GENERIC NAME

9 ของสามัญประจำชีวิต ที่ชื่อสามัญจำมาจากแบรนด์

ใครเคยฝากเพื่อนซื้อ ‘มาม่า’ ยี่ห้อ ‘ไวไว’ หรือเคยโดนแม่ใช้ไปซื้อ ‘แฟ้บ’ ยี่ห้อ ‘บรีส’ ยกมือขึ้น!

ว่ากันว่าหนึ่งในสิ่งที่แสดงถึงความทรงพลังของแบรนด์คือการที่ชื่อแบรนด์กลายเป็นชื่อสามัญของสินค้าประเภทนั้นๆ ซึ่งในชีวิตประจำวันของเหล่าผู้บริโภคก็มีหลายครั้งที่เริ่มสับสนว่าตกลงบางอย่างมันเป็นชื่อแบรนด์หรือคำเรียกสามัญของประเภทสินค้านั้นกันแน่

คอลัมน์ Brand Name วันนี้จึงขอพาไปทำความรู้จักกับ 9 Generic Name หรือชื่อสามัญประจำสินค้าอันมีที่มาจากชื่อแบรนด์ และเหตุผลที่ทำให้พวกเขากลายเป็นชื่อแรกที่ทุกคนนึกถึง

มาม่า

เริ่มต้นที่เพื่อนยามยากอย่าง ‘มาม่า’ ชื่อสามัญอันดับหนึ่งที่หลายคนจะคิดถึงเมื่อพูดถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีต้นกำเนิดที่ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1958 โดย ‘โมโมฟุกุ อันโด’ (Momofuku Ando) เพื่อเป็นตัวเลือกอาหารที่สามารถทำได้ง่าย รวดเร็ว และเก็บได้นาน โดยไม่ต้องออกจากบ้านในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 

โมโมฟุกุวางจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เขาคิดค้นขึ้นในชื่อ ‘นิสชิน’ ก่อนจะเริ่มส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา ส่วนประเทศไทยเราได้รู้จักกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปครั้งแรกในปี 1971 ในชื่อยี่ห้อ ‘ซันวา’ ซึ่งขณะนั้นตีคู่มากับยี่ห้อ ‘ยำยำ’ และ ‘ไวไว’

จนกระทั่งในปีถัดมา ‘มาม่า’ จึงถือกำเนิดขึ้น ด้วยชื่อแบรนด์ที่มีต้นกำเนิดจากคำว่า ‘แม่’ คำแรกที่เราส่วนใหญ่จะพูดได้ และถึงแม้ ‘มาม่า’ จะมาทีหลังเป็นอันดับ 4 แต่หลังจากพัฒนารสชาติใหม่ๆ อย่างรสต้มยำกุ้งออกสู่ท้องตลาดได้ไม่นาน คำสองพยางค์สั้นๆ นี้ก็กลายเป็นชื่อที่ทุกคนรู้กัน รวมถึงเป็นของสามัญประจำบ้านไปโดยปริยาย

โพสต์-อิท

‘โพสต์-อิท’ กระดาษสีรูปร่างกะทัดรัดพร้อมกาวแปะในตัวที่เราหยิบใช้กันตั้งแต่บนโต๊ะทำงานไปจนถึงหน้าตู้เย็นนั้น มีเรื่องเล่าว่าเกิดขึ้นจากความผิดพลาดในห้องทดลองล้วนๆ

เรื่องราวเกิดขึ้นในปี 1968 เมื่อ Spencer Silver นักวิจัยในทีมผลิตกาวของบริษัท 3M ได้รับการบ้านให้พัฒนากาวสูตรติดแน่นทนนานขึ้น แต่โชคกลับไม่เข้าข้าง เมื่อกาวที่เขาผลิตออกมานอกจากจะไม่แน่นไม่ทนแล้ว ยังลอกออกได้ง่ายเหมือนไม่เคยมีกาวมาก่อนอีกต่างหาก ทำให้โครงการพัฒนากาวของเขาถูกพักยาวๆ ไม่มีกำหนด (โธ่…) 

แต่เรื่องยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพนักวิจัย เพราะ 4 ปีถัดมา นักวิทยาศาสตร์อีกคนของบริษัทนามว่า ‘อาเธอร์ ฟราย’ (Arthur Fry) กำลังประสบปัญหากระดาษโน้ตเพลงในโบสถ์ชอบปลิวหลุดจากแท่นวางไปตามแรงลม ในวินาทีนั้นเองที่เขาคิดถึงกาวของซิลเวอร์ขึ้นมา และเมื่อลองนำมาใช้ก็พบว่ามันให้ผลเกินคาด ทั้งยึดกระดาษแต่ละหน้าให้ติดกัน ลอกจากกันได้ง่ายโดยไม่ทิ้งคราบ แถมยังใช้ติดใหม่ได้หลายครั้ง 

ไม่นานหลังจากนั้น อาเธอร์และซิลเวอร์ก็เริ่มนำกระดาษโน้ตแปะกาวนี้ไปใช้ในบริษัทเพื่อติดต่อเรื่องงาน และเมื่อพวกเขานำไอเดียผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ไปเสนอให้กับบริษัท ทาง 3M จึงได้เปิดตัวกระดาษโน้ต ‘Press ‘n Peel’ แปลเป็นไทยได้ว่า ‘แปะแล้วลอกออก’ (ง่ายๆ แบบนี้เลย…) ใน 4 หัวเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นชื่อใหม่สุดไฉไลว่า ‘โพสต์อิท’ (Post-it) ในปี 1980 พร้อมวางจำหน่ายทั่วประเทศ

ซิลเวอร์ให้คำจำกัดความ ‘โพสต์-อิท’ ของเขาว่าเป็นผลงานระดับนวัตกรรม เหตุผลเพราะไม่เคยมีใครคิดว่าตัวเองจะต้องการ ‘โพสต์-อิท’ มาก่อนจนกระทั่งได้มาเจอกับมัน ในเมื่อพลิกวงการเครื่องเขียนขนาดนี้ รับมงเจ้าของชื่อสามัญวงการกระดาษโน้ตแปะกาวไปเลย!

สก๊อตช์เทป

ไหนๆ ก็พูดถึงอุปกรณ์สำคัญบนโต๊ะเครื่องเขียน จะไม่พูดถึงแผ่นเทปใส หรือที่เราเรียกกันในชื่อสามัญว่า ‘สก๊อตช์เทป’ คงไม่ได้ เห็นชื่อแบบนี้ แต่ที่จริงแล้ว ‘สก๊อตช์เทป’ ไม่ได้มีต้นกำเนิดจากประเทศสกอตแลนด์แต่อย่างใด ทว่ามาจากบริษัทแม่เดียวกันกับ ‘โพสต์-อิท’ อย่าง 3M แทน

คราวนี้เป็นฝีมือการคิดค้นของ Richard Drew นักศึกษาหนุ่มจากมหาวิทยาลัยมินิโซตาที่ถูกจ้างงานเข้ามาใน 3M ในช่วงปี 1920 ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงแค่บริษัททำกระดาษทราย หน้าที่ของดริวจึงเป็นเพียงแค่เด็กส่งกระดาษให้โรงงานพ่นสีรถยนต์ ประจวบเหมาะที่ในยุคนั้นผู้คนนิยมแต่งรถเป็นทูโทนสองสีกันอย่างแพร่หลาย ทำให้โรงพ่นต้องใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ทากาวแล้วแปะเข้ากับตัวรถเพื่อแบ่งพื้นที่ ผลลัพธ์ของวิธีการดังกล่าวก็คงพอจะเดาได้ นั่นคือเละเทะ!

เมื่อดริวเห็นเข้า เขาจึงเสนอทางออกที่ดีกว่าให้ และใช้เวลาถึง 2 ปีในการประดิษฐ์เทปกาวที่ติดแน่นแต่ลอกออกง่าย เขาจับนู่นหยิบนี่เข้าห้องทดลองตั้งแต่น้ำมันพืชยันยางไม้ จนกระทั่งในปี 1925 ดริวก็ได้นำเทปที่ทำจากกระดาษเครป ทาด้วยกาวสำหรับงานไม้ผสมกลีเซอรีนไปให้คนงานพ่นสีลองใช้ ผลปรากฏว่าติดยังไงตัวเทปก็หลุดออกมาจนใช้งานจริงไม่ได้ ด้วยความหัวเสีย ช่างพ่นสีเลยสาปส่งดริวว่า “เอาเทปนี่กลับไปให้เจ้านายชาวสกอตของแก แล้วบอกให้เขาช่วยเพิ่มกาวมาหน่อยเถอะ!” เนื่องจากในสมัยนั้น คำว่า ‘ชาวสกอต’ เป็นคำสแลงแบบเหมารวมที่หมายถึงคนขี้ตืดขี้เหนียว

หลังจากการพัฒนาสูตรถึง 5 ปี ในที่สุดดริวก็ได้ร้องยูเรก้ากับเทปกาวใสที่มีคุณสมบัติกันน้ำ และด้วยเหตุผลหรือความแค้นอะไรก็แล้วแต่ เขาจึงเปิดตัวด้วยผลิตภัณฑ์นี้ในชื่อ ‘สก๊อตช์เทป’ ตามที่ช่างสีเคยเหน็บแนมเอาไว้ และแบรนด์ ‘สก๊อตช์’ ก็กลายเป็นชื่อไลน์สินค้าประเภทเทปของ 3M ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ป.ล. เทปกระดาษเครปของริชาร์ดที่โดนช่างพ่นสีไล่ตะเพิดออกมานั้น ในปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘มาสก์กิ้งเทป’ (masking tape)

ซีรอกซ์

ยังไม่หมดกับแวดวงอุปกรณ์สำนักงาน แต่คราวนี้ไม่ใช่แค่ชื่อสามัญในไทย เพราะในต่างประเทศก็ยังใช้คำว่า ‘ซีรอกซ์’ แทนคำว่าถ่ายเอกสารเช่นเดียวกัน

ต้นกำเนิดการถ่ายเอกสารเกิดจาก Chester Carlson ทนายความด้านสิทธิบัตรในนิวยอร์กที่ต้องทรมานกับอาการปวดข้อ เพราะต้องทำสำเนาเอกสารเป็นจำนวนมากทุกวัน ดังนั้น เขาจึงเริ่มคิดหาวิธีใหม่ด้วยการใช้ห้องครัวที่บ้านเป็นสถานที่ทดลองทำสำเนาเอกสารด้วยประจุไฟฟ้าที่เรียกว่า ‘Electrophotography’

แต่หลังจากพัฒนาโปรเจกต์และติดต่อขายไอเดียสุดเจ๋งนี้ให้กับบริษัทชั้นนำ คาร์ลสันกลับถูกปฏิเสธนับครั้งไม่ถ้วน จนกระทั่งในปี 1944 องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Battelle Memorial Institute ในรัฐโอไฮโอ ก็ได้ติดต่อคาร์ลสันเพื่อปัดฝุ่นโปรเจกต์นี้ใหม่ ก่อนที่อีก 3 ปีถัดมา บริษัท Haloid Corporation ผู้ผลิตกระดาษอัดภาพ จะติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์โปรเจกต์เพื่อนำไปพัฒนาเป็นเครื่องถ่ายเอกสารอย่างเต็มตัว

เป็นบริษัท Haloid นี้เองที่ทำให้คำว่า ‘ซีรอกซ์’ เกิดขึ้น เพราะเกรงว่า ‘Electrophotography’ จะยาวและเรียกยากเกินไปหน่อย พวกเขาจึงไปขอคำแนะนำชื่อใหม่จากอาจารย์ภาควิชาภาษาคลาสสิกที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอ จนได้ออกมาเป็นคำว่า ‘Xerography’ ซึ่งในภาษากรีกแปลว่าการพิมพ์แบบแห้ง และจดทะเบียนการค้าเครื่องถ่ายเอกสารในชื่อ ‘ซีรอกซ์’ ในปี 1948

อย่างไรก็ตาม หลังจากประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามจนทุกคนยกให้ ‘ซีรอกซ์’ เป็นชื่อสามัญ ในพจนานุกรมบางฉบับถึงกับแปะคำว่า ‘ซีรอกซ์’ ให้เป็นคำพ้องกับคำว่าถ่ายเอกสาร แต่ทางบริษัท ‘ซีรอกซ์’ เองกลับออกมาต่อต้านปรากฏการณ์นี้อย่างหนักด้วยเหตุผลด้านลิขสิทธิ์ชื่อ พร้อมชี้ว่าหากจะพิมพ์คำว่า ‘Xerox’ ตัว X ต้องเป็นตัวพิมพ์ใหญ่เท่านั้น

แม็กซ์

ลวดเย็บกระดาษชิ้นเล็กๆ อย่าง ‘แม็กซ์’ กลับมีจุดเริ่มต้นขนาดใหญ่ (มาก) เนื่องจากแรกเริ่มเดิมทีบริษัท Yamada Air Industry ประกอบธุรกิจผลิตชิ้นส่วนสำหรับปีกเครื่องบิน ที่จังหวัดกุนมะ ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปี 1942

ก่อนที่ในปี 1945 บริษัทยามาดะจะขอตัวลาจากวงการยานพาหนะ หันมาผลิตอุปกรณ์สำนักงานแทน และในปี 1955 บริษัทยามาดะก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น MAX Industry ด้วยปณิธานองค์กรที่จะผลิตแต่สินค้าคุณภาพดีระดับ ‘แม็กซ์’ ที่สุดเท่านั้น 

ตั้งแต่นั้นมา บริษัท ‘แม็กซ์’ ก็ปรับปรุงขยับขยายไลน์ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยสินค้าที่ขายดีที่สุดตลอดกาลแน่นอนว่าต้องเป็นเครื่องเย็บกระดาษขนาดกระชับมือ โดยได้รับการยอมรับจากผู้ใช้งานทั้งในญี่ปุ่นและทั่วเอเชียว่ามีคุณภาพดีเป็นที่หนึ่ง จนคนไทยเราถึงขั้นเรียกติดปากกันมาจนถึงทุกวันนี้

แฟ้บ

พักจากอุปกรณ์เครื่องเขียนและสำนักงานมาดูฝั่งรักษาความสะอาดกันบ้าง เบอร์หนึ่งที่ต้องพูดถึงแน่นอนว่าต้องเป็นผงซักฟอก ‘แฟ้บ’ ที่ต้องมีติดบ้านไว้ใช้กันทุกครัวเรือน

อันที่จริงแล้วประเทศไทยมีผงซักฟอกชื่อ ‘พรรณอร’ ใช้กันมาตั้งแต่สมัยปี 1932 แต่ด้วยจุดด้อยที่หาซื้อยาก และกว่าจะใช้ซักผ้าได้แต่ละทีต้องเอาไปละลายด้วยน้ำต้มเดือดๆ เสียก่อน ‘พรรณอร’ จึงเสียตลาดให้กับ ‘แฟ้บ’ แบรนด์จากสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งเริ่มต้นผลิตเมื่อปี 1950 แทน

ส่วนสาเหตุที่ใช้ชื่อว่า ‘แฟ้บ’ นั่นก็เพราะ ‘Fab’ เป็นการย่อคำมาจาก Faster And Better สะอาดเร็วกว่า ซักดีกว่า แถมเรียกก็ยังง่ายกว่า จึงคว้าตำแหน่งชื่อสามัญสาขาผงซักฟอกประจำประเทศไทยไปครอง

ทัปเปอร์แวร์

กล่องพลาสติกใส่อาหารหลากหลายขนาดพร้อมฝาปิด (ที่แม่ชอบเรียกว่าอับ) นี้ ได้ชื่อตามผู้คิดค้น Earl Tupper ที่ลุกขึ้นมาประดิษฐ์กล่องใส่อาหารแบบสุญญากาศขึ้นมาในปี 1947 ภายหลังจากธุรกิจครอบครัวของเขาขาดทุนอย่างย่อยยับในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ โดยในขณะนั้นกล่องของบริษัท ‘ทัปเปอร์แวร์’ มีชื่อเรียกแบบเป็นทางการว่า ‘วันเดอร์โบลส์’ (Wonderbowls)

ไม่ใช่แค่เก็บรักษาอาหารได้อย่างดีเท่านั้น นายทัปเปอร์มีความตั้งใจอันแรงกล้าที่อยากจะให้ผลิตภัณฑ์ของเขามีรูปลักษณ์ดีไซน์ที่โดดเด้งออกมาจากเครื่องครัวอื่นๆ ในชั้นวางห้างสรรพสินค้า ด้วยเหตุนั้น กล่อง ‘ทัปเปอร์แวร์’ จึงชนะรางวัลด้านการออกแบบหลายเวที รวมถึงเคยได้ไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ New York Museum of Modern Art (MoMA) อีกด้วย

ส่วนกำลังสำคัญที่ทำให้แบรนด์ ‘ทัปเปอร์แวร์’ ประสบความสำเร็จจนได้เป็นชื่อสามัญประจำครัวนั้น ต้องยกความดีความชอบให้แก่ ‘บราวนี ไวส์’ (Brownie Wise) คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีอาชีพเสริมเป็นพนักงานขายตรง ผู้ยื่นมือเข้ามาเพิ่มยอดขายกว่าปีละ 1.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ ผ่านโมเดล ‘Tupperwear Home Party Sales’ ปาร์ตี้สำหรับขายผลิตภัณฑ์ ‘ทัปเปอร์แวร์’ โดยเฉพาะ โดยจะมีกิจกรรมทั้งเล่นเกมและแจกของรางวัลสมนาคุณให้กับผู้เข้าร่วม

โพลารอยด์

กล้อง ‘โพลารอยด์’ (Polaroid) เกิดขึ้นในปี 1948 โดยนักธุรกิจ Edwin H. Land โดยมีมูลเหตุง่ายๆ เพียงแค่คำถามจำไมของลูกสาววัย 3 ขวบว่าทำไมเธอถึงดูรูปที่พ่อถ่ายเธอทันทีเลยไม่ได้ เมื่อถูกจุดประกาย แลนด์เล่าว่าภายในคืนนั้น เขาก็มีภาพดีไซน์กล้อง รูปแบบฟิล์ม และกระบวนการที่จะทำให้ความปรารถนาของลูกสาวเป็นจริงขึ้นมาทันที

ส่วนที่มาของชื่อ ‘โพลารอยด์’ นั้น ที่จริงแล้วมาจากชื่อบริษัทของแลนด์ ต้องย้อนความกลับไปที่เขามีธุรกิจฟิลเตอร์เลนส์เพื่อลดแสงไฟหน้ารถยนต์ที่ใช้ชื่อว่า ‘เลนส์โพลาไรซ์’ อยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ช่วงปี 1932 ต่อมาในปี 1937 เมื่อแลนด์ประดิษฐ์ ‘Polarizing Discs’ เลนส์โพลาไรซ์แบบ 2 ชิ้นประกบกันที่หมุนปรับความสว่างได้ เขาจึงเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘โพลารอยด์’ ซึ่ง ‘Polar’ มาจากรากศัพท์คำว่า ‘Polarizer’ และ ‘-oid’ ส่วนต่อท้ายคำแปลว่า ‘มารวมกัน’ นั่นเอง

ฟิวเจอร์บอร์ด

ถ้าคุณคิดว่า ‘ฟิวเจอร์บอร์ด’ (Future Board) เพี้ยนเสียงมาจากคำภาษาอังกฤษ ‘ฟีเจอร์บอร์ด’ (Featured Board) คุณคิด… ผิดค่ะ!

เพราะความจริงแล้ว ‘ฟิวเจอร์บอร์ด’ ไม่ได้เพี้ยนเสียงมาจากไหน แต่เป็นชื่อแบรนด์สินค้า ‘ฟิวเจอร์บอร์ด’ จริงๆ ของบริษัท ‘อัมพรดีไซน์’ ที่ก่อตั้งในประเทศไทยเมื่อปี 1992 

‘ฟิวเจอร์บอร์ด’ ชื่ออย่างเป็นทางการว่าพลาสติกลูกฟูก หรือโพลีโพรพีลีน (PP) ในต่างประเทศเองก็มีชื่อสามัญแตกต่างกันไปตามชื่อแบรนด์การค้าเช่นกัน  ยกตัวอย่างเช่นประเทศในยุโรป จะเรียกกันว่า ‘คอร์เรกซ์’ (Correx) และในประเทศออสเตรเลียนิยมเรียกกันว่า ‘ฟลุตบอร์ด’ (Fluteboard)

อ้างอิงข้อมูล

Tagged:

Writer

daughter, reader, writer, filmmaker, snack eater

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like