นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

รวมกันเราอยู่

Indonesia: ประโยชน์ของการควบรวมกิจการ

ข่าวใหญ่ในรอบหลายปีที่ผ่านมาในแวดวงธุรกิจไทย หนีไม่พ้นข่าวการควบรวมกิจการระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่หลายดีล ไม่ว่าจะเป็นซีพีซื้อและควบรวมเทสโก้, การประกาศควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค หรือล่าสุดข่าวเอไอเอส เข้าซื้อกิจการ 3BB เพื่อขึ้นแท่นเป็นผู้นำอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

แน่นอน ขึ้นชื่อว่านักธุรกิจ โดยเฉพาะผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ การตัดสินใจลงทุนเป็นหมื่นๆ ล้านเพื่อควบรวมกิจการกับคู่แข่ง ย่อมผ่านการตรึกตรองอย่างถี่ถ้วนมาแล้วว่าน่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท (ส่วนคำถามที่ว่า ประโยชน์นั้นจะเกิดจริงหรือไม่ ‘คุ้มค่า’ เงินลงทุนที่เสียไปหรือเปล่า บ่อยครั้งต้องรอให้เวลาผ่านไประยะหนึ่งจึงจะประเมินได้)

แล้ว ‘ประโยชน์’ ที่บริษัทคาดว่าจะได้รับจากการควบรวมกิจการกับคู่แข่งมีอะไรบ้าง? เราอาจแบ่งประโยชน์ทั้งหมดออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน

1. พลังร่วม (synergies)–ประโยชน์จากประสิทธิภาพที่สูงขึ้นและต้นทุนที่ลดลงหลังการควบรวม ในขนาดที่มากกว่าประสิทธิภาพและต้นทุนของแต่ละบริษัทก่อนการควบรวม หรือพูดง่ายๆ ว่า ควบรวมแล้ว 1 บวก 1 ได้ผลลัพธ์มากกว่า 2 เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (economies of scale) และจุดแข็งของแต่ละบริษัท (เช่น ไม่ต้องใช้บุคลากรฝ่ายสนับสนุนเท่าเดิม เพราะซอฟต์แวร์สามารถรองรับขนาดการทำธุรกิจของบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวม 2 บริษัทได้อยู่แล้ว หรือสามารถลดแผนการลงทุนขยายกิจการได้ เพราะได้ลูกค้าของทั้ง 2 บริษัทมาแล้ว ฯลฯ) 

2. การเติบโต–จากโอกาสที่บริษัทผู้เสนอซื้อกิจการไปควบรวม จะได้ส่วนแบ่งตลาดสูงๆ (พูดง่ายๆ คือลูกค้า) อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องออกแรงมาก เพียงแต่ต้องจ่ายเงินซื้อธุรกิจของคู่แข่งในราคาที่ผู้ถือหุ้นคู่แข่งพอใจ ประโยชน์จากการเติบโตแบบนี้มักเป็นเป้าหมายของการควบรวมกิจการแบบแนวนอน (horizontal merger) ซึ่งหมายถึงการควบรวมกิจการที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน เป็นคู่แข่งกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนในประเทศไทยคือ ซีพีกับเทสโก้ (คู่แข่งในธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ต) ทรูกับดีแทค (คู่แข่งในธุรกิจคลื่นความถี่มือถือ) และล่าสุด เอไอเอสกับ 3BB (คู่แข่งในธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์) 

3. เพิ่มอิทธิพล/ลดต้นทุนในห่วงโซ่อุปทาน–ประโยชน์ข้อนี้มักเป็นเป้าหมายหลักของการควบรวมกิจการแบบแนวตั้ง (vertical merger) ซึ่งหมายถึงกรณีที่บริษัทเข้าซื้อกิจการของคู่ค้า หรือบริษัทอื่นที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน ไม่ใช่ซื้อคู่แข่ง ยกตัวอย่างเช่น บริษัทเบียร์เข้าซื้อกิจการของบริษัทผลิตขวด (เพื่อลดต้นทุนการซื้อขวดมาใส่เบียร์ตัวเอง) หรือบริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าซื้อกิจการของบริษัทกระจายสินค้า เพื่อลดต้นทุนการส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค เป็นต้น

4. กำจัดคู่แข่ง–ข้อนี้มักมาพร้อมกันกับประโยชน์ข้อ 2. (การเติบโต) โดยเฉพาะในการควบรวมกิจการแบบแนวนอนที่บริษัทควบรวมกิจการกับคู่แข่ง ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือได้ทั้งลูกค้าเพิ่ม และลดคู่แข่งไป 1 ราย แน่นอนว่าปกติการควบรวมลักษณะนี้จะต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก บริษัทที่ริเริ่มความคิดต้องเสนอราคา ‘พรีเมียม’ สูงกว่าราคาตลาด เพื่อจูงใจให้ผู้ถือหุ้นบริษัทเป้าหมายยอมขาย (หรือแลกหุ้นเป็นหุ้นบริษัทใหม่ภายหลังการควบรวม) 

การเข้าซื้อและควบรวมกิจการสามารถสร้างประโยชน์ทางธุรกิจได้หลายทางดังที่กล่าวข้างต้น มันจึงเป็นเรื่องปกติในโลกธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจสาขาที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลในการเติบโต แต่เมื่อมองระดับอุตสาหกรรมหรือสังคม การที่คู่แข่งหายไป 1 ราย ในธุรกิจที่มีการกระจุกตัวสูงมากอยู่แล้ว รายใหม่เข้ามาแข่งได้ยากอยู่แล้ว ก็สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์ในระยะยาว เพราะถ้าการแข่งขันลดลงมาก ผู้ประกอบการก็มีแรงจูงใจน้อยลงที่จะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และ ‘ราคา’ ที่ผู้บริโภคจ่ายก็อาจสูงกว่าราคาที่จะเกิดในภาวะที่เคยมีการแข่งขันมากกว่านี้

ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการแข่งขัน บ่อยครั้งจึงต้องออกมาตรการที่จะช่วยรักษาระดับการแข่งขัน เป็นเงื่อนไขในการอนุมัติดีลควบรวมกิจการที่ส่งผลกระทบสูง และในกรณีที่ไม่เห็นว่ามาตรการไหนจะช่วยลดผลกระทบต่อระดับการแข่งขันได้อย่างมีนัยสำคัญ ก็จะตัดสินใจ ‘ไม่อนุมัติ’ ดังที่เราได้เห็นตัวอย่างมาแล้วมากมายในหลายประเทศ แต่น่าเสียดายที่ไม่ค่อยเห็นในประเทศไทย

บริษัทมีหน้าที่หาทางกำจัดคู่แข่งเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของตัวเองฉันใด หน่วยงานกำกับดูแลก็มีหน้าที่กำกับดูแลให้การแข่งขันเกิดขึ้นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและสังคมส่วนรวมฉันนั้น

หน้าที่ใคร หน้าที่มัน

ในโลกกว้างใหญ่ของบอร์ดเกม เกมที่สื่อสารประโยชน์และข้อพิจารณาของการควบรวมกิจการได้อย่างแม่นยำและน่าคิดที่สุด คือ Indonesia (2005) เกมเก่า แต่เก๋า ผลงานชิ้นเอกยุคบุกเบิกของ เจโรน ดูเมน (Jeroen Doumen) และยอริส เวียร์ซิงกา (Joris Wiersinga) สองคู่หูนักออกแบบชาวดัตช์ที่ฝากเกมเศรษฐศาสตร์ไว้ในโลกของเกมกระดานมากมาย รวมถึง Food Chain Magnate (2015) เกมห้ำหั่นในวงการฟาสต์ฟู้ดที่ผู้เขียนเคยเขียนถึงไปแล้วก่อนหน้านี้

เกมนี้ให้ผู้เล่น 2-5 คนเล่นเป็นผู้ประกอบการในอินโดนีเซียยุคบุกเบิกอุตสาหกรรม พยายามทำเงินให้ได้มากที่สุดด้วยการก่อร่างสร้างธุรกิจ ซึ่งมีตั้งแต่ ข้าว เครื่องเทศ ยางพารา น้ำมัน Siap-Faji (ข้าวกล่องพร้อมทานแบบอินโด) หรือจะทำธุรกิจขนส่งทางเรืออย่างเดียวก็ได้ เราจะส่งของทางเรือไปขายตามเมืองบนเกาะต่างๆ ขยายกิจการ และแน่นอน ควบรวมกิจการกับบริษัทของคู่แข่งเมื่อสบโอกาส เกมนี้ใช้เวลาเล่นประมาณ 3-4 ชั่วโมง แบ่งออกเป็น 3 ยุค แต่ละยุคเมืองใหม่ๆ จะผุดขึ้นบนแผนที่และเราจะสร้างธุรกิจใหม่ได้ ทุกคนเริ่มเกมด้วยเงิน 100 รูปี และไพ่สร้างเมือง (ธุรกิจ) สามใบ ใช้ 1 ใบต่อยุค ไพ่แต่ละใบมีเมือง 3 เมืองให้เลือกว่าจะสร้างธุรกิจที่เมืองไหน

Indonesia เป็นเกมจำลองการแข่งขันในโลกทุนนิยมที่ดุเดือดไม่แพ้ Food Chain Magnate จากนักออกแบบทีมเดียวกัน ในเกมนี้แม้แต่ ‘ลำดับการเล่น’ ก็ต้องประมูลแข่งกัน เพราะลำดับการเล่นมีผลมาก–คนที่ได้เล่นคนแรกจะมีสิทธิ์ริเริ่มการควบรวมกิจการก่อนคนอื่น 

ที่แสบมากคือทุกคนในเกมมีส่วนร่วมประมูลได้หมด ไม่ต้องเป็นเจ้าของบริษัทใดบริษัทหนึ่งที่ตกเป็นเป้าการควบรวมก็ได้ ขอแค่มีเงินถุงเงินถังมากพอ จำนวนบริษัทที่เป็นเจ้าของยังไม่ถึงเพดานที่กำหนด และใช้เวลา ‘ค้นคว้าวิจัย’ (R&D) การควบรวมกิจการ (ทำในเฟส R&D ของเกม) มาแล้วก่อนหน้านี้

การเสนอควบรวมกิจการแบบจู่โจม (กรณีที่คนเสนอไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัท) เรียกว่า hostile takeover หรือการเสนอซื้อแบบเป็นปฏิปักษ์ในโลกจริง ในเกม Indonesia วิธีเดียวที่เจ้าของบริษัทเป้าหมายจะป้องกันได้ก็คือ มีเงินมากพอที่จะทุ่มประมูลมากกว่าผู้เล่นที่ริเริ่มดีลและผู้เล่นคนอื่นๆ จนเป็นผู้ชนะการประมูล (ถ้าเทียบกับโลกจริง กติกานี้เปรียบเสมือนการเสนอ ‘ราคา’ ที่สูงพอจะจูงใจให้ผู้ถือหุ้นเดิมตัดสินใจขายบริษัท ถึงแม้คณะผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทจะไม่เห็นด้วย)

ผลลัพธ์ของการควบรวมกิจการใน Indonesia ก็คือ เกิดบริษัทใหม่ที่มีมูลค่ากิจการมากกว่าเดิม และเจ้าของ 2 บริษัทเดิมก็จะได้เงินค่าซื้อกิจการจากเจ้าของใหม่ (หรือเจ้าของบริษัทผู้ซื้อจ่ายให้กับเจ้าของบริษัทเป้าหมาย ถ้าเจ้าของบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล) ในสัดส่วนที่สะท้อนมูลค่ากิจการ

ยกตัวอย่างเช่น สมมติผู้เล่นคนหนึ่งชนะประมูลการควบรวมกิจการข้าว 2 บริษัทในราคา 224 รูปี บริษัทข้าวเป้าหมายแห่งหนึ่งมีนาข้าวใน 4 จังหวัด อีกบริษัทมีนาข้าวใน 3 จังหวัด แปลว่าผู้ชนะประมูลจะต้องจ่ายเจ้าของบริษัทแรก 224 x (4/7) = 128 รูปี และจ่ายเจ้าของบริษัทที่สอง 224 x (3/7) = 96 รูปี เพื่อเป็นเจ้าของบริษัทใหม่ที่มีนาข้าวทั้งหมด 7 จังหวัด

การควบรวมกิจการใน Indonesia ไม่ได้เป็นเพียงกลยุทธ์ที่สำคัญเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีเดียวที่จะสร้างธุรกิจฟาสต์ฟู้ด หรือ Siap-Faji (ข้าวกล่องพร้อมทาน) ในเกม ซึ่งเกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างบริษัทข้าว กับบริษัทเครื่องเทศเข้าด้วยกัน นี่เป็นกรณีเดียวเท่านั้นที่เราจะควบรวมกิจการต่างธุรกิจในเกมได้ ปกติการควบรวมในเกมจะเป็นแบบแนวนอน นั่นคือควบรวมระหว่างบริษัทที่ทำธุรกิจเดียวกันเท่านั้น 

การควบรวมกิจการใน Indonesia ไม่จำเป็นต้องทำครั้งเดียวจบก็ได้ ถ้าเราเจียดเวลามาทำวิจัยหรือ R&D ในเกมมากพอ เราก็สามารถเอาบริษัทที่ผ่านการควบรวมมาแล้ว 1 ครั้ง ไปควบรวมกิจการกับบริษัทใหม่ที่ยังไม่ผ่านการควบรวม ก่อเกิดเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ซึ่งเป็นผลรวมของบริษัท 3 แห่ง ซึ่งในโลกจริงหลายบริษัทก็เติบโตผ่านการทำดีลซื้อและควบรวมกิจการกับบริษัทอื่นรัวๆ มากกว่าจะเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ

แน่นอน การควบรวมกิจการใน Indonesia มีประโยชน์ชัดเจนในแง่ของการขยายธุรกิจและแสวงกำไรมากขึ้น แต่การควบรวมอาจไม่ ‘คุ้มค่า’ ก็ได้ เช่น เราอาจใจแตกทุ่มเงินซื้อบริษัทมาแพงเกินไป หรือควบรวมแล้วดันอยู่ในชัยภูมิที่ไม่เหมาะสม ต้องจ่ายค่าขนส่ง (ให้กับผู้เล่นคนอื่นที่ทำธุรกิจขนส่ง) บานตะไทเพื่อส่งสินค้าไปขายบนเกาะห่างไกล (อินโดนีเซียประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่มากมาย เส้นทางส่งสินค้าในเกมนี้อาจยาวมา) จนสุดท้ายได้กำไรนิดเดียวหรืออาจขาดทุน เป็นต้น

สุดท้ายเมื่อจบเกม ผู้ชนะใน Indonesia จึงอาจไม่ใช่คนที่ควบรวมกิจการมาเยอะที่สุด แต่อาจเป็นเจ้าของบริษัทที่ชาญฉลาด ปลุกปั้นกิจการของตัวเองและสามารถขายได้ในราคา ‘พรีเมียม’ ได้เงินสดเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่เจ้าพ่อเจ้าแม่แห่งการควบรวมใช้เงินเพลินจนกำไรจากบริษัทที่ซื้อมาไม่คุ้มค่าการลงทุน

ในเมื่อเกมนี้ไม่มีจำนวนตาชัดเจน แต่เกมจะจบเมื่อมีจำนวนบริษัทบนกระดานตามกำหนด เป็นไปได้ว่าผู้เล่นบางคนจะอยากให้คนมาซื้อบริษัทตัวเองในยุคสุดท้าย จากนั้นเอาเงินไปสร้างกิจการใหม่เพื่อบังคับให้เกมจบก่อนที่นักควบรวมจะได้กำไร นี่ก็เป็นกลยุทธ์ที่ทำได้เช่นกัน (แต่แน่นอนว่าเพื่อนจะไม่ชอบหน้าเท่าไร!)

‘จังหวะ’ ของการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ใน Indonesia สำคัญไม่แพ้ในเกมเศรษฐศาสตร์ชั้นครูเกมอื่น เรารู้ว่าสินค้าที่มีอัตรากำไรสูงๆ อย่างยางพาราและน้ำมัน จะผลิตได้ในยุคที่ 2 หรือ 3 ไม่สามารถผลิตได้ในยุคแรก ดังนั้นการยอมยกธงขาว แพ้การประมูลควบรวมกิจการ เพื่อเก็บเงินสดไว้สร้างบริษัทยางพาราหรือน้ำมัน ก็เป็นการตัดสินใจที่เข้าท่าเมื่อทำในจังหวะที่เหมาะสม (เห็นอยู่แล้วว่าเกมกำลังจะเปลี่ยนยุค) 

Indonesia เป็นเกมที่ ‘โหด’ เอาการ ในแง่ที่ว่าการตัดสินใจพลาดในช่วงต้นเกม อาจส่งผลลัพธ์ยาวนานจนทำให้เราไล่คนอื่นไม่ทันจนจบเกมเลยก็ได้ แต่ความสนุก ความลุ้นตัวโก่ง และความมันที่ได้จากการเล่น รวมถึงความรู้แบบแนบเนียนเกี่ยวกับการควบรวมกิจการที่เกมนี้ ‘สื่อ’ ให้เราซึมซับโดยไม่ได้ ‘สอน’ ออกมาตรงๆ ก็คุ้มค่ากับความโหดหินของเกมทุกประการ

Writer

นักเขียน นักแปล นักวิจัย และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน ที่สนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ธุรกิจที่ยั่งยืน การเงินเพื่อสังคม และสิทธิเสรีภาพออนไลน์ สฤณีเรียกตัวเองอย่างภาคภูมิใจว่า “เกมเมอร์” โดยเล่นเกมมาแล้วหลายพันเกมตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งเกมตู้ เกมคอมพิวเตอร์ และบอร์ดเกม ช่วงทศวรรษ 1998-2008 สฤณีมีชื่อเสียงระดับโลกในวงการเกมเมอร์ในฐานะผู้ก่อตั้งและรันเว็บไซต์ Home of the Underdogs กรุเกมเก่าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น ซึ่ง ณ จุดสูงสุดมีเกมให้ดาวน์โหลดมากกว่า 4,000 เกม ส่องประสบการณ์การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ของเธอได้จากเพจ Fringer on Computer Games และบอร์ดเกมได้จากเพจ Fringer on Board Games

Illustrator

Just another graphic designer

You Might Also Like