Papa Boon The Carpenter 

เปิดภาพสเกตช์และวิธีคิดของ Boon’s Hobby งานไม้สไตล์รัสติก ของสมบูรณ์วัย 72 ปี 

ปีนี้ บูรณ์–สมบูรณ์ วิวัฒนานุกูล มีอายุ 72 และกำลังจะก้าวย่างสู่วัย 73 ปี หลายคนอาจเคยรู้จักเขาในฐานะเจ้าของแบรนด์บ้านบูรณ์ ผู้ปัดฝุ่นและแปลงโฉมให้ไม้กวาดข้าวฟ่างสวยสะดุดตาจนต้องเหลียวหลัง

วันนี้สมบูรณ์ในวัยเกษียณส่งไม้ต่อให้ลูกสาวคนโตดูแลแบรนด์ไม้กวาดและหันมาสนุกกับแพสชั่นใหม่คือการแปลงร่างไม้เก่าให้เป็นงานไม้ดิบสไตล์รัสติกตามไอเดียในจินตนาการ 

หลายคนในยุคนี้อาจเคยชินกับภาพดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่เวลาสเกตช์ภาพต้องมีอุปกรณ์เยอะแยะ ทั้งสมุดวาดรูป ดินสอแรเงา ปากกาหมึกหลากสีสัน สีเฉพาะทางสำหรับสายอาร์ตและนักวาดรูป สมบูรณ์ไม่เคยเรียนด้านดีไซน์มาก่อน ไม่ใช้อุปกรณ์ทั้งหมดที่ว่ามาและไม่ใช้โปรแกรมออกแบบใดๆ รวมทั้งไม่สนใจว่าจะวาดรูปสวยหรือไม่ เขาสเกตช์ภาพด้วยปากกาลูกลื่นในกระดาษที่มีลักษณะคล้ายกระดาษสมุดโทรศัพท์สีเหลือง เขียนกำกับอธิบายฟังก์ชั่น โครงสร้าง ความหนาของไม้และรายละเอียดต่างๆ ด้วยลายมือ พร้อมเซ็นลายเซ็นชื่อ ‘สมบูรณ์’ ใต้ชื่อแบรนด์ Boon’s Hobby บนแผ่นโลหะทองเหลืองที่ติดแวววาวอยู่บนไม้สไตล์ดิบๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์  

“เราเป็นคนชอบคิดอยู่ตลอด ไม่ค่อยถามใคร” คือคำตอบจากสมบูรณ์ว่าเอาความกล้าที่จะคิดต่างมาจากไหน

บูน่า–บูรณา วิวัฒนานุกูล ลูกสาวคนเล็กผู้มาช่วยพ่อเล่าเรื่องงานอดิเรกในเพจบอกว่า “พ่อทำทุกอย่างโดยไม่เคยกลัว เวลาลูกค้าบอกอยากได้แบบนี้ เขาก็จะไม่กลัวว่าจะทำไม่ได้ จะใส่ไอเดียเพิ่มเข้าไป บางทีบรีฟแค่โต๊ะ ก็จะทำชั้นวางของหรือที่วางขาเพิ่มให้ด้วย”

ด้วยความแตกต่างที่ไม่เหมือนใคร วันนี้เลยชวนสมบูรณ์มาเปิดภาพสเกตช์และเล่าวิธีคิดกันสักหน่อยว่าการทำงานอดิเรกที่เติมเต็มแพสชั่นนั้นสนุกยังไง 

Product
ไอเดียไร้กรอบจากไม้ที่สะสม 

ย้อนกลับไป สมบูรณ์เกิดไอเดียสร้างสรรค์ผลงานจากไม้เหลือทิ้งที่เก็บสะสมไว้เยอะแต่ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์อะไร

“เริ่มจากเพื่อนของพี่ชายที่ทำงานรับเหมาถามพี่ชายว่าจะเอาไม้ที่เหลือไปทำฟืนไหม พี่ชายเลยมาถามเราว่าจะเอาไม้ไปทำอะไรได้บ้าง เราก็บอกว่าเอาไม้มาก่อน แล้วก็เริ่มลองทำเก้าอี้เลย เราจะดูไม้ก่อนว่าไม้ชิ้นนี้ทำอะไรได้บ้าง แล้วค่อยมาออกแบบ ใส่ไอเดียเข้าไปแล้วประกอบเป็นชิ้น”

จากเก้าอี้ตัวแรก พอทำแล้วสนุก ก็มีผลงานชิ้นต่อไปอย่างม้านั่ง ชุดโต๊ะกาแฟ และอีกมากมาย สมบูรณ์สร้างสรรค์งานไม้ด้วยไอเดียนึกสนุกตามใจชอบ ส่วนใหญ่แต่ละชิ้นจึงมีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น 

เขาใช้ไม้เหลือจากหลายแหล่ง ทั้งไม้จากโรงงานยาสูบ ไม้เก่าที่ซื้อเก็บไว้จากชาวบ้าน ไม้ที่ไม่ใช้แล้วจากหลังคาที่ผุ ทั้งหมดเป็นไม้เนื้อแข็งที่ปลวกไม่กิน ดังนั้นความเก่าของไม้จึงไม่ใช่ข้อเสียแต่กลายเป็นเสน่ห์ที่สวยงามแบบดิบๆ ด้วยลวดลายไม้ตามธรรมชาติ

พอทำไปเรื่อยๆ สมบูรณ์ก็มีงานอดิเรกเพิ่มคือเก็บสะสมไม้ตามที่ต่างๆ ทั้งไม้ที่ไปเจอในเรือประมง ไม้ที่ไปเดินเก็บมาเองตามชายหาดที่เกาะ ไม้ที่เจอโดยบังเอิญเวลาเที่ยวต่างประเทศอย่างญี่ปุ่น 

“บางทีเปิดกระเป๋ามาแล้วเจอไม้เต็มกระเป๋า” บูน่าเล่าถึงแพสชั่นที่ทำให้พ่อของเธอมีชีวิตชีวาหลังเกษียณในรูปแบบที่ต่างออกไปจากตอนทำงานในวัยหนุ่ม “พ่อเคยทำงานผลิตให้โรงงานแล้วต้องทำตามแบบมาตลอด พอได้มาทำงานอดิเรกของตัวเองแล้วชอบมาก เพราะว่าในแต่ละโปรดักส์จะสามารถใส่ไอเดียได้เต็มที่ สมัยก่อนลูกค้าคิดแบบมาแล้วก็ทำตามคำสั่ง แต่ตอนนี้ได้เป็นคนคิดเอง”

นอกจากประสบการณ์ในการทำไม้กวาดบ้านบูรณ์แล้ว สมบูรณ์ยังเคยทำกรอบรูปไม้ให้ Hallmark แบรนด์การ์ดอวยพรชื่อดังเป็นระยะเวลากว่าสิบปี จึงซึมซับความรู้ด้านงานไม้มาจากตรงนั้น และแม้จะมีความเชี่ยวชาญที่ขึ้นชื่อว่าทำให้แบรนด์ระดับโลกแต่ก็เลือกไม่หยุดอยู่ในกรอบและใส่ไอเดียแปลกใหม่เข้าไปในทุกครั้งที่สร้างสรรค์งานไม้ของตัวเอง 

เวลาสมบูรณ์เจอไม้ชิ้นยาว เขาจะไม่อยากตัดทิ้งเพราะเสียดายและอยากคงทรงไม้ธรรมชาติที่เจอตั้งแต่แรกไว้ เลยทำออกมาเป็นม้านั่งแบบยาวและใส่ขาเข้าไปให้เต็มความยาวของไม้นั้น เติมหัวและตั้งชื่อว่าอนาคอนด้า หรือไม้ชิ้นยักษ์ที่มีลวดลายคล้ายคลื่นก็นำมาทำเป็นม้านั่งและตั้งชื่อว่าปลาวาฬ โดยที่ตอนเริ่มทำก็ไม่ได้ตั้งต้นจากการคิดว่าถ้าลูกค้าซื้อแล้วจะเอาไปวางที่ไหน เป็นไอเดียที่เกิดจากการนึกสนุกล้วนๆ 

สมบูรณ์ตั้งชื่อผลงานแต่ละชิ้นอย่างตรงตัวตามภาพในหัว อย่างม้านั่งชื่อตั๊กแตนตำข้าวก็มาจากการเจอไม้ที่มีขนาดเล็กและผอมมาก จึงเกิดไอเดียต่อขาและทำรูปทรงให้คล้ายตั๊กแตน ซึ่งสมบูรณ์บอกว่าไม่น่าเชื่อว่าตัวนี้จะขายได้ แค่เริ่มทำเพราะชอบเท่านั้น 

บูน่าคิดว่าความเป็นออริจินัลของพ่อมาจากการไม่คิดตามใคร 

“เราเรียนสถาปัตย์ สาขาออกแบบอุตสาหกรรมมา มันจะมีคำว่า form follows function เป็นคำที่เด็กดีไซน์เรียนมา หมายความว่าปกติถ้าจะออกแบบงานแต่ละชิ้น มันต้องดูก่อนว่าฟังก์ชั่นของมันจะเป็นอะไร จะเป็นเก้าอี้ ชั้นวางของ หรือจะเป็นอะไร แต่ของพ่อจะเป็น form follows passion อันนี้คือสโลแกนของเขา 

“เช่น ปกติคนจะคิดก่อนว่าจะทำม้านั่ง แต่สำหรับพ่อจะไปนั่งดูไม้แล้วทำรูปทรงมาตามที่เขาอยากจะให้เป็น บางทีเขาจะมาถามเราว่าเห็นไม้ชิ้นนี้เป็นตัวอะไร บางทีพ่อก็จะเล่าว่าเห็นไม้เป็นแพะ งู จระเข้ แล้วเขาก็จะค่อยๆ งอกขาเก้าอี้เป็นขาสัตว์ต่างๆ ซึ่งมันจะไม่เหมือนเด็กดีไซน์ทั่วไปที่ทำงานทีก็ต้องเปิด pinterest เปิดหาแรงบันดาลใจ  

“เราว่าเป็นเพราะพ่อไม่เสพอะไรเลย มันเลยได้ผลงานออกมาเป็นแบบนี้ เราเคยเอาหนังสือดีไซน์ให้ดูเขาก็ไม่ดู เคยให้ดู pinterest เขาก็ดูบ้างแค่นิดหน่อย เขาชอบสังเกตแต่ถ้าให้ไปงานแฟร์เพื่อดูงานดีไซน์จริงๆ จะไม่ค่อยดู ซึ่งเราว่ามันก็ดีนะที่ไม่ติดกรอบอะไรเลย ไม่มีภาพจำว่างานของดีไซเนอร์ชื่อดังต้องเป็นแบบนี้ งานของญี่ปุ่นต้องเป็นสไตล์นี้ คือเขาไม่มีกรอบอะไรเลย บางทีแค่เห็นว่าเป็นนกก็เลยทำนกขึ้นมา เราก็เลยคิดว่าบางทีการไม่มีกรอบเลยมันก็ดีเหมือนกัน”

งานไม้ที่เซอร์ไพรส์ลูกค้า

ทั้งนี้นอกจากงานที่สนุกกับการทำตามใจตัวเองแล้ว Boon’s Hobby ก็รับงานสั่งทำตามออร์เดอร์ลูกค้าด้วย แต่สำหรับใครที่สนใจสั่งทำอาจต้องเว้นที่ว่างสำหรับความยืดหยุ่นเล็กน้อยเพราะสมบูรณ์บอกว่าอยากใช้ไม้เหลือใช้ที่มีอยู่มากกว่าหาไม้ใหม่ที่ตรงตามแบบในใจของลูกค้าเป๊ะๆ  

บูน่าอธิบายการเซตความคาดหวังระหว่างแบรนด์กับลูกค้าว่า “เพราะฉะนั้นถ้าลูกค้ามา เราก็จะบอกเขาว่าถ้าอยากได้งานที่เนี้ยบ เป๊ะ อาจจะไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ เพราะที่นี่จะพยายามคงรูปทรงธรรมชาติของไม้เอาไว้ บางทีอาจจะไม่ได้ตามไซส์ที่ลูกค้าต้องการเป๊ะๆ เพราะเราอยากใช้ไม้ที่เรามี ไม้บางอันอาจจะมีหน้ากว้างไม่ถึงขนาดที่อยากได้ พอบอกไป ลูกค้าก็จะโอเค”

งาน custom-made สำหรับลูกค้าของสมบูรณ์จึงไม่ได้มีจุดเด่นที่ตรงตามแบบแต่เป็นการสร้างสรรค์งานที่เหนือความคาดหมาย เช่น เก้าอี้ที่ทำให้ลูกค้าผู้เป็นเจ้าของร้านเสื้อผ้าก็เริ่มจากไม่มีบรีฟ ลูกค้าอยากให้ออกแบบงานไม้อะไรก็ได้ตามสไตล์ของ Boon’s Hobby ออกมาเป็นเก้าอี้ที่จำลองลักษณะการเย็บแบบฝีจักรด้วยการนำเดือยไม้มาเรียงต่อกันเพื่อให้คล้ายรอยเย็บผ้า 

หรือบางงานลูกค้าก็บรีฟฟังก์ชั่นที่ต้องการ แล้วให้สมบูรณ์ออกไอเดียได้อย่างอิสระ ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ช่วยถอดรองเท้าบูตพร้อมที่ขัดดินออกจากรองเท้า โดยทั่วไปแล้วของชิ้นนี้จะมีหน้าตาคล้ายแท่นไม้สำหรับงัดรองเท้าเพื่อให้ถอดออกง่าย แต่สมบูรณ์เล็งเห็นว่าการใช้แท่นงัดรองเท้าแล้วยืนถอดทำให้ถอดออกยาก เลยตีความเป็นเก้าอี้สำหรับนั่งถอดรองเท้าได้สบายพร้อมแท่นงัด 

ส่วนชิ้นงานที่ดูเรียบง่าย ไม่น่าจะมีฟังก์ชั่นให้แต่งเติมไอเดียแหวกแนวอะไรลงไปได้อย่างกระดานหมากรุก สมบูรณ์ก็ทำเนินไม้นูนขึ้นมาเล็กน้อยตรงกลางกระดานเพราะจินตนาการว่าเวลาคนเล่นหมากรุกจะเหมือนข้ามภูเขาไปสู้กัน

เป็นงานที่ไม่เคย play safe และเหมาะกับลูกค้าที่ชอบความเซอร์ไพรส์ซึ่งบูน่าบอกว่า “เวลาบางคนอยากให้ในบ้านมีของอะไร ก็จะมาถามว่าคุณพ่อทำได้หรือเปล่า เลยทำของออกมาหลากหลาย เซตโต๊ะก็มีเยอะ ที่วางของตรงระเบียงต่างๆ โต๊ะข้างเตียง บันไดไม้ ที่วางต้นไม้ ป้าย” 

Price
ราคาของวงปีที่ยาวนาน 

ด้วยการคิดงานแบบศิลปะที่สร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้นออกมาไม่เหมือนกันเลย การตั้งราคาจึงพิจารณาเป็นชิ้นต่อชิ้นเหมือนหลักการตั้งราคาเวลาทำงานศิลปะหรืองานฝีมือ ทำให้มีราคาสูงกว่าร้านเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป 

“เราจะดูคุณค่าของไม้ก่อน รูปทรงของไม้ และความยากง่ายในการทำ” สมบูรณ์อธิบายสมการตั้งราคาที่บางครั้งขั้นตอนการทำไม่ยากแต่คุณค่าของไม้ที่ใช้เป็นไม้หายากก็จะทำให้มีราคาสูงขึ้น ในขณะที่บางงานใช้ไม้ขนาดเล็กแต่ขั้นตอนการทำซับซ้อน ก็จะพิจารณาจากหลายปัจจัยในการกำหนดราคาของแต่ละชิ้น

สาเหตุที่งานศิลปะหรืองานออกแบบที่สร้างสรรค์เหล่านี้มักมีราคาสูงเพราะต้องสะสมต้นทุนทางนามธรรมที่มองไม่เห็นอย่างต้นทุนในการลับคมทักษะความคิดสร้างสรรค์หรือสไตล์เฉพาะของแต่ละคนที่อาศัยการเก็บชั่วโมงบินที่ยาวนานกว่าจะมีสายตาของนักอออกแบบที่เฉียบคม 

ต้นทุนเหล่านี้ต้องสะสมผ่านกาลเวลาจนเกิดเป็นกึ๋นส่วนตัว เหมือนอย่างที่สมบูรณ์วัย 72 ปีสังเกตในสิ่งที่ไม่มีใครเห็นว่าลวดลายของไม้เก่าที่ผ่านการสะสมวงปีมายาวนานกว่า 100 ปีนั้นมีสไตล์    

“ส่วนใหญ่จะใช้ไม้เนื้อแข็งอายุร้อยปีขึ้นไป ไม้ประดู่ ไม้มะค่า ไม้เต็ง ไม้แดง พวกนี้ปลวกมันจะไม่ค่อยกิน ไม้พวกนี้ตอนแรกคนจะไม่เห็นคุณค่าเพราะเป็นสีดำๆ ไปหมด ต้องเอามาขัดมาล้างก่อนแล้วเราจะเห็นลายไม้ขึ้นมา ในการขัดเราจะค่อนข้างพิถีพิถัน ใช้แปรงทองเหลืองในการขัดที่มีความแข็งแรงถึงจะขัดได้ 

“อย่างเช่นมีไม้ชิ้นหนึ่งฝังดินอยู่ แค่ช่วงที่ฝังดินก็น่าจะไม่ต่ำกว่า 30-40 ปีแล้ว อยู่ในดินโดนทับไปทับมา มันทำให้เรารู้สึกอยากเอามาทำ เราก็ไปขุดขึ้นมา มันต้องแก่ระดับหนึ่งถึงจะเลื่อยได้” 

จากไม้เก่าที่คนทั่วไปมองว่าเป็นเศษขยะ พอนำมาขัดให้ลายไม้เด่นชัดและใส่จินตนาการเข้าไป ก็มีราคาตั้งแต่ 1,000 บาทสำหรับชิ้นเล็กไปจนถึง 20,000-30,000 บาท สำหรับชิ้นใหญ่อย่างโต๊ะ ช่วงราคาค่อนข้างกว้างเพราะมีสินค้าหลายประเภท 

งานอดิเรกของสมบูรณ์แสดงให้เห็นว่าคนเราจะตั้งราคาในของสิ่งใดไม่ได้ ถ้ามองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งนั้นเสียก่อน 

Place
ขายตามใจสั่งมา 

การทำตามใจชอบหรือ ‘ใจสั่งมา’ โดยไม่ได้ปักธงว่าต้องขายดีคือความหมายของ ‘งานอดิเรกที่ขายได้’ ซึ่งแตกต่างจากการตั้งใจทำธุรกิจเพื่อตั้งใจขายตั้งแต่แรก 

แต่เดิมแบรนด์ไม้กวาดบ้านบูรณ์ของครอบครัวสมบูรณ์มีวางขายที่ Woot Woot ร้านขายของวินเทจย่านเจริญกรุงอยู่แล้ว บูน่าเล่าว่าพอพ่อเริ่มสนุกกับงานไม้ ก็เพิ่มสินค้าที่ฝากวางขายที่ร้านทีละชิ้นสองชิ้น  

“ตอนแรกจะเอากรอบรูปมาขายอย่างเดียวเพราะมีกรอบรูปที่เคยทำไว้เหลืออยู่ แต่เหมือนพ่อสนุก พอได้ไม้มาก็ทำเป็นเก้าอี้แล้วก็เอาไปให้ร้านขายเลย ตั้งใจทำมาชิ้นเดียวเอาสนุก คิดว่าขายได้หรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ทางร้านก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร ปรากฏพอวางหน้าร้านแล้วขายได้เลย เป็นลูกค้าฝรั่งมาซื้อไป ตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งชื่อแบรนด์ด้วยซ้ำ”

แม้จะดูเป็นเรื่องบังเอิญที่พอทำมาก็ขายได้ทันทีแบบง่ายดาย แต่สาเหตุที่แจ้งเกิดได้ง่าย เพราะสไตล์งานไม้ของ Boon’s Hobby นั้นมีเอกลักษณ์เด่นชัด เป็นสไตล์รัสติกที่สอดคล้องกับความชอบของกลุ่มลูกค้าที่ร้านซึ่งรักงานวินเทจและงานคราฟต์อยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่จะเป็นสายอาร์ตติสท์หรือกลุ่มคนที่ชอบแต่งบ้าน มีหลากหลายกลุ่มทั้งศิลปิน ดารา ผู้กำกับ ช่างภาพ ฯลฯ ที่ถูกใจในความคิดสร้างสรรค์ 

และเพราะเป็นงานอดิเรก ลูกค้าและพาร์ตเนอร์ของ Boon’s Hobby จึงเป็นเพื่อนที่สนใจในสไตล์เดียวกันด้วย “ตั้งแต่ทำ Boon’s Hobby มา พ่อจะได้เพื่อนใหม่เยอะมาก คนที่มาสั่งทำงานไม้ พอคุยไลน์เรื่องสินค้ากัน สุดท้ายก็จะสนิทกัน กลายเป็นมีเพื่อนเยอะ” 

“อย่างเจ้าของร้าน Mana.Chujai Café ก็เป็นลูกค้าของพ่อมาก่อน พอเขามาเปิดร้านก็เลยได้เอางานไม้ของพ่อมาวางขาย” ปัจจุบันช่องทางการขายผลงานของสมบูรณ์มีทางออฟไลน์ 2 ช่องทางคือร้าน Woot Woot และ Mana.Chujai Café ที่เป็นเพื่อนกัน  นอกจากนั้นสำหรับการขายและการสั่งทำอื่นๆ สามารถติดต่อได้ในช่องทางออนไลน์ 

Promotion
ถ้าคาแร็กเตอร์ชัด ก็ไม่ต้องพยายาม

ในฐานะที่บูน่าทำงานสายโฆษณาและช่วยพ่อทำ Boon’s Hobby ยามว่าง บูน่าบอกว่าหน้าที่ของเธอคือช่วยเล่าเรื่องของพ่อให้คนทั่วไปได้รับรู้

“พอพ่อเริ่มทำแล้วเอาไปวางขาย เราก็ทำแบรนดิ้งเพราะรู้ว่าถ้าทำแล้วเอาไปวางเฉยๆ โดยไม่มีสตอรีอะไร คนก็ไม่ได้รู้ถึงคุณค่าของงาน เหมือนไปเจเจ ไปเชียงใหม่ มันก็จะมีงานไม้ดิบๆ แบบนี้เหมือนกัน เราก็เลยเล่าเรื่องราวของพ่อให้ขนานกันไปด้วย”   

บูน่ารู้สึกว่างานอดิเรกของพ่อนั้นไม่ต้องออกแบบการสื่อสารมากมายนัก เพราะพ่อมีของที่ทำให้เกิดสตอรีอยู่แล้ว

“บางทีเราทำงานโฆษณาเพื่อขายของ ก็ต้องนั่งคิดคอนเซปต์และเมสเซจ แต่สำหรับพ่อจะมีคอนเทนต์ในตัวเอง ทำอะไรก็มีคอนเทนต์ แค่การตั้งชื่อหรือการมองไม้เป็นรูปของเขาก็เป็นเรื่องเล่าได้แล้ว เราเลยรู้สึกว่าไม่ได้ต้องพยายามสื่ออะไร แค่เล่าตรงๆ ว่าวันนี้พ่อทำอะไร เบื้องหลังของงานชิ้นนี้พ่อคิดอะไร เพราะพอความคิดของเขามันแปลก ไม่เหมือนใคร มันก็เป็นคอนเทนต์อยู่แล้ว ” 

เรื่องเล่าสนุกๆ ของงานไม้แต่ละชิ้นในเพจ Boon’s Hobby มีตั้งแต่เรื่องราวของ Robot เก้าอี้นั่งทรงเหลี่ยม, เรื่องเล่าของ E.T. ชั้นวางต้นไม้รูปทรงประหลาดตาจากการเอาไม้เล็กๆ หลายชิ้นมาต่อกัน, หลายสิบเรื่องที่เล่าเส้นทางการเดินทางของไม้ที่แปรแปลี่ยนเป็นรูปสัตว์ในจินตนาการนานาชนิด ทั้งปลาวัวจากไม้ที่เกาะช้าง, โคอาล่า, เก้าอี้แพะพี่และแพะน้อง ฯลฯ 

สไตล์ของสินค้าที่มีคาแร็กเตอร์ชัด ไม่เหมือนใครและไม่อิงกระแสช่วยทำให้ไม่เหนื่อยในการโปรโมตแบรนด์ บูน่าบอกว่าแม้แต่ตัวเธอเองในตอนแรกก็ยังมองว่าสมัยนี้ผู้คนน่าจะนิยมเทรนด์งานไม้เรียบๆ มินิมอล จึงเคยอยากแนะนำให้พ่อทำสไตล์เรียบง่ายมากกว่า ซึ่งพอปล่อยให้พ่อได้ทำตามสิ่งที่ชอบมาเรื่อยๆ ทุกวันนี้ก็พบว่ามีกลุ่มคนที่ชอบเหมือนพ่อจริงๆ “โชคดีที่ตอนนั้นไม่ได้เบรกไว้ก่อน ถ้าทำเรียบๆ ก็คงไม่มีคาแร็กเตอร์แล้ว”

หากมีสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่สมบูรณ์อยากเล่าให้คนที่ติดตามแบรนด์รับรู้ก็คงเป็นคุณค่าของงานไม้  “อยากให้ลูกค้าไม่ว่าจะเป็นเด็กรุ่นใหม่หรือคนรุ่นไหนก็แล้วแต่ได้เห็นคุณค่าของไม้ กว่าไม้ชิ้นหนึ่งจะออกมาเป็นลักษณะแบบนี้ได้ต้องเติบโตมาเป็นร้อยปี ไม้พวกนี้ถูกทิ้งไว้เฉยๆ บางทีก็ถูกโยนเข้ากองไฟ เราก็อยากให้คนเห็นมูลค่าของมัน”

Pass
ผ่านมาเยอะและปล่อยให้ผ่านไป 

P สุดท้ายที่สมบูรณ์ในวัย 72 ปีใช้ในการทำ Boon’s Hobby คือ “Pass” การผ่านอะไรมาเยอะแล้วปล่อยให้มันผ่านไป   

คือการไม่ยึดติด ทำสิ่งที่ไม่เหมือนเดิมในแต่ละวันซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมงานของสมบูรณ์ถึงไม่ค่อยซ้ำกัน เพราะทำเสร็จแล้วเริ่มใหม่ตลอด สำหรับงานที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว ก็ลืมมันไป แล้วเริ่มไอเดียสดใหม่ในงานต่อไปเรื่อยๆ “บางทีเราทำงานผ่านอะไรมาเยอะ ล้มลุกบ้าง ถ้าเรามานั่งย้อนหลังอยู่เรื่อยตลอดเวลา เราก็จะเดินหน้าไม่ได้ อยู่กับที่ตลอด”  

ในสายตาของบูน่าผู้เป็นลูกสาวที่เห็นพ่ออินกับงานไม้มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เธอบอกว่า “สำหรับบางงานที่มีปัญหา พ่อก็จะลืม ลืมง่ายแล้วก็จะเริ่มต้นใหม่ได้เร็ว แม้แต่อะไรที่ดีแล้วก็ไม่จำ เพราะพ่ออยากทำสิ่งใหม่ไปเรื่อยๆ ด้วยความที่ทำมาเยอะ พ่อจะชอบทำอะไรที่มัน beyond เช่น ถ้าทำม้านั่งก็จะไม่ทำแบบที่คนอื่นทำมาเยอะแล้ว จะคิดว่าต้องทำอะไรที่มันไม่ซ้ำเดิมหรือทำแบบใหม่บ้าง ซึ่งมันเป็นความคิดที่วัยรุ่นมาก”

เมื่อถามคุณพ่อสมบูรณ์ว่ามีคำแนะนำอะไรให้คนหนุ่มสาวที่อยากเดินหน้าออกแบบงานดีไซน์หรือ
ริเริ่มงานอดิเรกเป็นของตัวเองไหม สมบูรณ์แนะนำว่า 

“ให้คิดเอง”

ขอขอบคุณสถานที่ Mana.Chujai Café

ข้อมูลติดต่อ :
วางจำหน่ายที่หน้าร้าน 2 แห่ง : Woot Woot Store, เจริญกรุง 30 และ Mana.Chujai Café ลาดพร้าววังหินซอย 3
Facebook : Boon’s Hobby
Instagram : Boonshobby
Email : [email protected]
Phone : 0879344114

Writer

Craft Curator, Editor-in-Cheese, Chief Dream Weaver, Wicker Expressionist, Design Researcher, Entrepreneur Crybaby 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like