ความย้อนแย้งของสินบน

จับตาดูแรงจูงใจของการติดสินบนในธุรกิจ ผ่านกลไกในเกม Santiago

ทำไมนักธุรกิจจำนวนมากจึงติดสินบน?

คนเคร่งศาสนาบางคนอาจตอบว่า ก็เพราะนักธุรกิจสมัยนี้ขาดคุณธรรมจริยธรรม แต่นักเศรษฐศาสตร์จะตอบว่า นักธุรกิจติดสินบนก็เพราะตัวเองได้ประโยชน์จากการติดสินบนมากกว่าถ้าไม่ทำ

ยกตัวอย่างเช่น ในธุรกิจที่เจ้าหน้าที่รัฐรีดไถ ‘เงินใต้โต๊ะ’ เป็นกิจวัตรมาช้านานจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในวงการ นักธุรกิจต้องจ่ายสินบนเพราะไม่มีทางเลือกอื่นถ้าอยากทำธุรกิจ ในบางธุรกิจเจ้าหน้าที่อาจไม่รีดไถสินบนตรงๆ แต่ความไร้ประสิทธิภาพและช้าเป็นเต่าคลานของระบบราชการส่งผลให้นักธุรกิจหลายคนตัดสินใจจ่ายอยู่ดี เพื่อเร่งรัดกระบวนการให้ทำงานเร็วอย่างที่ควรเป็น

ธุรกิจหลายวงการมีลักษณะทั้งสองอย่างประกอบกันจนเราแยกไม่ออกอีกต่อไปว่า ตกลงนักธุรกิจจ่ายสินบนเพราะถูกเจ้าหน้าที่รัฐบังคับหรือสถานการณ์บังคับ รู้แต่เพียงว่าสินบนกลายเป็น ‘ค่าใช้จ่าย’ ในการทำธุรกิจ

คำถามอีกสองข้อที่นักเศรษฐศาสตร์สนใจคือ การติดสินบนของนักธุรกิจ ‘คุ้มค่า’ หรือไม่เพียงใดในระยะยาว และผลลัพธ์และผลพวงวงกว้างในระยะยาวของการติดสินบนมาช้านานคืออะไร 

นักเศรษฐศาสตร์และนักวิจัยด้านบริหารธุรกิจจำนวนไม่น้อยทำวิจัยเพื่อพยายามตอบคำถามนี้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น งานของ Kimberly Eddleston, Elitsa Banalieva และ Alain Verbeke ปี 2019 เรื่อง The Bribery Paradox in Transition Economies and the Enactment of ‘New Normal’ Business Environments (ความย้อนแย้งของสินบนในเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านและการมาถึงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ‘นิวนอร์มอล’) เสนอว่า ถึงแม้ในระยะสั้นนักธุรกิจที่จ่ายสินบนอาจมี ‘ความได้เปรียบในการแข่งขัน’ (เหนือคู่แข่งที่ไม่จ่ายหรือจ่ายน้อยกว่า) ในระยะยาวผู้ประกอบการที่จ่ายสินบนอาจกลายเป็นว่าสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจชนิดใหม่ เป็น ‘นิวนอร์มอล’ ที่มีคอร์รัปชั่นและอุปสรรคกีดขวางการทำธุรกิจสูงมาก โดยเฉพาะในประเทศเปลี่ยนผ่าน (transition countries อีกชื่อเรียกของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นสมาชิกสหภาพโซเวียต และประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกที่เคยตกอยู่ใต้อิทธิพลโซเวียต–คำว่า ‘เปลี่ยนผ่าน’ ในที่นี้หมายถึงเปลี่ยนผ่านจากระบอบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์มาเป็นระบอบตลาดเสรี ซึ่งรัฐในหลายประเทศยังมีอำนาจสูงมาก) 

ทีมวิจัยเรียกสถานการณ์ที่นักธุรกิจผู้ติดสินบนได้ประโยชน์ระยะสั้น แต่กลับต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอุปสรรคมากกว่าเดิมในระยะยาวว่า ‘ความย้อนแย้งของสินบน’ (bribery paradox) และพบข้อมูลหลักฐานสนับสนุนสมมุติฐานนี้ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นบริษัทขนาดเล็กและกลาง (SME) 310 บริษัทจากประเทศเปลี่ยนผ่าน 22 ประเทศ

งานวิจัยอีกชิ้นเมื่อไม่นานมานี้โดย Bernard Gauthiera, Jonathan Goyette และ Wilfried A.K. Kouaméc ชื่อ ‘Why do firms pay bribes?’ (ทำไมบริษัทจึงติดสินบน) ปี 2021 รายงานผลการศึกษาการจ่ายสินบนโดยบริษัท 18,005 แห่งในประเทศกำลังพัฒนา 75 ประเทศทั่วโลก ทีมวิจัยพบว่าวัฒนธรรมเรียกสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐอาจส่งผลให้บริษัทที่จ่ายสินบน ‘ชดเชย’ ค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มในส่วนนี้ด้วยการหลบเลี่ยงภาษี และผลลัพธ์นี้ก็อาจสร้าง ‘กับดักด้อยพัฒนา’–การหลบเลี่ยงภาษีและคอร์รัปชั่นพัวพันกันเนื่องจากกลไกกำกับดูแลของหน่วยงานที่เก็บภาษีหย่อนยานและไร้ประสิทธิผล และการที่รัฐไม่ได้รับเงินภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

การสื่อสารผลลัพธ์และผลพวงระยะยาวของการจ่ายสินบนอาจเป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับบอร์ดเกมที่ใช้เวลาเล่นไม่กี่ชั่วโมง แต่เกมจำนวนมากสื่อเรื่อง ‘แรงจูงใจ’ ของการติดสินบนผ่านกลไกเกม โดยไม่ต้องสอนตรงๆ ได้อย่างแจ่มชัดและสนุกสนาน เกมแนวนี้ที่ผู้เขียนชอบมากคือ Santiago โดย Claudia Hely และ Roman Pelek สองคู่หูนักออกแบบจากเยอรมนี 

Santiago เล่นง่ายและเล่นจบได้ภายใน 60-75 นาที เกมนี้ผู้เล่น 3-5 คนสลับกันประมูลแปลงพืชเศรษฐกิจมาปลูกบนกระดานกลาง จ่ายสินบนเพื่อจูงใจให้สร้างคลองชลประทานผ่านที่นาของตัวเอง นับคะแนนครั้งเดียวเมื่อจบเกม เกมจะจบเมื่อไม่มีแปลงเกษตรกรรมให้ประมูลอีกต่อไป (เล่น 9-11 ตา ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เล่น) คะแนนนับจากมูลค่าของแปลงพืชเศรษฐกิจชนิดเดียวกันที่อยู่ติดกัน ยิ่งทำไร่นาผืนใหญ่ยิ่งได้คะแนนมาก เช่น แปลงอ้อยขนาด 6 แปลง ให้ผลผลิต (yield) รวมกันเท่ากับ 4 จะมีมูลค่า 6×4 = 24 คะแนน จากนั้นเอาตัวเลขนี้มาบวกกับเงินสดที่เหลือในมือเป็นคะแนนรวม

ในเมื่อแปลงเกษตรกรรมมีมูลค่าสูงกว่าเงินสดมาก เกษตรกรในเกมนี้ทุกคนจึงต้องพยายามขยายแปลงของตัวเองและดูแลไม่ให้แปลงนั้นขาดน้ำ เพราะแปลงไหนที่ขาดน้ำผลผลิตจะลดลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นทะเลทราย ปลูกอะไรไม่ได้อีกต่อไป

‘น้ำ’ ในเกมนี้จึงเป็นทรัพยากรที่มีค่าไม่แพ้ ‘เงิน’ 

แต่ละตาในเกมมี 7 ช่วง เริ่มจากการเปิดประมูลแปลงพืชเศรษฐกิจ ซึ่งในเกมนี้มีพืชท้องถิ่น 5 ชนิดที่ปลูกจริงบนเกาะซานติเอโกในชื่อเกมในสมัยก่อนตกเป็นอาณานิคมโปรตุเกส (ปัจจุบันเกาะนี้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐกาบูเวร์ดี ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา) ได้แก่ อ้อย กล้วย มันฝรั่ง ถั่ว และพริกแดง ทุกคนในเกมจะได้แปลงพืชไปคนละผืน -ใครเสนอเงินมากที่สุดได้เลือกคนแรก ลดหลั่นกันลงมา ใครบอกผ่านก่อนหรือเสนอเงินประมูลน้อยสุดจะไม่ได้เลือกแปลงพืช (ต้องหยิบแปลงสุดท้ายที่เหลืออยู่ หลังจากที่ทุกคนเลือกกันหมดแล้ว) แต่จะได้เป็น ‘ผู้คุมคลองชลประทาน’ (canal overseer) ประจำตานั้นๆ 

หลังจากที่ทุกคนได้แปลงพืชเศรษฐกิจแล้วก็จะผลัดกันวางแปลงของตัวเองลงในหมู่บ้าน (กระดานกลาง) โดยวางเม็ดความเป็นเจ้าของสีของตัวเองลงบนแปลงตามจำนวนผลผลิต ใครจ่ายเงินประมูลสูงสุดได้วางก่อน ในตาแรกทุกคนจะอยากวางแปลงให้ติดกับบ่อน้ำบาดาล (สุ่มวางก่อนเริ่มเกม) เพราะบ่อน้ำการันตีว่าไร่นาจะไม่ขาดน้ำ และคลองชลประทานต้องเริ่มสร้างจากบ่อน้ำ 

จากนั้นก็ถึงช่วงของ ‘การติดสินบน’ ในเกมนี้ ซึ่งก็คือการเสนอเงินให้ ‘ผู้คุมคลองชลประทาน’ ประจำตา เพื่อจูงใจให้สร้างคลองชลประทานผ่านแปลงของเรา ซึ่งแน่นอนว่าถ้าหากผู้คุมคลองเป็นเจ้าของแปลงที่อยู่ติดกับแปลงของเรา เราก็อาจไม่อยากจ่ายสินบนเลยหรือจ่ายไม่มาก เพราะคิดว่ามีผลประโยชน์ร่วมกันกับเขาอยู่แล้ว ในขณะที่ผู้เล่นคนอื่นๆ ที่แปลงของตัวเองอยู่ห่างออกไปอาจต้องทุ่มเสนอสินบนมากหน่อย 

ความสนุกของกติกาช่วงนี้ใน Santiago ก็คือ ผู้คุมคลองชลประทานประจำตาไม่จำเป็นต้องรับสินบน จะตัดสินใจสร้างคลองตามแนวที่ตัวเองอยากได้ ไม่สนข้อเสนอของใครเลยก็ได้ แต่ถ้าทำแบบนั้นต้องยอมจ่ายธนาคารมากกว่าข้อเสนอสินบนสูงสุด 1 บาท ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนเสนอสินบนสูงสุดเสนอ 5 บาท ผู้คุมคลองที่อยากสร้างไปแนวอื่นต้องจ่ายธนาคาร 6 บาท แต่เมื่อตัดสินใจรับสินบนของใครมาแล้ว ผู้คุมคลองก็ต้องสร้างคลองตามแนวที่ผู้ให้สินบนต้องการ 

เกมนี้อนุญาตให้ผู้เล่นหลายคน ‘ลงขัน’ ร่วมกันกดดันผู้คุมคลองได้ ถ้ามีผู้เล่นมากกว่า 1 คนที่อยากสร้างคลองเส้นเดียวกัน เช่น ผู้เล่นคนแรกเสนอ 3 บาทให้สร้างคลองผ่านแปลงตัวเอง อีกคนอาจประกาศว่า เขาเสนอเพิ่มเงินอีก 2 บาทให้สร้างคลองที่คนแรกอยากได้ รวมเท่ากับเสนอสินบนสำหรับเส้นนั้น 5 บาท 

โดยทั่วไปผู้คุมคลองจะไม่อยากควักตังหรือ ‘เข้าเนื้อ’ ตัวเอง เพราะการรับสินบนจากผู้เล่นคนอื่นๆ เป็นวิธีหาเงินสดวิธีหลักในเกม (ตอนจบตาทุกคนจะได้เงินสดเพิ่ม แต่ได้แค่คนละ 3 บาทเท่านั้น) ด้วยเหตุนี้การมองหาหรือสร้าง ‘ผลประโยชน์ร่วม’ เช่น สร้างแปลงพืชในแนวเดียวกันกับแปลงของผู้คุมคลอง จึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในเกมนี้ ส่งผลต่อแรงจูงใจและ ‘ขนาด’ ของสินบนที่คนอยากเสนอ

หลังจากที่ผู้คุมคลองสร้างคลองในแนวที่ตัวเองต้องการ (จะรับหรือไม่รับสินบนก็ตามแต่) ผู้เล่นแต่ละคนมีโอกาสตัดสินใจว่าจะสร้างคลองของตัวเองหรือไม่ ขั้นตอนนี้ไม่ต้องใช้เงิน แต่ผู้เล่นมี ‘คลองส่วนตัว’ แค่คนละคลองเท่านั้นตลอดทั้งเกม 

ดังนั้นหลายคนก็จะอยากเก็บ ‘คลองส่วนตัว’ ไว้ใช้ในยามคับขัน และก็ต้องตระหนักว่าเมื่อใดที่ใช้คลองส่วนตัวไปแล้ว หลังจากนั้นอำนาจการต่อรองช่วงชิงคลองก็จะลดน้อยถอยลงมาก (กดดันให้อาจต้องทุ่มเงินสินบนมากกว่าเดิม)

ก่อนจบตา แปลงพืชทุกแปลงที่ไม่ได้อยู่ติดกับคลองชลประทานหรือบ่อน้ำจะค่อยๆ แห้ง และผลผลิตเริ่มลดลง (สะท้อนด้วยการดึงเม็ดความเป็นเจ้าของออก 1 เม็ด) เมื่อใดไม่มีเม็ดผลผลิตให้ดึงออกแล้วก็จะต้องพลิกไร่นาผืนนั้นให้กลายเป็นทะเลทราย

Santiago เป็นเกมเศรษฐศาสตร์ที่สื่อเรื่องแรงจูงใจของสินบนและผลประโยชน์ร่วมได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ละตาเต็มไปด้วยการตัดสินใจยากๆ เช่น เราจะอยากทุ่มเงินประมูลในช่วงแรกเพื่อเอาแปลงพืชมาขยายแปลงเดิมของตัวเองเพื่อเพิ่มมูลค่า หรือว่าจะยอมสละสิทธิ์นั้นเพื่อหาตังค์เข้ากระเป๋าหรือเพื่อให้อุ่นใจว่าตานี้แปลงจะมีน้ำผ่านแน่ๆ ในฐานะผู้คุมคลองชลประทาน 

การตัดสินใจใน Santiago ละม้ายคล้ายโลกธุรกิจจริงตรงที่การตัดสินใจที่ ‘ดี’ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราอยากทำเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการประเมินว่าคู่แข่งคนอื่นๆ อยากทำอะไร และเขามีผลประโยชน์ร่วมกับเราหรือไม่ การสร้างผลประโยชน์ร่วมกันจะคุ้มค่ากว่าการทุ่มเงินติดสินบนผู้คุมคลองหรือไม่ ฯลฯ 

กติกาของเกมนี้เขียนชัดเจนว่า ทุกช่วงเวลาผู้เล่นจะต่อรอง ขอร้อง เสนอข้อแลกเปลี่ยน หรือสัญญาอะไรกันอย่างไรก็ได้ แต่ไม่มีใครจำเป็นต้องทำสัญญา ลั่นวาจาแล้วหักหลังก็ไม่ถือว่าผิดกติกาแต่อย่างใด

กติกาและกลไกทั้งหมดนี้ทำให้ Santiago เป็นเกมสุดมันในโลกอันโหดร้ายที่ต้องลุ้นกันทุกตาจนกว่าจะจบเกม แถมยังสื่อแบบไม่สอนเรื่องบทบาทของ ‘สินบน’ ว่าทำไมมันจึงแพร่หลายนักในสังคมของเรา 

และเงื่อนไขแบบไหนกันในสังคมที่เอื้อให้การทุจริตคอร์รัปชั่นเบ่งบานเฟื่องฟูอยู่ยั้งยืนยง

Writer

นักเขียน นักแปล นักวิจัย และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน ที่สนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ธุรกิจที่ยั่งยืน การเงินเพื่อสังคม และสิทธิเสรีภาพออนไลน์ สฤณีเรียกตัวเองอย่างภาคภูมิใจว่า “เกมเมอร์” โดยเล่นเกมมาแล้วหลายพันเกมตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งเกมตู้ เกมคอมพิวเตอร์ และบอร์ดเกม ช่วงทศวรรษ 1998-2008 สฤณีมีชื่อเสียงระดับโลกในวงการเกมเมอร์ในฐานะผู้ก่อตั้งและรันเว็บไซต์ Home of the Underdogs กรุเกมเก่าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น ซึ่ง ณ จุดสูงสุดมีเกมให้ดาวน์โหลดมากกว่า 4,000 เกม ส่องประสบการณ์การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ของเธอได้จากเพจ Fringer on Computer Games และบอร์ดเกมได้จากเพจ Fringer on Board Games

Illustrator

Just another graphic designer

You Might Also Like