 (ผู้หญิง) และ 亭 (ที่ตั้ง คูหา ศาลา) แต่หากรวมกันจะหมายถึง งามสง่าและนุ่มนวล จึงถูกใช้เป็นชื่อของลูกสาวคนจีนอยู่บ่อยครั้ง และเวลาเรียกเด็ก ไม่ว่าชาย-หญิง คนจีนมักจะซ้ำคำลงไป เช่น ถิงถิง เจียเจีย เหมยเหม่ย ที่มาของโลโก้อาจคือถิงถิงจูงอาม่ามากินบิงซูน้ำขิง นั่นเอง

HĒIJīi Bangkok 黑鸡 

คาเฟ่จีนประยุกต์ในตึกเก่าย่านถนนเจริญกรุงนาม HĒIJīi Bangkok อ่านว่า เฮยจี แปลตรงตัวว่าไก่ดำ 

ประภาส ระสินานนท์ เล่าไว้กับสื่อหลายสำนักถึงที่มาของชื่อว่าได้แรงบันดาลใจมาจาก ซุปไก่ดำตุ๋นยาจีน ที่คุณแม่ทำให้กินในวัยเด็ก ร้านเฮยจีจึงเต็มไปด้วยความรู้สึกอบอุ่นในอดีตของผู้เป็นเจ้าของ เป็นอันหมดข้อสงสัยไปว่าทำไมคาเฟ่ที่ไม่มีซุปไก่ขาย ถึงชื่อไก่ดำ

แต่ขอนำตัวอักษร 黑 และ 鸡 มาเล่าปิดท้ายอีกนิด ด้วยตัวจีนเป็นอักษรภาพที่มีวิวัฒนาการมาหลายต่อหลายครั้ง กว่าจะมาเป็นตัวปัจจุบัน เราอาจต้องใส่จินตนาการเพิ่มเข้าไปนิด เพื่อให้เห็นภาพ เริ่มเห็นแล้วหรือยัง เริ่มจากจี ที่แปลว่าไก่ก่อน 鸡 ที่จริงมาจากการวาดรูปร่างของไก่ ก่อนจะกลายมาเป็นอักษรตัวนี้ ส่วน 黑 เฮยที่แปลว่าดำ มาจากภาพของการจุดไฟในเตาผิง เมื่อไฟมอดดับ เหลือไว้เพียงคราบรอยของความไหม้และเป็นสีดำ นั่นคือเฮยหรือสีดำ

ยุ้งฉาง 穀倉

ร้านอาหารจีนที่มีเปี๋ยงเมี่ยน (บะหมี่เส้นเปี๋ยง) หนึ่งเดียวในกรุงเทพฯ ก็ต้องนึกถึงร้านยุ้งฉาง ย่านอารีย์สัมพันธ์ หลายคนงงว่านี่ไม่ใช่ร้านชื่อไทยหรอกเหรอ แต่ความจริงแล้ว ยุ้งฉาง เป็นคำยืมจากภาษาจีน 穀倉 อ่านว่ากู่ชาง หมายถึง โรงนา สำหรับเก็บข้าว ส่วนเส้นหนึบหนับแบบนี้ทำไมถึงเรียกเปี๋ยง

เดิมทีเป็นการจำลองเสียงของแป้งที่กระทบกับโต๊ะไม้ หนึ่งในกรรมวิธีทำเส้นแบบดึงมือ ต่อมาถูกนำมาใช้เรียกเส้นชนิดนี้ นอกจากนี้ biáng ยังถูกใช้แทนเสียงของการตบหน้า หรือสิ่งของตกกระทบพื้นอีกด้วย ที่น่าสนใจอีกอย่างคือโครงสร้างของอักษร เนื่องจาก biáng เป็นหนึ่งในคำที่แปลกประหลาดและมีจำนวนขีดมากเป็นอันดับต้นๆ ของอักษรจีน ด้วยลำดับขีดที่มากถึง 50 ขีด (อักษรจีนเขียนตามลำดับขีด โดยเริ่มจากบนลงล่าง ซ้ายไปขวา ด้านในไปด้านนอก และทุกขีดมีชื่อเรียก) ทำให้ไม่สามารถมีอักษรนี้ในระบบการพิมพ์ จำเป็นต้องใช้การทับศัพท์ ไม่ก็ใช้คำที่ออกเสียงใกล้เคียงแทน จึงเป็นที่มาของ biángbiáng 麵 (เปี๋ยงเปี๋ยงเมี่ยน), 彪彪麵 (biāobiāomiàn–เปียวเปียวเมี่ยน) หรือ 冰冰麵 (bīngbīngmiàn–ปิงปิงเมี่ยน)  

เส้นเปี๋ยงมีขนาดกว้างประมาณหนึ่งนิ้ว มีความสนุกเคี้ยวอย่างมาก เป็นอาหารขึ้นชื่อประจำมณฑลซ่านซี (陕西–Shǎnxī) ปรุงรสด้วยเครื่องเทศ เกลือ พริก น้ำมัน ซีอิ๊ว น้ำส้มสายชู และผักโรย

อ้างอิงข้อมูล
haidilao.com
forbes.com/profile/zhang-yong-1/?sh=179388950f74
klnow.com.my/haidilao-founder-chinese-hotpot
en.wikipedia.org/wiki/Xiaomi
mdroid.my/cn/2020/11/27/%E9%9B%B7%E5%86%9B%E4%BA%B2%E8%87%AA%E8%A7%A3%E9%87%8A%E5%B0%8F%E7%B1%B3%E4%B8%BA%E4%BB%80%E4%B9%88%E5%8F%AB%E5%B0%8F%E7%B1%B3%EF%BC%9A%E5%90%8D%E5%AD%97%E4%B8%8D%E9%AB%98%E7%AB%AF/
zh.wikipedia.org/wiki/%E5%8D%8E%E4%B8%BA#%E5%90%8D%E7%A7%B0
ba-hao.com
bangkokbiznews.com/lifestyle/950804
baidu.com
A Graphic Compendium of Chinese Characters《汉字图解字典》,顾建平 เขียน


Tagged:

Writer

อดีตกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ปัจจุบันรับจ้างเขียนเป็นการเลี้ยงชีพ

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม ที่ชอบกินกาแฟดำเป็นชีวิตจิตใจ

You Might Also Like