The Blueprint of Livehouse

‘Blueprint Livehouse’ บ้านของดนตรีที่อยากเห็น ผู้ประกอบการ ศิลปิน และคนดู เติบโตไปพร้อมกัน

หากจะบอกว่าปี 2566 ช่วง Post COVID-19 คือปีทองของ คอนเสิร์ต และการจัดแสดงโชว์คงไม่ผิด

เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปีผ่านมา คือสุญญากาศทางดนตรี ที่เหล่าศิลปินไม่ได้ทำการแสดงโชว์ใดๆ เลยทั้งสิ้น ทำให้ในวันนี้ความอัดอั้นจึงถูกระเบิดออกมา ผ่านการจัดคอนเสิร์ตที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดของศิลปินมากหน้าหลายตา เพื่อชดเชยกับช่วงเวลาที่หายไปก่อนหน้า

แต่หากมานั่งพิจารณากันให้ดี ก็จะพบว่า ในบรรดาศิลปินที่ขึ้นโชว์กันอย่างคึกคักนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นวงดนตรีขนาดใหญ่ หรือศิลปินชื่อดัง มีฐานแฟนคลับแน่น ที่ได้เล่นบนเวทีสเกลขนาดยักษ์ กลับกันศิลปินหน้าใหม่ วงดนตรีเฉพาะทาง เขากลับไม่มีสถานที่รองรับ สำหรับโชว์ขนาดเล็กเท่าไหร่นัก

จึงเป็นเหตุให้ Blueprint Livehouse ถือกำเนิดขึ้น ด้วยความร่วมมือของผู้คนในแวดวงดนตรีอินดี้ไทยทั้ง แดน–แดเนียล อัลวี ดิษยะศริน, นน–ภัทรชนน โดดเสม, แมคคี–พีระพงศ์ แก้วแท้, เต๊ะ–ธนกาญจน์ ต่างใจเย็น, เรือบิน–ธรรศ สุวรรณแสง, นิว–วิทวัส อินทรสังขา, นิต–ธนิต โบกขรพรรษ และ ดิว–ศุภกิชญ์ สุภา ที่แบ่งหน้าที่กันตามถนัด ปลุกปั้นโมเดลธุรกิจที่เรียกว่าไลฟ์เฮาส์ในไทยขึ้นมา ซึ่งในตลอด 6 เดือนนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อช่วงต้นปี ได้มีศิลปินมากมาย ทั้งอินดี้และเมนสตรีม ทั้งเบอร์ใหญ่และเบอร์รอง หมุนเวียนมาแสดงผลงานในพื้นที่ตรงนี้

จนเป็นข้อพิสูจน์ว่าไลฟ์เฮาส์ในประเทศไทยคือพื้นที่ทางดนตรีที่ขาดหาย และกำลังรอใครสักคนเข้ามาเติมเต็มอยู่ตลอด

แม้แก่นของ Blueprint Livehouse คือเรื่อง การผลักดันอุดมการณ์ที่หวังสร้างอุตสาหกรรมดนตรีให้เติบโตอย่างเข้มแข็งในอนาคตข้างหน้า แต่ในมุมของการทำธุรกิจก็น่าสนใจไม่น้อย ยิ่งเมื่อได้ทราบว่า เขาขายบัตรคอนเสิร์ตในราคาหลักร้อยต้นๆ เพียงเท่านั้น อีกทั้งยังมีกฎเหล็กที่สำคัญคือ ศิลปิน คนดู และไลฟ์เฮาส์ต้องอยู่ได้ ไม่ขาดทุน และเติบโตไปพร้อมกัน

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ชีวิตคุณเกี่ยวข้องกับแวดวงดนตรียังไงบ้าง

วิทวัส : เรื่องทั้งหมดเริ่มมาจากสามคนก่อน คือเรา แมคคี (พีระพงศ์ แก้วแท้) และเรือบิน (ธรรศ สุวรรณแสง) ที่ก่อนหน้านี้พวกเราทำงานอยู่บริษัทที่ชื่อ ‘ฟังใจ’ มาก่อน พอมาเจอสถานการณ์ช่วงโควิด-19 ทั้งสามคนก็ได้ระเห็จเตร็ดเตร่ มาทำคอนเสิร์ตที่ที่แห่งหนึ่งกัน ซึ่งตอนนั้นก็พยายามจะปั้นสิ่งที่เรียกว่าไลฟ์เฮาส์บ้างแล้ว เพราะเราเห็นว่าด้วยโลเคชั่น ขนาดของสถานที่มันเหมาะสมเอามากๆ แต่พอทำไปได้สักพักหนึ่ง ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เลยทำให้เราไม่สามารถทำไลฟ์เฮาส์ได้เต็มตัว 

ปัญหาตรงนั้นก็เลยต่อยอดไปสู่ประโยคที่คุยกันเองว่า หรือเราต้องทำไลฟ์เฮาส์ด้วยตัวเอง แล้วพอได้เจอกับแดน (แดเนียล อัลวี ดิษยะศริน) เต๊ะ (ธนกาญจน์ ต่างใจเย็น) นนท์ (ภัทรชนน โดดเสมอ ) ที่มีวงดนตรีของตัวเอง รวมถึงดิว (ศุภกิชญ์ สุภา) และ นิต (ธนิต โบกขรพรรษ) ที่เข้ามาช่วยอีกแรง เลยเกิดเป็น Blueprint Livehouse ขึ้นมา

คือจะเห็นว่าเรามาจากคนทำงานในแวดวงดนตรีมาก่อนทั้งนั้นเลย แล้วเราก็เห็นตรงกันว่าไลฟ์เฮาส์ต้องมีในกรุงเทพฯ ได้แล้ว เพราะตอนที่ทำคอนเสิร์ตมีศิลปินบางส่วนที่เราไม่สามารถร่วมงานกับเขาได้ เพราะด้วยความที่ขนาดของสถานที่มันใหญ่เกินไป เรื่องของทุนทรัพย์ หรืออะไรต่างๆ ก็เลยรู้สึกว่าอยากจะมีพื้นที่ ที่ให้ศิลปินทุกแบบไม่ต้องมีข้อจำกัด ไม่ต้องกังวลว่าคนจะมาฟังเพลงเขาเยอะหรือไม่เยอะ เป็นพื้นที่สำหรับให้เขามาเล่นดนตรีเพื่อตัวเองแค่นั้นพอ 

คุยกันยังไง ถึงตกลงปลงใจได้ว่า ต้องหันมาลุยสิ่งที่ยังมีไม่มากในบ้านเราอย่างไลฟ์เฮาส์บ้างแล้ว 

วิทวัส : คือเราเห็นปัญหา เห็น pain point กันมาตลอด ว่าปัญหาของศิลปินหน้าใหม่ แทบจะทุกวงเลย คือไม่มีพื้นที่ให้เขาได้แสดงออก ไม่มีงานจ้าง ไม่มีสถานที่ให้เขาได้เล่น 

การเป็นศิลปินหน้าใหม่ในเมืองไทยมันยากมากเลยนะ กว่าจะกลายเป็นที่รู้จัก กว่าจะสร้างงาน สร้างรายได้ให้ตัวเองได้ มันใช้เวลานานมาก ดังนั้นหากจะแก้ไขปัญหานี้ได้ตั้งแต่ต้นตอ สามารถสร้างพื้นที่เล็กๆ ให้พวกเขาได้เริ่มต้นได้ก็คงจะดี 

พีระพงศ์ : การที่วงดนตรีจะดีดตัวเองออกมาจากคำว่าศิลปินหน้าใหม่ มันยากมาก เพราะกว่าจะเป็นที่รู้จักได้ต้องเจออะไรมากมาย เดี๋ยวไม่มีที่เล่นบ้างล่ะ หรือมีงานเล่นแต่ก็ไม่ได้ค่าจ้างบ้างล่ะ ซึ่งการทำวงดนตรีมันเต็มไปด้วยค่าจ้าง ทั้งค่าอุปกรณ์ ค่าทีมงาน ค่าห้องซ้อม หรือค่ากระบวนการทำเพลงต่างๆ อีก คือมันมีค่าใช้จ่ายเยอะมาก จนทำให้ศิลปินส่วนใหญ่ตั้งไข่และสามารถเล่นดนตรีเป็นอาชีพได้ยาก 

แดเนียล : อีกอย่างหนึ่งคือรูปแบบของการเป็นไลฟ์เฮาส์ต้องบอกว่าเมื่อก่อนเรามีร้านเหล้าที่มีพื้นที่ให้ศิลปินเล่นดนตรีสดประมาณหนึ่งเลยนะ PLAY YARD by Studio Bar, NOMA BKK หรือ Cosmic Cafe เหล่านี้ก็เป็นร้านที่บันดาลใจเราว่า มันพอจะมีลู่ทางที่พัฒนาต่อจนกลายเป็นไลฟ์เฮาส์ได้  

พีระพงศ์ : ตลกดี เพิ่งพูดเรื่องนี้กันไปเอง คือสมัยตอนที่ทำงานอยู่ฟังใจ ที่เป็นสื่อดนตรีที่ก็มีอยู่ไม่กี่เจ้าในตอนนั้น เราจะมี motto ที่คุยกันตลอดว่า สิ่งที่วงการดนตรียังไม่มี เช่นสื่อ หรือไลฟ์เฮาส์ ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ ดังนั้นในเมื่อมันมีโอกาสก็ลุยเองเลยดีกว่า

คำว่าไลฟ์เฮาส์จริงๆ แล้วคืออะไร แล้วทำไมที่ผ่านมาประเทศไทยจึงไม่ค่อยมีไลฟ์เฮาส์หรือถึงมีแล้วกลับยืนระยะไม่ค่อยได้ 

พีระพงศ์ : ไลฟ์เฮาส์จริงๆ แล้วหน้าตาเป็นยังไง ผมมองว่าหน้าตามันจะถูกปรับไปตามวัฒนธรรมดนตรีของคนด้วย

 อย่างในไทยเอง วันนี้คงเป็นสถานที่สำหรับศิลปินอินดี้ตัวเล็กๆ ที่มีความฝัน คือวงการดนตรีไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น โอเค เราอาจจะมี Phum Viphurit หรือ Yonlapa แล้วก็ตาม แต่ก็ยังพูดไม่ได้เต็มปากว่ากลุ่มคนฟังดนตรีอินดี้มันกว้างขนาดนั้น 

ดังนั้นคำว่าไลฟ์เฮาส์มันเลยกลายเป็นสถานที่สำหรับเปิดโอกาสให้นักดนตรีอินดี้ทุกคนมีโอกาสได้โชว์ผลงานและเติบโตเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต 

กับอีกอย่างคืออธิบายด้วยลักษณะของการจัดการ คือเราคงไม่ใช่ร้านที่ขายเหล้ามีวงดนตรีโคฟเวอร์เพลงยอดฮิตติดตลาดอะไรแบบนั้น แล้วก็ไม่ใช่รูปแบบของคอนเสิร์ตที่เป็นผู้จัดงานแล้วขายบัตรเพื่อให้คนซื้อตั๋วมาดู แต่เราคือผู้ให้บริการด้านสถานที่สำหรับศิลปินทุกคนมากกว่า

การบุกเบิกทำไลฟ์เฮาส์ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างคอนเสิร์ตและร้านเหล้าดนตรีสด ฟังดูเสี่ยงอยู่เหมือนกัน

พีระพงศ์ : เรื่องนี้มันอยู่ในหัวเรากันมาตลอด คือเราเห็นร้านเหล้าที่เขามีฟังก์ชั่นเป็นไลฟ์เฮาส์ขนาดไม่ใหญ่มาก แล้วยังพอไปได้ กับตอนที่ได้ทำคอนเสิร์ต แล้วได้ลองทำงานในรูปแบบที่ใกล้ๆ กับไลฟ์เฮาส์ที่สเกลค่อนข้างใหญ่ แต่ ก็ยังมีคนดูแน่นไปทั่วฮอลล์ ก็เลยเริ่มมั่นใจว่าเราน่าจะพอทำสิ่งนี้ได้ 

วิทวัส : ขยายความเพิ่มเติม คือเราเห็นว่าร้านเหล้า ซึ่งมีขนาดค่อนข้างเล็ก จุคนได้หลักสิบ บางทีเขามีพื้นที่ไม่พอที่จะรองรับแฟนเพลงของศิลปินบางคน ที่จะส่งผลเรื่องความคุ้มค่าของการขายบัตร กลับกันในสเกลที่ใหญ่กว่าอย่างตอนทำคอนเสิร์ต ซึ่งจุคนได้หลัก 400-500 คน ทำให้ศิลปินหน้าใหม่บางคน เขาไม่สามารถเข้ามาเล่นในที่แบบนี้ได้ 

มันเลยมีช่องว่าง คือพื้นที่ขนาด 100-200 คน ที่เหมาะกับศิลปินหน้าใหม่ที่อยากสร้างฐานแฟนคลับ และเหมาะกับศิลปินใหญ่ๆ ที่ก็สามารถทำการแสดงได้เช่นกัน ซึ่งตรงนี้ก็น่าจะเป็นโอกาสของเรา และเป็นโอกาสของนักดนตรีมากยิ่งขึ้นด้วย 

แล้ว Blueprint Livehouse แตกต่างจากไลฟ์เฮาส์หรือสถานที่เล่นดนตรีสดอื่นๆ ยังไง

วิทวัส : สิ่งที่แตกต่างอย่างแรกเลยคือโมเดลธุรกิจ คือต้องเล่าก่อนว่า วิธีหารายได้ของไลฟ์เฮาส์คือการขายสินค้าและเครื่องดื่ม กับอีกอย่างคือค่าตั๋วในงานวันนั้น ซึ่งโดยปกติแล้วการจ้างศิลปินเพื่อมาโชว์จะต้องจ้างผ่านค่าย มีเรตราคาชัดเจนว่าวงขนาดนี้กี่บาท ซึ่งถ้าให้เราทำแบบนั้น บอกเลยว่าเจ๊ง มันเสี่ยงมาก เราไม่ได้มีสายป่านที่ยาว ไม่ได้มีทุนอุ้มอยู่ข้างหลัง 

ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจไลฟ์เฮาส์และนักดนตรียั่งยืนได้คือการ split income ที่เข้ามาในวันนั้น

ยกตัวอย่าง สมมติผมเอาวง A มาเล่น ซึ่งเป็นวงที่ไม่สามารถการันตีว่าจะมีคนมาซื้อบัตร 200 ใบ เต็มไลฟ์เฮาส์ในวันนั้นเพราะอาจมีปัจจัยบางอย่าง เช่นงานดนตรีชนกัน หรืออะไรก็ตามแต่ แล้วขายบัตรได้ 50 ใบ ซึ่งหากเราต้องจ่ายค่าตัวให้เขาตามเรตราคาทั่วไปก็จะทำให้ขาดทุน 

ผมเลยใช้วิธีแบ่งรายได้จากวันนั้นให้ศิลปินตามเรตที่เกิดขึ้นจริง ถ้าวันนั้นขายได้น้อยก็อาจต้องจ่ายให้น้อยกว่าเรตปกติ เพื่อความอยู่รอดของทั้งศิลปินและไลฟ์เฮาส์ด้วย เพราะฝั่งเราก็มีค่าใช้จ่าย fixed cost ทุกครั้ง แต่วันไหนถ้าบัตรมันขายได้มากขึ้น เราก็จะให้ส่วนแบ่งกับศิลปินที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน 

ดังนั้นจำนวนเงินที่จะเกิดขึ้นจากการแสดงไลฟ์เฮาส์ก็จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการแสดงสดแต่ละครั้งของคุณ

พีระพงศ์ : ขอเสริมเรื่องนี้ คือก่อนหน้าจะเปิดร้านเราทำการบ้านกันอยู่ 6 เดือนว่าจะทำยังไงให้ไลฟ์เฮาส์อยู่รอด เชื่อไหมว่าจะคิดในมุมไหนก็ตาม สุดท้ายมันเจ๊งหมดเลย (หัวเราะ) 

แดเนียล : เหมือนในหนังเลยที่ Doctor Strange คำนวณทุกความเป็นไปได้ของการเอาชนะภายในหนัง ที่ไม่ว่ายังไงก็ไม่รอด มีเพียงหนทางนี้เท่านั้น

ถ้าเป็นแบบนั้น ศิลปินหน้าใหม่ที่ยังไม่มีแฟนเพลงเลยจะสามารถเข้ามาเล่นที่ Blueprint Livehouse ได้ไหม

วิทวัส : เล่นได้ และนี่คือเป้าหมายของเราเลย คือเราก็อยากจะโตไปพร้อมศิลปินเหมือนกัน หากคุณเป็นศิลปินที่เพิ่งมีเพลง พร้อมจะแสดงโชว์แล้ว แต่คนดูอาจจะยังไม่เยอะมาก มีแค่ครอบครัวหรือเพื่อนสัก 10-20 คน คุณก็มาได้

อะไรแบบนี้เป็นสิ่งที่ศิลปินทุกคนต้องเคยผ่าน ซึ่งเราก็พร้อมจะมอบพื้นที่ให้ศิลปินเหล่านี้มาเริ่มตั้งไข่ ให้เขาได้รู้ว่าการแสดงสดต้องทำอะไร ต้องเตรียมตัวยังไง เพื่อให้เขาเติบโตไปเรื่อยๆ ไปเล่นสถานที่ใหญ่ขึ้น

พีระพงศ์ : ผมอยากให้ศิลปินทุกคนที่กำลังอ่านสิ่งนี้อยู่ มองว่าการมาแสดงที่ไลฟ์เฮาส์ไม่ใช่การจ้างให้มาเล่นงานหนึ่ง แต่มันคือการมาร่วมสร้างการเติบโตทางดนตรีไปพร้อมกัน คือพอมีโอกาสได้มาเล่นดนตรีกับเราก็อยากให้คิดว่าได้เก็บเกี่ยวอะไรไปจากการแสดงครั้งนี้ ในโชว์มีปัญหาเรื่องอะไร แฟนเพลงคุณเป็นยังไง เพลงไหนที่เป็นท่าไม้ตายของคุณ คุณจะได้ประสบการณ์ตรงนี้กลับไปต่อยอดในครั้งต่อๆ ไปได้ 

ดังนั้นกับวงดนตรีขนาดเล็ก เรายินดีมากๆ ที่จะมาเล่นกับเรา นี่คือจุดประสงค์ที่เราสร้าง Blueprint Livehouse ขึ้นมา เราอยากให้ศิลปินได้มีที่ที่คุณแสดง เราอยากให้ศิลปินโตไปกับเรา

อยากให้มองว่า Blueprint Livehouse ไม่ใช่นายจ้างของนักดนตรี แต่เป็นเพื่อนร่วมทำงานกลุ่มด้วยกันมากกว่า 

พีระพงศ์ : มุมหนึ่งเราก็ไม่อยากให้มองเป็นนายทุนขนาดนั้น เพราะเราไม่มีทุน (หัวเราะ) ขอใช้คำว่าอยากจะเป็นพันธมิตรของศิลปินจะดีกว่า ถ้าคุณอยากหาที่เล่นดนตรีสดเราพร้อมซัพพอร์ตคุณ ถ้าคุณพร้อมก็มาเลย ถ้าคุณต้องการสถานที่เราให้ได้เต็มที่

แต่ขณะเดียวกันเอง ฝั่งศิลปินเองก็ต้องทำการบ้านมาด้วยนะ ว่าคุณมาเล่นที่นี่คุณต้องการอะไร เพื่อนำไปพัฒนาต่อ

ถ้าศิลปินตัดสินใจจะมาเล่นที่ Blueprint Livehouse เขาจะได้รับการซัพพอร์ตและช่วยเหลือจากคุณยังไงบ้าง 

แดเนียล : องค์ประกอบในการจัดอีเวนต์สักครั้งหนึ่งและการดีไซน์สิ่งต่างๆ เรื่องเสียง เรื่องแสง ขายบัตรให้ เรามีซัพพอร์ตให้หมดเลย กล้าพูดด้วยว่าเรามีระบบที่ดีตามมาตรฐานเลย คือมาตัวเปล่ากับเพลงของคุณก็เล่นที่ Blueprint Livehouse ได้

แล้วทางฝั่ง Blueprint Livehouse เองอยากได้ศิลปินแบบไหนมาโชว์ในสถานที่ของคุณ 

พีระพงศ์ : ที่ผ่านมาเราก็เปิดรับศิลปินทุกประเภท มีตั้งแต่วงดนตรีแนว Hard Noise ที่ดุเดือดมากๆ ไปยันวงป๊อปมากๆ 

ดังนั้นเราไม่มีวงดนตรี หรือมีแนวเพลงอะไรที่จะมานิยามที่นี่  Blueprint Livehouse เป็นสถานที่ในแบบประเภทที่ว่า ไม่ว่าคุณจะทำดนตรีแนวไหน คุณก็มาเล่นที่นี่ได้ คุณมาแสดงที่นี่ได้ จริงๆ วงไอดอลก็ยังได้ ถ้าเขาอยากจะมาแสดง  

วงไอดอลอย่าง 4EVE ก็สามารถทำการแสดงที่ Blueprint Livehouse ได้ 

พีระพงศ์ : ใช่ เรายินดีมากๆ เลย ถ้าสถานที่ประมาณนี้ สามารถต่อยอดเป็นงานอะไรของเขาได้ อาจเป็นงานประเภทเอกซ์คลูซีฟขายบัตรน้อยๆ อะไรแบบนี้ เราก็พร้อมเหมือนกัน เราเชื่อว่าวงดนตรีไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่ เขามีความต้องการด้านพื้นที่แตกต่างออกไป  อยู่ที่ว่าเขาคาดหวังอะไรจากโชว์ครั้งนั้นมากกว่า 

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ Blueprint Livehouse ทำราคาบัตรที่ย่อมเยาได้ ซึ่งสวนทางค่าบัตรคอนเสิร์ตที่แพงขึ้นทุกวัน คอนเซปต์ตรงนี้เกิดขึ้นมายังไง 

วิทวัส : ราคาบัตรเราจะอ้างอิงจากกลุ่มเป้าหมายของเราเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเยาวชน ดังนั้นราคาบัตรต้องเป็นสิ่งที่เขาจับต้องได้ อาจเท่ากับราคาตั๋วหนังสักเรื่อง หรือบุฟเฟต์สักมื้อหนึ่ง คือเราพยายามตั้งราคาด้วยการทำให้เป็นหนึ่งกิจกรรมที่เขาสามารถเลือกทำได้ในแต่ละวัน พอจะมีกำลังจ่ายกันอยู่แล้ว เราไม่อยากให้ราคาบัตรของเราไปถึงจุดที่ต้องอดข้าว เก็บเงิน เพื่อมาซื้อบัตร ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น

ที่ทำแบบนี้ส่วนหนึ่งก็คือเราต้องการปริมาณการกลับมาที่ไลฟ์เฮาส์ของลูกค้าให้ถี่ขึ้นมากกว่า ราคาเลยจับต้องได้มาก ไม่ใช่ว่ามาครั้งหนึ่ง แล้วหายไปเลยอีกสองเดือนหลังจากนี้ 

พีระพงศ์ : แต่ขอย้ำตรงนี้ว่า ราคาทุกโชว์ที่เราตั้งกัน ล้วนผ่านการพูดคุยกับศิลปินทุกคนเรียบร้อยแล้ว เราคำนวณให้ดูเลยว่าด้วยราคาเท่านี้ ทุกคนในอุตสาหกรรมดนตรีจะอยู่ได้

จริงๆ เรื่องทำยังไงให้บัตรดูคอนเสิร์ตราคาถูก แล้วทุกคนยังอยู่ได้ เราเคยปรึกษาจิน (จิน เซนทาโร่) เขาเป็นคนญี่ปุ่นที่อยู่ในแวดวงดนตรีอินดี้ไทยมานานแล้ว เขาก็อธิบายให้ฟังว่าการทำไลฟ์เฮาส์ต้องมององค์ประกอบให้เป็นสามเหลี่ยมคือ ศิลปิน ไลฟ์เฮาส์ คนดู

ซึ่งถ้าเราสามารถรักษาสามเหลี่ยมนี้ให้สมมาตร ไม่บิดเบี้ยวได้ทุกคนก็จะอยู่รอด  ดังนั้นอยากให้มองว่าราคาที่เราตั้งขึ้นมา มันสมเหตุสมผลกับทุกคนแล้ว มันอาจแพงกว่านี้ได้ แต่จะแพงไปเพื่ออะไร ถ้าเราไม่สามารถรักษากลุ่มคนดูเอาไว้ได้ หรือถ้าถูกเกินไปแล้วศิลปินอยู่ไม่ได้ เราก็ไม่รู้จะทำไปทำไม 

สุดท้ายเรื่องราคาบัตร จริงๆ เราไม่อยากให้มองด้วยคำว่าถูกหรือแพง ถ้าคุณมีกำลังจ่ายกันคุณซื้อไปเถอะ คือคุณไม่ได้แค่ซื้อความสุขให้ตัวเอง แต่คุณกำลังซื้อวัฒนธรรมดนตรีอยู่ เพราะการอุดหนุนคอนเสิร์ตหรือไลฟ์เฮาส์จนประสบความสำเร็จ จะดึงดูดให้ผู้จัดและศิลปินเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้มีกำลังซื้อมีความต้องการเสพดนตรีอยู่ประมาณหนึ่ง มันก็จะทำให้สังคมดนตรีงอกงามขึ้นมาได้

แล้วจะทำยังไงดี ให้สามเหลี่ยมของการทำไลฟ์เฮาส์ทั้งสามด้านขยายและเติบโตไปพร้อมกันได้ 

พีระพงศ์ : เราอธิบายแบบนี้แล้วกัน ว่าสามเหลี่ยมแต่ละด้าน เขามีธรรมชาติคนละแบบ มีแนวทางเติบโตต่างกัน

ฝั่งคนดู พอเขาโตขึ้น มีกำลังจ่ายมากขึ้น สิ่งที่ท้าทายคือจะทำยังไงให้เขาใช้เงินไปกับอุตสาหกรรมดนตรีต่อไปได้

ฝั่งศิลปิน ทำยังไงให้ตัวเองเติบโตไปในทิศทางที่ศิลปินควรจะเป็น เช่นการทำเพลง รูปแบบการโชว์ 

ส่วนทางฝั่งไลฟ์เฮาส์ก็เช่นกัน ก็มีโจทย์ที่ต้องแก้ไขต่อว่า จะพัฒนายังไงให้ดึงดูดคนเข้ามาดูดนตรีสดได้มากขึ้น หรือทำยังไงให้คนอื่นเห็นว่าการทำไลฟ์เฮาส์สามารถอยู่รอดได้ เพื่อให้เกิดไลฟ์เฮาส์ที่อื่นๆ ตามมาหลังจากนี้

จะเห็นได้ว่าสามเหลี่ยมแต่ละด้านก็จะมีเส้นทาง มีเป้าหมายที่ต่างกัน ดังนั้นไม่มีสูตรหรือวิธีแบบไหนที่จะทำให้ทุกภาคส่วนโตพร้อมกันอย่างก้าวกระโดด แต่ทุกคนในอุตสาหกรรมต้องช่วยคนละไม้คนละมือกัน ให้สามเหลี่ยมค่อยๆ โตไปตามกัน

ทุกวันนี้ มองว่า Blueprint Livehouse ประสบความสำเร็จหรือยัง

วิทวัส : เราไม่มีวันที่เราจะใช้คำว่าประสบความสำเร็จได้ เพราะเราไม่ได้ทำในระดับของธุรกิจ เราเปิดไลฟ์เฮาส์เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมดนตรีในไทยมีพื้นที่ให้ศิลปินเล่นมากขึ้น มีพื้นที่ให้คนมาเจอศิลปินบ่อยมากขึ้น 

แต่ถ้าถามว่าในแง่ของการเติบโตตลอดเวลา 6 เดือนที่เปิดไลฟ์เฮาส์มา เราจะตอบว่ามีความสุขมากๆ มีความสุขที่เริ่มปักหมุดคำว่าวัฒนธรรมไลฟ์เฮาส์ไปในใจของคนดูและศิลปินได้ 

คิดว่าอะไรที่ Blueprint Livehouse ทำอยู่ที่เริ่มมาถูกทางแล้ว

พีระพงศ์ : คือการได้เห็นศิลปินเล่นดนตรีกับเราแล้วเขามีความสุข ได้เห็นศิลปินยินดีที่จะร่วมทำงานในโมเดลธุรกิจแบบนี้ อะไรแบบนี้ก็ทำให้รู้สึกว่าเราน่าจะมาถูกทางแล้วล่ะ 

วิทวัส : ความสุขในแต่ละวันคือ ศิลปินแฮปปี้ คนดูแฮปปี้ เราก็ถึงจะแฮปปี้ มันต้องไปด้วยกันทั้งหมด จะมาแฮปปี้คนเดียวไม่ได้ 

มีคำแนะนำสำหรับคนที่อยากเปิดไลฟ์เฮาส์บ้างไหม

ทุกคน : อย่าเปิด (หัวเราะ)

วิทวัส : ถ้าจะเปิด อย่าคิดแค่ว่าจะเปิดเพราะอยากรวย คุณต้องตอบตัวเองให้ชัดเจนก่อนว่าจะเปิดไปทำไม ถ้าจะเปิดเพื่อสร้างกำไร ผมแนะนำไปทำอย่างอื่นดีกว่า พูดจริงๆ แต่ถ้าอยากเปิดเพราะว่าอยากให้วงการดนตรีมีพื้นที่มากขึ้น แสดงว่าคุณเริ่มมาถูกทางแล้ว จากนั้นค่อยมาคิดว่าจะทำยังไงต่อให้อยู่รอดและประสบความสำเร็จได้ 

พีระพงศ์ : บอกเลยว่าคนเปิดไลฟ์เฮาส์เบื้องหลังที่ต้องทำทุกวันคือ การต้องมาดูดฝุ่น ถูพื้น แบกของแทบทุกวัน อันนี้แหละ งานของจริงสำหรับคนทำไลฟ์เฮาส์ 

ถ้าหากบทสัมภาษณ์นี้ไปผ่านตาคนจากรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับดนตรีและวัฒนธรรมเข้า มีอะไรอยากบอกเขาบ้าง 

วิทวัส: ถ้ารัฐบาลหรือกระทรวงวัฒนธรรมอยากจะส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ เขาอาจจะต้องลงทุนเกี่ยวกับวงการนี้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่การที่คุณรอใครสักคนที่จะดังเหมือน ลิซ่า วง BLACKPINK แล้วค่อยแห่ไปสนับสนุนเขา เพราะการจะรอให้คนแบบนี้โผล่ขึ้นมา มันใช้เวลาและเดิมพันเยอะเกินไป

สู้คุณมาลงทุนกับทั้งวงการ แล้วค่อยมาเลือกว่าใครมีความสามารถพอจะแบกซอฟต์พาวเวอร์ของเมืองไทยได้ แบบนี้ดีกว่าไหม แทนที่จะเอาเงินไปหนุนซูเปอร์สตาร์สักคน สู้เอาเงินไปอัดฉีดสร้างไลฟ์เฮาส์ให้มากขึ้น มีงบสำหรับส่งศิลปินไปต่างประเทศ หรือมีนโยบายที่ศิลปินสามารถขอทุนสำหรับทำเพลง แบบนี้จะดีกว่าไหม 

Writer

KFC ฟิลเตอร์สตอรี่ไอจี และ Tame Impala คือสิ่งที่ทำให้ทุกวันนี้อยากมีชีวิตอยู่

You Might Also Like