การลงทุนมีความเสี่ยง
Chicago Express : นักบริหาร vs นักลงทุน
เส้นทางสู่ความมั่งคั่งในโลกธุรกิจสมัยใหม่มีมากมายหลายเส้นทาง แต่ถ้าจะนับอย่างหยาบๆ เราอาจแบ่งเส้นทางทั้งหมดออกเป็นถนนสองสายใหญ่ๆ คือ สาย ‘นักบริหาร’ กับสาย ‘นักลงทุน’
‘นักบริหาร’ สนใจด้านการบริหารธุรกิจ คิดค้นสินค้าและบริการ ขยายตลาด หารายได้ใหม่ๆ ให้กับองค์กร ยิ่งสามารถบริหารบริษัทให้เติบโต มีกำไรดีเพียงใด ยิ่งได้ค่าตอบแทนสูงเป็นเงาตามตัวเท่านั้น ส่วน ‘นักลงทุน’ ไม่ได้ชอบการบริหารจัดการเท่ากับการแสวงหาผลตอบแทนจากการเข้าไปซื้อหุ้นในบริษัทต่างๆ ที่มีแนวโน้มดี (ซึ่งส่วนหนึ่งก็น่าจะดีเพราะนักบริหารบริหารเก่งนั่นแหละ!)
เมื่อคนแบบ ‘นักบริหาร’ และ ‘นักลงทุน’ มาอยู่ในองค์กรเดียวกัน พวกเขาอาจขัดแย้งกันก็ได้เพราะมองจากคนละมุม แน่นอนว่านักลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัทย่อมอยากได้คนเก่งๆ มาเป็นนักบริหาร และจ่ายค่าตอบแทนสูงพอที่จะดึงดูดนักบริหารเก่งๆ ให้อยู่กับบริษัทไปนานๆ แต่พวกเขาย่อมไม่อยากจ่ายเยอะเกินจำเป็น เพราะยิ่งนักบริหารได้ค่าตอบแทนและโบนัสต่างๆ มากเพียงใด ยิ่งแปลว่านักลงทุนยิ่งมีโอกาสได้เงินปันผลน้อยลงเพียงนั้น (เพราะปันผลจ่ายจากกำไรสุทธิของบริษัท หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งค่าตอบแทนผู้บริหาร)
นอกจากนี้ นักบริหารกับนักลงทุนอาจมองไม่ตรงกันเรื่องแผนการลงทุนเพื่ออนาคตของบริษัท นักบริหารอาจอยากนำเงินเก็บสะสมของบริษัทไปเสี่ยงลงทุนสร้างโครงการใหม่ๆ เพราะเชื่อว่ามันจะสร้างกำไรได้ดี ขณะที่นักลงทุนอาจไม่อยากให้นำเงินของบริษัทไปเสี่ยงขนาดนั้น อยากให้นำกำไรสะสมออกมาจ่ายเป็นปันผลให้นักลงทุนมากขึ้น หรือไม่อยากให้กู้เงินมาลงทุนเพราะมองว่าเสี่ยงสูงเกินไป เป็นต้น
ความขัดแย้งเหล่านี้ไม่ค่อยเกิดในบริษัทแบบธุรกิจครอบครัวที่นักลงทุนกับนักบริหารมักเป็นคนกลุ่มเดียวกัน (แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่ว่าคนในครอบครัวอาจบริหารได้ไม่เก่งเท่ากับผู้บริหารมืออาชีพ) แต่ในบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นักลงทุนในหมวกผู้ถือหุ้นย่อมไม่อยากปล่อยให้นักบริหารมีอำนาจกำหนดค่าตอบแทนของตัวเอง ผู้ถือหุ้นจะอยากแต่งตั้งกรรมการบริษัทอิสระ (independent director หมายถึงกรรมการที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ไม่ได้มีตำแหน่งบริหารใดๆ ในองค์กร และดังนั้นจึงน่าจะเป็นอิสระจากอิทธิพลของคณะผู้บริหาร) มาเป็นคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทน มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราเงินเดือน โบนัส และค่าตอบแทนอื่นๆ ของผู้บริหารสูงสุดในองค์กร
คำถามที่ว่า ‘ใคร’ ควรมีอำนาจควบคุมบริษัทมากกว่ากัน ระหว่าง ‘นักบริหาร’ ที่มีฝีมือแต่ไม่ได้ออกเงินลงทุน กับ ‘นักลงทุน’ ที่อาจไม่มีประสบการณ์บริหารแต่เป็นคนออกเงินลงทุน ไม่ใช่คำถามที่ตอบได้ง่าย และแรงตึงเครียดระหว่างนักบริหารกับนักลงทุนก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะขจัดได้ง่ายๆ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมองคนละมุมตามบทบาทหน้าที่ของตัวเอง สถานการณ์ที่ดีที่สุดอาจเป็นการใช้แรงตึงเครียดนี้อย่างสร้างสรรค์ ต่างฝ่ายต่างเคารพในบทบาทหน้าที่ของกันและกัน
บอร์ดเกม Chicago Express เป็นเกมเศรษฐศาสตร์เล่นง่ายที่ทำให้เราเข้าใจแรงจูงใจที่แตกต่างกันระหว่าง ‘นักบริหาร’ และ ‘นักลงทุน’ ได้ดีมากภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง เกมนี้สร้างจากประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมรถไฟของอเมริกายุคบุกเบิก ยุคที่บริษัทสร้างทางรถไฟชื่อดังอย่าง B&O, C&O, Pennsylvania, New York Central และน้องใหม่ไฟแรง Wabash แข่งกันวางทางรถไฟเชื่อมระหว่างชายฝั่งตะวันออกของอเมริกาไปยังชิคาโก ที่มาของชื่อเกม เราสวมบทบาทเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่สนใจจะลงทุนในบริษัทรถไฟต่างๆ เหล่านี้
เรียกว่าเราจะสวมหมวกเป็น ‘นักลงทุน’ ตั้งแต่ต้น
ผู้เล่นทุกคนเริ่มต้นด้วยเงินทุนตั้งต้นจำนวนเท่ากัน ก่อนเริ่มเกมต้องนำเงินนั้นมาประมูลหุ้นของบริษัทรถไฟชุดแรก 4 บริษัท ถ้าไม่มีหุ้นในบริษัทอะไรเลย เราก็จะทำแอ็กชั่น (สวมบทเป็น ‘นักบริหาร’) บริษัทนั้นๆ ไม่ได้
เงินที่เราจ่ายซื้อหุ้นของบริษัทจะเข้ากระเป๋าของบริษัท ไม่ใช่กระเป๋าส่วนตัวของเรา การแยกแยะระหว่าง ‘เงินส่วนตัว’ กับ ‘เงินของบริษัท’ เป็นเรื่องที่สำคัญมากในเกมไม่แพ้ในโลกจริง และเป็นจุดที่ทำให้ Chicago Express ขับเน้นความแตกต่างระหว่าง ‘นักบริหาร’ กับ ‘นักลงทุน’ ออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน การตัดสินแพ้-ชนะ ในเกมนี้ตัดสินจากความมั่งคั่งส่วนตัวของเราตอนจบเกม ไม่ใช่ความมั่งคั่งของบริษัท
หลังจากที่จบการประมูลซื้อหุ้นแล้ว เราก็จะสลับกันเล่นคนละ 1 แอ็กชั่น แอ็กชั่นที่เลือกได้มี 3 อย่างเท่านั้น คือ หนึ่ง–สร้างทางรถไฟบนแผนที่ (ต้องใช้เงินของบริษัท ไม่ใช่เงินส่วนตัวของผู้ถือหุ้น) ผลลัพธ์คือเพิ่มรายได้ของบริษัท ยิ่งสร้างทางเชื่อมเมืองและเมืองอุตสาหกรรม บริษัทยิ่งทำรายได้เยอะ สอง–พัฒนาที่ดินตามทางรถไฟ ผลลัพธ์คือเพิ่มรายได้ของบริษัทเช่นกัน หรือสาม–ประมูลซื้อหุ้นเพิ่มจากบริษัทไหนก็ได้ในเกม (เราได้หุ้น บริษัทได้เงิน) ไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้นจากบริษัทเริ่มต้นของเราเพียงบริษัทเดียว
กติกาการประมูลหุ้นในเกมนี้เรียบง่ายและสะท้อนกลไกตลาดในโลกจริง ราคาประมูลขั้นต่ำคำนวณจากรายได้ของบริษัท ณ ขณะนั้น หารด้วยจำนวนใบหุ้นที่ขายออกไปแล้ว นับรวมใบหุ้นที่กำลังประมูลด้วย ปัดเศษขึ้นให้ลงตัว
ยกตัวอย่างเช่น สมมติเราอยากประมูลซื้อหุ้น New York Central ที่ตอนนี้มีรายได้ $22 และมีคู่แข่งเราถือหุ้นบริษัทนี้แล้วคนละ 1 หุ้น แปลว่าเราต้องเสนอราคาขั้นต่ำ ($22 / 3 หุ้น) = $7.33 ปัดขึ้นเป็น $8 ใครที่อยากประมูลแข่งกับเราต้องขานเลขสูงกว่าเรา การประมูลจะวนไปเรื่อยๆ จนกว่าทุกคนจะผ่านหมด คนที่ชนะประมูลจะได้ใบหุ้นของบริษัทนั้นไป และต้องจ่ายเงินจำนวนนั้นเข้าบริษัท
หนึ่งตาในเกมนี้จะจบลงเมื่อแอ็กชั่น 2 ใน 3 อย่างข้างต้นหมดโควตา (โควตาดูจากหน้าปัดแอ็กชั่นบนกระดาน) จากนั้นบริษัทรถไฟทุกบริษัทในเกมก็จะจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในจำนวนเท่าๆ กัน แน่นอนว่าบริษัทไหนที่มีผู้ถือหุ้นหลายคน เงินปันผลต่อหุ้นก็จะน้อยกว่าบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นน้อยคนหรือคนเดียวที่ราคาตลาดเท่ากัน เพราะต้องกระจายเงินให้กับคนจำนวนมากกว่า
Chicago Express สกัดแก่นสารของธุรกิจหลายอย่างลงมาเป็นกติกาที่เรียบง่าย แต่การตัดสินใจในเกมนี้ไม่ง่ายเลย เริ่มตั้งแต่การต้องประเมินว่าเราควรซื้อหุ้นบริษัทไหนตอนไหนดี และราคาหุ้นขั้นต่ำตอนที่เราจะประมูลน่าจะ ‘คุ้ม’ หรือเปล่า เราจะยอมทุ่มทุนถึงราคาไหน ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับการประเมินว่าแต่ละบริษัทมีแนวโน้มดีไหม คุ้มไหมที่จะป้องกันไม่ให้ผู้เล่นคนใดคนหนึ่งถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทนี้ (และโกยปันผลเข้าตัวเองคนเดียว) และเราอยากให้บริษัทได้เพิ่มทุน (จากการขายหุ้น) เพื่อขยายทางรถไฟแค่ไหน
เราจะพบความแตกต่างระหว่างวิธีคิดแบบ ‘นักบริหาร’ กับ ‘นักลงทุน’ อย่างชัดเจนด้วยการสังเกตดูพฤติกรรมผู้เล่น คนที่เป็นแนว ‘นักบริหาร’ มากกว่าจะสนใจสร้างทางรถไฟ พัฒนาที่ดินข้างทาง พูดง่ายๆ คือ บริหารบริษัทให้ก้าวหน้า รายได้เติบโต มากกว่าสนใจหาจังหวะซื้อหุ้นเพิ่ม (แต่แน่นอน เรามีสิทธิบริหารเฉพาะบริษัทที่เรามีหุ้นในบริษัทนั้นๆ เท่านั้น กติกานี้ก็คล้ายกับโลกจริงเหมือนกันตรงที่บริษัทจำนวนมากนิยมจ่ายค่าตอบแทนผู้บริหารบางส่วนเป็น stock option หรือสิทธิในการซื้อหุ้น เพื่อปรับแรงจูงใจของผู้บริหารให้สอดคล้องกับผู้ถือหุ้นมากขึ้น)
ในขณะเดียวกัน ผู้เล่นที่เป็นแนว ‘นักลงทุน’ มากกว่าจะคอยสังเกตดูว่าบริษัทไหนมีแนวโน้มดี (หลักๆ ก็คือสังเกตผู้เล่นแนว ‘นักบริหาร’ ที่กำลังขยายทางรถไฟอย่างเมามัน!) แล้วประมูลซื้อหุ้นในจังหวะที่เหมาะสม เช่น เมื่อบริษัทยังมีรายได้น้อย และผู้เล่นคนอื่นมีเงินไม่เท่าเรา จากนั้นก็รอรับเงินปันผลงามๆ จากผลงานการบริหารของคนอื่น
ผู้เล่นแนว ‘นักลงทุน’ อาจทำตัวเป็นนักลงทุนแนวบ่อนทำลาย หรือที่ครั้งหนึ่งในอเมริกาเคยเรียกว่า corporate raiders หรือนักจู่โจมบรรษัทก็ได้ เช่น ด้วยการซื้อหุ้น 1 หุ้นในบริษัทคู่แข่งที่กำลังสร้างทางรถไฟแข่งกับเรา เพียงเพื่อจะได้มีสิทธิในการบริหาร จากนั้นก็ ‘แกล้ง’ บริษัทนั้นๆ ด้วยการใช้เงินของบริษัทอย่างสุรุ่ยสุร่าย สร้างทางรถไฟยืดยาวไปกลางทุ่งที่ไม่สร้างรายได้อะไรเลย เพราะอยากบีบให้บริษัทนั้นขาดเงิน หมดโอกาสที่จะมาแข่งกับบริษัทที่ตัวเองอยากสนับสนุน เป็นต้น
ความสนุกของ Chicago Express อยู่ที่ความหลากหลายของกลยุทธ์ และการฟาดฟันระหว่าง ‘นักบริหาร’ กับ ‘นักลงทุน’ ในทางที่เล่นซ้ำได้เรื่อยๆ เพราะไม่มีทางที่ 2 เกมจะเหมือนกัน และ ‘โชค’ ก็ไม่มีบทบาทในเกมนี้แม้แต่น้อย
จุดเด่นอีกอย่างของเกมนี้ก็คือ เป็นเกมเศรษฐศาสตร์ส่วนน้อยที่เล่นได้ถึง 6 คน โดยไม่ต้องใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง และประสบการณ์การเล่นก็จะแตกต่างตามจำนวนผู้เล่น แต่ไม่ว่าจะเล่นกี่คน เราก็เลือกได้เสมอว่าจะอยากเป็นอะไรมากกว่ากัน ระหว่าง ‘นักบริหาร’ กับ ‘นักลงทุน’ และการให้น้ำหนักระหว่างสองแนวนี้ก็ขยับได้ตลอดเวลาระหว่างการเล่น
เช่นเดียวกับโลกธุรกิจจริงที่เราต้องพร้อมเปลี่ยนกลยุทธ์อยู่เสมอ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ใครที่เราเคยมองว่า ‘พันธมิตร’ เพราะลงทุนในบริษัทเดียวกัน อาจเปลี่ยนเป็น ‘คู่แข่ง’ หรือแม้แต่ ‘ศัตรู’ คู่อาฆาต ได้ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อผลประโยชน์เริ่มไปกันคนละทาง