Mechanical Boss
Blancpain แบรนด์นาฬิกาสวิสที่คิดค้นนาฬิกาดำน้ำโมเดิร์นและหลายนวัตกรรมนาฬิกาที่คนไม่รู้
พูดถึงแบรนด์อายุเกือบ 300 ปี ถ้าไม่ดูขลังจนจับต้องยาก บางทีก็ถูกรีแบรนด์จนแทบไม่เหลือเค้าเดิม
แต่ไม่ใช่กับ Blancpain (บลองแปง) แบรนด์นาฬิกาสัญชาติสวิสที่แม้จะมีอายุ 287 ปี นับว่าเก่าแก่ที่สุดในโลกแต่ก็ยังรักษาวิถีการทำนาฬิกาแบบดั้งเดิมเอาไว้ พร้อมๆ กับที่พัฒนาเทคโนโลยีให้นำยุคอยู่เสมอตามปรัชญาของแบรนด์ที่กล่าวว่า ‘Innovation is our tradition’
ในวันที่โลกไม่มีนาฬิกาดำน้ำที่เฟรนด์ลี่กับผู้ใช้งาน Blancpain คิดค้นนาฬิกาดำน้ำโมเดิร์นเรือนแรกของโลกที่กลายเป็นพ่อของนาฬิกาดำน้ำชื่อดังหลายเรือน
ในวันที่หญิงสาวมองหานาฬิกาขนาดเล็กเพื่อความสง่างาม Blancpain ก็พัฒนากลไกให้เล็กจิ๋วจนสามารถทำนาฬิกาผู้หญิงทรงกลมที่เล็กที่สุดในโลกได้
และในวันที่นาฬิการะบบ quartz หรือนาฬิกาใส่ถ่านจากญี่ปุ่นตีตลาดนาฬิกา mechanical สัญชาติยุโรปจนยับเยิน Blancpain กลับลุกขึ้นมาประกาศว่าพวกเขาจะทำแต่นาฬิกา mechanical ด้วยมือเท่านั้น และพลิกฟื้นนาฬิกาจักรกลให้แข็งแกร่ง เดินทางข้ามเวลามาได้จนถึงวันนี้
“เรามองว่านาฬิกาเป็นมากกว่าของที่เอาไว้ใช้บอกเวลาเฉยๆ แต่เป็นเหมือน art piece ที่อยู่ได้ตลอดไป” กฤษณ์ ภีมะโยธิน ผู้จัดการแบรนด์บลองแปงประเทศไทยเกริ่นให้ฟัง
“เราทำนาฬิกาสำหรับคนที่ appreciate ประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ งานอาร์ต ผมว่ามันคือเซนส์ของความพิเศษ คือสิ่งที่คุณใส่ออกไปเจอคนอีกร้อยคนก็ไม่เจอคนใส่นาฬิกาเหมือนคุณ”
ในชั่วโมงที่นาฬิการะบบ quartz เดินได้เที่ยงตรงกว่าและทุกคนดูเวลาในโทรศัพท์มือถือ อะไรทำให้แบรนด์เชื่อมั่นว่านาฬิกา mechanical จะเป็น Product Champion ได้ตลอดไป หาคำตอบได้ผ่านนวัตกรรมที่ซ่อนอยู่ในนาฬิกาคอลเลกชั่นต่อไปนี้ของ Blancpain
Fifty Fathoms
ต้นกำเนิดนาฬิกาดำน้ำโมเดิร์นที่โลกยังใช้ถึงทุกวันนี้
Blancpain ก่อตั้งขึ้นในปี 1735 โดยช่างทำนาฬิกาชาวสวิสชื่อ Jehan-Jacques Blancpain ที่เมือง Villeret ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสวิตเซอร์แลนด์
ความเนิร์ดในกลไกนาฬิกาถูกส่งต่อมารุ่นสู่รุ่น แม้ว่าช่วงร้อยปีแรกพวกเขาจะยังไม่ได้ทำนาฬิกาตีตราของตัวเองแต่ก็เป็นเจ้าของโรงงานที่คิดค้นกลไกที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่ไว้ใจของช่างประดิษฐ์นาฬิกามากมาย เช่น John Harwood ช่างทำนาฬิกาชาวอังกฤษที่ Blancpain เป็นผู้ผลิตกลไกให้และกลายเป็นนาฬิการะบบออโตเมติกเรือนแรกของโลก
จุดเปลี่ยนของ Blancpain มาเกิดในช่วงปี 1932 เมื่อทายาทคนสุดท้ายของตระกูล Blancpain ตัดสินใจไม่สานต่อธุรกิจจึงส่งต่อให้มือขวาอย่าง Betty Fiechter รับช่วงต่อ ถือเป็น CEO หญิงคนแรกผู้เปิดตลาดใหม่ให้ Blancpain แต่ผู้ที่พลิกธุรกิจจากหน้ามือเป็นหลังมือจริงๆ ต้องยกให้ Jean-Jacques Fiechter หลานชายของ Betty และ CO-CEO ผู้รักการดำน้ำเป็นชีวิตจิตใจ
วันหนึ่งในปี 1951 Jean-Jacques ไปดำน้ำในทะเลแถบตอนใต้ของฝรั่งเศสแล้วเกิดลืมเวลาทำให้ต้องรีบขึ้นจากน้ำอย่างฉุกเฉินซึ่งอันตรายต่อชีวิต เขาจึงคิดว่าในเมื่อแพสชั่นทำให้คนลืมเวลาได้โลกก็จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ดำน้ำที่มากไปกว่าแค่ตีนกบและถังออกซิเจน แต่ต้องมีอุปกรณ์ที่ทำให้นักดำน้ำไม่ลืมเวลา และนั่นจึงเป็นที่มาของนาฬิการุ่น Fifty Fathoms
คำว่า Fathom เป็นหน่วยวัดความลึกแบบโบราณ มีค่าเท่ากับ 1.8288 เมตร Fifty Fathoms จึงเท่ากับความลึกระดับ 91.44 เมตรซึ่งเป็นระดับที่ลึกที่สุดที่มนุษย์จะดำลงไปสำรวจได้ในยุคนั้น ที่สามารถลงน้ำได้ลึกขนาดนั้นเพราะ Jean-Jacques ออกแบบ Fifty Fathoms ให้มีคุณสมบัติเฉพาะพร้อมคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ได้แก่การเลือกใช้กลไกระบบออโต้ทำให้ไม่ต้องขึ้นลานเติมพลังให้นาฬิกาตอนอยู่ใต้น้ำ, การออกแบบให้หน้าปัดมีขนาดใหญ่เคลือบสารเรืองแสงเพื่อให้สามารถอ่านข้อมูลได้ชัดเจนใต้น้ำหรือในที่มืด อีกทั้งติดตั้งวงแหวนกันน้ำสองชั้นบริเวณเม็ดมะยมและวงแหวน ‘O Ring’ บริเวณฝาหลังตัวเรือนเพื่อประสิทธิภาพในการกันน้ำ และนวัตกรรมที่โดดเด่นที่สุดคือ ‘Locking Bezel’ ที่กลายเป็นต้นแบบของนาฬิกาดำน้ำรุ่นต่อๆ มา
Bezel คือวงแหวนรอบหน้าปัดนาฬิกาที่มีฟังก์ชั่นต่างๆ เช่น บอกเวลาไทม์โซนที่สองหรือจับเวลาเดินหน้า-ถอยหลัง ซึ่งการจับเวลาไปข้างหน้านี่แหละคือสิ่งที่ Blancpain คิดค้นขึ้น
“วิธีการจับเวลาคือเราต้องหมุน Bezel มาให้เข็มนาทีตรงกับเลข 0 ที่วงแหวน เมื่อเข็มเดินไปเรื่อยๆ เราจะรู้ว่าเราอยู่ในน้ำมากี่นาทีแล้ว หลังจากนั้น Locking Bezel ก็ถูกพัฒนาต่อเป็น Unidirectional Bezel หรือวงแหวนที่หมุนได้ทิศทางเดียว เหตุผลที่ออกแบบให้หมุนได้ทางเดียวเพราะสมมติว่าเกิดไปชนอะไรใต้น้ำ วงแหวน Bezel ก็มีแต่จะหมุนไปข้างหน้าทำให้เห็นว่าเราอยู่ในน้ำมานานและทำให้เราขึ้นจากน้ำเร็วขึ้น ซึ่งปลอดภัยกว่าการที่มันหมุนได้สองทางแล้วทำให้เราเข้าใจว่าเราเพิ่งลงมาไม่นาน” กฤษณ์เล่า
ในขณะเดียวกับที่ซีอีโอหนุ่มกำลังพัฒนานาฬิกาดำน้ำเรือนนี้ กองทัพฝรั่งเศสเองก็กำลังมองหานาฬิกาดำน้ำสำหรับปฏิบัติภารกิจจนได้มาเจอ Fifty Fathoms ซึ่งมีสเปกตรงกับที่ต้องการทุกอย่าง โดยทางกองทัพขอเพิ่มคุณสมบัติด้านป้องกันอิทธิพลสนามแม่เหล็กที่อาจรบกวนการทำงานของนาฬิกา Blancpain จึงเพิ่มคุณสมบัตินี้เข้าไป จากนั้นนาฬิการุ่นนี้จึงถูกนำไปใช้ในกองทัพฝรั่งเศส, หน่วย Navy SEALs ของสหรัฐฯ และวางขายรวมไปถึงให้เช่าทั่วไปในร้านอุปกรณ์ดำน้ำ กลายเป็นอุปกรณ์ยอดฮิตที่นักดำน้ำยุคนั้นขนานนามว่าต้องมี
ความสำเร็จของ Fifty Fathoms กับหน่วยจู่โจมใต้น้ำทำให้ Blancpain ช่วงยุค 1950s Blancpain ยังพัฒนานาฬิกา Air Command ขึ้นเพื่อการรบทางอากาศโดยเพิ่มฟีเจอร์ Bezel จับเวลาแบบเคานต์ดาวน์และส่งโปรโตไทป์ 12 เรือนให้กองทัพสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ได้ผลิตจริง Air Command จึงกลายเป็นนาฬิกาในตำนานที่มีแค่ 12 เรือนบนโลก (หากไปเจอในงานประมูลนาฬิกามันจึงมีราคาสูงลิ่วจนคนไม่รู้ประวัติตกใจ) ก่อนจะถูกนำมาผลิตใหม่ในยุคปัจจุบันอีกครั้ง
Fifty Fathoms คือความสำเร็จที่ถูกนำไปต่อยอดมากมาย ทำให้ชื่อ Blancpain ทะยานขึ้นมาสู่การรับรู้ของคนรักนาฬิกาในวงกว้างและกลายเป็นนาฬิกาที่คนต้องนึกถึงเวลาพูดถึง Blancpain จนปัจจุบันมีการออกแบบนาฬิกาเรือนคลาสสิกนี้ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น การใส่ฟังก์ชั่นของ dress watch เข้าไปจนทำให้รู้สึกว่าเมื่อใส่กับสูทแล้วก็แทบไม่รู้เลยว่านี่คือ tool watch ที่ดำน้ำได้มีประสิทธิภาพที่สุดเรือนหนึ่งของโลก
Fifty Fathoms ประสบความสำเร็จขนาดที่ว่า Mark A. Hayek ซีอีโอคนปัจจุบันของ Blancpain ภายในเครือ Swatch Group ก่อตั้งโครงการ Blancpain Ocean Commitment เพื่อสนับสนุนโครงการอนุรักษ์ท้องทะเลด้วยแนวคิดว่า “ทะเลทำให้ Fifty Fathoms เกิดมาดังนั้นเราจึงต้องรักษาท้องทะเล”
ชื่อเสียงในปัจจุบันทำให้มีน้อยคนรู้ว่านาฬิกาที่ดีและชื่อดังขนาดนี้เคยต้องเจอกับวิกฤตที่ทำให้ต้องหยุดผลิตไปหลายปี ก่อนจะกลับมาผลิตแบบเต็มคอลเลกชั่นอีกครั้งในปี 2007
วิกฤตครั้งนั้นมีชื่อว่า ‘Quartz Crisis’
Villeret
คอลเลกชั่นที่พลิกนาฬิกาที่กำลังจะตายให้กลายเป็นงานศิลปะ
ในปี 1969 แบรนด์ Seiko จากญี่ปุ่นเปิดตัว Astron นาฬิการะบบควอตซ์เรือนแรกของโลกที่พลิกวงการนาฬิกาจากหน้ามือเป็นหลังมือ
ก่อนหน้านั้น โลกนาฬิกาอยู่ในกำมือ (หรือข้อมือ) ของผู้ผลิตฝั่งตะวันตกมาโดยตลอดแต่หลังจากการมาถึงของระบบควอตซ์ที่เที่ยงตรงกว่า แถมยังมีราคาถูกกว่าเป็นเท่าตัวทำให้นาฬิกาจากญี่ปุ่นดังระเบิด คนทั่วโลกหันมาใช้นาฬิการะบบนี้ และยอดขายของแบรนด์นาฬิกา mechanical ต่างๆ ก็ตกฮวบเป็นประวัติการณ์ ไม่เว้นแม้แต่แบรนด์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานอย่าง Blancpain
“ถ้าให้เทียบระบบควอตซ์ตอนนั้นก็คล้ายกับสมาร์ตวอตช์ตอนนี้ที่มันดิสรัปต์โลกไปเลย ทุกคนมองว่าควอตซ์มันเป็นอนาคต มันถูกกว่า เดินตรงกว่า พูดง่ายๆ คือถ้านับแค่ฟังก์ชั่นการบอกเวลาคือมันดีกว่านาฬิกา mechanical แน่นอน”
ตอนนั้นเอง ชายสองคนชื่อ Jean-Claude Biver และ Jacques Piguet ก็เข้าซื้อแบรนด์ Blancpain และประกาศว่าพวกเขาจะทำแต่นาฬิกา mechanical เท่านั้น
Biver นั้นเป็นช่างทำนาฬิกาและเซลส์แมนผู้เก่งกาจเรื่องมาร์เก็ตติ้งส่วน Jacques Piguet นั้นเป็นเจ้าของ Frédéric Piquet โรงงานผลิตนาฬิกากลไกระดับ top ของโลก ในปี 1983 ทั้งคู่จับมือกันนำเทคโนโลยีดั้งเดิมมาผสมกับความเชี่ยวชาญจากโรงงาน Frédéric Piguet เปิดตัวนาฬิกาคอลเลกชั่น Villeret ที่กลายเป็นหน้าตาของแบรนด์จนถึงปัจจุบัน
“mechanical มันมีเสน่ห์ในตัวของมันเอง ถามว่าทำไมทุกวันนี้นาฬิกายังขายได้ ขายดี ทั้งๆ ที่มือถือก็บอกเวลาได้และบอกตรงกว่า เพราะมันเป็นมากกว่าแค่เครื่องบอกเวลาแต่คือ art piece มันคือศิลปะ สำหรับนาฬิกา mechanical ถ้าดูแลรักษาดีๆ มันก็อยู่ได้ตลอดไป ไม่ต่างจากงานศิลปะที่อยู่กับเราได้ตลอดชีวิต“ในขณะที่ควอตซ์ดิสรัปต์วงการนาฬิกาแบบเก่า Blancpain ก็ดิสรัปต์วงการที่กำลังหันไปหาควอตซ์ว่าเราจะทำนาฬิกา mechanical อย่างเดียว เราเลยมีสโลแกนออกมาว่า Since 1735 there has never been a quartz Blancpain watch. And there never will be. ซึ่งก็ยังจริงอยู่ทุกวันนี้”
เพื่อเน้นคอนเซปต์ความเป็นงานศิลปะ คอลเลกชั่น Villeret เรือนแรกที่เปิดตัวจึงไม่เพียงมีกลไกสลับซับซ้อน แต่ยังมีฟีเจอร์ Moon Phase หรือกลไกดูข้างขึ้น-ข้างแรมด้วย
Moon Phase เกี่ยวข้องกับความเป็นศิลปะอย่างมากเพราะดีไซน์พระจันทร์ที่มีใบหน้า เป็นเอกลักษณ์ของงานศิลปะยุคอาร์ตนูโว อีกทั้งยังโชว์ว่า Blancpain ให้ความสำคัญกับวิถีการทำนาฬิกาแบบสวิสอันเก่าแก่ เพราะฟีเจอร์นี้แต่เดิมใช้สำหรับการเดินเรือในมหาสมุทรซึ่งเป็นความคลาสสิกแบบที่นาฬิกาควอตซ์ให้ไม่ได้ เรียกว่าแทนที่จะแข่งเรื่องการบอกเวลาที่เที่ยงตรง พวกเขาก็หันมาเน้นอารมณ์แสนพิเศษที่ได้จากการใส่นาฬิกาแทน
ที่สนุกคือนอกจาก Villeret ที่ออกมารุ่นแรกแล้ว ในปัจจุบันพระจันทร์ Moon Phase ยังปรากฏบนหน้าปัดของนาฬิการุ่นอื่นๆ ของแบรนด์และบางครั้งก็แอบเปลี่ยนหน้าตาให้เข้ากับรุ่นหรือคอลเลกชั่นนั้นๆ เช่น ถ้าสังเกตดูดีๆ พระจันทร์บนหน้าปัดนาฬิกาผู้หญิง Ladybird จะเป็นพระจันทร์หญิงแต้มไฝดูเซ็กซี่น่าค้นหานั่นเอง
Ladybird
นาฬิกาที่โชว์ว่านวัตกรรมพัฒนาได้เสมอ
ย้อนกลับไปในปี 1956 หลังปรากฏการณ์ Fifty Fathoms ไม่นาน Blancpain ก็สร้างปรากฏการณ์อีกครั้งด้วยคอลเลกชั่น Ladybird นาฬิกาข้อมือผู้หญิงทรงกลมที่เล็กที่สุดในโลกด้วยความเชื่อว่าสุภาพสตรีก็หลงเสน่ห์ของนาฬิกา mechanical ไม่แพ้สุภาพบุรุษ
คอลเลกชั่นนี้จะคือการเปิดประตูให้แบรนด์ก้าวเข้าสู่โลกของนาฬิกาผู้หญิงอย่างแท้จริงและต่อมาก็ได้กลายเป็น 1 ใน 3 คอลเลกชั่นที่ขายดีที่สุดของแบรนด์ร่วมกับ Fifty Fathoms และ Villeret แต่มากไปกว่านั้นมันยังเป็นการโชว์ให้เห็นว่านวัตกรรมของ Blancpain ดีขึ้น หลากหลายขึ้นได้เรื่อยๆ จากที่เพิ่งผลิตนาฬิกาดำน้ำที่ดีที่สุดของยุคซึ่งมีตัวเรือนใหญ่เพื่อให้มองเห็นใต้น้ำได้ง่าย ไม่กี่ปีถัดมาพวกเขากลับพัฒนากลไกให้เล็กจิ๋วเพื่อให้เหมาะกับคนที่ข้อมือเล็กเสียอย่างนั้น
ที่ทำแบบนี้ได้เพราะแบรนด์นาฬิกาสัญชาติสวิสนี้มีโรงงานเป็นของตัวเองถึง 2 โรง และมีหนึ่งโรงเต็มๆ ที่อุทิศให้กับการคิดค้นและผลิตชิ้นส่วนนาฬิกาโดยเฉพาะ Blancpain จึงสามารถพัฒนานวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว
“Brand Value ของ Blancpain คือ Innovation, Integrity และ Engagement การทำทุกอย่างเองมันคือ Integrity ความซื่อตรงต่อ Swiss Watchmaking Tradition และซื่อตรงต่อลูกค้าว่าเราผลิตของคุณภาพดีที่สุด เราเป็นสเปเชียลลิสต์ในเรื่องเครื่อง การผลิตเองทำให้เราผลิตสเปกได้ตามที่ต้องการเป๊ะๆ สมมติเราอยากให้นาฬิกามี power reserve สำรองพลังงานได้ถึง 10 วัน ถ้าให้ third party ผลิตเขาอาจไม่มาทุ่มเททำนวัตกรรมนี้ให้หรือเขาอาจผลิตไม่ได้ แต่พอมันเป็นเป้าหมายของเราเราก็สามารถวิจัยและทำขึ้นมาได้เลย”
นวัตกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นที่โรงงาน Le Sentier คือสิ่งที่เรียกว่า ‘Under-Lug Corrector’ หรือกลไกการตั้งเวลาที่ซ่อนอยู่หลังเรือนซึ่งตั้งเวลาด้วยนิ้วได้เลย ไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์เสริมและไม่รบกวนความสวยของนาฬิกา, การออกแบบกลไกอันซับซ้อนให้บอกเวลาแบบสากลร่วมกับวัน เดือน ปีนักษัตรแบบจีนได้ในเรือนเดียว
แน่นอนว่าการผลิตนาฬิกาดำน้ำแบบ Fifty Fathoms และ Villeret ที่โดดเด่นเรื่อง Moon Phase ย่อมไม่ใช่การผลิตเพื่อให้คนได้ใช้งานนาฬิกาด้วยฟังก์ชั่นเดียวกับคนยุคก่อนแต่คือการตอกย้ำว่าที่ Blancpain นาฬิกาคืองานศิลปะที่ส่งต่อสืบทอดผ่านกาลเวลา
และไม่มีอะไรที่จะบอกถึงความสำคัญของศิลปะสำหรับ Blancpain ได้ดีกว่าโรงงานที่สองที่มีชื่อว่า Le Brassus
Métiers d’Art
ชีวิตสั้น ศิลปะแห่งการทำนาฬิกายืนยาว
ถ้า Le Sentier คือโรงงานที่พัฒนานวัตกรรมกลไกนาฬิกา ที่ Le Brassus ต้องเรียกว่าเป็นโรงงานที่พัฒนานวัตกรรมศิลปะ
ที่นี่คือที่ผลิต Métiers d’Art คอลเลกชั่นนาฬิกาที่เน้นความเป็นศิลปะที่สุดของ Blancpain ช่างฝีมือที่นี่มีเทคนิคสร้างสรรค์แบบไร้กำแพงวัฒนธรรมตั้งแต่ใช้เทคนิคเก่าแก่ของช่างตะวันตกอย่างการลงยาแบบ Grand Feu จนได้หน้าปัดสีขาวนวลแล้วซ่อนตัวอักษร JB (ย่อมาจากชื่อ Jehan-Jacques Blancpain ผู้ก่อตั้งแบรนด์) สีขาวลงไประหว่างเลข 4 และ 5 และระหว่างเลข 7 และ 8 บนหน้าปัด ไปจนถึงการทำ Shakudo หรือเทคนิคของญี่ปุ่นที่เปลี่ยนสีของทองและทองแดงที่ปกติมีเฉดสีเหลืองหรือส้มให้เป็นสีดำหรือสีเทา ตามสไตล์ Blancpain ที่ไม่เน้นความหรูหราแบบเห็นได้ชัดแต่ซ่อนความแพงไว้ในรายละเอียดทุกซอกทุกมุม
ฝีมือเหนือชั้นของช่างยังทำให้ลูกค้าสั่งทำงานศิลปะได้อย่างละเอียดลออ อย่างลูกค้าชาวไทยคนหนึ่งที่สั่งแกะสลักนาฬิกาเป็นรูปวัดอรุณที่มีเรือนเดียวเท่านั้น
แต่ใช่ว่าคอลเลกชั่นอื่นๆ จะได้รับความสำคัญด้านดีไซน์น้อยกว่า Métiers d’Art ไม่ว่าจะเป็นคอลเลกชั่นไหน รุ่นใด ทุกเรือนล้วนทำด้วยมือของช่างผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด
“ถ้าสมมติเราใช้หุ่นยนต์ทำทุกอย่างมันคงจะเป๊ะมาก แต่การใช้คนทำมันคือสื่อของอารมณ์ มันให้ความรู้สึกพิเศษ เป็นงานคราฟต์ ด้านหลังนาฬิกาทุกเรือนจากคอลเลกชั่น Métiers d’Art จะสลักว่า unique piece เพราะพอทำมือแม้จะเป็นลายเดียวกันแต่ยังไงรอยแกะสลัก ความโค้ง รายละเอียดต่างๆ ไม่มีทางเหมือนกัน
“เราทำนาฬิกาสำหรับคนที่ appreciate ประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ งานอาร์ต ผมว่ามันคือเซนส์ของความพิเศษ คือสิ่งที่คุณใส่ออกไปเจอคนอีกร้อยคนก็ไม่เจอคนใส่นาฬิกาเหมือนคุณหรือถ้าเจอคุณจะรู้สึกพิเศษที่ได้เจอคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน”